ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดลูกหนี้ 27 ราย สหกรณ์คลองจั่น มูลหนี้กว่า 1 หมื่นล้าน ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำธุรกิจ – กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ชี้พบงบการเงินผิดปกติมา 5 ปีแล้ว

เปิดลูกหนี้ 27 ราย สหกรณ์คลองจั่น มูลหนี้กว่า 1 หมื่นล้าน ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำธุรกิจ – กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ชี้พบงบการเงินผิดปกติมา 5 ปีแล้ว

16 พฤษภาคม 2013


จนถึงขณะนี้ ปัญหาของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นยังไม่มีข้อสรุปว่าใครเป็นคณะกรรมการชุดใหม่ เนื่องจากสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 ไม่รับรองคณะกรรมการชุดใหม่ ทั้งในส่วนการประชุมวันที่ 9 เมษายน 2556 ของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร และ การประชุมวันที่ 26 เมษายน ของนายมณฑล กันล้อม ขณะที่สมาชิกไม่สามารถเบิกถอนเงินได้มานานระยะหนึ่ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 สหกรณ์ฯได้เปิดให้มีการถอนเงินได้ แต่ไม่เกิน 20,000 บาทต่อรายต่อเดือน

การที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ มาจากปมความขัดแย้งของผู้บริหาร 2 ฝ่าย ระหว่างนายมณฑล กันล้อม ประธานกรรมการดำเนินการ กับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานดำเนินการ โดยความขัดแย้งเกิดขึ้น มาจากการเข้ารับตำแหน่งของนายมณฑลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่สมาชิกมอบหมายให้นายศุภชัย ศรีศุภอักษร เป็นประธานคณะดำเนินสหกรณ์มาอย่างยาวนาน ปรากฏว่าได้มีการตรวจสอบพบความผิดปกติในฐานะการเงินของสหกรณ์ พร้อมกับมีรายงานหมายเหตุงบการเงินจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในประเด็นที่สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นให้เงินกู้แก่สมาชิกสมทบจำนวน 27 ราย มียอดหนี้รวม 11,846 ล้านบาท

โดยนายมณฑลได้นำรายงานดังกล่าวมาแจกแจงให้สมาชิกได้รับทราบ โดยระบุว่าลูกหนี้ดังกล่าวทำผิดข้อบังคับสหกรณ์หลายข้อ เช่น ไม่มีการถือหุ้นสหกรณ์ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือการชำระหนี้ไม่เป็นไปตามสัญญาเงินกู้ จากการตรวจสอบพบความผิดปกตินี้ นายมณฑลพร้อมคณะกรรมการชุดที่ 28 ได้ยื่นฟ้องทั้งอาญาและแพ่งต่อนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ในข้อหายักยอกทรัพย์เป็นเงินกว่า 12,000 ล้านบาท

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ตรวจสอบรายชื่อลูกหนี้ทั้ง 27 ราย และเงินกู้ของลูกหนี้แต่ละราย รวมทั้งตรวจสอบสถานที่ตั้ง สถานะทางธุรกิจ งบการเงิน ดังตารางที่แสดง (คลิกภาพขยายได้)

จากยอดรวมการปล่อยสินเชื่อให้กับสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่แสดงในรายงานประจำปี 2555 อยู่ที่ 15,073 ล้านบาท ขณะที่มียอดเงินให้กู้แก่สมาชิกสมทบอยู่ที่ 11,846 ล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 80 ของลูกหนี้ที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ทั้งหมด

จากการตรวจสอบข้อมูลโดยการตรวจค้นจากกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ของสมาชิกสมทบที่เป็นลูกหนี้เงินกู้สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น 27 ราย มีข้อสังเกตดังนี้

ลูกหนี้สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น

1. มีลูกหนี้เงินกู้สมทบจำนวน 10 ราย จากทั้งหมด 27 ราย เป็นบริษัทที่มีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร และนายปรีชา ศรีศุภอักษร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดย 10 บริษัทนี้ ได้กู้เงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นไปเป็นจำนวน 5,274 ล้านบาท

2. จากการตรวจสอบพบว่า ลูกหนี้ทั้ง 27 รายนั้น ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ไม่ได้ดำเนินกิจการจริง แต่ยังมีการส่งงบดุลให้กรมสรรพากร แต่มีบางบริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่ ได้แก่ บริษัทไทยปิโตรพลัส, บริษัทไทยปิโตรพลัสเอ็กซพลอเรชั่นแอนด์ดีเวลลอปเม้นท์ ,บริษัทศรีศุภากรโฮลดิ้ง, บริษัทยูเนียนอินเตอร์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน), หจก.ศักดิ์เสรีพาณิชยกิจ, บริษัท เค.พี.ซี. อินเตอร์เทรด, บริษัทมงคลเศรษฐีเอสเตท, บริษัท โอเชียนเวลธ์ กรุ๊ป, บริษัทโอเชียนเวลธ์แอร์เวย์ส และบริษัทรัฐประชา

ทั้งนี้มี 3 บริษัทที่ปิดกิจการไปแล้ว ได้แก่ บริษัท ทวี เฮ้าส์แอนด์ บิลดิ้ง คอนสตรัคชั่น จำกัด (ปิดกิจการเมื่อ 30 เมษายน 2555) บริษัท แมนเทค อินเตอร์เนชั่นแนลซัพพลาย จำกัด (ปิดกิจการเมื่อ 14 มีนาคม 2554) และบริษัท คิวทีวี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ปิดกิจการเมื่อ 30 พฤษภาคม 2555)

3. มีลูกหนี้สมาชิกสมทบ 3 ราย ที่หาข้อมูลประกอบได้น้อยมาก ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์ธิติรดา จำกัด และกลุ่มออมทรัพย์ฐิตินันท์ ทอย จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มาจากการรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อการออมเงิน โดยทำสัญญาภายในระหว่างสมาชิกด้วยกัน ไม่ได้จดทะเบียนและไม่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานราชการเหมือนสหกรณ์ที่มี พ.ร.บ.สหกรณ์ รองรับ

ส่วนกองทุนเพื่อการพัฒนาไม่สามารถตรวจสอบหาที่มาที่ไปได้ และไม่ใช่กองทุนรวมที่ต้องจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงไม่พบทั้งจุดประสงค์ของกองทุน ปีที่จัดตั้ง รายชื่อกรรมการบริหาร และงบดุล

4. งบดุลส่วนหนี้สิน ลูกหนี้สมาชิกสมทบส่วนใหญ่มีตัวเลขที่ต่ำกว่ายอดกู้ยืมจากสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นอยู่มาก มีเพียง 2 บริษัทที่มีส่วนหนี้สินครอบคลุมยอดหนี้เงินกู้จากสหกรณ์ ได้แก่ บริษัท มงคลเศรษฐีเอสเตท จำกัด ที่มียอดกู้ยืม 289.31 ล้านบาท ขณะที่บันทึกหนี้สินไว้ที่ 385.39 ล้านบาท และบริษัท ทวี เฮ้าส์แอนด์ บิลดิ้ง คอนสตรัคชั่น จำกัด ที่มียอดกู้ยืม 71.41 ล้านบาท ขณะที่บันทึกหนี้สินไว้ที่ 385.39 ล้านบาท

5. ที่ตั้งกิจการ หลายบริษัทตั้งอยู่ที่เดียวกัน บางบริษัทเป็นห้องเช่าเล็กๆ เบอร์โทรศัพท์เดียวกัน

ในเรื่องนี้ นายวิจักร อากัปกิริยา อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 เป็น พ.ร.บ. ประเภทส่งเสริมและสนับสนุน ไม่ใช่การกำกับดูแล มีบทลงโทษจากการกระทำความผิดที่เบามาก จะให้อำนาจแต่ละสหกรณ์บริหารจัดการกันเอง ไม่เข้าไปกำกับดูแลเหมือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์

“ถ้าเปรียบเทียบ สหกรณ์เหมือนคนไข้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ก็เป็นเหมือนฝ่ายเทคนิคการแพทย์ มีหน้าที่แค่วัดความดัน ตรวจเลือด เวลาคนไข้มาตรวจสุขภาพประจำปี แล้วส่งต่อผลแล็บให้นายทะเบียนสหกรณ์ (อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนทุกสหกรณ์ โดยจะมีผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมย่อย เช่น พื้นที่ 2 ทำหน้าที่เป็นรองนายทะเบียนสหกรณ์)ที่เปรียบเป็นแพทย์มีหน้าที่วินิจฉัย รักษาโรคและให้ยา พร้อมส่งให้คนไข้(สหกรณ์)และผู้สอบบัญชีสหกรณ์”

นายวิจักรกล่าวอีกว่า ถ้ากรณีที่สหกรณ์มีปัญหาทางการเงิน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย ต้องเป็นกรมส่งเสริมสหกรณ์ฯเป็นผู้ดำเนินการ หรือสมาชิกไปฟ้องร้องแจ้งความกันเอง ที่ผ่านมากรมตรวจบัญชีสหกรณ์พบความผิดปกติในงบการเงินสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นมาประมาณ 5 ปีแล้ว พร้อมแจ้งเตือนไปทั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์และสหกรณ์ฯ คลองจั่นทุกปี แต่ก็ไม่มีมาตรการอะไรออกจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ และสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นก็ไม่มีการแก้ไขพฤติกรรม ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลผลการตรวจสอบให้สาธารณชนได้เพราะเป็นความลับสหกรณ์ และสหกรณ์ฯ อาจฟ้องกลับได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม หลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธาน คพช. กล่าวว่า คพช. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณา กรณีที่ฝ่ายนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ได้อุทธรณ์ หนังสือไม่รับรองการประชุมของสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2556 ของสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2

“เรื่องใครจะเป็นผู้บริหารที่ถูกต้อง ผมได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์รับไปดำเนินการ โดยมีคณะทำงานที่แต่งตั้ง ซึ่งมีรองอธิบดีกรมส่งเสริมฯ คือ นายโอภาส กลั่นบุศย์ เป็นประธาน คาดว่าสัปดาห์หน้าจะได้คำตอบ เพราะ คพช. ไม่มีอำนาจตัดสิน ทั้งนี้เพื่อเร่งรัดให้สหกรณ์เครดิตยูเนียนมีผู้บริหารตามปกติ”

ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องงบการเงินที่เงินกว่า 12,000 ล้านบาท ถูกปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ 27 ราย อีกทั้งทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบที่สหกรณ์ฯ คลองจั่นเป็นเวลาหลายปี เพราะว่ามีข่าวปัญหาเรื่องผู้มีอิทธิพลจึงให้ทาง คพช. ส่งเรื่องนี้ไปประสานกับตำรวจเศรษฐกิจที่มีหน้าที่โดยตรงช่วยดำเนินการ

ด้านนายมานะ สุดสงวน ประธานชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนียนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ คพช. กล่าวว่า สหกรณ์ใดมีหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์เกิน 100 ล้านบาท กรมตรวจบัญชีสหกรณ์จะไม่เข้าไปตรวจเอง แต่จะให้อิสระสหกรณ์แต่งตั้งผู้สอบบัญชีที่ได้รับการรับรองจากทางกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยทุกปีผู้สอบบัญชีสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นได้รายงานมาว่าบัญชีเรียบร้อยดีมาตลอด

อนึ่งนายแสงประทีป นำจิตรไทย เป็นผู้สอบบัญชีสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นตั้งแต่ปี 2553–2555 อีกทั้งเป็นข้าราชการเกษียณของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์

สมาชิกมาถอนเงินที่สหกรณ์หลังเปิดให้เบิกถอนได้
สมาชิกมาถอนเงินที่สหกรณ์หลังเปิดให้เบิกถอนได้

ต่อมา วันที่ 10 พฤษภาคม สำนักส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 ออก หนังสือไม่รับรองคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ที่ได้รับเลือกตั้งในการประชุมเมื่อวันที่ 26 เมษายน ณ โรงแรมทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพฯ โดยสำนักฯ พื้นที่ 2 ระบุเหตุผลประกอบการไม่รับรอง 2 ข้อ ได้แก่

1. มติคณะกรรมการกำหนดวันประชุมใหญ่ (ต่อเนื่อง) จากวันที่ 31 มีนาคม ขาดความชัดเจนว่าเป็นวันที่ 21 หรือ 26 เมษายน และกรรมการที่เข้าประชุมยังให้การขัดแย้งกับมติที่ประชุมเรื่องวันจัดประชุม

2. ผู้จัดประชุมไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าได้ส่งหนังสือแจ้งการประชุมให้สมาชิกสหกรณ์ทุกคนทราบ และวิธีแจ้งทางหนังสือพิมพ์, เอสเอ็มเอส, สื่อโทรทัศน์ ไม่ถือว่าเป็นหนังสือเชิญประชุม เพราะขาดการแจ้งวาระการประชุมล่วงหน้า
แหล่งข่าวจากสำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2 กล่าวว่า กรณีนายมณฑล กันล้อม ซึ่งเป็นผู้จัดการประชุมวันที่ 26 เมษายน มีสิทธิยื่นอุทธรณ์หนังสือไม่รับรองกับ คพช. ภายใน 30 วัน เหมือนกรณีฝ่ายนายศุภชัยเช่นกัน

ด้านนายปฏิพันธ์ จันทรภูติ กรรมการดำเนินงานชุดที่ 29 จากเลือกตั้งวันที่ 26 เมษายน และที่ปรึกษาสหกรณ์ฯ คลองจั่น ชุดที่ 28 กล่าวว่า กำลังเตรียมยื่นอุทธรณ์คำตัดสินไม่รับรองคณะกรรมการชุดที่ได้รับการเลือกตั้งวันที่ 26 เมษายน ของสำนักฯ พื้นที่ 2 กับทาง คพช. เพราะ ข้ออ้างไม่รับรอง 2 ข้อ นั้นไม่มีความชัดเจน ส่วนการปฏิบัติหน้าที่รักษาการของนายมณฑล หากกรมส่งเสริมฯ มีหนังสือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่านายมณฑลมีอำนาจรักษาการตามที่เคยยื่นร้องขอ นายมณฑลก็พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ทันที นอกจากนี้ทาง คพช. มีหนังสือเชิญทั้งฝ่ายนายศุภชัยและนายมณฑล เข้าชี้แจงในวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 นี้ ที่กระทรวงเกษตรฯ

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 ได้มีคำสั่งศาลแพ่งคุ้มครองฉุกเฉิน เลขที่คดีดำ 1764/2556 ให้ตั้งผู้แทน 4 คน จากเจ้าหน้าที่สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ได้แก่ 1. นายวีระยุทธ รุจิเรข รองผู้จัดการใหญ่ 2. นางนพพร แหลมปัญญา ผู้จัดการฝ่ายบัญชี 3. นางวันเพ็ญ ยอดดี ผู้จัดการฝ่ายการเงิน 4. นางจันทร์ฉาย ขันธะหัตถ์ รองผู้จัดการใหญ่ มีอำนาจเต็มในการทำธุรกรรมต่างๆ ทุกชนิดของสหกรณ์ได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกสหกรณ์ที่ไม่สามารถถอนเงินเป็นเวลานาน โดยต้องมีผู้แทน 2 ใน 4 คน ลงลายมือชื่อการทำธุรกรรมทุกครั้ง โดยผู้แทนชุดนี้มีระยะเวลาทำงาน 180 วัน นับจากวันที่ศาลมีคำสั่ง หรือศาลจะมีคำวินิจฉัยอื่นๆ

ขณะที่นายปฏิพันธ์กล่าวว่า เตรียมยื่นคำร้องเพิกถอนคำสั่งศาล เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งศาลแพ่งอาจขัดกับ พ.ร.บ.สหกรณ์ ในส่วนของพนักงานประจำสหกรณ์ไม่มีสิทธิตัดสินใจทำธุรกรรมโดยพลการ เพราะขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนด้านอำนาจผู้บริหารสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังไม่มีข้อสรุปว่าคณะกรรมการชุดที่ 28 ยังทำหน้าที่รักษาการอยู่หรือไม่ เมื่อมีคำสั่งศาลออกมาในลักษณะยึดอำนาจคณะกรรมการเช่นนี้ อีกทั้งการให้อำนาจเต็มกับเจ้าหน้าที่เพียง 4 คน ให้รับผิดชอบเงินของสหกรณ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะถอนเงินจากบัญชีสหกรณ์ กู้เงิน หรือปล่อยกู้ ไม่มีหลักประกันว่าเงินสหกรณ์จะถูกนำไปใช้อย่างถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังฝ่ายกฏหมาย กรมส่งเสริมสหกรณ์ แหล่งข่าวกล่าวว่าคำสั่งศาลแพ่งถือว่าต้องปฏิบัติตามเท่านั้น สิ่งที่นายทะเบียนสหกรณ์ทำได้คือรับทราบคำสั่งและสนับสนุน แต่หากมีผู้เห็นว่าคำสั่งศาลขัดกับ พ.ร.บ.สหกรณ์ ก็สามารถยื่นอุทธรณ์เพื่อไปชี้แจงต่อศาลให้เปลี่ยนคำวินิจฉัยได้ ส่วนคำถามเรื่องสถานะของนายมณฑลนั้น ถ้าตามปกติ เมื่อมีหนังสือไม่รับรองคณะกรรมการชุดที่ 29 นายมณฑลจะต้องรักษาการแทน แต่เมื่อมีคำสั่งศาลที่เกี่ยวข้องกับอำนาจบริหารสหกรณ์ นายทะเบียนสหกรณ์จึงต้องมีการวินิจฉัยใหม่แล้วไปให้ปากคำต่อศาลว่ายังมีอำนาจอยู่หรือไม่ โดยคณะทำงานที่มีนายโอภาส กลั่นบุศย์ เป็นประธาน คาดว่าน่าจะได้คำตอบไม่เกินสัปดาห์หน้า

แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวถึงประเด็นตามข้อบังคับสหกรณ์เครดิตยูเนียน ข้อ 58 เรื่องการเรียกประชุมต้องอยู่ภายใน 150 วันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์ (31 ธันวาคม 2555) หากไม่สามารถประชุมได้ กรมส่งเสริมฯ ก็ทำได้แค่ตักเตือนเร่งรัดเท่านั้น ไม่สามารถยึดอำนาจจัดประชุมแทนได้ ที่ผ่านมาก็มีสหกรณ์หลายแห่งที่มีปัญหาภายใน ทำให้ไม่สามารถประชุมใหญ่ได้สำเร็จภายใน 150 วัน

ต่อมา วันที่ 14 พฤษภาคม ที่สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น เจ้าหน้าที่สหกรณ์ประกาศคำสั่งศาลแพ่ง พร้อมกล่าวว่าน่าจะให้สมาชิกสหกรณ์ถอนเงินแบบจำกัดจำนวนได้ในวันรุ่งขึ้น แต่ตัวเลขยังอยู่ระหว่างพิจารณา ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มสมาชิกที่นำโดยนายศุภกิจ แก้วทรง เชิญชวนสมาชิกลงนามแนบในหนังสือ 2 ฉบับ (ตามข้อบังคับที่ 59) ฉบับแรกส่งให้กรรมการดำเนินการชุดที่ 28 ที่เหลือ 3 คนมได้แก่ นางทองพิณ กันล้อม, นางเนาวรัตน์ คงกระจ่างมและนายวราวุฒิ เตียเอกลาภ เพื่อให้เร่งรัดจัดประชุมใหญ่ (ต่อเนื่อง) โดยมีรายละเอียดว่า กรรมการที่เหลืออยู่ 3 คน ไม่สามารถลงมติใดๆ เพื่อบริหารสหกรณ์ เพราะองค์ประชุมน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง (ข้อบังคับที่ 74) ยกเว้นแต่เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อให้ที่ประชุมเลือกตั้งกรรมการในตำแหน่งที่ว่าง เมื่อได้คณะกรรมการครบองค์ประชุมแล้วจึงจะลงมติเรียกประชุมใหญ่ (ต่อเนื่อง) อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 17 พฤษภาคม ที่อาคาร U-tower เพื่อให้ที่ประชุมรับทราบและลงมติในวาระต่างๆ

ส่วนจดหมายอีกฉบับหนึ่ง ส่งให้ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้เร่งรัดให้มีการจัดประชุมใหญ่ (ต่อเนื่อง) หากการเร่งรัดในฉบับแรกไม่สำเร็จ จะขอให้กรมส่งเสริมเข้ามาดำเนินการจัดประชุมเองในวันที่ 20 พฤษภาคม ที่อาคาร U-tower เช่นเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักส่งเสริมสหกรณ์พื้นที่ 2 ออกหนังสือลงวันที่ 14 พฤษภาคม ถึงนายมณฑล กันล้อม ประธานกรรมการสหกรณ์ฯ เร่งรัดให้จัดประชุมใหญ่ (วิสามัญ) ภายในเวลา 15 วันนับจากวันออกหนังสือ โดยแหล่งข่าวในสำนักฯ พื้นที่ 2 กล่าวว่า ไม่ได้ส่งหนังสือให้ทางสหกรณ์เพราะเกรงว่าจะมาไม่ถึง จึงส่งให้นายมณฑลโดยตรง

ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังนายปฏิพันธ์ จันทรภูติ ที่ปรึกษาคณะกรรมการชุดที่ 28 กล่าวว่า คณะกรรมการที่เหลือกำลังปรึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อหนังสือของสำนักฯ พื้นที่ 2 แต่เมื่อเป็นคำสั่งนายทะเบียนก็คงต้องปฏิบัติตาม

นอกจากนี้ยังมีหนังสือที่สมาชิกได้ทำถึงรองประธานกรรมการ สหกรณืเครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น(นางทองพิน กันล้อม)ให้เร่งจัดประชุมใหญ่สามัญต่อเนื่องให้เรียบร้อยโดยเร็ว

และล่าสุด วันที่ 15 พฤษภาคม ที่สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น สหกรณ์ติดประกาศ 2 ฉบับ ฉบับแรกแจ้งคำสั่งศาลแพ่ง ให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทำธุรกรรมกับสมาชิกและบุคคลภายนอกในนามสหกรณ์ได้เป็นเวลา 180 วัน ลงนามนายวีระยุทธ รุจิเรข รองผู้จัดการใหญ่สหกรณ์ อีกฉบับหนึ่งแจ้งระเบียบอนุญาตให้ถอนเงินรวมทุกบัญชีได้ไม่เกิน 20,000 บาท/คน/เดือน โดยจะให้บริการสมาชิกได้ไม่เกิน 500 รายต่อวัน และมีการแจกบัตรคิวในช่วงเช้า มีสมาชิกจำนวนมากรอรับคิวตั้งแต่ 7.00 น. โดยบัตรคิวหมดก่อนสหกรณ์เปิดทำการเวลา 9.00 น.

ข้อบังคับสหกรณ์เครดิตยูเนียน

ข้อ 58. การประชุมใหญ่สามัญ

การประชุมใหญ่สามัญครั้งต่อไป ให้คณะกรรมการดำเนินการเรียกประชุมปีละหนึ่งครั้งภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์

ข้อ 59. การประชุมใหญ่วิสามัญ

สมาชิกซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนหรือผู้แทนสมาชิกซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนผู้แทนสมาชิกทั้งหมดหรือไม่น้อยกว่าห้าสิบคน ลงลายมือชื่อทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็ได้ และให้คณะกรรมการดำเนินการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รับคำร้องขอ ถ้าคณะกรรมการดำเนินการไม่เรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้ นายทะเบียนสหกรณ์หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมายมีอำนาจเรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้ภายในระยะเวลาที่เห็นสมควร

ข้อ 73. ตำแหน่งว่างก่อนถึงคราวออกตามวาระ

ถ้าในเวลาใดจำนวนกรรมการดำเนินการลดลงจนเหลือน้อยกว่าองค์ประชุม กรรมการดำเนินการที่ดำรงตำแหน่งอยู่จะประชุมดำเนินการใด ๆ ไม่ได้ นอกจากต้องนัดเรียกให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นโดยเร็ว

ข้อ 74. การประชุมและองค์ประชุม

ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการต้องมีกรรมการดำเนินการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการดำเนินการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม