ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กรมส่งเสริมสหกรณ์ฯเตรียมรับรองกก.”คลองจั่น”ชุดที่29 ศุกร์นี้ -วงในชี้กู้เงินจ่ายปันผล พร้อมขอ 4 วันเปิดทำการปกติ

กรมส่งเสริมสหกรณ์ฯเตรียมรับรองกก.”คลองจั่น”ชุดที่29 ศุกร์นี้ -วงในชี้กู้เงินจ่ายปันผล พร้อมขอ 4 วันเปิดทำการปกติ

3 พฤษภาคม 2013


หลัง การประชุมวันที่ 31 มีนาคม 2556 ล่มสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น โดยนายมณฑล กันล้อม ประธานคณะดำเนินการสหกรณ์ฯ ได้นัดประชุมใหม่ในวันที่ 26 เมษายน ที่โรงแรมทาวน์อินทาวน์ แต่ในช่วงก่อนถึงวันประชุม เกิดเหตุการณ์ที่สมาชิกไม่สามารถเบิกถอนเงินได้ และมีการโต้ตอบระหว่างกลุ่มนายมณฑล กันล้อม กับกลุ่มนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 เมษายน วันก่อนหน้าการประชุม มีข้อความSMS ที่ส่งโดยสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นหลายครั้ง บางอันชักชวนให้ไม่เข้าร่วมประชุมในวันที่ 26 เมษายน แต่ก็มีบางอันที่แจ้งเชิญประชุมในวันที่ 26 เพราะทางสำนักส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพฯ พื้นที่ 2 ไม่รับรองการประชุมวันที่ 9 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นการประชุมของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร SMS ดังกล่าวได้สร้างความสับสนให้กับสมาชิกจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมี SMS แจ้งเชิญฟังการชี้แจงข้อสงสัยโดยนายศุภชัย ณ สำนักงานคลองจั่น เวลา 8.30 น. ในช่วงเช้าของวันที่ 26 เมษายน ทำให้เกิดการประชุมซ้อนในเวลาเดียวกัน

สำหรับการประชุมที่โรงแรมทาวน์อินทาวน์ ที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นเข้าร่วมเพราะไปเข้าร่วมที่สำนักงานคลองจั่นทั้งหมด บริเวณที่ประชุมมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดจากทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบร้อยกว่านาย มีสมาชิกเข้าร่วมประชุมประมาณ 400 คน ซึ่งตามข้อบังคับสหกรณ์เครดิตยูเนียน ถ้ามีสมาชิกเข้าร่วมประชุมใหญ่เกิน 100 คน ให้ถือว่าครบองค์ประชุมแล้ว

การประชุมประจำปีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 ซึ่งจัดโดยนายมณฑล กันล้อม อดีตประธานดำเนินการเป็นผู้จัดการประชุมในครั้งนี้ หลังจากที่การประชุมล่มเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2556
การประชุมประจำปีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 ซึ่งจัดโดยนายมณฑล กันล้อม อดีตประธานดำเนินการเป็นผู้จัดการประชุมในครั้งนี้ หลังจากที่การประชุมล่มเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2556 ที่มาภาพ : http://www.dailynews.co.th/crime/200092

บนเวทีในที่ประชุมมีนายมณฑล กันล้อม ประธานดำเนินงานสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ชุดที่ 28 และคณะกรรมการที่เหลืออยู่ ได้แก่ นางทองพิณ กันล้อม รองประธาน, นายวันชัย เวชพานิช, นายวราวุธ เตียเอกลาภ, นายอภิชาติ ครุฑทอง กรรมการ, น.ส.ดวงสมร กิตติจารุดุลย์, นางบังอร ชีวะสิทธิ์ ผู้ตรวจสอบกิจการ และนายปฏิพันธ์ จันทรภูติ ที่ปรึกษา

มีข้อสังเกตว่า การประชุมครั้งนี้ไม่มีการนำตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น ผู้ช่วยรัฐมนตรีหลายกระทรวง ตัวแทนจาก DSI ตัวแทนจากกองปราบฯ เป็นต้น มาแสดงตัวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สมาชิก ดังที่เคบทำในการประชุมเมื่อวันที่ 9 เมษายน ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิกที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นมาก

การประชุมเริ่มและดำเนินโดยนายมณฑล ซึ่งกล่าวแต่เพียงว่าเป็นการประชุมต่อวันที่ 31 มีนาคม 2556 โดยการประชุมดำเนินไปอย่างราบรื่น จนกระทั่งถึงวาระที่ 4 คือ พิจารณารับรองรายงานการเงิน และอนุมัติงบดุลประจำปี 2555 ซึ่งโดยปกติจะดำเนินรายการโดยผู้สอบบัญชีสหกรณ์ฯ ประจำปี 2555 คือ นายแสงประทีป นำจิตรไทย แต่นายแสงประธีปไม่เข้าร่วมประชุม ทำให้ประธานเป็นผู้อ่านงบดุลและงบกำไรขาดทุนเอง แต่ไม่ได้พูดถึงรายละเอียดของตัวเลขแต่ละส่วน กล่าวเพียงว่ากรรมการชุดที่ตนดำเนินการอยู่พยายามแก้ปัญหาหนี้สะสม ซึ่งเป็นการใช้หนี้ครั้งแรกของสหกรณ์ ส่วนตั๋วสัญญาแลกเงินก็มีการชำระไปหลายรายแล้ว และเป็นครั้งแรกที่ผู้สอบบัญชีสหกรณ์ฯ มีข้อติงในรายงานของผู้สอบบัญชีเป็นครั้งแรก ซึ่งแสดงถึงความโปร่งใสที่มากขึ้นด้วย ด้านตัวเลขที่ขาดบัญชี เช่น เงินยืมทดรองประมาณ 3,200 ล้านบาท จะต้องมีคนจ่ายหนี้แน่นอน

ระหว่างวาระที่ 4 มีสมาชิกหลายคนถามเกี่ยวกับงบการเงิน แต่นายมณฑลกล่าวว่า ผู้สอบบัญชีไม่อยู่จึงไม่สะดวกตอบ อีกทั้งบางเรื่องยังพูดไม่ได้ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับคดีที่ยื่นฟ้องนายศุภชัยไปก่อนหน้านี้ ทำให้สมาชิกบางคนไม่พอใจที่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน จากนั้นประธานให้ลงมติรับรองวาระที่ 4 โดยกล่าวว่า ถ้าไม่ผ่านวาระนี้ก็ไม่สามารถไปถึงวาระจ่ายเงินปันผลได้เหมือนการประชุมวันที่ 31 มีนาคม และอยากให้การประชุมจบโดยเร็วที่สุดด้วย ทำให้สมาชิกส่วนใหญ่ยกมือให้ผ่าน

หลังจากนั้น มีสมาชิกอีกหลายคนถามเกี่ยวกับงบการเงิน เหตุผลที่คณะกรรมการหายไปจากสหกรณ์เกือบ 3 อาทิตย์ และความถูกต้องตามกฎหมายของการประชุมครั้งนี้ มีการประท้วงกันหลายครั้ง แต่ทางผู้จัดการประชุมก็ปิดไมค์ที่สมาชิกพูดอยู่ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้สมาชิกหลายคนมาก จนมีสมาชิกเรียกร้องให้ตัวแทนจากสำนักส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 แสดงตัวเพื่อแสดงความถูกต้องของการจัดประชุม

นางวนิดา รุ่มโรย เจ้าหน้าที่จากสำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2 จึงแสดงตัวและกล่าวกับสมาชิกว่า ตนเป็นตัวแทนจากสำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2 มาทำหน้าที่สังเกตการณ์การประชุมครั้งนี้ ส่วนการรับรองการประชุมให้เป็นเรื่องขององค์คณะเป็นผู้รับรอง

เมื่อมีสมาชิกถามว่าจะถอนทั้งเงินปันผลและเงินฝากได้เมื่อไร นายมณฑลตอบว่า ขอเวลาตรวจสอบที่มาของเงิน 20,000 บาท ที่นายศุภชัยนำมาจ่ายให้กับสมาชิก โดยขอเวลาประมาณ 2 อาทิตย์ มีสมาชิกถามอีกว่าทำไมถอนออมทรัพย์พิเศษไม่ได้ ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากที่ประชุมใหญ่เหมือนเงินปันผล นายมณฑลตอบว่า เงินสดส่วนใหญ่ของสหกรณ์ฝากอยู่ในธนาคารพาณิชย์ ต้องมีลายเซ็นของผู้มีอำนาจเบิกจ่ายของสหกรณ์ที่ถูกต้องเป็นผู้ถอน ซึ่งก็คือคณะกรรมการชุดนายมณฑล ถ้าคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับการรับรองจากกรมส่งเสริมสหกรณ์เรียบร้อยแล้ว ก็จะสามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติ มีสมาชิกถามว่าทำไมถึงไม่เข้าสหกรณ์ตั้งแต่วันที่ 3 นายมณฑลตอบว่าเข้าไปไม่ได้ รายละเอียดเป็นตามข่าวที่สมาชิกทราบกัน แต่ตนบอกรายละเอียดมากกว่านี้ไม่ได้ ให้รอดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรมจะดีกว่า

จากนั้น นายวราวุธ เตียเอกลาภ กรรมการดำเนินการกล่าวบนเวทีว่า วาระที่ 4 ผ่านการลงมติไปแล้วไม่อนุญาตให้สอบถามอีก ส่วนคำถามอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับวาระทั้งหมดขอให้ถามในวาระเรื่องอื่นๆ ซึ่งเป็นวาระสุดท้ายหลังการเลือกตั้งผู้ตรวจสอบกิจการ ทำให้สมาชิกส่วนใหญ่ยอมผ่านวาระอื่นๆ ไปอย่างรวดเร็ว

การประชุมดำเนินไปจนกระทั่งถึงวาระเลือกตั้ง นายมณฑลมอบหมายให้ตัวแทนจากชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนียนแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินรายการต่อ นายสุนทร วันดี ผู้ช่วยผู้จัดการสาขาภาคกลางจากชุมนุมฯ ขึ้นแนะนำตัวและเสนอให้ตัวแทนสมาชิกในที่ประชุมเป็นผู้ดำเนินการเลือกตั้งแทน สมาชิก 5 คน ทำหน้าที่เป็นกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการเลือกตั้งประธานและคณะกรรมการแทนคนที่ลาออกและหมดวาระไป โดยคณะกรรมการดำเนินการทั้งหมด 14 คน รวมประธานดำเนินการเป็น 15 คน ลาออกและหมดวาระไป 12 คน เหลือดำรงตำแหน่งกรรมการ 3 คน ได้แก่ นางทองพิณ กันล้อม อดีตรองประธานกรรมการดำเนินการ และกรรมการดำเนินการ ได้แก่ นายวราวุธ เตียเอกลาภ และนายอภิชาติ ครุฑทอง

ตามข้อบังคับสหกรณ์เครดิตยูเนียนข้อ70 คือ คณะกรรมการรวมทั้งประธานมีวาระในตำแหน่งคราวละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง เมื่อครบหนึ่งปีให้กรรมการจับฉลากออกครึ่งหนึ่ง โดยให้ถือเป็นการออกตามวาระแล้วเลือกตั้งทดแทน และกรรมการดำเนินการที่พ้นจากตำแหน่งอาจได้รับเลือกตั้งอีกแต่ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน

การเลือกตั้งประธานดำเนินการเป็นวาระแยกจากการเลือกตั้งคณะกรรมการ โดยให้สมาชิกเสนอชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่ง ปรากฏว่ามีผู้เข้าชิง 2 คน แต่ผู้เข้าชิงหนึ่งคนถอนตัวระหว่างช่วงแสดงวิสัยทัศน์ ทำให้นายเผด็จ มุ่งธัญญา ซึ่งได้รับการยกมือรับรองจากสมาชิกในที่ประชุมส่วนใหญ่ ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการดำเนินงาน คนที่ 29

นายเผด็จ มุ่งธัญญา ที่มาภาพ : http://www.tpd.in.th/person/dscper_ge.php?id=004712&politicianID=
นายเผด็จ มุ่งธัญญา ที่มาภาพ : http://www.tpd.in.th/person/dscper_ge.php?id=004712&politicianID=

นายเผด็จ มุ่งธัญญา อายุ 66 ปี เป็นอดีตผู้ช่วยผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อดีตประธานผู้ประนีประนอมของศาลจังหวัดมีนบุรี เป็นสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 แต่ไม่เคยมีประสบการณ์บริหารกิจการสหกรณ์มาก่อน

จากนั้นเป็นการเลือกตั้งคณะกรรมการ 11 คน มีผู้สมัครจากสมาชิกในที่ประชุมทั้งหมด 15 คน ใช้วิธีการเลือกตั้ง คือ เรียกชื่อผู้สมัครรายคนและให้สมาชิกในที่ประชุมยกมือให้คะแนน สมาชิกจะยกมือได้แค่ 11 ครั้ง เท่านั้น แล้วให้ตัวแทนสมาชิกเดินนับคะแนน โดยที่ไม่อนุญาตให้สมาชิกที่มีอายุสมาชิกไม่ถึง 6 เดือน ลงคะแนนเสียงเหมือนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ผลการนับคะแนนได้กรรมการทั้งหมด 11 คน ได้แก่

1. นายปฏิพันธ์ จันทรภูติ ที่ปรึกษาสหกรณ์ในชุดที่ 28
2. นายวันชัย เวชพานิช กรรมการดำเนินการในชุดที่ 28
3. นายสุนทร อภิสิงห์
4. นางบังอร ชีวะสิทธิ์ ผู้ตรวจสอบกิจการในชุดที่ 28
5. น.ส.ดวงสมร กิตติจารุดุลย์ ผู้ตรวจสอบกิจการในชุดที่ 28
6. นางอรดี อนันต์จิราการ
7. นางกัลยา เรืองพงศ์
8. นายสุวิทย์ กำจาย
9. นายภัฏ สวรรคชา
10. นายยงยุทธ ดวงนาค
11. นางอาจารีย์ กีรติอาภากุล

ทั้งนี้ตำแหน่งคณะกรรมการดำเนินงานของสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ไม่มีค่าตอบแทนรายเดือนหรือรายปี แต่จะมีค่าเบี้ยประชุมครั้งละ 500 บาท โดยปกติจะมีการจัดประชุมของคณะกรรมการดำเนินงานเดือนละหนึ่งครั้ง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นเร่งด่วนก็สามารถเรียกประชุมเพิ่มเติมได้

วาระต่อจากนั้นคือ วาระเลือกคณะผู้ตรวจสอบกิจการ ซึ่งใช้วิธีลงคะแนนเสียงเหมือนกับการเลือกตั้งกรรมการ เลือกได้ทั้งหมด 5 คน ได้แก่ 1. นางอรณี ควรนิยม 2. นายธงชัย ปิยดำรงกุล 3. จ่าอากาศเอกสัณติญาณ ทองนาค 4. นางเพ็ญศรี สุขะลัง 5. นางจรัญญา พงษ์สิทธิรักษ์

การประชุมจบลงเวลาประมาณ 13.00 น โดยที่ไม่มีวาระอื่นๆ ให้สมาชิกได้ซักถาม แต่ก็มีสมาชิกส่วนหนึ่งไปสอบถามเรื่องที่สงสัยกับนายมณฑลเป็นการส่วนตัว เมื่อสมาชิกแยกย้ายกันกลับแล้ว คณะกรรมการและผู้ตรวจสอบกิจการชุดใหม่ มีการประชุมต่อเพื่อแบ่งสรรหน้าที่ มีการเลือกตั้งภายใน โดยผู้ได้รับเลือกเป็นรองประธานดำเนินการคือ นางทองพิณ กันล้อม เลขานุการคือ นางกัลยา เรืองพงษ์ เหรัญญิกคือ นายปฏิพันธ์ จันทรภูติ

ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับสมาชิกหลายคน บางส่วนมีความเห็นว่า ตามหนังสือชี้แจงที่แจกให้ในที่ประชุม ตอนหนึ่งระบุว่าหลังจากคณะกรรมการเดินออกจากที่ประชุมวันที่ 31 มีนาคม มีการจัดประชุมเฉพาะกรรมการที่เหลืออยู่เพื่อลงมติเลื่อนการประชุมเป็นวันอื่นแทน สมาชิกมีข้อสงสัยว่าตามข้อบังคับของสหกรณ์เครดิตยูเนียน ที่ประชุมกรรมการจะลงมติได้ต้องมีผู้เข้าประชุมเกินครึ่งหนึ่ง (อย่างน้อย 8 คน จาก 15 คน) แต่ก่อนการประชุมเมื่อวันที่ 31 มีนาคม มีกรรมการออกไปแล้วถึง 6 คน และมีการลาออกในภายหลังอีก 2 คน ในเวลาไม่นาน จึงไม่แน่ใจว่ากรรมการที่ลงมติจะมีจำนวนถึง 8 หรือไม่ จึงอยากให้นายมณฑลแสดงรายงานการประชุมนั้น พร้อมทั้งลายมือลงนามเข้าร่วมประชุมของกรรมการทั้งหมด

ขณะที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการสหกรณ์ฯ กล่าวในรายการเส้นทางนักขาย ทางช่องเนชั่น วันที่ 27 เมษายน เวลา 20.30 น. อธิบายที่มาที่ไปของเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม จนกระทั่งการประชุมเมื่อวันที่ 26 เมษายน นายศุภชัยกล่าวยืนยันความถูกต้องของการประชุมวันที่ 9 เมษายน เพราะมาจากมติ 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้อำนวยการกลุ่มจัดตั้ง, สำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2, สมาชิกสหกรณ์, พนักงานและกรรมการสหกรณ์ ว่าถ้ารออีกสหกรณ์จะอยู่ไม่ได้เพราะขาดความเชื่อมั่น ส่วนวันที่ 26 เมษายนนั้นคณะกรรมการไม่ครบองค์ประชุม อีกทั้งประธานที่ได้รับเลือกคือ นายเผด็จ มุ่งธัญญา ขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการ และมีกรรมการคนอื่นที่คุณสมบัติไม่สมบูรณ์ด้วย

นายศุภชัยกล่าวว่า นายทะเบียนสหกรณ์ (สำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2) จะลงนามรับรองสถานะประธานต้องเลือกระหว่างความเดือดร้อนของสมาชิกที่มีอยู่แล้วถูกระงับไปหรือจะเลือกลายลักษณ์อักษร ถ้าเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง นายทะเบียนก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“กรณีที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นถือเป็นกรณีศึกษา ต่อไปการจะเลือกกรรมการต่อไปต้องดูให้ดีว่ามีความรู้ความสามารถหรือไม่ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ไม่ทิ้ง ไม่หนีสหกรณ์ ส่วนสมาชิกก็ต้องช่วยกันดูแลสหกรณ์ เพราะทุกคนต่างก็เป็นเจ้าของร่วมกัน เมื่อเกิดปัญหาแล้วคนลักษณะไหนจะมาเป็นผู้นำ แล้วสมาชิกผู้ตามในฐานะเป็นเจ้าของจะทำอย่างไร หนีปัญหาหรือจะช่วยกันแก้ปัญหา ถ้าช่วยกันคนละไม้คนละมือ ปัญหาที่ใหญ่ก็เล็ก ปัญหาที่เล็กก็หมดไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตลอดช่วงวันที่ 27-29 เมษายน ในกลุ่มสมาชิกมีการพูดถึงการขาดคุณสมบัติของนายเผด็จและกรรมการคนอื่นๆ ว่านายเผด็จไม่ได้เข้ารับการอบรมเป็นสมาชิกสหกรณ์ จึงไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน และมีกรรมการหนึ่งคนเป็นสมาชิกสมทบจึงไม่มีสิทธิเป็นกรรมการเช่นกัน

ขณะที่แหล่งข่าวจากสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นแจ้งมาว่าเงินปันผลที่นายศุภชัยอาศัยมติการประชุมวันที่ 9 เมษายน 2556 ให้จ่าย 20,000 บาทต่อรายนั้น เป็นเงินที่นำมาจากสหกรณ์ 3 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจแห่งชาติ สหกรณ์ออมทรัพย์เครดิตยูเนียนมงคลเศรษฐี เนื่องจากคณะกรรมการชุดนายศุภชัยไม่ได้รับการรับรองจากสำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2 จึงไม่มีอำนาจทำธุรกรรมทางการเงินมาจ่ายยังสมาชิกได้

ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แหล่งข่าวในสหกรณ์กล่าวว่า มีติดต่อขอกู้เงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ในช่วงเดือนเมษายนจริง แต่ทางสหกรณ์จุฬาฯ ยังไม่มีการทำธุรกรรมทางการเงินกับทางคลองจั่นในช่วงเดือนที่ผ่านมาเลย

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง พ.ต.ท.สมประสงค์ สุทธิวิเศษ กรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจแห่งชาติมีการทำธุรกรรมกับสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นอยู่เป็นประจำ โดยมีทั้งตั๋วสัญญาใช้เงินมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท และเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ โดยการออกตั๋วสัญญาให้กู้จะไม่มีทางออกให้ตัวบุคคล ลูกหนี้จะต้องเป็นสหกรณ์หรือนิติบุคคลเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นสหกรณ์ก็ต้องผ่านมติของคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ด้วย และเมื่อถามว่ามีการออกตั๋วสัญญาใหม่ในช่วงเดือนเมษายนหรือไม่ พ.ต.ท.สมประสงค์กล่าวว่าไม่ทราบ เพราะไม่ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการทุกครั้ง และถึงทราบก็บอกไม่ได้เพราะเป็นความลับของลูกค้าสหกรณ์

พ.ต.ท.สมประสงค์กล่าวอีกว่า ทางสหกรณ์ฯ คลองจั่นกับสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจฯมีความสัมพันธ์ที่ดีมาโดยตลอด เมื่อทางคลองจั่นมีความเดือดร้อน สมาชิกจำนวนมากเดือดร้อนถอนเงินไม่ได้ ทางตำรวจก็ต้องช่วยเหลือ มิฉะนั้น หากสหกรณ์ล่มจะส่งผลต่อความเชื่อถือสหกรณ์ทั้งหมด ส่วนความวุ่นวายที่เกิดขึ้น พ.ต.ท.สมประสงค์กล่าวว่าเป็นเรื่องของตัวบุคคล เป็นเรื่องของการชิงอำนาจ สถานะทางการเงินของทางสหกรณ์ฯ คลองจั่นก็เรียบร้อยดี เพราะมีระบบบัญชีเป็นเรื่องเป็นราว มีหน่วยงานรัฐดูแลทั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ อีกทั้งผู้สอบบัญชีก็ได้รับอนุญาตจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์แล้ว หากมีการทุจริตจริงผู้ตรวจบัญชีก็ต้องถูกดำเนินการตามกฏหมาย เพราะฉะนั้น ไม่อยากให้ผู้คนให้ความสำคัญกับข่าวลือการทุจริตต่างๆ เพราะขนาดสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ที่มีแต่ผู้บริหารเก่งๆ ยังมีเงินฝากที่สหกรณ์ฯ คลองจั่นจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังสหกรณ์เครดิตยูเนียนมงคลเศรษฐี เจ้าหน้าที่ได้กล่าวว่า ถ้าอยากรู้ข้อมูลว่าทางสหกรณ์ฯ คลองจั่นว่ามีการกู้ยืมจากสหกรณ์ฯ มงคลเศรษฐีในช่วงเดือนเมษายนหรือไม่ ต้องทำหนังสือเพื่อสอบถามเป็นลายลักษณ์อักษร

อนึ่ง นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ดำรงตำแหน่งประธานดำเนินงานสหกรณ์เครดิตยูเนียนมงคลเศรษฐีในปี พ.ศ. 2555 และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสหกรณ์แห่งนี้ในปี พ.ศ. 2543 ด้วย

วันที่ 27 เมษายน ผู้สื่อข่าวสอบถามเรื่องการรับรองคณะกรรมการสหกรณ์ชุดวันที่ 26 เมษายน 2556 ไปยังสำนักส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 โดย นางวนิดา รุ่มโรย รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2 กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีการรับรอง กำลังขอเอกสารที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมจากทางฝ่ายผู้จัดประชุมวันที่ 26 เมษายน ส่วนการตัดสินว่าจะมีการรับรองหรือไม่นั้น ทางกรมส่งเสริมมีการจัดคณะกรรมการพิจารณาเรื่องสหกรณ์ฯ คลองจั่นโดยเฉพาะ แต่ยังตอบไม่ได้ว่าจะรับรองได้เมื่อไร วันไหน โดยปัจจุบันยังไม่มีใครยื่นเรื่องคัดค้านการประชุมวันที่ 26 เมษายน 2556

ผู้สื่อข่าวยังได้สอบถามไปยังฝ่ายกฎหมายของสำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2 โดยแหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อการประชุมวันที่ 26 เมษายน เสร็จสิ้น สถานะคณะกรรมการชุดที่ 28 (ชุดนายมณฑล กันล้อม) ก็สิ้นสุดตามไปด้วย ซึ่งถ้าเป็นการประชุมของสหกรณ์อื่นๆ ปกติจะมีการรับรองในวันรุ่งขึ้นทันที ทำให้มีประธานคนใหม่รับช่วงต่อได้พอดี แต่กรณีของสหกรณ์ฯ คลองจั่น เนื่องจากยังไม่มีการรับรองคณะกรรมการชุดที่ 29 ทำให้สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จะไม่มีผู้บริหารที่ได้รับการรับรองจากกรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าบริหารจัดการ

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวสอบถามเหตุการณ์การประชุมเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2556 กับนายสุเมธ สัญญเดช ผู้อำนวยการกลุ่มจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ สำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2 เพียงคนเดียวที่ปรากฏตัวในการประชุมเมื่อวันที่ 9 โดยนายสุเมธกล่าวว่า เพิ่งย้ายมาจากสำนักส่งเสริมฯ ที่จังหวัดสุพรรณบุรีได้ประมาณ 2 เดือน ตนเห็นจดหมายเชิญประชุมวันที่ 9 เมษายน จากสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น แต่ช่วงนั้นนายสันทาน สีทา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2 และผู้อำนวยการกลุ่มอีก 2 คน ออกไปราชการนอกสถานที่กันหมด ตนจึงโทรไปขออนุญาตนายสันธานว่าขอไปสังเกตการณ์การประชุมตามจดหมายเชิญ ซึ่งนายสันทานก็อนุญาตแต่กำชับว่าไม่ต้องพูดอะไรในที่ประชุม เมื่อไปถึงทางผู้จัดการประชุมก็จัดแจงให้ตนไปพูดบนเวที โดยพิธีกรในงานแนะนำตนว่าเป็นตัวแทนจากพื้นที่ 2 แต่ตนไม่กล้าประกาศตัวเพราะว่าไม่ได้มาในฐานะตัวแทน เมื่อมีการเลือกประธานชั่วคราว คือ นายปัญญา ศรีทองสุข ตนก็กลับทันทีเพราะไม่อยากรับรู้การประชุมต่อ และมาทราบภายหลังว่าที่ประชุมมีมติถอดถอนคณะกรรมการชุดที่ 28 ด้วย

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามฝ่ายกฎหมายกรมส่งเสริมสหกรณ์กรณีที่มีการกู้เงินของคณะกรรมการสหกรณ์ฯที่มาจากการเลือกตั้งโดยการประชุมนั้นอาจขัดต่อกฎหมายแล้วจะมีผลทางกฏหมายอย่างไร แหล่งข่าวรายนี้ให้ความเห็นว่า สัญญาทั้งหมดรวมทั้งการกู้ที่คณะกรรมการชุดนั้นทำ แม้จะใช้ชื่อสหกรณ์ลงนาม คณะกรรมการก็ต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัว ไม่มีผลผูกมัดกับทางสหกรณ์ อีกทั้งคู่สัญญาถ้ารู้แน่ชัดว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีที่มาไม่ถูกต้องแล้ว อาจมีความผิดด้วยเช่นกัน ส่วนกรณีที่หากประธานขาดคุณสมบัติจริง (ไม่ผ่านการอบรม) ก็จะพ้นจากตำแหน่งประธาน แล้วรองประธานจะขึ้นมารักษาการแทนโดยไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งประธานใหม่ และถ้ามีกรรมการคนอื่นๆ ขาดคุณสมบัติอีกก็ต้องพ้นจากตำแหน่งเช่นกัน และจะไม่มีการเลือกตั้งใหม่ จะใช้คณะกรรมการเท่าที่มี (แต่ต้องเกิน 8 คน) ในการบริหารต่อไป

ขณะที่วันที่ 30 เมษายน 2556 ที่สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น พนักงานสหกรณ์ยังเปิดทำการและให้บริการตามปกติ แต่ทำธุรกรรมได้แค่ฝากหุ้นเพิ่มและจ่ายดอกเบี้ยเท่านั้น ไม่สามารถถอนเงินได้ ซึ่งเป็นไปตามประกาศเดิมของสหกรณ์ที่มีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 23-30 เมษายน พนักงานนำเอกสารมาแจกให้สมาชิกสหกรณ์ รวมทั้งปิดประกาศไว้ที่บอร์ดกลาง ประกาศว่ามาจากฝ่ายพนักงาน เนื้อหาลำดับที่มาที่ไปของเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม ซึ่งส่วนใหญ่มีเนื้อหาคล้ายกับที่นายศุภชัยเคยแถลงข่าวมาหลายครั้งก่อนหน้านี้ ส่วนย่อหน้าสุดท้ายเขียนถึงผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 ว่าควรแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการพิพาทระหว่างคณะกรรมการทั้งสองชุดโดยเร็วที่สุด

ในช่วงสายของวันเดียวกัน นายศุภชัยเชิญสมาชิกเข้าฟังคำชี้แจงที่สำนักงานคลองจั่น โดยมีใจความว่ายื่นอุทธรณ์ไว้กับอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้มติที่ประชุมวันที่ 9 เมษายน มีผลทางกฎหมาย ซึ่งภายในสัปดาห์นี้อาจจะมีอะไรบางอย่างคืบหน้า ถ้ายังไม่มีการรับรองอีกจะดำเนินการยื่นอุทธรณ์กับคณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) ถ้าถึงที่สุดแล้วอาจมีการยื่นฟ้องศาลปกครองให้มีการคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้คณะกรรมการชุดวันที่ 9 เมษายนได้ทำงานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้กับสมาชิก

วันที่ 30 เมษายน ผู้สื่อข่าวติดต่อไปยัง นายปฏิพันธ์ จันทรภูติ กรรมการสหกรณ์ชุดที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 เมษายน กล่าวถึงประเด็นที่ฝ่ายนายศุภชัยระบุว่า นายเผด็จ มุ่งธัญญา ขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการบริหาร เนื่องจากไม่ได้ผ่านการอบรมสมาชิกสหกรณ์ ได้กล่าวว่า”ไม่เป็นความจริงเพราะถ้าไม่ผ่านการอบรมก็ต้องขาดสมาชิกภาพไปนานแล้ว เพราะนายเผด็จเป็นสมาชิกตั้งแต่หลังเกษียณในปี 2551 แต่เรื่องหลักฐานยืนยันคงหาได้ยากเพราะ ตอนอบรมก็มีแค่ให้เซ็นชื่อหน้าห้องอบรมเท่านั้น ซึ่งใบเซ็นชื่อก็เก็บอยู่ในสหกรณ์ไม่สามารถเข้าไปเอามาแสดงได้ โดยจะมีการบันทึกประวัติสมาชิกในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ของสหกรณ์ แต่ข้อมูลในนั้นก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดถ้าอยู่ในสหกรณ์”

นายปฏิพันธ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงที่สุดแล้วถ้าทางสำนักฯ พื้นที่ 2 มีความเห็นว่านายเผด็จขาดคุณสมบัติจริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องมีการจัดประชุมใหม่เพื่อเลือกตั้ง เพราะตามกฎหมายไม่ได้มีการระบุเอาไว้ แต่มีเขียนเอาไว้ว่า เมื่อประธานไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ก็ให้รองประธานขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการณ์แทนไปได้เลย ในส่วนของกรรมการก็เช่นเดียวกัน ตราบใดที่ยังมีกรรมการทำหน้าที่ได้เกิน 8 คน คณะกรรมการก็ยังทำงานได้

ส่วนประเด็นที่มีข้อสงสัยเรื่อง การเลื่อนประชุมใหญ่จากวันที่ 31 มีนาคม ซึ่งไม่สามารถจัดประชุมได้จบ เลื่อนเป็นการประชุมเมื่อวันที่ 26 เมษายน ว่าเป็นมติที่ผ่านจากคณะกรรมการสหกรณ์ที่ครบองค์ประชุมหรือไม่ (อย่างต่ำ 8 คน) แหล่งข่าวกล่าวว่า วันที่มีการลงมติเลื่อนประชุมคือ วันที่ 31 มีนาคม ประชุมที่ห้องประชุมพิเศษ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ท หลังจากที่ประชุมใหญ่ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ และเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ได้ส่งลายเซ็นกรรมการทั้ง 9 คนที่ร่วมประชุมและลงมติในวันนั้นให้กับทางสำนักฯ พื้นที่ 2 ตามที่มีการร้องขอแล้ว ส่วนเอกสารส่วนใหญ่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเช่นรายงานการประชุม ได้ส่งให้ทางสำนักฯ พื้นที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายนแล้ว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ถ้าทางกรมส่งเสริมรับรองคณะกรรมการชุดที่ 29 ภายในวันศุกร์ตามแผนงานที่วางไว้ จะปิดทำการสหกรณ์สัก 3-4 วัน เพื่อตรวจสอบระบบทั้งหมด และเช็คเงินของสหกรณ์ว่ามีการเคลื่อนย้ายหรือไม่ คาดว่าไม่เกินวันที่ 15 พฤษภาคม สหกรณ์จะสามารถเปิดบริการให้ถอนเงินปันผลที่เหลือได้ แต่ส่วนของเงินออมทรัพย์อาจเป็นการทยอยให้ถอน หากสมาชิกถอนเงินก้อนใหญ่ เพราะถ้าทุกคนแห่กันมาถอนทั้งหมดสหกรณ์ไม่สามารถหมุนเงินมาจ่ายให้สมาชิกทุกคนได้ ในส่วนของผู้ฝากรายใหญ่ทางทีมงานได้ติดต่อเพื่อชี้แจงสถานการณ์และทำความเข้าใจเรื่องการถอนเงินแล้ว