ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ผู้นำโกง” – ตามล่าขุมทรัพย์ในดินแแดนแห่งกุหลาบทะเลทราย (จบ)

“ผู้นำโกง” – ตามล่าขุมทรัพย์ในดินแแดนแห่งกุหลาบทะเลทราย (จบ)

29 พฤษภาคม 2013


รายงานโดย อิสรนันท์

การที่อดีตประธานาธิบดีอาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ แห่งเยเมน สามารถหลอกคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (จีซีซี) และนายอับดราบูห์ มันซูร์ ฮาดี ประธานาธิบดีคนใหม่ ให้หลงเชื่อจนยอมยืดเวลาการผ่องถ่ายอำนาจอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกเหนือจากยอมให้เอกสิทธิ์คุ้มครองไม่ถูกเช็กบิลย้อนหลัง ซึ่งครอบคลุมไปถึงลูกหลานทุกคนในครอบครัวของนายซาเลห์ ที่มีส่วนร่วมในการควบคุมประเทศด้วย ก็เหมือนกับการตีงูแค่หลังหัก สุดท้ายก็กลับมาแว้งกัดรัฐบาลนายฮาดีและชาวเยเมน จนต้องเสียเวลากับการทะลายขุมข่ายอำนาจในกองทัพที่อยู่ภายใต้การควบคุมของลูกหลานนายซาเลห์ เปิดช่องให้ตระกูลนี้มีเวลามากขึ้นในการแอบผ่องถ่ายทรัพย์สินไปซุกซ่อนไว้ในต่างประเทศ

นายกาห์เนม นัสไซเบห์ นักวิเคราะห์แห่งอังกฤษ ให้ความเห็นว่า ปัญหาใหญ่อยู่ที่แผนสันติภาพเยเมนของจีซีซีมีช่องโหว่จำนวนมาก ที่เปิดช่องให้นายซาเลห์สามารถบิดพลิ้วไม่ต้องทำตามได้ทุกขั้นตอน ความเห็นนี้สอดคล้องกับมุมมองของนักการทูตต่างชาติในกรุงซานาที่ว่า นายซาเลห์ยอมลงนามในแผนสันติภาพของจีซีซีเพื่อต้องการลดกระแสต่อต้านของฝ่ายค้านและบรรดาประเทศมหาอำนาจ อาทิ สหรัฐอเมริกา ซาอุดีอาระเบีย และหลายประเทศในยุโรป ที่ต้องการตัดไฟแต่ต้นลม หาทางป้องกันสถานการณ์รุนแรงในเยเมนไม่ให้ลามข้ามแดน จนส่งผลกระทบต่อเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐในภูมิภาค และประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบหมายเลข 1 ของโลก

จากจุดอ่อนนี้ ทำให้นายซาเลห์แสร้งรับปากว่าจะยอมถอดหัวโขนออกแต่โดยดี แต่ลับหลังก็คือการหนุนให้กองทัพลุกฮือแข็งข้อกับรัฐบาล รวมถึงการพยายามบ่อนทำลายความมั่นคงในประเทศ กระทั่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง แสดงความวิตกกรณีมีรายงานว่า “มีการลักลอบขนเงินสดและอาวุธจำนวนหนึ่งจากต่างประเทศไปยังเยเมนเพื่อหวังจะบ่อนทำลายการผ่องถ่ายอำนาจไม่ให้ดำเนินไปได้” แถลงการณ์ฉบับนี้มีขึ้นหลังจากรัฐบาลเยเมนได้ขอให้คณะมนตรีความมั่นคงช่วยตรวจสอบเรือลำหนึ่งที่ทางการเยเมนอ้างว่าได้ลักลอบขนวัตถุตั้งต้นในการผลิตระเบิดของอิหร่าน เข็มขัดที่ใช้สำหรับระเบิดพลีชีพ ระเบิด จรวด ขีปนาวุธยิงจากพื้นดินสู่อากาศ เครื่องยิงจรวดและกระสุนจำนวนมาก เตรียมมอบให้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของประเทศ เพื่อใช้ก่อการภายใต้ความร่วมมือกับนายทหารระดับสูงบางคนที่สูญเสียอำนาจระหว่างการปฏิวัติประชาชน

นอกจากจะขอให้สหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงทางอ้อมแล้ว นายฮาดี ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยังได้ลงมือปฎิรูปโครงสร้างของกองทัพรวมไปถึงกรมตำรวจและกระทรวงมหาดไทย โดยอ้างว่าเพื่อจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งของหน่วยรักษาความมั่นคงและเพื่อกวาดล้างขบวนการการทุจริตคอร์รัปชันในกองทัพ เป็นเหตุให้เงินงบประมาณด้านกลาโหมหายไปอย่างไร้ร่องรอยนับแสนล้านเรียล แต่แท้ที่จริงก็คือการกวาดล้างขุมข่ายกว่าแสนคนของลูกหลานของนายซาเลห์ที่ทิ้งไว้เป็นหอกข้างแคร่ในกองทัพ

การกวาดล้างเริ่มขึ้นด้วยการสั่งปลดพลจัตวาอาเหม็ด อาลี ซาเลห์ ลูกชายคนโตของนายซาเลห์ ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์สาธารณรัฐอันทรงอิทธิพลผู้คุมกำลัง 80,000 คน นายพลอาเหม็ดตอบโต้ด้วยการไม่ยอมให้โอนย้ายระบบขีปนาวุธสกั๊ดไปขึ้นกับกระทรวงกลาโหม ทั้งยังวางอำนาจออกคำสั่งให้นายโมฮัมเหม็ด บิน โมฮัมเหม็ด อับดุบลาห์ ซาเลห์ ซึ่งเป็นญาติคนหนึ่ง เข้าไปควบคุมระบบขีปนาวุธสกั๊ดแทน พร้อมกับขู่จะถล่มกรุงซานาด้วยขีปนาวุธทรงอานุภาพนี้ สุดท้าย นายฮาดีได้ประกาศยุบกองกำลังพิกษ์สาธารณรัฐ พร้อมกับย้ายพลจัตวาอาเหม็ดไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อกลางเดือนเมษายน 2556 ซึ่งเท่ากับพ้นจากกองทัพโดยปริยาย

ขณะเดียวกัน นายฮาดียังปลดนายพลยาห์ยา โมฮัมเหม็ด หลานชายของนายชาเลห์ จากตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยรักษาความมั่นคงกลาง อันเป็นหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายที่ผ่านการผึกอบรมจากสหรัฐฯ ที่คุมกำลังพลอยู่ 64,000 นาย ก่อนจะสั่งปลดจากกองทัพเป็นพลเรือนธรรมดาๆ เช่นเดียวกับพลจัตวาทาเร็ก โมฮัมเหม็ด อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ หลานชายอีกคนหนึ่งของนายซาเลห์ ที่ถูกย้ายจากตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยรักษาความปลอดภัยประธานาธิบดีไปเป็นผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 3 รักษาสาธารณรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในกองกำลังที่แข็งแกร่งที่สุดและติดอาวุธที่ทันสมัยที่สุด มีหน้าที่รักษาพระนคร แต่นายพลทาเร็กได้ลาออกกองทัพโดยไม่มีตำแหน่งทางทหารใดๆ อีกต่อไป

นายฮาดียังได้สั่งโยกย้ายนายทหารอีกเกือบ 20 นาย รวมไปถึงนายพลโมฮัมเหม็ด ซาเลห์ อัล อาห์มาร์ ผู้บัญชาการทหารอากาศและพี่ชายต่างแม่ของนายซาเลห์ ในตอนแรกนายพลอัล อาห์มาร์ ขัดขืนคำสั่ง ยืนกรานไม่ยอมลาออก และแข็งข้อด้วยการยึดสนามบินในกรุงซานา สั่งการไม่ให้เครื่องบินขึ้นบิน แต่ภายหลังยอมรับตำแหน่งใหม่เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหม เมื่อถูกนายฮาดีขู่จะนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในข้อหากบฏ

ที่มาภาพ : http://images.politico.com/global/2012/01/120128_ali_abdullah_saleh_ap_328.jpg
ที่มาภาพ : http://images.politico.com

ไม่เพียงแต่กวาดล้างลูกหลานนายซาเลห์ออกจากกองทัพ แม้กระทั่ง “บิ๊กทหาร” หลายคนซึ่งไม่ถูกกับนายซาเลห์และเป็นหนึ่งในนายทหารที่เข้าร่วมกับการปฏิวัติประชาชนก็พลอยถูกกวาดล้างด้วย เนื่องจากมีอิทธิพลมากเกินไปจนอาจเป็นหอกข้างแคร่ในภายหลัง หนึ่งในนั้นก็คือนายพลอาลี โมเชน ที่ถูกโยกจากตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลยานเกราะที่ 1 ไปเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีฝ่ายกิจการทหารและความมั่นคง

ท้ายสุด นายฮาดีได้สั่งยุบหน่วยพิทักษ์สาธารณรัฐและกองพลยานเกราะที่ 1 ไปรวมกับกระทรวงกลาโหมเมื่อแก้ปัญหาในกองทัพแล้ว นายฮาดีจึงหันความสนใจไปที่การตามล่าขุมทรัพย์ของครอบครัวนายซาเลห์

กลุ่มสิทธิมนุษยชนในเยเมนหรือฮู้ดให้ความเห็นว่า นายซาเลห์ได้สะสมความมั่งคั่งร่ำรวยผ่านการทำสัญญาขายก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน รวมทั้งได้เรียกค่าคอมมิชชันจากบริษัทต่างๆ ที่ได้รับสิทธิพิเศษในการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

แหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อเผยว่า นายซาเลห์พร้อมด้วยลูกชายและหลานชายได้เริ่มฟอกเงินหรือไซฟอนออกจากเยเมนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2554 หลังจากสุเหร่าประจำทำเนียบประธานาธิบดีถูกถล่มด้วยระเบิด จากจุดนั้นทำให้นายซาเลห์เริ่มคิดถึงการต้องปกป้องผลประโยชน์ทางการเงินของตัวเองและครอบครัว และจากการที่สวมหัวโขนผู้นำประเทศมานานกว่า 30 ปี ทำให้นายซาเห์ตระหนักดีกว่าคนแพ้ย่อมเป็นคนผิด นายซาเลห์จึงพยายามเตะถ่วงไม่ยอมคืนอำนาจง่ายๆ เพราะต้องการหาหลักประกันว่าไม่มีใครสามารถสาวหาสมบัติของตัวเองที่ซุกซ่อนไว้ได้

มีรายงานว่า ก่อนที่นายซาเลห์จะย้ายออกจากทำนียบประธานาธิบดี เขาได้แอบโยกย้ายสมบัติทุกชิ้นไปจนหมดสิ้น รวมไปถึงของขวัญที่ผู้นำต่างประเทศมอบให้ โบราณวัตถุ นาฬิกาทองคำ ปืน ไรเฟิลล่าสัตว์และของสะสมต่างๆ ที่เคยจัดแสดงตามห้องต่างๆ แม้กระทั่งเหล้าที่นายซาเลห์นิยมเสิร์ฟแขกเมืองตะวันตก โดยนายพลองครักษ์ประธานาธิบดีได้สั่งการให้ทหารคนสนิทย้ายโบราณวัตถุทุกชิ้นไปยังสถานที่ที่ไม่เปิดเผย

จากการขุดคุ้ยของขบวนการตามล่าสมบัติของนายซาเลห์อย่างไม่เป็นทางการพบว่า นายซาเลห์มีอสังหาริมทรัพย์จำนวนหนึ่งในสหรัฐฯ นอกจากนี้ มีรายงานว่าระหว่างเกิดจลาจลเมื่อปี 2554 อดีตผู้นำเยเมนยังได้ขโมยเงินก้อนใหญ่จากกองทุนสาธารณะไปซ่อนไว้ที่ดูไบและบาห์เรน จากนั้นได้แอบซื้อทองคำจำนวนมหาศาลและทรัพย์สินในเยอรมนีและมาเลเซีย

ขณะที่นายอาห์เหม็ด อาลี ซาเลห์ ลูกชายคนโต ก็มีบ้านหลายหลังในสหรัฐฯ ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี บาห์เรน ดูไบ และมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังมีผลประโยชน์อยู่ในบรรษัทระหว่างประเทศหลายแห่ง ตลอดจนถือเงินสด พันธบัตร และการซื้อขายล่วงหน้ามูลค่ามหาศาล

ในช่วงเกิดจลาจล หนังสือพิมพ์ในสหรัฐรายงานว่า เมื่อปี 2550 มีชายคนหนึ่งชื่อนายอาเหม็ด อัล ซาเลห์ ซึ่งแม้จะเป็นชื่อสามัญของชาวเยเมน แต่เชื่อว่าเป็นลูกชายคนโตของนายซาเลห์ได้จ่ายเงินสด 5.5 ล้านดอลลาร์ (ราว 165 ล้านบาท) ในการซื้อคอนโดมิเนียม 4 ห้อง ที่อาคารสูดหรูที่เฟรนด์ชิป ไฮก์ ใกล้แหล่งชอปปิงหรูในกรุงวอชิงตัน ดีซี นอกจากนี้ ยังเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มูลค่าราว 220,000 ดอลลาร์ (ราว 6.6 ล้านบาท) ที่แฟร์แฟ็กซ์ รัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งซื้อในช่วงทศวรรษ 2533

เช่นเดียวกับน้องชายและหลานชายคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนายพลอาลี ซาเลห์ อัล อาห์มาร์ อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศ พี่ชายต่างแม่ รวมทั้งเหล่าหลานชาย ได้แก่ นายพลเยเฮีย โมฮัมเหม็ด ซาเลห์ อดีตผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความปลอดภัยกลาง, นายพลอัมมาร์ โมฮัมเหม็ด ซาเลห์ อดีตผู้บัญชาการหน่วยบริการความมั่นคงแห่งชาติ, นายพลทาเร็ก โมฮัมเหม็ด ซาเลห์ อดีตผู้บัญชาการหน่วยรักษาความปลอดภัยประธานาธิบดี และนายทอว์ฟิก โมฮัมเหม็ด ซาเลห์ อดีตประธานบริษัทยาสูบแห่งชาติ หลานชาย

ผลการตามล่าขุมทรัพย์เหล่านั้นพบว่า ตลอดช่วงหลายเดือนที่มีการประท้วง ครอบครัวใหญ่ของนายซาเลห์ได้เริ่มต้นผ่องถ่ายทรัพย์สินออกจากเยเมนผ่านหุ้นส่วนทางธุรกิจ ผ่านนอมินีและคนที่ไว้ใจได้ ให้ช่วยซ่อนทรัพย์สินและสมบัติค่ามหาศาลนั้น

ที่น่าสังเกตก็คือ จู่ๆ นางฮูดา อัล ชาราฟี หนึ่งในเศรษฐินีผู้มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดในเยเมนและเป็นหุ้นส่วนกับนายพลเยเฮียมานาน ได้กลายเป็นเจ้าของกลุ่มบริษัท อับ แมซ แต่เพียงผู้เดียว หลังจากนายพลเยเฮียเพลย์บอยหลายพันล้านดอลลาร์ตัดสินใจจะขายสมบัติทั้งหมดของบริษัท จากนั้นก็ทุ่มลงทุนมหาศาลในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเบรุต และขณะนี้ก็เสวยสุขอยู่ที่นครหลวงของเลบานอน หลังจากได้โยกย้ายนิวาสถานไปอยู่ตั้งแต่ปี 2555 ก่อนหน้าที่จะถูกนายฮาดีปลดจากตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยความมั่นคงกลาง

นายฟารีส อัล ซานาบานี อดีตเลขาฯ ฝ่ายสื่อของนายซาเลห์ ก่อนจะสิ้นอำนาจได้กลายเป็นหนึ่งในนอมินีของครอบครัวนายซาเลห์และคนสนิทผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ในมือ ไม่ว่าจะเป็นเยเมน ทูเดย์ เยเมน ออบเซิร์ฟเวอร์ และสำนักข่าวเฟลิกซ์ รวมทั้งสถานีโทรทัศน์อัล อากิ๊ก

คนสนิทของนายซานาบานีเผยว่า นายซานาบานียินยอมให้กองทุนต่างๆ เข้าไปลงทุนในสื่อหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์เพื่อประโยชน์ของนายพลเยเฮียและนายพลอาห์เหม็ดที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง เมื่อปี 2555 นายซานาบานียังได้เดินทางไปสหรัฐฯ​และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการลงทุนต่างๆ ในนามของครอบครัวซาเลห์

นายโมฮัมเหม็ด ซามีห์ ผู้ประสานงานการทวงคืนกองทุนในเยเมนที่ตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2555 ให้ความเห็นว่า เชื่อว่าเงินกองทุนสาธารณะรวมแล้วหลายพันล้านดอลลาร์ถูกอดีตครอบครัวหมายเลขหนึ่งขโมยไป โดยเฉพาะนายซาเลห์และนายอาเหม็ด ลูกชายคนโต และได้ซุกซ่อนทั่วตะวันอกกลาง สหรัฐฯ ยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ

นายซามีห์กล่าวด้วยว่า เยอรมนีได้สกัดกั้นไม่ให้นายพลจัตวาอาห์เหม็ด อาลี โยกย้ายเงินในบัญชีและทรัพย์สิน แม้จะถือว่าเป็นเม็ดเงินก้อนไม่โตนัก แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่ายุโรปให้ความร่วมมือในการตามล่าเงินของแผ่นดินคืน

ผิดกับรัฐบาลหลายประเทศในตะวันออกกลาง ที่ไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลการเงินของนายซาเลห์และลูกหลาน แม้จะมีรายงานที่ไม่ยืนยันว่าครอบครัวนายซาเลห์ได้ใช้นอมินีเป็นตัวปิดบังสมบัติของตัวเองทั้งผ่านบริษัทต่างชาติ หรือบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อในนามตัวแทน หรือการโอนเงินไปต่างประเทศผ่านตัวแทนหุ้น ซึ่งก็คือนายพลยาเฮีย ซาเลห์ ที่ได้นำเงินหลายล้านดอลลาร์ไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเบรุต

จะว่าไปแล้ว กระบวนการตามล่าสมบัติของครอบครัวนายซาเลห์ไม่ได้รับความสนใจจากนานาประเทศมากเท่าที่ควร ไม่เหมือนกับคราวตามล่าขุมทรัพย์ของอดีตผู้นำตูนีเซียและอิยิปต์ สาเหตุสำคัญมาจากการลุกฮือขับไล่พันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย ศัตรูตัวฉกาจของสหรัฐที่ดึงความสนใจของทั่วโลกให้ติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิด