ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > อนุกรรมาธิการสภาสูง เปิดผลศึกษางบฯ จัดการน้ำท่วม 2 แสนล้าน

อนุกรรมาธิการสภาสูง เปิดผลศึกษางบฯ จัดการน้ำท่วม 2 แสนล้าน

3 เมษายน 2013


ที่มาภาพ : thailog.org
ที่มาภาพ: thailog.org

เหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 เป็นภัยพิบัติที่ติดอันดับความรุนแรงลำดับที่ 8 ของโลกนับตั้งแต่ปี 2508

เป็นอันดับที่ 2 ของภัยพิบัติทั่วโลกที่เกิดขึ้นในปีนั้น

และเป็นมหาอุทกภัยที่รุนแรงที่สุดของประเทศไทย จนกระทั่งวันนี้ก็ยังคงเป็น “ภาพจำ” อันโหดร้ายในความรู้สึกของคนไทยอยู่

หลังจากคลื่นน้ำได้เคลื่อนตัวออกอ่าวไทยไป “รัฐบาล” ภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวน 2.03 แสนล้านบาท

แบ่งเป็นการใช้จ่ายจาก พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณปี 2555 จำนวน 53,018 ล้านบาท, งบกลางประจำปี 2555 จำนวน 119,987.72 ล้านบาท และงบประมาณจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ 2555 ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจนถึงเดือนตุลาคม 2555 เป็นจำนวนเงิน 30,585 ล้านบาท

จากวงเงินงบประมาณก้อนใหญ่ ทำให้คณะกรรมาธิการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการศึกษางบประมาณที่เหมาะสมกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มี มล.ปรียพรรณ ศรีธวัช เป็นประธานอนุกรรมาธิการฯ เพื่อศึกษาในเรื่องดังกล่าว และรายงานผลการศึกษาต่อที่ประชุมวุฒิสภาและรัฐบาลต่อไป

ทั้งนี้ ในรายงานผลการศึกษาของอนุกรรมาธิการ ได้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

1. หลังวิกฤติมหาอุทกภัย ประเทศไทยได้ใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่เป็นการดำเนินการแบบรีบเร่ง ซ่อมแซมอุปกรณ์ เครื่องมือ และโครงสร้างพื้นฐานในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน จึงขาดความเหมาะสมสำหรับรองรับพิบัติภัยที่มีแนวโน้มจะมีขนาดใหญ่ขึ้น อันเป็นผลมาจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน

2. ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศส่วนใหญ่ได้ออกแบบไว้สำหรับการชลประทานและการใช้น้ำเป็นหลัก ไม่เน้นและไม่มีการออกแบบระบบสำรองไว้รองรับการระบายน้ำขณะเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศยังไม่มีความชัดเจน

3. ประเทศไทยใช้เขื่อนขนาดใหญ่ในการบริการจัดการทรัพยากรน้ำ แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ระบบระบายน้ำของเขื่อนยังขาดกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมสอดคล้องกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ เพื่อสามารถช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งให้พอเพียงต่อการใช้น้ำในการเพาะปลูกและรักษาระบบนิเวศลุ่มน้ำ

4. การดำเนินโครงการภายใต้วงเงิน 350,000 ล้านบาท ยังขาดการศึกษาความเหมาะสมของโครงการและสิ่งแวดล้อม อาจต้องใช้เวลานานจึงจะสามารถดำเนินการได้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งไม่ทันต่อสภาพปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งดำเนินการศึกษาหาแนวทางในการเชื่อมโยงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างลุ่มน้ำต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ

5. ปัญหาการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนและเมืองใหญ่ๆ ในพื้นที่น้ำท่วม ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุมและการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง จึงไม่สามารถควบคุมการขยายตัวของชุมชนเมืองได้ ปัญหาน้ำจึงมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นต่อไป

6. ประเทศไทยยังขาดความเชื่อมโยงของระบบเตือนภัยและระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังขาดแคลนแผนเผชิญเหตุพิบัติภัยขนาดใหญ่ จึงนำมาซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล

7. การบริหารจัดการทรัพยากรในลักษณะ Single Command นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี คือ สามารถแก้ปัญหาได้รวดเร็วเป็นเอกภาพ ข้อเสีย คือ หากผู้สั่งการขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง จะมีผลทำให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ใยการปฏิบัติไม่สามารถใช้ความรู้ความสามารถได้เต็มศักยภาพของหน่วยงานนั้น

8. สภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก มีแนวโน้มก่อให้เกิดพิบัติภัยขนาดใหญ่มากขึ้น แต่ประเทศไทยยังขาดการออกแบบระบบการป้องกันและบริหารจัดการพิบัติภัยขนาดใหญ่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและเกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

9. โครงการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบของสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอ.) หากสามารถสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างสมบูรณ์ ก็จะเป็นการสร้างความมั่นคงให้ประเทศ เป็นการเพิ่มเสถียรภาพทางระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว

อนุกรรมาธิการศึกษางบประมาณที่เหมาะสมกับการบริการจัดการทรัพยากรน้ำ วุฒิสภา
อนุกรรมาธิการศึกษางบประมาณที่เหมาะสมกับการบริการจัดการทรัพยากรน้ำ วุฒิสภา

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมาธิการฯ ยังมีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาล อันประกอบไปด้วย

1. ประเทศไทยต้องมีการศึกษารายละเอียดและวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งของลุ่มน้ำแบบองค์รวม โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศและเพิ่มระดับมาตรฐานการลดความเสี่ยงภัยน้ำท่วมของประเทศ ให้มีขนาดที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับความเสี่ยงของโอกาสในการเกิดภัยพิบัติที่มีแนวโน้มจะมีขนาดใหญ่ขึ้น อันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ โดยในการจัดทำผังเมือง ต้องคำนึงถึงการวางแผนพัฒนาเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคต และให้มีผลบังคับใช้พร้อมบทลงโทษตามกฎหมายที่ชัดเจน

2. ประเทศไทยต้องมีการวางแผนแม่บทเพื่อควบคุม ป้องกัน และบรรเทาสภาวะน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่ใช้มาตรการทั้งแบบมีสิ่งก่อสร้างและไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และให้มีการศึกษาเพื่อกำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ชัดเจน โดยคำนึงถึงหลักวิชาชีพของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในสถานการณ์ต่างๆ

3. ควรปรับปรุงระบบคลองขนส่งน้ำและพื้นที่รับน้ำนองในปัจจุบัน ให้สามารถรองรับระบบระบายน้ำท่วมในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งระบบ เช่น เพิ่มขนาดอาคารบังคับน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการบำรุงรักษาระบบคูคลองอย่างสม่ำเสมอ

4. ปรับปรุงระบบคมนาคมขนส่งทางบกในปัจจุบัน เช่น ถนน รางรถไฟ ที่กีดขวางทางระบายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ

5. ประเทศไทยควรสร้างทางระบายน้ำหลากขนาดใหญ่เพื่อลดปริมาณน้ำหลากจากลำน้ำตอนบนและตอนกลางของประเทศเข้าสู่ลำน้ำหลักหรือแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งควบคุมไม่ให้ปริมาณน้ำท่วมหลากเข้าใกล้พื้นที่เมือง และพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ

6. ควรมีการศึกษาปรับปรุงระบบเตือนพิบัติภัยของประเทศให้มีความเชื่อมโยงกันทั้งระบบ เพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต และให้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการพิบัติภัย รวมทั้งส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชน ให้มีส่วนร่วมในการจัดการพิบัติภัยทั้งก่อนและหลัง

7. สำหรับการดำเนินโครงการภายใต้เงินกู้สาม 350,000 ล้านบาท ยังขาดการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการ โดยเฉพาะการขาดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และการทำประชาพิจารณ์ อันจะนำมาซึ่งความไม่เห็นด้วยของภาคประชาชนจนเกิดความล่าช้าของโครงการ นับเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้งบประมาณแผ่นดิน

8. ควรมีการศึกษาเพื่อคาดการณ์และสำรองปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญตามหลักวิชาการ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ และเพื่อจัดทำแผนแม่บทกำหนดระยะเวลาการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตรกรรมและและผลิตอาหารของประเทศ