ThaiPublica > คอลัมน์ > ความสามารถในการจัดการและชีวิต

ความสามารถในการจัดการและชีวิต

22 เมษายน 2013


ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ความสำเร็จของสังคมหรือของบุคคลมีรากฐานมาจากความสามารถในการจัดการ ผู้ที่มีความสุขในชีวิตล้วนเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการจัดการทั้งสิ้น

การจัดการซึ่งแปลมาจากคำว่า management นั้นอยู่รอบตัวมนุษย์อย่างนึกไม่ถึง บ่อยครั้งที่เรานึกถึงการจัดการในรูปแบบที่เป็นทางการ เช่น การจัดการขององค์กรไม่ว่ารัฐหรือเอกชน แต่เรามักมองข้ามการจัดการของสมาชิกอื่น ๆ ของสังคม เช่น แม่บ้านในเรื่องการเลี้ยงอบรมดูลูก ทำงานบ้าน ปรุงอาหาร สอนลูกทำการบ้าน ฯลฯ และสำหรับ “single mums” หรือแม่ที่เลี้ยงดูลูกคนเดียวนั้นทำงานหนักเหล่านี้แล้วยังทำงานหาเงินไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ความสามารถในการจัดการของแม่บ้านเกี่ยวพันกับโลจิก ความเข้าใจลำดับความสำคัญของงาน การฝึกฝนทักษะ ความสามารถในการสื่อสาร ทักษะในการจัดการอารมณ์ของตนเองและของคนรอบข้าง วินัยในการดำรงชีวิต ความอดกลั้น ความอดทน ฯลฯ

ที่มาภาพ : http://images.inquisitr.com
ที่มาภาพ : http://images.inquisitr.com

แม่บ้านโดยเฉพาะ “single mums” ที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูก ผลิตคนดีที่สามารถยืนบนขาตนเองได้จึงเรียกได้ว่าเป็นนักบริหารจัดการตัวยงทีเดียว

นักการทหาร แพทย์ พยาบาล เจ้าของธุรกิจ SME’s ตั้งแต่หาบเร่แผงลอย ขายข้าวแกงฯลฯ จนถึงเจ้าของร้านอาหาร และผู้บริหารทุกระดับในองค์กรที่ประสบความสำเร็จ ล้วนแล้วแต่มีความสามารถในการจัดการทั้งสิ้น

การจัดการของมนุษย์นั้นอยู่ในสายเลือดตั้งแต่อพยพกันออกมาจากอาฟริกาเมื่อ 150,000-200,000 ปี ถ้าบรรพบุรุษของเราขาดความสามารถในการจัดการ ไม่ว่าในเรื่องการหาอาหาร ป้องกันตนเองและครอบครัวจากภัยต่าง ๆ สร้างที่อยู่อาศัย ประดิษฐ์เครื่องนุ่งห่ม สะสมภูมิปัญญาในเรื่องการรักษาตนเองจากโรคภัยไข้เจ็บแล้ว พวกเราคงไม่มีวันนี้กันเป็นแน่

มหาบุรุษคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ คือ เจิ้งเหิง (Zhèng Hé (ค.ศ. 1371-1433)) ขันทีมุสลิมผู้เป็นนักเดินเรือชาวจีนผู้ยิ่งใหญ่ของโลก นำขบวนเรือครั้งแรกเดินทางไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย (ครั้งที่ 3 มาถึงอยุธยาด้วย) และกลับอย่างปลอดภัยโดยใช้เรือถึง 317 ลำ รวมลูกเรือ 28,000 คน ถ้าหากไม่เข้าใจเรื่องโลจิสติกส์และไม่มีความสามารถในการจัดการอย่างเป็นเลิศแล้วขบวนเรือคงย่อยยับ ไม่มีโอกาสนำออกไปอีก 6 ครั้งเป็นแน่ (โคลัมบัสในปี 1492 นำขบวนเรือเพียง 6 ลำเดินทางไปทวีปอเมริกา)

นักคิดในประวัติศาสตร์โลกหลายคนได้เขียนเรื่องราวของการจัดการแทรกไว้ในหนังสือ เช่น พระไตรปิฎก รามเกียรติ์ มหาภารตะ สามก๊ก The Art of War (โดยซุ่นหวู่เมื่อ 2,600 ปีก่อน) ฯลฯ ซึ่งถือได้ว่าเป็นตำราสอนผู้คนในวัฒนธรรมต่าง ๆ ของโลก

ความรู้เรื่องการจัดการสอดแทรกอยู่ในตำราเศรษฐศาสตร์เล่มสำคัญ คือ The Wealth of Nations โดย Adam Smith ใน ค.ศ. 1776 ซึ่งเน้นการทำงานที่มีประสิทธิภาพขององค์กรผ่านการแบ่งงานกันทำ (division of labor)Adam Smith เสนอให้เปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (productivity) โดยยกตัวอย่างเรื่องการผลิตเข็ม แรงงานคนหนึ่งอาจผลิตเข็มได้วันละ 200 เล่ม แต่ถ้าแบ่งงานกันทำโดยเชี่ยวชาญกันคนละอย่าง เช่น ตัดลวด ฝนลวด ตกแต่งฯ จะผลิตเข็มได้วันละ 48,000 เล่ม สิ่งที่เขาบรรยายไว้นี้ก็คือรากฐานของระบบการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

ในการเรียนเรื่องการจัดการอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนั้น มีตำราเรื่องการจัดการเล่มแรก ๆ ตั้งแต่ ค.ศ. 1890 เช่น Science of Management โดย Henry R. Towne

บุคคลที่เพิ่มองค์ความรู้และทำให้วิชาการจัดการแพร่หลายก็คือ Peter Drucker (ค.ศ. 1909-2005) เขาตีพิมพ์หนังสือเล่มสำคัญชื่อ Concept of Organization ในปี 1946 หลังจากที่ Harvard Business School เปิดหลักสูตร MBA ขึ้นเป็นครั้งแรกก่อนหน้านั้น 25 ปี และหลักสูตรนี้มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้เกิดทฤษฎีการจัดการที่เด่นชัดขึ้นใน ค.ศ. 1920 อย่างไรก็ดีมันยังไม่ใช่ตำราเล่มแรกเกี่ยวกับการจัดการที่ใช้กันในมหาวิทยาลัย ตำราเล่มแรกนั้นตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1911 โดย J.Duncan

เมื่อหันมาดูการดำเนินชีวิตของผู้คน ความสามารถในการจัดการในสองเรื่องเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือ (1)การครองชีวิต และ (2) การจัดการเรื่องเงิน

หากผู้ใดหรือครอบครัวใดครองชีวิตด้วยความประมาท ไม่ระมัดระวัง ไม่รอบคอบขาดปัญญาในการดำเนินชีวิตแล้วก็อาจไม่มีชีวิตที่มีความสุขได้ ชีวิตมนุษย์นั้นเปราะบางอย่างยิ่ง ความสามารถในเรื่องนี้เท่านั้นที่จะช่วยให้เอาชนะความเปราะบางของมันได้

สำหรับความสามารถในการจัดการเรื่องเงินนั้น ความมีวินัยในการบังคับใจตนเองให้มีอำนาจเหนือความปรารถนาในด้านวัตถุอย่างมีเหตุมีผล มีความสมดุล บวกความสามารถในการจัดการให้เงินที่ตนอดออมได้นั้นงอกเงยเป็นหัวใจสำคัญ

การขาดความสามารถในการจัดการทั้งสองเรื่องข้างต้นซึ่งโดยแท้จริงแล้วเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออกจะนำไปสู่ชีวิตที่ขาดคุณภาพ

เมื่อชีวิตของมนุษย์ไม่มีรีแมช ความสามารถในการจัดการจึงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการหาความสุขจากชีวิตเดียวที่เรามีกัน

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์อาหารสอมง น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 16 เมษายน 2556