ThaiPublica > คนในข่าว > เพลงดาบ “สุจิต บุญบงการ” แทงตรง “เสียงข้างมาก” วัน “ศาลรัฐธรรมนูญ” ถูกลูบคม

เพลงดาบ “สุจิต บุญบงการ” แทงตรง “เสียงข้างมาก” วัน “ศาลรัฐธรรมนูญ” ถูกลูบคม

16 เมษายน 2013


“…ถ้าฝ่ายเสียงข้างมากทำตัวถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถจะไปเอาออกได้…”

นายสุจิต บุญบงการ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายสุจิต บุญบงการ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

13 กรกฎาคม 2555 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้รัฐธรรมนูญด้วยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของมาตรา 291 เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ผ่านการลงประชามติ ดังนั้น เมื่อจะแก้ก็ควรทำประชามติถามประชาชนก่อน หรือไม่ก็แก้รายมาตราโดยสภา

ทำให้ “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291” ที่เสนอโดย “พรรคเพื่อไทย (พท.)” กลายเป็น “วาระคาสภา” รัฐบาลไม่กล้าเดินหน้าลงมติในวาระ 3 ทั้งๆ ที่ “ตุลาการ” ระบุว่าไม่ใช่คำสั่ง เป็นเพียงคำแนะนำที่มีอิทธิพลทางความคิด

3 เมษายน 2556 รัฐสภาลงมติวาระ 1 รับหลักการ “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 3 ฉบับ” ที่เสนอเข้ามาใหม่โดย “คนหน้าเดิม” ทว่าได้เกิดปัญหาแทรกซ้อนขึ้น 2 กรณี

กรณีแรก คือ “องค์ประชุมไม่ครบ” ขณะกำหนดระยะเวลาในการแปรญัตติ ทำให้ฝ่ายค้านขู่ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จนประธานรัฐสภายอมถอย และนัดประชุมรัฐสภาใหม่ในวันที่ 18 เมษายน

อีกกรณี คือ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 รับคำร้องของ “สมชาย แสวงการ” ส.ว. สรรหา ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า “ประธานรัฐสภากับพวก” กระทำการส่อไปในทางกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิของบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่

นี่จึงเป็นเหตุให้ “ขบวนการรื้อรัฐธรรมนูญ” ของ “เสียงข้างมาก” ต้องไปจบลงที่การชี้ขาดของ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน” อีกหน เป็นผลให้ “กุนซือเพื่อไทยบางคน” เปรียบเปรย “ศาลรัฐธรรมนูญ” ว่าเป็น “ดาบที่แปดเปื้อน”

เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา “สุจิต บุญบงการ” ศาสตราจารย์กิตติคุณ ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า”

เขาตีความเจตนารมณ์ของ “มาตรา 68 ” อย่างไร เขาเห็นว่าเป้าหมายแท้จริงของ “ฝ่ายพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” กับ “ฝ่ายพิฆาตรัฐธรรมนูญ” คืออะไร? ติดตามได้นับจากบรรทัดนี้…

ตามมาตรา 68 ที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เข้าใจว่าต้องการให้มีการถ่วงและดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายประชาชน จริงๆ แล้วในการแก้รัฐธรรมนูญ ตัวรัฐธรรมนูญทุกยุคทุกสมัยให้บทบาทสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งเรียกรวมกันว่ารัฐสภาค่อนข้างมาก เพราะถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชน ดังนั้น อาจจะมีอำนาจหรือมีบทบาทในการแก้รัฐธรรมนูญมากหน่อย แต่ในขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับหลังๆ ก็ต้องการให้ประชาชนมีส่วนใช้อำนาจความเป็นเจ้าของอธิปไตย ในการถ่วงดุลและคานการทำงานของรัฐบาล รวมถึงการทำงานของรัฐสภาด้วย เนื่องจากในระยะหลังเริ่มมองเห็นแล้วว่าผู้นำทางการเมือง เอ่อ…คุมพรรคใหญ่นี่ มักจะสามารถคุมได้ทั้งรัฐบาลและสภา เพราะในการจะเป็นรัฐบาล คุณต้องมีเสียงข้างมากในสภา ดังนั้น พวกผู้นำทางการเมืองก็จะอ้างว่าได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนอย่างนั้นอย่างนี้ อ้างว่าสามารถออกกฎหมายอะไรก็ได้ แก้รัฐธรรมนูญก็ได้ ทำอะไรก็ได้ เพราะถือว่าได้รับเสียงข้างมากของประชาชน แต่ผมว่าการอ้างเช่นว่านี้อาจจะยังไม่ชอบธรรม

ในประเทศที่มีประชาธิปไตยมั่นคง เช่น อเมริกา ศาลสูงสุดของเขาก็ไม่ได้มีที่มาโดยตรงจากประชาชน แต่สามารถวินิจฉัยกฎหมายอะไรที่สภาออก คำสั่งอะไรที่ประธานาธิบดีออก ถ้าขัดรัฐธรรมนูญแล้วจะสามารถยกเลิกได้โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และการนำกรณีเข้าสู่ศาลสูงสุดก็จะมีกระบวนการระบุไว้ชัดเจน คือ เป็นการฟ้องร้องของประชาชนต่อศาลข้างล่าง ก่อนไต่ขึ้นไปศาลข้างบน ซึ่งกรณีมาตรา 68 บอกไว้ว่า หากเขาคิดว่าจะมีกระบวนการ หรือนโยบายอะไรที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ สามารถฟ้องได้ 2 ทาง คือ ฟ้องโดยตรงไปยังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือฟ้องโดยผ่านอัยการ ทีนี้ ฝ่ายรัฐบาลจะแก้เป็นให้ฟ้องโดยผ่านอัยการเท่านั้น จึงเท่ากับเป็นการลดและตัดสิทธิของประชาชนที่จะฟ้องโดยตรง ฝ่ายรัฐบาลอาจบอกว่าอัยการจะได้ไปตรวจสอบขั้นต้นก่อนว่ามีมูลหรือไม่ แต่ฝ่ายที่ต้องการคงไว้ซึ่งมาตรา 68 เดิมอาจคิดว่าอัยการอาจได้รับอิทธิพลจากฝ่ายการเมืองได้ ดังนั้นควรให้ประชาชนฟ้องโดยตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งศาลจะพิจารณาเองว่าคำฟ้องใช้ได้หรือไม่ ถ้าใช้ไม่ได้ก็ไม่รับฟ้อง

ไทยพับลิก้า : ในเมื่อ 2 ฝ่าย ยังเห็นต่างกันสุดขั้วในเรื่องการฟ้องตรง-รับตรง โดยฝ่ายหนึ่งกำลังแก้ไข แต่ศาลรัฐธรรมนูญเลือกรับคดีนี้ไว้พิจารณาจากการฟ้องตรง อันนี้สะท้อนอะไร

ตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เขาให้ได้ 2 ทาง ถ้าจะไม่ให้ศาลรับเลยมันก็ดูกระไรอยู่ นี่พูดตรงๆ เลยนะ เพราะรัฐธรรมนูญยังใช้อยู่ ประชาชนมีสิทธิจะส่งมาโดยตรงได้ แล้วก็ทำมาหลายครั้งแล้ว ดังนั้นก็น่าจะให้เขามีบทบาทในการวินิจฉัยตรงนี้ได้ ประเด็นการขอแก้ไขมาตรา 68 โดยให้เป็นการฟ้องศาลรัฐธรรมนูญโดยผ่านอัยการ ซึ่งอัยการอาจจะวินิจฉัยไม่ฟ้องก็ได้ ฝ่ายผู้ค้านเลยบอกว่าเป็นการตัดสิทธิของประชาชนซึ่งรัฐธรรมนูญเคยให้ไว้ การยกเลิกจึงเท่ากับเป็นการขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ประเด็นมันก็น่าสนใจที่จะรับฟังอยู่

ไทยพับลิก้า : รัฐธรรมนูญให้สิทธิคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภา และประชาชนในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่ากำลังละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเองหรือไม่

คือ ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ไม่ได้บอกว่าคุณมีสิทธิแก้หรือไม่มีสิทธิแก้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถใช้อำนาจในการตีความว่า หากสิทธิที่มีอยู่ในมาตรา 68 ถูกยกเลิกไป มันขัดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า เขาไม่ได้บอกว่าห้ามแก้นะครับ แต่การแก้โดยยกเลิกมาตรานี้บางส่วน เขาก็สามารถวินิจฉัยได้ว่ามันขัดหรือไม่ขัด ซึ่งเขาจะวินิจฉัยทางหนึ่งทางใดก็ได้ ดังนั้น การบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญละเมิดรัฐธรรมนูญนี่ผมว่ายังฟังไม่ขึ้น การที่เขาประทับรับฟ้องไม่ได้หมายความว่าเขากำลังใช้สิทธิละเมิดรัฐธรรมนูญ ผมว่าอันนั้นน่าจะเป็นการพูดที่ก้าวล่วงมากเกินไป เพราะเขายังไม่ทันได้วินิจฉัย เขาเพียงแต่รับเท่านั้นเอง และถามว่าเขาไม่รับได้ไหม ผมว่าเพื่อความโปร่งใสและชัดเจน รับมันก็ดีในแง่ว่าการจะแก้รัฐธรรมนูญโดยยกเลิกสิทธิอันนั้นสิทธิอันนี้ที่รัฐธรรมนูญให้ไว้กับประชาชนนี่ มันขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะการตีความว่าขัดหรือไม่ขัด ไม่ควรจะตีความในส่วนของตัวอักษร แต่ต้องก้าวล่วงไปถึงว่าตัวอักษรที่เขียนมามันสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างไร

นายสุจิต บุญบงการ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผมไม่ได้เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ผมดูรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ดี รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ดี เห็นว่าพยายามทำ 2 อย่าง ในเวลาเดียวกัน คือ 1. ให้มีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ไม่ให้ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจในการบริหารชาติบ้านเมืองมากเกินไป และ 2. ให้ประชาชนมีสิทธิเรียกร้องได้ว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดกำลังละเมิดรัฐธรรมนูญ เพื่อจะได้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ดังนั้น ฝ่ายที่กำลังแก้ไขก็ไม่น่าตีตนไปก่อนไข้ แต่ผมสังเกตดูแล้วอาจจะเป็นไปได้ว่า เป็นความรู้สึกไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับพรรคเพื่อไทยซึ่งมีอยู่แต่เดิมอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าฝ่ายไหนจะขยับอย่างไรมันก็จะมีข้อติง ไม่มีลักษณะของการไว้เนื้อเชื่อใจ แต่ผมในฐานะคนกลาง ในฐานะประชาชน ผมเห็นว่าประชาชนได้ประโยชน์ เพราะเราจะได้รู้ว่า ตกลงผู้มีอำนาจทางการเมืองเขาต้องการให้เรามีสิทธิมีเสียงในการตรวจสอบการทำงานของรัฐมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเท่าที่ดู หากแก้ไปตามที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอแนะ อำนาจมันจะไปอยู่ที่ฝ่ายรัฐบาลมากขึ้นๆ ประชาชนเหมือนกับไม่มีบทบาทอะไรมากนัก ถึงเวลา 4 ปี ไปเลือกตั้ง ซึ่งในระยะหลังเราไม่ต้องการให้เป็นแบบนั้น การใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นแค่อย่างหนึ่ง แต่ประชาชนยังมีสิทธิอีกหลายอย่างของการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

ไทยพับลิก้า : ปัญหาคือการตีความคำว่า “ประชาธิปไตย” ไม่ตรงกัน ฝ่ายพิทักษ์รัฐธรรมนูญบอกว่าแม้มีเสียงข้างมาก แต่นำไปใช้ในทางที่ผิดไม่ได้ ส่วนฝ่ายล้มรัฐธรรมนูญก็บอกว่าการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประชามติคนกลุ่มย่อยเท่านั้น สรุปแล้วควรให้นิยามประชาธิปไตยกันอย่างไร

ถ้าไปดูประเทศที่เขามีประชาธิปไตยมั่นคง อย่างกรณีอเมริกา ชัดเจนเลย กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาซึ่งได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน และการออกกฎหมายต้องได้รับเสียงข้างมากจากทั้ง 2 สภา ถึงกระนั้นก็ตาม ศาลสูงสุดของอเมริกาซึ่งมีอยู่เพียง 9 คน สามารถตีความได้ว่ากฎหมายที่ออกมาขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเขาถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญ ให้เสียงข้างมากเลือกสภามา แล้วสภาก็อ้างว่าฉันเป็นเสียงข้างมากจะทำอะไรก็ได้ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญมันมีความศักดิ์สิทธิ์ มันเป็นกฎหมายสูงสุด มันจึงต้องมีผู้มาตีความว่าใครละเมิดไม่ละเมิด ถ้า 9 คน บอกว่าขัดรัฐธรรมนูญ เขาบอกให้ตกไปเลย เช่น มันมีกฎหมายหลายรัฐที่ออกมาว่าห้ามแต่งงานในเพศเดียวกัน ขณะนี้คดีไปถึงศาลสูงสุดแล้ว 9 คน กำลังจะวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ออกมาโดยเสียงข้างมากของประชาชนนี่ขัดต่อเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าประเทศที่เป็นอารยะทั้งหลาย เขายอมรับว่าการใช้เสียงข้างมากเป็นของที่ถูกต้องจริง แต่ขณะเดียวกันต้องสามารถถูกตรวจสอบได้ ซึ่งไม่ใช่การตรวจสอบทุกเรื่อง แต่ตรวจสอบได้บางเรื่องเท่านั้น อันนี้เป็นจุดที่น่าสนใจเพราะเรามักจะอ้างเสียงข้างมากกันตลอดเวลา ทั้งที่เสียงข้างมากก็ต้องมีการถ่วงดุล

ไทยพับลิก้า : แต่ในบ้านเรา คนที่คอยถ่วงดุลคล้ายกับมีทัศนคติไม่ดีต่อเสียงข้างมาก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือคำพูดของนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่บอกว่า “การชนะเลือกตั้งไม่ใช่ได้รับใบอนุญาตให้ยึดสัมปทานของประเทศ” เมื่อเป็นเช่นนี้จะตีความอย่างเป็นกลางได้อย่างไร

ครับ ก็…จริงๆ แล้วผมก็เคยนั่งอยู่ในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนะครับ จะบอกว่าตุลาการมีอำนาจในการทำอะไรก็ได้นี่มันไม่จริง เพราะเรามีการตรวจสอบตัวเราเองเหมือนกันว่าใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือเปล่า ใช้อำนาจมากเกินไปหรือเปล่า มันมีการตรวจสอบเป็นชั้นๆ แล้วเราก็มีข้อจำกัดว่าเราไม่สามารถตรวจสอบสภาหรือฝ่ายบริหารได้หมดทุกเรื่อง จริงๆ ศาลรัฐธรรมนูญของไทยมีอำนาจน้อยกว่าศาลสูงสุดของอเมริกา เพราะถ้าเป็นคำสั่งทางปกครองที่ฝ่ายบริหารออก ต้องศาลปกครองเป็นคนวินิจฉัยว่าขัดหรือไม่ขัด ขณะที่อเมริกา ศาลสูงสุดเป็นคนตัดสินหมด

ในการตัดสินเพื่อบริหารประเทศต้องใช้เสียงข้างมาก อันนี้จริง แต่เมื่อมีเสียงข้างมากแล้วก็ต้องใช้อย่างรับผิดชอบ ไม่ใช่ทำอะไรก็ได้ หรือใช้เสียงข้างมากในการตีความตัวบทกฎหมายให้ตัวเองทำอะไรก็ได้ มันต้องมีการตรวจสอบ ทีนี้ ถ้าจะให้ตรวจสอบโดยการเลือกตั้งของประชาชนมันอาจไม่ทันการณ์ เพราะการเลือกตั้งไม่ได้มีทุกวัน จึงต้องมีหน่วยงานตรวจสอบ เช่น หากมีการกล่าวหาว่าใช้เสียงข้างมากทำให้เกิดการทุจริต ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ก็เป็นคนไปดูว่าตกลงแล้วทุจริตหรือเปล่า หากกฎหมายที่ออกมาอาจผิดขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ เป็นการรวบรัดเพื่อให้ออกมาง่ายๆ โดยไม่คำนึงถึงกระบวนการที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้จริงหรือเปล่า อันนี้ก็สามารถส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ ทีนี้ ในมาตรา 68 มันเพิ่มมาว่า ถ้าใครมีทีท่าว่าจะล้มรัฐธรรมนูญ ก็มีสิทธิจะฟ้องตรงนี้ได้ ควรรอให้ศาลวินิจฉัยแล้วค่อยว่ากันอีกที ผมว่าไม่ควรไปตื่นตัว เพราะตอนนี้เหมือนกับว่าจะหาทางเอาเสียงข้างมากทำหมดทุกอย่าง มันจะเข้าข่ายที่เขาเรียกกันว่าเผด็จการรัฐสภา ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนหวั่นเกรงอยู่

ไทยพับลิก้า : เส้นแบ่งระหว่างการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลเสียงข้างมาก กับการถูกมองว่าศาลรัฐธรรมนูญโดดลงเล่นการเมืองเสียเองอยู่ตรงไหน

จริงๆ แล้วมันเป็นการพูดมากเกินไป เราไม่อยากให้มีความคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังเข้าไปเล่นการเมืองเอง ผมอยากให้ดูวิธีดำเนินงานและการตัดสินของเขาก่อนว่าเขาเข้าไปยุ่งกับการเมืองแค่ไหน ต้องยอมรับว่าคดีที่ขึ้นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญมันเป็นคดีที่มีผลกระทบทางการเมืองทั้งสิ้น ดังนั้นจะบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองมันคงไม่ได้ แต่ไม่ใช่เป็นคนที่เข้าไปวุ่นวายทางการเมืองเสียเอง เข้าไปเจ้ากี้เจ้าการเสียเอง เพราะศาลรัฐธรรมนูญนี่ ถ้าไม่มีคนฟ้อง คุณทำเองไม่ได้ ดังนั้น การบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกลไกทางการเมือง ผมว่ามันไม่เป็นธรรมแก่ศาลรัฐธรรมนูญ

นายสุจิต บุญบงการ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อย่างตอนผมนั่งอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ แล้วต้องตัดสินคดีซุกหุ้นของคุณทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ถามว่าคดีนี้มีผลกระทบทางการเมืองสูงไหม สูง เพราะถ้าวินิจฉัยว่าคุณทักษิณยื่นบัญชีทรัพย์สินไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ท่านก็ต้องออกจากตำแหน่งนายกฯ ณ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลย การวินิจฉัยแบบนี้มันปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลกระทบทางการเมือง อย่างนั้นคดีที่เข้ามาไม่ว่าจะคดียุบพรรค คดีการตีความกฎหมายทั้งหลาย มันมีผลกระทบกับการเมืองทั้งสิ้น ดังนั้นจะบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่เกี่ยวกับการเมืองคงไม่ได้ แต่ถามว่าเขาเข้ามายุ่งเกินขอบเขตหรือเปล่า ก็ต้องไปดูว่าเขาไปยุยงให้คนมาฟ้องเรื่องนี้กับศาลหรือเปล่า เออ…ถ้าอย่างนี้อาจจะไม่เหมาะ แต่ถ้าเขาอยู่เฉยๆ แล้วมีคนมาฟ้องเอง และเขาก็อยากจะตีความให้มันชัดว่าไอ้ที่คุณฟ้องนี่มันเข้าท่าไหม มันอาจจะไม่เข้าท่าก็ได้ เพราะมันมีหลายคดีที่หลังประทับรับฟ้อง ไต่สวน ฟังความเห็นทั้ง 2 ฝ่าย แล้วศาลก็บอกว่าไม่ขัด ก็มีเยอะแยะไป

ไทยพับลิก้า : หากพรรคเพื่อไทยเข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นอาวุธที่สำคัญของฝ่ายแพ้เลือกตั้ง ในการทำลายเสียงข้างมากในสภา อันนี้เป็นความเข้าใจที่ถูกหรือผิด

ถ้าฝ่ายเสียงข้างมากทำตัวถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถจะไปเอาออกได้ เพราะมันมีเงื่อนไขอยู่ว่าคุณจะพ้นแค่ไหน อย่างไร เพราะอะไร เช่น กรณียุบพรรค ถ้าผมเป็นรัฐบาล ผมจะแก้กฎหมายยุบพรรคก่อน เพราะมันเห็นชัดเจนว่าไม่แฟร์กับตัวพรรค และกลายเป็นของที่เอาศาลรัฐธรรมนูญมาทำให้รัฐบาลต้องออก พรรคฝ่ายค้านต้องถูกยุบ เพราะไปบอกว่าถ้าผู้สมัครคนใดทำผิดกฎหมายเลือกตั้งแล้วผู้บริหารพรรคไม่ดูแลก็ต้องยุบ ผมว่ามันไม่เป็นธรรมกับพรรค เพราะพรรคไม่ได้ขึ้นอยู่กับกรรมการบริหารหรือผู้สมัครบางคน แต่เราต้องการให้พรรคมีสมาชิกเป็นหมื่นเป็นแสนคน ซึ่งเขาอาจไม่รู้เรื่อง แต่จู่ๆ ก็มาทำให้พรรคหายไป นอกจากนี้พอพรรคถูกยุบแล้วก็ตั้งขึ้นมา ยุบแล้วก็ตั้งขึ้นมา ไอ้ความมั่นคงที่เราอยากให้เกิดขึ้นมันก็ไม่เกิด ผมคิดว่าใครผิดก็ว่ากันไป ไม่ใช่บอกว่า แหม! มันจับคนผิดไม่ได้ มันยาก ก็หาทางจับให้ได้สิ ไม่ใช่แก้ปัญหาง่ายๆ ด้วยการบอกว่า โอ้ย! มันจับต้นชนปลายลำบาก เอาผิดคนทำผิดลำบาก ก็เอามันไปทั้งหมดเลย อย่างนี้มันง่ายเกินไปน่ะ ผมไม่เห็นด้วย ถ้าทำตรงนี้แล้วโอกาสที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไปเล่นงาน หรือมีใครไปขอร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเล่นงานรัฐบาลซึ่งเป็นเสียงข้างมาก ก็จะน้อยลงทันทีเลย ไม่ใช่รัฐบาลต้องออกตลอดเวลาถ้าพรรคถูกยุบ ก็แก้ตรงนี้สิ แก้ตรงนี้ก่อน ไม่ต้องไปแตะมาตรา 68 อะไร

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าคนออกแบบรัฐธรรมนูญปี 2550 คิดผิดอย่างแรงที่วางแผนยืมมือศาลรัฐธรรมนูญจัดการเสียงข้างมาก ด้วยการเขียนมาตรา 237

จริงๆ แล้วไม่ใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างเดียว พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ก็คิดอย่างเดียวกัน ออกกฎหมายลงโทษพรรคการเมืองปลีกย่อยมาก มีตุลาการบางท่านบอกว่ากฎหมายนี้ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีใครฟ้องมา เป็นต้นว่าหากพรรคใดไม่ทำรายงานประจำปีก็ถูกยุบ หรือไปรับเงินสนับสนุนจาก กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) มาแล้วไม่ทำรายงานประจำปีก็ถูกยุบ มันค่อนข้างจะแรงไป จากนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 และรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็เพิ่มเข้าไปอีก ทำให้การยุบพรรคมีอะไรเยอะแยะไปหมด คล้ายๆ จะเอาบรรดาผู้นำทางการเมืองให้อยู่หมัด แต่ไม่รู้จะไปเอาตรงไหน ก็เลยให้ยุบ ซึ่งจริงๆ แล้วพอถึงเวลามันก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะเราจะเห็นว่าพอพรรคหนึ่งถูกยุบ วันรุ่งขึ้นก็ตั้งใหม่ทันที ซึ่งจริงๆ ก็เป็นพรรคเดียวกัน แต่เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนผู้นำ มันไม่ได้ผลน่ะ

ไทยพับลิก้า : ตราบที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ยังอยู่ สิทธิในการในการยื่นฟ้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญยังอยู่ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าจำเลยต้องหันมารบกับศาลรัฐธรรมนูญ แทนที่จะต่อสู้เพื่อแก้ข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์

ผมว่าก็ไม่เป็นธรรมกับศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าคุณไม่อยากให้คดีขึ้นไปศาลรัฐธรรมนูญ คุณก็แก้สิ ทีนี้ก็เป็นไปแบบที่เขาจะบอกว่าผมกำลังแก้มาตรา 68 ไง ให้ไปผ่านอัยการ แต่อันนั้นมันเป็นเรื่องสิทธิของประชาชน มันมีเรื่องการทำผิดของพรรคการเมือง ของ ส.ส. ของอะไร ซึ่งอาจไปเข้ากับการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าคุณแก้ตรงนี้ มันจะเบาไปเยอะเลย ถ้าแก้เรื่องยุบพรรคให้ยุบยาก โอกาสที่ศาลรัฐธรรมนูญจะถูกผลักดันให้เข้ามาเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองในการไปยุบพรรครัฐบาล ยุบผู้นำทางการเมืองนี่ ผมว่ามันจะหายไปเยอะเลย

ไทยพับลิก้า : มองว่าคดียุบพรรคคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญถูกสั่นคลอนอย่างหนัก

ก็ใช่สิครับ มันมีผลกระทบทางการเมืองอย่างมหาศาล มันมากกว่าการให้ผู้นำทางการเมืองพ้นตำแหน่งเพราะยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไม่ถูกต้อง ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ได้ให้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไปให้อำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแทน

ไทยพับลิก้า : ทำให้คนเชื่อมโยงว่ามีใบสั่ง หรือมีอำนาจอยู่เบื้องหลังการตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

ใช่ ถูกต้อง ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น

ไทยพับลิก้า : แม้มีคำยืนยันจากนายวสันต์ว่าไม่เคยรับใบสั่งจากใคร แต่การตัดสินใจยุบ 3 พรรค ในปี 2551 เพราะเห็นว่าสถานการณ์ไม่ปกติ ต้องการให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ คิดว่าคำอธิบายมันขัดแย้งกันในทีหรือไม่

อันนี้ผมไม่สามารถพูดอะไรได้ เพราะมันเป็นเรื่องแต่ละยุคแต่ละสมัย

ไทยพับลิก้า : ถึงตอนนี้อาจารย์เห็นว่าเป้าหมายแท้จริงของฝ่ายให้แก้ไขกับฝ่ายคงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2550 อยู่ที่อะไรกันแน่

ผมว่าเป็นการช่วงชิงการนำทางการเมือง ฝ่ายที่มีอำนาจทางการเมืองในขณะนี้ก็อยากจะหาทางให้เขามีอำนาจมากขึ้น ให้มีการตรวจสอบน้อยลง และสามารถคุมเสียงข้างมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางฝ่ายที่คัดค้านก็เกรงว่าฝ่ายที่มีอำนาจทางการเมืองอยู่ในขณะนี้จะมีอำนาจมากไป และมีอำนาจต่อไปจนถึงขนาดว่าจะกลายเป็นการปกครองแบบพรรคเดียว การปกครองที่นำไปสู่เผด็จการเสียงข้างมากในสภา ถ้าเขายึดอำนาจในสภาได้ เขาอาจออกกฎหมายที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างทางสังคมความคิดและประเพณีนิยมของคนไทยที่มีมาแต่อดีตกาลก็ได้ คือมันเป็นเรื่องการสู้กันระหว่างฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในสังคมไทย กับฝ่ายอนุรักษ์นิยม มันอาจจะส่อไปในจุดนั้น ขัดแย้ง 2 ขั้ว แล้วก็พยายามต่อสู้กัน

นายสุจิต บุญบงการ

ไทยพับลิก้า : โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นดาบในมือฝ่ายไหน

อันนี้ผมไม่รู้เหมือนกัน เอาเข้าจริงๆ แล้วจะไปบอกว่าฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงคุมอำนาจมันก็ไม่ถูก เพราะฟังดูแล้วรัฐบาลก็ค่อนข้างประนีประนอมกับฝ่ายหัวรุนแรงในพรรคเขาอยู่เหมือนกัน แต่คำถามคือประนีประนอมได้แค่ไหน ขณะเดียวกัน ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ไม่ได้หมายความว่ายืนกระต่ายขาเดียวห้ามเปลี่ยนแปลง เพียงแต่เขาอยากให้เปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า

ไทยพับลิก้า : ท้ายที่สุดคาดว่าปมมาตรา 68 จะจบอย่างไร

ผมไม่อยากจะไปชี้นำ อยากให้รอว่าเป็นอย่างไร แต่ใจจริงผมว่าไม่น่าจะมีปัญหามากนะ ผมคิดอย่างนั้นนะ

ไทยพับลิก้า : ไม่มีปัญหาสำหรับฝ่ายไหน

สำหรับสังคมทั้งหมด ผมกำลังคิดว่าสมมุติรัฐบาลแพ้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคุณแก้ตรงนี้ไม่ได้ มันก็ไม่มีผลกระทบต่อรัฐบาล มาตรา 68 ก็ยังอยู่เหมือนเดิม เขาก็บริหารประเทศต่อไปได้ ใช่ไหมฮะ นี่ผมมองเป็นอย่างนี้ มันไม่น่าจะต้องไปตื่นเต้น เพราะมันไม่ได้ทำให้รัฐบาลมีปัญหา ยกเว้นรัฐบาลกำลังคิดอะไรซ่อนอยู่ก็เลยส่งอันนี้ขึ้นมา

ใครบงการศาลรัฐธรรมนูญ?

นายสุจิต  บุญบงการ

แม้มีคำยืนยันจากปาก “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หลายต่อหลายครั้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยตัดสินคดีตาม “ใบสั่ง” หากแต่การลงทัณฑ์ “พรรค-พวกทักษิณ” ในหลายโอกาส ทำให้ผู้สนับสนุนที่อยู่ในนาม “เสียงข้างมาก” อดคลางแคลงใจ “เบื้องลึก” ไม่ได้

โดยเฉพาะการตัดสิน 2 คดีประวัติศาสตร์ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2551 แต่ “วสันต์” เพิ่งออกมาเปิดเผย “เบื้องหลัง” ไม่นานมานี้

คดีแรกคือ “คดีชิมไปบ่นไป” ที่ผลัก “สมัคร สุนทรเวช” ตกเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในปี 2551 ด้วยเหตุเป็นพิธีกรรายการอาหาร ซึ่งประธานศาลรัฐธรรมนูญยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ต้องเร่งทำคำวินิจฉัยแข่งกับเวลา ทำให้มีข้อผิดพลาดง่าย แม้ไม่ต้องการเอาแบบ “สุกเอาเผากิน” ก็ตาม

อีกคดีคือ “คดียุบ 3 พรรค” ประกอบด้วย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ซึ่งประธานศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าขณะนั้นบ้านเมืองวุ่นวาย หาทางออกไม่เจอ ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องวินิจฉัยเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย

ผลที่ตามมาจาก “ปากประธาน” คือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ถูกพรรคเพื่อไทย (พท.) และพลพรรคเสื้อแดงถล่มเละ เพราะการอ้างเหตุ “บกพร่องโดยสุจริต” หรือเหตุ “จิตสำนึกต่อสาธารณะสูงส่ง” มิอาจหักล้างความเสียหายต่อฝ่าย “ทักษิณกับพวก” ได้

ทว่า หากย้อนไปปี 2544 มี “คดีประวัติศาสตร์” ที่เกิดกับ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 โดยตรง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 7 ให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นความผิดในคดี “ซุกหุ้น” ไม่มีความผิดตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ได้จงใจปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

ถือเป็นการ “พ้นบ่วงตุลาการ” หลัง “พรรคไทยรักไทย” กำชัยชนะการเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 ถล่มทลาย ด้วยคะแนน 11 ล้านเสียง โกย ส.ส. เข้าสภาได้ 248 เสียง

หลัง “นายกฯ คนที่ 23” ทิ้งวรรคทองในระหว่างแถลงแก้ข้อกล่าวหา 18 มิถุนายน 2544 ว่า “ผมไม่มีเจตนาปกปิด เป็นเพียงความบกพร่องโดยสุจริต”

สุดท้าย “พ.ต.ท.ทักษิณ” ก็หลุดพ้นข้อกล่าวหา “ซุกหุ้นภาคแรก” ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 3 สิงหาคม 2544

12 ปี ผ่านไป “สุจิต บุญบงการ” อดีตตุลาการเสียงข้างน้อย ที่ยืนข้างเดียวกับ “ประเสริฐ นาสกุล” อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ หวนนึกถึงการทำหน้าที่ครั้งประวัติศาสตร์

“ถ้าจะถามว่าตอนนั้นมันมีใบสั่งหรือไม่ มันก็ไม่มีนะ แต่แบบไทยๆ มันก็มีการ… (หัวเราะเล็กๆ) พูดกัน ขอกันระดับนั้นใช่ไหมฮะ มันก็มีอยู่เรื่อยๆ น่ะ”

แล้วทำไมอาจารย์ถึงไม่ยอมทำตามคำขอ?

“ผมถือว่าเราต้องยืนอยู่บนความถูกต้องในทัศนะของเรา ดังนั้น ผู้ขอจะเป็นใครเราก็ไม่สนใจ ก็อยู่ที่ความถูกต้อง ผมคิดอย่างนั้นนะฮะ คนที่เขาลงคะแนนเสียงตรงกันข้าม เขาอาจจะคิดว่าเขาทำถูกต้องเหมือนกัน เพียงแต่การตีความมันไม่เหมือนกัน”

ในขณะที่คน “11 ล้านเสียง” พร้อมใจกันอุ้ม “พ.ต.ท.ทักษิณ” เข้าสภาทั้งที่รู้ว่ามีคดี “ซุกหุ้น” ติดตัว “สุจิต” บอกไม่นึกกลัวว่าการทำหน้าที่ของ “ตุลาการ 15 คน” จะสร้างปัญหากับ “คนส่วนมาก”

“ผมคิดว่าไม่มีอะไรนะ ถ้าไม่เห็นชอบกับสิ่งเหล่านี้ รัฐธรรมนูญก็ควรจะเขียนอีกอย่าง นี่คุณไปเขียนรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจตรงนี้กับศาลรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 ต้องได้รับการอนุมัติของรัฐสภา ซึ่งก็มี ส.ส. มาจากการเลือกตั้ง ถ้าคุณบอกว่าอันนี้รังแกเสียงข้างมากก็ตัดตรงนี้ออกไปสิ แต่คุณไม่ตัด แสดงว่าตอนคุณอนุมัติรัฐธรรมนูญ คุณก็เห็นด้วยว่าโอเค มันต้องมีการตรวจสอบเสียงข้างมาก เราก็ใช้สิทธิหรืออำนาจที่เรามีอยู่ตามที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ให้มา ซึ่งตอนร่างรัฐธรรมนูญก็ร่างโดย ส.ส.ร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่สภาเป็นคนตั้ง พอร่างเสร็จ ก็ส่งไปให้สภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ ซึ่งเขาก็เห็นด้วย”

อย่างไรก็ตามเมื่อการใช้ “อำนาจ” ของศาลรัฐธรรมนูญเกิด ทำให้บางฝ่ายได้-บางฝ่ายเสีย โดยทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมใช้ “เสียงในมือ” กดดัน “เสียงในศาล” จึงน่าสงสัยว่า ตุลาการควรอิงหลักนิติศาสตร์อย่างเคร่งครัด หรือใช้หลักรัฐศาสตร์ร่วมด้วย

“สุจิต” ผู้เป็นอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ไม่อยากจะพูดว่าใช้นิติศาสตร์หรือใช้รัฐศาสตร์ แต่ต้องอิงหลักความถูกต้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด

“ที่ผมตีความตอนซุกหุ้น ผมบอกว่าวัตถุประสงค์คือต้องการให้ผู้ที่บริหารชาติบ้านเมืองไม่ทุจริต ถ้าจะบอกว่าไม่ทุจริต วิธีการที่จะต้องทำคือให้คุณแบหน้าตักมาว่าตัวคุณมีอยู่เท่าไร ภริยามีอยู่เท่าไร ลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมีอยู่เท่าไร แล้วไอ้ที่คุณไปฝากคนนั้นคนนี้ไว้มีอยู่เท่าไร เอามาดูให้หมด ถ้าคุณให้ดูหมดแล้วเราไม่ว่า แต่ถ้าคุณขยักไว้ อันนี้สิ มันก็เป็นเจตนาว่าคุณขยักไว้ทำไม เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญบอกไว้อย่างนี้ คนที่ขยักไว้แสดงว่าทำท่าว่าจะไม่ตรงไปตรงมาแล้ว ไม่สมควรจะบริหารประเทศ คุณไปทำงานอย่างอื่นได้ แต่ถ้าจะบริหารประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เจตนาเขาว่าไว้อย่างนี้ ผมว่าต้องตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ”

“คดีซุกหุ้นภาค 1” ผ่านไป มี “คดีซุกหุ้นภาค 2” และ “คดีประวัติศาสตร์อื่นๆ” จ่อคิวให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความไม่หยุดหย่อน แต่เคราะห์ดีที่ “สุจิต” พ้นจากหน้าที่ในปี 2547 จึงรอดคำครหาถูก “บงการ” โดยบางฝ่าย ทว่าเขาอดรู้สึกเห็นใจ “ตุลาการรุ่นน้อง” ไม่ได้

“เดี๋ยวนี้สังคมมีความขัดแย้งกันมากขึ้น ก็เห็นใจว่าศาลรัฐธรรมนูญว่าวางตัวลำบากมากขึ้น และถูกมองว่าเข้าข้างฝ่ายโน้นฝ่ายนี้”

ถึงวันนี้ นอกจาก “โจทก์-จำเลย” ต้องสืบค้นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมาต่อสู้คดีแล้ว บรรดากองเชียร์ยังช่วยกันสืบสาแหรก “ตุลาการ” มาอภิปรายไม่ไว้วางใจ “คนบนบัลลังก์” ที่ไม่น่าไว้วางใจด้วย

“ถ้าไม่ไว้ใจก็ฟ้องร้องได้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถูกฟ้องร้องว่าทำผิดได้ เรียกว่าทุจริตในกระบวนการยุติธรรม มันมีกฎหมายเขียนไว้ค่อนข้างจะรุนแรงนะครับ ผมก็ไม่เข้าใจว่าเหมือนกันว่าเมื่อมีกฎหมายเขียนไว้อย่างนี้แล้ว ทำไมเขาไม่ฟ้องร้องทั้งที่สามารถทำได้ เหมือนกับไม่ค่อยแน่ใจว่ามันผิดหรือเปล่า ก็เลยใช้วิธีการให้สังคมพิจารณาเอาเอง” เขากล่าวทิ้งท้าย