ThaiPublica > คอลัมน์ > คอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง (3) : รู้จัก Procurement Watch Inc.พลังการตรวจสอบของภาคประชาชน (ตอนที่ 1)

คอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง (3) : รู้จัก Procurement Watch Inc.พลังการตรวจสอบของภาคประชาชน (ตอนที่ 1)

12 เมษายน 2013


Hesse004

พลันที่รัฐบาลประกาศดำเนินโครงการขนาดใหญ่ 2 โครงการ ซึ่งต้องใช้งบประมาณเกินกว่าหลักแสนล้านบาท และเป็นงบประมาณที่ใช้ต่อเนื่องผูกพันกันข้ามปีนั้น หลายฝ่ายดูจะกังวลในเรื่องของการก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาล เช่นเดียวกับความเป็นห่วงเรื่องความไม่โปร่งใสในการดำเนินโครงการ

โครงการใหญ่ที่ว่านี้ คือ โครงการบริหารจัดการน้ำภายใต้วงเงินงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท และอีกโครงการที่กำลังรอพิจารณาตราเป็นพระราชบัญญัติ คือ โครงการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่ต้องใช้วงเงินกู้สูงถึง 2 ล้านล้านบาท

รัฐบาลพยายามผลักดันโครงการใหญ่ทั้งสองนี้ให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็น “รูปธรรม” เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีระบบ “รวมศูนย์”การสั่งการไว้ที่จุดเดียว หลังจากที่ได้รับบทเรียนครั้งใหญ่จาก “มหาอุทกภัย” เมื่อปี 2554 เช่นเดียวกับโครงการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่เน้นพัฒนาระบบขนส่งทางรางและจัดหารถไฟความเร็วสูงเพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC ในปี 2558

ทั้งหมดที่กล่าวมา นับเป็นการ Big Push ครั้งสำคัญของประเทศ และกำลังจะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าประเทศไทยในอนาคต

อย่างไรก็ตาม โครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลขนาดนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า ทุกคนย่อมแสดงความเป็นห่วงในเรื่องของการใช้จ่ายเงิน อีกทั้งยังต้องร่วมกัน “จับตา” กันอย่างใกล้ชิด เพราะเงินที่นำมาใช้ลงทุนในโครงการเหล่านี้ คือ เงินภาษีของเรา เงินที่รัฐบาลไปก่อหนี้สาธารณะเหล่านี้ คือ ภาระที่ลูกหลานเราต้องรับผิดชอบในวันข้างหน้า ดังนั้น หากโครงการไม่ประสบผลสำเร็จ มีการทุจริตฉ้อฉลกันตั้งแต่เริ่มต้นยันส่งมอบโครงการ ทำให้โครงการล่าช้าหรืองบประมาณบานปลาย หรือได้ของมีคุณภาพต่ำมาใช้งาน เงินนับล้านล้านบาทที่ลงทุนไปจะกลายเป็น “ความสูญเปล่า” และอาจนำมาซึ่งการล้มละลายของประเทศครั้งใหญ่ที่สุด

…หวังว่าเราคงยังไม่ลืม “ตอม่อ” ของโครงการรถไฟฟ้าที่ชื่อ “โฮปเวลล์” …หวังว่าเราคงยังไม่ลืมอนุสรณ์แห่งความขมขื่นของชาวบ้าน “คลองด่าน” จากโครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียคลองด่านมูลค่านับหมื่นล้านแต่ใช้งานไม่ได้…และหวังว่าเราคงยังไม่ลืมความไร้ประสิทธิภาพและการถูก “ต้ม” ให้จัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดที่ชื่อ GT200 ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีกี่ชีวิตที่ต้องสังเวยไปเพราะความโลภของเจ้าหน้าที่รัฐแม่ทัพนายกองเพียงไม่กี่คน…

เพราะลำพังเราจะหวังพึ่งพา “ฝ่ายค้าน” ในสภาเพียงฝ่ายเดียวก็คงเป็นเรื่องยาก เช่นเดียวกับที่เราจะรอให้ “องค์กรอิสระ” เข้ามาตรวจสอบติดตามผลก็เป็นเรื่องที่มีข้อจำกัดอีกเช่นกัน

ปัจจุบัน “สื่อมวลชน” นับเป็นภาคส่วนสำคัญที่เข้ามามีบทบาทในการเกาะติด “ขุดคุ้ย” รวมถึงให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับความผิดปกติต่างๆ ในการดำเนินโครงการของรัฐที่ไม่ชอบมาพากล

เช่นเดียวกัน ในระยะหลังๆ บทบาทของ “ภาคประชาชน” ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับการคอร์รัปชันก็เริ่มเห็นเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งมาจากกลไกที่เอื้อให้ประชาชนทั่วไปสามารถรวมตัวกันง่ายขึ้น เช่น การใช้พลังของ Social Network

ในวิชาคอร์รัปชันศึกษาและทุจริตวิทยา (Corruption Studies) ได้กล่าวถึงการรวมกลุ่มของภาคประชาชนหรือ “ภาคประชาสังคม” (Civil Society Organization) ไว้ว่า การรวมกลุ่มดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชัน ในฐานะที่เป็น “ภาคี” หนึ่ง ในการติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณและร่วมติดตามตรวจสอบโครงการต่างๆ ของรัฐ

นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา ธนาคารโลก (World Bank) ได้เริ่มเผยแพร่แนวความคิดเรื่อง “ธรรมาภิบาล” หรือ Good Governance ให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายได้นำไปปรับใช้ โดยเฉพาะหลักการเรื่องความโปร่งใส (Transparency) สามารถตรวจสอบได้ (Accountability) รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน (Citizen Participation) หลักการเหล่านี้ได้กลายเป็น“กฎกติกาใหม่” ที่ทำให้ภาครัฐต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการติดตามตรวจสอบการทำงานของภาครัฐอย่างใกล้ชิด

แนวคิดเหล่านี้ทำให้ภาคประชาสังคมในหลายประเทศหันมามีส่วนร่วมติดตามการทำงานของรัฐโดยมี “สื่อมวลชน” ที่เป็นอิสระคอยเป็นกระบอกเสียงกระจายข่าวหรือคอยเป่านกหวีด (Whistle Bowler) ให้สังคมได้รับทราบในกรณีที่พบความผิดปกติเกิดขึ้น

กล่าวมาถึงตรงนี้ ทำให้นึกถึงองค์กรภาคประชาชนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งองค์กรที่ว่านี้ คือ Procurement Watch Inc.

ที่มาภาพ : http://bantayeskuwela.files.wordpress.com
ที่มาภาพ : http://bantayeskuwela.files.wordpress.com

ที่มาภาพ : http://bantayeskuwela.files.wordpress.com
ที่มาภาพ : http://bantayeskuwela.files.wordpress.com

ภาพที่ 1 ตัวอย่างสัญลักษณ์ของ Procurement Watch Inc. หรืออีกชื่อในภาษาตากาล็อกเรียกว่า Bantay Eskuwela และอีกภาพเป็นการเปิดรับอาสาสมัครมาช่วยกันตรวจนับโต๊ะเก้าอี้สำหรับเด็กนักเรียนของรัฐบาลว่าโรงเรียนได้จัดซื้อจัดจ้างครบหรือไม่ มีคุณภาพหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใหญ่โกงแม้กระทั่งเด็ก

ฟิลปปินส์เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องคอร์รัปชันมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยเฉพาะมีผู้นำที่ติดอันดับ “ฉ้อฉล” หนึ่งในสิบของโลก คือ อดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) และ อดีตประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา (Joseph Estrada) (ดูกล่องที่ 1 สิบอันดับผู้นำขี้ฉ้อที่สุดในโลก)

ผู้นำขี้ฉ้อ

http://4.bp.blogspot.com/
http://4.bp.blogspot.com/
ที่มาภาพ : http://2.bp.blogspot.com/
ที่มาภาพ : http://2.bp.blogspot.com/

ภาพที่ 2 โจเซฟ เอสตราดาและเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อดีตสองผู้นำชาวปินอยที่ติดอันดับขี้ฉ้อมากที่สุดในโลก

อย่างไรก็ดี ความเข้มแข็งของภาคประชาชนชาวปินอย (Pinoy) ก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน เพราะชาวฟิลิปปินส์สามารถรวมตัวกันโค่นอำนาจและดำเนินคดีกับเหล่าผู้นำทรราชทั้งหลายได้ ซึ่งถ้าท่านใดที่ติดตามประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของฟิลิปปินส์คงจะเคยได้ยินชื่อ People Power Revolution ซึ่งเป็นขบวนการที่โค่นล้มอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสเมื่อปี 1986

และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ดูเหมือนว่าชาวปินอยจะเชื่อมั่นในพลังของการรวมกลุ่มเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งแม้จะเป็นการเมือง “นอกสภา” แต่ก็อยู่ภายใต้ของกฎหมายและกติกาของสังคม

แม้ว่าชาวฟิลิปปินส์จะสามารถล้มเผด็จการมาร์กอสลงจากอำนาจได้ แต่ปัญหาของประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมาเรื้อรังยาวนาน เช่น ปัญหาความยากจน การกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน ก็ไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้ภายในชั่วอายุคน

เช่นเดียวกับปัญหาคอร์รัปชัน ที่ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ติดอันดับเรื่องภาพลักษณ์การคอร์รัปชันมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก และกว่าจะทำให้การคอร์รัปชันนั้นบรรเทาเบาบางลงได้ก็คงต้องใช้เวลายาวนานไม่น้อยกว่าชั่วอายุคนอีกเช่นกัน (ดูตาราง Corruption Perception Index ของประเทศฟิลิปปินส์ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา)

cpi

การรวมกลุ่มของภาคประชาชนจะเกิดขึ้นได้ก็จากความรู้สึกร่วมกันที่ “อดรนทนไม่ได้” หรืออิดหนาระอาใจกับการคอร์รัปชัน ฉ้อฉล ขี้โกงของนักการเมือง ข้าราชการและพ่อค้านักธุรกิจ ขณะเดียวกันก็เบื่อหน่ายกับความไม่มีประสิทธิภาพของกระบวนการตรวจสอบและความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็น “จุดร่วม” ที่ทำให้คนเหล่านี้รวมตัวกันได้เร็วและแข็งแกร่งขึ้นทุกวัน

ในตอนหน้าเราจะทำความรู้จัก Procurement Watch Inc. กันอย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในการเข้าไปมีส่วนร่วมปฏิรูปกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศฟิลิปปินส์

ป้ายคำ :