ThaiPublica > คนในข่าว > “ภารนี สวัสดิรักษ์” กับโจทย์ “มาบตาพุด” เมื่อผังเมืองเลยเถิดสำหรับการใช้ชีวิตของมนุษย์

“ภารนี สวัสดิรักษ์” กับโจทย์ “มาบตาพุด” เมื่อผังเมืองเลยเถิดสำหรับการใช้ชีวิตของมนุษย์

1 เมษายน 2013


“ต้องยอมรับความจริงว่าพื้นที่รอบมาบตาพุดในขณะนี้ไม่ใช่พื้นที่ที่เหมาะสำหรับการใช้ชีวิตของมนุษย์แล้ว คือดิฉันเองก็ไม่เห็นด้วยที่จะเอาชาวบ้านออกเพราะมันไม่เป็นธรรม แต่สถานการณ์มันเลยมาถึงจุดนี้แล้ว”

"ภารนี สวัสดิรักษ์” นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง
“ภารนี สวัสดิรักษ์” นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง

แม้ร่างผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมหลักและชุมชน จ.ระยอง ฉบับสุดท้าย จะถูกเผยแพร่ออกไปยังประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตผังเมืองรวมฯ ดังกล่าว

แต่กระนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างเป็นทางการตามขั้นตอนของการจัดทำผังเมือง

ด้วยเพราะเกิดกระแสคัดค้านขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีที่ดินอยู่บริเวณรอบโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ดินของเขาได้ถูกระบายสีในผังเมืองให้เป็นสีม่วง ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกว่าเป็นพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม

ทว่า ในร่างผังเมืองฉบับใหม่ พื้นที่บางส่วนที่เคยเป็น “สีม่วง” ถูกปรับให้เป็นพื้นที่ “สีเขียว” หรือ “พื้นที่เพื่อการเกษตรกรรม” จึงไม่สามารถที่จะทำกิจกรรมใดๆ ในเชิงอุตสาหกรรมได้อีกต่อไป และถ้าเป็นเช่นนั้นจริงย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ราคา” ของที่ดินผืนนี้จะตกลงทันที

ขณะเดียวกัน มีประชาชนบางส่วนสนับสนุนร่างผังเมืองฉบับนี้ เพราะนอกจากจะลดพื้นที่สีม่วงแล้ว ยังมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งจะเป็นตัวสกัดกั้นการขยายพื้นที่ของโรงงานอุตสาหกรรมไม่ให้ขยายตัวออกไปมากกว่านี้

เมื่อคนในพื้นที่เกิดการปะทะกันทางความคิด โดยมีต้นเหตุมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักในพื้นที่ สำนักข่าวออนไลน์ “ไทยพับลิก้า” จึงได้พูดคุยกับ “ภารนี สวัสดิรักษ์” นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง ที่คลุกคลีอยู่กับปัญหามาบตาพุดมายาวนาน

ไทยพับลิก้า : ส่วนหนึ่งของปัญหามาบตาพุดมีต้นเหตุจากการวางผังเมืองด้วยหรือไม่

กรณีมาบตาพุดต้องมองยาวเลย คือ บางสถานการณ์อาจจะมาตีเป็นปัญหาขณะนี้ไม่ได้ แต่อาจจะเป็นการป้องกันได้สำหรับพื้นที่อื่น การเกิดขึ้นของมาบตาพุดมาพร้อมๆ กับแหลมฉบัง ตอนนั้นรัฐบาลอยากจะพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด แหลมฉบังจะเป็นท่าเรือส่งออก มาบตาพุดจะเป็นท่าเรือน้ำลึก ซึ่งการพัฒนาขณะนั้นชาวบ้านที่แหลมฉบังและมาบตาพุดเองก็คิดว่ามันจะนำความเจริญมาให้

ตอนนั้นปี 2524-2525 ดิฉันเพิ่งเข้ารับราชการที่กรมโยธาธิการเป็นครั้งแรก ตอนนั้นมีคณะทำงานพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก และมีกระแสว่าเราจะเอาโซดาแอช (โซเดียมคาร์บอเนต) จากภาคอีสานไปไว้ที่ไหน เลยมีแนวความคิดว่าจะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะรองรับโซดาแอชได้ มีการมองพื้นที่ภาคตะวันออกและคิดถึงการพัฒนาอิสเทิร์นซีบอร์ดขึ้นมา แต่ตอนหลังโจทย์เรื่องโซดาแอชหายไป กลายเป็นว่าพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ

ตอนนั้นไม่มีกระแสการคัดค้าน เนื่องจาก 1. ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วม เพราะรัฐธรรมนูญในสมัยนั้นไม่ได้กำหนดไว้ 2. เป็นการคิดแบบท็อปดาวน์ และจะว่าไป พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ปลูกมัน และในแง่เศรษฐกิจของชาวบ้านหลังจากที่สหรัฐอเมริกาถอนฐานทัพออกไป ทุกคนก็คิดว่าการพัฒนาท่าเรือจะทำให้เศรษฐกิจเดิมของเขาดีขึ้น ความเป็นอยู่ดีขึ้น หน่วยราชการเองที่เป็นหน่วยวางผังก็ไม่มีความรู้เรื่องของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ต้องยอมรับว่ากรมโยธามีความรู้เรื่องของพื้นที่การวางแผนเท่านั้น ตอนที่ประชุมเรื่องอีสเทิร์นซีบอร์ดครั้งแรก ก็เป็นการคุยถึงโอกาสในการพัฒนามากกว่าปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรม ด้านสิ่งแวดล้อมที่มองตอนนั้นจะมองเรื่องการใช้น้ำพอไหม การกัดเซาะชายฝั่ง เรื่องดิน

"ภารนี สวัสดิรักษ์” นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง
“ภารนี สวัสดิรักษ์” นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง

พอมาบตาพุดเกิดขึ้นก็มีการวางผังเมือง กรมโยธาได้เจอโจทย์ว่ามาบตาพุดนั้น นอกจากจะเป็นท่าเรือน้ำลึกแล้ว จะเป็นพื้นที่ที่เป็นอุตสาหกรรมแบบ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ที่เป็นผลพลอยได้จากการโชติช่วงชัชวาลของก๊าซธรรมชาติด้วย และเท่าที่จำได้มีอยู่คำหนึ่งคือ มาบตาพุดจะเป็นพื้นที่รับอุตสาหกรรมที่มีมลพิษ ซึ่งมีมาตั้งแต่การวางผังมาบตาพุดในครั้งแรกๆ เป็นการกำหนดโจทย์ในระดับนโยบาย แต่ขณะนั้นก็มองว่ามลพิษคือสิ่งที่มีระบบการป้องกันและการจัดการที่จะไม่ให้มีผลกระทบ

ดังนั้น จะเห็นว่ามาบตาพุดตอนแรกจะมีการกำหนดพื้นที่สีม่วงไว้บนพื้นที่ว่าง เพราะขณะนั้นมีการเวนคืนที่ดินมาให้ กนอ.(การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) และโรงแยกก๊าซ ไม่ได้มองว่าจะเกิดอุตสาหกรรมกลางน้ำ-ปลายน้ำมากมายขนาดนั้น ผู้วางผังเองก็ไม่ทราบ เพราะฉะนั้นก็ต้องยอมรับว่ามีช่องว่างของการให้ข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ซึ่งหน่วยงานอุตสาหกรรมอาจจะรู้ก็ได้ แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลมากพอสำหรับหน่วยงานวางผัง

แนวคิดการวางผังเมืองของมาบตาพุดจึงมีแค่ท่าเรือ โรงแยกก๊าซ โดยกำหนดพื้นที่สีม่วงบนความต้องการใช้พื้นที่ที่เราได้มาจากอุตสาหกรรมและ กนอ. ว่าเขาจะใช้พื้นที่แค่ไหน โดยเอาความต้องการนั้นเป็นตัวกำหนด ผู้วางผังก็จะมองว่าถ้าอุตสาหกรรมนี้เกิด การจ้างงานเกิด มีการโยกย้ายแรงงาน เขาก็ไปกำหนดพื้นที่เมือง จะเห็นว่าไม่มีการกำหนดพื้นที่กันชน (Buffer Zone) แต่ว่าจะมีพื้นที่ว่างระหว่างชุมชนกับอุตสาหกรรม ซึ่งตอนนั้นผู้วางผังคิดว่า ในแง่ของผังเมืองก็เป็นระยะห่างพอสมควร ที่จะทำให้ไม่เกิดผลกระทบ

ไทยพับลิก้า : การกำหนดพื้นที่กันชนควรระบุในผังเมืองเลยหรือไม่

จริงๆ แล้วเป็นหลักการนะคะ แต่ว่าการกำหนดพื้นที่กันชนเราจะต้องได้ข้อมูลมาชัดเจนว่าตรงนั้นเป็นอุตสาหกรรมอะไร และพื้นที่กันชนของอุตสาหกรรมแต่ละประเภทมีความอันตรายที่ไม่เหมือนกัน ในแง่ของคนวางผังเมืองที่ไม่มีข้อมูลเขาก็กำหนดด้วยหลักการกว้างๆ ว่า โซนของอุตสาหกรรมที่เป็นสีม่วงทั้งก้อนซึ่งในนั้นอาจจะมี 50-60 โรงงาน ควรจะห่างจากที่อยู่อาศัยเท่าไหร่ โดยเอามาตรฐานของผังเมืองมาจับ และอาจจะมีพื้นที่สีเขียวกั้น

ไทยพับลิก้า : ใครควรที่จะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาพื้นที่กันชน

ถ้าสถานการณ์มาบตาพุดในขณะนี้ มาบตาพุดไม่มีพื้นที่พอสำหรับพื้นที่กันชน ถ้าเราอยากได้พื้นที่กันชนตามมาตรฐานจริง ต้องเอาโรงงานออก ต้องรื้อโรงงานบางโรงงานออก เช่น อุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรม พื้นที่กันชนอาจจะต้องถึง 10 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้ไม่ต้อง 10 กิโลเมตรเลย แค่ 2 กิโลเมตรอย่างที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายกำหนดเราก็หาพื้นที่ไม่ได้แล้ว ดังนั้น ถ้าอยากได้พื้นที่กันชน ตามหลักการคืออุตสาหกรรมจะต้องลดพื้นที่ลง

เวลานี้เลยมีแนวคิดว่า ลองเอาอุตสาหกรรมทั้งหมดมาทั้งก้อน และคิดว่าพื้นที่กันชนจะต้องออกไปเท่าไหร่ บนความเป็นไปได้มากที่สุด เราก็ยังไม่ได้ ถ้าอยากได้พื้นที่กันชนก็จะต้องเวนคืน คือ บ้านชาวบ้านก็ต้องออกไป ดังนั้น ตอบคำถามที่ว่าใครควรจะเป็นคนออกไป

สมมุติว่าอยากให้อุตสาหกรรมอยู่ อุตสาหกรรมจะต้องจัดหาพื้นที่กันชนให้ได้ นั่นหมายความว่าอุตสาหกรรมจะต้องซื้อที่ดินของชาวบ้าน ให้ชาวบ้านในราคาที่เป็นธรรม ต้องยอมรับความจริงว่า พื้นที่รอบมาบตาพุดในขณะนี้ไม่ใช่พื้นที่ที่เหมาะสำหรับการใช้ชีวิตของมนุษย์แล้ว ดิฉันเองก็ไม่เห็นด้วยที่จะเอาชาวบ้านออกเพราะมันไม่เป็นธรรม แต่สถานการณ์มันเลยมาถึงจุดนี้แล้ว คิดว่าอุตสาหกรรมก็ต้องไม่ขยายพื้นที่ไปมากกว่าเดิม พื้นที่ที่ควรจะเป็นพื้นที่กันชนต้องวางแผนให้ได้ว่าในกี่ปีจะมีพื้นที่เท่าไหร่ และอุตสาหกรรมก็ควรจะต้องเป็นคนลงทุน ซึ่งตรงจุดนี้เป็นจุดที่หลายๆ คนไม่เห็นด้วย ยังเถียงกันอยู่ว่าใครจะเป็นคนลงทุนตรงนี้

ไทยพับลิก้า : กนอ. ซึ่งเป็นคนดูแลนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดควรจะเป็นผู้ดำเนินการหรือไม่

ในความเห็นดิฉัน มันควรจะมีเงินที่ กนอ. เรียกเก็บจากผู้ประกอบการ และ กนอ. จะต้องดูแลพื้นที่กันชนตรงนี้ ทีนี้ ราคาที่ดินมันจะมีผลต่อการลงทุน เพราะฉะนั้นอาจจะมีมาตรการจูงใจว่า ถ้าเขาเก็บตรงนี้เป็นพื้นที่กันชนได้ มันอาจจะมีส่วนหักลบในเรื่องภาษีอย่างไร ซึ่งตรงนี้นักเศรษฐศาสตร์เองก็ยังเถียงกันไม่จบ คือพื้นที่กันชนจะต้องมีมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาด้วย ว่าการลงทุนตรงนี้เขาสามารถทำรายได้ให้ประเทศเป็นแสนล้าน แต่ขณะเดียวกัน เขาจะต้องรักษาพื้นที่ที่จะช่วยคุณภาพสิ่งแวดล้อมตรงนี้เอาไว้ให้ได้

"ภารนี สวัสดิรักษ์” นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง
“ภารนี สวัสดิรักษ์” นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง

พื้นที่ที่ไม่ได้พัฒนา แต่ช่วยรักษาป้องกันไม่ให้เกิดภัย น่าจะเป็นพื้นที่ที่มาตรการทางภาษีช่วยเขาด้วย ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีใครอยาก หรือสมมุติว่าถ้าชาวบ้านเขาไม่อยากขายที่ให้ กนอ. เขาบอกว่าเขายอมให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่กันชน เขาจะได้อะไรเป็นสิ่งจูงใจ มันไม่ได้ เป็นดิฉันก็ไม่ให้ สมมุติว่าเขาไม่พัฒนา และเขายอมขายให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่กันชน เขาก็ควรที่จะได้รับผลตอบแทนเหมือนกัน มันควรจะเป็นธรรม คิดว่าตรงนี้ควรจะมีกลไกที่ทำให้เป็นธรรม แต่โจทย์อันนี้ยังไม่ถูกหยิบขึ้นมาถกในเวทีที่คิดกันแบบบูรณาการ

ถ้าหากให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุน มันก็ไม่แฟร์สำหรับคนเสียภาษีคนอื่น ทำไมเราต้องลงภาษีมาจ่ายเป็นค่าพื้นที่กันชน ทำไมไม่เป็นระบบกองทุนที่ กนอ. ไปเรียกเก็บจากบริษัทที่มาซื้อที่ดินเพื่อเป็นหลักประกัน เขาเองก็ไม่ต้องไปเสียเงินค่าเยียวยาความเสียหาย

ไทยพับลิก้า : ล่าสุด ร่างผังเมืองใหม่ของมาบตาพุดมีการลดพื้นที่สีม่วง เพิ่มพื้นที่สีเขียว และพื้นที่ม่วงทแยงขาว (อุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ)

ผังมาบตาพุดใหม่มีความพยายามในการขอลดพื้นที่จากภาคประชาชน เวลาที่ผังเมืองกำหนดเป็นสีม่วงเต็มในผังอันเดิมที่หมดอายุ ต้องยอมรับว่านี่คือผังอนาคตของการทำผังเมื่อปี 2546 ซึ่งปัจจุบันปีที่ทำผังบางบริเวณในพื้นที่สีม่วงยังไม่มีโรงงาน แต่ว่าถูกกำหนดไว้เป็นสีม่วงตามความต้องการของอุตสาหกรรมที่มอบข้อมูลให้กับผังเมือง ทีนี้ พอผังเมืองหมดอายุแล้ว ก่อนที่จะทำผังใหม่ จะมีการประเมินผลผังว่า สีม่วงที่ถูกกำหนดแต่เดิมมันถูกใช้ไปกี่เปอร์เซ็นต์ ตรงไหนเป็นชุมชน หมู่บ้าน โรงงาน ซึ่งภาษีผังเมืองเรียกว่าการใช้ที่ดินในปัจจุบัน จะเห็นว่าการใช้ประโยชน์ในพื้นที่สีม่วง ที่มีการกำหนดในผังเดิมยังมีการใช้ประโยชน์ไม่หมด

เพราะฉะนั้น เวลาที่จะทำผังใหม่จะมีการปรับลดแต่ละสีอย่างไร จะเห็นว่าพื้นที่ที่ปรับแก้มากที่สุดเป็นพื้นที่สีม่วงกับการเพิ่มพื้นที่สีเหลืองในบางบริเวณที่คิดว่าเมืองจะมากขึ้นในอนาคต ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ขอเอาสีม่วงที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ออกจากผัง เหตุผลที่ขอเอาออกก็คือมันไม่มีพื้นที่กันชนแล้ว เพิ่มอุตสาหกรรมไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น ตรงไหนที่ยังไม่มีอุตสาหกรรมก็ขอคืนพื้นที่เขา ก็เลยลดพื้นที่สีม่วงลงจากก้อนใหญ่เหลือเท่านี้ ซึ่งในความเห็นดิฉันคิดว่าก็ยังลดได้อีก

ส่วนพื้นที่สีม่วงคาดขาวนั้น เห็นว่าจริงๆ แล้วก็ไปใช้พื้นที่ในโซนสีม่วงได้ และทำมาสเตอร์แพลนใหม่ เนื่องจากว่าในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในโซนสีม่วงของเขาเอง มันก็ยังมีพื้นที่ว่างอยู่จากการถอยร่นลงไปจากกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งสามารถทำที่จอดรถได้อะไรได้ เพราะฉะนั้น เขาควรที่จะบริหารที่ว่างในนิคมของเขา ให้เป็นพื้นที่บริการอุตสาหกรรมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่อุตสาหกรรมก็จะบอกว่ามันจะต้องมีพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่จะบริการสำหรับอุตสาหกรรมนอกนิคมด้วย ซึ่งก็โอเค อาจจะเป็นไปได้ว่าคลังสินค้าที่ไม่ใช่วัตถุอันตรายหรือบริการซ่อมอาจจะมีได้บ้างในบริเวณโซนตรงนี้

แต่จุดที่น่าห่วงคือ พื้นที่ชุมชนบริเวณรอบๆ อุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่วิกฤติมากเลยในอนาคต เราจะเห็นว่าระยะห่างระหว่างขอบอุตสาหกรรมกับชุมชนมันห่างกันนิดเดียว ผังเมืองกำหนดให้สีเขียวเป็นหลักแต่จริงๆ แล้วมันมีชุมชนอยู่ แต่พอผังเมืองไปกำหนดเขียวทำให้เกิดความเข้าใจว่าตรงนี้คือพื้นที่กันชน เพราะฉะนั้น ในกรณีมาบตาพุดต้องแยกให้ชัดๆ ว่า สมมุติว่าสีเขียว ผังเมืองจะต้องกำหนดไปเลยว่า 1 กิโลเมตร รอบนิคมอุตสาหกรรมเป็นสีเขียวเบอร์อะไร สีเขียวรอบนิคมจะต้องเป็นสีเขียวที่มีมาตรฐานเข้มงวดเพราะมันอยู่ติดชุมชน

ฉะนั้น ถ้าเกิดอะไรขึ้น ชีวิตผู้คนจะเป็นกันชน ดังนั้น การนำผังไปสู่การปฏิบัตินี่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำสำรวจแล้วว่าชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง พื้นที่สีเขียว พื้นที่สีเหลืองตรงนี้มีเท่าไหร่ และอาจจะต้องดูว่าควรจะมีการโยกย้ายหรือไม่ โดยดูจากเหตุที่เคยเกิดขึ้นจริงว่ารัศมีของผลกระทบขยายไปกี่กิโลเมตร และในทางวิชาการ ดูว่าเราจะโยกย้ายคนเท่าไหร่ และไปถามความสมัครใจ 5 ปี ย้ายตรงไหน 10-15 ปี ย้ายตรงไหน คนรุ่นนี้อาจจะไม่ย้าย แต่ว่ามีรุ่นลูกรุ่นหลานเขาคิดว่าต้องย้ายแล้ว

กรณีที่สองคือ ถ้าไม่ย้ายคน คนไม่ยอมย้าย ซึ่งก็เป็นสิทธิของเขา เขาก็ต้องอยู่กับพื้นที่เสี่ยงภัย มาตรการในการที่จะเยียวยาก่อนเกิดเหตุ จะมีหลักประกันอะไรที่จะช่วยให้คนในพื้นที่นี้อยู่ได้ แต่จริงๆ แล้วในหลักของการดำรงชีวิตก็ไม่ควรอยู่

"ภารนี สวัสดิรักษ์” นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง

อีกอันหนึ่งคือต้องคุยกับอุตสาหกรรมว่า ปัญหามาบตาพุดในขณะนี้ รายงานการศึกษาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในช่วงกรรมการ 4 ฝ่าย ระบุว่า การจัดการขยะก็เกินขีดความสามารถ เรื่องน้ำไม่ต้องพูดถึงเพราะว่าไม่พอ เราจะต้องมีการผันน้ำจากที่อื่นเข้าป้อนอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเองก็ขยายตัวได้ยาก แต่เขาก็บอกว่าเขาเป็นอุตสาหกรรมที่จำเป็นสำหรับโลกสมัยใหม่ อาจจะต้องคิดถึงการโยกย้ายฐานและคิดว่าอุตสาหกรรมไหนจะใช้พื้นที่นี้ต่อไปอีกกี่ปี

เวลานี้รัฐบาลไม่ได้คิดอยู่บนโจทย์ที่ว่าเราจะใช้พื้นที่มาบตาพุดเป็นพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมไปอีกกี่ปี แต่ว่าเวลาคุยกับอุตสาหกรรมจะมีระยะเวลาของการคืนทุน เมื่อเขาคืนทุนได้แล้ว วันหนึ่งสำหรับอุตสาหกรรมประเภทนี้อาจจะไม่จำเป็นแล้วที่มาบตาพุด การกำหนดนโยบายการใช้พื้นที่ภาคตะวันออกนี่เราไม่เคยหยิบอนาคตอุตสาหกรรมของโลกในวันข้างหน้ามาดูว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในวันข้างหน้าจะมีความจำเป็นสำหรับเราอีกไหม หรือจะมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่

เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีภาพอนาคตสัก 20-25 ปีข้างหน้า ว่าทิศทางของการบริโภคและการใช้ผลผลิตจะเป็นอย่างไร อาจจะเห็นว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอาจไม่ใช่อุตสาหกรรมของอนาคตก็ได้

ไทยพับลิก้า: แม้ว่าพื้นที่สีม่วงจะลดลงแต่ก็ไม่มีผลอะไร เพราะโรงงานอุตสาหกรรมได้ตั้งในพื้นที่สีม่วงของผังเดิมก่อนที่ผังใหม่จะประกาศใช้

ต้องถามว่าพื้นที่สีม่วงลดลงแล้วความเสี่ยงมันลดลงจริงหรือเปล่า มันไม่ใช่ เพราะความเสี่ยงปัจจุบันไม่ได้ลดลง พื้นที่อุตสาหกรรมเท่าเดิมแต่ความเสี่ยงไม่ได้ลดลง เพราะว่าการจัดการในเรื่องอื่นยังไม่เรียบร้อย มาตรการกันชนยังไม่เกิด มาตรการโยกย้าย การจัดการขยะสารพิษก็ยังไม่มี เพราะฉะนั้นความเสี่ยงมันไม่ได้ลดลงตามพื้นที่อุตสาหกรรม

ไทยพับลิก้า : อุตสาหกรรมบอกว่ามีเทคโนโลยีใหม่ๆ มีระบบป้องกัน แล้วความเสี่ยงลดลงจริงไหม

ความเสี่ยงในแง่เทคโนโลยีลดลง แต่ความเสี่ยงในแง่พื้นที่ไม่ได้ลดลง ความเสี่ยงทางเทคโนโลยีจะเป็นสิ่งที่เขาจะต้องพิสูจน์ด้วยกลไกของการติดตามตรวจสอบจากมาตรการของอีไอเอ (EIA) ซึ่งแม้ว่าจะผ่านความเห็นชอบของ คชก. (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) แล้ว แต่ชุมชนที่อยู่ก็ยังอยู่ ปริมาณการจัดการมลพิษหรือการรองรับมลพิษในแง่ของมลพิษสะสมมันไม่ได้ถูกพิจารณาภายใต้อีไอเอ 1 เล่ม และมาบตาพุดเองไม่มีมาตรการหรือกลไกอะไรที่มองไปในอนาคตถึงการรองรับมลพิษ ซึ่งสำหรับดิฉัน ในแง่ผังเมืองถือว่าการรองรับมลพิษนี่เกินแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ว่ามาบตาพุดยังอยู่ได้ โดยที่ภาคตะวันออกต้องไปดึงน้ำมาจากกัมพูชา หรือดึงน้ำมาจากภาคเกษตร เราต้องถือว่าการรองรับตรงนี้มันไปเพิ่มภาระให้พื้นที่อื่น เพราะฐานทรัพยากรมันก็มีเท่านี้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะไปดึงจากตรงนั้นมาให้ตรงนี้ก็จะเป็นปัญหา แต่เรื่องพวกนี้จะไม่ถูกหยิบยกมาพิจารณาอีไอเอ เพราะอีไอเอจะมองเฉพาะ 1 กิจการ ไม่ได้มองในเรื่องของพื้นที่โดยรวม

ไทยพับลิก้า : ปัญหาเรื่องน้ำ ขยะ กนอ. ไม่ได้มีส่วนในการแก้ปัญหาอะไรบ้างเลยหรือ

กนอ. บอกว่ามีมาตรการติดตามตรวจสอบ มีธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม คือที่นั่นจะมีอีไอเอของ กนอ. และอีไอเอของแต่ละโรงงาน ขยะมาจากโรงงานแต่ละโรงไม่ได้ถือเป็นขยะของ กนอ. ขยะจะถูกนำไปทิ้งที่ “เจนโก้” อาจมีการรายงานว่าขยะสารพิษจากโรงงานนี้มีปริมาณเท่านี้ แต่พอขยะพ้นเขตของ กนอ. ไปแล้วไปทิ้งที่ไหน กนอ. มีมาตรการติดตามตรงนี้หรือเปล่า และบอกว่าเป็นเรื่องของบริษัทที่รับกำจัดขยะต้องรับผิดชอบตรงนี้ มันเหมือนกับว่าเป็นรอยต่อ เป็นความรับผิดชอบที่ต่อกันไม่ติด เหมือนปัญหาที่หนองแหน ฉะเชิงเทรา (มีการนำขยะสารพิษมาทิ้ง แต่ยังหาผู้รับผิดชอบไม่ได้)

ที่มีการพูดคุยกันเรื่องหนึ่งนิคมหนึ่งบ่อขยะ สำหรับนิคมใหม่โอเค แต่สำหรับมาบตาพุดมันใช้ไม่ได้แล้ว เพราะมันไม่มีพื้นที่เก็บขยะที่มาบตาพุดแล้ว ถ้าจะใช้แนวคิดหนึ่งนิคมหนึ่งบ่อขยะ ก็ต้องลดพื้นที่อุตสาหกรรมเพราะขยะที่มาบตาพุดมันเยอะมาก แต่ถ้าใช้แนวความคิดหนึ่งนิคมหนึ่งบ่อขยะแล้วเราจะยอมให้มีนิคมไหม ในความเห็นดิฉันมันอาจจะเป็นแค่คอนเซปต์เริ่มต้น แต่ว่ามันไม่ได้หมายความว่าเราจะสร้างนิคม และเราบอกว่าเรามีพื้นที่บ่อขยะแล้วเราจะทำได้ มันจะต้องมีระบบการใช้พื้นที่โดยรอบด้วย เพราะว่าขยะเป็นการใช้ทรัพยากรที่ดิน แต่พื้นที่ใต้ดินมันเชื่อมต่อถึงกัน เพราะฉะนั้น หนึ่งนิคมหนึ่งบ่อขยะจึงจะไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปทีเดียว

ไทยพับลิก้า : หลังร่างผังเมืองใหม่เผยแพร่ออกไป ชาวมาบตาพุดบางส่วนที่เคยมีที่ดินอยู่ในเขตสีม่วง แต่ถูกเปลี่ยนเป็นสีเขียวในผังใหม่ เริ่มประท้วงเพื่อให้เปลี่ยนสีกลับไปเป็นสีม่วงเหมือนเดิม เพราะไม่สามารถขายที่ดินได้หากถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีเขียว

“ภารนี สวัสดิรักษ์” นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง
“ภารนี สวัสดิรักษ์” นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง

เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในกระบวนการทางผังเมือง แต่เรามีการพูดกันว่า คุณค่าของที่ดินมันควรจะเป็นการมองคุณค่าที่จะตอบสนองประโยชน์ส่วนรวมในการกำหนดราคาที่ดิน มากกว่ามองกลไกราคาของการเอาที่ดินนั้นไปใช้ประโยชน์สำหรับการก่อสร้างบางอย่างเพียงอย่างเดียว การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ต้องแก้ที่โจทย์ใหญ่ก่อน เพราะเราจะเห็นว่าไม่ใช่แค่มาบตาพุด สมมุติว่าเราบอกว่าที่ที่เรานั่งอยู่นี่สร้างอาคารไม่ได้ ราคาที่ดินจะเป็นอีกแบบไปเลย คนจะต่อต้านว่าที่ดินของเขาได้ราคาต่ำ พอเอาไปเป็นหลักทรัพย์หรืออะไรที่จะใช้ในการทำนิติกรรมมันจะไม่มีราคา ก็มีการคุยกันว่าที่ดินที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ก่อสร้างได้

แต่ถ้าให้คุณค่ากับการรักษาสิ่งแวดล้อมหรือการลดโลกร้อน มันก็ควรที่จะถูกตีเป็นมูลค่าราคาที่ไม่ต่างกับที่ดินที่สามารถเอาไปใช้ในการก่อสร้างได้ เพราะโดยมากราคาที่ดินที่สูงเพราะสามารถใช้พื้นที่แปลงนี้ก่อสร้างได้มาก เวลานี้การแก้ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินกับการกำหนดกลไกราคาที่ดินมันไม่ไปด้วยกัน

แต่โจทย์อันนี้ รัฐบาลที่นั่งมองปัญหาทุกเรื่องแต่ไม่เคยเอาปัญหาทุกเรื่องมาต่อจิ๊กซอว์เข้าด้วยกันแล้วแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง อย่าง “มีนบุรี” ถ้าเขาต้องเป็นพื้นที่ฟลัดเวย์ ถ้าเขาไม่ขายที่ดิน เขาจะได้เงินคืนจากรัฐบาลตรงนี้อย่างไร เพราะเขาเสียพื้นที่นี้ไป อยู่อาศัยไม่ได้ และเป็นฟลัดเวย์ เลยทำให้คนที่มีที่ดินจะคิดว่าจะเอาที่ดินที่มีมาทำอะไรให้เป็นเงินมากที่สุด

ไทยพับลิก้า : ควรที่จะมาศึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคตให้สอดคล้องกับเทรนด์การบริโภคของโลกที่กำลังจะเปลี่ยน

เราเคยมีการทำวิสัยทัศน์ประเทศไทย ซึ่งสภาพัฒน์ฯ ทำ หน่วยงานของรัฐก็จะมีแผนของตัวเอง เช่น ปิโตรเคมีก็จะมีแผนปิโตรเคมี น้ำก็จะมีแผนของน้ำ ซึ่งการทำแผนแต่ละส่วนออกมาแล้วมันเหมือนกับว่าทุกคนเล่นบอลในภารกิจของตัวเอง แต่สุดท้ายเวลาจะเลือกบอลลูกไหนมาเตะเข้าประตู ตรงนี้ขาดเจ้าภาพ คิดว่ารัฐบาลอาจจะต้องมีกลไกที่จะบูรณาการแผนอนาคตของทุกหน่วยงานแล้วตัดสินใจว่าจะเตะลูกไหน หรือจะปรับให้ลูกบอลกลายเป็นลูกเดียวกันได้อย่างไร เวลานี้ไม่มี เพราะฉะนั้น หน่วยงานไหนที่เสนอแผนและเห็นชอบได้ก่อน เวลาที่ทำผังเมืองหน่วยงานนั้นก็จะมีส่วนร่วม แต่ถ้าหน่วยงานไหนไม่มีมันก็ไม่มี และโดยมากกระทรวงที่มีเพาเวอร์มากมันจะมาก่อนเสมอ

หวั่นสั่งรื้อ “ร่างผังจังหวัดใหม่” ทั้งหมด

"ภารนี สวัสดิรักษ์” นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง
“ภารนี สวัสดิรักษ์” นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง

“การทำให้ชุมชนมีทิศทางของการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยตอบวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการพัฒนาที่ยั่งยืน” คือเจตนารมณ์ของการร่างผังเมืองที่ “ภารนี สวัสดิรักษ์” นักวิชาการอิสระ ด้านผังเมือง ระบุกับสำนักข่าวไทยพับลิก้า

“เวลาที่ไม่มีผังเมือง ใครอยากจะทำอะไรก็ได้ แม้ว่าจะมีกฎหมายของท้องถิ่นนั้นๆ ควบคุมอยู่ เช่น อบต. มีกฎหมายขุดดิน ถมดิน เขตควบคุมอาคาร แต่ไม่ได้กำหนดว่าจะใช้ประโยชน์เรื่องนี้ไม่ได้ สมมุติว่าพื้นที่ชุมชนนี้ไม่มีผังเมือง แต่มีกฎหมายควบคุมอาคาร อบต. ประกาศเป็นเขตควบคุมอาคาร ก็อาจจะมีเทศบัญญัติห้ามสร้างอาคารสูง สร้างโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะบังคับได้ตามกฎหมายควบคุมอาคารได้เฉพาะเรื่อง แต่ไม่สามารถควบคุมการใช้ประโยชน์ว่าสามารถทำกิจกรรมอะไรในพื้นที่ได้ เรื่องไหนห้าม”

ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนควรพิจารณาเป็นพิเศษ เวลาดูผังเมืองควรดูด้วยกัน 2 จุด คือ สีของผังเมืองว่าบริเวณนั้นเป็นสีอะไร ซึ่งแต่ละสีจะบ่งบอกการใช้ประโยชน์ของที่ดินเอาไว้ และบัญชีท้ายข้อกำหนด ที่จะระบุเงื่อนไขเพิ่มเติมในผังเมืองสีนั้นๆ

“สิ่งที่เป็นปัญหาเยอะก็คือ ถ้าการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมมันไปอยู่ในพื้นที่สีเหลือง สีเขียว หรือสีอื่นแล้วชาวบ้านมักจะไม่รู้ เพราะเขาเห็นว่ามันเป็นสีเขียว และนอนใจว่าคงไม่มีอุตสาหกรรม แต่บางทีอุตสาหกรรมบางชนิดสามารถที่จะไปตั้งอยู่ในพื้นที่สีเขียวหรือสีเหลืองบ้าง เช่น อุตสาหกรรมเส้นก๋วยเตี๋ยว ห้องเย็น หรืออะไรที่ไม่มีผลกระทบเยอะ”

ภารนีแสดงความเห็นต่อความล่าช้าในการพิจารณาผังจังหวัดที่มีการร่างมากว่า 10 ปี แต่ประกาศได้เพียงไม่กี่จังหวัด ซึ่งสามารถมองได้ 2 มุม คือ ล่าช้าเพราะการทำผังจังหวัดเริ่มขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ โดยเฉพาะในขั้นตอนของกฤษฎีกาที่จะต้องตรวจเช็คว่าพื้นที่ทับซ้อนกันหรือไม่ รวมไปถึงการตรวจสอบแนวเขตต่างๆในผังเมือง

“สมมุติว่าตรงนี้เว้นจากตรงนี้ 50 เมตร แต่อีกแปลงหนึ่งเอาโฉนดมาทับ พอเห็นว่าซ้อนกันก็ต้องออกไปตรวจสอบ ซึ่งอันนี้ก็เป็นไปได้ว่ามันใช้เวลานาน ความที่เราเป็นนักผังเมือง เราเข้าใจการตรวจสอบแผนที่ตรงนี้ว่าแปลงที่ดินในผังเมืองจังหวัดหนึ่งมันเยอะมาก อย่างเขตที่ต้องเช็ค เช่น เขตป่าไม้ เขตทหาร เขตปฎิรูปที่ดิน ต้องใช้เวลานานพอสมควร”

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ภารนีมองว่า อย่างช้าที่สุดกระบวนการทั้งหมดก็ไม่ควรจะเกิน 5 ปี

กระนั้นเอง สิ่งที่น่าจับตาและสร้างคำถามให้กับนักวิชาการด้านผังเมืองคนนี้มากที่สุดคือ ท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่จะให้ “ถอย” ผังจังหวัดโดยจะให้มีการร่างใหม่ทั้งหมด เพราะสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป

“ผังบางจังหวัดยังไม่ประกาศเสียที จริงๆ เรารู้ว่าเป็นการรอให้กิจการบางกิจการได้ใบอนุญาต ตรงนี้จะต้องมีกลไกในการตรวจสอบเหมือนกัน อย่างจังหวัดฉะเชิงเทรา ในพื้นที่บอกว่ารอให้โรงไฟฟ้าได้ใบอนุญาตก่อน หรือให้ท่าเรือบ้านปูได้ใบอนุญาตก่อน ให้อีไอเอผ่านก่อน แต่ว่าข้อมูลนี้เป็นแค่คำบอกเล่า หน่วยงานก็ต้องปฏิเสธว่าไม่จริง แต่ในที่สุดก็เชื่อว่าอาจจะเป็นเหมือนสระบุรี คือได้ใบอนุญาตและค่อยประกาศผังเมือง”

ล่าสุด มีข้อมูลจากกรมโยธาธิการระบุว่า จะรื้อผังเมือง 9 จังหวัด ประกอบไปด้วย กาฬสินธุ์ ชลบุรี ชัยนาท ตาก ปัตตานี ศรีสะเกษ สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี

ที่น่าห่วงที่สุดในสายตาภารนีคือ ผังเมืองของ จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล

“สองผังนี้ ถ้าบอกว่าสถานการณ์เปลี่ยนไหม มันก็เปลี่ยนมาหลายปีแล้ว แต่ดิฉันคิดว่าแรงกดดันของการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าที่ 2 ที่จะนะ กับท่าเรือปากบาราเป็นเหตุผลสำคัญของการรื้อผังเมืองนี้ขึ้นมาใหม่ เพราะว่าผังจังหวัดสตูลตรงปากบาราเป็นพื้นที่อนุรักษ์ป่าชายเลน ดังนั้น ถ้าอุทยานไม่ถอนเขตและไม่มีการแก้ไขผังเมืองท่าเรือก็จะขึ้นไม่ได้ เพราะขัดกับผังที่ระบายสีไว้ เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าจะนะ ที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่สีเขียว ห้ามสร้างโรงไฟฟ้า และถ้าไม่แก้ผังสงขลา โรงไฟฟ้าจะนะก็ขึ้นไม่ได้เหมือนกัน”