ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นถอนเงินไม่ได้ จับกลุ่มถกเครียด-กรมส่งเสริมฯ ชี้ประชุมเลือก “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” โมฆะ

สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นถอนเงินไม่ได้ จับกลุ่มถกเครียด-กรมส่งเสริมฯ ชี้ประชุมเลือก “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” โมฆะ

26 เมษายน 2013


นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ที่มาภาพ : http://www.dailynews.co.th
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ที่มาภาพ : http://www.dailynews.co.th

จากข่าว“สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นวุ่นไม่จบ “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” ดึงดีเอสไอออกหนังสือรับรอง “ไม่พบการกระทำผิด”” ที่ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ มีประเด็นหนังสือตอบกลับของกรมสอบสวนคดีพิเศษ แจ้งผลการตรวจสอบว่าไม่พบการกระทำผิดตามข้อร้องเรียน

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามประเด็นนี้ต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยนายธาริตกล่าวว่าว่ากรณีหนังสือตอบกลับคำร้องของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ทาง DSI ทำเพียงแค่ตรวจสอบว่ามีผู้ทำความผิดหรือไม่ อย่างแรกคือพบว่าไม่มีผู้มาร้องเรียนว่ามีการกระทำความผิดและพบว่าสหกรณ์มีการจดทะเบียนถูกต้อง อีกทั้งได้ตรวจสอบจากสำนักคดีอาญา 1 ในเบื้องต้นไม่พบความผิด DSI จึงออกหนังสือแจ้งกลับไปยังนายศุภชัย

ถ้ากรมตรวจบัญชีสหกรณ์ หรือกรมส่งเสริมสหกรณ์เห็นว่าผิด ก็ให้ดำเนินคดีร้องทุกข์กับ DSI หรือจะร้องกับทางตำรวจก็ได้ จดหมายตอบกลับดังกล่าวเป็นเพียงการตอบเบื้องต้นเท่านั้น มีหลายรายที่เมื่อDSI ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วไม่เจอความผิดแต่ก็พบความผิดภายหลัง ถ้ากรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินการร้องทุกข์เราก็พร้อมรับไม้ต่อดำเนินการแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตั้งแต่วันที่ 19 เมษายนเป็นต้นมา มีการฟ้องร้องทั้งจากฝ่ายนายมณฑล กันล้อม ประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นที่นำหลักฐานมอบให้กองปราบฯ เพิ่มเติมและขอความคุ้มครอง ขณะที่ฝ่ายนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ส่งทนายความฟ้องหมิ่นประมาทนายมณฑลและพวก ส่วนฝ่ายสมาชิกนำโดยนายชาญชัย ตั้งชู เลขานุการคณะกรรมการสหกรณ์ฯ คลองจั่น นำหนังสือไปยื่น พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร

สมาชิกนำโดยนายชาญชัย ตั้งชู เลขานุการคณะกรรมการสหกรณ์ฯ คลองจั่น นำหนังสือไปยื่น พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ที่มาภาพ : http://www.innnews.co.th
สมาชิกนำโดยนายชาญชัย ตั้งชู เลขานุการคณะกรรมการสหกรณ์ฯ คลองจั่น นำหนังสือไปยื่น พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ที่มาภาพ : http://www.innnews.co.th

นอกจากนี้ได้มีประกาศสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นว่าระหว่างวันที่ 23 เมษายน ถึงวันที่ 30 เมษายน 2556 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนไม่รับทำธุรกรรมการถอนเงินทุกประเภท แต่ยังรับฝากทุนเรือนหุ้น เงินกู้ชำระคืนและดอกเบี้ย โดยมีประกาศ ลงนามโดย นายวีระยุทธ รุจิเรข รองผู้จัดการ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้จัดการ

ขณะเดียวกันก็มีสมาชิกสหกรณ์รวมตัวกันไปที่สำนักส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพพื้นที่ 2 เพื่อทวงถามเรื่องการรับรองการเลือกคณะกรรมการชุดวันที่ 9 เมษายน 2556 ซึ่งลงมติให้นายศุภชัยกลับมาเป็นประธานฯอีกครั้ง แต่สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์ฯ ยังไม่รับรอง

วันที่ 24 เมษายน นายศุภชัย ศรีศุภอักษร จัดแถลงข่าวที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น พร้อมกับกรรมการที่ได้รับเลือกในการประชุมวันที่ 9 เมษายน ทั้งคณะ ชี้แจงที่มาที่ไปของเหตุการณ์ ซึ่งรายละเอียดมีความใกล้เคียงกับที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเคยรายงาน การชี้แจงของนายศุภชัยเมื่อวันที่ 19 เมษายน อีกทั้งประกาศยืนยันว่าการประชุมเมื่อวันที่ 9 นั้นถูกต้อง และการเลือกตั้งก็ถูกต้องด้วยเช่นกัน

วันที่ 25 เมษายน เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นแจ้งว่าระบบคอมพ์พิวเตอร์ล่มทำให้ไม่สามารถทำธุรกรรมทั้งการฝากและการถอนได้ สมาชิกที่ตั้งใจมาทำธุรกรรมจึงจับกลุ่มพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ พร้อมกับคาดการถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น ส่วนบริเวณบอร์ดหน้าสำนักงานและกำแพงสำนักงาน พบเห็นประกาศหลายฉบับที่เพิ่มเข้ามา ได้แก่แถลงการณ์ฉบับที่ 2 และ 3 ลงนามโดยนายศุภกิจ แก้วทรง สมาชิกสหกรณ์ที่มีบทบาทประสานงานระหว่างฝ่ายนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานดำเนินงานของสหกรณ์ และฝ่ายของนายมณฑล กันล้อม ประธานดำเนินงาน และมีประกาศของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น (ติดที่บอร์ดกลาง)ประกาศ เชิญชวนให้สมาชิกแจ้งความกับคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 28(ชุดนายมณฑล) และสำนักส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2

ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สอบถามความคืบหน้าที่สำนักส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 โดยแหล่งข่าวจากสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์ฯ กล่าวว่า ทางสำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2 ส่งหนังสือ ให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน ลงนามโดยนายสันทาน สีสา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 ซึ่งในหนังสือดังกล่าวมีใจความว่า

1. แม้การจัดประชุมเมื่อวันที่ 31 มีนาคม จะล่มลง แต่การนัดประชุมใหม่ก็ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของสหกรณ์เครดิตยูเนียน

2. หนังสือเรียกประชุมใหญ่ลงที่นามโดยนายยนต์ บุญเพ็ง กรรมการดำเนินการ ไม่ใช่มติของคณะกรรมการดำเนินการ ซึ่งผิดข้อบังคับของสหกรณ์ข้อที่ 58 ซึ่งกำหนดว่าให้คณะกรรมการดำเนินการเรียกประชุมปีละหนึ่งครั้งภายใน 150 วัน นับแต่วันสิ้นบัญชีของสหกรณ์ และนายยนต์ไม่ใช่ประธาน รองประธาน หรือเลขานุการ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจลงนาม ทำให้ผิดข้อบังคับของสหกรณ์ข้อที่ 64 ซึ่งกำหนดว่า การแจ้งกำหนดการประชุมใหญ่ ให้ประธาน รองประธาน หรือเลขานุการเป็นผู้ลงลายมือชื่อ ให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

3. ประธานชั่วคราวในการประชุมวันที่ 9 เมษายน คือ นายปัญญา ศรีทองสุข ซึ่งไม่ใช่กรรมการดำเนินงานของสหกรณ์ ทำให้ผิดข้อบังคับสหกรณ์ข้อที่ 84 ซึ่งกำหนดว่า ถ้าประธานไม่อยู่ ให้รองประธานแทน หากรองไม่อยู่ด้วยให้เลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่

4. การประชุมวันที่ 9 เมษายน มีการเพิ่มวาระการถอดถอนคณะกรรมการดำเนินงานชุดที่ 28 โดยมีสมาชิกในที่ประชุมใหญ่เสนอวาระเพิ่มมา ซึ่งวาระดังกล่าวไม่ปรากฏในรายงานประจำปี 2555 ซึ่งเป็นการดำเนินการผิดประกาศข้อแนะนำวิธีดำเนินการเกี่ยวกับการถอดถอนคณะกรรมการ หรือกรรมการดำเนินการสหกรณ์ และการยื่นอุทธรณ์ของสมาชิกกรณีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์มีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ ซึ่งมีการบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2543

5. เนื่องจากการประชุมวันที่ 9 เมษายน สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับดังที่ได้อธิบายใน 4 ข้อข้างต้น สำนักส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 จึงไม่สามารถรับรองคณะกรรมการชุดที่มีการเลือกตั้งในวันนั้นได้

แหล่งข่าวในสำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2 ยังกล่าวอีกว่า ทางสำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2 ได้รับคำอนุมัติจากคณะกรรมการพิเศษที่มีการแต่งตั้งโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้วินิจฉัยในกรณีสหกรณ์ฯ คลองจั่นโดยเฉพาะ ทางสำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2 จึงออกหนังสือดังกล่าว ส่วนการประชุมวันที่ 26 เมษายน 2556 ได้มีตัวแทนของสำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2 เข้าร่วมประชุม แต่บริเวณสหกรณ์ฯ คลองจั่นกลับไม่มีการติดประกาศหนังสือของทางสำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2 เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ทุกคนทราบเรื่องว่ามีการส่งหนังสือดังกล่าว และคอยแจ้งกับสมาชิกที่เดินทางมายังสหกรณ์ และมีข้อความ sms ส่งโดยสหกรณ์ฯ คลองจั่นเชิญชวนให้สมาชิกสหกรณ์ไม่เข้าร่วมการประชุมวันที่ 26 เมษายน เวลาตั้งแต่ 8.30 น. ณ โรงแรมทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ บริเวณสำนักงานของสำนักส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 มีสมาชิกมารวมตัวกันจำนวนเกินร้อยคนและยังมีเดินทางมาสมทบเพิ่มตลอดเวลา โดยส่วนใหญ่นัดกันสวมเสื้อสีชมพูมาชุมนุมในบริเวณสำนักงานและในอาคารสำนักงาน มีการปราศรัยย่อยๆ โดยสมาชิกผลัดเปลี่ยนกัน มีการใช้เครื่องขยายเสียงและกลองยาวเพื่อทำกิจกรรมประกอบการชุมนุม เนื้อหาของการปราศรัยมีใจความว่า สำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2 เข้าข้างฝ่ายนายมณฑลและจงใจดึงเรื่องไม่ยอมรับรองนายศุภชัยเป็นประธานสหกรณ์ ทำให้สมาชิกเดือดร้อนมาก และประท้วงการออกหนังสือไม่รับรองการประชุมวันที่ 9 ของสำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2 โดยกล่าวว่าการประชุมวันที่ 9 ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะอดีตประธานหนีการปฏิบัติหน้าที่

ขณะที่ สน.มีนบุรี (อยู่ติดกับสำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2) มีสมาชิกสหกรณ์ฯ รวมตัวกันแจ้งความนายมณฑล กันล้อม และพวก ในข้อหาฉ้อโกงเงินสหกรณ์และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งแจ้งความสำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2 ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และบริเวณสำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2 มีรถนำ น้ำดื่มและอาหารกล่องมาแจกจ่ายให้กับสมาชิกสหกรณ์ที่มาร่วมชุมนุม

อย่างไรก็ตามการประชุมในวันที่ 26 เมษายน 2556 มีสมาชิกเข้าร่วมประชุมประมาณ 400 คน ได้มีการเลือกตั้งประธานคนใหม่ซึ่งสมาชิกได้เลือกนายเผด็จ มุ่งธัญญา อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานคนใหม่แทนนายมณฑล กันล้อม การประชุมดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยมีทหารและตำรวจบก.น.4 มาช่วยดูแลความสงบ เรียบร้อย โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานส่งเสริมฯพื้นที่ 2 มาร่วมประชุมด้วย(อ่านรายละเอียดในตอนต่อไป)

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ตรวจสอบข้อมูลของผู้ฝากเงินที่เป็นองค์กรต่างๆ ซึ่งมีเงินฝากกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นจำนวนมาก โดยวิธีโทรศัพท์สอบถามจากผู้จัดการสหกรณ์และศึกษาจากรายงานประจำปีของสหกรณ์ต่างๆ ซึ่งตัวเลขที่แสดงอาจไม่ใช่ตัวเลข ณ ปัจจุบัน เพราะอาจมีการทำธุรกรรมในช่วงหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ซึ่งเป็นวันบันทึกบัญชีของสหกรณ์ประจำปี 2555 และอาจมีการทำธุรกรรมหลังเหตุการณ์วุ่นวายในสหกรณ์ฯ คลองจั่น หลังวันที่ 31 มีนาคม 2556 ซึ่งการทำธุรกรรมอาจจะมีทั้งการฝากและถอน โดยสหกรณ์ที่สอบถามเป็นเพียงผู้ฝากไม่ใช่สมาชิกสมทบของสหกรณ์ฯ คลองจั่น

รายชื่อเงินฝากของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่มา : รวบรวมจากรายงานประจำปี
รายชื่อเงินฝากของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่มา : รวบรวมจากรายงานประจำปี

เมื่อสอบถามเรื่องจะมีการถอนเงินฝากหรือไม่ ส่วนใหญ่ตอบว่าจะรอดูสถานการณ์ก่อน และอยากให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นเปิดเผยงบการเงินให้ละเอียดกว่านี้ แต่ก็มีสหกรณ์บางแห่งที่กล่าวว่า เมื่อสหกรณ์ทำการได้ปกติจะถอนเงินทันที

นายมณฑล ผาริโน ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูยโสธร กล่าวว่า ช่วงปี 2555 สหกรณ์ฯยโสธรเคยขอถอนเงินก้อนใหญ่จากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น แต่นายอารีย์ แย้มบุญยิ่ง ผู้จัดการสหกรณ์ฯ คลองจั่นในช่วงดังกล่าว ได้ขอชำระเงินถอนพร้อมดอกเบี้ยเป็นรายเดือนๆละ 10 ล้านบาท ซึ่งยอดเดิมคือ 1,050 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ที่ 930 ล้านบาท โดยทางคลองจั่นให้เหตุผลว่ายังไม่สะดวกด้านสภาพคล่อง ซึ่งเป็นปีแรกที่สหกรณ์ฯ คลองจั่นมีการดำเนินการเช่นนี้ และนายมณฑลยังระบุอีกว่าสหกรณ์ฯ คลองจั่นยังมีข้อตกลงลักษณะเดียวกันนี้กับสหกรณ์อื่นอีก เท่าที่ทราบก็คือสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา และสหกรณ์ออมทรัพย์ปทุมธานี

ส่วนสหกรณ์ที่ยืนยันว่ามีเงินฝากออมทรัพย์แต่ไม่ขอเปิดเผยจำนวนเงินฝาก มีดังนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลราชวิถี สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขอุทัยธานี สหกรณ์ออมทรัพย์สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจแห่งชาติ สหกรณ์ออมทรัพย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สหกรณ์ออมทรัพย์ครูมหาสารคาม สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา

ทั้งนี้ ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสหกรณ์ขนาดใหญ่ด้วยกัน เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งจ่ายดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 4 แต่ออมทรัพย์พิเศษของสหกรณ์ฯ คลองจั่นจะมีสิทธิถอนได้เดือนละ 1 ครั้ง หากต้องการถอนเพิ่มในเดือนเดียวกันอีกจะต้องเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 ของยอดเงินที่ถอน ทั้งนี้ยังมีสหกรณ์อีกเป็นจำนวนมากที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าไม่ได้ทำการตรวจสอบ

ส่วนตั๋วสัญญาเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 866.46 ล้านบาท โดยมีที่ดินและอาคาร U Tower บริเวณถนนศรีนครินทร์มูลค่าประมาณ 700 ล้านบาท เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน นอกจากนี้ยังมีสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 600 กว่าล้านบาท