ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > แบงก์ชาติประเมินเศรษฐกิจดีขึ้น ขยับจีดีพีเป็น 5.1%

แบงก์ชาติประเมินเศรษฐกิจดีขึ้น ขยับจีดีพีเป็น 5.1%

13 เมษายน 2013


ธปท. ปรับจีดีพีปีนี้เป็น 5.1% เพิ่มขึ้นจาก 4.9% ระบุมีแรงส่งจากเศรษฐกิจไตรมาสสี่ของปีก่อน และการบริโภค-ลงทุนภาครัฐหนุน แต่ปรับลดส่งออกจาก 8% เหลือ 7.2% ขณะที่จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงกดดันอัตราเงินเฟ้อ และการขยายตัวของสินเชื่อยังไม่น่าไว้วางใจ

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนเมษายน 2556 ว่า มีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจปี 2556 และ 2557 ดังนี้

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2556 จากประมาณการเดิม 4.9% ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.1% และปี 2557 ปรับเพิ่มขึ้นจาก 4.8% เป็น 5% สำหรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2556 ปรับลดลง จาก 1.7% มาอยู่ที่ 1.6% และปี 2557 ปรับเพิ่มขึ้น จาก 1.6% เป็น 1.7%

ประมาณการจีดีพี และเงินเฟ้อ ของธปท.
สรุปประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของ ธปท.

นายไพบูลย์กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ กนง. ปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีปี 2556 มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ

1. จากฐานเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2555 ที่จีดีพีขยายตัวสูงถึง 18.9% ซึ่งทำให้เศรษฐกิจทั้งปี 2555 โต 6.4% ดังนั้น ฐานเศรษฐกิจที่สูงมากในไตรมาส 4 จึงเป็นแรงส่งต่อเนื่องมาถึงปีนี้

2. แรงกระตุ้นจากภาครัฐ ทั้งจากโครงการลงทุนเพื่อบริหารจัดการน้ำ และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่มีความชัดเจนขึ้น โดย ธปท. คาดว่า การใช้จ่ายวงเงิน 2 ล้านล้านบาท จะสามารถเบิกจ่ายได้ใน 2 ปีแรก ได้ประมาณ 40% ของแผนการลงทุนเบื้องต้นในแต่ละปี หรือในปีแรกคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 17,000 ล้านบาท จากวงเงินตามแผนการลงทุนที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ 46,000 ล้านบาท และในปีที่สองคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 93,000 ล้านบาท จากเป้าหมายการเบิกจ่ายที่ตั้งไว้ 220,000 ล้านบาท

3. เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แม้มีอัตราการเติบโตไม่มาก แต่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ และมีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้การส่งออกของไทยในระยะต่อไปคาดว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และจะกลับสู่แนวโน้มปกติได้ในช่วงครึ่งหลังขอปี 2556

อย่างไรก็ตาม ธปท. ได้ปรับประมาณการส่งออกในปีนี้ลดลงจาก 8% เหลือ 7.2% โดยนายไพบูลย์กล่าวถึงสาเหตุของการปรับลดครั้งนี้ว่า ปัจจัยการแข็งค่าของเงินบาทอาจมีส่วนบ้าง แต่ปัจจัยหลักเป็นการปรับตามแนวโน้มที่เกิดขึ้นจริง และจากปัจจัยเศรษฐกิจของคู่ค้า

“ทั้ง 3 ปัจจัยหลัก ทำให้แบงก์ชาติปรับประมาณการเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น “ นายไพบูลย์กล่าว

สำหรับความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นายไพบูลย์กล่าวว่า ความเสี่ยงด้านบวกและด้านลบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างสมดุลหรือใกล้เคียงกัน โดยความเสี่ยงด้านบวกจะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหากรัฐบาลสามารถเบิกจ่ายเงินไต้ตามเป้าหมาย คือ ปีแรก 46,000 ล้านบาท และปีที่สอง 220,000 ล้านบาท จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้และปีหน้าสูงกว่าที่คาดการไว้ 5.1%

ทั้งนี้ นายไพบูลย์ระบุว่ารายงานนโยบายการเงิน (หน้า 21) ได้ประเมินโอกาสที่จะเกิดขึ้นของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจรายไตรมาส ซึ่งในปี 2556 โอกาสมากที่สุดอยู่ในช่วง 2-6% และในปี 2557 อยู่ในช่วง 2-8%

“การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท หากมีการใช้จ่ายเป็นไปตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ จะมีผลต่อเศรษฐกิจในปีหน้ามากกว่าปีนี้” นายไพบูลย์กล่าว

ส่วนความเสี่ยงด้านลบที่เพิ่มขึ้นคือ ปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป ซึ่งนายไพบูลย์กล่าวว่า เศรษฐกิจยุโรปอยู่ในภาวะเรื้อรัง และมีปัญหาความอ่อนแอเชิงโครงสร้างต้องใช้เวลาแก้ไข และมีปัญหาใหม่ๆ ปะทุขึ้นมา เช่น กรณีการเมืองอิตาลี การแก้ปัญหาของไซปรัสที่ส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นของประชาชน และเศรษฐกิจยุโรป ด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจยูโรโซนหดตัวกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์

สำหรับอัตราเงินเฟ้อ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า มีแนวโน้มทรงตัวและอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยปรับประมาณการเงินเฟ้อปีนี้ลงอยู่ที่ 1.6% จากประมาณการเดิม 1.7% แต่ในระยะต่อไปมี 3 ปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะอาจเป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ คือ

1. การส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจที่ยังเติบโตดีจะเอื้อให้การปรับราคาสินค้าทำได้มาก

2. ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะนี้ราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ แต่มีโอกาสปรับตัวค่อนข้างเร็ว จำเป็นต้องติดตามใกล้ชิด โดย ธปท. ปรับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 110 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล จากเดิม 105 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

3. ต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น จากการปรับค่าแรงขั้นต่ำรอบสอง และภาวะแรงงานยังตึงตัว จะเป็นเป็นแรงกดดันต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ และส่งผ่านไปยังราคาสินค้า ทำให้แพงขึ้น

ขณะที่ด้านเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน นายไพบูลย์ระบุว่า ภาวะการเงินที่มีสภาพคล่อง และอัตราดอกเบี้ยเอื้อให้มีการใช้จ่าย มีการกู้ยืมและลงทุนในที่มีความเสี่ยงมากกว่าเงินฝากในธนาคาร มีส่วนทำให้ราคาสินทรัพย์และหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2555 อยู่ที่ 73% เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 70.5%

หมายเหตุ : หนี้ครัวเรือนครอบคลุมสินเชื่อภาคครัวเรือนจากสถาบันการเงินตางๆ  ที่มา : ธปท.
หมายเหตุ: หนี้ครัวเรือนครอบคลุมสินเชื่อภาคครัวเรือนจากสถาบันการเงินตางๆ ที่มา: ธปท.

นายไพบูลย์กล่าวว่า สินเชื่อที่เติบโตในอัตราสูงต้องมองภาพรวม คือ ถ้าสินเชื่อโตเร็วและโตสูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจริงเป็นระยะนานๆ อาจนำไปสู่การก่อตัวของฟองสบู่ในตลาดสินทรัพย์ต่างๆ ได้ เรื่องนี้เป็นปัจจัยที่ กนง. ให้ความสำคัญ และให้ ธปท. ติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งถ้าแนวโน้มสินเชื่อยังเป็นอัตราเดียวกับอดีตที่ผ่านมา ก็เป็นเรื่องที่อาจจะต้องน่ากังวลมากขึ้น

“เพราะฉะนั้น ถึงขณะนี้เป็นสิ่งที่เราวางใจไม่ได้ จำเป็นต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม และหาพัฒนาการเพิ่มเติม สินเชื่อครัวเรือนอาจชะลอลงเล็กน้อย จาก 15% เหลือ 14% แต่ไม่ได้มีนัยสำคัญ ก็เป็นเรื่องที่ กนง. และ ธปท. ยังติดตามอยู่ และเมื่อประเมินถึงความจำเป็นและเหมาะสม ก็พร้อมที่จะมีมาตรการที่สอดคล้องกับสถานการณ์” นายไพบูลย์กล่าว