ThaiPublica > คนในข่าว > โลว์โปรไฟล์ ไฮโปรฟิต “อนุทิน” เปิด 3 เหตุถอนทุนการเมืองเป็น “ไอ้หนู” ตลอดกาลของ “นายแม้ว”

โลว์โปรไฟล์ ไฮโปรฟิต “อนุทิน” เปิด 3 เหตุถอนทุนการเมืองเป็น “ไอ้หนู” ตลอดกาลของ “นายแม้ว”

23 เมษายน 2013


“…If you ask how much, you can’t afford. คือคำจำกัดความของเครื่องบิน ถ้าคุณถามว่าเท่าไร แสดงว่าคุณไม่สามารถเป็นเจ้าของมันได้ เหมือนกัน ถ้าผมจะเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง แล้วถามว่าเป็นหัวหน้าพรรคต้องเสียเงินเท่าไร ผมไม่มาเป็น ผมไม่เคยถาม…”

นายอนุทิน ชาญวีรกูล
นายอนุทิน ชาญวีรกูล

จากขาใหญ่ “ผู้รับเหมา” กระโจนเข้าสู่การเมืองในยุค “รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร”

ทว่าช่วงที่ได้ “กำไร” จากการเมืองสูงสุด กลับเป็นช่วงที่พลิกมายืนขั้วตรงข้าม-ร่วมตั้ง “รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

ทั้งๆ ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่ “อำนาจ” ของ “พรรค-พวก-เพื่อนเนวิน” กลับอู้ฟู้ถึงขีดสุด “บารมี” เบ่งบานเมื่อได้บริหารงาน 3 กระทรวงใหญ่

แต่แล้วสถานการณ์ “พรรคภูมิใจไทย (ภท.)” ก็พลิกผัน เมื่อตกที่นั่งฝ่ายค้านในยุค “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

เป็นผลให้ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ที่ผงาดขึ้นเป็น “หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย” หลังพ้นโทษแบนการเมือง จำต้อง “โลว์โปรไฟล์” ตามสถานะที่เปลี่ยนไป ทว่า “รายจ่าย” ในการรักษา “ต้นทุน” 24 ส.ส. กลุ่มเพื่อนเนวิน หาได้เปลี่ยนแปลง

บ่อยครั้งที่มีข่าว “นายหนู” ดอดไปพบ “นายใหญ่” ผู้เป็น “นายเก่า” ในต่างแดนเพื่อตกลง-ต่อรองบางประการ จนถูก “ลิ่วล้อเพื่อไทย” ล้อฟรีอยู่เนืองๆ

บ่อยครั้งที่สังคมเกิดคำถามว่า “เสี่ย” คนนี้ผันเงินจากธุรกิจมาทำพรรค หรือคงพรรคเอาไว้เพื่อต่อยอดทางธุรกิจ?

ปัจจัยอะไรทำให้เขาคิดถอนตัว-ถอนทุนจากการเมือง ปัจจัยอะไรทำให้เขาไปต่อ?

“อนุทิน” เปิดปากอธิบายทุกสิ่ง…

ไทยพับลิก้า : พรรคภูมิใจไทยขึ้นมอตโตในเว็บไซต์พรรคเสนอตัวเป็น “ผู้รับจ้างเกิด Win-Win situation” ตอนนี้กำลังรับจ้างใครทำอะไรอยู่

ไม่มี ไม่เคยพูดว่าเสนอตัวเป็นผู้รับจ้างให้เกิดวิน-วิน แต่เวลาจะทำอะไร ตั้งเป้าหมายอะไรไว้ สิ่งที่ดีที่สุดคือต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายที่ทำให้เกิดเรื่องนี้ เมื่อ 2 ฝ่ายเกิดความขัดแย้งกัน มันก็ต้องคิดอะไรวิน-วินทั้ง 2 ฝ่าย ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีทางบรรลุเป้าหมายได้ คนหนึ่งเสีย คนหนึ่งได้ มันจะไปตกลงกันได้อย่างไร ดังนั้นคำว่าวิน-วินมันต้องเป็นเป้าหมายที่รับกันได้ทั้ง 2 ฝ่าย

ไทยพับลิก้า : หากพิจารณาเป้าหมายในทางการเมืองของรัฐบาลและฝ่ายค้าน เห็นใครได้อะไรเสียอะไร

ผมมองในฐานะคนนอกนะ ตอนนี้ต้องมองทั้ง 3 ฝ่าย ฝ่ายรัฐบาลถือว่าได้บริหารประเทศมาด้วยความราบรื่นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นทำให้การบริหารประเทศของรัฐบาลต้องชะงัก ยกเว้นแต่เรื่องทั่วไป ปัญหาก่อความไม่สงบ ปัญหาปากท้อง ซึ่งเป็นปกติของทุกรัฐบาลอยู่แล้ว ฝ่ายค้านก็ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ตรวจสอบอย่างหนักมากๆ ส่วนบ้านเมืองก็วิน โดยภาพรวมก็สงบเรียบร้อย เพราะมันมีความนิ่งทางการเมือง สภาวะเศรษฐกิจจึงดีขึ้นเป็นลำดับ ผลประกอบการของภาคเศรษฐกิจแข็งแรงขึ้น และเนื่องจากรัฐบาลเป็นปึกแผ่น นโยบายต่างๆ จึงได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็ว ข้าราชการให้ความร่วมมือ อันนี้เป็นวิน-วินอย่างหนึ่งของคนไทย

มันเคยมีเหตุการณ์จะรุนแรง เช่น กรณีม็อบ เสธ.อ้าย (พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม) เราก็ต้องยอมรับว่ารัฐบาลชุดอื่นที่ผ่านมา พอมีเหตุการณ์แบบนี้ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์จนกระทั่งบานปลายไปสู่ความรุนแรง ซึ่งกรณีม็อบ เสธ.อ้าย เรื่องความรุนแรงไม่ได้ด้อยกว่าม็อบอื่นๆ ในความรู้สึก แต่รัฐบาลชุดนี้สามารถทำให้จบสิ้นภายในเวลาครึ่งวัน อันนี้ก็ต้องยอมรับว่านายแน่มาก

ไทยพับลิก้า : รัฐบาลเพียงมือเดียวหรือที่จัดการม็อบ เสธ.อ้ายอยู่ ไม่มีมืออื่นช่วยเลย

เราไม่ทราบ แต่ต้องยกเครดิตให้รัฐบาล เพราะกลไกของรัฐไม่ว่าจะออกมาจากฝ่ายไหนก็ต้องใช้รัฐบาล คงไม่มีภาคเอกชนคนไหนไปทำ

ไทยพับลิก้า : ถ้ามองการเมืองแบบไม่ใช่ชั้นเดียว ความสำเร็จในการจัดการม็อบ เสธ.อ้ายเป็นของรัฐบาล แต่ความพยายามเป็นของใครบ้าง

ผมไม่ได้มองลึกลงไปขนาดนั้น ผมมองแค่ว่าเมื่อมันเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ขึ้นแล้วเขาสามารถควบคุมได้ อันนี้ก็ต้องให้เครดิต ไม่ว่าใครจะทำอย่างไรก็ตาม เราไม่ต้องไปสนใจ สนใจแค่ว่ามันไม่เกิดความรุนแรงต่อเนื่อง

ไทยพับลิก้า : ในเมื่อทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน และประชาชนวิน แล้วสถานการณ์ของภูมิใจไทยเป็นอย่างไร แม้เป็นพรรคอันดับ 3 แต่นัยสำคัญทางการเมืองคล้ายหายไปหรือเปล่า

มันก็…ถือว่าเราก็ทำหน้าที่ตามบทบาทหน้าที่ที่ถูกกำหนดไว้โดยธรรมชาติทางการเมือง การเป็นพรรคฝ่ายค้าน เมื่อไม่มีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง ไม่มีอำนาจกำกับหน่วยราชการใดๆ เราก็อย่าพยายามไปทำให้คนเขาเห็นว่าเรายังสามารถกำกับหน่วยงานใดๆ ได้ สิ่งที่ดีที่สุดที่ทำได้คือเป็นผู้ประสานงาน หากมีอะไรที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้าน ถ้าทำได้ เราก็ทำ ทางพรรคก็จัดสานเสวนาประเด็นร้อน-ประเด็นปัจจุบันเพื่อให้เกิดกระแส เป็นปากเสียงของประชาชนในการส่งสารถึงผู้บริหารประเทศให้รับไปดำเนินการแก้ไข เราทำได้แค่นี้ จะให้ไปสร้างภาพจัดฉากไปตรวจเยี่ยมหน่วยงานต่างๆ อะไรอย่างนี้ มันไม่ใช่หน้าที่ และมันเป็นการเพิ่มความเดือดร้อนให้ข้าราชการด้วย เราต้องอยู่กับความเป็นจริง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่มาภาพ : http://www.bhumjaithai.com
นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่มาภาพ: http://www.bhumjaithai.com

ไทยพับลิก้า : แม้พรรคภูมิใจไทยจะโลว์โปรไฟล์ตามสถานะฝ่ายค้าน แต่ภาพที่ปรากฏคล้ายไฮโปรฟิต (high profit) หรือไม่ เพราะคุณอนุทินได้แสดงบททางการเมืองตามสมควร

บททางการเมืองมันโดยธรรมชาติของพรรคการเมือง ถามว่าพรรคที่มี ส.ส. อยู่ ณ วันนี้ ซึ่งต้องบอกว่ายังมี 34 คน อย่างเป็นทางการนะครับ ก็ไม่ใช่พรรคเล็ก หากเทียบกับพรรคอื่นๆ ยังเป็นพรรคอันดับที่ 3 ดังนั้นก็จะมีกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง การประชุมสภาแต่ละครั้งก็ต้องมีการประชุมพรรคก่อน ต้องมีมติ มีประเด็น มีการแถลงข่าว เราไม่ได้หายไปจากพื้นที่ข่าว

ไทยพับลิก้า : แต่บทบาทที่คนจับจ้องคือบทบาทนอกสภา นอกประเทศ

ไม่เกี่ยว ถ้าพูดตรงๆ คือต้องการถามว่าผมกับท่านนายกฯ ทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) พูดคุยกันแล้วจะมีอะไรที่เป็นประเด็นทางการเมือง ก็ตอบได้เป็นครั้งที่ 100 ว่าผมกับนายกฯ ทักษิณพูดคุยกันในฐานะคนที่เคารพนับถือกัน ในฐานะที่ผมเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ มันยังมีความสัมพันธ์ที่ดี มีความผูกพัน และผมก็เป็นผู้น้อย การที่ผมไปพบ ไปแสดงความเคารพต่อนายกฯ ทักษิณก็เป็นในเรื่องส่วนตัว เรื่องการเมืองก็เป็นเรื่องการเมือง ไปพบมาตั้งหลายครั้งก็ไม่เคยคุยเรื่องการเมือง เหมือนคนที่รู้จักกันก็ไปพบกัน คนเราถ้ารักจะคบกันด้วยความจริงใจ มันต้องมีเรื่องหรือถึงไปพบ อย่างนี้ก็ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ดี

ไทยพับลิก้า : ในทางการเมืองคนอื่นอาจไม่ใช่ตัวแปรสำคัญ แต่พรรคภูมิใจไทยเป็นตัวแปรหรือไม่

ไม่จริง (เสียงสูง) เป็นที่ไหนล่ะ เป็นตัวแปรตรงไหน เพื่อไทยพรรคเดียวมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งอยู่แล้ว ตัวแปรมันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง สมมุติต่อให้เพื่อไทยตัดสินใจโละพรรคร่วมรัฐบาลออกหมด เขาก็ยังอยู่ได้ด้วยตัวเขาเอง คำว่าตัวแปรไม่มี ภูมิใจไทยไม่ใช่พรรคอะไหล่ที่จะไปแทนใคร สมมุติเอาพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ออก ไม่เติมภูมิใจไทยอยู่ได้ไหม อยู่ได้ เป็นประโยชน์กับเพื่อไทยไหม เป็นสิ เขาได้ตำแหน่งรัฐมนตรีกลับมาตั้งกี่ตำแหน่ง เอาพรรคพลังชล (พช.) ออก ก็ไม่ต้องเติมภูมิใจไทย ดังนั้นมันเป็นการมองชั้นเดียวว่าเมื่อคนการเมืองมาพบกันมันต้องมีประเด็นการเมือง ความจริงไม่จำเป็น คนการเมืองมันก็คนธรรมดา มันก็อยากจะไปเที่ยว ไปกินข้าว ไปทำอะไรที่คนทั่วไปเขาทำ

ไทยพับลิก้า : ถ้าไม่คุยเรื่องการเมือง แล้วคุยกันเรื่องธุรกิจหรือไม่

ไม่เกี่ยวๆ คนอย่างนายกฯ ทักษิณท่านไว้ตัวอยู่แล้ว ตั้งแต่ผมเป็นรัฐมนตรีใน ครม. ของท่าน ผมก็ไม่เคยคุยเรื่องธุรกิจกับท่าน นึกสภาพสิว่าคนที่เป็นรัฐมนตรีจะไปดีลอะไรกับนายกฯ

ไทยพับลิก้า : แค่ตั้งนายตำรวจคนเดียว ยังมีข่าวต้องดีล ต้องขออดีตนายกฯ เลย

คนอื่นผมไม่รู้ แต่สำหรับผมไม่มี ผมไม่ต้องมีโหมดนั้นในการทำงาน

ไทยพับลิก้า : ถ้าคนเข้าใจว่าการปรากฏตัวของคุณอนุทินพร้อม พ.ต.ท.ทักษิณทำให้วินทางการเมืองและวินทางธุรกิจ อยากอธิบายอย่างไร

ผมไม่ได้ไปพบนายกฯ ทักษิณในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แต่ไปพบในฐานะ “ไอ้หนู” ที่ท่านเรียกตลอดเวลา แล้วคำพูดที่ผมเรียกท่านตลอดเวลาตั้งแต่รู้จักมาก็คือท่านนายกฯ วันนี้แม้ท่านไม่ใช่นายกฯ ผมก็ยังเรียกอย่างนั้น ดังนั้น เวลาท่านพูดถึงผม ท่านก็จะบอก “ไอ้หนู” มันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีที่มีต่อกันโดยไม่มีทั้งผลประโยชน์ทางการเมืองและทางธุรกิจเกี่ยวข้อง ถ้าไปพบนายกฯ ทักษิณเพื่อดีลทางธุรกิจ ผมไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องไปทำอย่างนั้น

ไทยพับลิก้า : หมายถึงมีช่องทางอื่นให้ทำได้ในเมืองไทย มากกว่าการไปเจอ พ.ต.ท.ทักษิณ

ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าประเทศไทยมันก็มีกฎระเบียบ มันไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน มันมีระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง มีระเบียบพัสดุ ใครประมูลได้ต่ำสุดคนนั้นก็ต้องได้งาน ไม่มีข้อยกเว้น คนที่เซ็นอนุมัติก็ไม่ใช่นักการเมืองหรือรัฐมนตรีคนเดียว ต้องเซ็นมาตั้งแต่ข้าราชการประจำ มันไม่มีทางที่เขาจะยอมทำผิดแล้วติดคุกติดตะรางแทนนักการเมือง

ไทยพับลิก้า : แต่เทคนิค “มีเงินใช้ผีโม่แป้งได้” ก็ยังไม่พ้นจากวงการธุรกิจการเมือง

ก็อาจจะทำอะไรให้มันเหนื่อยขึ้น ลำบากขึ้น ตรวจสอบเข้มมากขึ้น แต่ถ้าเราทำทุกอย่างให้ดีที่สุด คือ ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมัน 1+1 เป็น 2 มันมีข้อกำหนด 1, 2, 3, 4, 5… ถ้าคุณเข้าครบข้อกำหนดนั้นมันเป็นอื่นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องไปทำอะไรให้มันเกินกว่านั้น

ไทยพับลิก้า : ในทางธุรกิจมีเรื่องต้นทุนและความคุ้มทุน การไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณแล้วถูกนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ วิจารณ์ว่าเล่นการเมืองแบบ “ประจบพี่ โจมตีน้อง” อย่างนี้ถือว่าไม่คุ้มทุนหรือไม่

ผมไม่ได้ให้ราคา ผมไปเจอนายกฯ ทักษิณ ผมไม่ได้ไปเจอคุณณัฐวุฒิ ใครจะพูดอะไรก็พูดไป ข้อเท็จจริงไม่มีใครรู้ว่าผมคุยอะไรกับนายกฯ ทักษิณ และผมก็ไม่จำเป็นต้องมาบอกด้วย มันก็จบไป และผมก็ไม่ได้ไปดักรอพบ ผมไปพบเหมือนกับคนอื่นทั่วไป ไม่ต้องไปยืนรอยืนดัก

นายอนุทิน ชาญวีรกูล
นายอนุทิน ชาญวีรกูล

ไทยพับลิก้า : อาศัยต้นทุนเก่าในการเจอกัน

คนมันไม่มีอะไรกัน พื้นฐานมันไม่มีอะไรที่ต้องเก็บความแค้นเอาไปแก้แค้นกันต่อชาติหน้า ดังนั้นในทางการเมืองจะพูดอะไรก็พูดได้หมด ถ้าเราไปคิดปวดหัวเสียทุกเรื่อง โต้ตอบเสียทุกเรื่อง ก็เท่ากับลดตัวลงไปทำในสิ่งที่ผู้เจริญแล้วเขาไม่ทำ (หัวเราะ)

ไทยพับลิก้า :ในทางการเมืองมันต้องมีการเอาคืน หากคุณอนุทินไม่ทำเอง ก็น่าจะมีลูกพรรคทำแทน แต่ครั้งนี้ไม่มีการเอาคืนเลย

เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

ไทยพับลิก้า : คนการเมืองมีแต่คิดว่า 10 ปี ไม่สายที่จะชำระแค้น

การเมืองจะใช้ได้ไม่ได้ไม่รู้ แต่ผมใช้ของผมอย่างนี้มาตลอด ไม่อย่างนั้นผมก็ต้องมานั่งทุกข์ ผมมีเรื่องทุกข์ของผมตั้งกี่เรื่องแล้ว จะให้ไปโต้ตอบทุกคน มันไม่ใช่คนคนเดียวที่เคยพูดถึงผมไม่ดี สื่อเดี๋ยวก็เขียน ภูมิใจไทยเหงาหงอย ภูมิใจไทยขาลง สมศักดิ์ (เทพสุทิน) ไม่มา เนวิน (ชิดชอบ) ไม่มา เขาจะมาได้ไง คุณเนวินบอกเขาไม่เกี่ยวแล้ว มาสิแปลก วันนั้น (วันที่ 6 เมษายน ครบรอบวันเกิดปีที่ 4 ของพรรค) คนก็เต็มพรรค แกนนำทุกคนก็มา ดังนั้น ถ้าเรามานั่งโต้ตอบทุกเรื่อง มันไม่ใช่ เรารู้ตัวดีว่าทำอะไรอยู่

ผมทำพรรคก็รู้อยู่แล้วว่าไม่ได้ตั้งเป้าเป็นพรรคอันดับ 1 หรือ 2 มันเป็นเป้าที่ไกลเกินฝัน ผมก็รู้ว่าถ้าผมพยายามเท่านี้ เท่าทุนที่เรามีอยู่ ผมจะแฮปปี้แล้ว แล้วผมก็ทำได้ ถ้าทำไม่ได้ เราก็มีโอกาสจะพิจารณาตัวเองว่าทำดีที่สุดหรือยัง ถ้าทำดีที่สุดแล้วได้แค่นี้ก็ต้องยอมรับ พลังชลมี 7 คน เขายังร่วมรัฐบาลอยู่ เขายังมีความสุขได้ ถามว่าท่านสนธยา (คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม หัวหน้าพรรคพลังชล) พรรษาการเมืองก็แก่กว่าผม ฐานะทุกอย่างเพื่อเอื้อประโยชน์การเมืองก็ไม่มีอะไรด้อยกว่าผม ท่านก็ทำพรรคของท่าน 7 คน ท่านสมศักดิ์ก็มี 7 คน ท่านสุวัจน์ (ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติพัฒนา) ก็มี 8 คน ทำไมต้องมาดูภูมิใจไทยพรรคเดียวว่าจะเป็นนั่นเป็นนี่ ภูมิใจไทยต่อให้เหลือ 7-8 คน ก็ยังเป็นพรรคอยู่

ไทยพับลิก้า : คิดว่าการดูแล ส.ส. 24 คน เป็นภาระมากหรือไม่ในช่วงตกที่นั่งฝ่ายค้าน

ไม่ เราเหลือ 24 คน ภาระก็ลดลงสิ ไม่มีปัญหา

ไทยพับลิก้า :เป็นสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้หรือไม่

ความเป็นพรรคการเมือง เรื่องพวกนี้ไม่เคยคิด ถ้าคิดก็ไม่มาเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ผมมานี่ไม่มีใครบังคับผมได้นะ ผมมาเพราะว่าเอาล่ะโอกาสมันมี แล้วก็มีคนให้โอกาส แล้วผมก็คว้า ไม่ใช่ใครเอาปืนมาจี้ผมให้มาตรงนี้ ผมก็ต้องรู้ทุกอย่าง ต้องคิดสรตะแล้วว่าผมอยู่แล้วผมทำได้ ผมก็มา ไม่มีอะไรนอกเหนือกว่านี้

ไทยพับลิก้า : สรุปแล้วภารกิจของคุณอนุทินคือหาเงินจากธุรกิจเพื่อมาทำพรรค หรือคงพรรคเอาไว้เพื่อประโยชน์ในการต่อรองและต่อยอดทางธุรกิจ

นี่…ฝรั่งเขามีโจ๊ก (เรื่องตลก) เขียนว่า Definition of a plane, If you ask how much, you can’t afford. คือคำจำกัดความของเครื่องบิน ถ้าคุณถามว่าเท่าไร แสดงว่าคุณไม่สามารถเป็นเจ้าของมันได้ เหมือนกัน ถ้าผมจะเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง แล้วถามว่าเป็นหัวหน้าพรรคต้องเสียเงินเท่าไร ผมไม่มาเป็น ผมไม่เคยถาม

ไทยพับลิก้า : เท่าไรก็เอาอยู่

ก็ผมไม่เคยถาม

ไทยพับลิก้า :วันนี้คิดว่าตัวเองเป็นนักธุรกิจหรือนักการเมืองมากกว่ากัน

ต้องนักการเมือง เพราะตำแหน่งทางธุรกิจไม่มีอะไร ก็เป็นนักการเมืองทั่วไป

ไทยพับลิก้า : ในการขับเคลื่อนทางธุรกิจ เป้าหมายสูงสุดคือกำไร การขับเคลื่อนทางการเมือง คนเล่นการเมืองย่อมต้องรู้รายจ่าย-กำไรล่วงหน้าก่อนหรือไม่

บางอย่างนี่นะมันไม่ได้เป็นเรื่องเงินเรื่องทอง มันเป็นเรื่องของความมันส์ ความท้าทาย คิดหน้าคิดหลังคิดบนคิดล่างแล้ว ถ้าวันไหนสิ่งที่ผมทำอยู่ทำให้คนในครอบครัวเดือดร้อน ทำให้ฐานะของครอบครัวตกต่ำ ทำให้คนรอบข้างไม่มีความสุข ผมก็ไม่ทำ แต่ที่ทำมาจนทุกวันนี้มันยังไม่ถึงจุดนั้น ถ้าแตะจุดนั้นเมื่อไร ผมก็หยุด อย่างที่บอก ตอนผมมาก็ไม่มีใครบังคับผมมา ถ้าผมจะหยุดก็ไม่มีใครห้ามผมได้ ผมเป็นตัวของตัวเองแต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยคิดอะไรเกินตัว ทำการเมืองก็ทำด้วยความสนุก ดูแล้วมันท้าทาย บางอย่างทำแล้วมันเกิดประโยชน์กับส่วนรวม เกิดประโยชน์กับบ้านเมืองจากความคิดของเรา ก็มีความสุข มีความภาคภูมิใจ ไม่มีตรงไหนที่จะต้องมาเสริมสถานะทางการเงินของครอบครัวให้แข็งแรงขึ้น

ไทยพับลิก้า : เคยคิดจะหยุดการเมืองบ้างหรือไม่ และมีเหตุอะไรให้ไปต่อ

ก็ 3 เหตุที่บอกไป กระทบครอบครัวเมื่อไร กระทบคนรอบข้างที่เรารักเมื่อไร กระทบกับสิ่งที่เราหวงแหนและมีความผูกพันด้วย ตรงนั้นเราค่อยหยุด

นายอนุทิน ชาญวีรกูล
นายอนุทิน ชาญวีรกูล

ไทยพับลิก้า : ความสัมพันธ์กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เป็นอย่างไร

เทียบผมกับนายกฯ ปูไม่ได้ เพราะตอนผมเข้าการเมืองผมแทบไม่รู้จักคุณปูเลย เวลาทำงานการเมืองอะไรต่างๆ ในช่วงอยู่พรรคด้วยกัน ก็ติดต่อโดยตรงกับนายกฯ ทักษิณ รับคำสั่งโดยตรงจากท่าน ดังนั้นผมให้ความเคารพคุณปูในขณะนั้นคือน้องสาวของเจ้านาย แต่เรื่องความสนิทสนม กินข้าวด้วยกันสักมื้อยังไม่เคยเลย เอาอย่างนี้ดีกว่า ถ้านายกฯ ทักษิณฝากงานคุณปูมา ท่านก็มาสั่งผมต่อ ผมก็รับออเดอร์ เพราะถือว่าเป็นคนในครอบครัวของนายกฯ ทักษิณ ถ้าเรายังอยู่ในองค์กรของเขาก็ต้องถือว่าเป็นเจ้านายทุกคน ลูกเสี่ยลูกเตี่ยน้องเสี่ยน้องเตี่ยคือคนในครอบครัวที่เราทำงานด้วย ก็ต้องปฏิบัติกับเขาดีที่สุด แต่ตั้งแต่คุณปูเป็นนายกฯ มายังไม่เคยเจอหน้า ไม่เคยติดต่อจริงๆ เพราะการเมืองมันมีช่องทางของมันอยู่ มีวิป (คณะกรรมการประสานงาน) มีอะไร ซึ่งเป็นเรื่องดีซะอีก เพราะการคุยกับหัวเลยมันอาจจะทำให้หาข้อสรุปอะไรไม่ได้ ผมชอบอย่างนี้มากกว่าด้วยซ้ำ

ไทยพับลิก้า : ไม่คุยเพราะรู้ว่าหัวจริงไม่ได้อยู่เมืองไทยหรือเปล่า

ไม่จริงล่ะ ก็ดูสิ ไม่เคยเห็นมีอะไรที่นายกฯ ปูจะทำแล้วไม่ได้ เห็นท่านก็ได้ทุกอย่างถ้าท่านตัดสินใจแล้ว คนมันต้องเคารพในสถานะ คนเป็นนายกฯ นี่เขาสามารถสั่งบันดาลอะไรได้อยู่แล้วในระดับที่สูงมากทีเดียว

ไทยพับลิก้า : การบันดาลอะไรได้หรือไม่เพราะสถานะส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งต้องอาศัยสายสัมพันธ์พิเศษด้วยหรือไม่

นี่ผมพูดถึงระบบการบริหารราชการแผ่นดิน อย่าไปพูดอะไรที่เราไม่มีส่วนรับรู้ แต่ในการบริหารราชการแผ่นดิน การตั้ง ครม. การทำอะไรต่างๆ ถ้านายกฯ ปูทำอะไรไม่ได้เลย คุณจะเห็นว่ารัฐมนตรีคนนั้นคนนี้อยู่ตรงนี้ได้อย่างไร ได้เยอะด้วย เออ

ไทยพับลิก้า : แล้วความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างไร

โดยส่วนตัวก็ไม่มีปัญหาอะไร ณ วันนี้เพื่อไทยกับภูมิใจไทยไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน ต่างคนต่างทำหน้าที่

ไทยพับลิก้า : ไม่มีปัญหาแล้วราบรื่นถึงขั้นจะรวมเป็นสาขาแบบพรรคอัมโนของมาเลเซียตามข่าวลือหรือไม่

ไม่มี (หัวเราะ) ก็ผมบอกตั้งแต่ต้นแล้วว่าผมไม่เคยคุยกับนายกฯ ทักษิณเรื่องการเมือง

ไทยพับลิก้า : ใครก็รู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณหายใจเข้าออกเป็นการเมือง ได้เจอหัวหน้าพรรคการเมืองทั้งทีจะไม่คุยเรื่องการเมืองได้อย่างไร

(ถอนหายใจยาว) เฮ้อ! ไม่รู้จะพูดอย่างไรให้เชื่อ มันต้องถามด้วยว่าผมวางตัวอย่างไร ถ้าให้ผมไปพบเรื่องการเมืองนี่ผมไม่ไปนะ ไม่รู้สิ คนมันมีหลายบทบาท มันทำได้จริงๆ ผมมองว่าทุกวันนี้ ด้วยการเมืองแบบปัจจุบัน ได้แค่นี้ก็ดีที่สุดแล้ว ถามว่าจะไปต่อรองอะไร อย่างที่บอกว่าต่อให้เขาโละพรรคร่วมออกหมดเรายังไม่จำเป็นเลย จะไปพูดให้มันเกิดเหตุหรือ ท่านนายกฯ ครับ ผมมาแล้วนะครับ เอาอย่างไรก็ได้นะครับ ผมขอเข้าร่วมรัฐบาล รมช.วัฒนธรรมตำแหน่งเดียวก็เอาครับ มันจะทำอย่างไร จะให้ผมพูดคำนี้หรือ

ไทยพับลิก้า : เรื่องปรองดอง พรรคภูมิใจไทยจะเดินแนวเดียวกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่

เรื่องปรองดองมันไม่ยากอะไร ให้คน 10 คน ไปคิดเรื่องปรองดองมา อาจจะร่างมาเหมือนกันหมดเลยก็ได้นะ เช่น ต้องไม่เอื้อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องถือว่าบุคคลนี้ไม่มีความผิด เนื้อความมันเหมือนกันหมดอยู่แล้ว ถ้าในเนื้อมันใกล้เคียงกัน มันยอมรับกันได้ เราก็โอเค ขณะที่บางพรรคอาจจะบอกไม่เอาเลยกฎหมายปรองดอง แต่จะไปว่าเขาก็ไม่ได้เพราะเขามีความเชื่อเช่นนั้น แต่เราคิดอีกอย่าง ภูมิใจไทยเอาแน่นอนเรื่องปรองดอง ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหนที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี ไม่ขัดต่อหลักยุติธรรมสากลทั่วไป

ไทยพับลิก้า : บังเอิญความเชื่อของพรรคภูมิใจไทยไปตรงกับความต้องการสูงสุดของ พ.ต.ท.ทักษิณด้วย เพราะคนเพื่อไทยเดินเกมปรองดองมาเป็นปี แต่ยังไม่สำเร็จ

ผมตอบไม่ได้ว่าเป็นความต้องการของใคร แต่ความต้องการของภูมิใจไทยคือต้องการให้มีกฎหมายปรองดอง ไม่เช่นนั้นมันก็คาราคาซังกันอยู่อย่างนี้ คนบริสุทธิ์ไม่รู้ตั้งเท่าไรต้องตกเป็นผู้ต้องหา

ไทยพับลิก้า : ถ้าอยากทำเรื่องปรองดองจริงๆ ทำไมไม่เป็นหัวหอกเอง แต่รอตามเกมเพื่อไทย

ก็พรรคเรามีแค่ 20 กว่าเสียง ได้แต่เสนอ โหวตไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเสนอไปแล้ว ทางวิปบอกว่าเนื้อหาตรงกัน ขอให้บรรจุเป็นวาระเดียวกันได้ไหม มันก็ได้ ทำไมจะไม่ได้ ใครเขาจะไปยอมเสียศักดิ์ศรีให้เอาร่างของภูมิใจไทยซึ่งมี 24 เสียง ของเขามีเป็น 265 เสียง เราก็มองโลกในความเป็นจริงมันจะได้อธิบายตัวเองได้

ไทยพับลิก้า : หากเกมปรองดองทำให้ทุกฝ่ายวิน จะเห็นพรรคภูมิใจไทยยืนอยู่ตรงไหน

ก็ยังเป็นพรรคการเมืองอยู่ อย่าไปคิดว่าภูมิใจไทยจะไปทำอะไร เรื่องการเข้าร่วมรัฐบาลไม่เคยคิดอยู่แล้ว เพราะมันเป็นไปไม่ได้ในสมัยสภาชุดนี้ หลังการเลือกตั้งอะไรจะเกิดก็ค่อยว่ากันอีกที หากหลังการเลือกตั้งภูมิใจไทยมา 30 เสียง และไม่มีพรรคใดได้เกินกึ่งหนึ่ง โอกาสจะเข้าร่วมรัฐบาลก็สูงมาก ถ้าภูมิใจไทยมา 7 เสียง มีพรรคร่วมรัฐบาลเกินกึ่งหนึ่งไป 1 พรรค ก็อาจจะเติม 7 เสียงนี้เข้าไป ก็สูงมาก หรือเป็นฝ่ายค้านก็สูงมาก ค่อยว่ากัน คิดตอนนี้ไม่ได้ คิดมากก็ปวดหัว

“เสี่ยหนู” แจงปมซิโน-ไทยฯ โกย 2 หมื่นล้าน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล
นายอนุทิน ชาญวีรกูล

หลายเสียงลือว่า “ธุรกิจ” ของครอบครัว ได้ดีเพราะบารมีทางการเมืองของ “เขา”

หลายคนคิดคำนวณคร่าวๆ ว่า เพียง 1 ปี 6 เดือนในยุค “รัฐบาลน้องสาว” “บริษัทซิโน-ไทย เอนจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) คว้างานรัฐแล้วถึง 10 โครงการ รวมวงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท

ทว่า “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และอดีตบิ๊กบอสซิโน-ไทยฯ ปฏิเสธเสียงแข็งว่า “การเมือง” เป็นคนละเรื่องกับ “ธุรกิจ” โดยยืนยันว่าปรากฏการณ์ “ยักษ์รับเหมาก่อสร้าง” ได้งานเป็นปรากฏการณ์ปกติ

“มันเป็นปกติ ตั้งแต่สมัยนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน นายกฯ ชวน หลีกภัย นายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และก็เช่นเดียวกันกับในสมัยที่ภูมิใจไทยกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ บริษัททุกบริษัทก็ได้งาน บริษัทที่เป็นคู่แข่งตัวเอ้ตัวสำคัญของกิจการในครอบครัวของผมได้งานมากกว่าผมอีก (หัวเราะเล็กๆ) มันอยู่ที่เขาประมูล คือเรื่องเงินเรื่องทองมันขอกันไม่ได้ เรื่องธุรกิจสั่งกันไม่ได้ ถามว่าผมเคยคิดไหมว่า โหย…จะหาวิธีกลั่นแกล้ง มันคิดอย่างไรก็หาวิธีไม่ได้ จะสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน ถามสิว่าถ้าผมเป็น รมว.คมนาคม จะไม่ให้บริษัทอิตาเลียนไทยเข้านี่ทำได้ไหม ทำไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น บริษัทถ้ามันมีผลงาน มีความน่าเชื่อถือ เข้าข้อกำหนดต่างๆ คุณสมบัติต่างๆ ครบ มันก็ต้องได้ มันไม่มีทางเป็นอื่น”

การที่ “อดีตบอสซิโน-ไทยฯ” รุดไปแดนไกลเพื่อพบ “อดีตนายกฯ” ผู้บริหารงานผ่านสไกป์ ชวนให้เกิดข้อกังขา-เกิดเสียงนินทาว่าได้งานเพราะสายสัมพันธ์ทางการเมือง?

“เสี่ยหนู” แย้งทันควัน “ปีนี้ซิโน-ไทยฯ กิจการในครอบครัวของผมเซ็นสัญญากับรัฐก็จำนวนมาก แต่ต้องไปดูว่ามีสัญญาไหนที่ซิโน-ไทยฯ ประมูลแล้วไม่ต่ำสุดบ้าง ที่เซ็นนี่มันต่ำสุดทุกอัน ที่ 2 นี่ยังไม่ได้เลย ไม่เคยได้ในราคาที่ตัวเองต้องการ ก็ดูสิว่าต่ำสุดนี่ต่ำเท่าไร ต่ำกว่าราคากลาง”

“โครงการก่อสร้างพัฒนาสนามบินภูเก็ต ประมูลต่ำกว่าราคากลาง 700 ล้านบาท (วงเงิน 5,146 ล้านบาท) ใครอยากจะบ้ากว่าซิโน-ไทยฯ ก็ทำไปสิ ถ้ามีคนเสนอต่ำกว่าราคากลาง 900 ล้าน ก็ทำไปสิ เราก็ไม่ได้งาน โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาต่ำกว่าที่ 2 ประมาณพันล้านมั้ง (วงเงิน 12,287 ล้านบาท) ถ้าใครเสนอต่ำกว่า 1,200 ล้าน เขาก็ต้องได้งานไป งานอาคารที่ทำการศาลฎีกา เสนอต่ำกว่าเจ้าที่ 2 ประมาณ 80 ล้านบาท (วงเงิน 2,525 ล้านบาท) แต่ยืนราคามา 3 ปีแล้ว ของบางอย่างมันเป็นเรื่องการตัดสินใจทางธุรกิจ”

แต่บังเอิญมาตรงกับจังหวะทางการเมืองพอดี?

เขาย้อนถาม “แล้วจะมาถือสาอะไรกับธุรกิจในครอบครัวผม ผมก็ไม่ได้บริหาร มันมากับผมตั้งแต่ก่อนผมเล่นการเมือง อยู่กับผมตั้งแต่ก่อนผมเกิด จะให้ผมรักบริษัทผมมากกว่าบริษัทคนอื่นก็เป็นไปไม่ได้ น้อยกว่าบริษัทคนอื่นก็เป็นไปไม่ได้ แต่ถามว่าผมได้ใช้อำนาจไปทำอะไรตรงนั้น ถ้าผมทำได้ ผมก็ต้องได้ราคาที่ผมต้องการ ไม่ต้องไปฟาดฟันกับใคร ผมสามารถกีดกันคนอื่นได้ แต่ผมไม่เคยทำ เพราะมันทำไม่ได้ ถ้าทำได้ ทำไหม อาจจะทำก็ได้ แต่ประเด็นคือมันทำไม่ได้เพราะมันมีกฎระเบียบคุ้มครองอยู่ เหมือนกับคนอื่นที่พยายามจะกลั่นแกล้งผมตอนเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ๆ ไม่ให้บริษัทผมได้งานรถไฟฟ้าสายสีแดง แล้วสุดท้ายทำได้ไหม อย่างมากก็แค่ดึงให้มันนานที่สุด แต่พอดึงนานที่สุดนี่ กระบวนการทางยุติธรรมก็เริ่ม กระบวนการศาลก็เริ่ม กระบวนการสอบสวนก็เริ่ม”

เป็นเพราะคุณอนุทินมีกำลังภายในมากกว่าหรือเปล่า?

“ไม่เกี่ยวกับกำลังภายใน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรล่ะ ถ้าบอกคุณไปฆ่าคนตายมา เขาก็ต้องตรวจสอบได้ว่าคุณฆ่าคนตาย จะหลบอย่างไรก็ไม่พ้น เหมือนกรณีรถไฟฟ้าสายสีแดง แรกๆ อาจจะอยากเอาอกเอาใจเจ้านาย คิดว่าเจ้านายไม่ต้องการเห็นความเจริญก้าวหน้าของฝ่ายนี้ ก็ไปเอาอกเอาใจโดยที่นายไม่เคยสั่ง แล้วถามว่าทำได้ไหม สุดท้ายก็เซ็น ก็เหมือนกัน สนามบินภูเก็ตประมูลมาต่ำสุด เขาก็ต้องเซ็น ถ้าไม่ได้ ประมูลใหม่ก็ต้องต่ำกว่าราคาผม ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่เลยนะ”

ส่วนแทคติคในแวดวงผู้รับเหมาที่นิยมงัดมาใช้เพื่อให้ได้งาน ด้วยการบวก “ราคาอื่น” นอกเหนือจาก “ราคาเสนอ” ที่แสนต่ำนั้น เขาบอกว่าไม่เข้าใจๆ ถ้าราคาเสนอต่ำกว่าราคากลาง แล้วเอาที่ไหนไปจ่ายให้ใครอีก แล้วใครจะไปโง่จ่าย มีแต่รัฐต้องมาขอบคุณที่เอกชนเสนอราคาต่ำขนาดนี้

คนทำงานการเมืองไม่มีใครยอมเสมอตัว มันมีราคาที่ควรจ่ายยอดหนึ่งหรือเปล่า?

“ไอ้นั่นมันเกิดขึ้นกรณีที่ทุกอย่างมันควบคุมได้หมด มันไม่ใช่การแข่งขัน อาจเป็นการประมูลด้วยวิธีพิเศษ อาจเป็นการประมูลด้วยการมีคู่แข่งจำนวนน้อยราย ถามว่าวันนี้ผมกับอิตาเลียนไทย กับ ช.การช่าง กับบริษัทใหญ่ๆ โตๆ นี่คุยกันรู้เรื่องไหม คุยกันไม่รู้เรื่องหรอก ถ้าจะคุยกันได้ อ้าว! ใครจะเป็นเบอร์ 1 ทุกคนก็อยากเป็นเบอร์ 1 หมด อยากได้งานคนแรกก่อน มันเป็นไปไม่ได้ หลักการค้าหลักการแข่งขันมันมีการตรวจสอบถ่วงดุลอยู่”

คือคำอธิบายทุกปรากฏการณ์คว้างานของ “บิ๊กเนมรับเหมา” อย่าง “ซิโน-ไทยฯ” ภายใต้เงา “บิ๊กหนู”!!!