ThaiPublica > สัมมนาเด่น > Thaipublica Forum ครั้งพิเศษ “ปฏิรูปโครงสร้างภาษีไทย เพื่อไทยหรือเพื่อใคร”

Thaipublica Forum ครั้งพิเศษ “ปฏิรูปโครงสร้างภาษีไทย เพื่อไทยหรือเพื่อใคร”

21 มีนาคม 2013


 มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ,สำนักปฏิรูปเพื่อสังคมไทยที่เป็นธรรมและเว็บไซด์ V-reform ร่วมกับสำนักข่าวไทยพับลิก้าจัดงานสัมมนา Thaipublica Forum ครั้งพิเศษ ในหัวข้อ “ปฏิรูปโครงสร้างภาษีไทย เพื่อไทยหรือเพื่อใคร”
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, สำนักปฏิรูปเพื่อสังคมไทยที่เป็นธรรม และเว็บไซต์ V-reform ร่วมกับสำนักข่าวไทยพับลิก้าจัดงานสัมมนา ThaiPublica Forum ครั้งพิเศษ ในหัวข้อ “ปฏิรูปโครงสร้างภาษีไทย เพื่อไทยหรือเพื่อใคร”

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2556 มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, สำนักปฏิรูปเพื่อสังคมไทยที่เป็นธรรม และเว็บไซต์ V-reform ร่วมกับสำนักข่าวไทยพับลิก้าจัดงานสัมมนา ThaiPublica Forum ครั้งพิเศษ ในหัวข้อ “ปฏิรูปโครงสร้างภาษีไทย เพื่อไทยหรือเพื่อใคร”โดยมีนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ (อ่านล้อมกรอบ)

ส่วนผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้ประกอบด้วย ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, นายถาวร รุจิวนารมย์ หัวหน้าส่วนกรรมการอาวุโสและกรรมการบริหาร บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (ประเทศไทย) โดยมี ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ โรงแรม Vic 3 Bangkok (วิก 3 กรุงเทพฯ)

สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้ถอดเทปการเสวนาทั้งหมดซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ภาวิน : ปลายปีที่ผ่านมาเรามีการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย ในมุมของนักวิชาการคิดว่า ต่อการปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีข้อกังวลหลักๆ อะไรบ้าง

สกนธ์: การปฏิรูปใดๆ ก็แล้วแต่ต้องดูที่วัตถุประสงค์ของการปฏิรูป เพราะการปฏิรูปนั้นมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง ไม่ว่าเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งผมแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ในเชิงนโยบายของรัฐบาล การปรับโครงสร้างภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 2. ช่วยเสริมโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

ในเรื่องแรกคือ เราจะเห็นว่าการใช้เครื่องมือภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมักเกิดขึ้นจากที่มีวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น ปี 2551-2552 เราก็ปรับลดภาษีบางรายการ เช่น ลดค่าธรรมเนียมการโอนที่ดิน การยกเว้นหรือลดหย่อนต่างๆ แต่เครื่องมือภาษีจะใช้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ

แต่วันนี้เราจะคุยกันในประเด็นที่ 2. คือ เรื่องของการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน วันนี้ผมคิดว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ เหตุผลหลักๆ ของการปรับโครงสร้างภาษีของไทยทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากโครงสร้างภาษีเดิมของไทย เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนแล้วเรามีอัตราภาษีค่อนข้างสูง

แต่ว่า พอปรับลดลงมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอัตราสูงสุดที่ 37% ลดลงเหลือ 35% ภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 20% ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการของเราสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้

แต่อย่างที่เรียนว่า การปรับโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ในระยะยาวแล้ว ผมคิดว่าสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายต้องระลึกถึงอยู่ตลอดเวลาก็คือ เรื่องความเพียงพอของรายได้ หลังจากปรับโครงสร้างภาษี ผมคิดว่าเศรษฐกิจไทยต้องการการปรับตัวสักระยะหนึ่ง ไม่ว่าเรื่องการปรับลดอัตรา หรือการเพิ่ม และการยกเว้น

ยกตัวอย่าง กรณีปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รายได้ของรัฐบาลมันหาย แล้วเราก็คาดหวังว่าในรอบเศรษฐกิจถัดไปรัฐบาลจะมีรายได้กลับมาจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้น การลดภาระรายจ่ายของภาษีทั้ง 2 ประเภท จะทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นแล้วนำมาสู่การเก็บภาษี VAT ได้เพิ่มขึ้น

คำถามแรกของผมเรื่องภาษี VAT คือ รอบระยะเวลาของภาษีที่หายไปจากการปรับลดภาษีตรงนี้ กับรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาในรอบระยะเวลาถัดไปมันตามกันทันหรือเปล่า หากรอบระยะเวลาการลดภาษีกับการที่รายได้ของรัฐที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตมันไม่เท่ากัน จะเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลจำเป็นจะต้องหารายได้อื่นมาทดแทน แถมตอนนี้รัฐบาลทำแผนกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มันก็สร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาล ต้องจัดหารายได้มาใช้ในการจัดทำงบประมาณ

ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา
ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา

ประเด็นเหล่านี้ต้องฝากไว้ว่า การสร้างรายได้ในอนาคตจากการปรับลดภาษีมันเพียงพอกันหรือเปล่า ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ หรือดูจากวิธีปฏิบัติของประเทศต่างๆ ที่มีการปรับโครงสร้างภาษี เขาไม่ทำในช่วงที่เรามีวิกฤติทางรายได้หรือวิกฤติทางเศรษฐกิจ แต่จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องปรับโครงสร้างไปเรื่อยๆ ให้สอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องคอยกำกับคอยดูแลในเชิงนโยบายเอาไว้ตลอดเวลา ประเด็นนี้เป็นโจทย์ที่ต้องคอยจับตาว่า การปรับโครงสร้างภาษีครั้งที่ผ่านมา เราคาดหวังว่ารายได้ของรัฐบาลจะไม่กระทบนั้นจะเป็นจริงหรือเปล่า

เรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการปรับโครงสร้างภาษี เพราะเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยไม่จูงใจนักลงทุน เพราะเมื่อมาทำงานในบ้านเราแล้ว พอมีรายได้ก็ต้องเสียภาษีเยอะๆ

แต่ถ้ามองโครงสร้างเศรษฐกิจของบ้านเรา ผมตั้งข้อสังเกตว่า คนไทยที่มีรายได้ หรือที่เราเรียกว่ากลุ่มแรงงาน ประมาณ 35-38 ล้านคน ที่มายื่นแบบเสียภาษี มีประมาณ 10 ล้านคน และที่เสียจริงๆ มีแค่ 2 ล้านกว่าคน

โจทย์แรกคือ จากคนไทยที่เป็นแรงงาน 35-38 ล้านคน ในขณะที่เรากำลังเริ่มเป็นสังคมผู้สูงอายุ ด้านตัวเลขทางสภาพัฒน์ฯ ก็ยืนยันว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของแรงงานจะลดลง หมายความว่าในอนาคตผู้เสียภาษีจะเริ่มลดน้อยลง ประเด็นต่อมาคือ ผู้เป็นแรงงานจะกลายเป็นผู้มีอายุมากขึ้น ความสามารถในการหารายได้ของคนกลุ่มนี้จะลดน้อยลง

ขณะเดียวกัน เราต้องลดภาษีตรงนี้ลงด้วย นั่นคือภาพของรายได้บุคคลธรรมดาในอนาคตจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างแรงงานของเราในอนาคต มันก็เป็นเรื่องที่ต้องตั้งข้อสังเกตว่า รายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเพียงพอหรือเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้หรือเปล่า เพราะข้อมูลสภาพัฒน์ฯ ระบุว่า ประชากรวัยทำงานไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าจะโตติดลบ นั่นหมายความว่าประชากรวัยแรงงานของเราลดน้อยลง ซึ่งเป็นปัญหาทุกของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเราตั้งวัตถุประสงค์หลายข้อ อันแรก คือ หารายได้เข้ารัฐ เพื่อนำใช้จ่ายต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องเกื้อหนุนและส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันของรายได้ นั่นก็คือการยกเว้นภาษีและรายการลดหย่อนต่างๆ ซึ่งอันนี้ก็ดี เพราะจะทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยหรือผู้ที่ไม่มีศักยภาพในการหารายได้เสียภาษีมากเกินไป ทำให้มีโอกาส เป็นการจูงใจให้เข้าสู่ระบบ

ขณะเดียวกัน การจูงใจเข้าสู่ระบบด้วยการยกเว้นและลดหย่อนนี้ก็ช่วยทำให้เขาไม่ต้องเสียภาษีมากหรือไม่ต้องเสียภาษีเลย ซึ่งก็ดี แต่วันนี้เรามีการยกเว้นและลดหย่อนอยู่ภายใต้ภาษีบุคคลธรรมดาเยอะมาก เกือบๆ 20 รายการ ซึ่งตรงนี้ต้องแยก 2 กลุ่มคือ 1. กลุ่มชั่วคราว เช่น นโยบายซื้อบ้านหลังแรก และ 2.กลุ่มถาวร เช่น ภาษีลูกกตัญญู หรือส่งเสริมอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น ประกันชีวิต หรืออุตสาหกรรมในตลาดทุน

หากพิจารณาจากโครงสร้างตรงนี้ คิดว่าหลายคนคงรู้ดีอยู่แล้วว่าเกิดปัญหา ในแง่ที่ว่าเราอยากได้หลายวัตถุประสงค์ หลายคำตอบจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตัวเดียว ซึ่งถ้ามองในแง่การส่งเสริมเพื่อให้เกิดการแข่งขันและเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจของเราที่กำลังจะเปิดเออีซีกับประเทศเพื่อนบ้าน อันนี้ก็เห็นด้วย

เสวนาปฎิรูปโครงสร้างภาษีไทย

แต่ถ้ามองในอีกมิติ เรื่องการส่งเสริมความเท่าเทียม ลดความเลื่อมล้ำ คนจนคนรวย อันนี้คงเป็นโจทย์ที่ต้องมาคุยกันว่าปัญหาใหญ่ๆ เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ( LTF) ซึ่งคนที่จะเข้าถึง RMF หรือ LTF ก็คือกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูงเป็นสำคัญ ถึงแม้การปรับโครงสร้างที่ผ่านมาจะลดอัตราภาษีสูงสุดจาก 37% เหลือ 35% แต่กลุ่มรายได้สูงสุดก็ยังได้ประโยชน์น้อยในแง่ของเปอร์เซ็นต์ ซึ่งลดเพียงร้อยละ 5-6 เท่านั้น ส่วนคนที่มีรายได้ระดับปานกลางได้รับส่วนลดในอัตราร้อยละที่สูง

แต่ถ้าดูเงินบาท สำหรับคนที่รายได้สูง แน่นอนว่าประโยชน์จากการถูกจัดเก็บภาษีในรูปเงินบาทน้อยลงก็สูงตามไปด้วย อันนี้ก็ต้องมาคุยกันว่าเรามองตัวไหน เงินบาทหรือเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างไรก็ตาม โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผ่านมานั้นน่าสนับสนุน แต่ต้องพิจารณาต่อในอนาคต เพราะในการปฏิรูปภาษีนั้น เราต้องดูตามโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของเราว่าเป็นอย่างไร ดูความสอดคล้อง การตั้งโจทย์ของเราในการปฏิรูปภาษีนั้นเราต้องการอะไรเป็นสำคัญ

ถัดมาเป็นภาษีนิติบุคคล มองดูแล้วโครงสร้างอัตราที่ลดจาก 30% เป็น 23% และ 20% นั้นมันยังมีไส้ในอีกเยอะ ทั้งเอสเอ็มอีที่อยู่ในและนอกตลาดหลักทรัพย์ โครงสร้างเหล่านั้นก็ถูกปรับลดลงตามไปด้วย อันนั้นก็ถือเป็นตัวช่วย

แต่โจทย์อันหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด และผมคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราต้องมานั่งทบทวนกัน นั่นก็คือ บีโอไอ วันนี้ คนที่มาขอบีโอไอ ถ้าอยู่ในกรอบที่กำหนดก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทันที ผมคิดว่าประเทศไทยเราพัฒนาเลยระดับนั้นไปแล้ว อาจจะต้องมานั่งพิจารณาสัดส่วนของอุตสาหกรรมว่า วันนี้ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของเราจะเป็นอย่างไร

รวมถึงปัญหาที่นักวิชาการและหลายภาคส่วนได้พูดถึง นั่นก็คือการยกระดับประเทศ และระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการใช้นวัตกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) เราน่าจะมุ่งส่งเสริมทางนี้มากกว่าลักษณะการลงทุนในกรอบบีโอไอเดิม และผมคิดว่าประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีการให้บีโอไอ แต่เรื่องความละเอียด ความชัดเจน และทิศทางของการพัฒนาอุตสาหกรรม ผมว่าน่าจะมองมิติเหล่านี้เพิ่มเติมเข้าไป เช่น การลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่จะส่งเสริมเข้ามา ก็คงเป็นประเด็นที่ต้องคุยกันต่อไป

รวมทั้งภาษีสรรพสามิตเอง เห็นด้วยว่ายังจำเป็นต้องมีอยู่ในประเทศไทย แต่อย่างที่เรารู้กันว่าภาษีสรรพสามิตนี้เก็บเฉพาะสินค้าบางประเภท เก็บเพื่อหารายได้ แต่ขณะเดียวกันก็ควบคุมการบริโภคสินค้าบางประเภท ซึ่งเราใช้ภาษีสรรพสามิตมาเป็นเป็นเครื่องมือในการควบคุมด้วย ความจำเป็นหรือความสามารถของภาษีสรรพสามิตในการตอบโจทย์เรื่องการควบคุมกิจกรรมหรือพฤติกรรมบางอย่างในการบริโภคสินค้านั้น บางทีแค่ภาษีสรรพสามิตอาจไม่เพียงพอแล้ว ฉะนั้นก็เป็นอีกคำถามหนึ่งของภาษีสรรพสามิตว่า เราจะปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างไรบ้าง

ทีนี้ ถ้าย้อนมาที่วัตถุประสงค์แรกที่เรียนตอนต้น โจทย์ใหญ่ของเราในภาคการปฏิรูปส่วนใหญ่มักมุ่งในเรื่องการเพิ่มศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของประเทศ เพิ่มการลงทุน จูงใจนักลงทุนมาลงทุนในประเทศ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องผิด แต่ผมคิดว่าการปฏิรูปภาษีคงต้องให้น้ำหนักหรือคำนึงถึงเรื่องปัญหาของความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำของสังคมเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เพราะว่าเราจะมาหยิบยกเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญหรือเรื่องหลักของวันนี้ แต่วันนี้เราคงละเลยปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้

และอีกประการที่สำคัญคือ ผมคิดว่าพอเราพูดถึงเรื่องการปฏิรูปภาษี เราจะเห็นภาพของการขับเคลื่อนการปฏิรูปในลักษณะเป็นเรื่องๆ เช่น ที่ผ่านมา ภาษีบุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล แต่ผมคิดว่าวันนี้โจทย์เรื่องการมองให้เห็นภาพรวม มองให้เห็นอนาคตของโครงสร้างภาษีที่เราต้องใช้ ว่าต้องลดตัวไหนเพิ่มตัวไหน เราจะใช้ภาษีแต่ละตัวเพื่อทุกๆ วัตถุประสงค์คงเป็นไปไม่ได้ คงต้องมีความชัดเจนในเรื่องของโครงสร้างภาษีทั้งหมดที่จะมาใช้กำกับ

“ผมเชื่อว่าเรื่องภาษีนั้นเป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนต้องเห็นความชัดเจน เห็นวัตถุประสงค์ และมีความเข้าใจ เพราะผมคิดว่าคนไทยเข้าใจการเสียภาษีน้อย เรายังคิดอยู่ว่าการเสียภาษีคือการลงโทษ ทำงานแล้วยังต้องเสียภาษีอีก ความเข้าใจเหล่านี้ต้องถูกยกระดับขึ้นมา”

เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ตั้งโจทย์วันนี้ว่า “เพื่อไทย” หรือ “เพื่อใคร” เป็นโจทย์ใหญ่ มันไม่ได้ทำเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้เท่านั้น เพราะผมยกตัวเลขที่ว่ากรณีมีคนที่ต้องยื่นแบบ 10 กว่าล้าน แต่คนนอกระบบการเสียภาษีมีอีกเยอะแยะ แล้วเราจะจัดการกันอย่างไร แน่นอนบางส่วนของคนที่อยู่นอกระบบคือกลุ่มที่มีรายได้น้อย แต่ก็ยังมีคนนอกระบบที่มีรายได้ในระดับที่สมควรจะเข้ามาเสียภาษีมีอยู่หลายกลุ่ม แต่ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้มีโอกาสเข้าถึงระบบภาษี ให้มีโอกาสมีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศในอนาคตด้วย

ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล
ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล

ภาวิน : สรุปของอาจารย์สกนธ์ในประเด็นเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และมีข้อกังวลหลักๆ อยู่ที่ความเพียงพอของรายได้และเรื่องความเป็นธรรมและการจัดการความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

ถามคุณเจน ในมุมมองของภาคเอกชน เมื่อเห็นการปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่ผ่านมา ทั้งเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล คุณเจนมีความเห็นเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภาษีเหล่านี้อย่างไรบ้างครับ

เจน : ในส่วนการปฏิรูปภาษี ผมคิดว่าเราทำกันมาค่อนข้างเยอะ จริงๆ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เราก็มีส่วนร่วมในการปรับโครงสร้างอากรขาเข้า ในตอนนั้นเป็นโครงการที่ใหญ่มาก โครงสร้างอัตราภาษีนำเข้าของไทยเดิมมีมากถึง 20-30 อัตรา แต่ลดเหลือ 3 อัตรา คือ 1%, 5% และ 10% ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการหลายรายที่เป็นซัพพลายเชนซึ่งกันและกันเกือบจะวางมวยกัน เพราะเขารับกันไม่ได้ เนื่องจากการลดภาษีตัวหนึ่งก็ทำให้กลายเป็นภาระของอีกตัวหนึ่ง หรือทำให้ขีดความสามารถของอีกตัวหนึ่งเสียไป รวมถึงพยายามจัดกลุ่มสินค้าที่อยู่ก้ำกึ่ง เช่น เดิมเสียภาษีนำเข้า 7% กับกลุ่มเสียภาษีนำเข้า 13% ทั้ง 2 กลุ่ม ควรจะจัดเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่เสียภาษี 1% หรือ 5% หรือ 10%

ส่วนเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคล จริงๆ แล้วเห็นด้วยในแง่ว่าเพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ เพราะประเทศเพื่อนบ้านเรา โดยเฉพาะในอาเซียน ที่มีระดับการแข่งขันพอๆ กัน เขาลดภาษีลงไปหมดแล้ว ที่อยู่นอกอาเซียนอย่างฮ่องกง ก็เก็บภาษีในอัตราที่ต่ำมานาน

แต่ ส.อ.ท. ไม่เห็นด้วย คือ ตอนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเอาไปอ้างว่า ตรงนี้รัฐลดภาษีให้แล้ว ฉะนั้นผู้ประกอบการต้องยอมจ่าย 300 บาท ทั่วประเทศ มันคนละเรื่องกัน ผมก็คำนวณให้ท่านฟังแล้วว่าในส่วนของ 300 บาท มันเพิ่มต้นทุนให้เท่าไร ในขณะที่ลดภาษีตรงนี้จาก 30% เหลือ 20% มันช่วยลดค่าใช้จ่ายให้บริษัทได้เท่าไร สมมุติได้มาแค่ 1 แต่ต้องเสียไป 10 เพราะฉะนั้นอย่าเอามาเทียบกัน แต่โดยหลักการแล้วผมเห็นด้วย ในแง่ของการเป็นไปเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

ขณะเดียว ผมก็ไม่ได้บอกว่าไม่เห็นด้วยเรื่องขึ้นค่าแรง 300 บาท จริงๆ ก็เห็นด้วย แต่ไม่แน่ใจว่าควรทำทั่วประเทศหรือเปล่า เราไม่แน่ใจว่าควรทำภายใน 9 เดือน หรือเปล่า คือนับจาก 1 เมษายน 2556 ถึง 1 มกราคม 2557 ฉะนั้นประเด็นที่ ส.อ.ท. อยากฝากให้มีการช่วยเหลือมีอยู่ 2 เรื่องนี้ คือ ช่วยผ่อนภาระลง หรือชดเชยให้บ้าง

แต่เราพยายามจะผูกเรื่องนี้กับฐานภาษี ก็คือ ถ้าจะช่วยเหลือก็เอาข้อมูลที่เขาจ่ายภาษีมาดู เช่น ในแต่ละเดือนจะต้องมีการส่ง ภพ.30 สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะฉะนั้น ทางการก็จะมีตัวเลขยอดขายทุกเดือน อีกส่วนที่ต้องจ่ายคือประกันสังคม ถ้าคุณอยู่ในระบบประกันสังคม อยู่ในระบบภาษี ก็มีหน้าที่ต้องยื่นแบบฟอร์มประกันสังคม หักเงินลูกจ้างส่วนหนึ่ง อีกส่วนนายจ้างจ่ายเงินสมทบ ซึ่งถ้าเอาตัวเลข 2 ตัวนี้มา จะเห็นว่าค่าแรงที่ปรับเพิ่มมีผลกระทบต่อรายได้ของภาคเอกชนเท่าไหร่

ถ้าเราดูตรงนี้ก็จะรู้ว่าบริษัทนั้นเป็นบริษัทใช้แรงงานเข้มข้น (labor intensive) หรือทุนเข้มข้น (capital intensive) ผมเสนอโครงการเป็นลักษณะว่า ถ้าจะชดเชยหรือช่วยเหลืออะไรกัน ให้ดูตัวเลข 2 ตัวนี้แล้วคุณก็จะรู้ แต่กระทรวงแรงานไม่เอา เขาจะเอานิยามแค่ว่าบริษัทนั้นเป็นเอสเอ็มอีหรือเปล่า ถ้าเป็นเอสเอ็มอีก็จะช่วย ไม่ใช่เอสเอ็มอีไม่ช่วย ทั้งๆ ที่เอสเอ็มอีบางรายมาร์จินสูงถึง 50-60% แล้วจะไปช่วยเขาทำไม จริงๆ แล้วพวกนี้ไม่จำเป็นต้องช่วยเลย ฉะนั้นเรื่องอย่างนี้ผมคิดว่าภาครัฐมีข้อมูลเยอะมาก แต่ไม่ใช่ให้เป็นประโยชน์

นายเจน นำชัยศิริ
นายเจน นำชัยศิริ

ประเด็นอย่างนี้ต่างหากที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรม ถ้าเรารู้จักใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ ความเป็นธรรมก็จะเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าจะต้องกี่เปอร์เซ็นต์ จะต้องหักลดหย่อนเท่าไหร่ ตรงนั้นรายการเดียวกันคนยอมรับกันได้ เพราะฉะนั้น ความเป็นธรรมจะเกิดจริงๆ ก็ด้วยการขยายฐานภาษี คือการทำให้คนเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น อย่างที่อาจารย์สกนธ์พูดถึงนั้นน่ากลัวมากนะครับ 2 ล้านล้านบาท ถ้าจ่ายโดยคนแค่ 2 ล้านคน คนหนึ่งจ่าย 1 ล้านบาท ที่นั่งๆ อยู่จ่ายภาษีปีละเท่าไหร่ครับ

สำหรับสินค้าที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการต้องส่งรายงานยอดขายให้กรมสรรพากรทุกเดือน ทำให้ทางการมีข้อมูลที่เกี่ยวกับยอดขาย ขณะเดียวกัน หากธุรกิจของคุณอยู่ในระบบประกันสังคมด้วย นายจ้างก็มีหน้าที่หักเงินลูกจ้างและจ่ายเงินเข้าสมทบตามแบบฟอร์มประกันสังคม หากนำข้อมูลจากหน่วยทั้ง 2 แห่ง มาวิเคราะห์จะทราบทันทีว่า ภาคธุรกิจมีต้นทุนค่าแรงเปรียบเทียบกับรายได้แล้วมีสัดส่วนเท่าไหร่ แต่ละบริษัทได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทเท่าไหร่ ซึ่งกระทรวงแรงงานไม่รับข้อเสนอดังกล่าว แต่จะดูแค่บริษัทนี้เป็นธุรกิจเอสเอ็มอีจริงหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่เอสเอ็มอีก็ไม่ช่วย ทั้งๆ ที่เอสเอ็มอีบางรายมีมาร์จินสูงถึง 50-60% แล้วคุณไปช่วยทำไม พวกนี้ไม่จำเป็นต้องช่วยเลย จะเห็นได้ว่าภาครัฐมีข้อมูลเป็นจำนวนมากแต่ไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ ประเด็นนี้ต่างหากที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรม ควรใช้ข้อมูลที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์

จะทำให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นได้จริงๆ ต้องขยายฐานภาษี ทำให้คนเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น อย่างที่อาจารย์สกนธ์พูดนั้นน่ากลัวมาก รัฐมีแผนการที่จะกู้เงินมาลงทุน 2 ล้านล้านบาท แต่มีคนเสียภาษีแค่ 2 ล้านคน เท่ากับผู้เสียภาษีมีภาระที่ต้องจ่ายเงินให้รัฐเฉลี่ยคนละ 1 ล้านบาท ถือว่าเป็นภาระที่หนัก คนที่เขาก้มหน้าก้มตาจ่ายภาษีก็ไม่แฮปปี้เท่าไหร่ แต่ถ้ามีคนอื่นมาช่วยเขาจ่ายภาษี เขาก็รู้สึกธรรมดา

ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย พวกนี้จ่ายปีละหลายล้านบาท รายได้เขาก็เยอะด้วย ไม่เถียง อัตราภาษีที่เขาจ่ายประมาณ 40-60% ของรายได้ แต่ประชาชนทุกคนจ่ายภาษีเท่ากันหมด อัตราใกล้เคียงกัน กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียจึงมีแต่คนจนถึงคนชั้นกลาง แต่รัฐบาลจัดสวัสดิการให้อย่างเต็มที่ ในขณะที่ระบบสวัสดิการของประเทศไทยไม่ได้เป็นอย่างประเทศเหล่านี้

สำหรับประเทศไทย คนจ่ายภาษีเพราะมันเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็มีบางคนเลี่ยงภาษีได้ ก็ไม่จ่าย ทำอย่างไรถึงจะทำให้คนที่เลี่ยงภาษีทำได้ยากขึ้น และดึงคนคนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในระบบภาษี เพื่อทำให้คนที่เขาจ่ายภาษีอยู่แล้วสบายใจ จ่ายภาษีในอัตราที่เหมาะสมตามอัตภาพ มีเงินพอที่จะเลี้ยงลูกหรือส่งลูกเรียนหนังสือ

เหลืออีกไม่กี่ปีประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ขณะนี้ระบบภาษียังไม่เอื้อต่อการแข่งขัน อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เราบอกว่ามันต่ำ อันนี้คงไม่ใช่ เพราะในเมื่ออัตราต่ำขนาดนี้ ทำไมถึงมีคนไม่เสียภาษีอยู่เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ ผมคิดว่ามันต้องมีอะไรเกิดขึ้น

“ผมอยากให้ดูประเด็นตรงนี้ คือ ทำอย่างไรถึงขยายฐานภาษีให้ได้ เพื่อทำให้คนที่เขาจ่ายภาษีมีความรู้สึกว่าเขาอยากจะจ่ายภาษี เมื่อจ่ายแล้ว เวลาเขาต้องการความช่วยเหลือ รัฐบาลต้องช่วยให้ถูกจุด ผมเสียภาษีแทบตาย เวลารัฐหว่านเงิน พวกโครงการที่ลงท้ายด้วย -หลังแรก -คันแรก ทั้งหลาย ผมไม่ได้รับสิทธิ์อะไร ทำไมมันเป็นอย่างนั้น”

นายถาวร รุจิวนารมย์
นายถาวร รุจิวนารมย์

ถาวร : ในมุมมองของผม ผมจะมุ่งเน้นไปที่ปัญหาอุปสรรคต่อการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นสำคัญ

หลังจากที่ประเทศไทยเข้าสู่ AEC ทิศทางโครงสร้างภาษีของไทยจะไปทางไหน รัฐบาลพูดมาหลายครั้ง จากประชากร 60 ล้านคน กลายเป็น 600 ล้านคน จะมีการแข่งขันมากขึ้น แต่ประเด็นคือเราพร้อมแค่ไหน ทั้งในแง่ของการชักชวนต่างชาติให้เข้ามาลงทุน ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมให้คนไทยไปลงทุนต่างประเทศด้วย

หากดูภาพรวมของกลุ่มประเทศที่เป็นคู่แข่งกับไทย คงไม่พูดถึงพม่า อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยวันนี้ ลดลงเหลือ 20% อัตราภาษีของไทยถือว่าดีขึ้น สามารถแข่งขันได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเปรียบเทียบกับอินโดนีเซีย ซึ่งตอนนี้การลงทุนบูมมาก ประเทศไทยอาจจะลดภาษีช้าไปหน่อย ทำให้ประเทศเสียโอกาสไป

ประการแรก เราสูญเสียรายได้จากการลดภาษีเงินได้ จึงต้องหารายได้เพิ่มขึ้น และถ้ามองแนวโน้มของโลก คือ ทั่วโลกทยอยปรับลดอัตราภาษีเงินได้ และปรับเพิ่มอัตราภาษีทางอ้อม-ภาษีเพื่อการบริโภค ซึ่งผมถือว่าการปรับอัตราภาษีที่เก็บจากการบริโภคนั้นมีความเป็นธรรมที่สุด คุณกินเยอะก็ต้องจ่ายภาษีเยอะ คุณกินน้อยคุณจ่ายน้อย ทุกคนต้องช่วยกันจ่ายภาษีไม่ว่าคนจน คนรวย ทุกคนเสียภาษีเท่าเทียมกัน

ผมมองในแง่มุมของนักธุรกิจมากกว่า ผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ คนที่มีรายได้ดีส่วนใหญ่เป็นสมองของประเทศ เขาเลือกที่จะไปทำงานประเทศใดก็ได้ เอารายได้ไปเสียภาษีที่ไหนก็ได้ หากประเทศไทยคงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ในอัตราที่สูงมาก มันก็ผลักดันให้คนเก่งๆ ออกไปทำงานต่างประเทศ แต่ถ้าอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลง มันก็อาจจะช่วยดึงคนเก่งเข้ามาทำงานในประเทศไทย หลายช่วงเราเสียคนเก่งออกไป เช่น หมอ วิศวกรเก่งๆ ที่ปรึกษาต่างๆ เป็นต้น

ถ้าเราไปดูประเทศสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง เขาพัฒนาได้เพราะดึงมันสมองเข้ามานั่งในประเทศเขาได้ มันสมองเหล่านี้มาถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ให้กับคนสิงคโปร์ จะเห็นว่าวันนี้คนสิงคโปร์เก่งขึ้น คิดทำอะไรได้ก็ง่ายขึ้น พึ่งพาอาศัยชาวต่างชาติน้อยลง ถ้าเราอยากจะดึงคนเก่งเข้ามา เราอาจจะต้องเดินตามแนวทางนี้เหมือนกัน

คราวนี้มาดูเมืองไทย ควรปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือเปล่า เริ่มจากภาษีมูลค่าเพิ่มก่อน ประเทศไทยเก็บ VAT ที่ 7% บรูไนไม่เก็บเพราะเขารวยอยู่แล้ว รัฐบาลไม่ต้องการรายได้จากภาษีประเภทนี้ กัมพูชาเก็บ 10% อินโดนีเซียเก็บ 10% ลาวเก็บ 10% มาเลเซียเก็บ 10% พม่าไม่มี VAT แต่เก็บภาษีการค้า 5% คล้ายภาษีการค้าของไทยเมื่อก่อนนี้ บางคนอาจจะเกิดไม่ทัน ฟิลิปปินส์ 12% สิงคโปร์ปรับจาก 3% ขึ้นเป็น 7% เวียดนาม 10% ผมว่าถ้าไม่มีประเด็นการเมือง ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่ว่าเพื่อไทย เพื่อประชาธิปัตย์ หรือเพื่อใครก็ตาม เราควรจะไปสู่จุดนี้ ปรับขึ้นเท่าไหร่ก็ได้ เก็บ VAT 7% ก็ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับทั่วโลก

หากนำอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเปรียบเทียบกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา วันนี้เราเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อัตรา 20% แต่ภาระภาษีที่แท้จริง (Effective tax rate : ETR) ของไทยคือ 28% ถ้านำอัตราภาษีของไทย 20% เปรียบเทียบกับสิงคโปร์ซึ่งเก็บ 17% ประเทศไทยได้เปรียบเสียเปรียบแค่ไหน และถ้าไปดูอัตราภาษีแท้จริง มันอยู่ที่ 28% และหลายๆ ประเทศอาจจะไม่เก็บภาษีเงินปันผลหรือการจำหน่ายกำไรส่งกลับประเทศด้วย ประเด็นคือ อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยวันนี้ดึงดูดเพียงพอหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราภาษีลงมาครั้งนี้ก็ทำให้ดูดีขึ้น

ส่วนการปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ผ่านมามีการแบ่งขั้นอัตราภาษีเพิ่มขึ้นขึ้น และลดอัตราภาษีลงมาทุกช่วง อัตราภาษีสูงสุดลดลงเหลือ 35% ก็มีประเด็นถกเถียงกันมากว่าที่ลดลงมานี้ช่วยใคร ผมก็ไม่อยากลงไปในรายละเอียด เพราะรู้สึกว่าคนขับแท็กซี่ที่ไม่เคยเสียภาษีเลยนั่งวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เป็นธรรมของระบบภาษีให้ผมฟัง หรือชาวนา สภากาแฟ พูดเรื่องภาษีที่ไม่เป็นธรรม แต่คนพวกนี้อาจจะไม่เคยเสียภาษีเลย ขณะที่ผมเสียภาษีเป็นจำนวนมาก เหมือนกับที่คุณเจนไม่เคยได้รับประโยชน์จากโครงการอะไรแรกๆ ของรัฐบาลเลย รถก็ซื้อไปแล้ว ไม่รู้จะได้อะไร ผมได้รับสิทธิครั้งเดียว ตอนน้ำท่วมได้มา 20,000 บาท แต่เสียเงินซ่อมบ้านไปเป็นล้านบาท

กรมสรรพากรในหลายประเทศกำหนดมาตรการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี อาทิ หลักเกณฑ์ในการตั้งราคาโอน (transfer pricing), การกำหนดสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (Thin capitalization) และหลักเกณฑ์การควบคุมบริษัทต่างชาติ หรือที่เรียกว่า “CFC Rule” (Controlled Foreign Company Rule)

ความหมายของ CFC Rule ถ้าเป็นประเทศที่ออกไปลงทุนกันมากๆ ทุกประเทศต้องการให้นักลงทุนเอาเงินกลับเข้าประเทศเพื่อนำมาเสียภาษีในประเทศ CFC Rule คือมาตรการที่จะสนับสนุนให้นักลงทุนส่งกำไรกลับประเทศของตน ยกตัวอย่าง นายถาวรไปลงทุนต่างประเทศมีกำไรเป็น 10,000 ล้านบาท ไม่เอากำไรกลับมาประเทศไทย กรมสรรพากรจะใช้ CFC Rule ตัวนี้เข้าไปช่วยจับ คุณถาวรมีกำไรอยู่ต่างประเทศ ทำไมไม่เอากำไรกลับเข้ามาในประเทศเสียที แต่นักลงทุนไทยวันนี้ออกไปลงทุนต่างประเทศน้อยมาก เพราะต้องลงทุนใช้บุคลากรเยอะ ขาดความพร้อม แต่ในอนาคตถ้าเรามีศักยภาพมากขึ้น ก็ควรจะมีมาตรการ CFC Rule

ส่วนมาตรการที่กรมสรรพากรจะกำหนดสัดส่วนหนี้สินต่อทุน หากเราลงทุนด้วยการนำเงินเข้ามาลงทุนมันจะไม่มีรายจ่ายดอกเบี้ยมาหักภาษี ยกตัวอย่าง ผมลงทุน 1,000 ล้านบาท ผมไม่มีรายจ่าย ไม่มีดอกเบี้ย แต่ถ้าผมเปลี่ยนวิธีใหม่ จดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ นำเงินมาลงทุน 100 ล้านบาท และกู้อีก 900 ล้านบาท ผมจะมีรายจ่ายดอกเบี้ยมาหักภาษีแล้ว

หลายๆ บริษัทใช้วิธีนี้เพื่อเพิ่มรายจ่ายและส่งกำไรกลับประเทศเขา โดยการจ่ายดอกเบี้ยให้กับบริษัทแม่ในต่างประเทศ ถึงแม้รายได้จากดอกเบี้ยถูกประเทศไทยหัก ณ ที่จ่าย 15% ก็ยังถูกกว่าที่ไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 30% ถึงแม้ทางการปรับลดลงภาษีเหลือ 20% ก็ยังถูกกว่าอยู่ดี

แต่อย่างไรก็ตาม การกำหนดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ควรใช้กับการกู้เงินมาลงทุนทุกประเภท กรมสรรพากรควรจะเน้นไปที่กรณีการกู้ยืมเงินในกลุ่มบริษัทเดียวกันเท่านั้น เพราะหลายบริษัทจำเป็นต้องกู้ธนาคารในการขยายการลงทุน กลุ่มนี้ไม่ควรจะเอากฎแบบนี้มาจับเขา เพราะมีความจำเป็นต้องกู้แบงก์ แต่ควรไปจัดการกับกลุ่มที่มีการการสร้างเงินกู้เทียมๆ เพื่อเพิ่มรายจ่ายดอกเบี้ยมาหักภาษี

อีกตัวที่พูดถึงกันมาก คือ Transfer pricing เป็นการตั้งราคาโอนซื้อ-ขายระหว่างบริษัทในเครือ ทั้งนี้เพื่อดึงกำไรไปไว้ในประเทศที่มีภาษีถูกที่สุด แต่ปีนี้ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงมาเหลือ 20% ทำให้แรงจูงใจที่จะดึงกำไรกลับประเทศญี่ปุ่นหรือไปประเทศอื่นลดน้อยลง ยิ่งถ้ามีมาตรการ Thin capitalization หรือ Transfer pricing ยิ่งไม่คุ้มที่จะดึงกำไรออกไปประเทศอื่น

นายถาวร รุจิวนารมย์
นายถาวร รุจิวนารมย์
แต่ก็มีประเด็นที่ต้องพิจารณาอยู่เหมือนกัน ข้อเท็จจริงคือ ระบบเศรษฐกิจไม่ใช่มีแค่บริษัทผลิตสินค้าแล้วขายเอง ประเทศไทยเป็นประเทศรับจ้างผลิต มีรายได้จากค่าจ้าง คือ ต้นทุนบวกกำไรอีก 3% แล้วส่งไปขายต่างประเทศ กำไรส่วนใหญ่ไปอยู่ที่ประเทศหลักหรือประเทศที่ที่เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าไทยไปขายต่ออีกทอด กำไรส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์หรือฮ่องกง

นักลงทุนญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป จัดตั้งสำนักงานสาขาในสิงคโปร์หรือฮ่องกงกันมาก พวกนี้ทำตัวเป็นผู้สั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทย ใช้สมองเพียงอย่างเดียวสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากที่สุด

นอกจากนี้ กรมสรรพากรควรจะปรับปรุงกฎหมายให้มีความชัดเจน นิยามของคำว่า “ราคาตลาด” คืออะไร ตอนนี้มันไม่ชัดเจนและอิงกับการตีความสูงมาก ทำให้เกิดความไม่แน่นอน ขณะที่นักธุรกิจส่วนใหญ่อยากเสียภาษีถูกต้อง อะไรที่ไม่เสี่ยง เขาก็อยากลงทุน อะไรเสี่ยงมาก มีการตีความ เขาก็ไม่อยากลงทุน ผมมีหลายตัวอย่างที่เสี่ยงมาก ทำให้ต่างชาติไม่อยากมาลงทุนในประเทศไทย

ทำอย่างไรถึงจะจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยทั่วไปใช้มาตรการภาษี เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ แต่ควรคัดเลือกธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุน หลายประเทศที่พัฒนาแล้วเขาไม่รอให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน แต่เขาออกไปชักชวนเข้ามาลงทุนเลย ก่อนจะออกไปชักชวนก็จะทำการบ้าน คิดก่อนว่าผลตอนแทนที่จะได้รับจากบริษัทที่จะไปเชิญเข้ามาลงทุนมีอะไรบ้าง บริการกรอกแบบฟอร์มให้เสร็จเรียบร้อย เซ็นชื่อแล้วประทับตรา อย่างประเทศสิงคโปร์ เขาออกเดินสายไปชักชวนประเทศต่างๆ เองเลย

ผมไม่ได้ว่ากรมสรรพากรไม่ดี แต่มีกฎหมายหลายตัวล้าสมัย ต้องแก้ไข อย่างเช่น มาตรา 70 ตรี ทำให้บริษัทไทยไม่กล้าไปบุกต่างประเทศ สินค้าที่ส่งออกไปขายต่างประเทศนั้นกรมสรรพากรถือว่าขายได้แล้ว ต้องเสียภาษี ทั้งๆ ที่บางอย่างนั้นยังไม่รู้ว่าขายได้หรือเปล่า หรือกรณีผู้ผลิตต้องสั่งสินค้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเข้ามาผลิต มันต้องมีการสูญเสียบ้าง จะยอมรับได้แค่ไหน ควรมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ทุกวันนี้เวลาจะทำลายสินค้าที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน ต้องส่งจดหมายเชิญให้เจ้าหน้าที่สรรพากรมาดู เจ้าหน้าที่ที่ศูนย์บริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ของกรมสรรพากร (LTO) ไม่ค่อยมีปัญหา แต่สำนักงานสรรพากรที่อยู่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ มีปัญหา ต้องแก้ตรงนี้

ประการต่อมา ทำอย่างไรถึงจะแก้ระเบียบสนับสนุนให้คนไทยไปลงทุนต่างประเทศมากยิ่งขึ้น เช่น หากทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศแล้วขาดทุน ให้นำผลขาดทุนมาหักภาษีได้ 1.5 เท่า เป็นต้น ขณะเดียวกัน มาตรการที่จะสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทยก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ เช่น มาตรการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์กลางการจัดหาสินค้าเพื่อการผลิตระหว่างประเทศ (IPC), มาตรการสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการประจำภูมิภาค (ROH) สาเหตุเพราะเราไปสร้างเงื่อนไขที่ทำให้นักลงทุนต้องเผชิญกับความเสี่ยง เกิดความไม่แน่นอน เช่น IPC ถ้าบริษัทที่ได้รับสิทธิจากมาตรการดังกล่าวสร้างรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดภายใน 3 ปี ต้องนำสิทธิประโยชน์ที่ได้รับมาเสียภาษีทั้งหมด

วันนี้ผมรู้ว่าทำธุรกิจแบบนี้แล้วมันดี แต่อีก 3 ปีข้างหน้าไม่รู้ธุรกิจจะเป็นอย่างไร กรมสรรพากรควรกำหนดเงื่อนไขเป็นแบบขั้นบันไดมากกว่า เช่น ปีแรกต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ปีที่ 2 รายได้ 600 ล้านบาท ปีที่ 3 เพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท ถ้าปีที่ 3 มีรายได้ถึง1,000 ล้านบาท เฉพาะในปีที่ 3 นี้คุณจะไม่มีสิทธิได้ลดภาษี ความเสี่ยงของนักธุรกิจก็จะลดลง

นายสาธิต รังคศิริ อธิบดีกรมสรรพากร
นายสาธิต รังคศิริ อธิบดีกรมสรรพากร

สาธิต: จริงๆ วันนี้ผมเตรียมเรื่องมาพูดเยอะเลย แต่โจทย์มีเยอะมาก ไม่รู้จะตอบหมดหรือเปล่า

ผมขอนำเสนอเรื่องที่เตรียมมาก่อน พูดถึงโครงสร้างภาษี ทุกคนล้วนแต่นึกถึงอัตราภาษีตลอดเวลาเลย ซึ่งผมเบื่อมาก เพราะโครงสร้างมันไม่ใช่แค่อัตรา อัตรามันเป็นแค่จิ๊กซอว์ตัวเล็กๆ ของโครงสร้างภาษีเท่านั้นเอง

ถ้าพูดถึงโครงสร้างภาษี มันเหมือนกับเก้าอี้สามขา มีนโยบาย มีกฎหมาย มีบริหาร ซึ่งทั้งสามส่วนนี้ต้องไปด้วยกัน ที่เราเรียกสามขาเพราะว่าถ้าขาหักเพียงขาเดียวมันคงไปไม่ได้ เช่น นโยบายดีแต่กฎหมายออกมาไม่ดีมันก็พัง กฎหมายดีปฏิบัติไม่ดีมันก็พัง ทั้งสามขาต้องไปด้วยกันตลอด

ที่ผ่านมา สามขาที่พูดถึงมันไม่ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมานานมากแล้ว เช่น ในเรื่องกฎหมาย เปลี่ยนล่าสุดก็ปี พ.ศ. 2535 ที่มีการเปลี่ยนครั้งใหญ่ มาถึงวันนี้ก็ 20 กว่าปีมาแล้วที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนเลย เมื่อเราไปดูทางด้านของการบริหาร ก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นเวลานานเช่นกัน

ในอดีตผมเคยมีความภูมิใจว่ากรมสรรพากรเป็นกรมที่มีระบบไอทีที่ดีที่สุดในประเทศไทย แต่วันนี้คอมพิวเตอร์ของกรมสรรพากรเป็นเหมือนแค่ตู้ที่เลี้ยงปลาทอง ยังมีอยู่ที่สรรพากรอีกเพียบเลย ไอ้ตู้แบนๆ ทันสมัยไม่มีหรอก อันที่มาก่อนก็ล้าสมัยก่อน

“ขณะเดียวกัน เราถูกตั้งเป้าเพิ่มขึ้นตลอด แต่คนถูกลดลง เงินงบประมาณของกรมสรรพากร ก็ถูกลดตลอด ก็เหมือนกับว่ามีแค่ 2 มือ แต่ต้องจับปลาจำนวนมาก ก็จับได้จำกัด ทั้งๆ ที่กรมสรรพากรมองเห็นปลาอยู่เต็มทะเล และผมไม่เคยมีความคิดว่าเราจะต้องขึ้นภาษีอะไรเลย ขอเรือตังเกมาให้ผม ผมจะหาปลาให้ ไม่ใช่หาได้แค่ 2-3 ตัวต่อวัน เหมือนแบบนี้ แต่ผมใส่ให้ได้เต็มลำเรือ”

เรื่องนโยบายมันเปลี่ยนแปลงไปแล้วจากวันนั้นถึงวันนี้ แต่นโยบายต่างๆ หลายเรื่องยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย อย่างเช่น เรื่องของการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ เรื่องที่คุณถาวรได้พูดถึงในหลายๆ ประเด็น ที่ไปโยงเรื่องการ Transfer Pricing เรื่องการ ROH อะไรต่างๆ มันไม่มีการปรับเปลี่ยน กฎหมายแม่อยู่ที่เดิมตลอด ส่วนของ Transfer Pricing ที่มันอยู่ในกฎหมายแม่ ไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไรเลย และมันไม่ได้ส่งผลกกระทบกับภาษีสรรพากรอย่างเดียว มันยังมีผลกระทบต่อภาษีทางตรง ภาษีทางอ้อม ภาษีสามกรม ภาษีท้องถิ่น แล้วยังไปเกี่ยวข้องกับพวกไม่เสียภาษีกับพวกหนีภาษีอีก ส่วนบีโอไอ แจกอย่างเดียวเลย วิธีการคิดไม่เคยเปลี่ยนเลยจากวันนั้นถึงวันนี้ คงที่ตลอด โลกมันไปถึงไหนแล้ว

“เราตั้งบีโอไอมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. แล้ว ตอนนั้นแต่ละประเทศตั้งกำแพงภาษีกันหมด การที่จะให้เขามาลงทุนเมืองไทยนั้นคือการเจาะกำแพงหรือหาทางให้เขามุดกำแพงเข้ามา นี่คือสาเหตุที่ต้องมีบีโอไอ วันนี้กำแพงภาษีมันหายหมด แต่ระบบการส่งเสริมการลงทุนยังเป็นแบบเดิม มันถึงเวลาหรือยัง แทนที่จะทลายระบบแบบนี้ซึ่งกำแพงมันไม่มีแล้ว ควรให้โอกาสและสนับสนุนคนไทยไปลงทุนต่างประเทศแล้วขนกำไรกลับประเทศจะดีกว่าไหม”

แต่วิธีคิดยังเป็นแบบเดิม ไม่เคยมีการจำแนกธุรกิจที่ควรจะได้รับการส่งเสริม ให้ทุกอย่างที่ขวางหน้า ภูมิใจว่าปีนี้ยกเว้นภาษีได้กี่ราย ใครก็ทำได้ ทำได้ทุกคนแหละ ยกเว้นภาษีไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย แต่ก็ต้องเลือกธุรกิจที่จะให้ ไม่ใช่ให้แบบสะเปะสะปะ ให้แล้วประเทศไทยจะได้อะไร เรามักโชว์เสมอว่าปีนี้ให้บีโอไอได้กี่ราย สูญเสียรายได้ไปกี่ล้านบาทนี่ภูมิใจมาก น่าภูมิใจตรงไหน มันน่าเศร้าใจมากกว่า

วันนี้ไม่ต้องคุยเรื่องภาษีหรอก แค่เรื่องบีโอไออย่างเดียวก็คุยกันได้ 3 วัน 3 คืนแล้ว ว่าบีโอไอมันควรจะหน้าตาอย่างไร ควรจะปรับอย่างไร ไม่ใช่ว่าไม่ควรมี แต่เปลี่ยนวิธีคิดใหม่หมด วันนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลลดเหลือ 20% ถ้ายกเลิกการใช้สิทธิบีโอไอทั้งหมด เราอาจจะเสียภาษีแค่ 12%ก็ได้ อยากได้อย่างนั้นไหม แล้วรัฐยังมีรายได้เท่าเดิม แบบนั้นยังน่าสนใจกว่าหัวข้อในวันนี้เสียอีกว่าจะยุบหรือมีบีโอไอดี หน้าตาอย่างไรถึงจะดีในอนาคต ไม่อย่างนั้นเราเก็บเท่าไรมันก็รั่วออกหมด แล้วจะเหลืออะไร

วันดีคืนดีลูกพี่ก็ออกกฎหมายหรือออกระเบียบ บอกว่าถ้าคุณสร้างโรงไฟฟ้าแล้วลดมลภาวะลงได้ ค่าก่อสร้างทั้งหมดจะเอามาหักออกจากเนื้อภาษีได้ เอาค่าก่อสร้างโรงกลั่นทั้งหมดมาหักออกจากเนื้อภาษีได้ ก็เท่ากับเอาเงินหลวงมาสร้างโรงไฟฟ้าให้เอกชนใช่ไหม แล้วมีเหตุจำเป็นอะไรที่หลวงต้องสร้างโรงไฟฟ้าให้กับเอกชน เราภูมิใจที่มีมาตรการออกมาอย่างนั้น คนลงทุนมากขึ้น ลงทุนเพื่อบิดเบือนภาษีเพื่ออะไร

แม้แต่เรื่องของภาษี มันไม่ได้มีแค่เฉพาะสรรพากร ยังมีหน่วยงานอื่นที่ลดทอนรายได้ของสรรพากร เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพลิดเพลินมากกับการที่ไม่ต้องเก็บภาษี เดี๋ยวจะเสียคะแนนเสียง เพราะกฎหมายบอกว่า ถ้า อปท. มีรายได้ไม่พอ รัฐบาลกลางจะจ่ายเงินอุดหนุนให้ท้องถิ่น แล้วท้องถิ่นจะเก็บภาษีทำไม อยู่เฉยๆ เดี๋ยวรัฐบาลกลางก็จัดให้ มีความสุขดี แล้วบริหารเงินเป็นไหม

วันนี้ถ้าใครไปองค์การบริการส่วนตำบลหรือส่วนจังหวัด แต่ละแห่งเป็นอย่างไร ที่ดินกว้างขวาง ตึกใหญ่โต มีรถโค้ชปรับอากาศสองชั้นอยู่หน้าตึก ไปเที่ยวต่างประเทศทุกปี เขาใช้เงินไม่เป็นแต่ต้องให้ทุกปี ภาษีมันถูกบิดเบือนในรูปแบบอย่างนี้ ปีหนึ่งๆ มากมาย ภาษีหลายตัวกระทรวงการคลังไม่ได้เป็นผู้จัดเก็บ เช่น ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ พวกนี้มันโบราณแค่ไหน แล้วที่ดินแต่ละแปลงยังมีภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนที่ดิน ภาษีอากรแสตมป์ ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล หัก ณ ที่จ่าย ค่าธรรมเนียมการโอน เก็บหมด แต่ไม่รู้เสียกันครบหรือเปล่า

นายสาธิต รังคศิริ
นายสาธิต รังคศิริ

ผมอยากให้ยกเลิกภาษีท้องถิ่นให้หมด แล้วเก็บแค่ 2 ตัว ตัวหนึ่งเก็บจากการเปลี่ยนมือ อีกตัวหนึ่งเก็บจากการถือครอง แล้วที่เหลือใครจะได้ไปแบ่งกันเองได้ไหม คิดทั้งระบบแบบนี้ได้ไหม มาเล่นจิ๊กซอว์ทีละตัวมันไม่ได้อะไรหรอกชีวิตนี้บ้านเมืองนี้ น่ารำคาญ น่าเบื่อ นั่นคือภาษีอื่นๆ นอกเหนือจากในส่วนของกรมสรรพากร

บางทีท่านอยากจะหารายได้เพิ่มก็เก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติมอีกตั้งหลายตัว ถามว่าถ้าวันนี้ชาวบ้านเจอสรรพากรพรุ่งนี้เจอสรรพสามิต วันถัดไปเจอศุลกากร แบบนั้นไม่ต้องทำมาหากินหรอก เพราะเจอแต่ละกรมภาษีต้องเตรียมเอกสารเป็นเดือน

โดยหลักการแล้ว สรรพสามิตเขาต้องเก็บจากผู้ประกอบการน้อยราย กับผู้ผลิตที่ได้รับสิทธิผูกขาดบางอย่าง หรือต้องการจำกัดการบริโภค

แต่ไม่ควรไปเก็บจากรายเล็กรายน้อย ถ้าเก็บรายเล็กรายน้อยก็ไม่ต่างจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าไม่อย่างนั้นก็ยกเลิกภาษีสรรพสามิต แล้วมาเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหลายอัตราเหมือนยุโรปดีไหม ชาวบ้านจะได้เจอแค่กรมเดียว รวมต้นทุนให้อยู่ที่เดียวจะดีกว่าไหม

ผมอยากให้ดูภาพรวมมากกว่าไปนั่งแตะชิ้นส่วนของจิ๊กซอว์ มันจะมากเกินไป ควรดูโครงสร้างทั้งประเทศว่ามันควรจะเป็นอย่างไรมากกว่า ถ้าคิดแบบจิกซอว์ ก็ต้องมานั่งคิดว่าลดภาษีตัวนี้แล้วเงินจะพอใช้ไหม การหาเงินให้ประเทศไม่ใช่แค่เก็บเงินภาษีอย่างเดียวนะ ถ้าคิดแค่นี้ไม่ต้องทำมาหากินแล้ว

รายได้ของประเทศมาจากอะไร ภาษีเป็นส่วนหนึ่ง รายได้จากรัฐวิสาหกิจนำส่งคลังก็ไม่น้อย รัฐวิสาหกิจสมัยนี้คุมไม่ให้รั่วไหลได้หรือยัง อ่านข่าวทุกวันว่าแบงก์นั้นแบงก์นี้กำลังจะเจ๊ง ผมถามว่ามันจะเจ๊งเพราะอะไร คุณเข้าใจเหตุที่มันเจ๊งไหม

อย่างธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ถ้าอ่านตามข่าวที่ผู้สื่อข่าวลงกัน บอกว่าขาดทุนกันหมด หนี้เสียแบงก์ละ 40% แต่พอดูฟังก์ชันข้างใน 10% มาจากนโยบายของรัฐที่ต้องการส่งเสริมตัวเนื้อจึงออกกฎอย่างนี้มา ถ้าไม่มีตัวนี้ก็หายไป 10% ส่วนอีก 30% ที่เหลือเกิดจากอะไร เพราะการเมืองแทรกแซง การปล่อยกู้จึงไม่มีคุณภาพอีกครึ่งหนึ่งใช่ไหม แค่ 2 ตัวนี้หนี้ก็หายไปเยอะแล้ว หากอุดรูรั่วไหลได้ก็จะมีเงินไหลกลับเข้าคลัง

ดังนั้น การหาเงินของประเทศไม่ได้มีแค่เรื่องภาษีเท่านั้น การบริหารรัฐวิสาหกิจให้มีคุณภาพ การเอาทรัพยากรของประเทศไปหารายได้ที่อื่นส่งกลับประเทศก็ได้ เช่น เจบิกหรือกองทุนเทมาเส็ก ไปลงทุนเมืองนอกแล้วเอากำไรกลับประเทศ

เปรียบเทียบกับคนที่มีบ้าน ไม่ใช่แค่มาบริหารบ้านแล้วเก็บเงินจากคนในบ้านเท่านั้น เอาเงินในบ้านไปหาเงินข้างนอกเข้ามาในบ้านบ้างก็ได้ ถ้าคุณมีความสามารถในการจัดการ คุณมีที่ดินตั้งเยอะแยะอยู่ในค่ายทหาร ขอแบ่งบางส่วนได้ไหม เอามาทำเป็นที่ชุมชน ที่ดินมีมูลค่าสูง แต่ทางการสร้างตึกชดเชยให้ทหารสวยๆ แล้วเอาที่ตรงนี้มาบริหารเพิ่มทางเศรษฐกิจ หารายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า วิธีการหารายได้เข้าประเทศมีเยอะแยะ แต่พอคิดไม่ออกก็ขึ้นภาษี อย่างนี้ใครก็เป็นได้ ทุกคนเป็นได้หมด จับฉลากวันไหนว่าใครจะเป็น มันง่ายไปหรือเปล่า

นายสาธิต รังคศิริ

ความท้าทายของกรมสรรพากรวันนี้ เป้าหมายการจัดเก็บภาษีเพิ่ม ตัวเลขเพิ่มทุกปี ขณะที่กราฟกรมศุลกากรแบนลงๆ กราฟสรรพสามิตขึ้นแบนเตี้ยๆ ตอนนี้สรรพากรมีบทบาทในการจัดเก็บรายได้ประมาณ 80% ของรายได้จากภาษีทั้งหมด ขณะที่เราได้งบประมาณในการบริหารจัดเก็บปีละ 7,000 ล้านบาท กราฟแบนเราไม่เคยได้รับเงินเพิ่มขึ้นเลย แต่ด้านหาเงินเราเพิ่มทุกปี ส่วนคนเราลดจำนวนลงทุกปี

วิธีคิดคือ ข้าราชการเป็นต้นทุน เป็น cost-center เพราะฉะนั้น หากลด cost-center งบประมาณจะลดลง ขณะที่เอกชนต้องมีกำไร หรือมี profit-center แต่เมื่อมี cost-center แล้วมันก็ต้องมีรายได้เข้ามาด้วย มันต้องเสริมกันไป อยากได้เงินเพิ่มเยอะๆ ต้องลงทุน

ตอนนี้ผมทำเรื่องเสนอเข้าไปว่าขอปรับคนเพิ่ม เขาก็บอกว่าไม่อยู่ในกรอบของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ที่จะต้องเร่งทางด้านนั้นก่อน เรื่องสรรพากรไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่อยากได้เงินเยอะๆ รายได้ของเราตอนนี้ส่วนใหญ่มาจาก VAT ประมาณ 40% แล้วก็ภาษีเงินได้อีกสองตัวอีก 50% ที่เหลือก็สะเปะสะปะ พวกภาษีเฉพาะ อากรแสตมป์ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมไม่ใช่ตัวหลัก

ทีนี้มาพูดถึงภาษีนิติบุคคล ก่อนที่เราจะปรับลดภาษีเหลือ 20% เราเก็บ 30% แต่ 30% เรามีเอสเอ็มอีมีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์อะไรต่างๆ อัตราภาษีที่แท้จริงเหลือประมาณที่ 24% แต่เรามักจะพูด 30% ตลอด ถึงจะ 24% ซึ่งก็ยังสูงกว่าอีกหลายๆ ประเทศ แต่ก็ยังมีสูงกว่าเราก็เพียงไม่กี่ประเทศ

โลกสมัยนี้เป็นการค้าเสรีทุกที่ มันเปลี่ยนไป ตั้งแต่ยุคที่ผมเป็นวัยรุ่นจนถึงทุกวันนี้มันต่างกันมาก สมัยก่อนต้องมีสาขาบริษัทในเครือ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องเลย สามารถไปฝากคลังสินค้าได้ทั่วโลก แล้วก็ส่งออกได้หมด ขายทางอินเทอร์เน็ต การค้ามันเปลี่ยนหมด จะตั้งบริษัทที่ไหนก็ได้ในโลก จ่าย visa card เข้าอเมริกา ถ้าเราไม่ลดภาษีเขาจะมาตั้งในเมืองไทยไหม โจทย์ง่ายๆ แค่นี้ เราจะเข้าสู่เออีซี จะเปิดประเทศเข้าสู่ 10 ประเทศนี้ กำแพงภาษีของเราจะไม่มี ถ้าไปเก็บอัตราภาษีบุคคลที่แพง เขาก็ไปอยู่ประเทศอื่นหมด

เมื่อรัฐบาลมีนโยบายลดภาษี ผมรีบกระโดดเข้ารับเลย ไม่ลดวันนี้ก็ต้องลดพรุ่งนี้ ถ้าลดวันนี้จะเป็นการได้เปรียบเพื่อนบ้านมากกว่า จริงๆ อัตราภาษี 20% นี่ผมว่าน่าจะลดได้มากกว่านี้ด้วยซ้ำไป แต่ขอเรือประมงให้ผมก็พอ สิงคโปร์ ฮ่องกง สู้เราไม่ได้เด็ดขาด 100% ไม่เคยกลัวเลย ไม่เคยคิดว่าเราจะเก็บภาษีไม่ได้เลย และไม่เคยคิดจะขึ้นภาษีชาวบ้านด้วย ขอเรือตังเกมาลำละ 2,000 ล้านบาท พอจะหาเงินให้ได้ 4-5 แสนล้านบาท ขณะที่เราเก็บ 20% วันนี้ ต้องบอกว่าในเอเชียที่เก็บภาษีต่ำกว่าไทยก็มีแค่สิงคโปร์กับฮ่องกง แต่ถ้าส่งเรือมาให้ผมนี่ 2 ประเทศนี้ก็ไม่รอดผมหรอก

ตอนที่ลดภาษีนิติบุคคลกัน สิ่งที่คาดหวังคือยังไงก็ต้องลด ไม่ลดวันนี้ก็ต้องลดพรุ่งนี้ ไม่อย่างนั้นเปิดเออีซีพังแน่นอน ต่างชาติเขาก็ไปตั้งบริษัทที่อื่น ซื้อ-ขายทางอินเทอร์เน็ต ไม่มาสร้างเมืองไทยไปขายอเมริกา แบบนั้นถึงจะได้เปรียบ กระโดดใส่ก่อนเลย สิ่งที่เกิดขึ้นในเชิงเศรษฐศาสตร์ซึ่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ให้ผมก็คือ การลดภาษีจะทำให้มีเงินลงทุนมากขึ้น เกิดการจ้างงาน ในแง่ของการแข่งขัน ในกลุ่มนี้ก็ถือว่าเราแข่งกับเขาได้ ในแง่ของ ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ (compliance cost) เมื่อเขารู้ว่าภาษีไม่แพงเกินไป เขาก็พร้อมทำบัญชีให้ถูกต้องได้มากขึ้น แทนที่เดิมไม่มีบัญชี คนที่ทำบัญชีก็จะมากขึ้น ซึ่งผมดูจากตัวเลขการวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่สุ่มขึ้นมา ระดับใหญ่ภาระภาษีจะลดลงตามสัดส่วนของอัตราที่ลดลง แต่ในระดับเล็ก ภาระภาษีที่นำส่งกรมสรรพากรลดลงไม่มากนัก คือเขาเริ่มปรับตัว ยอมทำบัญชี แล้วก็เสียภาษีถูกต้องมากขึ้นภายใต้อัตราที่ต่ำลง

มาดูด้านภาษีบุคคลธรรมดา มีการวิจัยด้านนี้เยอะมาก แล้วนักวิจัยทั้งหลายมองว่าแค่อัตราสูงสุดอย่างเดียว แต่ภาษีมันเป็นอัตราก้าวหน้า คุณดูตัวสูงสุดอย่างเดียวได้อย่างไร แล้วก็บอกของเราแพงกว่าคนนั้นคนนี้ มองแคบไปหรือเปล่า ถามว่าเด็กจบมาใหม่ๆ กินเงินเดือนละสองหมื่นบาท ไม่ต้องภาษีนะ ต่อให้ระบบใหม่ที่รัฐบาลพยายามดันคือ ปริญญาตรีได้ 15,000 บาทก็ทำงานอีกตั้งหลายปีกว่าจะเสียภาษี

เสวนาปฏิรูปโครงสร้างภาษีไทย

จริงๆ ไม่ได้เก็บเยอะหรอก แต่ถ้าดูอัตราสูงก็ใช่ แต่ถามว่ามันเป็นสองมิติอยู่ในเรื่องเดียวกันอย่างที่ท่านว่า ถ้าเราไปลดอัตราสูงสุด ในแง่ของความรู้สึกในแง่ความสามารถทางการแข่งขันมันจะดีขึ้น แต่ในข้อเท็จจริงมันไม่ได้สูงอย่างที่คิด แต่ความรู้สึกมันจะดูดีขึ้น

แต่ถ้าไปลดให้สิ่งที่เกิดขึ้นตรงกับที่ท่านวิจารณ์เหมือนกันว่า บุคคลธรรมดามี 10 ล้านคน แต่เสียภาษีแค่ 2 ล้านคน จริงๆ คือ 3.5 ล้านคน อาจารย์พูดหายไปครึ่งหนึ่ง แต่ที่หายไปนี่อยู่ที่ไหน ในประชากร 65 ล้านคน อยู่ในแรงงานจริงประมาณ 30 ล้านคนเท่านั้น ไปดูตัวเลขสถิติของกรมแรงงานได้

ส่วนที่เหลือ 35 ล้านคน เป็นเด็ก เป็นคนแก่เยอะขึ้น คุณคิดว่าคนพิการในเมืองไทยมีเท่าไร มีคนพิการที่ช่วยตัวเองไม่ได้ประมาณ 750,000 คน ถ้าไม่ขึ้นทะเบียนอีกผมรวมแล้วเป็นล้านคน คุณรู้ไหมพระนักบวชในประเทศไทยมีเป็นล้านคนเช่นกัน ไปดูที่กระทรวงแรงงานได้ เขามีบันทึกอยู่

สังคมไทยไม่เหมือนสังคมอเมริกัน แต่งงานแล้วออกจากบ้านไป แต่สังคมไทยต้องช่วยกัน คือพ่อผัดก๋วยเตี๋ยวแล้วลูกช่วยเสิร์ฟเมียจัดโต๊ะ ถามว่าทำงานทุกคนไหม ทำทุกคนครับ แต่เงินเข้าลิ้นชักกงสี ใครอยากได้เปิดลิ้นชัก คนที่เข้ามายื่นแบบเสียภาษีคือ พ่อยื่นคนเดียว

และในสังคมครอบครัวแบบนี้จะมาใช้สมการชั้นเดียวเหมือนทฤษฎีว่าเมืองนอกหนึ่งต่อหนึ่งได้อย่างไร ควรเข้ามาสู่ความจริงในชีวิต เลิกเพ้อฝัน

นอกจากนี้ยังมีคนที่มีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องยื่นแบบอีก เช่น คนที่มีเงินได้ไม่ถึง 20,000 บาท แต่ต้องยื่นแบบมีอีกกี่ราย เพราะฉะนั้น ฐานการยื่นแบบมีประมาณ 10 ล้านคน ถามว่าผมพอใจไหม ผมก็พอใจระดับหนึ่ง แต่ที่อยากได้มากกว่านี้คือ ใน10 ล้านคนนี้ยื่นภาษีให้ตรงกว่านี้ได้อีกหน่อยได้ไหม ยื่นมา 10 ล้านคน นี่มีเงินต้องชำระจริงๆ แค่ 3.5 ล้านคน

ใน 3.5 ล้านคน กรมสรรพากรต้องมาดูต่อ แต่เมื่อกี้มีการจำแนกมาผมยิ่งกลัวไปใหญ่ว่า ตกลงเราต้องเสียภาษีคนละ 1 ล้านบาท ถามว่าในห้องนี้มีใครเสียภาษีคนละ 1 ล้านบาทไหม ก็ไม่มีสักคน มันก็กลับมาประเด็นที่ว่าในกลุ่มที่เสีย 37% มีไม่เกิน 1 แสนคน นี่คือลูกค้ารายใหญ่ เราจะไปลดภาษีลูกค้ารายใหญ่ไหม

มันก็มีประเด็นที่เราต้องคำนึงถึง คือ “เรื่องการกระจายรายได้ (Income Distribution)” ถ้าเราทำเราก็ต้องต่อสู้กับคำว่า “ความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness Felling Businesses Plan)” แล้วอะไรคือทางสายกลาง ตรงนี้คือประเด็น

ทีนี้ รูปแบบการตอบโจทย์ตรงนั้น ณ วันนี้ กรมสรรพากรจึงเสนอ ครม. ไปเลยว่าลดอัตราบนไม่มากนัก แต่ว่าในข้างล่างให้ซอยให้ถี่ ไม่ใช่จาก 10% เป็น 20% จาก 20% เป็น 30% แบบนั้นใช้ไม่ได้แล้ว ก็เพิ่มขึ้นทีละ 5% และดูแต่ละสเต็ปว่าภาระภาษีแต่ละคนลดลงเป็นกี่เปอร์เซ็นต์และลดลงมาเท่าไหร่ ถ้ารวมเปอร์เซ็นต์ข้างล่างจะลดลงเยอะ แต่ถ้าเป็นเม็ดเงินแล้วข้างบนจะเยอะมาก เพราะคนน้อยคือคนรวย

ทุกวันนี้อยากได้ภาษีมรดก คนโน้นอยากได้ภาษีทรัพย์สิน แต่จะมาลดภาษีบุคคลธรรมดาสูงสุด ความหมายคือ ตอนเป็นๆ ยังมีชีวิตไม่กล้าเก็บ แต่ตอนตายไปจะมาเก็บภาษี จะบ้าหรือดี เงินก้อนเดียวกัน เขาจะได้วางแผนว่าจะเหลือให้ลูกเท่าไหร่ ทุนนิยมอยู่ได้ด้วยความรัก เพราะถ้าคุณไม่มีลูก ไม่มีเมีย คุณคงไม่ทำงาน 2-3 จ็อบ อยากจะให้เก็บภาษีคนขี้เกียจทั้งประเทศใช่ไหม ก็ไม่ยาก ไปดูแต่ละช่วง ถ้าดูเป็นเปอร์เซ็นต์ข้างบนจะไม่ได้เท่าไหร่ ลดนิดหนึ่งก็กระทบเม็ดภาษีเยอะ

นายสาธิต รังคศิริ

หลายคนมีแนวคิดว่าควรจะเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับนิติบุคคลในอัตราใกล้เคียงกันไหม มันคนละเรื่อง นิติบุคคลเก็บจากการทำธุรกิจซึ่งเราอยากให้บุคคลธรรมดาทำเป็นนิติบุคคล คือมีระบบบัญชีที่ดี ไม่ได้ส่งเสริมให้ทำแบบเหมาๆ ก็ทำบัญชีให้มันถูก ถ้าทำถูกภาษีก็จะเหลือน้อย ถ้าถูกแล้วยังไม่จ่ายปันผลออกไปก็ขยายกิจการไปเรื่อยๆ มีการจ้างงานมากขึ้น ภาษีก็น้อย ยุคใหม่ต้องเดินอย่างนี้

แต่ถ้าบุคคล ต้องไปดูในเรื่องของการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม คุณจะมีการกระจายอย่างไรอย่างไรถึงจะแฟร์ต่อสังคมในแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน ประเทศที่ระบบมันแฟร์อยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมาช่วยอะไรมาก ประเทศที่มีช่องว่างที่ห่างเขายังลดช่องว่างลง และการกระจายของแต่ละประเทศก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ยังมีความคาดหวังที่จะคอนโทรลในเรื่องของความเหลื่อมล้ำอยู่ แต่ต้องการลดภาระและเพิ่มการบริโภค กระตุ้นเรื่องของการจับจ่ายใช้สอย หรือ Multiplier

หากไปดู VAT ผมกล้าพูดว่าในโลกนี้มี 2 ประเทศ ที่เก็บภาษีต่ำกว่าไทย คือ ญี่ปุ่นและไต้หวัน ไต้หวันเก็บ VAT ที่ 5% และ ญี่ปุ่น เดือนเมษายน 2557 จะขึ้นเป็น 8% และ และปี 2558 ปรับขึ้นเป็น 10% ผ่านสภาเรียบร้อยแล้ว ในที่สุดจะเหลือไต้หวันประเทศเดียวที่ต่ำกว่าไทย เราไม่ได้สูงกว่าใครเลย แต่ว่าเวลาหนังสือพิมพ์ลงข่าวอย่างนี้ช่วยไปด่าด้วยว่าไทยเก็บภาษีแพง เอาไปเทียบกับญี่ปุ่น ไต้หวันเก็บที่ 5% แล้วทำไมคุณไม่ไปเทียบอีก 300 ประเทศล่ะ โกหกสังคม

เคยมีนักการเมืองให้ข่าวตอนเลือกตั้งว่าถ้าพรรคการเมืองพรรคนี้ได้เป็นรัฐบาลจะลดเหลือ 5% ผมก็ยันโครมไปเลยว่าเป็นไปไม่ได้ เขาก็ยันโครมกลับมาว่าถ้าทำไม่ได้ก็เปลี่ยนอธิบดี วันรุ่งขึ้นเขาโทรมาปลอบผมว่าอธิบดีอย่าคิดมาก อย่างไรพรรคผมก็ไม่ได้เป็นรัฐบาลอยู่แล้ว หรือเป็นพรรคเล็กไม่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอยู่แล้ว ยังไงก็เปลี่ยนไม่ได้หรอก แต่ตอนนี้หาเสียง ชาวบ้านถูกหลอกทุกวันว่าVAT ของไทยแพง

เรื่องต่อไปเป็นเครื่องของกรมสรรพากร ของเล่นเพียบเลย ผมกล้าพูดว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา กรมสรรพากรมีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นทุกเดือน เราได้รางวัลนวัตกรรมเฉลี่ยเดือนละ 1 รางวัล เร็วๆ นี้ได้มาอีก 2 รางวัล การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และเราส่งเข้าประกอบที่สหประชาชาติตอนนี้เข้ารอบได้ชิงชนะเลิศอีก 3 รางวัล ถ้าได้รางวัลอีกครั้งก็จะเป็นหน่วยงานเดียวที่ได้รางวัลสหประชาชาติ 2 ปีซ้อน

ผมพยายามสร้างบรรยากาศให้คนกรมสรรพากรมีความคิดสร้างสรรค์ ครีเอทีฟอะไรใหม่ๆ เอามาแข่งกันทุกวัน ตอนนี้เราให้บริการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นภาษาอังกฤษ ผมไม่ได้คาดหวังว่าฝรั่งจะมากรอกแบบ แต่ผมคาดว่าฝรั่งมีลูกน้องก็ลูกน้องกรอกแบบแล้วเอาไปให้นายฝรั่งทบทวนดูได้ว่ากรอกมั่วหรือเปล่า และอีกไม่กี่วันนี้จะเปิดตัวขึ้นมาในการยื่นแบบผ่านทางโทรศัพท์

และตอนนี้แบบทุกประเภทสามารถยื่นทางอินเทอร์เน็ตได้ทั้งหมดแล้ว และแถมยังขยายเวลาในการยื่นแบบให้อีก 8 วัน ทั้งนี้ผมไปเช็คว่าที่ผ่านมาคนยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตแล้วเสียภาษีทันที แต่ถ้ายื่นกระดาษที่อำเภอภายใน 3 วัน ต้องจ่ายเช็คขึ้นเงิน ผมให้คุณ 8 วันเลย และแถมอีกว่าถ้าใช้บัตรเครดิตธนาคารได้อีก 15 วัน คุณไปผ่อนกับธนาคารเอง ผมทำให้การยื่นแบบอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 40% ภายใน 1 ปี และปีนี้จะเพิ่มเป็น 50% ให้ดู

อย่างที่จังหวัดขอนแก่น ใน อ.เมือง คนยื่นกระดาษลดลงเหลือ 10% ผมเอาคนของผมไปทำงานอื่นที่มีคุณค่ามากกว่านี้ได้อีกเยอะ มากกว่าการทำงานรับเอกสารซึ่งมันไร้สาระ อีกหน่อยจะทำสรรพากรสาขาจริงๆ ไม่ใช่เฉพาะแค่รับแบบที่ผู้เสียภาษีมายื่น แต่เป็นที่ปรึกษาประชาชน ค่อยให้คำปรึกษาผู้เสียภาษีในศูนย์การค้า ผมไม่หยุดแค่นี้

เราเป็นแค่ 2-3 ประเทศในโลกที่รัฐบาลทำเอง แต่เรากล้าพูดว่าระบบของกรมสรรพากรไทยตอนนี้ดีกว่าทุกประเทศ คุณไปที่ร้านแรกแล้วแจ้งชื่อคุณจะได้บัตรมาหนึ่งใบ บัตรใบนี้คุณไปที่ร้านต่างๆ คุณไม่ต้องแจ้งอะไรอีกแล้ว คุณโชว์บัตรก็จบ แล้วสุดท้ายคุณไปที่สนามบิน คุณโชว์บัตรใบนี้ปุ๊บมีบันทึกรายการไว้ทั้งหมดเลย ไม่ต้องถือเอกสารเป็นปึกๆ ไปโชว์เหมือนเมืองนอก มันเสียเวลา ตกเครื่องบิน และที่จะพัฒนาการต่อไปคือไม่ต้องใช้บัตรได้ไหม ใครจะไปพก ก็แค่มีเลขบัตรประชาชนหรือเลขพาสปอร์ต คีย์เข้าไปปุ๊บมันวิ่งโหมดได้ไหม เป็นอีกหนึ่งสเต็ปที่รอต่อไปแต่ไม่ไกลเกินฝัน ทำได้แน่นอน

ในอดีตของการตรวจสอบ ถ้าทำผิดถูกย้อนหลัง 5 ปี ปรับ 2 เท่า จ่ายดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือน แต่ว่าถ้าจะปรับต้องแก้กฎหมายและเข้าสภา ไม่ใช่สรรพากรใจดีจะลดให้ก็ลด บางทีผมก็ว่าสูงเกินไป ทีนี้กระบวนการเอากฎหมายเข้าสภาฯ ของเราต้องเรียนท่านว่าต้องค่อยเป็นค่อยไป

เหตุผลคือ ถ้าผมเสนอทั้งแพ็คเกจแล้ว เวลามีปัญหาเพียงแค่มาตราเดียวมันยุบทั้งยวงนะ ดังนั้นศิลปะของผมก็คือทำเป็นจิ๊กซอว์ เสนอเข้าไปเป็นท่อนๆ อันไหนมีปัญหาถอยมา อันไหนไม่มีปัญหาลุยต่อไป ของดีถึงจะเกิด อย่าใจร้อน

ค่าลดหย่อนไม่เกิน 20 รายการ ยิ่งให้คนรวยยิ่งได้ เพราะคนจนอยู่ข้างล่าง แล้วให้คนรวยเพื่ออะไร ให้รวยยิ่งขึ้น แต่กองเชียร์ก็เชียร์ยิ่งขึ้น เวลามีอะไรออกมาเห็นด้วยทุกอย่าง และพวกนี้ทำให้ออกแบบยากเพราะรายการลดหย่อนมันเยอะ ถ้าจับรายการหักลดหย่อนมารวมให้หมดเหลือรายการเดียวและปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ กรอกแบบบรรทัดเดียวจบ

แต่ในแนวคิดของผมคืออยากยกเลิกค่าลดหย่อนทั้งหมด แล้วก็ปรับฐานศูนย์ให้ใหญ่ขึ้น เช่น ผู้ที่มีรายได้สุทธิไม่เกิน 4-5 แสนแรก ยกเว้นภาษี แล้วต่อมาอัตราก้าวหน้าเลยจบ ไม่ต้องกรอกแบบเป็นหน้าๆ แบบนี้ หากเลือกเดินตามแนวทางนี้ต้องรู้ว่าจะเจออะไร ทุกคนที่เคยได้ประโยชน์ ก็จะมารุมด่าผมแหลกลาญ นอกเหนือจากนี้ ยังมีคนพอใจไม่พูด คนไม่พอใจด่า บางกลุ่มมีแค่ 2% แต่เสียงดังกว่า 98%

เราต้องเดินไปทีละสเต็ป ในสเต็ปที่กำลังทำอยู่ตอนนี้คือผมขอเงินไป 1,000 ล้านบาท ลงทุนระบบคอมพิวเตอร์เรื่องการจัดเก็บภาษี ตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งตอนนี้ผมว่ามันช้าเกินไป ไม่ได้ดั่งใจผมเลย แต่ละวันคือเงินทั้งนั้น กว่าจะอนุมัติให้ผมได้เป็นปีนี่เงินของกรมสรรพากรหายไป 4-5 แสนล้านบาท เสียโอกาสในการหารายได้

เสวนาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีไทย

ระบบที่ขอไปออก ผมแค่ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ไม่ต้องผ่าน ครม. ด้วย ผมเซ็นแค่แกรกเดียวว่าพรุ่งนี้เวลายื่นแบบ VAT ขอท่านนั้นให้แนบรายงานการซื้อ-ขายและรายการสั่งซื้อมาด้วย และในรายงานจะมีลิสต์ใบกำกับภาษีที่ซื้อขายนั่น ทุกใบจะถูกตรวจสอบด้วยระบบไอที ขายให้กี่คนและไปซื้ออีกคนหนึ่ง ระบบการตรวจสอบเป็นห่วงโซ่จากต้นน้ำยันปลายน้ำ ถ้าผมจับคนผิดได้เพียงคนเดียวผมได้ทั้งเส้น จะหนีได้อย่างไร ถามจริงๆ จะเอาที่ไหนมาหนีผม

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันและไม่ได้ยากเกินไป กว่าจะมาตรงนี้ได้ผมพาทีมผู้บริหารไปดูงานที่เกาหลีว่าเขาทำแบบนี้แล้วมันเวิร์กนะ ต่อไปผมจะเอาสรรพากรพื้นที่ไปดูงานที่นั่นด้วย เพื่อที่จะบอกเขาว่าอธิบดีของคุณไม่ได้เพ้อฝันนะ เขาทำแล้ว และทำได้ด้วย

โดยทฤษฎีทั่วไปคือ ถ้าคอมพิวเตอร์ดีคนน้อยได้ แต่กรมสรรพากรไม่ใช่ ถ้าคอมพิวเตอร์ดีคือมีเรดาร์จับเป้าว่าตรงไหนมีความผิด แต่เมื่อเรดาร์จับเป้าได้แล้วก็ต้องมีคนเอาข้อมูลที่คอมพิวเตอร์ชี้เป้ามาวิเคราะห์ ไม่ใช่พอชี้เป้าแล้วจับประเมินภาษีกันได้เลย ตามกฎหมายทำไม่ได้ ไม่มีคนไปเอาก็ไม่ได้ภาษี บางคนก็บอกว่าเข้ายุทธศาสตร์ ภารกิจตอนนี้คือหาเงินหาคน ผมก็จี้รัฐบาลอยู่ นี่คือหนึ่งในสิบโครงการที่เสนอไป

อีกโครงการหนึ่งคือเรื่อง Cash Receipt System (CRS-ระบบที่บันทึกข้อมูลการทำธุรกรรมด้วยเงินสด) เป็นระบบคล้ายเดอะวันการ์ดของเซ็นทรัล ที่เราใช้ซื้อของตามห้างหรือร้านอาหารต่างๆ ต้องสะสมแต้มให้ผมนะ แล้วเอามาลดภาษี ถ้าไม่สะสมแต้มผมไม่ลดภาษี หากกรมสรรพากรได้ข้อมูลส่วนนี้ทั้งหมด ร้านอาหาร ห้าง จะหนีภาษีอย่างไร สนุกไหม

อีกตัวหนึ่งเป็นโปรแกรมเรื่องหัก ณ ที่จ่าย วันนี้ทุกบริษัทหัก ณ ที่จ่ายกันหมดแล้ว ยกเว้น 2 กลุ่ม คือ โรงแรมกับภัตตาคาร ผมจะเอาข้อมูลจากระบบสะสมแต้มมาใส่ในคอมพิวเตอร์ให้เต็ม สิ้นปีถ้ามายื่นแบบกับผมจะบอกได้เลยว่าท่านครับ มีอยู่ 8 บริษัท ท่านหักภาษี 5 บริษัท นำส่งกรมสรรพากร อีก 3 บริษัท ไม่ได้หักภาษี และในจำนวนนี้มายื่นภาษีแค่ 2 บริษัท ยังขาดอีก 6 บริษัท หากท่านมายื่นเพิ่มเติมพรุ่งนี้ยังไม่หมดเขต ไม่มีค่าปรับ ไม่เสียดอกเบี้ย เป็นเรียลไทม์ แต่ให้คอมพิวเตอร์ของผมต้องไม่ใช่ตู้เลี้ยงปลา ถ้าเป็นอย่างบ้านนี้เมืองนี้ไม่ต้องลดภาษีอะไร ขอให้เห็นความสำคัญของระบบในการจัดการ ไม่ใช่ปล่อยไปตามเวรตามกรรมแล้วจะมาขอเม็ดภาษีเพิ่มมันเป็นไปไม่ได้หรอก

ถึงวันนี้ ถ้าผมไปดูย้อนหลัง 3 ปี ปีแรกที่ผมบริหารจัดการกรมสรรพากรโต 20% ปีที่ 2 โต 25% ปีนี้เปรียบเทียบกับปีก่อน เราโต 25% เราไม่ได้มือตก ยังมีปลาอีกเยอะ แต่ไม่ให้คนเรา นอกจากไม่ให้แล้วยังจะมาลดคนเราอีก อยากให้เราจับปลาเยอะๆ จับอยู่ 2 มือ ก็ได้แค่นี้ ดูเอกสารประกอบเพิ่มเติม

ท่านรู้ไหม สแกนดิเนเวียเก็บภาษี 50% หากนับตั้งแต่เกิดมาคลอดฟรี รักษาพยาบาลฟรี ตกงานมีเงินชดเชย แก่มีบ้านพักคนชรา การศึกษาเรียนฟรีไม่อั้น เงินประชาชนหามาได้เอาไว้กินกับเที่ยว ขณะที่ไทยเก็บภาษีได้ 18-19% ประเด็นคือเก็บแล้วได้กลับคืนมาหรือเปล่า คนไม่เคยดูรายจ่ายรัฐบาลว่ารายจ่ายรัฐบาลกลับมาแค่ไหน คุณดูแค่คนเก็บภาษีว่าเก็บภาษีเท่าไหร่

มันอยู่กับว่าเราจะมุ่งมั่นที่จะเป็นรัฐสวัสดิการแค่ไหน คุณจะมาบอกว่าภาษีไทยเก็บได้ 18% น้อยกว่าประเทศนี้ สมการชั้นเดียวเปรียบเทียบกันไม่ได้หรอก เมื่อก่อนเขาเก็บน้อยกว่านี้และยังกลับมาหาประชาชน กับเก็บมากและมาหาประชาชนมันต่างกัน

ในเรื่องการแก้กฎหมายหลายตัวผมก็เห็นด้วยหลายอย่าง แต่ว่าไม่อยากให้แค่คิด ที่แก้ยากเพราะอยู่ในกฎหมายแม่ ต้องเข้าสภา แต่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องใช้เวลา ถ้าท่านคิดว่าตัวนี้ไม่ยุติธรรม ถามว่าเขากลัวอะไร แก้เสร็จเขากลัวได้ไหม ถ้าแก้ควรจะหน้าตาอย่างไร ใครเสนอเข้ามาผมรับฟังทั้งหมดเลย แต่อย่าคิดแค่ว่ามีปัญหาๆ แล้วจะแก้อย่างไรล่ะ
อย่างเช่น มีคนเสนอว่าไม่ควรมี LTF เพราะช่วยคนรวย ถ้าไม่ต้องการช่วยคนรวยมีวิธีการคือ กำหนดเพดานในการหักลดหย่อนภาษีขึ้นมาก็จบ แต่ถ้าบอกว่า LTF ไม่ควรมีเพราะคนรวยได้ประโยชน์เลิกไปเลย

ช่วงที่กรมสรรพากรคิดมาตรการ LTF ขึ้นมา ตอนนั้นคือตลาดหลักทรัพย์ของไทยขึ้นอยู่กับเงินลงทุนจากต่างประเทศด้วย มันไหลเข้ามาอย่างวันนี้มันก็ขึ้น เอาเงินออกเมื่อไหร่ก็เจ๊งทั่วประเทศ ทำอย่างไรให้มีนักลงทุนสถาบันในประเทศมาสร้างเสถียรภาพ เขาขายเราซื้อ เขาซื้อเราขาย แนวคิดตอนนั้นเป็นอย่างนี้

แล้ววันนี้เราไม่ต้องการนักลงทุนสถาบันในประเทศแล้วหรือ ถ้าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มันไม่สวิง ก็โอเค ผมเห็นด้วย ยกเลิก แต่ตอบโจทย์ตรงนี้ได้หรือยัง ไม่ใช่อยากจะเลิกก็เลิก มันง่ายไปหรือเปล่า

ภาวิน: ช่วงสุดท้ายอยากจะถามวิทยากรทุกท่านว่า ด้านหนึ่งเราอยากให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเพิ่มทั้งภาคธุรกิจและดึงดูดคนเก่งเข้ามาในประเทศไทย อีกด้านหนึ่งก็มีข้อจำกัด เราต้องสร้างรายได้ให้รัฐบาลนำไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ฉะนั้นเหมือนกับว่า ภาพ 2 ด้านนี้มันขัดแย้งกันอยู่ คำถามคือว่า สมดุลควรจะอยู่อย่างไร อยู่ตรงไหน

ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา
ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา

สกนธ์ : คำถามนี้ถามง่ายตอบยาก เพราะความขัดแย้งนี้จะมีอยู่โดยตลอด ทั้งในทางวิชาการและในทางปฏิบัติ คำถามที่ผมได้พยายามหยิบยกมาในตอนต้นว่าเราต้องการอะไรจากระบบภาษี ท่านอธิบดีก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าความต้องการของระบบภาษีมีหลายเรื่องหลายประเด็นด้วยกัน แต่ประเด็นว่าความสมดุลอยู่ที่ไหน นี่ก็เป็นคำถามที่ตอบยากอยู่เหมือนกัน

ท้ายที่สุดแล้วต้องมาดูความต้องการของเรา ดูโครงสร้างเศรษฐกิจ ดูโครงสร้างสังคมของเรา วันหนึ่งเคยมีคำถามอย่างหนึ่ง แต่พอเวลาผ่านไป โจทย์ที่เราตั้งไว้ครั้งแรกเปลี่ยน อย่างเช่น การมี LTF และ RMF มันเปลี่ยนไปแล้ว เราก็ต้องกลับมาทบทวน อันนี้เป็นประเด็นสำคัญ ว่าการปฏิรูปภาษีนี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำแบบเป็นขั้นบันได เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่อง เพราะการทำเป็นขั้นบันไดจะก่อให้เกิดช็อคขึ้น คนที่เคยได้ประโยชน์จาก LTF และ RMF อยู่ดีๆ บอกยกเลิกทั้งหมดเลยก็เป็นปัญหา

ดังนั้น การปฏิรูปโครงสร้างภาษี เวลาที่รัฐพูดเรื่องของภาษีรัฐมองเรื่องเดียวคือมองเรื่องหารายได้ ขณะที่คนปฏิบัติเห็นว่าการใช้เครื่องมือพวกนี้มันหลากหลายมาก และรัฐบาลเองก็ไม่ได้มอง ตัวอย่างเวลาเข้าสภาเราไม่ค่อยได้ยินการอภิปรายในสภาว่าทำไมรัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยจะเพิ่มภาษีอย่างไร มีแต่รัฐบาลบอกว่าจะจ่ายอย่างไร

วันนี้เราต้องยอมรับว่า คนไทยไม่เข้าใจหรือเข้าใจเรื่องของนโยบายรัฐน้อยมาก บางเรื่องทำแล้วต้องหยุด อย่างที่เราเห็นในหลายๆ เรื่อง แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อคุณได้ประโยชน์จากรัฐ คุณก็ต้องเสียให้รัฐบ้าง จะมากจะน้อยก็แล้วแต่ประเภทของภาษี ความสมดุลเหล่านี้จึงขึ้นอยู่กับมิติเวลา มิติความเข้าใจของสังคม การปรับกลยุทธ์ปรับวิธีการต่างๆ ต้องทำอยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่าการทำต้องมีคนชอบและคนไม่ชอบ แต่หากมองภาพรวมของประเทศก็ต้องอธิบายกัน

นายเจน นำชัยศิริ
นายเจน นำชัยศิริ

เจน : ตามที่ท่านอธิบดีตอบ ถ้าทำได้แบบนั้นจริงๆ จะดีมาก เพราะปัจจุบันมีปัญหาต่างๆ เช่น เรื่องการตีบิลทิ้งที่ท่านก็ทราบดี ถ้าแก้เรื่องลักษะนี้ได้จะสร้างความเป็นธรรมได้มากขึ้น

ในประเด็นเรื่องการหารายได้ ผมก็ถามว่ารายได้ที่ว่าเอาไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า อย่างประเด็นเรื่องโครงสร้างการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ถามว่าโครงการเหล่านี้ ตรงใจภาคเอกชนหรือเปล่า ก็ตรง เพราะมันสร้างประสิทธิภาพ สร้างขีดความสามารถของประเทศได้เยอะ และประเด็นที่ท่านรัฐมนตรีชัชชาติพูดถึง ผมคิดว่ามันยอมรับได้

คำถามต่อไปก็คือว่า มันต้องลงทุน 2 ล้านล้านบาทไหม ถ้าเราทำได้ทุกอย่างที่ท่านว่า แต่ใช้เงินแค่ 1.5 ล้านล้านบาท ทำได้ไหม มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือเปล่า ตรงนั้นเป็นประเด็นที่เราจะต้องติดตามดูว่าใช้คุ้มค่าหรือเปล่า ผมคิดว่าเรื่องการสร้างขีดความสามารถของประเทศนี้เราปฏิเสธไม่ได้ เพราะในโลกนี้มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อนบ้านเราก้าวไปถึงไหนแล้ว แต่เราย่ำอยู่ตรงไหน ผมว่าอีกไม่ช้าเราต้องไปเปรียบเทียบกับเวียดนาม เปรียบเทียบกับอินโดนีเซีย ประเทศสิงคโปร์อาจจะไม่ใช่แล้ว เพราะเงื่อนไขต่างๆ ของเราไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องที่เราต้องคิดกันต่อไป

ส่วนประเด็นเรื่องของการหารายได้ รัฐบาลต้องกลับมามองว่างบประมาณที่ใช้ไปคุ้มค่าหรือไม่ แล้วมันให้ผลตอบแทนกับประเทศกับประชาชนเพียงพอหรือไม่ เอกชนไม่ยาก เพราะมีกติกาที่ไหนเอกชนก็ปรับตัวเองได้หมด ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อปรับไปแล้วคุณพอใจภาพนั้นหรือเปล่า มีคนเก่งๆ คนที่มีศักยภาพเขามาทำงานในประเทศไทยหรือเปล่า อุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไบโอพลาสติก หรือมีอุตสาหกรรมสะอาดเข้ามาลงทุนหรือเปล่า

ประเด็นจึงอยู่ที่ถ้าคุณปรับแล้วอุตสาหกรรมพวกนี้อยู่ได้ บางทีเวลาอยากได้อะไรเราก็เหมือนพวกเกลียดตัวกินไข่ แต่สำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องหรืออุตสาหกรรมอื่นที่ทำให้อุตสาหกรรมหลักเกิดขึ้นมา ถ้าเราไม่เอามัน มันก็จะไม่เกิดขึ้น ตรงนี้ต้องมองภาพรวม และมองย้อนกลับไปในอดีต

สิ่งที่ผมอยากจะฝาก เวลาเราปรับโครงสร้างหรือปรับอะไรต่างๆ ต้องมองให้รอบด้าน และมองย้อนไปในอดีตว่าที่มาคืออะไร เหตุผลคืออะไร ถ้าเรามองรอบด้าน เราจะเห็นว่าเมื่อต้องก้าวไปข้างหน้า สิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้น มีความจำเป็นต้องจูงใจ เป็นโครงสร้างที่จะเอื้อการก้าวไปข้างหน้า แบบนั้นจึงจะได้รับการยอมรับจากสังคม

นายถาวร รุจิวนารมย์
นายถาวร รุจิวนารมย์

ถาวร :ในแง่ของนักลงทุน อย่างแรกคือเรื่องนโยบาย เราต้องมองว่าทิศทางของประเทศไทยเมื่อจะเปิดเป็น AEC คืออะไร ต้องมองว่าธุรกิจที่จะโตจริงๆ คืออะไร ถ้าให้ผมยกตัวอย่าง ถ้าเราเป็นศูนย์กลาง เรื่องโลจิสติกส์กับไอที กลุ่มนี้จะเข้ามาลงทุนมาแน่นอน เมื่อมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมารองรับ และสิ่งที่จะตามมาคือนักลงทุน นักลงทุนจะเปรียบเทียบกับประเทศอื่นว่าที่ไหนสะดวก ที่ไหนปลอดภัย ที่ไหนความเสี่ยงน้อยเขาจะไปที่นั่น ต้นทุนต่ำยิ่งดี ในเรื่องกฎหมายก็เหมือนกัน เขาก็ดูว่าโอกาสที่จะทำผิดมีมากไหม

ผมมองว่าขั้นตอนที่จะทำผิดกฎหมายในเรื่องนี้เยอะเหมือนกัน นักลงทุนจะดูว่าความเสี่ยงพวกนี้มีไหม ดูว่าอัตราภาษีจะเป็นต้นทุนขนาดไหน การแก้ไขเราต้องมองภาพว่าเราอยากพัฒนาประเทศไปในทิศทางใดด้วย กฎหมายก็จะเอื้ออำนวยให้เกิดสิ่งนั้นขึ้นมาได้

ในด้านภาษี ถ้าเรามองว่าการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อหารายได้ ผมว่ามันมองแคบไป เพราะภาษีเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันประเทศให้พัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง เช่น ถ้าบอกว่าโลจิสติกส์ดีแน่นอน แต่กฎหมายซับซ้อนมากมันก็ไปไม่ได้ ถ้าเราต้องหาแนวทางวันนี้ผมคงตอบไม่ได้ว่าทิศทางประเทศไทยอยู่ตรงไหน แต่คร่าวๆ ต้องมองว่าเราเองต้องเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ให้ได้ ไม่ใช่แค่เรื่องโลจิสติกส์อย่างเดียว ยังมีเรื่องการเงินต่างๆ ที่เราต้องดึงพวกมันสมองมาวางแผน

เมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น อีกส่วนที่จะตามมาคือ เป็นไปได้ไหมที่ทำให้เราเป็น Principle Country หรือตัวหลักที่ทำการค้าอยู่ในประเทศไทย กำไรอยู่ในประเทศไทย สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นองค์ประกอบรวม ซึ่งหลายส่วนจะเป็นมุมมองทางนโยบายภาษี และมุมมองทางนโยบายของรัฐบาลที่นักลงทุนไม่ได้มอง เพราะเป็นปัจจัยที่นักลงทุนยังไม่ได้เข้าไปถ้าภาษีแพงมากเราก็เอาคนเก่งมาไม่ได้ ถ้าไม่ได้ทุกสิ่งไม่เกิด เราก็ต้องไปลงทุนในที่ที่มีคนเก่งอยู่ แต่ถ้าเราเอามาได้ก็เป็นประเด็นที่ดี เอื้อประโยชน์

สาธิต : ผมมองโจทย์นี้ว่าอย่าใช้ค้อนแทนไขควง มันอาจพอแทนกันได้บ้างแต่ก็ไม่ดีเหมือนสิ่งที่มันควรคู่กัน อยากจะแก้ปัญหา 2 ทาง แล้วบอกว่าใช้ภาษีเป็นตัวแก้ทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ ถ้าอยากดูเรื่องกระจายรายได้ มีหลายทางในการช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนได้ รวมทั้งในเรื่องการหารายได้เข้ารัฐก็มี ทางเลือกหลายทางการหาเงินมาลงทุนก็เช่นกัน การระดมทุนจะทำเป็น PPP เป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานก็ต้องคิดมา แต่จะมาใช้เพียงเครื่องมือภาษีตัวเดียวแก้ปัญหาทุกอย่าง คงเป็นไปไม่ได้

ยุทธศาสตร์การปฏิรูปโครงสร้างภาษีไทย

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนการจัดเก็บภาษีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ประมาณ 19% แต่เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งมีสัดส่วนเฉลี่ย 21% ของจีดีพี และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (โออีซีดี) ที่มีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 35% จีดีพี จะเห็นว่าการจัดเก็บภาษีของไทยยังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียน กระทรวงการคลังจึงมีความจำเป็นต้องเดินหน้าปฏิรูประบบภาษี

การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นเรื่องท้าทาย ภายใต้สถานการณ์การลดลงของขีดความสามารถของประเทศ รายจ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนโยบายสวัสดิการ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการลดลงของรายได้ภาษีศุลกากร

หลักในการเก็บภาษีของไทยเน้น 3 ด้าน 1. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ภาคเอกชน 2. การสร้างความเป็นธรรม ความเท่าเทียม ให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ 3. เพิ่มศักยภาพและแหล่งรายได้ของรัฐ ดังนั้น หลักในการปฏิรูปภาษี เราก็จะยึด 3 ด้าน ดังกล่าวเป็นหลักการสำคัญ

เริ่มจากการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เอกชน กรมสรรพากรได้ดำเนินการไปแล้ว คือ ทำการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปี 2555 และเหลือ 20% ในปี 2556 ซึ่งจะเห็นว่า อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเราสูงที่สุดอยู่ประเทศเดียว และเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ที่เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อัตรา 17% จากการปรับลดภาษีครั้งที่ผ่านมา ก็ “เชื่อว่าเราสามารถที่จะแข่งขันได้ในอาเซียน”

จากนั้นกรมสรรพากรได้ปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากอัตราสูงสุด 37% เหลือ 35% และเพิ่มขั้นอัตราภาษีให้มีความถี่มากขึ้น แต่กฎหมายเพิ่งผ่านคณะรัฐมนตรี ยังต้องเข้าสภาผู้แทนราษฎร คิดว่าไม่น่าจะเปลี่ยน ถ้ารัฐบาลยังเป็นเสียงข้างมากอยู่

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน ได้เจรจาภาษีซ้อนกับประเทศต่างๆ เพื่อลดปัญหาการเสียภาษีซ้ำซ้อน เช่น ภาษีที่เกิดขึ้นประเทศหนึ่ง ก็อาจไปหักลดได้กับอีกประเทศหนึ่ง เป็นต้น

ขณะที่ในด้านของภาษีศุลกากร ตามข้อตกลงสมาชิกอาเซียนบวก 6 เราพยายามปรับลดอัตราภาษีนำเข้าให้เหลือ 0% ซึ่งไทยทำไปแล้วในปี 2553 ส่วนของประเทศอื่นๆ เช่น กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม จะปรับลดอัตราเหลือ 0% ในปี 2558 เพื่อลดอุปสรรคในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก

สั่งคลังศึกษามาตรการโอนช่วยคนจน

ส่วนการเสริมสร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมทางสังคม คือ การปรับโครงสร้างอัตราภาษีบุคคลธรรมดา และอีกแนวทางหนึ่งที่กระทรวงการคลังศึกษาอยู่คือ negative income tax ซึ่งเป็นระบบการจ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรงให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หมายความว่า เราอาจจะตั้งงบประมาณขึ้นมา แล้วเปิดให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือคนที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีมาลงทะเบียนไว้ เพื่อที่รัฐบาลจะจ่ายเงินช่วยเหลือ แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการศึกษาถึงผลกระทบให้ดีด้วย

“รัฐบาลให้การบ้านเรามา ว่าประชาชนต้องมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างเหมาะสม แต่อยู่ระหว่างศึกษาว่าจะนำมาใช้หรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่เราได้จาการศึกษา และขึ้นอยู่กับการตัดสินใจในระดับนโยบาย”

ส่วนการเพิ่มศักยภาพประเทศด้วยการสร้างความยั่งยืนในการจัดเก็บรายได้ให้กับรัฐบาล ก็จะมีการพัฒนาและปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพดียิ่งๆ ขึ้นไป โดยจะมีการนำเทคโนโลยีหรือระบบไอทีมาใช้การอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษี เพื่อให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ กรมศุลกากรใช้วิธีซื้อเครื่องเอ็กซ์เรย์ตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อความสะดวกในการตรวจปล่อยสินค้า, กรมสรรพสามิตติดตั้งมิเตอร์วัดปริมาตรก่อนจะบรรจุขวด ภาษีที่จัดเก็บก็จะไม่รั่วไหลได้เลย ถ้ามันอยู่ในท่อและต้องผ่านมิเตอร์ก่อนบรรจุขวด

กรมสรรพากรจะนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อไปต้องแนบรายการยื่นภาษีซื้อ-ภาษีขายเข้ามาด้วย โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้กรมสรรพากรจะสามารถตรวจสอบได้ว่า ภาษีซื้อ ซื้อจากไหน ภาษีขาย ขายให้ใคร

“ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ กรมสรรพากรจะตรวจสอบได้ทั้งหมด อันนี้จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้การจัดเก็บภาษีมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น”

ขณะที่การปฏิรูปภาษีที่สอบถามกันมากคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะปรับอัตราเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะในกฎหมายประมวลรัษฎากรเขียนไว้อยู่ที่ 10% แต่เราจัดเก็บที่ 7% เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล

แต่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ศึกษาว่า ถ้าขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 1% จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 84,000 ล้านบาท และการเพิ่มขึ้นของมูลค่าเพิ่มทุกๆ 1% จะมีผลทำให้จีดีพีลดลง 0.015% และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.61% ดังนั้น ถ้าภาษีมูลค่าเพิ่มปรับขึ้น 1% ก็ไม่เป็นภาระอะไรกับทางผู้ประกอบการหรือประชาชนมากนัก เพราะราคาข้าวปลาอาหารไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

“เพราะฉะนั้น คงไม่กระทบกับการดำรงชีพเท่าไร แต่อาจกระทบเสื้อผ้า น้ำมัน รถยนต์ต่างๆ กระทบบ้าง แต่โดยรวมไม่น่าจะกระทบมาก”

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์

ชงภาษีทรัพย์สินเสนอ ครม. รอบ 2

นอกจากนี้ หากจะปฏิรูปภาษี รัฐควรจะเก็บภาษีทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ยาก เช่น ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ต้องปรับโครงสร้างภาษีท้องที่ ภาษีโรงเรือน

“ภาษีโรงเรือนเราเก็บในอัตรา 12.5% ผมว่ามันสูงพอสมควร ก็เท่ากับ 1 เดือนครึ่งของรายได้ทั้งปี สมมติว่า อพาร์ทเมนท์มีรายได้ค่าเช่า 12 เดือน ต้องนำรายได้จากค่าเช่า 1 เดือนครึ่ง มาจ่ายภาษีรายได้”

อีกอย่างคือ ภาษีบำรุงท้องที่ เราเก็บตามราคาปานกลางของที่ดิน และเป็นการเก็บภาษีในอัตราที่ถดถอย คือ ที่ดินราคาต่ำกว่า 30,000 บาทต่อไร่ เสียภาษี 0.5% แต่ถ้าราคาเกินกว่า 30,000 บาทต่อไร่ เสียอยู่ที่ 0.25% ก็คือ ราคาที่ดินสูงกลับเสียภาษีน้อย

“อันนี้คิดว่าน่าจะมีการปฏิรูปภาษี”

ส่วนภาษีทรัพย์สิน สศค. เคยศึกษาไว้เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว และผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ชุดที่แล้ว แต่รัฐบาลชุดนี้เห็นว่าน่าจะมีอะไรที่ต้องปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังกลับไปทบทวน

“คิดว่าจะเสนอภาษีทรัพย์สินกลับมาใหม่ในเร็วๆ นี้”

การจัดเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นทรัพย์ที่โยกย้ายได้ยาก จะช่วยในเรื่องการกระจายรายได้ และกระจายความมั่นคงด้านทรัพย์สิน และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

สรรพสามิตเตรียมขยายฐานภาษีเครื่องดื่ม

ขณะที่การปรับโครงสร้างของภาษีสรรพสามิต ปัจจุบันเราจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอยู่ 17 ประเภท แต่จริงๆ รายได้หลักของกรมสรรพสามิตประมาณ 98% เป็นภาษีที่เก็บมาจากสินค้า 5 ประเภท เช่น ยาสูบ สุรา เครื่องดื่ม รถยนต์ น้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมัน ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังให้กรมสรรพสามิตไปศึกษาและเอ็กซ์เรย์ดูว่า สินค้าเครื่องดื่มที่อยู่ในตู้แช่ของซูเปอร์มาร์เก็ตมีเครื่องดื่มประเภทไหนที่ควรจะเสียภาษีและยังไม่เสียมาก คาดว่าภายในเร็วๆ นี้ก็คงจะนำเสนอให้ฝ่ายนโยบายตัดสินใจว่า ตัวไหนที่ยังไม่เสียแล้วควรเสีย จะเป็นการสร้างรายได้ให้รัฐบาลเพิ่มขึ้น

“ไม่ต้องห่วงว่าจะถูกกระทบ เพราะสินค้าที่เสียภาษีสรรพสามิตจะเป็นสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่วนน้ำเปล่า นมที่มีผลดีต่อสุขภาพ ไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ก็ไม่เก็บภาษีอะไร”

ส่วนภาษีศุลกากร ถึงแม้จะปรับลดอัตราภาษีลงมาเหลือ 0% แล้วก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะไม่สนใจเรื่องการสำแดงราคาไม่ได้ เพราะถ้าแจ้งราคาต่ำก็จะไปกระทบการจัดเก็บภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิตด้วย หากสำแดงราคาสินค้าต่ำจะทำให้รายได้ของบริษัทที่แสดงไว้ในบัญชีต่างๆ ต่ำไปด้วย ทำให้ฐานคำนวณภาษีลดต่ำลงตามไปด้วย

“ผมได้กำชับทางกรมศุลกากรให้ดูราคาสินค้าให้เป็นมาตรฐาน และใกล้เคียงกับความเป็นจริง”

แนวทางในการบริหารจัดเก็บภาษีจะเน้นประสิทธิภาพและการขยายฐานภาษีผ่านนวัตกรรม การบริหารสู่สากล เราก็พยายามที่จะปรับปรุงให้การจัดเก็บภาษีเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ในการจัดเก็บภาษี กระทรวงการคลังเน้นในเรื่องการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษี และต้องเข้มงวดด้วย ไม่เช่นนั้นผู้เสียภาษีที่ดีจะเสียเปรียบผู้เสียภาษีไม่ถูกต้องหรือหลบเลี่ยงภาษี มีการสำแดงราคาต่ำออกมามาก มีการหักค่าใช้จ่าย มีการขอคืนภาษีไม่สุจริต เรื่องการบังคับใช้ ได้กำชับไปทุกกรมให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจัง

“การปรับปรุงโครงสร้างภาษีที่ผ่านมา เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชน สร้างความเท่าเทียม เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี และพยายามหาเครื่องมือต่างๆ มาช่วย และที่สำคัญ การปรับโครงสร้างภาษีนั้นเราไม่ทำทีละรายการ แต่เราทำเป็นภาพรวม”