ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต” สำรวจ “ทวาย–ฐานทัพเรือพังงา” เตรียมซื้อเรือรบรับความคับคั่งในอนาคต

“พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต” สำรวจ “ทวาย–ฐานทัพเรือพังงา” เตรียมซื้อเรือรบรับความคับคั่งในอนาคต

22 มีนาคม 2013


พื้นที่ที่ใช้ก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่บางส่วนตอนนี้เป็นแค่ที่โล่งแจ้ง ยังไม่มีการดำเนินการก่อสร้างใดๆ
พื้นที่ที่ใช้ก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่บางส่วนตอนนี้เป็นแค่ที่โล่งแจ้ง ยังไม่มีการดำเนินการก่อสร้างใดๆ

โครงการท่าเรือน้ำลึก “ทวาย” พบปัญหาทางการเงิน รัฐบาลเร่งระดมเงินลงทุน 1 แสนล้าน ระยะ 3 ปีแรก ขณะที่“พล.อ.อ.สุกำพล” ตรวจความเรียบร้อย “ทวาย–ฐานทัพเรือพังงา” เตรียมจัดซื้อเรือรบรองรับ “ทวาย”

“DAWEI โปรเจกต์” หรือ “โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมพิเศษทวาย” ที่รัฐบาลไทยจับมือรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding-MOU ) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2551 เพื่อการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมท่าเรือน้ำลึกทวาย และถนนเชื่อมต่อไปยังประเทศไทย

และให้ นิคมฯ ทวาย เป็นศูนย์กลางการค้าภูมิภาคและการขนส่งทางทะเลในมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน ตอบสนองต่อการค้าที่เจริญก้าวหน้าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนตอนใต้

ภายใต้การนำของ “บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)” ที่ได้จดทะเบียนจัดตั้ง “บริษัท ทวาย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด” หรือ “ดีดีซี” ขึ้นในประเทศพม่า เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาและจัดหาผู้ร่วมลงทุนในแต่ละโครงการภายในเขตนิคมอุตสาหกรรม

มีแผนเส้นทางคมนาคมฝั่งตะวันออกเชื่อม 4 ประเทศ คือ พม่า–ไทย–กัมพูชา–เวียดนาม โดยมีกรุงเทพฯ เป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างประเทศกัมพูชา ศรีโสภณ เสียมเรียบ และเชื่อมไปฝั่งประเทศเวียดนาม จีฮอน และโฮจิมินห์ วังเต่า

รัฐบาลไทยมั่นใจว่า โครงการ “นิคมฯ ทวาย” มีเส้นการเดินเรือขนส่งที่ได้เปรียบกว่าเส้นทางเดินเรือ “มะละกา” ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีเส้นทางการเดินเรือที่คับแคบ ไม่เหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งในย่านนี้ ดังนั้น “นิคมฯ ทวาย” จะเป็นหนึ่งทางเลือกที่สำคัญ คงต้องติดตามดูว่า จะจริงอย่างที่รัฐบาลไทยมั่นใจหรือใหม่

ปัจจุบัน เส้นทางถนนเข้าไปยังนิคมฯ ทวายเพิ่งเริ่มปรับปรุงถนนให้อยู่ในสภาพที่ดี และเตรียมลาดยางเพื่อทำถนนเป็น 4 เลน จากเส้นทางพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี เพื่อเข้าไปยังนิคมฯ ทวาย โดยมีระยะทาง 132 กิโลเมตร ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางถึง 4 ชั่วโมงเลยทีเดียว

ในขณะที่ “สนามบินทวาย” ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับนักธุรกิจจากชาติต่างๆ มาดูงาน ก็ยังสร้างไม่เสร็จ 100% ซึ่งเส้นทางจากสนามบินเข้าไปที่ไซต์งานนั้นใช้เวลาเดินทาง 1.20 ชั่วโมง

ตามแผนการก่อสร้างนิคมฯ ทวาย มีการเขียนแบบการสร้างนิคมฯ เป็นรูปตัว L มีการขุดชายฝั่งลึกเข้าไปในพื้นดิน ต่างจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แหลมฉบัง ที่มีการถมทะเลเพื่อก่อสร้าง มีระบบป้องกันความปลอดภัย อาทิ การสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันคลื่นทะเลซัด จัดสร้างตามระบบกระแสน้ำ มีความลึก 20.5 เมตร ส่วนความกว้าง 1,500 เมตร และมีความลึกเข้าไปจากทะเลทั้งหมด 3.6 กิโลเมตร ส่วนภายในนิคมฯ มีการวางระบบถนน 8 เลน ที่ยาวถึง 18 กิโลเมตร

ท่าเรือชั่วคราวที่ใช้ขนส่งเครื่องมือ อุปกรณ์ วัตถุดิบ ฯลฯ เพื่อใช้ก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึกทวาย
ท่าเรือชั่วคราวที่ใช้ขนส่งเครื่องมือ อุปกรณ์ วัตถุดิบ ฯลฯ เพื่อใช้ก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึกทวาย

ว่ากันว่า การสร้างนิคมฯ ทวายซึ่งมีเนื้อที่ 150,000 ไร่ ถือเป็นนิคมขนาดใหญ่ที่มีไม่กี่แห่งในโลก หากเปรียบเทียบกับพื้นที่ทั้งหมดของนิคมฯ ทวายแล้ว พื้นที่ 54 นิคมฯ ในประเทศไทยรวมกันยังไม่เท่าเลยด้วยซ้ำ ทำให้ท่าเรือน้ำลึกแห่งนี้มีขนาดใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของโลกก็ว่าได้

สำหรับภายในท่าเรือ มีการแบ่งโซนสำหรับพักคอนเทนเนอร์รับส่งสินค้า อาทิ สินค้าทั่วไป การขนส่งถ่านหิน สินค้าหีบห่อ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี

มีการแบ่งพื้นที่เพื่อใช้สำหรับต่อเรือตั้งแต่ขนาดเล็กไปถึงขนาดใหญ่ รวมถึงการสร้างเรือรบ และยังมีโรงถ่านหินเพื่อผลิตพลังงานภายในนิคมฯ พร้อมทั้งส่งพลังงานไปยังประเทศไทยตามแผนพัฒนาด้านพลังงานของไทย และในอนาคตจะมีการวางท่อแก๊สและท่อน้ำมันไปยังประเทศมหาอำนาจอีกหลายประเทศในภูมิภาคนี้

ส่วนการย้ายคนจำนวน 2 หมื่นคนในพื้นที่ของการก่อสร้างออกไปนั้น ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการสร้างบ้านเพื่อรองรับชาวบ้านที่จะถูกย้ายออกจากในพื้นที่ โดยตั้งใจจะเตรียมบ้านพักไว้กว่า 5 พันหลังคาเรือนด้วยกัน

บ้านของประชาชนในท้องถิ่น ที่ในอนาคตต้องถูกรื้อเพื่อรองรับโครงการนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึกทวาย โดยประชาชนจะถูกให้ย้ายออกไปอยู่ในบ้านพักที่มีการปลูกให้อยู่ทดแทน
บ้านของประชาชนในท้องถิ่น ที่ในอนาคตต้องถูกรื้อเพื่อรองรับโครงการนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึกทวาย โดยประชาชนจะถูกให้ย้ายออกไปอยู่ในบ้านพักที่มีการปลูกให้อยู่ทดแทน

นอกจากนี้ ในอนาคต “รัฐบาล” เตรียมยังเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงเส้นกรุงเทพฯ–หนองคาย เพื่อใช้ขนส่งสินค้าจากนิคมฯ ทวายไปยังเพื่อท่าเรือตอนบนของไทยเพื่อส่งไปยังประเทศจีน และในอนาคตก็ยังเตรียมสร้างทางรถไฟมุ่งตรงไปที่นิคมฯ ทวายเพื่อการขนส่งที่ครบวงจร เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นแผนเศรษฐกิจในอนาคตที่รัฐบาลวางไว้

โดยดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการ นิคมฯ ทวาย เชื่อมั่นว่า “ในอนาคตท่าเรือทวายของพม่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ เพราะถูกประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกล้อม คือ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย นอกจากนี้ ญี่ปุ่นจะเจริญเติบโตก็ต้องผ่านเส้นทางขนส่งทางนี้เช่นกัน ยุทธศาสตร์จุดนี้มากกว่าการค้าการลงทุน ทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มเห็นความสำคัญ โดยเฉพาะ 55 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เคยมาพม่าเลย แต่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา นางฮิลลารี คลินตัน รมว.กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แวะมาละแวกนี้ ก่อนที่บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมาพม่า”

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นและยังค้างคาอยู่ก็คือ เงินลงทุนที่ยังไม่อนุมัติ !!!

ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการนิคมฯ ทวาย
ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการนิคมฯ ทวาย

ขณะนี้โครงการโปรเจกต์นิคมฯ ทวายต้องการเงินลงทุน 3 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งเฟสแรกหรือระยะเวลา 3 ปีแรกต้องการเงินลงทุน 1 แสนล้านบาท เพื่อเริ่มต้นการทำถนนเพื่อมุ่งไปยังนิคมฯ ทวาย รวมถึงการสร้าง “ท่าเรือ” เพื่อรองรับอุปกรณ์ ชิ้นส่วน เครื่องจักรในการก่อสร้าง ส่งผลให้การก่อสร้างนิคมฯ ทวายต้องชะงัก เพื่อรอเม็ดเงินในการลงทุน(ดูเอกสารเพิ่มเติม)

งานนี้ “บิ๊กโอ๋” พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ในฐานะอดีตเสนาบดี “กระทรวงคมนาคม” จึงอาสาเป็นหูเป็นตาให้รัฐบาล นำคณะนายทหารบินไปดูไซต์งานด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา จนมีขาเมาท์ซุบซิบกันว่ารมต.คมนาคมเกี่ยวอะไร หรือบินไปดูผลประโยชน์ให้นายใหญ่กันแน่…

การไปเยือนครั้งนี้ พล.อ.อ.สุกำพลได้ยืนยันต่อผู้บริหารนิคมฯ ทวาย ว่าจะนำเรื่องไปคุยกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อระดมทุน 1 แสนล้านบาท มาดำเนินการก่อสร้างตามแผน โดยทางรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่นเตรียมจับมือกันเพื่อระดมเม็ดเงินมาลงทุนในระยะของโครงการแรกนี้

อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบันนี้ โครงการนิคมฯ ทวายยังไม่ได้เดินหน้าไปสักเท่าไร เพิ่งเริ่มถมที่ ตัดไม้ เผาป่า เกลี่ยหน้าดิน เพื่อปรับพื้นที่เท่านั้น และมีแค่ท่าเรือชั่วคราวที่สามารถขนเครื่องมือกับอุปกรณ์ได้เล็กน้อยเท่านั้น ยังไม่สามารถนำเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าพื้นที่ได้

นอกจากนี้เรื่องการอพยพชาวพื้นเมืองออกจากเขตอุตสาหกรรม แถมด้วยปัญหาป่าชายทะเลที่มียุงชุกชุมอีก เรียกได้ว่า พบปัญหาร้อยแปดก็ว่าได้

แต่สำหรับในมุมของหน่วยงานความมั่นคง เมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาล คงได้แต่ “เซย์เยส” เท่านั้น ดังนั้น ทหารในพื้นที่ก็ต้องปรับสภาพ วางกำลัง เพื่อดูแลตลอดเส้นทางการขนส่ง โดยเฉพาะเส้นทางจากด่านบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ที่ “กองพลเสื้อดำ” กองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) ต้องรับผิดชอบความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ ทั้งหมด

ขณะที่ในท้องทะเลฝั่งอันดามัน “ทัพเรือภาค 3” โดยเฉพาะ “ฐานทัพเรือพังงา” จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลน่านน้ำ และตรวจตราความเรียบร้อยของการทำกิจกรรมทางเรือในอนาคตหากนิคมฯ ทวายกำเนิดขึ้น

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ตรวจเยี่ยมโครงการนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึกทวาย เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา
พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ตรวจเยี่ยมโครงการนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึกทวาย เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา

ทำให้หลังตรวจไซต์งานที่นิคมฯ ทวายแล้ว พล.อ.อ.สุกำพลจึงบินมาตรวจเยี่ยมกำลังพลและความเรียบร้อย ณ ฐานทัพเรือพังงาไปในตัว เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา

“นิคมอุสาหกรรมทวายที่จะเกิดขึ้น จะทำให้เส้นทางเดินเรือแถวนี้คับคั่งมี กิจกรรมทางทะเลมากขึ้น ดังนั้น จึงให้ทัพเรือภาค 3 เตรียมตัวไว้เพื่อรองรับในอนาคตอันใกล้นี้ ตอนนี้กองทัพเรือภาค 3 มีเรืออยู่ 15 ลำ โดยในอนาคตต้องดูที่ภารกิจ หากมีกิจกรรมมากขึ้นเรือก็ต้องมากขึ้นตามภารกิจของกองทัพเรือ ในอนาคตกระทรวงกลาโหมพร้อมจะดูแลเรื่องจัดหาเรือให้” พล.อ.อ.สุกำพลระบุ

งานนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเดินทางในวันที่ 6–7 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อดูไซต์งาน นิคมฯ ทวาย และลงพื้นที่ตรวจหน่วยทหารน้ำ เป็นไปเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับโครงการนิคมฯ ทวายล้วนๆ ส่วนจะมาดูผลประโยชน์เพื่อใครนั้น ไม่ช้าคงได้คำตอบ

ยังไม่นับว่าในภายหลัง “ผู้ใหญ่” ในกองทัพเรือเคาะสเปคเรือ “เรือฟริเกต” ว่าจะซื้อจากชาติใด การจัดซื้อเรือรบในโครงการต่อไปคงผุดขึ้นอีกหลายโครงการ เพื่อรองรับการการดูแลรักษาความปลอดภัยในทะเลอันดามัน ส่วนการจัดหาจะเข้าทางใคร เงินค้าอาวุธจะไปอยู่ไหน คงเป็นคำถามจี้ใจดำ “ผู้ใหญ่” ในกองทัพน่าดู…

คงต้องติดตามว่า การแก้ไขปัญหาและการระดมเงินทุนครั้งนี้ จะไปลงเอยที่จุดไหน สุดท้ายแล้วประเทศไทยต้องกู้เงินจากแหล่งทุนไหนเพื่อมาลงทุนโปรเจกต์นิคมฯ ทวาย และผลประโยชน์ที่ไทยได้รับจะคุ้มค่าตามเป้าหรือไม่ หรือจะดีแค่ราคาคุย