ThaiPublica > เกาะกระแส > บทเรียนคดีสิ่งแวดล้อม จากคดี “หาดเจ้าสำราญ – ชาวกะเหรี่ยงที่อมกิ”

บทเรียนคดีสิ่งแวดล้อม จากคดี “หาดเจ้าสำราญ – ชาวกะเหรี่ยงที่อมกิ”

11 มีนาคม 2013


เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2556 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ จัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำคดีสิ่งแวดล้อม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อให้ฝ่ายตุลาการ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจ ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอในการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมhttps://thaipublica.org/?p=48529&preview=true ซึ่งทางสภาทนายความเคยจัดประชุมสรุปบทเรียนมาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 2 และ 22 กันยายน 2555 ในโครงการ “สรุปบทเรียน ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ”

ในโครงการสรุปบทเรียน ทนายความคดีสิ่งแวดล้อมจะร่วมกันแลกเปลี่ยนปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา โดยแบ่งคดีสิ่งแวดล้อมเป็น 5 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มคดีเกี่ยวกับสารพิษและวัตถุอันตราย/คดีสิ่งแวดล้อมจากการทำงาน กลุ่มคดีที่ดินป่าไม้ กลุ่มคดีตรวจสอบการดำเนินโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน กลุ่มคดีที่ฟ้องหน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และกลุ่มคดีเกี่ยวเนื่องจากการใช้สิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน

ด้านกลุ่มคดีที่ดินและป่าไม้ มีคดีตัวอย่างที่น่าสนใจดังนี้

การฟ้องร้องเกี่ยวกับที่ดิน หากเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ สามารถฟ้องร้องในศาลยุติธรรมได้ ไม่มีปัญหา แต่ในกรณีการฟ้องร้องเพื่อปกป้องพื้นที่สาธารณะ เจ้าของที่ดินคือหน่วยงานรัฐ บางครั้งจึงมีปัญหาเรื่องขอบเขตอำนาจศาลว่าอยู่ในศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม

คดีหาดเจ้าสำราญและอ่าวปากน้ำปราณ

อย่างกรณีหาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี มีที่ดินแปลงหนึ่งเป็นที่ดินชายตลิ่งและที่ดินติดคลองหัวตาล ซึ่งเกี่ยวพันกับกรมเจ้าท่า ข้อพิพาทเกิดจากเจ้าของที่ดินไล่ที่ชาวประมงออกจากที่ดินโดยอ้างสิทธิการเป็นเจ้าของ แต่จากการสำรวจเอกสารพบว่า ไม่เห็นระวาง และโฉนดในแผนที่เดิมเห็นชายตลิ่งมีระยะร่นแต่ไม่มีเส้นขีดบอกว่าเป็นที่ชายตลิ่ง จึงเกิดการสวมสิทธิเป็นเจ้าของ อีกทั้งไม่มีแนวเขตคลอง แต่รังวัดกินแนวเขตคลองซึ่งหน่วยงานรัฐไม่คัดค้าน ทำให้เจ้าของที่ดินใช้ช่องทางนี้เพื่อออกโฉนดที่ดิน แล้วมาขับไล่ชาวประมงออกจากที่ดิน

สำหรับคดีนี้ หากทนายความจะสู้คดีตามเอกสารสิทธิก็จะแพ้อย่างแน่นอน ดังนั้นจึงทำหนังสือให้กรมพาณิชย์นาวีมาปักเขต เพื่อทำให้ขัดกับแนวเขตตามเอกสารสิทธิ แต่เนื่องจากทางกรมพาณิชย์นาวีไม่มาปักเขตตามที่ขอ ทางทนายจึงฟ้องกลับ

เช่นเดียวกับกรณีอ่าวปากน้ำปราณ ซึ่งอ้างว่าเป็นที่ดินของรัฐและมีหนังสือสำคัญแสดงที่หลวง กรรมการสิทธิมนุษยชนเห็นว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินสาธารณะ จึงให้เพิกถอนเอกสารสำคัญแสดงที่หลวง และให้รังวัดที่ดินให้ชาวบ้าน แต่ทางจังหวัดไม่ยอม ทางทนายความต้องร้องเรียนไปทางกรมที่ดินจึงจะมารังวัดให้ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดคัดค้านไว้ว่าเป็นที่สาธารณะ ดังนั้น ทางทนายความจึงฟ้องกรมที่ดินฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่มารังวัด

อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องการบุกรุกป่า สำหรับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่ากันมาหลายชั่วอายุคนแล้วอย่างชาวบ้านคลิตี้นั้น พวกเขาอาศัยอยู่ในป่ามาก่อนที่ประเทศไทยจะประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนหรือเขตอุทยาน แต่ก่อนที่กรมป่าไม้จะประกาศนั้นไม่ได้กั้นพื้นที่ชุมชนออกก่อน จึงกลายเป็นปัญหาของชุมชนหลายแห่งที่ถูกแจ้งข้อหาบุกรุกป่า ทำลายป่าไม้ ซึ่งส่วนใหญ่แพ้คดี ต้องย้ายออกจากพื้นที่และชดเชยค่าเสียหายแก่รัฐ หากเป็นคดีอาญา ส่วนใหญ่มักจะตัดสินจำคุกและไม่รอลงอาญา

ในบางรัฐบาล ชาวบ้านสามารถขอกันพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเป็นโฉนดชุมชนได้ตามมติคณะรัฐมนตรี แต่มีบางชุมชนเท่านั้นที่ทำได้ เนื่องจากขอไม่ทัน เพราะรัฐบาลไทยเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง บางรัฐบาลสามารถทำโฉนดชุมชนได้บางรัฐบาลทำไม่ได้

สำหรับคดีอาญา ชาวบ้านส่วนใหญ่มักจะแพ้ข้อหาบุกรุกป่าเพราะการยอมรับสารภาพ เนื่องจากรู้ตัวว่าอาศัยอยู่ในป่าสงวนหรือเขตอุทยานแต่ยังไม่ยอมย้ายออกไป นั่นเพราะเขาอาจเป็นชุมชนดั้งเดิมและใช้สิทธิชุมชน เช่น

คดีชุมชนแม่อมกิ

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 นางน่อเฮหมุ่ย เวียงวิชชา และนายนายดิ๊แปะโพ (ไม่มีนามสกุล) ชาวปกากะญอ ชุมชนแม่อมกิ ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ถูกจับกุมในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ข้อหาร่วมกันยึด ครอบครองที่ดิน ตัด โค่น ก่นสร้างแผ้วถางป่า ทำประโยชน์ในที่ดินเขตป่าสงวนฯ และพนักงานอัยการฟ้องจำเลยเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1770/2551 และ 1771/2551 ต่อศาลจังหวัดแม่สอด ในตอนแรกจำเลยรับสารภาพ (ภาษากะเหรี่ยง เพราะพูดภาษาไทยไม่ได้) แต่ล่ามไม่ได้สาบานตัวก่อนรับสารภาพ ทำให้กระบวนการพิจารณาคดีไม่ชอบ จึงต้องพิจารณาคดีใหม่

ที่มาภาพ : http://www.prachatham.com
ที่มาภาพ : http://www.prachatham.com

ในการพิจารณาคดีครั้งใหม่ จำเลยต่อสู้ในประเด็นสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 66 มติคณะรัฐมนตรีเรื่องให้สิทธิผ่อนผัน มติเรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และมีพยานปากสำคัญเป็นนายอำเภอท่าสองยางและผู้ใหญ่บ้านขณะเกิดเหตุเบิกความสนับสนุนว่า ประชาชนในพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินมาก่อนมีการประกาศป่าสงวน อีกทั้งมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เบิกความถึงรายงานการวิจัยว่า วิถีการทำไร่หมุนเวียนเป็นการผลิตที่สามารถรักษาสมดุลของธรรมชาติ ไม่ใช่การทำลายป่าไม้ และจากภาพถ่ายที่เกิดเหตุเป็นการทำไร่หมุนเวียน ดังนั้น ศาลชั้นต้นยกฟ้อง เพราะเห็นว่าชาวกะเหรี่ยงไม่ได้เจตนา เนื่องจากไม่รู้ภาษาไทย จึงอาจไม่ทราบประกาศ และอาศัยในพื้นที่นั้นมานาน ด้านอัยการยื่นอุทธรณ์ต่อ

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 สำหรับศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนางน่อเฮหมุ่ย เวียงวิชา เนื่องจากเชื่อว่าจำเลยอยู่และทำกินมาก่อนประกาศเขตป่าสงวน ส่วนนายดิ๊แปะโพ ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี รอลงอาญา 1 ปี ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 2 พร้อมบริวารต้องย้ายออกจากพื้นที่ เพราะจำเลยยึดครองที่ดิน แผ้วถางป่า สร้างความเสียหายแก่ป่าสงวน แม้ว่าจำเลยจะได้ทำกินในบริเวณนั้นก่อนที่จะมีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541 แต่มติคณะรัฐมนตรีไม่ใช่กฎหมาย เมื่อชาวกะเหรี่ยงอยู่โดยไม่มีสิทธิ ลูกหลานก็ไม่สามารถสืบสิทธิต่อไปได้

ปัจจุบัน จำเลยยื่นฎีกาเรื่องสิทธิที่จะอยู่ตามสิทธิชุมชน และฎีกาไปด้วยว่าถึงศาลไม่รับฟังเป็นกฎหมายแต่ต้องรับฟังเป็นพยานแวดล้อมประกอบด้วย เพราะมติคณะรัฐมนตรีมีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่กฎหมายไม่คุ้มครอง

อ่านเพิ่มเติม