ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ผู้นำโกง” – ตามล่าขุมทรัพย์แดนสฟิงซ์ (6)

“ผู้นำโกง” – ตามล่าขุมทรัพย์แดนสฟิงซ์ (6)

23 มีนาคม 2013


รายงานโดย: อิสรนันท์

ยามเมื่อฟาโรห์ฮอสนี มูบารัก หมดสิ้นวาสนาชะตาตก หลังจากถูกพลังประชาชนกดดันให้จำใจต้องยอมถอดหัวโขนทิ้ง ทั้ง “เคราะห์ซ้ำ-กรรมซัด-วิบัติเป็น” พลันมาเยือนตรงหน้าประตูราวกับจ้องหาโอกาสเหมาะมานาน เป็นเหตุให้ถูกจับกุมชนิดยกครัวทั้งพ่อแม่ลูกรวม 4 ชีวิต แถมพ่วงคนสนิทอีกร่วม 10 คน ตามด้วยการถูกศาลตัดสินประหารชีวิตโทษฐานสั่งฆ่าประชาชนผู้ชุมนุมประท้วง ถูกอายัดทรัพย์ทั้งที่ซุกซ่อนในประเทศและต่างประเทศ หนำซ้ำ โรคร้ายยังรุมเร้าจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลแทนห้องขัง

นี่คือชะตากรรมอันไม่อาจหลีกเลี่ยงพ้นของผู้นำทุกคนที่สองมือเปื้อนเลือด และในใจมีแต่ความละโมบโลภมาก อยากได้ อยากมี อยากเป็น โดยไม่มีที่สิ้นสุด แต่กระนั้น ก็ไม่มีผู้นำคนใดสำนึกกับบทเรียนเหล่านี้

เพียงไม่นานหลังจากนายมูบารักจำใจประกาศล้างมือในอ่างทองคำ พาลูกเมียกลับไปสงบจิตใจที่คฤหาสน์หรูที่ชาร์ม เอล ชีค เมืองตากอากาศชื่อดังริมฝั่งทะเลแดง กรรมก็มาทันราวติดจรวด เมื่อมีการตั้งข้อหา ส่งฟ้องศาล และจับกุมคุมขังอดีตฟาโรห์ยุคใหม่ พร้อมด้วยนายฮาบิบ เอล-อัดลี อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยคู่ใจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงอีก 6 คนในข้อหาสั่งฆ่าประชาชนระหว่างการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาล เป็นเหตุให้มีผู้เสียกว่า 850 คน และบาดเจ็บอีกหลายพันคน กับทั้งยังมีข้อหาใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบและทุจริตคอร์รัปชัน กรณีแอบขายก๊าซธรรมชาติราคาถูกให้กับอิสราเอล ส่วนนายกามาล และนายอาลา มูบารัก ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนทั้ง 2 คน ถูกจับกุมขังอยู่ที่เรือนจำโทรา กรุงไคโร ก่อนจะถูกนำตัวขึ้นศาลในข้อหาคอร์รัปชันเช่นกัน

จะว่าไปแล้ว นายมูบารักอาจจะโชคร้ายกว่าผู้นำคนอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่ทันหนีหรือหนีไม่ทัน ทำให้ถูกจับกุมทั้งครอบครัวรวมทั้งคนสนิท นับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำประเทศอาหรับที่ถูกประชาชนขับไล่ถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในศาลโดยแทบไม่เหลือมาดของผู้นำที่ยิ่งใหญ่แม้แต่น้อย ต้องนอนอยู่บนเตียงรถเข็นขณะไปให้การต่อศาล อันเนื่องจากล้มป่วยด้วยโรคหัวใจจนเดินเหินไม่ได้ แถมนับวันอาการมีแต่ทรุดหนักลง ขณะเดียวกัน ยังต้องได้รับการบำบัดอาการป่วยด้วยโรคมะเร็งที่หวนกลับมากำเริบอีกครั้ง หลังจากเคยผ่าตัดมะเร็งที่ถุงน้ำดีมาแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2555

ที่มาภาพ : http://www.washingtonpost.com/rf/image
ที่มาภาพ : http://www.washingtonpost.com/rf/image

สารพัดโรคภัยที่เบียดเบียนนี้เป็นอาการเดียวกับอดีตผู้นำหลายคนยามสิ้นวาสนาชะตาตก อันเนื่องมาจากความเครียดและการปลงไม่ตกในชีวิต สุดท้ายอดีตผู้นำหลายคนก็เสียชีวิตจากโรคร้ายนั้น ไม่ว่าจะเป็นอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส แห่งฟิลิปปินส์ อดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซีย หรืออดีตพระเจ้าชาห์เรซา ปาห์เลวี แห่งอิหร่าน เป็นต้น

ตีเหล็กต้องตีขณะยังร้อนฉันใด การพิจารณาคดีนายมูบารักและพรรคพวกก็ดำเนินไปด้วยความรวดเร็วฉับไวฉันนั้น เพื่อให้ทันใจประชาชนที่เฝ้าติดตามกระบวนการยุติธรรมอย่างไม่ให้คลาดสายตา หลังจากใช้เวลาสืบพยานแค่ไม่กี่เดือน ศาลพิเศษไคโรได้ตัดสินจำคุกนายมูบารักและนายฮาบิบ อัล อัดลี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ตลอดชีวิต

ในคำพิพากษาของศาลพิเศษระบุว่า ตลอดช่วง 30 ปีที่นายมูบารักบริหารประเทศ ถือเป็นช่วงแห่งความมืดมิดที่แสนเลวร้าย ทำให้ประชาชนต้องลุกฮือประท้วงขับไล่โดยสันติวิธีเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย แต่เหตุการณ์ได้บานปลายกลายเป็นความรุนแรง โดยนายมูบารักและนายอัล อัดลี ไม่ได้กระทำการใดๆ ที่จะหยุดยั้งการสังหารประชาชนในช่วง 18 วันที่มีการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ หนำซ้ำยังได้ออกคำสั่งให้ปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมประท้วงในกรุงไคโรและเมืองใหญ่เสียชีวิตอย่างน้อย 850 ราย บาดเจ็บกว่า 6,000 คน

จากนั้นไม่นาน ศาลปกครองกรุงไคโรได้พิพากษาให้นายมูบารักมีความผิดฐานบ่อนทำลายเศรษฐกิจของประเทศ จากการที่ใช้อำนาจสั่งปิดการให้บริการอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ในช่วงการชุมนุม โดยนายมูบารักต้องควักกระเป๋าตัวเองจ่ายค่าปรับเป็นเงินถึง 33 ล้าน 6 แสนดอลลาร์ หรือราวหนึ่งพันล้านบาท

ถ้าหากศาลพิเศษไม่ปราณีแล้ว นายมูบารักอาจต้องโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตแทนที่จะแค่จำคุกตลอดชีวิต และคงถูกคุมตัวไปชดใช้ความผิดในเรือนจำ แทนที่จะได้รับการผ่อนปรนให้กักบริเวณที่บ้านพักในชาร์ม เอล ชีค ระหว่างที่ต้องเดินทางไปๆ มาๆ เพื่อรักษาโรคหัวใจที่โรงพยาบาลทหารอย่างชนิดรักษาไม่หายสักที เพราะถ้าหายเมื่อใดจะต้องเดินเข้าคุกเมื่อนั้น การป่วยเรื้อรังด้วยโรคหัวใจซึ่งจะกำเริบทุกครั้งที่รู้ว่าจะต้องเข้าคุก จึงเป็นทางรอดทางเดียวที่จะช่วยให้ไม่ต้องชดใช้ความผิดได้แบบเดียวกับที่อดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตเคยทำสำเร็จมาแล้ว

นอกเหนือจากคดีสั่งฆ่าประชาชนที่มาชุมนุมขับไล่รัฐบาลแล้ว คดีสำคัญอีกคดีหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากพอๆ กันก็คือคดีทุจริตคอร์รัปชัน โดยผู้ต้องหาคดีสำคัญนี้มีมากหน้าหลายตาด้วยกัน ซึ่งล้วนแต่เป็นอดีตรัฐมนตรี อดีตข้าราชการระดับสูง และอดีตนักธุรกิจชื่อดังที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับครอบครัวหมายเลขหนึ่งแห่งแดนสฟิงซ์อียิปต์มานานจนมั่งคั่งร่ำรวยล้นฟ้าไปตามๆ กัน

อาทิ นายทาเฮอร์ เฮลมี ประธานหอการค้าอเมริกันในอียิปต์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของนายมูบารักและนายกาเมล ซึ่งก่อนหน้าจะหมดวาสนาไม่นาน เพิ่งจะซื้ออพาร์ตเมนต์ราคา 6.1 ล้านดอลลาร์ (ราว 183 ล้านบาท) ในนิวยอร์ก ที่สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ในสวนสาธารณะเซ็นทรัลปาร์ค หรือนาย อาเหม็ด เอซซ์ เศรษฐีใหญ่จากการผูกขาดอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ อันเป็นผลพวงจากการเป็นเพื่อนสนิทของนายกาเมล เป็นต้น

กระนั้น ก็มีอดีตนักการเมืองและอดีตข้าราชการระดับสูงหลายคนที่หลุดรอดตาข่ายแห่งความยุติธรรมนี้ได้ เนื่องจากไหวตัวทันรีบ เปลี่ยนสีเปลี่ยนข้างได้ทันท่วงที ด้วยการชูโรงเรียกร้องให้นำตัวนายมูบารักขึ้นศาลที่อียิปต์ หรืออาจไปไกลถึงขั้นให้นำตัวขึ้นศาลโลกในข้อหาคอร์รัปชันและละเมิดสิทธิมนุษยชน

บรรดาผู้แปรพักตร์หันหลังให้นายมูบารักนี้ ยังรวมไปถึงนายอิบรอฮิม ยอร์ซี อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ และนายโมฮัมหมัด กานัม อดีตประธานบริษัทวิจัยด้านกฎหมายในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่หนีภัยไปสวิตเซอร์แลนด์ก่อนจะเป็นหัวหอกรณรงค์ให้ฟ้องนายมูบารักและพรรคพวกในข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน

เพราะเป็นหนึ่งในคดีสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจ ศาลพิเศษอียิปต์จึงได้เร่งดำเนินคดี ก่อนจะทยอยตัดสินความผิดของผู้ต้องหา โดยนายฮาบิบ เอล อัดลีย์ หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยของนายมูบารักเป็นคนแรกในบรรดาคนสนิทกว่าสิบคนของนายมูบารัก ที่ถูกศาลตัดสินจำคุก 12 ปี ในข้อหาคอร์รัปชันและฟอกเงิน

นายโซแฮร์ การานาห์ อดีตรัฐมนตรีการท่องเที่ยวและนักธุรกิจใหญ่ ต้องโทษจำคุก 5 ปี ในข้อหาอนุญาตให้นักลงทุนไปใช้พื้นที่ของรัฐได้ทั้งๆ ที่ผิดกฎหมาย

ส่วนนายอาห์เหม็ด เอซซ์ ราชาเหล็กผู้ทรงอิทธิพล ถูกศาลตัดสินจำคุก 10 ปี ในข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน นายราชิด โมฮัมเหม็ด ราชิด อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการหลบหนี ศาลได้ตัดสินจำคุก 15 ปี นายซาดาเรีย อัซมี อดีต ส.ส. และอดีตเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี ถูกศาลตัดสินจำคุก 7 ปี และปรับอีก 5.4 ล้านดอลลาร์ ในข้อหาใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัวเป็นเงิน 6.3 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ศาลได้ตัดสินจำคุกอดีตรัฐมนตรีคู่ใจนายมูบารักอีกหลายคน คนละ 3 ปี ในข้อหาคอร์รัปชัน

อย่างไรก็ดี หลังจากผู้ยิ่งใหญ่เหล่านั้นรับโทษกันไม่ถึง 2 ปี กลับเกิดปรากฎการณ์ประหลาดในกระบวนการยุติธรรมแดนสฟิงซ์ เมื่อศาลสั่งรื้อคดีทุกคดีมาพิจารณาใหม่ โดยไม่ให้เหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น