ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เจาะงบเยียวยาน้ำท่วม 12 ล้านบาท กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (2): กองปราบ-สตง. ลุยสอบเส้นทางเดินเงิน

เจาะงบเยียวยาน้ำท่วม 12 ล้านบาท กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (2): กองปราบ-สตง. ลุยสอบเส้นทางเดินเงิน

27 มีนาคม 2013


ปมความขัดแย้งในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระหว่างกลุ่มของนายพยุงศักดิ์ ชาติสิทธิผล ประธาน ส.อ.ท. กับกลุ่มนายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการ ส.อ.ท. ที่ยืดเยื้อมานานข้ามปี นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ ต่างฝ่ายต่างหอบเอกสารหลักฐานไปแจ้งความตำรวจให้ดำเนินคดีซึ่งกันและกัน

อย่างเช่น กรณีนายพยุงศักดิ์ให้ฝ่ายกฎหมาย ส.อ.ท. นำข้อมูลหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าจะมีการทุจริตการใช้จ่ายเงินงบประมาณเกิดขึ้นใน “โครงการยกระดับฝีมือแรงงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยกลับสู่สถานประกอบกิจการ จังหวัดลพบุรี” มอบให้กองบังคับการกองปราบปรามสอบสวนขยายผล เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 ทั้งนี้เนื่องจากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของ ส.อ.ท. ไม่มีอำนาจเรียกข้อมูลเอกสารหลักฐานต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงตัดสินใจส่งข้อมูลหลักฐานต่างๆ ไปให้ตำรวจรับไปดำเนินการต่อ

ประกอบกับโครงการนี้มีผู้ประกอบการได้รับเงินไม่ครบ แนวทางการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมุ่งไปที่ประเด็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณ โดยขอความร่วมมือจากธนาคารเพื่อตรวจเส้นทางการเบิกจ่ายเงิน ขณะเดียวกัน กองบังคับการกองปราบปรามได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปจังหวัดลพบุรี เพื่อสอบปากคำผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมกับทำหนังสือถึงอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อขออนุญาตสอบปากคำข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้

นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน  ที่มา: www.facebook.com/photo.php?fbid=628453307170330&set=a.628452087170452.1073741851.210468422302156&type=1&theater
นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ที่มา: www.facebook.com/photo.php?fbid=628453307170330&set=a.628452087170452.1073741851.210468422302156&type=1&theater

นายนคร ศิลปะอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้รับหนังสือจากกองบังคับการกองปราบ ขออนุญาตสอบปากคำพยานบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการยกระดับฝีมือแรงงานฯ จังหวัดลพบุรี โดยประเด็นที่เจ้าพนักงานสอบสวนให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ เรื่องเส้นทางของการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้ ซึ่งตนได้พูดคุยกับเจ้าพนักงานสอบสวนในเบื้องต้น หากต้องสอบปากคำตนก็ยินดีให้ความร่วมมือ แต่ถ้าเจาะลึกลงไปในรายละเอียดคงให้ปากคำอะไรไม่ได้มาก เพราะโครงการนี้เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดังนั้น จึงมอบหมายให้นายรำพึง ธรรมเจริญ ผู้อำนวยการ กองพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการ เป็นผู้ให้ปากคำ เพราะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบโครงการนี้มาตั้งแต่แรก

“อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับเงินไม่ครบ ผมไม่ได้นิ่งนอนใจ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ และพยายามเร่งรัดเรื่องนี้มาโดยตลอด และได้กำชับข้าราชการที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ให้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเต็มที่ ตอนนี้ทุกคนที่เกี่ยวข้องถือเป็นผู้บริสุทธิ์ การมาสอบปากคำของเจ้าหน้าที่ตำรวจครั้งนี้ไม่ได้มาสอบในฐานะผู้ต้องหา แต่มาสอบในฐานะพยาน” นายนครกล่าว

นายนครกล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทำหนังสือมาขอสอบปากคำข้าราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแล้ว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือมาขอตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้เหมือนกัน ซึ่งตนได้ชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ สตง. เช่นเดียวกับที่ชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เส้นทางเดินเงิน 12 ล้าน

แหล่งข่าวจากกองบังคับการกองปราบปรามเปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับข้อมูลและหลักฐานจาก ส.อ.ท. ทางกองบังคับการกองปราบปรามนำข้อมูลมาขยายผลการสืบสวน โดยประสานความร่วมมือไปยังธนาคารกรุงไทย เพื่อขอตรวจสอบเส้นทางการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ พบว่า หลังจากที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานอนุมัติเงินให้กับ ส.อ.ท. วงเงิน 12.24 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดฝึกอบรมแรงงานลูกจ้างจังหวัดลพบุรีจำนวน 150 รุ่น (รุ่นที่ 116 ถึงรุ่นที่ 265) รุ่นละ 81,600 บาท เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555

และในวันที่ 4 เมษายน 2555 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจ่ายเช็คถอนเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ x36000350 ธนาคารกรุงไทย สาขากระทรวงแรงงาน โดยเช็คเลขที่ x18770 สั่งจ่ายข้าราชการระดับสูง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารกรุงไทยสาขาเดียวกัน

จากนั้น ข้าราชการระดับสูง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ถอนเงินสดจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ x836000547 โดยสั่งจ่ายเช็คทั้งหมด 4 ครั้ง แบ่งเป็นจ่ายสด 2 ครั้ง และจ่ายเข้าบัญชีสภาอุตฯ 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 12.24 ล้านบาท

-ครั้งที่ 1 วันที่ 11 เมษายน 2555 ข้าราชการระดับสูง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จ่ายเช็คเลขที่ x02081 ถอนจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ x836000547 โดย “สั่งจ่ายสด” เป็นเงิน 430,000 บาท ผู้รับนำเช็คมาทำรายการวันที่ 3 พฤษภาคม 2555

-ครั้งที่ 2 วันที่ 10 พฤษภาคม 2555 จ่ายเช็คเลขที่ x020803 จากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ x836000547 “สั่งจ่ายสภาอุตฯ” เป็นเงิน 3,661,200 บาท โดยเช็คฉบับนี้ทำรายการในวันเดียวกัน (วันที่ 10 พฤษภาคม 2555)

-ครั้งที่ 3 วันที่ 15 พฤษภาคม 2555 จ่ายเช็คเลขที่ x020805 จากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ x836000547 “สั่งจ่ายสภาอุตฯ” เป็นเงิน 7,885,600 บาท โดยเช็คฉบับนี้ทำรายการในวันเดียวกัน

-ครั้งที่ 4 วันที่ 16 พฤษภาคม 2555 จ่ายเช็คเลขที่ x020806 จากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ x836000547 “สั่งจ่ายสด” 263,200 บาท เช็คฉบับนี้ทำรายการในวันเดียวกัน

แหล่งข่าวจากกองบังคับการกองปราบปรามกล่าวต่อไปอีกว่า กรณีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานโอนเงินจำนวน 12.24 ล้านบาท ไปเข้าบัญชีข้าราชการคนเดียว ถือว่ามีความเสี่ยงสูง แต่สามารถทำได้ เพราะเข้าข่าย “เงินยืม” ตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การเก็บรักษาเงินและการนําส่งคลัง พ.ศ. 2551 ทั้งนี้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ หรือปฏิบัติราชการอื่นๆ แต่การใช้จ่ายเงินทุกรายการต้องแจกแจงรายละเอียดได้ และมีหลักฐานมายืนยันว่าจ่ายเงินให้ใคร ค่าอะไร เท่าไหร่ เช่น จ่ายค่าตอบแทนวิทยากร, จ่ายเบี้ยเลี้ยงคนงานที่เข้ารับการอบรม, ค่าอาหารและค่าอุปกรณ์วัสดุในการฝึกอบรม เป็นต้น และหลังจากปิดโครงการมีเงินเหลือต้องส่งคืนคลัง หากข้าราชการที่มีอำนาจสั่งจ่ายเงินสามารถนำหลักฐานการจ่ายเงินมาแสดงต่อเจ้าพนักงานสอบสวนได้ก็จบ แต่ถ้าบางรายการหาหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าพนักงานสอบสวนไม่ได้ ก็ต้องสอบขยายผลต่อไป