ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อเงินซื้อพลังงาน 1 ปี เท่ากับงบประมาณรายจ่ายประเทศทั้งหมด 2.2 ล้านล้าน

เมื่อเงินซื้อพลังงาน 1 ปี เท่ากับงบประมาณรายจ่ายประเทศทั้งหมด 2.2 ล้านล้าน

24 มีนาคม 2013


ที่มาภาพ : http://www.gardencommunitiesfl.com
ที่มาภาพ : http://www.gardencommunitiesfl.com

ในที่สุด คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการทำแผนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งตั้งเป้าให้การใช้พลังงานลดลง 25 เปอร์เซ็นต์ในปี 2573

โดยหวังว่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่จะนำมาสู่ความมั่นคงของพลังงานของประเทศในอนาคต

ที่สำคัญ การอนุรักษ์พลังงานยังช่วยลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจก อันเป็นต้นเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ในการเสวนา “แผนอนุรักษ์พลังงานไทย 20 ปี: ทิศทางการพัฒนาสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทย” ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้สะท้อนสถานการณ์พลังงานของประเทศที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ระบุว่า ประเทศไทยไม่เคยเผชิญกับการขาดแคลนพลังงานอย่างแท้จริง ซึ่งสัญญาณครั้งแรกที่มีการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนช่วยกันอนุรักษ์พลังงานเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 2510 โดยการรณรงค์ให้ปิดโทรทัศน์ในช่วงค่ำ

ทว่าจากนั้นเป็นต้นมา ปริมาณการใช้พลังงานได้เติบโตไปอย่างต่อเนื่องตามเศรษฐกิจที่เจริญเติบโต ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ปกติ แต่ที่แย่คือ อัตราการใช้พลังงานสูงกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในอัตราส่วน 1.4 ต่อ 1

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานกล่าวว่า ปีที่ผ่านมาประเทศไทยนำเข้าพลังงานมูลค่า 1.3-1.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของเงินงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด

“เรานำเข้าพลังงานสูงมาก ปีหนึ่งเป็นล้านล้านบาท เราหาเงินเข้ามาจากการท่องเที่ยว จากผลผลิตทางการเกษตร แต่เราใช้จ่ายก้อนเดียวไปกับการนำเข้าพลังงาน ปีหนึ่งเรามีงบประมาณทั้งหมด 2.2 ล้านล้านบาท เราจ่ายเงินค่าพลังงานออกไปนอกประเทศเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินงบประมาณ ไม่ได้หมายถึงว่าเราใช้แค่นี้นะ เพราะว่าเราใช้พลังงานในประเทศอีก 1 เท่า รวมแล้วเราใช้พลังงานทั้งหมดเกือบทั้งหมดของเงินงบประมาณ”

แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีแผนอนุรักษ์พลังงานออกมาแล้ว ตั้งเป้าว่าจะอนุรักษ์พลังงานให้ได้ 38,000 ktoe (พันตันเมื่อเทียบเท่าน้ำมันดิบ)

ด้าน“ประเสริฐสุข จามรมาน” รักษาการผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกมองว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นส่วนใหญ่มาจากในส่วนของการใช้พลังงาน เพราะเราต้องใช้พลังงานในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าพลังงานจะเป็นผู้ร้ายที่ก่อให้เกิดปัญหาแต่อย่างเดียว

ดังนั้นจึงมีโจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรที่จะทำให้การใช้พลังงานนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะเดียวกันก็ทำให้ปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

สืบเนื่องจากตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยที่รายงานต่อองค์การสหประชาชาติในปี 2000 มีตัวเลขอยู่ที่ 269 ล้านตัน โดยมาจากภาคพลังงานถึง 69 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ตัวเลขที่น่าสนใจของธนาคารโลก ในปี 2009 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 23 ของโลก อันดับที่ 8 ของเอเชีย และอันดับ 2 ของอาเซียน รองลงมาจากประเทศอินโดนีเซีย คิดเป็น 0.85 เปอร์เซ็นต์ของโลก ซึ่งถ้ามีตัวเลขเกิน 1 เปอร์เซ็นต์ ก็จะต้องถูกเฝ้าระวังแล้ว

“ประเสริฐสุข”มองว่า นอกจากปัญหาในการใช้พลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีปัญหาจากการที่คิดกันว่าพลังงานเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องจัดหาให้ เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องมีใช้ ทำให้มองไม่เห็นปัญหาตรงนี้ รวมไปถึงผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนด้วย

อย่างไรก็ตาม ในเดือนธันวาคมปีนี้ มีความเป็นไปได้ว่าประเทศไทยจะประกาศต่อนานาประเทศว่าจะมีส่วนร่วมในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม ปริมาณการใช้น้ำมันและไฟฟ้า เดือนมค.2556