วันที่ 3 ตุลาคม 2555 คณะทำงานติดตามการทำงาน กสทช. ร่วมกับศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา ได้จัดการเสนาเรื่อง “1 ปี กสทช. กับการประมูลคลื่น 3G ภารกิจเพื่อชาติหรือเพื่อใคร” ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยอิสระด้านการสื่อสาร ได้เปิดเผยรายงานของคณะติดตามการทำงาน กสทช. เรื่อง “3G ภารกิจเพื่อชาติหรือเพื่อใคร?” ซึ่งเป็นผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีข้อโต้แย้งการออกแบบการประมูล 3G ของ กสทช. รวมถึงตรวจสอบความโปร่งใสด้านกระบวนการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการประมูลคลื่นความถี่ 3G
จากการรวบรวมข้อมูลของคณะทำงานพบว่า กสทช. มีการสื่อสารผ่านสื่อ และผ่านกิจกรรมต่างๆ ใน 4 ประเด็นหลัก ซึ่งคณะทำงานพบว่า ข้อกล่าวอ้างของ กสทช. มีผลการศึกษาที่สามารถโต้แย้งได้ ดังนี้
1. การปรับเพดานถือครองคลื่นความถี่จาก 20 MHz เหลือ 15 MHz ทำเพื่อป้องกันการผูกขาด
กสทช. อ้างว่าจำเป็นต้องลดเพดานถือครองเหลือ 15 MHz เนื่องจากเกรงว่าสองเจ้าใหญ่จะทุ่มประมูลคลื่นไปรายละ 20 MHz จนทำให้รายสุดท้ายได้ไป 5 MHz ซึ่งไม่ทำให้เกิดการแข่งขันในระยะยาว เพราะตลาดจะเหลือผู้ให้บริการหลักเพียง 2 ราย
คณะทำงานได้แย้งว่า เนื่องจากจะมีผู้เข้าประมูลเพียง 3 ราย การปรับเพดานถือครองคลื่นความถี่เหลือ 15 MHz จะทำให้ผู้ประมูลได้คลื่นไปเท่ากันที่คนละ 15 MHz ซึ่งไม่ทำให้เกิดการแข่งขัน และอาจทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์ตั้งแต่หลักพันล้านไปจนถึงหมื่นล้านบาท การกระทำของ กสทช. จึงเป็นการเอื้อให้เกิดการฮั้วประมูล หรือเป็น “ผู้จัดฮั้วประมูล”
คณะทำงานเห็นว่า การแข่งขันให้บริการข้อมูลความเร็วสูงในตลาด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคลื่น 2.1 GHz เท่านั้น ดังนั้น ต่อให้เจ้าเล็กได้คลื่นไปเพียง 5 MHz ก็ยังคงมีการแข่งขันในตลาดอยู่ โดยได้มีการเสนอให้ กสทช. คิดถึงสูตรประมูลอื่นที่ดีกว่า เช่น การกำหนดเพดานขั้นสูงที่ 20 MHz และเพดานขั้นต่ำที่ 10 MHz ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์การประมูลสองแบบ คือ 15-15-15 และ 20-15-10 หรือ การกำหนดใบอนุญาตตายตัว 20-15-10 ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการแข่งขันประมูลแล้ว ยังป้องกันผู้ประกอบการรายหนึ่งได้คลื่นไปเพียง 5 MHz อีกด้วย
2. ราคาตั้งต้นการประมูล 4,500 ล้านบาทเป็นราคาที่เหมาะสม
กสทช. ได้อ้างราคาตั้งต้นการประมูล 4,500 ล้านบาท ว่ามีความเหมาะสมและมีที่มาที่ไปทางวิชาการ เนื่องจากเป็นข้อเสนอในรายงานที่จัดทำโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แต่จากการศึกษาของคณะทำงานพบว่า ตัวเลข 4,500 ล้านบาท มาจากรายงานของเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เสนอว่า มูลค่าคลื่นความถี่ขนาด 5MHz ตามราคาตลาดอยู่ที่ 6,440 ล้านบาท เมื่อนำตัวเลข 67% ที่ได้มาจากค่าเฉลี่ยสัดส่วนระหว่างราคาตั้งต้นกับราคาชนะการประมูลของ 13 ประเทศ มาปรับเป็น 70% ตามอัตราเงินเฟ้อ จึงกลายเป็นราคาตั้งต้น 4,500 ล้านบาท
แต่ในข้อเสนอของเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ในกรณีที่มีผู้เข้าประมูล 3 ราย ตัวเลขดังกล่าวควรจะอยู่ที่ 82% ทำให้ราคาตั้งต้นขยับมาที่ 5,280 ล้านบาท และเนื่องจากค่าเฉลี่ยสัดส่วนของ 13 ประเทศที่นำมาคำนวณ มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว จึงมีผู้เสนอให้ใช้ตัวเลข 6,440 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาตลาดมาเป็นราคาตั้งต้น
ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบการ AIS และ DTAC ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ได้กันเงินสำหรับการประมูลคลื่นจำนวน 15 MHz ไว้ประมาณ 17,000 ล้านบาท และ 15,000 ล้านบาท แต่ กสทช. กลับกำหนดราคาตั้งต้นไว้เพียง 4,500 ล้านบาทต่อ 5 MHz (หรือ 13,500 ล้านบาทต่อ 15 MHz) ทำให้รัฐอาจสูญเสียรายได้ตั้งแต่หลักพันล้านไปจนถึงหมื่นล้านบาท
3. ราคาประมูลสูงทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน
คณะทำงานได้แย้งว่า การตั้งราคาตั้งต้นต่ำจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเท่านั้น เนื่องจากปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อราคาค่าบริการคือสภาพการแข่งขันในตลาด เพราะถึงแม้จะมีการจัดสรรคลื่นความถี่โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้ประกอบการก็ไม่ได้ให้บริการฟรีหรือลดค่าบริการให้ แต่จะกำหนดราคาสูงสุดตามสภาวะการแข่งขันในตลาดอยู่ดี
4. ผู้เข้าประมูลจะแข่งขันกันประมูลเพื่อให้ได้สิทธิในการเลือกย่านความถี่
กสทช. อ้างว่า สิทธิในการกำหนดช่วงคลื่นความถี่ก่อน จะทำให้เกิดการแข่งขันประมูล เนื่องจากการเลือกช่วงคลื่นที่ติดกับผู้ประกอบการรายอื่นเพียงด้านเดียว จะช่วยให้ผู้ประกอบการใช้คลื่นความถี่ได้เต็มประสิทธิภาพมากกว่า
โดยคณะทำงานได้แย้งว่า ผลการศึกษาของทางสำนักงาน กสทช. เองกลับไม่ปรากฏข้อมูลที่ยืนยันว่าสิทธิในการเลือกย่านความถี่จะช่วยให้เกิดการแข่งประมูลดังที่กล่าวอ้าง และจากประสบการณ์ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์สะท้อนให้เห็นว่า การแข่งขันเลือกย่านความถี่ส่งผลให้ราคาสุดท้ายสูงกว่าราคาตั้งต้นเพียง 2.5% เท่านั้น
และในส่วนการตรวจสอบความโปร่งใส ของกระบวนการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการประมูล นายวรพจน์ได้นำเสนอผลการตรวจสอบความโปร่งใสใน 3 ประเด็น คือ 1. การไม่เผยแพร่รายงานประเมินมูลค่าคลื่นความถี่และมูลค่าขั้นต่ำฯ ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ถูกใช้อ้างถึงในการกำหนดราคาตั้งต้นการประมูลมาตลอด เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อความผิดมาตรา 59 ของ พรบ.องค์กรฯ ที่กำหนดให้ กสทช. ต้องตีพิมพ์ผลการศึกษาวิจัยที่ว่าจ้างให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการ
2. กระบวนการจัดทำประกาศไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ พ.ศ. 2548 ที่กำหนดให้ใช้เวลาในการเผยแพร่ร่าง และรับฟังความคิดเห็นรวมทั้งสิ้น 45 วัน แต่กระบวนการจัดทำประกาศนี้ใช้เวลาเพียง 30 วัน
และ 3. กสทช. เสนอปรับแก้ประกาศฯ ลดเพดานความถี่เหลือ 15 MHz ผ่าน กทค. เลย โดยไม่ผ่านอนุกรรมการเตรียมความพร้อมฯ เพื่อให้ความเห็น
โดยนางสุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ศึกษากฎหมายฯ ได้ย้ำถึงเป้าหมายของรายงานนี้ในตอนท้ายของการเสวนาว่า ไม่ได้ต้องการจะล้มประมูล เพียงแค่ทำหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลให้สื่อมวลชนไปเผยแพร่ต่อสังคม
“คณะทำงานอยากให้การประมูล 3G เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จโดยเร็วที่สุด แต่ กสทช. ยังคงต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการออกแบบการประมูลเพื่อให้ประเทศชาติได้รับประโยชน์สูงสุด โดยการปฏิบัติหน้าที่ต้องอยู่บนความโปร่งใสเป็นธรรม เปิดโอกาสให้สังคมตรวจสอบ และตอบคำถามได้ว่าการประมูล 3G ทำเพื่อชาติหรือเพื่อใคร” นางสุวรรณากล่าว