ThaiPublica > เกาะกระแส > กบอ. รื้อเงื่อนไขประมูลแผนจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ปรับคุณสมบัติใหม่ตามที่เอกชนไทยท้วงติง ใช้มูลค่า 10%ของโครงการ

กบอ. รื้อเงื่อนไขประมูลแผนจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ปรับคุณสมบัติใหม่ตามที่เอกชนไทยท้วงติง ใช้มูลค่า 10%ของโครงการ

15 สิงหาคม 2012


นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประธานคณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประธานคณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)

จากการที่นักวิชาการและภาคเอกชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ถึงความไม่เหมาะสมของกรอบความคิด (Conceptual Plan) ในการออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ ภายในวงเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ที่มีรายละเอียดเอื้อบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทต่างชาติ โดยนำเสนอให้รัฐบาลปรับแก้เงื่อนไขคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลใหม่

ทั้งนี้เงื่อนไขเดิมที่คณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้กำหนดคุณสมบัติ ของผู้ยื่นข้อเสนอกรอบความคิดดังกล่าว คือจะต้องมีการทำงานที่มีมูลค่าการก่อสร้างตั้งแต่ 2,000 ล้านบาทขึ้นไป และใน 10 ปีต้องมีผลงานรวมกันไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท โดยแต่ละชิ้นที่จะนับรวมกันต้องมีมูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านบาท ทำให้บริษัทสัญชาติไทยที่มีขนาดเล็กไม่สามารถเข้าร่วมยื่นข้อเสนอได้ เนื่องจากคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว

ล่าสุด หลังจากที่ กบอ. มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิด โดยหลังจากการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2555 คณะกรรมการได้เสนอ กบอ. ให้มีการแก้ไขคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ในกรณีที่มีผู้สนใจแยกยื่นเป็นรายแผนงาน

โดย กบอ. ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) และ ครม. ได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขดังกล่าวในการประชุม ครม. วันที่ 14 สิงหาคม 2555 ทำให้คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในปัจจุบันเป็นดังนี้

1. ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเคยมีผลงานด้านการออกแบบระบบพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรืองานออกแบบ หรือก่อสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ หรืองานออกแบบ หรือก่อสร้างระบบป้องกันหรือแก้ไขปัญหาอุทกภัย หรือภัยแล้งในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2545-2555 ในประเทศไทย หรือในต่างประเทศ มูลค่าการก่อสร้างรวมไม่น้อยกว่าร้อยละสิบ (10%) ของราคาก่อสร้างของแผนงานนั้นๆ และ

2. กรณีตามข้อ 1 ผู้ยื่นข้อเสนอเป็นกลุ่มของนิติบุคคลในลักษณะ Consortium หรือ Joint Venture มูลค่าผลงานดังกล่าวให้นับรวมผลงานของแต่ละนิติบุคคลเข้าด้วยกัน ผลงานที่จะนับรวมเข้าด้วยกันนั้น จะต้องมีมูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่าผลงานละ 200 ล้านบาท (สองร้อยล้านบาท)

กล่าวคือ การแก้ไขคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในครั้งนี้ จะทำให้กรอบความคิดดังกล่าวมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีการกำหนดกรอบกว้างๆ ของงานหลัก (Backbone) ในโครงการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 8 แผนงาน (งบประมาณ 3 แสนล้านบาท) จากเดิมที่กำหนดให้ต้องเคยมีผลงานมูลค่าไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท ก็กลายเป็นกำหนดให้มีผลงานมูลค่าไม่น้อยกว่า 10% ทำให้มีความชัดเจน และเป็นการเปิดช่องให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกยื่นข้อเสนอแผนงานใดแผนงานหนึ่งจากแผนงานทั้งหมดที่มี 8 แผนงานได้ ซึ่งการแก้ไขนี้ส่งผลไปถึงโครงการในแผนบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำอื่นๆ 17 ลุ่มน้ำด้วย

ขณะที่การแก้ไขคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอเป็นกลุ่มของนิติบุคคลที่จะนำมารวมกัน จากเดิมที่กำหนดให้ผลงานที่จะนำมารวม ต้องเป็นโครงการที่มีมูลค่าการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่มาก จะต้องเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่มากๆ จึงจะสามารถมีผลงานที่ใหญ่ขนาดนี้ได้ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ทำให้บริษัทขนาดเล็กเสียเปรียบ การแก้ไขให้มูลค่าโครงการที่จะนำมาคิดต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท จะเป็นการทำให้บริษัทขนาดเล็กสามารถเข้าร่วมเสนอโครงการได้มากขึ้น

ภายหลังจากการประชุม ครม. นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า นอกจากการปรับคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ยังมีการปรับกรอบระยะเวลาให้ผู้ที่จะเข้าร่วมประมูลงานต้องยื่นเอกสารประวัติการทำงานตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ จากเดิมภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2555 เป็นวันที่ 14 กันยายน 2555

ความคืบหน้างบน้ำท่วม 1.2 แสนล้าน

หลังจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบกลาง วงเงิน 120,000 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ ล่าสุด สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง ได้รายงานสถานะความก้าวหน้าการดำเนินการ เพื่อเสนอให้ ครม. รับทราบ ในวันที่ 14 สิงหาคม 2555 ดังนี้

1. โครงการภายใต้งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ จำนวน 120,000 ล้านบาท

1.1 การจัดสรร/การเบิกจ่าย/ลงนามสัญญาหรือดำเนินการเอง

– สำนักงบประมาณจัดสรรสุทธิ เป็นเงิน 118,121.4322 ล้านบาท

– ลงนามในสัญญาหรือดำเนินการเองแล้ว เป็นเงิน 106,994.7423 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 เป็นเงิน 1,081.2401 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.02

– ผลการเบิกจ่ายจากระบบ ระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐ แบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) เป็นเงิน 82,826.9881 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 70.12 จากยอดจัดสรร ข้อมูลวันที่ 8 สิงหาคม 2555

1.2 ผลการดำเนินงาน

– มิติส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีผลการดำเนินงานสูงกว่าร้อยละ 80 มีจำนวน 9 กระทรวง ที่เหลือมีผลการดำเนินงานต่ำกว่าร้อยละ 80 จำนวน 9 กระทรวง

– มิติจังหวัดที่มีผลการดำเนินงานสูงกว่าร้อยละ 80 มีจำนวน 49 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่เหลือมีผลการดำเนินงานต่ำกว่าร้อยละ 80 จำนวน 24 จังหวัด

ข้อสังเกตจากสรุปรายงานพบว่า ส่วนราชการฯ และจังหวัดบางแห่ง มีสถานะผลการเบิกจ่ายไม่สัมพันธ์กับผลการดำเนินงาน จึงเห็นสมควรที่จะเร่งรัดให้ส่วนราชการฯ และจังหวัดดังกล่าว ดำเนินการบันทึกข้อมูลผลการดำเนินงานในระบบรายงานแผน/ผลการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยของสำนักงบประมาณ ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงต่อไป ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้มีหนังสือแจ้งให้ส่วนราชการฯ และจังหวัด เร่งดำเนินการปรับปรุงข้อมูลดังกล่าวแล้ว

1.3 การส่งคืนเงินงบประมาณและการใช้จ่ายจากเงินที่แจ้งส่งคืน

– ส่วนราชการฯ ส่งเงินคืนในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) เป็นเงิน 5,191.2585 ล้านบาท และเงินที่ส่วนราชการจะใช้จ่ายจริงน้อยกว่ากรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเป็นเงิน 139.0060 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่จัดสรรเพิ่มเติมได้อีก จำนวน 5,330.2645 ล้านบาท

– คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ใช้จ่ายจากเงินที่ส่วนราชการฯ ส่งคืนงบประมาณรวม 5 ครั้ง เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 55, 19 มิ.ย. 55, 10 ก.ค. 55, 17 ก.ค. 55, และ 24 ก.ค. 55 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,824.5776 ล้านบาท (สำนักงบประมาณจัดสรรแล้ว 3,331.6002 ล้านบาท) ดังนั้น คงเหลือวงเงินที่คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติเพิ่มเติมได้อีก เป็นเงิน 505.6869 ล้านบาท (5,330.2645 – 4,824.5776 ล้านบาท)

2. การจัดสรรเงินกู้โครงการเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555

– มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 และวันที่ 5 มิถุนายน 2555 อนุมัติวงเงินรวมทั้งสิ้น 28,918.8612 ล้านบาท

– สำนักงบประมาณจัดสรรเงินกู้ฯ ให้ส่วนราชการ จำนวน 21,372.1058 ล้านบาท คงเหลือ จำนวน 7,546.7554 ล้านบาท ได้แก่

(1) กระทรวงคมนาคม จำนวน 3,981.9880 ล้านบาท

(2) กระทรวงอุตสาหกรรม 3,236.6940 จำนวน ล้านบาท

(3) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 310.7484 ล้านบาท

(4) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 17.1250 ล้านบาท

(5) กระทรวงมหาดไทย จำนวน 0.2000 ล้านบาท