ThaiPublica > คนในข่าว > “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” สะท้อนผลงานรัฐบาล 1 ปีที่สูญเปล่า – กระตุกสำนึกความยั่งยืนและวันที่ตกเป็นเป้า
“แก๊งค์ไอติม”

“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” สะท้อนผลงานรัฐบาล 1 ปีที่สูญเปล่า – กระตุกสำนึกความยั่งยืนและวันที่ตกเป็นเป้า
“แก๊งค์ไอติม”

18 สิงหาคม 2012


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

“….ครูใหญ่นอกประเทศ อยากจะทำอะไรรัฐบาลก็ขยับกันไปหมด รัฐบาลควรพยายามก้าวให้พ้นตรงนั้น ทำให้การเมืองมันนิ่ง และจะได้มาเดินหน้าด้วยนโยบาย”

วันวาน…เขาคือนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของไทย

วันนี้…เขาคือผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

ตลอดระยะเวลา 1 ปี กับ “บทบาท” ที่เปลี่ยนไปของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

จาก “ผู้ทำ” เป็น “ผู้ดู” การบริหารงานของรัฐบาลที่มารับไม้ต่อ ได้สร้างความ “สะเทือน” ให้กับซีกฝ่ายรัฐบาลไม่มากก็น้อย

โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน 16 ข้อ ที่ “รัฐบาลนารี” ภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา

บางนโยบายถูกขับเคลื่อนได้ตามกรอบ

บางนโยบายถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึง “ปลายทาง” ที่ล้มเหลว

บางนโยบายกลับกลายเป็น “ชนวน” ที่สร้างความขัดแย้งในสังคม

“อภิสิทธิ์” เปิดห้องที่อาคาร “มูลนิธิควง อภัยวงศ์” พูดคุยกับ “สำนักข่าวไทยพับลิก้า” ถึง “ผลงาน” ของรัฐบาลหลัง 356 วันผ่านพ้นไป

ไทยพับลิก้า : ในฐานะคนดูการบริหารงานของรัฐบาล มองเห็นอะไรบ้างในปีที่ผ่านมา

ถ้าพูดถึงการประเมินการทำงาน 1 ปีของรัฐบาล ผมประเมินใน 3 มุมนะครับ มุมแรก คือ การบริหารในแง่ของภาวะเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง ปีที่ผ่านมารัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมซึ่งเป็นภัยธรรมชาติ ส่วนหนึ่งก็เป็นความผิดพลาดในการบริหารซึ่งทำให้เกิดความเสียหาย และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบวกกับตัววิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป ซึ่งส่งผลมาถึงเศรษฐกิจไทย ก็ทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการ ผลที่ออกมาขณะนี้ที่เราเห็นนี่ หนึ่ง ตัวเลขเศรษฐกิจได้รับผลกระทบรุนแรงมาก ปีที่แล้วก็ขยายตัวต่ำกว่าเป้าเยอะ ซึ่งมีน้ำท่วม ก็ไม่ว่ากัน แต่ขณะนี้ผลที่มันยืดเยื้อมาถึงปัจจุบันที่มันสะท้อนออกมาก็คือการส่งออก ซึ่งห่างไกลจากเป้าหมาย และก็เป็นปัญหาการขาดดุลการค้า ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดด้วย ซึ่งถ้าครบปียังขาดดุลอยู่ก็เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีนะครับ ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก ขณะเดียวกัน แนวการบริหารจัดการของรัฐบาลในเรื่องของการป้องกันน้ำท่วม ซึ่งเคยมีการออก พ.ร.ก. มา 4 ฉบับ ก็ชัดเจนว่ายังไปไหน

สำคัญคือเราไม่เห็นภาพของการเอาจริงเอาจัง ว่าเมื่อเกิดปัญหาจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกแบบนี้ แนวคิดรัฐบาลที่จะปรับท่าที ปรับการบริหารของตนเองจะเป็นอย่างไร เราเห็นแต่ความมุ่งมั่นในการที่จะเดินหน้าว่าอยากจะใช้เงินเยอะๆ อยากจะใช้เงินนอกงบประมาณและตัวโครงการ ความโปร่งใสอะไรต่างๆ มีปัญหาหมด เพราฉะนั้นเราก็จะเห็นว่า แม้เราเห็นประเทศหลายประเทศในยุโรปมีปัญหา รัฐบาลแทนที่จะเตือนว่าจะต้องเข้มงวดกวดขันให้มีประสิทธิภาพการใช้จ่ายอย่างไร กลับมีการพูดว่าอาจจะกู้เงินเพิ่มนอกงบประมาณมาอีก 2 ล้านล้านบาท มาลงทุนในโครงการซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าคือโครงการอะไร และถ้าดูจากเงิน 3.5 แสนล้านบาท ก็เป็นการพยายามเลี่ยงการใช้กฎเกณฑ์ของการใช้เงินงบประมาณกับระเบียบพัสดุมากกว่า ซึ่งก็น่าเป็นห่วง นี่ก็เป็นตัวอย่างว่าในเศรษฐกิจภาพรวมการเงินการคลัง นี่มันคือสิ่งที่เกิดขึ้น (เคาะโต๊ะ)

ปัญหาอย่างเช่นปัญหาภาคใต้ ก็เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นปัญหามากขึ้นด้วยการขาดความชัดเจนในนโยบายของรัฐบาล นี่เป็นมุมหนึ่งที่มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ปัญหาความมั่นคงเป็นอย่างไร ยังไม่นับรวมปัญหาการต่างประเทศ ซึ่งท่าทีที่เราวางต่อสมการที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในแง่ของบทบาทของสหรัฐฯ กับจีนในภูมิภาค ผมว่าประเด็นเหล่านี้ขาดความชัดเจนทั้งสิ้น รัฐบาลบริหารเสมือนกับว่ายังอยู่ในกรอบเดิมๆ คิดว่าจะมาใช้เงิน ถ้าไม่มีเงินงบประมาณก็จะกู้เงิน คิดว่าจะมาทำเมกะโปรเจก นั้นคือมุมที่หนึ่ง

มุมที่สอง รัฐบาลนี้ก็มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีการหาเสียงในนโยบายไว้หลายนโยบายนะครับ ซึ่งผ่านมา 1 ปี ก็ยังไม่สามารถที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นได้ ล้มเหลวที่สุดก็คงจะเป็นที่บอกว่าจะกระชากค่าครองชีพลง ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยสิ้นเชิง ปัญหาของแพงซึ่งมันไม่ใช่แค่บอกว่าเป็นเรื่องของตลาด แต่ว่าเป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลเอง เรื่องพลังงาน และเรื่องอื่นๆ ก็คือปัญหา

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นโยบายค่าแรงซึ่งทำไป 7 จังหวัด และสิ้นปีจะต้องทำกันทั้งประเทศ ทำไปทำมาปรากฏว่าเจอปัญหาทั้ง 2 ด้าน ด้านหนึ่งก็คือว่ายังมีการปล่อยให้มีการหลบเลี่ยงที่จะจ่ายเงิน 300 บาทจริง พูดง่ายๆ คือคนงานไม่ได้เงินอย่างที่สัญญาเอาไว้ แต่อีกด้านหนึ่ง ธุรกิจจำนวนมากไม่สามารถปรับตัวได้ และแนวที่รัฐบาลใช้ในการช่วยธุรกิจปรับตัวไม่ตรงกับความต้องการ หรือไม่ตรงกับสถานการณ์

รายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาท ไม่ได้เกิดขึ้น กลายเป็นเงินเพิ่มเงินช่วยเหลือ และยังไปสร้างปัญหาให้กับหลายองค์กร อย่างเช่น โรงเรียนเอกชน อย่างนี้เป็นต้น และที่ดูว่าจะเป็นนโยบายที่ล้มเหลวและเสียหายมากที่สุดก็คือ จำนำข้าว แทบไม่มีเกษตรกรรายไหนได้เงิน 15,000 บาท เงินที่ใช้ลงไปทุกฝ่ายก็มองตรงกันว่าขาดทุนเป็นหลักแสนล้าน เฉพาะค่าบริหารก็ 3-4 หมื่นล้านบาท สูญเปล่า ไม่ได้ไปถึงเกษตรกรเลย ทำให้การส่งออกข้าวมีปัญหามาก ผู้ประกอบการกำลังจะต้องเลิกกิจการบ้าง กำลังจะต้องใช้วิธีเอาข้าวประเทศอื่นไปขายบ้าง อันนี้เป็นปัญหาในเชิงนโยบายที่เป็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

มุมที่สาม ก็ต้องบอกว่า ขณะที่ปัญหาเยอะแยะ นโยบายเดินไม่ได้ ความพยายามที่จะช่วยเหลือคุณทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) อันนี้ก็เดินไปหลายเรื่องแล้ว หลายคดีที่เห็นว่าท่าทีหน่วยงานของรัฐเปลี่ยนแปลงโดยชัดเจน และยังมีการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งจากเรื่องรัฐธรรมนูญ กฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งก็ทำให้การเมืองอยู่ในวังวนของความขัดแย้งเหมือนเดิม ผมก็มองปีหนึ่งในสามมุมนี้

ไทยพับลิก้า : ถ้าเปิดสมุดพกของรัฐบาลชุดนี้ จะเห็นเกรดอะไรในนั้น

(หัวเราะ)…พอพูดถึงว่าเป็นเกรด เดี๋ยวจะกลายเป็นเรื่องความเห็นไป ผมว่าสิ่งที่ผมพูดเป็นเรื่องข้อเท็จจริงดีกว่านะครับ ก็ตรวจกันไป รัฐบาลบอกว่าค่าครองชีพจะลดลง แล้วลดลงไหมล่ะ รัฐบาลบอกว่าทุกคนจะได้เงินเดือน 15,000 บาท แล้วได้หรือเปล่า รัฐบาลบอกว่าจำนำข้าวเกษตรกรจะได้ 15,000 บาท ได้หรือเปล่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ส่งออกเป็นอย่างไร ขาดดุลเป็นอย่างไร ผมว่าเอาข้อเท็จจริงเรียงแล้วก็ดูสิว่ามันเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นไปไหม

ไทยพับลิก้า : แต่ถ้าให้ครูใหญ่นอกประเทศตรวจ ข้อ 3 อาจจะพอใจมาก

ก็คงยังไม่ได้คะแนนเต็มนะครับ (ยิ้ม) เพราะว่ายังเดินไม่ได้อยู่หลายเรื่อง แต่ว่าผมก็คิดว่าไม่เห็นชัดเจนว่าเมื่อไหร่ที่…ใช้คำว่าอะไรนะ ครูใหญ่นอกประเทศ (หัวเราะ) อยากจะทำอะไรรัฐบาลก็ขยับกันไปหมด รัฐบาลควรพยายามก้าวให้พ้นตรงนั้น ทำให้การเมืองมันนิ่ง และจะได้มาเดินหน้าด้วยนโยบาย ซึ่งใครจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยก็ว่าไปตามขบวนการ นี่ เราก็เสียโอกาสตรงนั้นอีก เพราะว่ายังไม่หยุดขับเคลื่อนตรงนี้ และก็คงไม่เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับคุณทักษิณอย่างเดียว ปัญหาเรื่องเสื้อแดงในช่วงปีที่ผ่านมาก็เหมือนกัน ที่ยังมีการขยายหมู่บ้านเสื้อแดง ยังมีความพยายามในการปลุกระดมเคลื่อนไหวในลักษณะซึ่งไม่ได้เป็นผลดีต่อเสถียรภาพของบ้านเมืองนะครับ ไม่ได้เป็นผลดีต่อบรรยากาศที่จะเอื้อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า

ไทยพับลิก้า : จากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมด อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลยังคงเดินมาถึงวันนี้

ผมถือว่า…จริงๆ คำถามนี้มันไม่ควรเกิดน่ะนะครับ เพราะรัฐบาลเขาชนะการเลือกตั้งมา เขาก็ต้องมีโอกาสทำงาน 4 ปี จริงๆฝ่ายค้านในยุคนี้ก็ไม่ได้สร้างความวุ่นวาย ไม่ได้ไปปลุกระดมให้คนมาขัดขวางการทำงานต่อต้านเผาบ้านเผาเมืองอะไร ตัวช่วยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็มีอยู่ เช่น การเข้าไปแทรกซึมสื่อหลักต่างๆ แน่นอนว่าเสียงข้างมากในสภาก็มีอยู่แล้ว ฉะนั้นก็ต้องอยู่ได้ครับ แต่ปัญหามีอยู่ว่า ถ้าอยู่แล้วขับเคลื่อนบ้านเมืองไปทางไหน น่าจะมองในเชิงตรงกันข้ามด้วยซ้ำว่า ทั้งๆ ที่มีเสถียรภาพ มีเสียงข้างมากในสภา และประชาชนเองเหนื่อยหน่ายกับปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ทำไม 1 ปีกลับไม่ใช้โอกาสนั้นในการผลักดันให้บ้านเมืองหลุดพ้นจากสภาพความขัดแย้ง และก็เดินหน้านโยบายต่างๆ ทำได้ไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง

ไทยพับลิก้า : ที่ต้องถามถึงการอยู่ของรัฐบาลชุดนี้ เพราะบางฝ่ายวิเคราะห์ว่ารัฐบาลมีตัวช่วยเข้มแข็ง ในขณะที่ตัวช่วยของพรรคประชาธิปัตย์อ่อนกำลังลงหรือไม่

ผมไม่ได้มองในเชิงว่าใครตัวช่วยแข็งขันหรือไม่แข็งขันนะครับ โดยปกติ อย่างที่บอก คำถามไม่ควรจะมีน่ะ รัฐบาลก็มีหน้าที่ทำงานไป ฝ่ายค้านก็มีหน้าที่ตรวจสอบนะครับ แต่ว่าความที่รัฐบาลมีวาระในการช่วยเหลือคุณทักษิณอยู่ ก็ทำให้การเมืองไม่ปกติเสียที แต่ถ้ารัฐบาลสลัดตรงนี้ออกไปนี่ การเมืองมันก็จะเป็นอย่างที่ควรจะเป็น

ไทยพับลิก้า : ถ้ารัฐบาลตัดคุณทักษิณออกไป บทบาทของฝ่ายค้านจะเป็นอย่างไร เพราะนักวิเคราะห์บอกว่าถ้าไม่มีเรื่องคุณทักษิณ พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่มีพื้นที่ในสื่อหรือในกระแส

มันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้นหรอกครับ ตรงกันข้าม กรณีของนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำงานตรวจสอบในเชิงนโยบายค่อนข้างชัดเจน สิ่งที่เราเตือนเรื่องจำนำข้าว สิ่งที่เราเตือนในโครงการหลายโครงการจะเป็นปัญหาภาคใต้ ปัญหาทางการเมืองที่ไม่เกี่ยวข้องกับคุณทักษิณ ก็เป็นบทบาทหน้าที่ที่เราทำ พร้อมทำ และได้ทำนะครับ ที่จริงลองเปรียบเทียบกับสมัยที่แล้วสิครับ เราเคยได้ยินพรรคเพื่อไทยนำเสนออะไรในเชิงนโยบายบ้าง ไม่มีเลยนะครับ แต่ทางพรรคประชาธิปัตย์วางเป็นระบบ มีการประชุม ครม.เงา เพื่อติดตามมติ ครม. ในเรื่องต่างๆ ทุกกระทรวง และมีการนำเสนอความคิด แต่ก็เป็นธรรมชาติว่าเรื่องแบบนี้อาจจะไม่ได้รับความสนใจเท่ากับเวลาที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง

แต่ผมได้เน้นย้ำว่าเราต้องทำแบบนี้ และยังเดินหน้าทำมากกว่านั้น คือ การที่เราพยายามที่จะทำโครงการออกแบบประเทศไทย ซึ่งกำลังเพิ่มความเข้มข้นขึ้นจากการประกาศว่า เราต้องการเห็นอนาคตของประเทศไทยที่คนไทยปรารถนา มีการวางแผนมีการเตรียมการเป็นระบบ รัฐบาลที่แล้วได้เริ่มโครงการหนึ่งซึ่งให้ สสส. กับองค์กรที่เกี่ยวข้องไปทำเรื่องดัชนีการวัดความก้าวหน้าของประเทศ แทนที่จะดูเฉพาะตัวเลขจีดีพีหรือตัวเลขใดตัวเลขหนึ่ง มีการจัดทำตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต ความพึงพอใจของคนบวกกับความเข้มแข็งของประเทศ ตรงนี้จะมาสอดรับกับสิ่งที่เรากำลังทำโครงการออกแบบประเทศไทย เราจะมาขยายผลตรงนี้ไม่ได้เกี่ยวกับปัญหาการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น น่าสงสัยด้วยซ้ำว่าทำไมเรื่องนี้รัฐบาลกับไม่สานต่ออย่างจริงจัง

ไทยพับลิก้า : ถ้าให้นึกไวๆ ว่ารัฐบาลของท่านใน 2 ปีเศษ คนได้อะไรบ้าง

คนก็ได้เศรษฐกิจที่ฟื้นขึ้นมาจากภาวะวิกฤติของเศรษฐกิจโลก ฟื้นตัวอย่างค่อนข้างรวดเร็ว คนได้เห็นนโยบาย อย่างเช่น การประกันรายได้ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างทั่วถึง และไม่กระทบกับการค้าขายสินค้าเกษตร ได้เห็นการเอาจริงเอาจังเรื่องการผลักดันโอกาสในการศึกษา ได้เห็นความพยายามของรัฐบาลที่จะให้ระบบสภามีความศักดิ์สิทธิ์ มีความรับผิดชอบในมาตรฐานประเทศที่ปกครองในระบบรัฐสภาประเทศหนึ่ง

ไทยพับลิก้า : ระหว่างเรื่องภาพลักษณ์ของท่านกับผลงาน อะไรสำคัญกว่าในทางการเมือง

ผมว่าสุดท้ายต้องเป็นเรื่องของตัวผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ เพราะฉะนั้น ประชาชนรับผลจากตรงนี้ ภาพลักษณ์อาจจะเป็นความรู้สึกความเข้าใจ แต่สุดท้ายมันหนีความจริงไปไม่พ้น สุดท้ายก็ต้องอยู่กับความจริง เพียงแต่ว่าทำอย่างไรประชาชน และสังคมนี่จะประเมินความจริง โดยไม่ถูกภาพลวงตาเกี่ยวกับภาพลักษณ์หลายอย่างเข้ามาบดบัง ยกตัวอย่างเช่น ภาพลักษณ์บอกว่าพรรคเพื่อไทย คุณทักษิณ จะเข้ามาขจัดความยากจน แต่ความจริงก็คือความยากจนยังมีอยู่ ไม่เคยได้รับการแก้ไขโดยนโยบายประชานิยม

เมื่อกี้ถามว่าสองปีกว่าๆ รัฐบาลที่แล้วเราเริ่มต้นในระบบสวัสดิการ เราอยากให้ตรงนี้มันมีการหยิบยกขึ้นมา นโยบายที่เกี่ยวข้องกับกองทุนเงินออม โฉนดชุมชน ต้องแก้ความเหลื่อมล้ำต่างๆ รัฐบาลนี้กลับประกาศค่อนข้างชัดด้วยซ้ำ ว่าไม่สนับสนุน แต่ภาพลักษณ์ก็บอกว่าให้ความสำคัญกับความเป็นธรรม เอาความไม่เป็นธรรมมาปลุกระดมในเชิงการเมือง แต่ไม่แก้ไข

ไทยพับลิก้า : สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่เป็นมีความแตกต่างกันอยู่

ยังแตกต่างกันอยู่ ผมคิดว่ายังเป็นอย่างนั้น คงต้องใช้เวลาในการที่สังคมจะเรียนรู้

ไทยพับลิก้า : ปกติคนจะให้โอกาสการทำงานจากการประทับใจในภาพลักษณ์ หน้าตา เวลานานแค่ไหน

ผมว่าคำว่าให้เวลาไม่ให้เวลามันเป็นภาพลวงตาอย่างหนึ่งเหมือนกัน

ไทยพับลิก้า : ตอนท่านเป็นนายกฯ ได้เวลานานหรือไม่

ผมคิดว่าจริงๆ แล้วสังคมให้โอกาสทำงาน แต่ (เน้นเสียง) ฝ่ายค้านกับคนที่เขาปลุกระดมมาไม่เคยให้โอกาสแม้แต่วันเดียว เพราะแม้แต่ผมได้รับลงคะแนนเสียงในสภา ออกมาก็เจอขว้างปาด้วยตัวหนอน ก้อนอิฐ เผารถตั้งแต่แรก แต่รัฐบาลนี้โชคดีที่ฝ่ายค้านไม่ทำอย่างนั้น ลองนึกภาพสิครับว่า ถ้าฝ่ายค้านเล่นบทแบบเดียวกับที่เพื่อไทยเคยทำ แปลว่าคุณยิ่งลักษณ์ไปไหน ก็หาคนจะกี่คนก็แล้วแต่ ไปคอยตะโกนประท้วง และเอาคนมาปิดล้อมชุมนุมใหญ่ ขู่เข็ญ มีกระทั่งก่อการร้าย จะหนักหนาสาหัสแค่ไหนเราก็ไม่ทำ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วโอกาสรัฐบาลมีมากก็ไม่ควรปล่อยโอกาสหลุดลอยไป

ทีนี้ โอกาสรัฐบาลหลุดลอยไปมันไม่น่าเสียดายเท่าโอกาสของประเทศ เพราะอีกไม่นานประชาคมอาเซียนก็เกิด แต่เรากำลังทำอะไรกับประเทศเราในแง่ของความสามารถในการแข่งขันขณะนี้ ซึ่งคนก็บ่นหมดว่านโยบายออกมามีแต่เพิ่มต้นทุนให้กับธุรกิจ มีแต่ซ้ำเติมความสามารถในการแข่งขัน และมีการก่อเรื่องให้วุ่นวายขึ้น แทนที่จะทำให้บ้านเมืองมันสงบเพื่อที่จะดึงดูดให้เราเป็นศูนย์กลางของอินโดจีนด้วย

ไทยพับลิก้า : ถ้าเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ไป โอกาสจะอยู่กับรัฐบาลอีกนานเท่าไหร่

ผม…ผมไม่ได้ให้ความสำคัญตรงนั้น แต่ให้ความสำคัญว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับบ้านเมืองมากกว่า การสูญเสียตลาดข้าวไม่ใช่ว่าจะเอากลับคืนมาได้ง่าย ตรงนี้ต่างหากที่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้น มันไม่ได้สำคัญอยู่ที่ว่า เอ๊ะ…รัฐบาลจะอยู่อีกนานเท่าไหร่ หรืออย่างภาคใต้ ไม่ใช่ว่าทำผิดจะแก้ไขได้ง่ายๆ เพราะที่เดือดร้อนมาถึงทุกวันนี้ เพราะปัญหาที่มันเดินผิดในช่วงปี 44-48

ไทยพับลิก้า : ความคืบหน้าของโครงการออกแบบประเทศไทยไปถึงไหนแล้ว

ของ สสส. ใกล้จะเสร็จแล้ว เขาได้ไปทำการสำรวจคน น่าจะเป็นหลักแสน ทั่วประเทศ รายจังหวัด และก็กำหนดออกมาว่าดัชนีที่จะใช้ในการวัดความพึงพอใจของคน แบ่งเป็นด้านต่างๆ การศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และความสงบเรียบร้อยในสังคม รู้สึกเขาจะได้ตัวเลขมาหมดแล้ว ขั้นตอนของเขาขณะนี้ก็คือว่า จะเอาวิธีการวัด ตัวชี้วัดสำคัญๆ มาทำเป็นดัชนีอย่างไร และเราเองติดตามตรงนั้นเพื่อที่ว่า เรามองว่าการออกแบบประเทศไทย และนโยบายต่อ มันต้องตอบโจทย์ตรงนั้น มากกว่าที่จะทำกันอยู่ขณะนี้ที่วัดว่าจีดีพีโตเท่าไหร่ และดูว่าบ้านเมืองสงบเรียบร้อยไหม การศึกษามีงบลงไปเท่าไหร่ มันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่ควรจะดูตัวที่สามารถจะวัดคุณภาพชีวิตคนได้จริงๆ

ไทยพับลิก้า : มอบโจทย์อะไรไปบ้าง

ตอนนั้นให้โจทย์ไปก็คือ เขาไปดูจากตัวอย่างที่หลายประเทศทำ ถ้าเขาเดินตัวนี้จริงจังผมกลับมองว่าของเราน่าจะก้าวหน้ากว่าประเทศอื่น อย่าง UN นี่เขาจะทำเรื่องดัชนีวัดการพัฒนามนุษย์ แต่ก็จะหยาบมากนะครับ ตัวชี้วัดที่เราจะหยิบมาจากของ IMB, WEF และก็จะมีพวกทำความสุขมวลรวมอะไรพวกนี้ สำหรับในส่วนของผมก็ได้แสดงจุดยืนไปว่า สิ่งที่ผมอยากเห็นแบ่งออกมา 10 เรื่อง อยากเห็นเรื่องสังคมอบอุ่น เพราะว่าตอนนี้ตัวชี้วัดเรื่องการหย่าร้าง เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ อะไรต่างๆ ก็พุ่งสูงขึ้น อยากเห็นสังคมการเรียนรู้ เพราะการศึกษาเราตอนนี้ถูกมองว่าถดถอย เศรษฐกิจยังไม่ตอบโจทย์สังคม โดยเฉพาะเจอนโยบาย 1.5 หมื่นบาทสำหรับปริญญาตรี ยิ่งซ้ำเติมอาชีวะ การศึกษาสายอาชีพ เรื่องสังคมเป็นธรรม เรื่องที่ทำกิน การถือครองทรัพยากร ซึ่งจะมีจุดขัดแย้งมากขึ้น

เรื่องสังคมสวัสดิการ เราต้องการที่จะขยายสวัสดิการ กองทุนเงินออมแห่งชาติ สวัสดิการชุมชนท้องถิ่น เราก็คิดว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ในอนาคตมันต้องมี และอีก 10 ปีข้างหน้าเราจะเป็นสังคมผู้สูงอายุนะครับ เราก็ดูตัวอย่างจากยุโรปว่าถ้ามาวางระบบให้ดี ภาระต่างๆ จะเกิดขึ้นอย่างไร ในแง่เศรษฐกิจเอง เราเน้นว่าทำอย่างไรที่จะฟื้นภาคการเกษตรขึ้นมา ซึ่งสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับนโยบายจำนำที่จะทำลายความเข้มแข็งของเกษตร เรื่องเศรษฐกิจที่ต้องอิงกับนวัตกรรมความรู้เพิ่มมูลค่า เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างนี้จะเห็นชัดเจนขึ้น เรื่องนิคมอุตสาหกรรมและการอยู่ร่วมกันในชุมชน การเมือง เราอยากเห็นการเมืองที่การใช้สิทธิเสรีภาพทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ การเมืองที่โปร่งใส ปัญหาการทุจริตยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาก

เป็นอีกเรื่องที่เราเสียดายโอกาสว่า เอกชนขยับเป็นเรื่องเป็นราวเป็นครั้งแรกที่จะมาช่วยทำเรื่องนี้ แต่รัฐบาลกลับไม่อำนวยความสะดวกให้เขาเข้ามามีบทบาท แน่นอน ในเรื่องตำแหน่งของเราในอาเซียนว่าควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งรัฐบาลที่ดูจะเดินหน้าก็มีเฉพาะในประเด็นของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีการไปสานต่อเรื่องทวาย เรื่องรถไฟความเร็วสูง แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนให้ลำดับความสำคัญ ตรงนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นเองในแง่ของกฎระเบียบ การเตรียมความพร้อมที่เกี่ยวกับอาเซียนยังน้อย งบที่เกี่ยวกับอาเซียนทั้งหมดเป็นงบประชุมสัมมนาของหน่วยงานต่างๆ ที่มันเลยจุดนั้นมาแล้ว

ไทยพับลิก้า : พิมพ์เขียวจะออกมาเมื่อไหร่

คือเวลานี้ผมก็เดินทางไปหลายจังหวัดนะครับ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจะได้จัดทำเป็นร่าง และอยากจัดทำเป็นลักษณะคล้ายๆ กับประชุมใหญ่ เดิมทีก่อนที่จะมีเรื่องปัญหาว่าสภาประชุมยืดเยื้อนี่ อยากจะให้เวลาช่วง 3-4 เดือน เอาเข้าจริงปิดได้แค่เดือนเดียว เพราะฉะนั้นตรงนี้กระทบบ้าง แต่ก็คิดว่าภายในสิ้นปี ต้นปีหน้า จะต้องจัดทำในรูปของเวิร์กช็อป การประชุม ระดมความคิดเห็น สัมมนาได้

ไทยพับลิก้า : กลับมารอบใหม่ประชาธิปัตย์จะมียุทธศาสตร์ของประเทศชัดเจนมากยิ่งขึ้นไหม

ใช่…ผมคิดว่าการที่เราจะทำเรื่องการออกแบบประเทศไทย มันจะเป็นตัวที่เป็นกรอบให้เกิดความชัดเจนในเชิงนโยบาย และเป็นนโยบายซึ่งมันเป็นความยั่งยืนด้วย ไม่ใช่นโยบายที่แข่งขัน บลัฟกันว่าอะไรจะถูกใจประชาชนมากกว่า ซึ่งก็เป็นเรื่องยากนะครับ ผมก็เข้าใจว่าทางการเมืองไม่ง่ายหรอกที่จะนำไปสู่ชัยชนะ แต่ผมก็พูดเสมอว่า ถ้าทุกพรรคไปแข่งขันกันแบบนั้น เราก็คงได้เห็นประเทศไทยล่มสลายตามประเทศอื่นแน่นอน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ไทยพับลิก้า : ตัวความยั่งยืนที่พูดถึง จะทำอย่างไรให้คนเข้าใจประเด็นตรงนี้

เราก็พยายามอธิบาย แต่ผมว่าฝ่ายต่างๆ ในสังคมจะต้องกระตุกให้ประชาชนคิด ผมเห็นฝ่ายวิชาการเขาออกมากันมากขึ้น สื่อก็คงต้องทำหน้าที่ในการให้มุมมองตรงนี้ด้วย แต่อย่างที่บอกว่ายุคนี้ก็มีประเภทสื่อตัวช่วยที่เบี่ยงเบนประเด็นเหล่านี้ออกไป สังคมก็ต้องเรียนรู้ ผมกลัวอย่างเดียวครับว่า บางประเทศ บางสังคม ที่เขาต้องเรียนรู้ คือต้องผ่านความล่มสลายเสียก่อนถึงจะเรียนรู้กัน เราก็อยากจะให้ทำอย่างไรไม่ต้องให้ประเทศไทยไม่ได้เดินตามรอยอย่างนั้น เห็นเพื่อนตกเหวไปแล้วยังจะต้องรอให้ตกเหวก่อนก็ไม่ดี

ไทยพับลิก้า : มีสัญญาณไหมว่าเราจะล่มสลาย

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ สมมุตินโยบายจำนำข้าว ถ้าเราเดินหน้าต่อไปอีก 3-5 ปี ผมว่าก็ได้เห็นอะไรเยอะครับ และถ้ากู้เงินมาอีก 2.2 ล้านล้าน และใช้จ่ายโดยไม่ต้องดูว่าโครงการ ไม่ต้องจัดลำดับความสำคัญ ไม่ต้องใช้ระเบียบพัสดุผมว่าคงใกล้เคียงความหายนะเหมือนกันนะครับ

ไทยพับลิก้า : มองอนาคตประเทศอย่างไร

น่าเป็นห่วงมาก ถ้าเราไม่ปรับค่านิยมหลายอย่าง จุดอ่อนที่สุดคือความไม่เป็นมืออาชีพในทุกวงการ เราทำอะไรกันเล่นๆ และเป็นเรื่องของพรรคพวกกันเอง เราไม่มีความจริงจังกับมาตรฐานของอาชีพ วิชาชีพเลย เกือบทุกวงการ อันนี้น่ากลัวสุด

    ว่าด้วยความสัมพันธ์ของตัวเลข “เด็ก แก่ และแกงค์ไอติม” ในวันที่ตกเป็นเป้า!!!

    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

    แม้อายุจะเป็นเพียงตัวเลข

    แต่บ่อยครั้งที่ “ตัวเลข” ที่เรียกกันว่า “อายุ” ถูกนำไปใช้เป็น “เครื่องมือ” ทางการเมือง

    ตัวเลขปีเกิด 2507 ถือเป็น “จุดอ่อน” จาก “ปมเด่น”ในความเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ ของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

    นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2548 ด้วยอายุ 41 ปี เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายัง “เด็ก” เกินกว่าที่จะมาถือธงนำให้กับพรรคเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่าเขาหลายสิบปี

    3 ปีถัดมา “อภิสิทธิ์” กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ในขณะที่มีอายุ 44 ปี

    จวบจนวันนี้ วันที่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเพิ่งฉลองครบรอบวันเกิดปีที่ 48 ไปไม่นาน “อายุ” ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามนำมาโจมตีเขาเสมอ

    แต่กระนั้น “อภิสิทธิ์” มองเรื่องเหล่านี้มองว่าเป็นเพียงการสร้างวาทกรรมเท่านั้น

    “คือ…มันอยู่ที่มุมมองแหละครับ ตอนผมเป็นหัวหน้าพรรค อายุเท่าไหร่เอง อายุ 41 เขาก็ว่าเด็ก พอเป็นนายกฯ อายุ 44 เขาก็ว่าเด็ก แต่เวลาคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ อายุ 44 เขาไม่เคยพูดเรื่องอายุนะครับ ก็ธรรมดา มันเป็นเรื่องแล้วแต่ว่าใครจะหยิบอะไรขึ้นมา”

    เขาเชื่อว่าด้วยเหตุเพราะพรรคประชาธิปัตย์มีนักการเมืองลายครามจำนวนมาก เรื่อง “เด็ก” เรื่อง “แก่” จึงถูกหยิบยกมาเป็นประเด็น

    “เขาพยายามที่จะอาศัยว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่เก่าแก่ มันจะมีคนตั้งแต่รุ่นเกือบ 80 ไล่ลงมา เพราะฉะนั้นเขาพยายามจะยุแหย่เท่านั้นเอง ว่าผู้หลักผู้ใหญ่ต้องไม่พอใจผู้นำรุ่นนี้อะไรทำนองนี้”

    แต่เป็นที่โชคดีว่าอดีตหัวหน้าพรรครุ่นเก๋าทั้ง “ชวน หลีกภัย” และ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ไม่ได้ “ไขว้เขว” และพร้อมให้การสนับสนุน เพราะบุคคลทั้งสองรู้ว่าประชาธิปัตย์กำลังต่อสู้กับอะไรอยู่

    ข่าวการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ซีกฝ่ายเพื่อไทยกำลังตีปี๊บอยู่ในขณะนี้ “อภิสิทธิ์” จึงปฏิเสธทันทีว่าไม่เป็นความจริง

    “เอาเถอะครับ…ช่วงนี้วันหยุดเยอะครับ แก้เหงาวันหยุดไป”

    ถามย้ำถึงความต่างในเรื่องหัวหน้าพรรคมีความก้าวหน้า ซึ่งถือว่าตรงข้ามกับพรรคที่มีความเป็นอนุรักษนิยม จนนำไปสู่คำถามที่ว่า “อภิสิทธิ์” เป็น “เดโมแครต” จริงหรือไม่

    “อภิสิทธิ์” หัวเราะก่อนตอบว่า “ผมว่ามันไม่มีอะไรหรอกครับ แต่ทางฝ่ายพรรคเพื่อไทยเขาก็เล่นการเมืองแบบนี้ คือ หนึ่ง ทำอะไรก็ได้ให้คนต้องมานั่งประเมินเขาตามข้อเท็จจริงเรื่องนโยบาย ทำการเมืองให้เป็นเรื่องดิสเครดิต ทะเลาะกัน คือผมก็ไม่เคยเห็นยุคไหนที่พรรคการเมืองมานั่งจุกจิกกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง และเป็นเรื่องไม่มีมูลไม่มีสาระ และมาเที่ยวคอยยุหรือปล่อยข่าวเกี่ยวกับพรรคการเมืองอื่นเขา ผมไม่ได้ติดตามรายละเอียด ผมแปลกใจว่าสื่อยังคงลงข่าวนี้อยู่”

    หากให้พูดถึงประชาธิปัตย์ คนจะนึกถึงอะไร?

    “หัวหน้าพรรค” ตอบทันทีว่า อุดมการณ์ประชาธิปัตย์ คือ อุดมการณ์เชิงเศรษฐกิจการเมือง ที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศมาตั้งแต่ปี 2489 ที่เขาถือว่ามีความเป็น “อมตะ”

    “ผมถือว่าก้าวหน้ามากที่คนในปี 2489 ประกาศว่า เศรษฐกิจประเทศไทยนี่ควรจะเป็นเศรษฐกิจที่อิงกับตลาด กับภาคเอกชน และรัฐบาลเข้ามาดูแลในเรื่องการสร้างความเป็นธรรม ผมว่าอันนี้มันชัดเจนมากนะครับ เพราะฉะนั้นอุดมการณ์นี่มันบอกเราเลยว่ารัฐบาลไม่ได้มีหน้าที่ไปผูกขาดการค้าขายข้าว รัฐบาลมีหน้าที่ขายข้าวให้เกษตรกร นี่คือสาระ นี่คืออุดมการณ์”

    นอกจากนี้ การที่พรรคประชาธิปัตย์เติบโตมาจากการเป็น “ฝ่ายค้าน” ซึ่งต้องต่อสู้มาตั้งแต่สมัย “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” กระทั่ง “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” นั้น เป็นหนึ่ง “ปัจจัย” ที่ทำให้พรรคพระแม่ธรณีฯ มี “บทบาท”ในสภาผู้แทนราษฎรมาก

    “เป็นนักการเมืองอาชีพ ต้องแสดงบทบาทมากในสภา ก็ถูกมองเรื่องการพูดเรื่องอะไร แต่จริงๆ ถามเรื่องอุดมการณ์ต้องย้อนกลับไปดูคำประกาศ ซึ่งผมถือว่าใช้ถึงทุกวันนี้ ผมมีหน้าที่สานต่ออุดมการณ์ ผมมีหน้าที่นำพาพรรคไปในทิศทางที่ผมเห็นว่าเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อนาคต เพราะฉะนั้น ผมให้ความสำคัญเรื่องการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับประชาชน ผมให้ความสำคัญในเรื่องของการทำนโยบายที่ยั่งยืน ก็เดินหน้าทำ ถามว่าคนประชาธิปัตย์หรือผู้สนับสนุนประชาธิปัตย์ทุกคนจะคิดหรือมองวิธีการทำงานตรงกันหมดไหม มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่มันไม่ใช่ปัญหา เราก็เดินหน้าทำงานไป”

    ที่สำคัญ เขาเองตกเป็นเป้าของการต่อสู้ในครั้งนี้!!!

    “ผมรู้ดีว่าตอนนี้ผมเป็นเป้าค่อนข้างมาก (เน้นเสียง) พูดง่ายๆก็คือว่าเขา (พ.ต.ท.ทักษิณ) จะบ่นว่าเขาไล่เคลียร์ทุกคนได้แล้ว เหลือแต่ผม เพราะฉะนั้น (หัวเราะในลำคอ) คนที่คิดว่าเคลียร์ทุกคนได้ ฝ่ายนั้นได้ ฝ่ายนี้ได้ และอยากจะกลับมาโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี่ก็ต้องทำลายคนที่ยืนขัดขวางอยู่ คือเขาไม่เข้าใจว่าทำไมคนที่ปฏิวัติเขา เขายังเคลียร์ได้ แต่พรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะผมนี่เขาเคลียร์ไม่ได้ เท่านี้เองครับ”

    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

    กับการที่ถูกมองว่า “ดื้อ” อภิสิทธิ์ “โต้” ทันทีว่า คนที่ดื้อคือคนที่ไม่ยอมรับกฎหมายของไทยมากกว่า

    “ผมไม่ได้มีความดื้ออะไร มันไม่ได้เป็นเรื่องของผม เป็นเรื่องที่ผมมีหน้าที่ในการที่จะต้องดูแลรักษาระบบกฎหมายของประเทศนะครับ ผมไม่ได้ได้อะไร ทักษิณจะกลับมา ไม่กลับมา ตัวผมไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ว่ามันไม่ใช่เรื่องอย่างนั้น คนที่ดื้อคือคนที่ไม่ยอมรับกฎหมายของไทยเท่านั้นเอง และไปคิดว่าเงินซื้อได้ทุกอย่าง แต่บังเอิญเงินซื้อไม่ได้ทุกอย่างนะครับ”

    ส่วน“บางคน”ในพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูก “เสียงนอกประเทศ” อ้างว่า “เคลียร์” ได้แล้วนั้น

    “อภิสิทธิ์” ยืนยันว่า คนที่เรียกตัวเองว่าเป็น “คนประชาธิปัตย์” ได้นั้นจะต้องมี “จุดยืน” ในทำนองเดียวกันกับที่เขากำลังแสดงอยู่ในขณะนี้

    “แต่แน่นอน โดยความคิดหรือโดยอุปนิสัย บุคลิกของบางคนอาจจะประนีประนอม หรือว่าพูดคุยได้มากกว่าก็เป็นได้ ความจริงผมก็พูดคุยได้ แต่ปัญหาก็คือว่า ไม่ใช่ว่าผมพูดคุยได้หรือไม่ แต่ปัญหาคือว่าผมไม่ได้โอนอ่อนตามสิ่งที่มันขัดหลักการของบ้านเมืองเท่านั้นเอง”

    และถ้าหากมีใครเคลียร์ได้ เขาก็ไม่นับว่าเป็นคนประชาธิปัตย์เช่นกัน

    “คนที่เอ่อ…ถ้าใครบอกว่าจะไปเคลียร์กัน หมายความว่าหาผลประโยชน์ลงตัว อย่างนั้นก็คงไม่ใช่คนประชาธิปัตย์นะครับ ผมก็ไม่นับเป็นคนประชาธิปัตย์ มันไม่ใช่ว่าเคลียร์ได้ เคลียร์ไม่ได้ด้วย”

    “ต้องดูว่าความจริงจังในการที่จะต่อสู้มันก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง คือจำได้ไหมครับ เขาเคยมีแผนอยู่ว่าใช้ความดิบถ่อยเถื่อน ต้องทำให้ผมถอดใจนะครับ เขายังทำไม่สำเร็จ เขาก็ต้องพยายามทำต่อ คือเขาคิดว่าถ้ามันมีคนอื่นที่เขาใช้วิธีการแบบนี้แล้วถอดใจได้ก็เป็นประโยชน์กับเขา ก็เท่านั้นเองครับ”

    และวันนี้แผนเดิมก็ยังคงอยู่

    “วันนี้ก็ยังทำอยู่ เขาก็ต้องกดดันนะครับ คือเขาถือว่าใครเป็นอุปสรรคต่อสิ่งที่เขาอยากจะได้เขาต้องกำจัด เพราะลักษณะของเขาไม่ได้มีขอบเขต หรือยั้งคิด หรือมีกติกาอะไรทั้งสิ้น ผมเห็นว่าเขาก็ทำทุกวิถีทาง เพราะฉะนั้น การปล่อยข่าวก็เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เท่านั้นเอง”

    รวมถึงข่าวความไม่พอใจ “แก๊งค์ไอติม” ในประชาธิปัตย์ ที่ประกอบไปด้วยนักการเมืองร่วมรุ่นของ “อภิสิทธิ์” ด้วย ซึ่งเรื่องนี้เขายืนยันว่า บรรดาผองเพื่อนไม่เคย “ปรับทุกข์” กันในเรื่องนี้

    “ไม่ ผมไม่เคยปรับทุกข์อะไรแบบนี้ คือผมมีหน้าที่ทำงาน ผมก็ทำงานไป” หัวหน้าแก๊งค์ตอบอย่างอารมณ์ดี

    แม้จะถูกวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนว่า “บริวารเป็นพิษ” แต่ “อภิสิทธิ์” ยืนยันว่าไม่เคยมีความคิดที่จะ”เลิกคบ”

    “คือคนทำงานก็คือคนทำงานนะครับ เรามอบหมายใครทำงานเขาก็ทำ บางคนเขาคิดว่าเขามีหน้าที่ทำอะไรเขาก็ทำ ผมก็ไปให้คนที่ไม่ทำงานมาทำงานก็ไม่ง่าย เพราะงานการเมืองปัจจุบันก็ไม่เหมือนเมื่อก่อน เช่น การจะแสดงความคิดเห็นตอบโต้อะไร เรื่องข้อมูลก็เป็นเรื่องใหญ่มากในปัจจุบัน คนไม่ขยัน ไม่ทำข้อมูล ผมจะไปมอบหมายให้ไปชี้แจงอะไรก็ทำไม่ได้ ผมก็ต้องเอาคนที่พร้อมที่จะไปค้นคว้าหาข้อมูลมาก็เท่านั้นเอง”

    โดยเฉพาะกับเพื่อนรุ่นน้องอย่าง “ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์นั้น “อภิสิทธิ์” ออกปากว่า

    “คุณชวนนท์ ผมก็มองว่าเขาก็ตั้งใจทำงานนะครับ เขาก็เด็ก…แล้วยังไงครับ ผมก็เห็นเขาตื่นแต่เช้า ตรวจสอบข่าว ค้นคว้าข้อมูลจากทุกฝ่าย เขาก็ชี้แจงเป็นเหตุเป็นผลดีนะครับ ถ้าผมไปขอให้คนมาช่วยชี้แจงแต่ปรากฏว่าไม่ยอมที่จะค้นคว้าหาข้อมูล ก็ทำไม่ได้ แต่บทบาทแต่ละคนก็ว่ากันไป” อภิสิทธิ์ทิ้งท้าย