ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > นับมือ ส.ส. ต้อนรับเปิดประชุมสภา ใครกันที่หายไป 6 เสียง?

นับมือ ส.ส. ต้อนรับเปิดประชุมสภา ใครกันที่หายไป 6 เสียง?

28 กรกฎาคม 2012


ที่มาภาพ : http://www.oknation.net
ที่มาภาพ : http://www.oknation.net

ก่อนที่ก้าวสู่วันเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้นัดประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยทันที

แม้ว่าจะมีคำยืนยันออกจากปาก “ขุนค้อน” ว่าจะไม่มีการหยิบยกวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ที่ค้างมาตั้งแต่สมัยประชุมที่ผ่านมาขึ้นมาพิจารณา

แต่กระนั้นก็เป็นที่น่าสนใจว่าในสมัยประชุมสามัญทั่วไป ยังมี “ประเด็นร้อน” อีกหลายปมที่จะทำให้ “อุณหภูมิ” การเมืองสูงขึ้นอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสียงจากซีกฝ่ายของพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ แม้ว่าจะต้องแก้ไขเป็นรายมาตรา

รวมไปถึงการหมายมั่นปั้นมือของพลพรรคฝ่ายค้าน ที่เตรียมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทว่าทุกความเคลื่อนไหวในสภาผู้แทนราษฎร์จะต้องจบลงที่ “มติ” ของที่ประชุม สำนักข่าว “ไทยพับลิก้า” ได้เช็ค “เสียงโหวต” ส.ส. ก่อนที่จะเข้าสู่การลงมติสำคัญๆ ดังนี้

จำนวน ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรมีทั้งสิ้น 494 คนจากจำนวน 500 คน องค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งอยู่ที่ 247 คน

ทั้งนี้ ในส่วนเสียงที่หายไป 6 เสียงนั้น เป็น ส.ส. ที่ไม่นับเข้าในจำนวนรวมของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายมนต์ไชย ชาติวัฒนศิริ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย นายดิสทัต คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคเพื่อไทย นายฉัตรพันธ์ เดชกิจสุนทร ส.ส.กาญจนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ และนายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ส.ส.ชัยภูมิ พรรคภูมิใจไทย

เนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้มีคำสั่งให้รับคำร้อง กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และขอให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

ที่เหลืออีก 2 คน สมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุด คือ นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ที่เสียชีวิต และนายพงษ์ศักดิ์ เรือนเงิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักประเทศไทยที่ลาออกจากตำแหน่ง

โดยจำนวนเสียงที่เหลืออยู่ในสภามีผลต่อการกำหนดทิศทางในการทำหน้าที่ของ ส.ส.ในสภา ดังต่อไปนี้

การตรากฎหมาย
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

การเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญในช่องทางของ ส.ส. นั้น จะต้องมี ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (ไม่น้อยกว่า 49 คน)

โดยการพิจารณานั้น ในวาระที่ 1 และ 2 ให้ถือเสียงข้างมากเป็นหลัก แต่ในวาระที่ 3 ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่ง (ไม่น้อยกว่า 247 คน)

พระราชบัญญัติ

การเสนอร่าง พ.ร.บ. ในช่องทาง ส.ส. นั้น จะต้องมี ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คนเข้าชื่อเสนอ โดยการพิจารณานั้นต้องได้เสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่ง (ไม่น้อยกว่า 247 คน)

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในช่องทางของ ส.ส. นั้น ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (ไม่น้อยกว่า 99 คน)

โดยการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น

วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (ไม่น้อยกว่า 247 เสียง)

วาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา โดยให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ (มากกว่า 247 เสียง) เมื่อการพิจารณาวาระที่ 2 เสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้ 15 วัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 3 ต่อไป

วาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (มากกว่า 247 เสียง)

การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยการเสนอญัตติ

การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (ไม่น้อยกว่า 99 คน) มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี

การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 6 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฏร (ไม้น้อยกว่า 83 คน) มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

สิทธิเข้าชื่อเพื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (ไม่น้อยกว่า 124 คน) มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร สมาชิกวุฒิสภา ฯลฯ ออกจากตำแหน่งได้

อำนาจในการควบคุมการตรากฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (ไม่น้อยกว่า 65 คน) เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี เพื่อส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย (อ่านรายละเอียดบทบาทสภาผู้แทนราษฎร)

จากข้อมูลข้างต้น ไม่อาจที่จะปฏิเสธได้ว่า จากจำนวนของ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลที่มีอยู่เกือบ 300 เสียง หากจะเดินหน้าผลักดันกฎหมายหรือญัตติใดๆ ผลที่ออกมาในท้ายที่สุดก็คงเป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ!