ThaiPublica > เกาะกระแส > ก.ล.ต. ระดมผู้เชี่ยวชาญต่างชาติวิเคราะห์ตลาดทุน พร้อมเปิดมุมมอง “บัณฑูร ล่ำซำ – ธนินท์ เจียรวนนท์”

ก.ล.ต. ระดมผู้เชี่ยวชาญต่างชาติวิเคราะห์ตลาดทุน พร้อมเปิดมุมมอง “บัณฑูร ล่ำซำ – ธนินท์ เจียรวนนท์”

30 กรกฎาคม 2012


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ครบรอบ 20 ปี ได้จัดงาน “International Symposium on Asia : the Dynamic Capital Market Frontier” เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2555
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ครบรอบ 20 ปี ได้จัดงาน “International Symposium on Asia : the Dynamic Capital Market Frontier” เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2555

เนื่องในโอกาสสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ครบรอบ 20 ปีแห่งการก่อตั้ง ก.ล.ต. ได้จัดงาน “International Symposium on Asia : the Dynamic Capital Market Frontier” เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ด้านตลาดทุนจากต่างประเทศและในประเทศมาปาฐกถาและบรรยายเกี่ยวกับมุมมองพลวัตการพัฒนาตลาดทุน และโอกาสของตลาดทุนในเอเชีย ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้

“กิตติรัตน์” เรียกร้องตลาดทุนเน้นประโยชน์ส่วนรวม

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดงานในหัวข้อ “Asian Capital Market Development” ว่าเรื่องใหญ่ของตลาดทุนและของภาคธุรกิจ คือ การจัดสรรทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาทำได้ดีแล้ว แต่ในระยะหลังประเทศหรือองค์กรต่างๆ เน้นเรื่องประโยชน์และความมั่งคั่งของตนเป็นสำคัญ โดยละเลยประโยชน์ส่วนรวมไป จึงขอให้ช่วยกันทุกฝ่าย และในส่วนของหน่วยงานกำกับดูแลต้องหาทางสร้างการเติบโต รักษาประโยชน์สาธารณะเพื่อสร้างเสถียรภาพ

เวทีโลกถก ตลาดทุนควร “เสรี” หรือ “ควบคุม”

เซอร์โฮเวิร์ด เดวีส์ (Sir Howard Davies) ศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยรัฐศาสตร์แห่งฝรั่งเศส อดีตประธานหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินของอังกฤษ และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ ปาฐกถาในหัวข้อ “Capital Markets: Evolution or Revolution?” ว่า ภายหลังวิกฤติการเงินในเอเชียและวิกฤติการเงินโลกในอดีต ตลาดทุนทั่วโลกมีการเติบโตอย่างมาก มีมูลค่าสินทรัพย์สูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม แม้ว่าการเติบโตดังกล่าวจะส่งผลให้ความยากจนลดลง ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีการถกเถียงกันว่า ควรมีการกำกับดูแลการเติบโตของตลาดทุนมากน้อยเพียงใด และกำกับอย่างไร ซึ่งโดยรวมเห็นพ้องกันว่า ควรจะเปิดเสรีตลาดทุนให้เป็นไปตามกลไกตลาดซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะนำไปสู่ความมั่งคั่ง รัฐบาลและองค์กรกำกับดูแลควรมีการแทรกแซงให้น้อยที่สุดในเรื่องของการจัดสรรทุน อย่างไรก็ดี ในบางประเทศยังคงมีมาตรการควบคุมการไหลเข้า-ออกของเงินทุน

ในที่สุดก็เกิดวิกฤติการเงินโลกขึ้น เครื่องมือทางการเงินที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยงไม่ทำงาน ผู้ที่เกี่ยวข้องขาดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อน หลังจากเกิดวิกฤติการเงินโลก แต่ละประเทศก็พยายามปรับตัวเพื่อให้ฟื้นจากวิกฤติดังกล่าว

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า วิกฤติเศรษฐกิจนี้เกิดจากการปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปอย่างเสรีตามกลไกตลาดโดยไม่มีการควบคุมอย่างเคร่งครัด ทำให้ประเทศตะวันตกหลายประเทศเริ่มเข้าแทรกแซงตลาดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น รัฐบาลอังกฤษเข้าไปช่วยเหลือธนาคารที่ประสบปัญหา ในขณะที่รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์เข้าไปแทรกแซงการแลกเปลี่ยนเงินตรา หลายประเทศบังคับให้มีการรับประกันเงินฝากเต็มจำนวน โดยรวมทุกประเทศมีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้เข้มงวดขึ้น

เซอร์โฮเวิร์ด เดวีส์ ศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยรัฐศาสตร์แห่งฝรั่งเศส อดีตประธานหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินของอังกฤษ และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ
เซอร์โฮเวิร์ด เดวีส์ ศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยรัฐศาสตร์แห่งฝรั่งเศส อดีตประธานหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินของอังกฤษ และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ

ปัญหาต่อมาคือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดความร่วมมือและความคิดเห็นระหว่างภาครัฐกับเอกชนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และทำอย่างไรที่จะเดินหน้าไปสู่ความมั่งคั่งโดยให้ดำเนินการไปอย่างเสรีและแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น

“เป็นที่น่าเสียใจที่ผมต้องกล่าวว่า เรายังไปไหนไม่ได้ไกล เนื่องจากยังไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง แม้ว่าเร็ว ๆ นี้ เราจะมีการก่อตั้ง G 20 ขึ้นมา เพื่อปฏิรูปและแก้ปัญหาทางการเงินก็ตาม” เซอร์โฮเวิร์ดกล่าว

เสนอ 7 ข้อพัฒนาตลาดทุน

สำหรับแนวทางดำเนินการสำหรับพัฒนาตลาดทุน เซอร์โฮเวิร์ดเสนอไว้ 7 ข้อ ดังนี้

1. การเปิดเสรีตลาดทุนยังคงเป็นวิธีการที่มีประโยชน์มากที่สุดในระยะยาว แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งและต้องพิสูจน์ให้เห็นประโยชน์กันต่อไป

2. รัฐบาลควรให้ความสำคัญในเรื่องความเชื่อมโยงของตลาดทุนต่างๆ โดยเรียนรู้จากบทเรียนและแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศอื่น

3. ควรมีองค์กรกลางประสานงานในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ เช่น การปรับเปลี่ยน Financial Stability Forum เป็น Financial Stability Board เป็นต้น

4. ควรมีความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น ภายใต้ความร่วมมือขององค์กรโลก ตัวอย่างที่ดีของการร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ Chiang Mai Initiative

5. องค์กรกำกับดูแลจะต้องสร้างเครื่องมือทางการเงินในการบริหารความเสี่ยงให้มากขึ้น ควรมีการตั้งคำถามให้มากขึ้นเกี่ยวกับความซับซ้อนของสินค้าในตลาดทุน เสริมสร้างความสามารถในการบริหารความเสี่ยงให้แก่กิจการต่างๆ รวมทั้งการเสนอขายสินค้าทางการเงินนั้น

6. ควรมีการกำกับดูแลและควบคุมการไหลเข้า-ออกของเงินทุนอย่างเหมาะสม ไม่เข้มงวดจนเกินไป

7. ผู้กำกับดูแลและองค์กรภาครัฐจะต้องมีความเชื่อมั่นในตนเองที่จะเข้าไปแทรกแซงเมื่อมีสถานการณ์เกิดขึ้น และต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

“เลขา ก.ล.ต.” ดันไทยเปิดประตูสู่ภูมิภาค

ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. บรรยายในหัวข้อ “Thailand: Regional Capital Market Gateway” กล่าวถึงโอกาสของตลาดทุนไทยว่า มีขีดความสามารถจะเป็นประตูสู่ตลาดทุนในภูมิภาค เนื่องจากมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ การมีที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของกลุ่มประเทศอาเซียน และกึ่งกลางระหว่างประเทศจีนและอินเดีย ทำให้สามารถเชื่อมโยงการค้า การลงทุนของประเทศเหล่านั้นเข้าด้วยกันได้

โดย ก.ล.ต. พร้อมดำเนินการสนับสนุนให้เกิดความสำเร็จ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ดังนี้

1. การสนับสนุนให้มีการลงทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยให้มีการออกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน อันจะเป็นเครื่องมือในการระดมทุนสำหรับการลงทุนก่อสร้าง และดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ

2. การสนับสนุนธุรกิจโฮลดิ้ง เนื่องจากการลงทุนในบริษัทโฮลดิ้งเป็นช่องทางการลงทุนผ่านบริษัทหรือตลาดทุนไทยไปยังกิจการในต่างประเทศ ทำให้ตลาดทุนไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคได้ ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเสนอขายหุ้นของบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (บริษัทโฮลดิ้ง) ให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของธุรกิจ

3. การสนับสนุนการควบรวมกิจการเพื่อให้เกิดกิจการที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นที่ดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก โดย ก.ล.ต. ได้ผลักดันร่าง พ.ร.บ. การส่งเสริมการควบรวมกิจการในตลาดทุน ที่มีหลักเกณฑ์สอดคล้องและตอบโจทย์ภาคธุรกิจที่เห็นประโยชน์ของการควบรวม

4. การให้มีกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) เพื่อให้ประชาชนมีช่องทางการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสากล

5. การส่งเสริมให้ธุรกิจทุกขนาดใช้แหล่งทุนจากตลาดทุน ด้วยโครงการหุ้นใหม่ความภูมิใจของจังหวัด อันเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจทั่วทั้งประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการจัดตั้งธุรกิจร่วมเงินลงทุน (venture capital) ที่จะเข้าลงทุนในธุรกิจเกิดใหม่

ดร.วรพล  โสคติยานุรักษ์  เลขาธิการ ก.ล.ต.
ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต.

6. การกำหนดลักษณะผู้ลงทุนประเภท Accredited Investors (AI) ที่สามารถลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงได้ รวมทั้งอนุญาตให้มีการเสนอขายสินค้าที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งนอกจากทำให้ผู้ลงทุนกลุ่มนี้มีทางเลือกการลงทุนมากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ธุรกิจออกตราสารได้หลากหลายขึ้นด้วย

7. การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทางการเงินให้แก่ผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไป

8. การเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจหลักทรัพย์และที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งในระดับบริษัทและบุคลากร

9. การดำเนินความร่วมมือในการรวมตลาดในภูมิภาคของกลุ่ม ก.ล.ต. อาเซียน

10. การเตรียมพร้อมสู่การเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน ซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นลำดับ และในที่สุดจะมีการเสนอขายหลักทรัพย์ข้ามชาติในกลุ่มประเทศอาเซียนได้

เลขา ก.ล.ต. กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางตลาดทุนในภูมิภาคได้ยังขึ้นอยู่กับระยะเวลา และที่สำคัญคือการผลักดันในระดับนโยบายจากรัฐบาล เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ และฉกฉวยโอกาสความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้

“ก.ล.ต. จึงอยากใช้โอกาสอันดีนี้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมผลักดันและสนับสนุนประเทศไทยให้พร้อมเข้าสู่เวทีระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ซึ่ง ก.ล.ต. มีความหวังว่าประเทศไทยจะกลายเป็นประตูสู่การลงทุนในภูมิภาคได้ในอนาคตอันใกล้” นายวรพลกล่าว

ตั้งกองทุนมั่งคั่งต้องปลอดการเมือง

ดร.คริสโตเฟอร์ บัลดิ้ง ( Dr. Christopher Balding ) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง บรรยายในหัวข้อ “Innovation in Sovereign Wealth Funds for National Development” ว่า กองทุนความมั่งคั่ง (Sovereign Wealth Fund: SWF) เป็นเครื่องมือการลงทุนของรัฐบาล ซึ่งเริ่มจากการจัดการเงินส่วนเกินในห้องเล็กๆ ของ Bank of England และใน 60 ปีต่อมา SWF ที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้กระแสเงินสดมีเสถียรภาพ

ในขณะที่สามารถจัดการทรัพย์สินที่มีความซับซ้อนเพื่อผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารหนี้ของรัฐ SWF ไม่ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อชี้นำเศรษฐกิจโลกหรือการเมือง แต่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น การลดแรงกดดันจากอัตราแลกเปลี่ยน เงินเฟ้อ และการบริหารจัดการเงินทุน สิ่งที่สำคัญคือการกำหนดและทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งและการทำธุรกรรมของ SWF ให้ชัดเจน

แต่ปัญหาที่ยุ่งยากประการหนึ่ง คือ จะทำอย่างไรที่จะเชื่อมโยงกลยุทธ์การลงทุนให้ได้กำไรและเข้ากับวัตถุประสงค์สาธารณะ

ดร.คริสโตเฟอร์ บัลดิ้ง
ดร.คริสโตเฟอร์ บัลดิ้ง

ดร.คริสโตเฟอร์ระบุว่า การเชื่อมโยง SWF เข้ากับวัตถุประสงค์ในการพัฒนาประเทศ ดำเนินการได้ดังนี้

1. วัตถุประสงค์เพื่อใช้ในด้านการดำเนินการ (operation) และด้านการลงทุน ควรแบ่งแยกออกจากกันให้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น การศึกษาจัดอยู่ในหมวดการพัฒนาประเทศ แต่ควรถือว่าเป็นการดำเนินการที่มีแหล่งเงินทุนจากงบประมาณของรัฐบาล ในขณะที่ SWF ควรเป็นการลงทุนระยะยาวในลักษณะที่มั่นคง เช่น การร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เป็นต้น

2. SWF สามารถสนับสนุนนโยบายและวัตถุประสงค์ในการพัฒนาประเทศ โดยทำให้ตลาดทุนในประเทศมีความลึกมากขึ้น มีความโปร่งใส และเป็นมาตรฐานของตลาดทุนยุคใหม่ สามารถเป็นประโยชน์กับกิจการในประเทศและรัฐบาล

3. SWF ที่มีวินัยทางการเงินและดำเนินการอย่างรอบคอบ จะช่วยให้รัฐมีความสามารถในการวางแผน การใช้งบประมาณในระยะยาวโดยไม่ได้รับผลกระทบจากวงจรธุรกิจ

4. SWF สนับสนุนนโยบายการพัฒนาประเทศโดยกระตุ้นการเติบโตในประเทศ ซึ่งมีทั้งการพัฒนาคนและผู้ประกอบการ เช่น ประเทศสิงคโปร์สนับสนุนการใช้ผู้จัดการกองทุน SWF จากต่างประเทศ ทำให้เกิดบุคลากรที่มีคุณภาพในธุรกิจการเงินเพิ่มขึ้นจำนวนมาก อันเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคจากการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และศักยภาพของกิจการในประเทศ

“โดยสรุป ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ SWF ที่ต้องพิจารณา ประกอบด้วย SWF ต้องเป็นอิสระจากการเมือง มีการดำเนินการที่ประสานกับนโยบายเศรษฐกิจมหภาค มีการวางกรอบการลงทุนที่สามารถดำเนินการได้ และมีกรอบการเบิกจ่ายเงินทุนที่ชัดเจน” ดร.คริสโตเฟอร์กล่าว

ความท้าทายของตลาดทุนเอเชีย

นายโฆเซ่ อิซิโดร้ กามาโช่ ( Mr. Jose Isidro Camacho) กรรมการผู้จัดการธนาคารเครดิตสวิส ประเทศสิงคโปร์ และรองประธานธนาคารเครดิตสวิส ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก บรรยายในหัวข้อ “ASEAN in the Dynamic Global capital Market” ว่า ถึงแม้วิกฤติการเงินในยุโรปและอเมริกายังคงดำเนินต่อไป เศรษฐกิจเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงดำเนินไปได้ดี และตลาดทุนเอเชียมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของภูมิภาค ผู้วางนโยบายและหน่วยงานกำกับดูแลต้องดำเนินการให้ตลาดการเงินของภูมิภาคมีเสถียรภาพและความโปร่งใส

ตลาดทุนโลกยังคงมีปัญหา และดูเหมือนว่าจะยังไม่คลี่คลายลงในเร็ววันนี้ และเอเชียก็อาจได้รับผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม โครงสร้างทางเศรษฐกิจเอเชียยังคงแข็งแกร่ง และยังมีความต้องการพัฒนาในด้านโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก แหล่งเงินทุนในภูมิภาคยังมีอีกมากมาย จึงขึ้นอยู่กับตลาดเอเชียเองว่าจะนิ่งเฉย และยอมตกไปอยู่ในกระแสวิกฤติเช่นเดียวกับยุโรปและอเมริกา หรือจะสร้างความแข็งแกร่งและความแตกต่างให้กับตลาดในประเทศตนและภูมิภาคโดยรวม

“ผมขอเสนอให้ผู้วางนโยบายและหน่วยงานกำกับดูแลร่วมมือกันเพื่อลดความเสี่ยง และต่อสู้กับความท้าทายจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยวิกฤติเศรษฐกิจอเมริกาเมื่อปี 2007 ส่งผลกระทบยาวนาน วิกฤติยุโรปก็ยังดำเนินต่อไป แต่เอเชียอาจไม่จำเป็นต้องก้าวตามทั้งสองทวีปนั้น”

เพราะวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียเมื่อช่วงปี 1990 ช่วยให้เอเชียได้ปรับตัว ปรับโครงสร้างทั้งภาคธุรกิจ การธนาคาร และภาครัฐ ปัจจุบันประเทศในเอเชียมีฐานะทางการเงินการคลังที่ดีขึ้น มีทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น มีภาคการเงินที่ได้ผ่านการปรับโครงสร้างมาแล้ว และภาคธุรกิจก็ร่ำรวยและทำกำไรมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการกำหนดนโยบายของภาครัฐ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนท้องถิ่นสำหรับธุรกิจ

นอกจากนี้ ตลาดตราสารหนี้เอเชียยังเติบโต โดยตลาดแรกของตราสารหนี้เอเชียสกุลดอลลาร์สหรัฐทำสถิติระดมทุนเริ่มต้นได้ถึง 62.7 พันล้านดอลลาร์ มากกว่าสถิติทั้งปี 2011 ที่ 57.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการออกตราสารหนี้ใหม่มูลค่าสูงสุดถึง 16.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าปี 2009 และ 2010 ซึ่งทำสถิติอยู่ที่ 14.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 10.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

นายโฆเซ่ อิซิโดร้ กามาโช่
นายโฆเซ่ อิซิโดร้ กามาโช่

ขณะที่ตลาดตราสารทุนยังมีการเติบโตในไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ และคาดว่ามูลค่าจะเพิ่มอีก 9.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในตลาดรวมเอเชียนอกญี่ปุ่นในช่วงที่เหลือของปีนี้ และประเทศไทยเป็นตลาดที่ทำผลงานได้ดีเยี่ยมที่สุดในตลาดตราสารทุนหลักในเอเชีย โดยเพิ่มขึ้นแล้วร้อยละ 19.4 ในปีนี้ รองจากฟิลิปปินส์

“เอเชียควรหาวิธีสร้างความแตกต่างให้ภูมิภาคตนเอง และสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถเข้าถึงทุนได้ต่อไป ทั้งนี้ มิใช่โดยการกีดกันและปกป้องเศรษฐกิจของประเทศตนเองอย่างเดียว แต่โดยการลุกขึ้นมาสร้างสรรค์วิธีการ และร่วมมือระหว่างกันในภูมิภาคมากขึ้น” นายลาโตกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายลาโตระบุว่า ตลาดเอเชียส่วนใหญ่มีความคล่องสูงมาก แต่การลงทุนข้ามพรมแดนยังมีจำกัดอย่างยิ่ง เพราะแต่ละประเทศเชี่ยวชาญ มีความชัดเจนในการวางแผน และประกาศการรวมตัวกันระหว่างภูมิภาค แต่ในระดับการลงมือปฏิบัติยังไม่มีความคืบหน้าไปมากนัก เพราะต่างก็คำนึงถึงประเด็นและประโยชน์ของประเทศตนเป็นหลัก

นอกจากนี้ ตลาดทุนในเอเชียหลายแห่งยังขาดสภาพคล่อง นี่เป็นสิ่งท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแล และผู้วางนโยบาย โดยเฉพาะตลาดทุนท้องถิ่นยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จำนำไปสู่การรวมตัวในภูมิภาคต่อไป

“ผมหวังจะได้เห็นผู้วางนโยบายในเอเชียให้ความสำคัญและพิจารณาการจัดตั้งกองทุนตราสารหนี้ และตราสารทุน เช่น Pan-Asia หรือ ASEAN funds โดยให้ผู้จัดการกองทุนมืออาชีพซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้บริหาร”

“บัณฑูร ล่ำซำ” จี้กำกับ “ความเสี่ยง-ทุนสามานย์”

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บรรยายในหัวข้อ “Moving Ahead In an Open World” ว่า 20 ปีที่ ก.ล.ต. ได้จัดตั้งขึ้นมาในยุคกระแสโลกาภิวัตน์ ความท้าทายและการแข่งขันที่รุนแรง ฟันฝ่าวิกฤติการเงินต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งในเอเชีย อเมริกา ยุโรป พร้อมทั้งการเปลี่ยนแปลงและเติบโตของเศรษฐกิจจีน เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ผลักดันประเทศไทย เนื่องจากเราเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก

ที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจนว่า ประเทศเรามีมาตรการหรือความมุ่งมั่นในการพัฒนาด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นเพราะกรอบกฎหมายและการออกกฎหมายยังทำงานได้ไม่ดีนัก หลายสิ่งที่ ก.ล.ต. ได้ให้แรงบันดาลใจที่จะยกระดับตลาดทุนไทยเป็นประตูสู่การลงทุนนั้น น่าจะต้องใช้เวลาอีกพอสมควร เนื่องด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้การดำเนินการเรื่องนี้ให้สำเร็จเป็นเรื่องยาก แต่ทุกคนก็ต้องการให้ไปถึงจุดนั้นให้ได้

เมื่อ 2 ปีก่อน ธนาคารพาณิชย์ยังเข้ามาในตลาดทุนไม่ได้เต็มตัว เพราะทำธุรกิจเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ไม่ได้ แต่ปัจจุบันได้รับอนุญาตแล้วจากการเปิดเสรีใบอนุญาต ทำให้ภาคธนาคารมีการปรับตัวกันมากขึ้น ธุรกิจต้องมีโครงสร้างที่เหมาะสมเพื่อการขยายตัวและเติบโต ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ

พร้อมไปกับการเติบโต กิจการต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกที่มีอิทธิพลอย่างสูง ส่งผลให้กิจการต้องมีกลไกการทำงานหรือมีการจัดการที่ดี และต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ระบบธนาคารที่ปั่นป่วน การขยายตัวของตลาด ผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่ซับซ้อน การบริหารความเสี่ยงในตลาดอนุพันธ์ รวมถึงการตรวจสอบถ่วงดุลที่หย่อนยาน ล้วนเป็นที่มาของวิกฤติหรือปัญหา ซึ่งเมื่อเกิดขึ้น หน่วยงานกำกับดูแล เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยและ ก.ล.ต. ก็มักจะถูกตั้งคำถาม

นายบัณฑูร  ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

นายบัณฑูรกล่าวว่า การออกตราสารที่มีความเสี่ยงสูงนำมาซึ่งความระมัดระวังที่ต้องเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทางการต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดความปั่นป่วนในระบบ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนรายย่อยหรือประชาชนทั่วไป หรือตราสารที่ออกโดยธนาคารเพื่อใช้ในการบริหารความเสี่ยง ต้องระมัดระวังไม่ให้กระจายไปสู่ประชาชนในวงกว้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน ทางการผู้กำกับดูแลจึงต้องรับรู้และกล้าที่จะออกมาหยุดก่อนที่จะเกิดความเสียหายหรือเมื่อเห็นว่าความเสี่ยงนั้นใกล้เข้ามาแล้ว เรื่องเหล่านี้จึงต้องฝากความหวังไว้กับผู้กำกับดูแล

นายบัณฑูรกล่าวต่อว่า ภายใต้โลกไร้พรมแดน ทำให้ตลาดทุนมีบทบาทสำคัญ เพราะธุรกิจต้องการระดมเงินทุน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ มีการนำเงินไปลงทุนที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีความรับผิดชอบ หรือมีผลกระทบในแง่ลบ เรียกว่า ทุนสามานย์ ผู้กำกับดูแลก็ต้องปฏิเสธการสนับสนุน สถาบันการเงินก็ต้องปฏิเสธเช่นเดียวกัน

“ทุนสามานย์ คือ การนำเงินไปใช้หรือลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุดโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มองแค่ผลเฉพาะหน้าเท่านั้น เช่น การใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง การตัดไม้ทำลายป่า เกิดภูเขาหัวโล้น เดือดร้อนถึงรุ่นลูกหลาน เรียกว่าทำเพื่อให้ได้เงินอย่างเดียว ไม่มีศีลธรรม ไม่สนใจผลที่เกิดขึ้น ปัญหาเหล่านี้ต้องมีการกำกับดูแล คือ กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องชัดเจน เป็นหน้าที่ของผู้ที่รับผิดชอบต้องดำเนินการ ตัวอย่างเช่น มีบริษัทไปจ้างแรงงานที่จังหวัดน่านไปปลูกข้าวโพดในพื้นที่ป่าสงวน แล้วได้ผลผลิต และกำไรจากข้าวโพดที่ปลูกอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน และถ้าบริษัทนั้นจะขอเข้าระดมทุนในตลาดทุน ลักษณะแบบนี้ถามว่าจะพิจารณาให้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่” นายบัณฑูรกล่าว

แต่เมื่อถามว่า ประชานิยมเป็นทุนสามานย์หรือไม่ นายบัณฑูรกล่าวว่า ประชานิยมไม่ใช่ทุนสามานย์ และส่วนตัวเห็นว่า คำว่า “ประชานิยม” คือ คำของนักการเมืองที่ใช้โจมตีกัน หรือด่ากันเมื่อมีความเห็นไม่ตรงกัน

ผู้เชี่ยวชาญอินเดียยก “เภสัชกรรม” เป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่ง

ดร.ไบรอัน ดับเบิลยู เทมเปส ( Dr. Brian W Tempest ) ประธานและหุ้นส่วนอาวุโสของเฮลและเทมเปส (Hale and Tempest) ประเทศอังกฤษ มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอินเดีย บรรยายในหัวข้อ “ How Indian Conglomerates Go Global” ว่า ในฐานะที่วิทยากรเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับธุรกิจของประเทศอินเดีย ซึ่งจัดได้ว่าเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางธุรกิจและเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยธุรกิจหนึ่งที่อินเดียมีบทบาทสำคัญและจะนำมากล่าวถึงในที่นี้คือ “เภสัชกรรม”

ดร.ไบรอัน ดับเบิลยู เทมเปส ประธานและหุ้นส่วนอาวุโสของเฮลและเทมเปส
ดร.ไบรอัน ดับเบิลยู เทมเปส ประธานและหุ้นส่วนอาวุโสของเฮลและเทมเปส

จากสถิติการออกตราสารหนี้ทั่วโลก พบว่าเป็นไปเพื่อการรักษาพยาบาล โดยข้อมูลของ OECD ระบุว่ารายจ่ายด้านสุขภาพมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2005 มีอัตราการเติบโตสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศและค่าจ้างแรงงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะประเทศในทวีปเอเชีย สอดรับกับการพัฒนาธุรกิจของอินเดียจากกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้อุตสาหกรรม “เภสัชกรรม” เป็นตัวนำทางเศรษฐกิจของอินเดียในปัจจุบัน และในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ อินเดียให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จนมีจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เป็นลำดับต้นๆ ของโลก

หลังจากที่อินเดียประสบความสำเร็จในประเทศ จึงเริ่มขยายธุรกิจส่งออกผลิตภัณฑ์ยาไปทั่วโลก จนปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำและกำลังจะเป็นบริษัทระดับโลกมากกว่าร้อยละ 40 เป็นของอินเดีย โดยอาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จนี้เริ่มจากการได้รับกำลังสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) เพื่อศึกษาผลิตภัณฑ์รักษาโรคที่สำคัญ เช่น โรคเอดส์ วัณโรค ซึ่งนำไปสู่การเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์รักษาโรคต่างๆ ส่งออกไปทั่วโลก

“อย่างไรก็ดี ระบบราชการและศาลของอินเดียยังมีความล่าช้าและขาดระบบ ทำให้การดำเนินการหลายอย่างยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แม้ว่าประชากรอินเดียจะมีความสามารถที่โดดเด่นในด้านการคำนวณและด้านเคมี แต่ก็ยังต้องได้รับการพัฒนาในด้าน soft skill การโน้มน้าว และการเจรจา ซึ่งอินเดียกำลังลงทุนเพื่อพัฒนาในด้านนี้อย่างจริงจัง ปัจจุบันนี้ บริษัทขนาดกลางมีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะเติบโตให้เป็นบริษัทระดับโลกต่อไปให้ได้” ดร.ไบรอันกล่าว

ตลาดทุนเอเชียมีโอกาสสูงหลังวิกฤติ 1997

นายริชาร์ด ไพวิส ( Mr. Richard Pyvis ) ประธานอำนวยการซีแอลเอสเอ ฮ่องกง บริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์ชั้นนำ บรรยายในหัวข้อ “Asian Corporations in the Global Making” ว่า โลกในทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 20 ปีก่อนมาก ความคาดหวังต่อหน่วยงานกำกับดูแลก็เปลี่ยนแปลงไปมากเช่นกัน

สหรัฐอเมริกาซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกยังไม่อาจหลีกหนีวิกฤติเศรษฐกิจไปได้ แต่ธุรกิจของสหรัฐอเมริกาสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและจะยังคงมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลกต่อไป แต่ประเทศในเอเชียที่ยังอาศัยแหล่งทุนแบบดั้งเดิมยังคงได้รับแรงกดดัน

ตัวอย่างเช่น สาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งระบบเศรษฐกิจก้าวขึ้นเป็นอันดับสองของโลก ต้องเผชิญกับปัญหาการจัดสรรเงินทุนและการลงทุน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าและประเทศเพื่อนบ้านได้

สำหรับประเทศในเอเชีย นายริชาร์ดระบุว่า มีโอกาสอยู่อีกมาก นับแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชีย ระบบอัตราแลกเปลี่ยนและการเคลื่อนย้ายเงินทุนปรับตัวให้มีความโปร่งใสมากขึ้น สถาบันการเงิน กิจการต่างๆ รวมถึงภาคครัวเรือนยังคงมีสถานะที่แข็งแกร่ง แม้แต่ญี่ปุ่นที่ตกอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากว่า 2 ทศวรรษ ก็ยังมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน อย่างต่อเนื่อง

ประเทศไทยก็ผ่านการเปลี่ยนแปลงนับแต่วิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 1997 จากการลงทุนอย่างไร้ประสิทธิภาพ (mal-investment) ที่นำไปสู่วิกฤติและเงินทุนไหลออกอย่างรุนแรง เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นจุดด้อยสำคัญของโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในขณะนั้น และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลอยตัวค่าเงินบาท

จัดสรรเงินทุนมีประสิทธิภาพ สร้างภูมิคุ้มกันวิกฤติ

นายริชาร์ดกล่าวว่า เงินทุนมีบทบาทสำคัญต่อทุกเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หน่วยงานกำกับดูแลจึงต้องดูแลให้ผู้ต้องการเงินทุนสามารถเข้าถึงและมีการจัดสรรเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เศรษฐกิจเข้าสู่สมดุลมากยิ่งขึ้น มีภูมิต้านทานผลกระทบจากทั้งในและนอกประเทศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

สองทศวรรษที่ผ่านมา มีความเชื่อกันว่ายิ่งมีการกำกับดูแลมากเท่าไหร่ยิ่งเป็นการดี และเชื่อว่าความเสี่ยงสามารถวัดและควบคุมได้ ซึ่งเป็นเหตุให้เพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ในความจริงแล้วหน่วยงานกำกับดูแลควรให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นและเน้นให้เกิดความหลากหลาย เพื่อป้องกันความเสี่ยงหากเกิดวิกฤติขึ้นอีก

นายริชาร์ด  ไพวิส   ประธานอำนวยการซีแอลเอสเอ ฮ่องกง บริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์ชั้นนำ
นายริชาร์ด ไพวิส ประธานอำนวยการซีแอลเอสเอ ฮ่องกง บริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์ชั้นนำ

ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา คือ รัฐบาลอเมริกันต้องให้เงินช่วยเหลือธนาคาร Continental Illinois National Bank หลายครั้ง ด้วยเงินที่มากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ากฎเกณฑ์เดิมๆ มีข้อเสีย และผู้เสียภาษีอเมริกันต้องเป็นผู้ชดใช้ การเข้าไปช่วยเหลือกิจการที่มีปัญหาเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรทางการเงินและบุคลากรที่มีอยู่จำกัดอยู่แล้ว สิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลควรทำก็คือ สร้างโครงสร้างการกำกับดูแลที่ส่งเสริมนวัตกรรม ภายใต้ขอบเขตที่ชัดเจน โปร่งใส

ในสองทศวรรษที่ผ่านมา โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยประเทศไทยเป็นประตูผ่านสู่ประเทศอื่นในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง จึงเป็นโอกาสให้ประเทศไทยสามารถเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญ จะเห็นได้จากการขยายเส้นทางติดต่อระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เช่น ถนนและเส้นทางรถไฟที่พาดผ่านจากเวียดนามไปยังประเทศพม่าและอินเดีย และขึ้นเหนือไปยังประเทศจีน จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงทั้งในระดับผู้คน รวมถึงสินค้าและบริการ

การพัฒนาที่มีประโยชน์อย่างยิ่งคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อันทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในชนบทอย่างกว้างขวาง

“สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องใช้เงินทุนสนับสนุนจำนวนมาก บริษัทเอกชนสามารถทำได้ด้วยการระดมทุนผ่านตลาดทุน จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานกำกับดูแล ด้วยรูปแบบการระดมทุนที่หลากหลายและไม่ผูกติดกับรูปแบบเดิมๆ” นายริชาร์ดกล่าว

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ควรเล็งเห็นความสำคัญของความต้องการเงินทุนที่เพิ่มขึ้น และความสำคัญของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลในภูมิภาค ส่วนตลาดหลักทรัพย์ควรเพิ่มความยืดหยุ่นและสร้างสรรค์ รวมถึงความหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ระดมทุน

ปัจจุบันความต้องการเปลี่ยนไป และ ก.ล.ต. ไม่สามารถขจัดความเสี่ยงได้หมด การตัดสินใจลงทุนเป็นเรื่องของภาคเอกชน และหน่วยงานกำกับดูแลควรเข้ามาวางกรอบกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม โครงสร้างทางนโยบายของไทยควรมีความยืดหยุ่นและข้อได้เปรียบโดยการทำให้ดีกว่า เร็วกว่า และถูกกว่าคู่แข่ง นโยบายที่เห็นแก่ประโยชน์ของกลุ่มเพียงบางกลุ่มแทนที่จะเห็นแก่เศรษฐกิจในภาพรวมจะนำมาซึ่งผลกระทบที่หนักขึ้น

เจ้าสัวซีพี แนะรัฐลงทุน “ชลประทาน-เปิดกาสิโน-ลดภาษี” เพื่อสร้างโอกาส

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี กล่าวในหัวข้อ “Global Opportunities” ว่า ประเทศไทยมีโอกาสเต็มไปหมดโดยเฉพาะใน 3 ภาคเศรษฐกิจ คือ ภาคเกษตร ภาคการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม

โดยภาคเกษตร นายธนินท์กล่าวว่า ภาคเกษตรคือเบอร์หนึ่งของไทย เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกทั้งสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมรวมกันคิดเป็นมูลค่า 1.67 ล้านล้านบาท ถือเป็นการส่งออกเบอร์หนึ่งของประเทศ และระบุว่า จำเป็นต้องนำตัวเลขนี้มาพูดเพื่อให้แน่ใจว่า เกษตรของเราจะมีบทบาทมากขึ้น ถ้ารัฐบาลสนใจและมีนโยบายที่ถูกต้อง

นายธนินท์เสนอว่า รัฐบาลควรลงทุนระบบชลประทานในพื้นที่ 24 ล้านไร่ให้สมบูรณ์ ซึ่งต้องลงทุนอีก 2 ล้านล้านบาท มั่นใจว่าคุ้มเพราะจะทำให้พื้นที่ 24 ล้านไร่ให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเท่ากับพื้นที่ปลูกข้าวในปัจจุบัน 57 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 33 ล้านไร่ก็ไปสนับสนุนปลูกสินค้าอื่น เช่น ยาง อ้อ มันสำปะหลัง ไม่จำเป็นต้องปลูกข้าว

“ถ้าลงทุนชลประทาน 2 ล้านล้านบาท คำนวณแล้วจะได้ผลผลิตมีมูล 3.3 ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้นลงทุนไม่เสียหาย จะได้ผลผลิตดีขึ้น คุณภาพดีขึ้น และต้นทุนจะถูกลง”นายธนินท์กล่าว

ส่วนภาคการท่องเที่ยว นายธนินท์เสนอว่า การจะส่งเสริมการท่องเที่ยว รัฐบาลควรตั้งกาสิโนเหมือนที่มาเก๊า สามารถสร้างรายได้เป็นที่ 1 ของโลกสูงถึง 879,000 ล้านบาท ลองลงมาคือลาสเวกัส 319,300 ล้านบาท และสิงคโปร์ที่เพิ่งเปิดไม่นานก็สร้างรายได้ถึง 269,849 ล้านบาท

“การท่องเที่ยวทำดีๆ เชื่อว่าไทยจะเป็นเบอร์หนึ่ง ถ้ามีกาสิโน และรัฐบาลวางแผนให้ดี มีตัวอย่างให้ดูว่าใครเขาทำสำเร็จ มีตัวอย่างให้เรียนรู้ทำไมเราไม่ไปเรียนรู้ และไม่กลัวว่าคนไทยจะไปเล่น เพราะคนที่ไม่เล่นก็ไม่เล่น แต่คนที่เล่นก็เลิกไม่ได้เพราะเป็นนิสัย และประวัติผมก็ไม่เคยเล่นการพนัน” นายธนินธ์กล่าว

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์

นอกจากนี้ นายธนินธ์ยังเสนอว่ารัฐบาลควรพิจารณาลดภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าแบรนด์เนมเหมือนยุโรป เพื่อให้มีการนำเข้าสินค้าและดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาซื้อสินค้าในเมืองไทย โดยเฉพาะคนจีน เพราะจากข้อมูลพบว่า นักท่องเที่ยวจีนไปยุโรปซื้อสินค้าแบรนด์เนมสูงถึง 62% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่ไปเที่ยวยุโรป ดังนั้น ถ้าเราชักชวนให้คนจีนเพียง 10% ของประชากรทั้งหมดของจีน 1,400 คน จะได้นักท่องเที่ยวจีนถึง 140 คนเข้ามาเที่ยวเมืองไทย ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก

สำหรับภาคอุตสาหกรรม ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารซีพีเสนอว่า รัฐบาลควรส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยการส่งเสริมสินค้าอุตสาหกรรมต้องมีการศึกษาว่าลูกค้าต้องการอะไร เช่น ญี่ปุ่นต้องการอะไร ก็จดๆ ไว้ และต้องมีเป้าหมาย รวมถึงจีนด้วย เพราะเป็นตลาดใหญ่ และมีกำลังซื้อมาก

นายธนินท์ยังเสนอให้รัฐบาลพิจารณาลดภาษีนิติบุคคลธรรมดาเหลือ 17% เท่าสิงคโปร์และฮ่องกง รวมถึงภาษีนิติบุคคล เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ

นอกจากนี้ต้องส่งเสริมทรัพยากรของเราให้มีประสิทธิภาพ คุณภาพ และมีเป้าหมาย เช่น ยาง ต้องมีเป้าหมายว่า ยางรถยนต์ต้องผลิตที่เมืองไทย ไม่ใช่ขายยางดิบ ยางแห้ง หรือขายวัตถุดิบให้ต่างประเทศ แต่เพิ่มมูลค่า เพิ่มสินค้า เพิ่มประสิทธิการผลิต เพิ่มคุณภาพสินค้า รวมถึงสินค้าอื่นๆ ก็ต้องดำเนินการตามแนวนั้นด้วย เช่น ข้าว มัน ปาล์ม เป็นต้น

“โอกาส ผมมองแล้วเต็มไปด้วยโอกาส” นายธนินธ์กล่าว