“ศาลก็ต้องคิดว่าจะรักษา รธน. นี้ไว้เพื่ออะไร รักษาเจตนารมณ์เพื่ออะไร ถ้าทุกอย่างตายหมด มันก็ไม่ใช่ ก็ถือว่าบางเรื่องศาลก็อะลุ้มอล่วย”
ดูเหมือนโลกจะหยุดหมุนเพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรรมนูญ (รธน.) ม.291 เป็นการล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตาม รธน. ม.68 หรือไม่
ในห้วงเวลานี้มีนานาทัศนะออกมาจาก “กูรูการเมือง” หลายคน
บางคนเชื่อว่า คำวินิจฉัยที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคมนั้น จะมีผลถึงขั้นเปลี่ยนแปลงประเทศ หากคำวินิจฉัยของศาลออกมาในทางร้ายที่สุด
นั่นหมายถึงการที่พรรคการเมืองที่มีส่วนร่วมในการเสนอร่างแก้ไข รธน. และสมาชิกรัฐสภาจำนวน 416 คน ที่ร่วมโหวตรับหลักการในวาระที่ 1 จะถูกถอดถอนตามที่มีผู้ยื่นคำร้อง
บางคนคิดในแง่ดีว่าศาลรัฐธรรมนูญจะยกคำร้อง เพื่อให้กระบวนการแก้ไข รธน. เดินหน้าต่อไปได้
และมีไม่น้อยที่เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาในแนวทางกลางๆ โดยจะยุติการเดินหน้าแก้ไข รธน. แต่จะไม่วินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ที่ถูกร้องเข้าข่ายขัดมาตรา 68
“อาจารย์จรัส สุวรรณมาลา” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งใน 10 อรหันต์กรรมการที่ปรึกษาของผู้ตรวจการแผ่นดิน อาสาจับชีพจรการเมืองไทย ผ่านสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า หลังสิ้นเสียงอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ไทยพับลิก้า : ให้อาจารย์ช่วยวิเคราะห์ว่าศุกร์ที่ 13 นี้ผลการวินิจฉัยจะออกมาเป็นแบบใด
ถ้าศาลจะยกคำร้องเลยไม่น่าจะเป็นไปได้ คือตัวบทกฎหมายพฤติกรรมที่ทำมันมีสาระสำคัญ ศาลจะยกคำร้องไม่ได้ ต้องมีอะไรสักอย่าง เช่น ยับยั้งการเสนอแก้ รธน. ทั้งฉบับ ดังนั้น คำวินิจฉัยจะต้องออกมาแบบกลางๆ เพราะเท่าที่ผมดูพฤติกรรมที่ผ่านมาของศาลนะ การที่ศาลยกคำร้องตอนที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้งในสมัยของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยกคำร้องทั้ง 2 อัน ทั้งที่เรามองจากมุมของนักการคลัง กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้จะยกคำร้องไม่ได้ ต้องยับยั้ง ทีนี้ ที่ศาลพยายามทำแบบนั้นเพื่อที่จะเข้าใจสถานการณ์ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ พูดง่ายๆ ก็คือผ่อนปรนเอาไว้ ว่าสถานการณ์แบบนี้มันจำเป็น เพราะฉะนั้น เมื่อคุณอภิสิทธิ์ทำได้ คุณยิ่งลักษณ์ก็ทำคล้ายๆ กัน แต่อาจจะเรียกว่าความจำเป็นคนละบริบทกัน ศาลยังยอมตีความให้
ฉะนั้นในกรณีนี้ ศาลก็ไม่เชิงว่าจะตีความตามกฎหมายแบบเคร่งครัด เช่น เจตนาที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ กรรมคือการกระทำ สิ่งที่เพื่อไทยกับอีกหลายคนเสนอไว้ในร่างแก้ไข รธน. มันเจตนาชัดๆ ว่าจะยกเลิก รธน. 2550 ทั้งฉบับ แต่ว่ายกเลิก รธน. กับการล้มล้างการปกครอง มันคนละสเต็ปกัน มันไม่ใช่อย่างเดียวกัน ศาลน่าจะตีความว่าการแก้ไข รธน.ไม่ถูกตามมาตรา 291 แต่จะบอกว่าการร่าง รธน. มันล้มล้างการปกครองก็พูดไม่ได้ เพราะยังไม่ได้เริ่มกระบวนการร่าง และร่างแก้ไข รธน. ที่มีการเสนอกันไปนี่ ผมก็ไม่เห็นมีส่วนไหนที่แสดงเจตนารมณ์ว่าจะล้มล้าง เพียงแต่ว่าจะยกเลิกแค่นั้นเอง ผมว่ามันเหมือนกับว่าศาลก็จะเอาตรงนี้เป็นคุณกับผู้ถูกร้อง ด้วยการบอกว่าให้ยับยั้งการแก้ไข รธน. แต่ไม่ถือว่ามีเจตนาที่ล้มล้าง คงจะออกมาในแบบกลางๆ
ไทยพับลิก้า : ดูเหมือนศาลจะดูบริบททางการเมืองด้วย
ศาลดู และที่ผ่านมาศาลดูอะลุ้มอล่วยพอสมควร ถ้าผมเป็นศาล คำร้อง พ.ร.ก.กู้เงินไม่ผ่านแน่ เพราะไม่ได้ฉุกเฉินเร่งด่วน คือ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะคุ้มครองเจตนารมณ์ของ รธน. หลักการปกครองของไทยเราเวลาตั้งศาล รธน. ขึ้นมาเราต้องการให้ศาลเป็นตัวตรวจสอบ ถ่วงดุลการใช้อำนาจโดยเสียงข้างมากโดยสภาหรือของฝ่ายบริหาร พูดง่ายๆ คือเวลาสภาทำงาน สภาใช้เสียงข้างมาก แต่การใช้เสียงข้างมากไป overrule (ลบล้าง) เจตนาของ รธน. สภาจะบอกว่าผมเป็นเสียงข้างมากจะออกกฎหมายอะไรก็ได้ไม่ได้ เพราะตัวเองมาจาก รธน. จะไป overrule รธน.ไม่ได้ และใครจะเป็นคนที่จะบอกว่าสภากำลังเอากฎหมายที่ผิดกฎหมายมาพิจารณา ก็ต้องเอาศาล รธน. เป็นคนชี้
ศาล รธน. ตั้งขึ้นมาเพื่อที่คุ้มครองเจตนาของ รธน. ถึงที่สุดแล้ว รธน. เป็นกฎหมายที่ร่างขึ้นมาเพื่อบริหารประเทศ เป็นสิทธิของประชาชน มันไม่ใช่เพื่อ รธน. เอง เวลาศาลตีความก็ต้องตีความว่าต้องเอาประโยชน์ของมหาชน ตัวนี้จึงถูกเอามาประกอบเพื่อพิจารณา เชื่อว่าศาลจะไม่งี่เง่า (ยิ้ม) เชื่อได้ว่าศาลจะใช้ดุลพินิจที่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม
ไทยพับลิก้า : สูตร 68, 77 และ 7 ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี มีความเป็นไปได้หรือไม่
บิ๊กจิ๋วอีกแล้ว (หัวเราะ)
ไทยพับลิก้า : แต่คุณสดศรี สัตยธรรม กกต. ก็ออกมาพูดว่า ถ้าศาลตัดสินในแนวทางที่แรงที่สุด จะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง และ กกต. ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ จนกลายเป็นชนวนของรัฐบาลพระราชทานตามมาตรา 7 ของ รธน. (อ่านรายละเอียด คลิก)
คุณสดศรีก็เวอร์ไปหน่อย ศาลรัฐธรรมนูญจะถอดถอน ส.ส. ด้วยหรือ ผมว่าถ้าศาลทำอย่างนั้น ศาลก็ต้องคิดว่าจะรักษา รธน. นี้ไว้เพื่ออะไร รักษาเจตนารมณ์เพื่ออะไร ถ้าทุกอย่างตายหมด มันก็ไม่ใช่ ก็ถือว่าบางเรื่องศาลก็อะลุ้มอล่วย เรื่องนี้ก็ต้องคิดว่าศาลจะพิจารณาได้แค่ไหน แต่ศาลจะพิจารณาอย่างไรก็แล้วแต่ศาล
ไทยพับลิก้า : ถ้าออกแบบกลาง ศาลอาจจะให้ยุติกระบวนการแก้ไข รธน. แต่วินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องไม่ผิดตาม ม. 68 รัฐบาลจะกล้าตั้งต้นแก้ไข รธน. อีกครั้งหนึ่งหรือไม่
ผมว่ารัฐบาลก็จะเสนอต่อไปเลย ฝ่ายต่อต้านก็คงไม่เยอะ เพราะฝ่ายประชาธิปัตย์เองยอมรับ เสื้อเหลืองไม่ค่อยยุ่งกับเรื่อง รธน. หลากสีก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร ดังนั้นจะมีคนเงียบขึ้นมาเยอะ แต่ที่จะไม่แฮปปี้ก็คือเสื้อแดง เขาจะรู้สึกว่าเขาเสียหน้า แต่ทางรัฐบาลก็คงจะคอยกำราบว่าพอแล้ว ไม่ถือกับว่าเสียหมดเพราะยังเล่นต่อได้อยู่
ไทยพับลิก้า : ในฐานะที่เคยเป็น ส.ส.ร. มา การแก้ รธน. มีความเกี่ยวพันกับมาตรา 68 หรือไม่
ไม่ ถ้าแก้แบบมาตรา 291 นะ คือการแก้ไขกันรายมาตรา แต่ที่ทำอยู่เป็นการยกร่างฯ รธน. ขึ้นมาใหม่ มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. หมายความว่ายกเลิกฉบับเก่า ยกร่างฉบับใหม่ นี่คือปัญหาทำให้คนมาฟ้องมาตรา 68 แต่อันที่จริงเขาฟ้องแรงไปนะผมว่า (หัวเราะ)
ไทยพับลิก้า : ที่จริงเจตนารมณ์ของมาตรา 68 เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารเกิดขึ้นเท่านั้น
ไม่ใช่ มาตรา 68 มันมีความหมายกว้างกว่านั้น มาตรา 68 ไม่รู้ว่าเขียนดีแค่ไหนนะ เพราะคนเขียนเป็นอาจารย์จากวิทยาลัยครู พวกเราที่เป็น ส.ส.ร. ไม่มีเวลาเขียน มาตรา 68 เจตนาที่จะป้องกันการล้มล้าง รธน. ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร หรือ เสียงข้างมากในสภา หรือ การยกเว้นไม่ใช้ รธน. บางมาตราก็ถือเป็นการล้มล้างเจตนารมณ์เหมือนกัน เพราะมันมีการล้มล้างลายแบบ อย่างฮิตเลอร์ (อดอล์ฟ ฮิตเลอร์) อดีตผู้นำนาซีเยอรมัน เลือกที่จะไม่ใช้ รธน. บางมาตรา ก็คือการล้มล้างชนิดหนึ่งเหมือนกัน ดังนั้นเรื่องนี้เขาดูที่ผล ไม่ได้ดูที่ตัวปรากฏการณ์ที่เห็น
ไทยพับลิก้า : ฝ่ายเพื่อไทยท้าทายว่า ถ้าไม่อยากให้มีการแก้ไข รธน. ทั้งฉบับทำไมไม่เขียนใน รธน. ไปเลย แต่ที่ไม่เขียนแสดงว่าแก้ไขได้
ก็เขาตีความได้หมด ต้องให้ศาลเป็นคนชี้ อะไรที่กฎหมายไม่ห้ามสามารถทำได้หมด อันนั้นเป็นกฎหมายเอกชนนะ ถ้ากฎหมายมหาชนต้องทำเท่าที่ให้ทำเท่านั้น คุณออกนอกไม่ได้เลย อย่างเช่น มาตรา 291 เขียนชัดว่าแก้ รธน. ให้ทำอะไรบ้าง หนึ่ง สอง สาม กฎหมายจะเขียนไว้เลย เพราะฉะนั้นคุณต้องตีความกฎหมายมหาชนจากกฎหมายมหาชนจริงๆ และกฎหมาย รธน. นี่มีทฤษฎีปรัชญาอยู่เบื้องหลังยาวยืดเลย พวกเรียนกฎหมายมหาชนโดยตรงในเมืองไทยมีแค่ไม่กี่คนเท่านั้น
ไทยพับลิก้า : มีเสียงจากพรรคเพื่อไทยว่า ถ้าศาลให้ยุติการแก้ รธน. ก็จะเริ่มต้นแก้ไขใหม่เป็นรายมาตรา โดยเริ่มจากการแก้ไขมาตราที่ว่าด้วยอำนาจศาล รธน. ทันที
ได้…(ลากเสียง) เขาก็แก้ได้ เขาจะยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ยกเลิกศาลปกครอง หรือการจำกัดอำนาจหน้าที่หรือกำหนดที่มาใหม่ก็ได้ไม่มีปัญหา แต่จะชอบหรือไม่เป็นเรื่องที่สภาจะต้องคุยกัน ผมว่าพรรคเพื่อไทยก็พูดไปด้วยความเจ็บใจ และหลักการ รธน. ของไทยเรา ใน รธน. ปี 2540 เป็นปีแรกที่เราเริ่มใช้ศาล รธน. ศาลปกครอง เมื่อก่อนถือว่านิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ มันไม่มีใครมาคาน แต่หลังมี รธน. 2540 ฝ่ายบริหารถูกศาลปกครองคานอำนาจอยู่ ฝ่ายนิติบัญญัติถูกศาลรัฐธรรมนูญคาน ดังนั้นระบบศาลจึงเพิ่มขึ้น ถ้าจะเลิกหรือจะจำกัดต้องคุยในเรื่องปรัชญา คือถ้ามีศาลรัฐธรรมนูญแต่จะบอกว่าไม่ให้มีหน้าที่เรื่อง รธน. แล้วจะมีศาลทำแมวอะไร (หัวเราะ) แต่จริงๆ เรื่องนี้ก็เหมือนกับคนเป็นโจรที่บอกว่าต่อไปนี้จะไม่มีพระ หรือประเทศคอมมิวนิสต์ที่บอกว่าต่อไปนี้ห้ามมีศาสนา เพราะศาสนาเป็นสิ่งที่มอมเมา แต่คอมมิวนิสต์ไม่ได้มอมเมา อะไรอย่างนี้
ไทยพับลิก้า : วิกฤตศรัทธาขององค์กรตุลาการน่าเป็นห่วงหรือไม่ โดยเฉพาะข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าศาลแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ
ศาลยุติธรรมปกติไม่น่าห่วง แต่ที่พูดกันก็คือศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญมีเจตนาที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เกิดการตรวจสอบ ถ่วงดุล แทรกแซง ยับยั้ง การใช้อำนาจรัฐที่ไม่ถูก เพราฉะนั้น ถ้ามีคนบอกว่ามีการแทรกแซงยับยั้งนี่คือหน้าที่ของเขา ในต่างประเทศระบบศาลเขาจะใช้ศาลสูงสุดทำทุกเรื่อง มีหน้าที่รับพิจารณาคดี รธน. ฝ่ายบริหารฟ้อง หรือฝ่ายสภาฟ้องว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย รธน. ก็ใช้ศาลสูงสุดพิจารณา เช่น สมัยประธานาธิบดีนิกสัน (ริชาร์ด มิลเฮาส์ นิกสัน อดีตประธานนาธิบดีสหรัฐอเมริกา) จากพรรครีพับลิกัน เป็นคนฉลาดแต่ขี้โกง วันหนึ่งขอตั้งงบประมาณ ทีนี้งบประมาณจะผ่านสภาเป็นเรื่องยาก ก็ไปล็อบบี้กับสภาที่มาจากซีกเดโมแครตว่าถ้าให้งบประมาณด้านความมั่นคงหรือของกลาโหมกับเขา เขาก็จะให้งบประมาณด้าน Social WelFare (สวัสดิการสังคม) ซึ่งฝ่ายเดโมแครตก็จะรับเรื่องนี้ เลยมีการยื่นหมูยื่นแมวกัน พองบประมาณผ่าน สภานิกสันจ่ายเงินโครงการความมั่นคง แต่ว่างบในส่วนของสวัสดิการสังคมนิกสันไม่จ่าย ไม่ทำเลย และเอาเงินค้างไว้ พูดง่ายๆ ว่าจะเบี้ยว เสร็จแล้วฝ่ายเดโมแครตบอกว่านิกสันไม่จ่ายเงินเพราะเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย (เคาะโต๊ะ) ต้องฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่านิกสันไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย รธน. นี่เป็นตัวอย่าง
ดังนั้น เรื่องนี้ไม่ว่าจะมีศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่มีก็ตาม แต่การทำหน้าที่การตรวจสอบกระบวนการใช้อำนาจต้องมี ถ้าไม่มีศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องมีศาลอื่น ทีนี้ที่ผ่านมาที่เมืองไทยเราไม่เคยมีองค์กรไหนตรวจสอบฝ่ายบริหารได้จริงๆ เพราะฝ่ายนิติบัญญัติที่มีหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารก็ไม่ทำหน้าที่ เพราะเป็นพวกเดียวกัน เสียงส่วนใหญ่ในสภาก็คือรัฐบาล จึงไม่มีการตรวจสอบ บางทีโกงไปก็ให้สภากินไปด้วย นี่คือการเมืองไทย ถ้าอย่างนั้นต้องมีใครที่จะมาป้องกันตรงนี้ขึ้นมาเพื่อป้องกันการฮั้วอำนาจกัน ก็ต้องมีศาลนี้เกิดขึ้น เพราะเราไม่เคยฟ้องรัฐบาล ไม่เคยฟ้องฝ่ายนิติบัญญัติ มีใครเคยฟ้องบ้างไหม ส.ส. ก็ไม่ฟ้องกันเอง คำถามก็คือว่า ถ้าไม่มีศาลจะทำอย่างไร
ไทยพับลิก้า : เพื่อไทยพูดชัดว่าศาล รธน. ไปแน่หากมีการแก้ไข รธน.
เรื่องนี้ก็เห็นชัดเลย ผมกลัวอย่างเดียวนะ ผมกลัวว่าจะเข้ามาตรา 68 ชัดๆ นะ คราวนี้ล้มล้างระบอบการปกครองชัดเลย ถ้าคุณไปยกเลิกศาล หรือไปทำให้กลไกอำนาจในการตรวจสอบนี้เสียไปนะ มีคนยื่นแน่ 100 เปอร์เซ็นต์ อันนี้มันแอ็คชั่นเลยนะ คนยื่นญัตติติดคุกเลยนะ (ยิ้ม)
ไทยพับลิก้า : เกมแก้ รธน. ใครได้ใครเสีย
ถ้าถามผมนะ คนเสียคือชาวบ้าน ประชาชน ที่จริง รธน. 2550 ก็มีข้อเสียเยอะ คือเขียนมาแล้วแต่ไม่มีกฎหมายลูกและก็ทำไม่ได้ ไม่ใช่แค่ 1-2 มาตรานะ มันมีเยอะมาก และมีหลายมาตราที่พอเวลาเอาไปใช้แล้วมันเบี้ยวแต่ไม่มีการแก้ เช่น กฎหมายเลือกตั้ง ส.ว. ตรงเวริ์ดดิ้ง ส.ว.ที่มาจาการสรรหานั้นไม่ดี และอำนาจ ส.ว. ก็ไม่มีความหมายอะไร เป็นแค่เพียงตัวถ่วงเสียมากกว่าที่จะช่วย การแก้เป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ข้อดีที่กฎหมายปี 2540 มันไม่มี จะมีบทบัญญัติว่าด้วยการเงินการคลัง ที่ออกแบบให้รัฐบาลไม่ขาดวินัยทางการคลัง แต่รัฐบาลก็รู้ว่าถ้าออกมาปุ๊บก็จะทำในแบบที่ทำไม่ได้ เลยไม่ได้ทำ
ไทยพับลิก้า : 10 อรหันต์ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดินยังทำงานอยู่ไหม
มีการประชุมกันอยู่เดือนละหน ประเด็นที่ทำอยู่เป็นประเด็นของการที่คิดไปข้างหน้าว่าจะมีการแก้ รธน. เราก็มาดูว่าประเด็นของการแก้ รธน. มีเรื่องอะไรบ้าง ควรจะมีข้อเสนอแนะอย่างไรให้กับสภา เพราะเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินในการให้คำแนะนำกับสภาในการแก้ไข รธน. มีคุยกันเรื่องหลักๆ เป็นเรื่องสิทธิ เรื่องอื่นๆ มีคนอื่นดู แบ่งๆ กันไปศึกษาวิจัยมานำเสนอ โดยเราจะใช้วิธีการคิดว่าถ้ามีการแก้ รธน. หรือมีการเริ่มเดินเครื่องอะไรอย่างไร เราก็จะให้ข้อเสนอแนะไปก่อนเวลาจะทำสักนิดหนึ่ง เช่น หากมีการแก้หมวด 1 เราก็จะทำเป็นข้อเสนอแนะไปว่าหมวด 1 ควรเป็นอย่างไร