ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 3 นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์วิกฤติหนี้อียู ผลกระทบและทางออก

3 นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์วิกฤติหนี้อียู ผลกระทบและทางออก

19 มิถุนายน 2012


เสวนา ThaiPublica Forum ครั้งที่ 2 เรื่อง"วิกฤติหนี้อียู ผลกระทบและทางออก"
เสวนา ThaiPublica Forum ครั้งที่ 2 เรื่อง"วิกฤติหนี้อียู ผลกระทบและทางออก"

แม้ผลการเลือกตั้งของกรีซล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเป็นข่าวดี แต่ความกังวลเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะในกรีซยังมีอยู่ โดยประเด็นที่เป็นห่วงกันมากที่สุดคือ ปัญหาในกรีซจะลุกลามกลายเป็นปัญหาวิกฤติหนี้ในยุโรป (อียู) หรือไม่ เป็นประเด็นที่มีการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นความเสี่ยงที่มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง แต่ความคิดเห็นที่ออกมาเกี่ยวกับเรื่องนี้มีความแตกต่างกันหลากหลายมุมมอง ยากต่อการประเมินสถานการณ์ โดยเฉพาะการมองไปข้างหน้าเพื่อเตรียมตัวรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์เรื่องหนี้ในยุโรป และสามารถประเมินได้ว่าในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต มีความเสียงอยู่ที่ระดับใด ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะประเทศไทย ตอนนี้ยืนอยู่ตรงจุดไหนของความเสี่ยง และต้องเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงนั้นอย่างไร เป็นประเด็นที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้จัดเสวนา “ThaiPublica Forum ครั้งที่ 2” หัวข้อ “วิกฤติหนี้อียู ผลกระทบและทางออก” เมื่อวัน 18 มิถุนายน 2555 ณ KTC POP ชั้น B1 ตึกสมัชชาวาณิช 2

โดยมีวิทยากร ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) และประธานคณะกรรมการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน) และผู้ดำเนินการเสวนา ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำหรับเนื้อหารายละเอียดของการเสวนา สำนักข่าวไทยพับลิก้า ขอนำเสนอในลักษณะถาม-ตอบ ดังนี้

ดร.ภาวิน : ขอเริ่มจากสถานการณ์ล่าสุดของวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป โดยให้ ดร.คณิศช่วยสรุปสถานการณ์ปัจจุบัน และแนวโน้มว่าเป็นอย่างไร และมีทางออกหรือไม่

ดร.คณิศ : เลือกตั้งเมื่อคืน (17 มิถุนายน 2555) ยังไม่ชัด แม้มีการสำรวจความคิดเห็น (exit poll) ออกมา เพิ่งมาชัดเจนเมื่อเช้า ในการเลือกตั้งมี 2 พรรค คือ New Democracy ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนให้อยู่ในยูโรกรุป กับ พรรค Syriza ที่ไม่ต้องการให้อยู่ในยูโรกรุป และไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัดเข็มขัด

ปรากฏว่า พรรค New Democracy ได้คะแนน 130 ที่นั่ง ถ้าร่วมพรรคเดิมที่เคยเป็นรัฐบาลคือ Pasok จะได้ที่นั่งรวมกัน 163 ที่นั่ง จาก 300 ที่นั่ง หมายความว่าตอนนี้ทุกคนก็จับตามองดูว่าจะตั้งรัฐบาลอย่างไรภายใต้รัฐธรรมนูญของกรีซ ที่จะให้พรรคแรกเป็นคนจัดตั้งรัฐบาลก่อน ถ้าจัดตั้งไม่ได้ เพราะเสียงไม่พออย่างคราวที่แล้วเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เขาจะให้พรรคที่ได้คะแนนอันดับสองเป็นคนจัดตั้ง และถ้าไม่ได้อีกก็ให้พรรคอันดับที่สามจัดตั้ง ในที่สุดถ้าทำไม่ได้เขาจะให้ประธานาธิบดีลงมาแทรกแซง เพื่อจัดรัฐบาลเฉพาะกาลและทำการเลือกตั้งต่อ

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ

“คราวที่แล้วคะแนนหวิวมาก จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่คราวนี้จากที่นั่งรวมกัน 163 จาก 300 ที่นั่ง น่าจะพอทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามโพล ที่คนส่วนใหญ่อยากให้อยู่ แต่มีปัญหาเรื่องนโยบายรัดเข้มขัดค่อนข้างเยอะ”

เพราะฉะนั้น ภาพแรกที่เกิดขึ้นจากการประมาณการของ สวค. ที่ทำกับกระทรวงการคลัง เราคิดว่าตอนนี้อัตราการเติบโต (จีดีพี) ของยุโรปจะติดลบ 0.9% หรือลบประมาณ 1% ส่วนอเมริกาขยายตัว 2.2% ญี่ปุ่นโต 2.2% ส่วนเอเชียรวมเอเชียตะวันออกรวมอินเดียและจีนด้วย จะขยายตัวประมาณ 4.7% แต่ภาพนี้จะมีความเหวี่ยงพอสมควร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในยุโรปว่าเป็นอย่างไร ถ้าเลือกตั้งออกมาอีกแบบหนึ่งตัวเลขนี้จะเหวี่ยงมาก

ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป แม้กรีซจะมีผลเลือกตั้งแบบนี้ แต่ผลที่ออกมาก็อยู่ในโทนที่ว่าก่อนเลือกตั้งเป็นอย่างไร ผลวันนี้ก็จะลากต่อไปไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ถ้าก่อนเลือกตั้งรู้สึกต้องยุ่งเหยิงนั่งคิดทุก 3-4 เดือนอย่างไร ข้างหน้าก็จะเป็นแบบนั้นต่อไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นสาระสำคัญ แต่ก็ไม่ได้เป็นการหยุดปัญหาของยุโรปที่เป็นอยู่

ทั้งนี้ มีคนเอาตัวเลขของกลุ่มยุโรปกับอเมริกามาเปรียบเทียบกัน พบว่าไม่ต่างกันมากนัก (ดูตารางเปรียบเทียบข้อมูลเศรษฐกิจของกลุ่มยุโรปกับอเมริกา)

เปรียบเทียบเครื่องชี้เศรษฐกิจของยุโรปกับอเมริกา
เปรียบเทียบเครื่องชี้เศรษฐกิจของยุโรปกับอเมริกา ที่มา: สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

ประเด็นคือเวลาที่คนมองว่า ยุโรปถ้าเป็นประเทศเดียวกันจะไม่ต่างจากอเมริกามากนัก ส่วนที่ต่างจริงๆ คือ ยุโรปไม่ได้เป็นประเทศเดียวกัน เพราะฉะนั้นกลายเป็นปัญหาความแตกต่างในยูโรมากกว่าจะเป็นปัญหายูโรโซนของทั้งหมด หมายความว่า ถ้าเป็นประเทศเดียวกันทั้งหมด มีการแก้ไขปัญหาในฐานะประเทศเดียวกัน จะเป็นอีกภาพหนึ่ง ประเด็นก็คือ เกิดแนวความคิดหลักในการแก้ปัญหาอยู่ 4 แบบ หรือ 4 แนวทาง

แบบที่ 1 กลุ่มที่สนับสนุนยูโร ก็บอกว่าทำให้เป็นประเทศเดียวกันไปเลย ทำนโยบายการคลังร่วมกัน (Fiscal Pact) คือ ทุกคนมีเงื่อนไขการทำนโยบายการคลังเหมือนกัน และให้แบงก์พาณิชย์มารวมกัน (Banking Union) มีการกำกับดูแลรวมกันด้วย

แบบที่ 2 แก้ปัญหาภายในได้ด้วยการให้ตามช่วยเหลือ โอนเงินกันไปโอนเงินกันมา แก้ปัญหาภายในเท่าที่จะทำได้ คือแก้ปัญหาภายในด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ยูโรบอนด์ (Euro Bond) ไม่ว่าจะเป็น Emergency Security หรือกลไกอะไรก็ว่าไป

แบบที่ 3 ถ้าอยู่ไม่ได้ในรูปแบบปัญหาความแตกต่างแบบนั้น ก็เอาประเทศที่เสี่ยงออกไป เช่น เอากรีซออกไป หรือประเทศอื่นที่เสี่ยงออกไป ให้เหลือส่วนใหญ่ที่อยู่ได้

แบบสุดท้ายคือ เลิกยูโรไปเลย

“ก็มีให้เลือก 4 ทาง โดยแนวทาง 3 กับ 4 เป็นนักลงทุนข้างนอกที่สนับสนุน แต่คนในยุโรปเท่าที่เราสแกนอยากเดินแนวทาง 1 กับ 2 ก่อน คือให้เป็นประเทศเดียวกันไปเลยในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หรือไม่ก็โอนเงินช่วยกันไปช่วยกันมา ซึ่งถ้ามองใหญ่ก็พอจะแก้ปัญหาไปได้ ไม่ใช่แก้ไม่ได้”

อย่างที่บอกว่าความแตกต่างในยูโรต่างกันมาก โดยเศรษฐกิจเยอรมันขยายตัว 3% ขณะที่กรีซจีดีพีติดลบ 6.9% ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเยอรมันเกินดุล 5.2% แต่กรีซขาดดุล 7.4% จะเห็นว่าความแตกต่างของเขาค่อนข้างห่างกัน ดังนั้นการรวมแบบนี้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม ภาพใหญ่พอดูได้

ทั้งนี้ จากการประเมินไว้ก่อนรู้ผลการเลือกตั้งเมื่อคืน (17 มิถุนายน 2555) พบว่าประเทศส่วนใหญ่อยากให้กรีซอยู่ต่อ เพราะถ้ากรีซออกจะมีความเสียหายทางตรงมากกว่า โดยประเมินว่าจะเสียหาย 220 พันล้านยูโร ซึ่งใหญ่มาก และจะมีผลกระจายไปสู่ที่อื่น เพราะฉะนั้น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต้องกลับมากใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ถ้าสมมุติว่ากรีซต้องออกจากยูโร

ทางด้านการเมืองที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ทราบแล้ว ฝรั่งเศสเข้ามาพร้อมเงื่อนไขใหม่ บอกว่าการที่รัดเข้มขัดมากเกินไปไม่ไหวแล้ว จึงเสนอเงื่อนไขขอให้มีมาตรการกระตุ้นการขยายตัว ด้านฝ่ายค้านในเยอรมันก็เห็นด้วยที่ให้กรีซอยู่ในยูโรโซน แม้แต่พรรค Syriza ตอนหลังก็เปลี่ยนจุดยืนอยากให้กรีซอยู่ในยูโรโซนต่อ แต่ขอไม่ทำตามเงื่อนไขนโยบายรัดเข็มขัด เพราะฉะนั้นในระยะยาวคือ กรีซยังอยู่ต่อ แต่จะเป็นการเปลี่ยนเงื่อนไข

ดังนั้น ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ การเดินต่อไปในการแก้ปัญหายุโรป ควรหรือไม่ควรจะมีนโยบายรัดเข้มขัดต่อ หรือจะดำเนินนโยบายขนาดไหน โดยมีการคำนวณตัวเลขมาให้ดูว่า เงื่อนไขยูโรโซนที่กำหนดตัวเลขขาดดุลงบประมาณไว้ไม่เกิน 3% ของจีดีพี อาจเป็นตัวเลขไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ของปัจจุบัน ประเด็นนี้เป็นข้อโต้แย้งของประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนใหม่

ทั้งนี้ ประเทศในยูโรโซนขาดดุลเกิน 3% ทั้งนั้น โดยจากตัวเลขย้อนหลัง 12 ปี พบว่า เกือบทุกประเทศขาดดุลงบประมาณเกิน 3% ยกเว้นประเทศเอสโตเนีย ฟินแลนด์ และลักเซมเบิร์ก (ดูตารางประกอบ)

ที่มา: สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

จึงสรุปได้ว่า ที่จริงแล้วการขาดดุลงบประมาณเกิน 3% เป็นการขาดดุลปกติ ไม่ใช่เรื่องพิสดารที่ไม่เคยทำ แต่ต้องมีการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง สร้างความเชื่อมั่น

ในทางการเมือง ถ้าเป็นประเทศกรีซประเทศเดียว ซึ่งเป็นประเทศขนาดเล็กก็จะไม่มีปัญหา แต่สถานการณ์เดียวกันถ้าเกิดขึ้นกับสเปนหรืออิตาลี ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ทางการเมืองที่มีผลทางด้านการเศรษฐกิจ จะยิ่งทำให้ยูโรโซนเรรวนมาก เขาก็เริ่มคิดว่านโยบายรัดเข้มขัดอาจจะมีผลร้ายทางด้านการเมืองมากกว่า เพราะฉะนั้น ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็จะมีส่งผลต่อยูโรโซนและอื่นๆ ได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะผ่อนปรนนโยบายรัดเข็มขัดต้องอธิบายหลายเรื่อง ต้องอธิบายว่ามันคืออะไร และจะทำได้แค่ไหน อันนี้ยังไม่ค่อยมีข้อตกลงเท่าไร

ทั้งนี้ จากการประเมินในช่วงที่ยูโรทำนโยบายรัดเข็มขัด ผลปรากฏว่า กำลังซื้อภายในในยุโรปลดลงค่อนข้างเร็ว คือประเทศที่ขาดดุล ถูกรัดเข็มขัดก็บริโภคลดลง แต่ประเทศที่เกินดุลไม่ได้ซื้อมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นผลกระทบแบบ spiral คือ กำลังซื้อในประเทศตกลงเร็ว ในขณะนี้กลายเป็นมีคนต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดค่อนข้างมาก

ในที่สุดก็มาถึงตรงที่ว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งเห็นว่า ต้องหาจุดสมดุลทางนโยบาย เนื่องจากข้อเท็จจริงข้อแรกคือ ขาดดุลงบประมาณ 3% เป็นเงื่อนไขที่ไม่น่าเป็นไปได้แล้วตอนนี้ ข้อที่สอง ระดับภาระหนี้ยังสูงมากจะลงจุดนี้อย่างไร และข้อที่ 3 จะทำอย่างไรก็ตาม เยอรมันเป็นประเทศเดียวที่ค้ำยูโรอยู่ เพราะฉะนั้นต้องการความช่วยเหลือจากเยอรมันแน่

ดังนั้น เครื่องมือที่เคยใช้มาและจะใช้ต่อไปในอนาคตข้างหน้า เมื่อกรีซยังเป็นอยู่แบบนี้ เครื่องมือพวกนี้ก็จะเข้ามา และจะได้ฟังมากขึ้น จึงต้องทำความเข้าใจ โดยที่ทำไปแล้วคือ กองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Financial Stability Facility: EFSF) ที่มีเงินจำนวน 440 พันล้านยูโร แต่กำลังเปลี่ยนเป็นกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (European stability mechanism: ESM) ที่ขอไว้ 500 พันล้านยูโร และมีเรื่องระยะสั้นที่ทำเรื่องเครดิต เรื่องระยะยาวที่ทำ Zero Bond

อย่างที่บอกตอนแรก มีคนกลุ่มหนึ่งบอกว่าควรต้องรวมตัวเป็นหนึ่ง ก็จะมีการพูดถึงยูโรบอนด์ การรวมแบงก์ (Banking Union) และมีการพูดถึงว่าให้ ECB เข้าไปดูแลเชื่อมโยงกับธนาคารพาณิชย์ของแต่ละประเทศโดยตรง ตอนนี้ ECB เข้าไปดูแลธนาคารกลาง และธนาคารกลางแต่ละประเทศเข้าไปดูธนาคารพาณิชย์โดยการค้ำประกันของรัฐบาล ในอนาคตมีแนวโน้มว่า ECB จะเข้าไปดูแลโดยตรงเลย เรื่องนี้คงต้องคุยกัน

ผมได้ทำกรณีต่างๆ สรุปง่ายๆ ว่า ตอนนี้ในกรณีฐาน เศรษฐกิจประเทศไทยประมาณการไว้อยู่ที่ 5.5% และยุโรปลบ 0.9% แต่ถ้ามีปัญหาบ้างไม่กระเทือนอะไรเท่าไร เศรษฐกิจไทยก็จะโตลดลงมาเหลือประมาณ 5% และยุโรปจะติดลบประมาณ 1.6% แต่ถ้าเศรษฐกิจยุโรปติดลบมากขึ้น ขยายความรุนแรงมากขึ้น ยุโรปจะติดลบ 2.4% ประเทศไทยก็จะลดลงเหลือ 4% แต่กรณีเลวร้ายสุด ถ้ายูโรมีปัญหาลึกถึงสถาบันการเงินทั้งหมด คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ ระยะต้นให้ไว้ที่ยุโรปลบ 5% ถ้าเป็นแบบนั้น ประเทศไทยจะโต 2.2%

ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวเป็นการคำนวณ อย่าคิดอะไรมาก ประเด็นของการคำนวณเพื่อที่จะบอกว่า ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ตรงไหน ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ 5.5% ในช่วงวิกฤต 2008-2009 จีดีพีเราติดลบ 2.3% ก่อนหน้านั้น สวค. ประมาณการให้รัฐบาลบอกว่าจะติดลบ 4% เสร็จแล้วก็ทำนโยบายกระตุ้นเข้าไป ก็เลยทำให้เศรษฐกิจติดลบเพียง 2.3% ที่นี้บอกว่า กรณีเลวร้ายสุดคืออยู่ที่ 2.2% ก็หายไปเยอะเหมือนกัน แต่ไม่ติดลบ

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เนื่องจากกรีซค่อนข้างเข้าที่เข้าทาง ตัวเลขก็น่าจะอยู่ประมาณ 5-5.5% จะลดลงก็ประมาณ 1% หรือ 1% กว่า ก็ถือว่าอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยพอรับได้ นี่คือสิ่งที่จะบอก

“แต่ก็ต้องระวังตัว เพราะผลกระทบเข้ามาถึงไทยแน่ ถ้ายุโรปไปมาก เราก็ไปมากด้วย แต่เท่าที่ดูยุโรปไปไม่มากมาก แต่ก็ต้องระวังตัว”

สำหรับประเทศที่อยู่ในเอเชียที่มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ก็ดูว่าประเทศไหนที่ส่งออกมากเป็นสัดส่วนกับจีดีพีสูงก็เสี่ยงมาก อย่างคราวที่แล้ว ไทยกับอินโดนีเซีย อินโดนีเซียได้รับผลกระทบน้อย เพราะอินโดนีเซียส่งออกน้อย แต่ไทยส่งออกมากก็โดนกระทบมาก

Thaipublica forum2

ประเทศในเอเชียที่ส่งออกมากคือ ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งจะโดนกระทบเป็นประจำถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ดี ส่วนเวียดนาม เกาหลีใต้ ไต้หวัน และไทยอยู่กลางๆ เพราะฉะนั้นในเชิงการเปรียบเทียบ ไทยเสี่ยงกว่าอินโดนีเซีย เพราะมีสัดส่วนส่งออก 67% ของจีดีพี เสี่ยงกว่าออสเตรเลีย มีสัดส่วนส่งออกเพียง 19.8% ของจีดีพี เสี่ยงกว่าอินเดียซึ่งสัดส่วนส่งออก 21% ของจีดีพี เสี่ยงกว่าฟิลิปปินส์มีสัดส่วน 34.8% ของจีดีพี

หมายความว่า ผลกระทบจากยุโรปแต่ละประเทศจะถูกกระทบไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้นส่งออกเท่าไร ถ้าส่งออกเยอะโดนเยอะ เราโดนกลาง จะมีประเทศที่โดนมากกว่าเราเยอะ

ดร.ภาวิน : ทำไมประเทศต่างๆ ถึงไม่อยากให้กรีซหลุดออกจากยูโร มันมีต้นทุนอะไรเกี่ยวกับประเทศเหล่านั้นหรือเปล่า

ดร.คณิศ : เราไม่ได้มองทางด้านความรู้สึก มองทางด้านตัวเลขจริงๆ ถ้ากรีซยังอยู่วันนี้ ยูโรจะจ่ายเงินน้อยกว่า กรีซก็เช่นเดียวกัน ถ้าออกจากยูโรในระยะสั้นกรีซ ต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น อยู่ในยูโรดีกว่า แต่เรื่องนี้เป็นเกมที่ล็อคกันอยู่

โดยสมมติ ยุโรปตอนนี้ ตัวเลขที่เราเห็นตอนนี้ ยุโรปได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน (Bailout) ไปแล้ว 85 พันล้านยูโร ซึ่งมีต้นทุน แล้วถ้ากรีซต้องออกจากยูโรจะมีต้นทุนทางตรงต้องเสียรวมแล้วประมาณ 290 พันล้านยูโร หรือในอัตราระหว่าง 220-290 พันล้านยูโร เพราะกรีซออกไปคงไม่ใช้หนี้แล้ว และโอกาสจะไปตามหนี้พวกนี้คืนก็ต้องใช้ระยะเวลานาน ทั้งที่เป็นเงินเอาจากธนาคารกลางยุโรป และจากเงินกู้จากแบงก์ด้วย

ส่วนต้นทุนต้นทุนทางอ้อมของยุโรปคือ มีความเสี่ยงจะกระจาย และต้องมีการค้ำประกันเงินฝากครั้งใหญ่ในยุโรป ถ้ากรีซออก นโยบายแรกคือ ต้องค้ำประกันเงินฝากหมดเลยกับประเทศที่เหลือ เพื่อไม่ให้เงินมันไหลออก กรณีนี้ใช้กันค่อนข้างมาก และต้องใช้มาตรการรีไฟแนนซ์ระยะยาว (Longer-term Refinancing Operation: LTRO) LTRO อีกจำนวนมหาศาล เพราะฉะนั้นคิดว่าต้นทุนตรงนี้มันแพงมาก เขาถึงบอกว่า “อย่าไปเลย”

ขณะเดียวกัน ต้นทุนของกรีซคือ จะเกิดเงินไหลออกจากกรีซทันที ธนาคารกลางต้องสร้างสภาพคล่องให้ธนาคารทั้งหมดทันที จีดีพีระยะสั้นเขาประเมินว่าจะลดลง 10% เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ส่วนค่าเงินใหม่จะเป็นอะไร จะได้รับความน่าเชื่อถือหรือไม่ ก็ลำบาก แต่ว่าในเชิงการเงินถึงจะมีค่าเงินใหม่ แต่จะให้ลอยตัวร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ ต้องอิงกับเงินสกุลใดสกุลหนึ่ง หรือต้องอิงกับยูโร เพราะฉะนั้นจะไม่ได้ประโยชน์จากค่าเงินใหม่ในระยะสั้น และความจริงแล้วกรีซได้รับความช่วยเหลือจากยุโรปทุกปีประมาณ 2.5% ของจีดีพี ถ้าไม่อยู่ก็ไม่ได้แล้ว นี่คือต้นทุน

แต่ถ้ากรีซจะอยู่ต่อ ก็ยังมีปัญหาคือต้องล้างหนี้ให้กรีซ เพราะตอนนี้มีสูงกว่า 100% ของจีดีพี จะต้องลดลงมาอย่างน้อยให้ถึง 100% โดยต้องยอมขาดทุนบ้าง ต้องยอมรับความเสี่ยงบ้าง และต้องยอมขยายเงื่อนไขบ้าง เพื่อให้กรีซอยู่ นี่คือต้นทุนของการให้อยู่ต่อ แต่ว่าให้ออกใหญ่กว่ามาก กรีซ ถ้าออกได้จะทำอะไรได้บ้าง เขาบอกว่า ควรจะสามารถใช้ค่าเงินพยุงเศรษฐกิจได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการจ้างาน การขยายตัวของเศรษฐกิจ เรื่องเงินเฟ้อ จะคล้ายๆ ประเทศไทยในปี 1997 ที่อีกหลายปีกว่าจะฟื้น

เพราะฉะนั้นเลยกลายเป็น “ล็อคเกม” อยู่ว่า ยุโรปก็ไม่อยากให้ออก กรีซก็ไม่อยากออก แต่ไม่ชอบนโยบายรัดเข็มขัด เพราะเข้มงวดมากเกินไป คิดว่าข้อสรุปเป็นอย่างนั้นมากกว่า

ดร.ภาวิน : ขอถาม ดร.ศุภวุฒิว่า ในมุมมองของเอกชน เห็นว่าสถานการณ์วิกฤตในยุโรปเป็นอย่างไรบ้าง และพัฒนาการแก้ปัญหาในยุโรปที่ผ่านมาเพียงพอที่จะให้วิกฤตคลี่คลายในเร็ววันหรือไม่ หรือเราต้องเจอกับวิกฤติที่รุนแรงกว่านี้อีกในอนาคต

ดร.ศุภวุฒิ : ผมยังเป็นห่วงสถานการณ์อยู่ ผมเรียนว่า เราเห็นผลการเลือกตั้งก็ดีใจ เพราะว่าดูเสมือนว่ารัฐบาลผสมจะตั้งได้เร็ว และรัฐบาลฝ่าย New Democracy จะเป็นแกนนำ

ขออนุญาตคุยให้ฟังก่อนว่า จากการดูผลการเลือกตั้งต้องตีความอย่างนี้ ผมเพิ่งทราบในช่วงที่ผ่านมาว่าที่ประเทศกรีซ พรรคที่มีเสียงมากที่สุดได้แถม 50 ที่นั่ง New Democracy ถึงได้มา 130 เสียง แปลว่าจริงๆ ได้มา 80 เสียง และ พรรค Syriza ได้มา 70 เสียง ก็เป็นพรรคที่สอง และอันดับสาม พรรค Pasok ได้มา 33 เสียง

ถ้าไล่ดูแนวโน้มปีที่แล้ว พรรค Syriza ได้มาคะแนน 11 เสียง และพฤษภาคมที่ผ่านมาได้ 52 เสียง และเลือกตั้งล่าสุดได้ 70 เสียง จริงๆ เสียงที่ค้านการรัดเข็มขัดมีแต่เพิ่มขึ้น ส่วน New Democracy มีแต่เพิ่มขึ้น New Democracy ขึ้นๆ ลงๆ จาก 72 เสียงในปี 52 และปีก่อนได้ 58 เสียง ล่าสุดได้ 80 เสียง ส่วนพรรค Pasok ลดลงมาจาก 129 เสียง และ 41 ในปีก่อน ล่าสุดได้ 33 เสียง

ประเด็นมีอยู่ว่า พอตั้งรัฐบาลตลาดพอใจ เพราะว่าดูเหมือนกับว่ากรีซยังอยู่ในยูโร และจะทำตามเงื่อนไขการที่รัดเข็มขัด แต่ดูแบบนี้ต้องถามว่า รับเงื่อนไขแปลว่าอย่างไร ถ้ารับเงื่อนอย่างที่ไปสัญญากับประชาชนไว้ คือตัวเองไปขอผ่อนปรนเงื่อนไข ฟังดูทางเยอรมันไม่ผ่อนปรนเงื่อนไข แต่อาจผ่อนปรนเป้าขาดดุลงบประมาณ ซึ่งอย่างไรก็ต้องผ่อนปรนทำไม่ได้ตามเป้าเดิม ยกตัวอย่างว่า ปีนี้จีดีพีไตรมาส 1 ติดลบ 6% การว่างงานอยู่ที่ 22% ดังนั้นเป้าขาดดุลงบประมาณที่ตั้งไว้ขาดดุล 4% ก็ไม่ได้ตั้งแต่ต้นปี ตอนนี้ดีไม่ดีอาจขาดดุลถึง 7% ด้วยซ้ำ คิดว่า “ประเด็นหลักคืออันนี้”

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ฉะนั้น ปัญหาคือการทบทวนครั้งต่อๆ ไป สำหรับกรีซในระยะสั้นคงต้องรีบการจัดตั้งรัฐบาล เพราะปลายเดือนนี้จะมีการพิจารณาอนุมัติเงินงวดต่อไป ไม่เช่นนั้นเงินจะหมดใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ประเด็นเป็นแบบนี้ พอได้เงินไปแล้วก็ต้องลดรายจ่าย ตัดเงินบำนาญ ขายรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่แน่ใจว่าถึงจุดนั้นประชาชนจะรับกันได้มากน้อยแค่ไหน

“ทางบีบีซีรายงานว่าเสียงของฝ่าย Syriza คือเสียงของคนอายุน้อยกว่า ซึ่งคนที่ว่างกัน 22% ประมาณ 50% เป็นคนที่อายุน้อย และเทคะแนนเสียงให้ Syriza ส่วนคนอายุมากเทคะแนนให้ New Democracy เพราะฉะนั้นผมสงสัยว่า คนอายุน้อยกล้าเดินขบวน กล้าตากแดด ตากฝน และเกรงว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองจะต่อเนื่อง และอย่าลืมว่า Syriza จาก 11 เสียง เพิ่มเป็น 52 เสียง และ 70 เสียง มีแต่ดีวันดีคืน เพราะฉะนั้นก็มีความเสี่ยงตรงนี้อยู่”

นอกจากนี้ ในความเห็นของผม มองว่าประเทศทางตอนใต้ของยุโรปไม่มีความสามารถในการแข่งขัน และถ้ากลับไปดูจะเห็นว่าไม่ได้ขาดดุลงบประมาณอย่างเดียว ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดด้วย กรณีของกรีซกลับไปดูแล้ว การส่งออกมีแค่ 11% ของจีดีพี ส่วนการนำเข้า 21% ของจีดีพี ถามว่าอย่างนี้ต้องลดค่าเงินไหม ก็อย่างที่อาจารย์คณิศบอกคือลดไม่ได้ แต่ถ้าทั้งประเทศใช้จ่ายเกินตัวไป 10% ของจีดีพี ถ้าอย่างนี้ไม่ลดค่าเงิน ก็ทำอย่างเดียวคือลดเงินเดือน ลดรายจ่าย แต่ประชาชนบอกว่าโดนมาแล้วปีที่ 5 จะให้เขาโดนอีก 5 ปีหรือไม่ ปัญหาที่เป็นห่วงคือตรงนี้

“เรื่องกรีซไม่ใช่เรื่องใหญ่ถ้าไม่กลัวลาม ประเด็นที่สามคือกลัวลามมาที่สเปน ที่อิตาลี เพราะฉะนั้น ประเด็นอิตาลี พันธบัตรรัฐบาลขึ้นมาเป็น 6% หรือ 6% กว่าแล้ว ที่ 6% กว่าจะเอาไม่อยู่ เพราะนักวิเคราะห์เขาคุยกันมีบรรทัดฐานว่าอย่าให้เกิน 7% เพราะถ้าเกิน 7% รัฐบาลต้องขอความช่วยเหลือทันที”

กรณีหากสเปนขอความช่วยเหลือ เงินที่เหลือก็แทบจะไม่พอ ก็ต้องถามว่าทางเยอรมันซึ่งเป็นประเทศหลักเวลาเอาเงินเข้าไปช่วย ซึ่งประเทศที่ลงเงิน 25% ทุกครั้งอย่างน้อยคือเยอรมัน แต่ถ้าเป็นผมจะถามว่าเจ้าหนี้จะเอาอย่างไร เพราะปกติเจ้าหนี้เป็นคนคุมเกม ดังนั้น ต้องไปถามประธานาธิบดีเยอรมันว่าจะเอาอย่างไร

ทั้งนี้ “แองเกลา เมอร์เคล” ประธานาธิบดีเยอรมัน พูดชัดเจนว่า ถ้าจะให้เยอรมันใส่เงินเพิ่ม หรือจะมีระบบค้ำประกันเงินฝากหรือระบบเพิ่มทุนธนาคาร ต้องมีลักษณะ “หมูไปไก่ต้องมา” คือต้องให้เยอรมันหรือส่วนกลางคุมนโยบายการคลังของประเทศต่างๆ โดยประเทศต่างๆ ต้องเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจ อธิปไตยการคุมนโยบายการคลัง จะยอมไหม จะทำทันไหม เพราะทุกอย่างที่ต้องทำต้องผ่านกระบวนการการเมือง ต้องผ่านสภา ต้องแก้รัฐธรรมนูญในบางกรณี

“ผมเป็นห่วงว่าเรื่องของกรีซ คุณแก้ปัญหาเป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน แต่ทางแก้ที่พูดถึงที่จะแก้อย่างเบ็ดเสร็จมันต้องแก้ในเชิงโครงสร้าง อาจต้องใช้เวลาเป็นปี แต่ตลาดจะรอถึงวันนั้นหรือเปล่า หรือระหว่างนี้จะมีความผันผวน ปั่นป่วน และที่สำคัญคือกลัวลามออกไปที่สเปนกับอิตาลี”

ดร.ภาวิน : ในมุมมองของ ดร.ศุภวุฒิ จะมีจุดไหนที่จะทำให้วิกฤตครั้งนี้มีทางออกได้ แล้วพัฒนาการในตอนนี้เดินไปทางนั้นหรือเปล่า

ดร.ศุภวุฒิ : ตอนนี้แทบทุกคนจะกดดัน แองเกลา เมอร์เคล คนเดียว ไม่ว่าจะเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่มา นายฟรองซัวส์ ฮอลแลนด์ ก็พยายามกดดันว่าต้องช่วย ส่วนนายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติ ของอิตาลี ก็บอกต้องช่วย สเปนก็เหมือนกัน ทางบารัค โอบามาก็บอกว่าต้องช่วย ต้องทำ คือแทนที่จะรัดเข็มขัดวันนี้ รัดเข็มขัดวันหน้าดีกว่า อย่างที่อเมริกาทำ ไม่รัดเข็มขัดเลย

เพราะฉะนั้นในอนาคตอันใกล้หรือไกลไม่รู้ แต่รัดเข็มขัดทีหลัง กลับมาที่คำถาม แองเกลา เมอร์เคล ยอมเอาเงินผู้เสียภาษีของคนเยอรมันมาช่วยค้ำให้ไหม ประเด็นกลับมาอยู่แค่นี้ ผู้เสียภาษีชาวเยอรมันจะค้ำประกันให้กับประเทศต่างๆ เพื่อรักษายูโรไว้มากน้อยเพียงใด

ดร.บัณฑิต : เห็นด้วยกับ ดร.ศุภวุฒิว่าขณะนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลยจากอาทิตย์ที่แล้ว เพราะผลเลือกตั้งไม่ได้ชี้อะไรใหม่ อาจจะชี้นิดหนึ่งว่าการออกจากยูโรอาจจะเป็นทางเลือกที่เขาจะไม่เลือกเดินทันทีแล้ว เพราะว่าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก่อน แล้วองค์ประกอบของพรรคที่ได้เสียงก็คงจะเป็นพรรคที่สัญญาว่าจะไม่ออกจากเงินยูโร ซึ่งขณะนี้เป็นเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนชาวกรีซ

เพราะฉะนั้น จุดเริ่มต้นต่อจากนี้ไปคือว่าใครจะฟอร์มทีมอย่าไร แล้วทีมที่ฟอร์มมาใหม่จะมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน เพราะที่สัญญาไว้ คือเมื่อจัดตั้งแล้วต้องไปขอต่อรองการปล่อยกู้เดิมว่าจะผ่อนเรื่องการรัดเข็มขัดได้มากน้อยเพียงไหน ซึ่งถ้าเราเดาก็คิดว่าคงจะต้องตื๊อกันไปอีกนาน

ประเด็นที่ต้องเข้าใจคือ มันเป็นเรื่องของการเมืองในประเทศกรีซที่สัญญาไว้กับประชาชนตอนหาเสียง กับการเมืองระหว่างประเทศในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหากรีซ เราต้องแยกสองอันนี้ให้ชัดเจน

การเมืองภายในประเทศกรีซ คือต้องการให้มีรัฐบาลขึ้นมาใหม่ไม่ว่าจะเป็นใครไปต่อรอง ส่วนการเมืองระหว่างประเทศต้องการที่จะแก้ไขปัญหากรีซโดยมีวินัยพอสมควร ก็เลยเป็นประเด็นที่สร้างความคลุมเครือว่าในที่สุดแล้วใครอยากจะได้อะไร ที่พูดมาผมคิดว่าก็ไม่มีอะไรแตกต่าง เพราะว่าไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ได้แต่ประเมินคาดเดาไป แต่สิ่งที่อยากขอพูดเสริมคือ ประเด็นที่อาจเป็นบริบทที่คิดอยู่ในใจ เวลาเราตามปัญหานี้

ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประเด็นแรก คือ ไม่ว่าแนวทางการแก้ไขสำหรับกรีซต่อไปที่ร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลกรีซกับกลุ่มทางยุโรปจะเป็นอย่างไร จะเป็นตัวอย่างที่จะใช้แนวทางนี้แก้ไขกับประเทศอื่นๆ ในกรณีที่มีความจำเป็น ดังนั้น การแก้ไขปัญหากรีซต่อไปไม่ใช่การดำเนินการแต่ละขั้นตอนจะไม่ลอยว่าจะเจรจากับเขาได้หรือเปล่า แต่เป็นเรื่องของการสร้างตัวอย่างของการแก้ไขปัญหา อันนี้เลยเป็นเรื่องที่ทางเยอรมัน ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ทางอียู ต้องมองที่ประเด็นนี้ มิฉะนั้นจะเหมือนกับคนที่มีหลายมาตรฐาน ประเทศหนึ่งทำอย่าง อีกประเทศหนึ่งทำอย่างคงจะไม่ได้

ประเด็นที่สอง คือ ไม่ว่าจะเลือกแนวทางไหนขึ้นมา ประเด็นสำคัญที่สุดคือความเชื่อมั่นของตลาดการเงินทั่วโลกเกี่ยวกับความสำเร็จและแนวทางการแก้ไขปัญหา ถ้าหากเวลาที่ใช้ในการเจรจาหาแนวทางใหม่ หรือแนวคิดของนโยบายที่ออกมาดูแล้วไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่น หรือดูท่าจะยืดเยื้อประเภทที่ว่า “เตะกระป๋อง” ลงถนนไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ตลาดรู้สึกว่าปัญหาจะลากยาว และแรงกดดันของตลาดก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ด้านดอกเบี้ยจะมีการปรับขึ้น แล้วจะมีใครไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นทุกวัน ถ้าไม่ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น

ความเชื่อมั่นของคนในยุโรปเองเกี่ยวกับเรื่องของธนาคาร เรื่องของเงินฝาก สิ่งเหล่านี้จะเป็นความเชื่อมั่นที่สำคัญ ฉะนั้น จุดที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ คือการแก้ไขนโยบายจะต้องเลือกวิธีการพูดและวิธีการหาทางออกที่จะรักษาความเชื่อมั่นของตลาดได้ เพราะหากตลาดเกิดเปลี่ยนใจเริ่มที่จะมีความต้องการ ตัวเลขต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปหมด ดอกเบี้ยก็จะขึ้นเร็ว แรงกดดันก็จะมากขึ้น เพราะฉะนั้นบริบทอันนี้ไม่ใช่เรื่องลอยๆ ว่ากรีซอยากจะได้อะไร เยอรมันอยากจะให้หรือไม่ ผลประโยชน์ของการพยายามที่จะใช้ชุดของนโยบายที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดการเงินทั่วโลก

ประเด็นที่สาม คือ พอเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น จากตัวอย่างวิกฤตเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ส่วนใหญ่แล้วแรงกดดันของตลาดจะนำไปสู่ทางเลือกทางนโยบายที่ค่อนข้างจะสุดโต่ง คือเลือกอันใดอันหนึ่ง แต่ขณะนี้ไม่น่าเป็นห่วงแล้ว เพราะทางเลือกที่จะออกจากยูโรกำลังไม่มีใครคิด ทั้งคนที่ทำนโยบายในประเทศกรีซและต่างประเทศต่างก็มองดูแล้วว่าทางเลือกนี้ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด ในแง่ของการจัดการปัญหา

แต่อีกทางเลือกหนึ่ง ถ้าหากจะรักษาสถานะของกรีซในยูโรก็จะกลับไปสู่ประเด็นของการประคับประคองให้การแก้ไขปัญหากรีซประสบความสำเร็จ ซึ่งขณะนี้มีมากกว่าการช่วยเหลือของเยอรมัน แต่หมายถึงการเข้าไปถามคำถามเกี่ยวกับการอยู่ได้ระยะยาวของระบบค่าเงินที่รวมกัน (Currency Union) ว่า ต้องมีอะไรเพิ่มเติมไหมที่ต้องทำเพื่อให้การรักษาเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะประคับประคองการอยู่รอดของกรีซภายในระบบยูโร เรื่องของการให้เงินก็สามารถให้ได้ แต่จะไม่มีผลอะไรออกมาระยะยาว แต่ตัวที่จะเปลี่ยนได้ก็คือการใส่ความ “ตั้งใจ” มากขึ้นที่จะรักษาระบบระยะยาว โดยทำเพิ่มเติมทั้งในแง่ของด้านการคลังและด้านการเงิน แต่ขณะเดียวกันกรีซต้องได้รับการยอมรับว่าอันนี้จะเป็นทางเลือก ถ้าจะทำได้ต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายคน รวมทั้งไอเอ็มเอฟ ซึ่งก็คือผู้ถือหุ้นประเทศต่างๆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่น่าจับตามองที่สุดคือการประชุมที่เม็กซิโกอาทิตย์หน้า ว่าจะมีความพยายามใหม่ที่ประเทศต่างๆ จะสนับสนุนระยะยาวในการแก้ไขปัญหาภายใต้ข้อสงวนที่ว่า เราจะพยายามรักษาไม่ให้เกิดการออกจากยูโรของกรีซ

ดร.ภาวิน : ผลกระทบจากหนี้ยุโรปมาถึงไทยอย่างไร และมาถึงหรือยัง เพราะเราได้ยินเรื่องนี้มาพักหนึ่งแล้ว ตอนนี้ประเทศไทยได้รับผลกระทบหรือยัง แล้วในอนาคตจะยิ่งรุนแรงขึ้นหรือเปล่า

ดร.ศุภวุฒิ : ครั้งนี้ปัญหาจะลามแต่มากหรือน้อยไม่ทราบ แต่จากการคาดการณ์ของภัทร เขาคาดการณ์ในปัจจุบัน ถ้าปัญหาไม่ลาม ยุโรปจะติดลบ 0.5% ถ้าโชคดีแก้ปัญหาได้จีดีพีจะกลายเป็นบวก 1% แต่หากสถานการณ์แย่ลุกลาม จีดีพีจะติดลบ 2.5% ตอนหลังมีการแบ่งการลามที่ลามไปแบบเรียบร้อยหรือค่อนข้างดีให้กรีซออกจากยูโรแล้วตั้งมาตรการคุ้มครองไม่ให้กระจายไป ถ้าลามมากจริงๆ จีดีพียุโรปอาจจะลบ 4.5% เลยก็ได้

ทั้งนี้ ถ้าเศรษฐกิจยุโรปลบ 2.5% เราคิดว่าเศรษฐกิจไทยโตแค่ 2% วิธีดูคือดูว่าเอเชียส่งออกไปยุโรปเท่าไหร่ ซึ่งพบว่าประเทศที่พึ่งพายุโรปมากที่สุดคือจีน มูลค่าการส่งออกค่อนข้างสูง ประมาณ 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 18.7% ของการส่งออกทั้งหมดของจีน ซึ่งสูงมาก แต่โชคดีที่จีนมีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 20% ของจีดีพี ซึ่งส่งออกของจีนไปยุโรปแม้จะสูงถึง 18.7% แต่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 4.9% ของจีดีพีของจีน

การส่งออกของประเทศในเอเชียไปยุโรป
การส่งออกของประเทศในเอเชียไปยุโรป ที่มา: บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)

สำหรับประเทศไทย ส่งออกประมาณ 23.9 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกโดยรวมของเราสูง แต่การส่งออกไปยุโรปจริงๆ แค่ 9% ปรับลดลงลงมาจากปีที่แล้ว

วิธีคำนวณก็คือ คำนวณผลกระทบโดยตรงในการส่งออกของเราไปยุโรป กับการส่งออกของประเทศคู่ค้าของเราที่ส่งไปยังยุโรปว่าเป็นอย่างไร ที่น่าเป็นห่วงก็คือจีน เพราะใช้ตลาดยุโรปค่อนข้างมาก โดยจีนบอกว่าตลาดส่งออกไปที่ยุโรปของจีนกำไรมากที่สุด ฉะนั้นผลกระทบอาจจะมาก แล้วไทยก็ส่งออกไปที่จีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทยคิดเป็น 12% ของการส่งออกทั้งหมด

ดังนั้น ผลกระทบก็ส่งผ่านมาทางนี้ ดูในเชิงของสินค้าก็เหมือนกัน คล้ายๆ กับการส่งออกไปที่อื่น ยกเว้นบางกรณี เช่น การส่งออกไก่ กุ้ง ที่เป็นอาหารไปยุโรปค่อนข้างเยอะ ซึ่งเราก็คาดหวังว่าจะไม่กระทบมาก เพราะไก่ กุ้ง อาหาร เป็นของรับประทาน แม้เศรษฐกิจจะตกต่ำคนก็ยังต้องทาน เพราะฉะนั้นไม่น่ากระทบเท่าไหร่ อีกอันคือการส่งออกพวกเครื่องประดับ อัญมณี อันนี้อาจได้รับผลกระทบมาก เป็นต้น

ส่วนสินค้าที่ไทยส่งออกไปที่จีนมาก คือ ยางธรรมชาติ ปิโตรเคมี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อันนี้ก็อาจได้รับผลกระทบทางอ้อม เพราะจีนใช้เป็นส่วนประกอบเพื่อส่งออกต่อไป นี่เป็นส่วนของการค้า สำหรับการส่งออกยังสหรัฐฯ หรือประเทศอื่นๆ ก็ดูในลักษณะเดียวกัน

อีกส่วนหนึ่งคือในส่วนของด้านการเงิน จะดูว่าธนาคารยุโรปมีธุรกรรมทางการเงินในประเทศเอเชียมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเมอร์ลิน ลินช์ ได้รวมรวบและประเมินแล้วบวกกับตัวเลขต่างๆ ที่ได้จาก BIS สรุปว่า เงินจากยุโรปหลักๆ คือการปล่อยกู้ให้กับเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้วรวม 1.26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วเงินส่วนใหญ่ปล่อยไปที่ฮ่องกง จีน สิงค์โปร เนื่องจากเป็นประเทศศูนย์กลางของการเงินในเอเชีย และถ้าหักเอาเงินของธนาคารประเทศอังกฤษกับสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่มยูโรออก ก็จะอยู่ 1 ใน 3 หรือ 3.44 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่กรณีนี้ต้องคิดดูให้ดี เพราะหากมีปัญหาขึ้นมาแล้วอังกฤษกับสวิสเซอร์แลนด์กลัวขาดสภาพคล่องก็สามารถดึงเงินออกไปได้

ในกรณีประเทศไทยมีความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ของยุโรปค่อนข้างจะน้อยประมาณ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นี่คือภาพคร่าวๆ ที่จะมีความเสี่ยงระยะสั้นและเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องได้ อย่างที่เราทราบข่าวว่าทางแบงก์ชาติก็ออกมาพูดว่าเรื่องนี้ว่าได้จัดเตรียมเอาไว้แล้ว แล้วคิดว่าธนาคารกลางหลายๆ ประเทศก็จัดเตรียมเงินใส่สภาพคล่องเข้าไปทดแทนแล้ว ถ้าดูเร็วๆ ก็มีอยู่สองเรื่องคือ การค้าและการไหลของเงิน โดยเฉพาะเงินที่ปล่อยกู้โดยธนาคารยูโร

ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล
ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล

ดร.ภาวิน : ขอถามเพิ่มเติมนิดหนึ่ง บางคนอาจจะเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้น อาจารย์พอจะมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือเปล่า

ดร.ศุภวุฒิ : เรื่องนี้ไม่มีครับ เข้าใจว่าอันนี้เป็นการปล่อยกู้ของธนาคารยูโรเป็นหลักมากกว่าไม่ได้เป็นเงินหุ้น ถ้าเป็นเงินหุ้นจะดีกว่านี้ สำหรับประเทศไทยยังมีเงินลงทุนตราสารหนี้อีก ผมเข้าใจว่าอันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในนั้น ถ้าถามเรื่องหุ้น จะเห็นหุ้นที่อเมริกาขึ้นตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้วทั้งๆ ที่มีข่าวไม่ดี ที่นี่ข่าวไม่ดีกลายเป็นข่าวดีแล้ว เพราะว่าถ้ามีข่าวไม่ดีในอเมริกามากๆ เรื่องมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 (Quantitative Easing: QE3) จะเข้ามาในตลาดนั้น

“ผมก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าถ้าข่าวออกมาปั่นป่วนๆ อยู่อย่างนี้ เดี๋ยววันที่ 19-20 มิถุนายนนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะออกมาให้ตัวเลขเด็ดขาดแล้ว QE3 จะเยอะเท่าไหร่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ”

ดร.คณิศ : ขอเสริมในประเด็นตัวเลข อันแรกที่เราคุยต่างเห็นตรงกันว่าเรื่องไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย แต่ว่าการเลือกตั้งที่กรีซเรายังรู้สึกว่า “ไฟ” ยังเท่าเดิมอยู่ ไฟยังร้อนอยู่เรื่อยๆ ที่นี่ผลกระทบที่เข้ามาทางเรา อันแรกคือเราส่งออกทางตรง ซึ่งไทยส่งออกไปยังยุโรป 9.4% ของการส่งออกทั้งหมด แต่เมื่อคิดการส่งออกของไทยไปจีน อเมริกา ญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นๆ ที่เป็นเศรษฐกิจหลักของเราแล้ว ประเทศเหล่านี้ส่งออกไปยังยุโรปอีกต่อหนึ่งผลตรงนี้มันบวกเข้าไปอีก 6.8% เพราะฉะนั้น ผลกระทบจากการส่งออกของไทยไปยุโรปเมื่อยุโรปมีปัญหาตกไปประมาณ 17% ซึ่งมากกว่าเดิม

สวค. ประเมินไว้ว่าเลวร้ายที่สุดของยุโรป ถ้าหากลบ 5% เศรษฐกิจไทยก็จะได้ประมาณ 2.2% หรืออัตราการเติบโตจะหายไปประมาณครึ่งหนึ่งของ 5.5-5% ตัวเลขที่บอกมานี้สำคัญตรงที่หากกรณีเลวร้ายที่สุดเป็นแบบนี้แล้วเศรษฐกิจยังขยายต่อได้ หมายความว่าวันนี้เศรษฐกิจไทยไม่ถึงกับติดลบ เหมือนตอนวิกฤตปี 2008-2009 ที่เราติดลบ 2.3% ครั้งนี้จึงหายไปน้อยกว่าวิกฤติครั้งก่อน

“ดังนั้น ผลกระทบที่เข้ามาประเทศไทยจึงไม่เยอะเหมือนครั้งก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีผลกระทบ มีแต่ไม่ถึงกับว่าเราต้องติดลบ ตอนนี้เท่าที่มองภาพเป็นอย่างนั้น แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องทำอะไร ต้องทำอะไรด้วยเหมือนกันแต่ให้รู้ว่าผลกระทบหรือความเสี่ยงคือประมาณนี้”

ดร.บัณฑิต : ตามตัวเลขที่สำนักงานของคุณศุภวุฒิที่ว่าจะ 2% ก็เป็นไปได้ แต่นี้เป็นตัวเลขที่ผ่านมา 6 เดือนแล้ว คำถามคือจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร ดังนั้นถ้าดูเฉพาะจากนี้ไปเราคิดว่าเราอาจจะต้องตระหนักว่าอันนี้เป็นตัวเลขใน 6 เดือนแรกของปี ที่ดูแล้วไม่มีอะไรมาก ถ้าหากสนใจจริงๆ เรื่องผลกระทบนั้นคงเริ่มจากนี้ไปครึ่งหลังของปีนี้ปีหน้าทั้งปี ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีใครประเมิน ถ้าเราดูผลกระทบคราวนี้ที่น่าเป็นห่วงก็เพราะว่าสมัยวิกฤติปี 2008-2009 เรามีเศรษฐกิจของโลกน้อยกว่าครึ่งที่อยู่ในเขตขยายตัว จีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ฉะนั้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจอเมริกาช่วงหลังที่ยังคงอยู่มีตลาดการลงทุนเป็นตัวเสริม ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกดูไม่แย่ แต่ขนาดดูไม่แย่ก็ติดลบ กลับมาดูที่คราวนี้ตัวช่วยไม่ค่อยมี เพราะตอนนี้เศรษฐกิจโลกอยู่ในโหมดของการชะลอตัว เราเห็นการชะลอตัวจากเลขล่าสุด จีน อินเดีย บราซิล ออสเตรเลีย เกาหลี ไต้หวัน อันนี้จะเห็นได้ว่าผลกระทบเริ่มซึมลึกเข้าไป อเมริกาที่ดูว่าอาจจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องคราวนี้ก็เริ่มสะดุด และก็มีการพูดว่าอาจจะต้องทำอะไรเพิ่มเติมบ้างไหมทางด้านนโยบาย อย่างมาตรการ QE ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าเพื่อให้เกิดสภาพคล่อง แต่ก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาพื้นฐานคือหนี้ เป็นเพียงการให้ยูโรไปเรื่อยๆ

“ผมอยากจะให้ตระหนักประเด็นนี้ว่า ขณะนี้ผลกระทบเราต้องดูไปข้างหน้ามากกว่าจะดูตัวเลขเป็นปีๆ ไป และเงื่อนไขครั้งนี้อาจมีอะไรที่ต่างไปจากเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ที่เราไม่ได้ประโยชน์กับเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ในประเทศกำลังพัฒนาที่ขยายตัวมาก แต่ขณะนี้คงไม่ผิดที่จะพูดว่าเศรษฐกิจโลกครั้งนี้กำลังอยู่ในโหมดของการชะลอตัวลงทั้งโลก เลยทำให้ผลกระทบอาจมีมาก การดูช่องทางการส่งออกก็เป็นตัวหนึ่งในการดูผลกระทบ และที่สำคัญขณะนี้สถาบันการเงินอาจไม่ปล่อยเครดิตมากเหมือนเมื่อก่อน จึงอาจทำให้ศักยภาพที่มาจากระบบการเงินก็อาจจะลดลง”

ดร.ภาวิน : จะเป็นไปได้ไหมที่ทางยุโรป อเมริกา จะชะลอตัว แล้วเศรษฐกิจทางเอเชียขยายตัวไปทดแทนทำให้ผลกระทบต่อไทยอาจไม่รุนแรงมาก

ดร.บัณฑิต : เราต้องถามว่าเครื่องยนต์ตัวไหนที่จะมากระตุ้นเอเชียให้สามารถเดินต่อไปได้ อย่าลืมว่าเอเชียโตมาจากเครื่องยนต์การส่งออกมานานแล้ว แต่เมื่อการส่งออกเริ่มชะลอตัว ที่ทำให้เอเชียเดินต่อได้ก็มีอยู่ตัวเดียวคือ “หนี้” เพราะเราก็ต้องมีการกระตุ้นภายในประเทศ ถามว่าใครจะใช้จ่ายก็ต้องเป็นภาครัฐ ถามว่าภาครัฐจะใช้จ่ายหาเงินมาอย่างไรก็ต้องกู้ ถามว่าประชาชนจะออมอย่างไร มีเงินออมที่จะใช้จ่ายไหม ถ้าไม่มีก็ต้องกู้ธนาคาร ถามว่าธนาคารจะเอาสภาพคล่องมาจากที่ไหน ก็จากเงินทุนไหลเขาซึ่งอาจจะไม่มากเหมือนเมื่อก่อน ก็ต้องมาจากแบงก์ชาติที่จะต้องอัดสภาพคล่อง คือสามารถโตได้ในแง่ที่จะพยายามใช้จ่ายมากขึ้น แต่จะสามารถโตมาได้ยั่งยืนแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม อันหนึ่งที่จะเป็นประโยชน์ก็คือ การโตพร้อมกันโดยใช้การใช้จ่ายของทั้งภูมิภาคมาช่วยกันโต ฉะนั้น ในเรื่องของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทันเวลาพอดี ที่จะให้ประเทศในเอเชียสามารถใช้ประโยชน์ของการขยายตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ พอรวมกันก็จะเป็นการส่งออก การค้าภายในภูมิภาค คิดว่าคงช่วยได้ แต่ประเด็นสำคัญคือ หากเราเติบโตเองโดยพยายามในภาวะที่ข้างนอกยังไม่ชัดเจน สิ่งที่ทำได้อย่างเดียวก็คือการสร้างหนี้ กู้ยืมไปใช้จ่าย ซึ่งในตลาดต่างประเทศก็มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าเป็นสิ่งที่เราต้องระมัดระวังไว้

ดร.ภาวิน : ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงิน อย่างปัญหาหนี้สินยุโรปก็มีสาเหตุมาจากวิกฤตซับไพรม์ เศรษฐกิจไทยมีความเชื่อมโยงกับยุโรปแค่ไหน และฐานะของสถาบันการเงินไทยแข็งแกร่งพอที่จะรับมือวิกฤตหนี้ยุโรปได้หรือไม่

ดร.คณิศ : ตอนนี้สถาบันการเงินไทยแทบจะไม่มีแห่งใดถือครองทรัพย์สินในยุโรปเลย หรือถ้ามีก็น้อยมาก แต่ที่ต้องระวังจะมีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1. สภาพคล่องในประเทศถูกดึงกลับ เหมือนกับเหตุการณ์ในปี 2008 เศรษฐกิจอเมริกามีปัญหา ฝรั่งขายหุ้นในเมืองไทยส่งเงินกลับประเทศ 2. สภาพคล่องที่เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หากมีปัญหาเมื่อไหร่ เวลาส่งสินค้าออกไปขายประเทศอื่น ค่าประกันก็จะแพงขึ้น อย่างเช่น กรีซตอนนี้แทบจะไม่มีบริษัทไหนรับทำประกันแล้ว เพราะไม่รู้ว่าจะได้เงินคืนเมื่อไหร่ ส่วนเงินดอลลาร์ที่เราได้มาจากการค้าขาย พอเริ่มมีปัญหาทุกคนก็เก็บเงินสกุลดอลลาร์กันหมด สภาพคล่องก็หาย แบงก์ชาติต้องไปจัดหาสภาพคล่องมาให้ แต่ตอนนี้สภาพคล่องในระบบมีอยู่พอสมควร

หากภาคการส่งออกของเอเชียมีปัญหาจะทำอย่างไร อย่างช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 4% แต่ผลลัพธ์ที่ออกมา ปรากฏว่าติดลบจริงแค่ 2% นั้น ทั้งนี้เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในเอเชีย ทำให้ไทยส่งสินค้าออกไปขายประเทศอื่นๆ ในเอเชียได้
ดังนั้น เมื่อยุโรปมีปัญหา นโยบายหลักที่ทุกประเทศในเอเชียต้องทำคือ ต้องมาหารือกันว่าจะช่วยกันกระตุ้นเศรษฐกิจกันอย่างไร จีนและญี่ปุ่นจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน รวมทั้งไทยด้วย ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างเช่น จีนกระตุ้นเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นก็จะได้รับผลประโยชน์ ไทยก็ได้ผลประโยชน์ ผมมีข้อเสนอไปอันหนึ่งว่า ถ้ายุโรปมีปัญหาเยอะก็ต้องรีบนัดประชุม ประเทศในเอเชียจะทำอย่างไรให้ประเทศสมาชิกมีความมั่นคง ทั้งทางด้านการเงินและทางด้านการค้าด้วย เป็นนโยบายที่ต้องทำ

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ

ดร.ศุภวุฒิ : วิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้ต่างจากรอบที่แล้ว นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของโลกมันมีข้อจำกัดมากขึ้นกว่าเดิม อย่างวิกฤติเศรษฐกิจรอบที่แล้วหลายประเทศปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้เยอะ ถ้ายังจำกันได้การประชุม G-20 ที่กรุงลอนดอนปี 2009 ทุกประเทศมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ ต้องกู้สิบทิศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดดอกเบี้ย และสหรัฐอเมริกายังออกมาตรการผ่อนคลายทางด้านการเงิน (QE1) ให้อีก และมีการนำเงินไปซื้อพันธบัตรทุกอย่างมูลค่า 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จนทำให้เกิดสภาพคล่องท่วมมาก ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำได้ค่อนข้างรวดเร็ว ส่วนประเทศจีนก็มีการจัดงบประมาณเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการสั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ รวมเป็นมูลค่าประมาณ 5-8 ล้านล้านหยวน

แต่การประชุม G20 ที่ประเทศเม็กซิโก เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2555 ผมพอจะเดาได้ ผลการประชุมไม่น่าจะเหมือน G20 ที่กรุงลอนดอน การประชุมรอบนี้อย่างมากก็แค่ดีใจว่าไอเอ็มเอฟสามารถเพิ่มทุนได้ 4 แสนกว่าล้านเหรียญ

ส่วนเศรษฐกิจจีน ตอนนี้ยังอยู่ในภาวะที่ชะลอตัวลง เพราะรอบที่แล้วจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปมีปัญหา 2 เรื่อง คือเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์จนต้องดึงราคาบ้านลง แถมยังมีเอ็นพีแอลในระบบเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลท้องถิ่น รอบนี้รัฐบาลจีนจึงตกอยู่ในฐานะที่ลำบาก ฟองสบู่รอบที่แล้ว ของเก่ายังแก้ไม่ได้เลย

ดร.ภาวิน : ประเทศไทยต้องเตรียมตัวรับมือปัญหาเศรษฐกิจยุโรปอย่างไร

ดร.ศุภวุฒิ : ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจเปิด ภาคส่งออกมีสัดส่วนเกือบ 70% ของ GDP การตั้งรับทำได้ยากลำบาก ดังนั้นเราต้องถามตัวเองว่า วันนี้เราพร้อมที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างยั่งยืนแล้วหรือยัง ผมเห็นด้วยกับอาจารย์บัณฑิตว่า การเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ส่วนหนึ่ง รวมทั้งการเปิดตัวของประเทศพม่า ทำให้พื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดการเชื่อมโยงกัน เริ่มจากพม่าไปถึงเวียดนาม กลายเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และมีศักยภาพสูงมาก ทุกประเทศมองว่าตรงนี้บริเวณนี้จะเป็นจุดศูนย์กลางของการเจริญเติบโต คราวนี้เราจะปรับตัวไปสู่ตรงนี้อย่างไร เรามีกลยุทธ์มีแผนการความสัมพันธ์อันดีกับพม่าอย่างไร หาพัฒนาตรงนี้ได้ดี เราสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อีกมากมายในภูมิภาคนี้

ดร.ภาวิน : เราเพิ่งผ่านน้ำท่วม เหมือนกับยังเตรียมตัวไม่พร้อม แถมยังมีวิกฤตยุโรปตามมาอีก รัฐบาลมีกระสุนพอหรือเปล่า นโยบายของรัฐบาลตอนนี้ก็ลังเดินหน้าไปทางไหน

ดร.คณิศ : เอเชียตอนหลังมีกระสุนน้อยลง มีแรงน้อยลง มีปัญหาหลายเรื่อง แต่มันก็ขึ้นอยู่ว่าเอเชียมองปัญหาตัวนั้นและจะปรับตัวให้ดีขึ้นอย่างไร ตอนนี้บอกได้เลยว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียเป็นที่ต้องการของนักลงทุนทั่วโลก เพราะว่ามันไม่มีที่ไหนจะไป เราเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น แต่ว่าเราเล่นบทนั้นเป็นหรือไม่ เรื่องการเงินก็เช่นเดียวกัน เหมือนกับเราทำเรื่องเอเชียบอนด์ เราเล่นบทนี้ของเราเป็นหรือเปล่า เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องจับดูอยู่

กลับมาที่ประเทศไทย 1. น้ำท่วมคราวที่แล้วเราปรับตัวไปเยอะมาก อย่างเช่น ภาคเกษตรใกล้เคียงกับปีที่แล้ว 3-4 หมื่นล้านบาท แต่ที่ได้รับผลกระทบเยอะคือภาคอุตสาหกรรมที่เสียหาย ถามว่าหากเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำอีกเป็นครั้งที่2 จะไปไหม ก็ไป เมื่อคราวที่แล้วภาคอุตสาหกรรมเดือดร้อนมาก คราวนี้ภาคอุตสาหกรรมน่าจะป้องกันได้

2. เรามีกระสุนพอสมควร แต่ที่มีปัญหาคือการทำนโยบายมีอยู่ 2 ส่วน ต้องดูระบบการเงินให้ดีอย่าเผลอ อันที่ 2 หลายตัวที่เป็นงบประมาณของภาครัฐเอง หรือการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนหรือ PPPs (Public Private Partnerships) ยังมีโอกาสเยอะ แต่มันยังไม่เคลื่อนที่ไปไหนเลย ยกตัวอย่าง ตอนนี้ยังตอบไม่ได้เลยว่างบฯ 3.5 แสนล้านบาทที่จะมาฟื้นฟูประเทศไทยมันทำอะไรบ้าง ผมคิดว่าไม่มีใครมีคำตอบตอนนี้น่ะ ผมรู้แต่ว่ามีอยู่หลายหมื่นล้านบาทที่จะไปขุดคลอง ทำโน่นทำนี่ ที่เหลือจะทำอะไรยังไม่เห็น ถามว่ามีกระสุนหรือไม่มี พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทก็มีผลบังคับใช้แล้ว รอใช้จ่ายเงินอยู่ นอกจากนี้มี พ.ร.บ. สำคัญอันหนึ่งผ่าน ครม. ไปแล้วอยู่ที่สภาฯ คือ พ.ร.บ. PPPs ทำโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต ถ้าจะดึงภาคเอกชนมาทำด้วยต้องใช้ พ.ร.บ. นี้ ถ้ามันออกได้เร็วก็จะมีการร่วมทุนกันหลายโครงการทั้งภาครัฐและเอกชน

พอพม่าเปลี่ยนท่าทีเมื่อปลายปีที่แล้ว ปรากฏว่าภาพของอินโดจีนเปลี่ยนทันที มีคนพูดถึงความสงบเรียบร้อย มีคนพูดถึง AEC เพราะฉะนั้นมันจะมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่รออยู่ สมมติว่าถ้าเราสามารถฉวยโอกาสตรงนั้นได้ หรือทำให้ดี รวมทั้งมีกฎหมาย PPPs มาสนับสนุนการลงทุนในตัวนี้จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ภูมิภาคนี้เจริญเติบโตได้ ต้องทำน่ะ ไม่ใช่อยู่เฉยๆ มันต้องมีการออกกฎหมาย มันต้องการระดมทุน และมีการลงทุนเกิดขึ้นจริง

ดร.ภาวิน : ที่ผ่านมาเราเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤตหนี้ยุโรปไปบ้างหรือยัง และมีอะไรที่เราต้องทำเพิ่มเติมสำหรับประเทศไทยในภาพรวม

ดร.บัณฑิต : ตอนนี้ต้องยอมรับว่าค่อนข้างห่างเหินกับข้อมูลทางด้านนโยบาย จะรู้เท่าๆ ที่มีการเขียนลงในหนังสือพิมพ์ ในแง่นี้คงตอบอะไรลึกซึ้งไม่ได้ แต่ขอพูดทางด้านภาคเอกชนมากกว่า ผมคิดว่าความสามารถของภาคเอกชนที่จะปรับตัวรับมือขาลงของเศรษฐกิจโลกขณะนี้อยูในเกณฑ์ค่อนข้างที่ไม่น่าเป็นห่วงมาก หากดูฐานะการเงินของบริษัทเอกชน ดูจากความสามารถในการกำไรในไตรมาสแรก และภาพเศรษฐกิจในไตรมาสต่อมา คิดว่าความเข้มแข็งทางด้านนี้ของภาคธุรกิจมีอยู่พอสมควร

“แต่ที่สำคัญ ทางภาครัฐจะต้องดำเนินนโยบายเพื่อให้การปรับตัวที่จะเกิดขึ้น สามารถทำได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ฉุกละหุก มีความไม่แน่นอน ในแง่นี้จึงมีความจำเป็น และแน่นอนว่าเอกชนอยากจะทราบการดำเนินนโยบายของรัฐที่เป็นรูปธรรม ชัดเจน สามารถทำให้เขาปรับตัวได้ ประเด็นนี้ส่วนที่สำคัญที่สุดคือเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจที่ต้องออกมาตรงไปตรงมา ทันเวลา ถูกต้อง ทำให้เขาสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้เอาไปประเมินสถานการณ์ และทำการตัดสินใจทางธุรกิจ“

หลังจากนั้นคงมาดูเรื่องสภาพคล่อง ความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย สภาพคล่องเงินบาท เงินดอลลาร์ และความสามารถในการใช้มาตรการมาช่วยเสริมธุรกิจที่อาจจะถูกกระทบมาก และธุรกิจที่อาจจะมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อ เช่น ธุรกิจเอสเอ็มอี ธุรกิจส่งออก

ดังนั้น การช่วยเหลือ ผมมองว่าการเข้าถึงสินเชื่อสำคัญกว่าสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแต่หากู้ไม่ได้ ในแง่นี้คิดว่าความสามารถของภาคธุรกิจในครั้งนี้ไม่มีความเป็นห่วงมาก เพราะว่าทางด้านบริษัทธุรกิจหลักๆ ปรับตัวมานานแล้ว เพราะเรื่องนี้ไม่เกิดปุบปับ เป็นเรื่องที่เกิดมาเป็นปีๆ และภาคธุรกิจได้หาประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น การเข้าไปลงทุนในพื้นที่อื่นๆ ในต่างประเทศเพื่อวางยุทธศาสตร์ ผมจึงคิดว่าธุรกิจได้ปรับตัวไปบ้างแล้ว

“แต่ถ้าเผื่อช่วงต่อไปลักษณะของปัญหาหรือผลกระทบอาจจะเข้มข้น อาจจะมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ผมคิดว่าภาคธุรกิจคงอยากได้รับความเข้าใจที่ชัดเจนว่าสิ่งที่หวังว่าจะพึ่งได้ ในส่วนที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายทางการน่าจะออกมาอย่างไร และข้อมูลเศรษฐกิจที่จะให้ ต้องกระชั้นขึ้น หรือสามารถตอบคำถามได้ดี ผมคิดว่าภาคธุรกิจคงจะสบายใจ ในการที่จะปรับตัวต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น”

ดร.ภาวิน : อาจารย์ศุภวุฒิจะมีข้อเสนออะไรไปถึงรัฐบาลว่า ถ้าต้องเตรียมตัวรับวิกฤตรอบนี้ ควรต้องทำเรื่องอะไรเป็นเรื่องแรกและเรื่องอะไรเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ดร.ศุภวุฒิ : ดูจากข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เห็นว่ารัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยก็คงคิดจะเตรียมตัวเพื่อรองรับผลกระทบจากวิกฤติยุโรป ผมคิดว่าผลกระทบต่อการส่งออก การท่องเที่ยวคงมีบ้างไม่มากก็น้อย ภาพเศรษฐกิจยุโรปยังจะคงค่อยๆหดตัวไปเรื่อยๆ และยังมีปัญหาสหรัฐอเมริกาปะทุขึ้นมาได้ เพราะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ขอย้ำอย่างเดิมว่าจริงๆ รัฐบาลมีแผนการชัดเจนว่าจะลงทุน 2.3 ล้านล้านบาท ในการพัฒนาเครือข่ายการขนส่งต่างๆที่จะเชื่อมต่ออาเซียน ซึ่งจะตอบรับกับประเด็นที่ประเทศพม่าเปิดประเทศ ตอบรับเรื่องเออีซีอยู่แล้ว

ดังนั้น ทุกอย่างกลับมาเรื่องการนำไปปฏิบัติ ว่าขอให้ลงทุนได้จริงๆ 2.3 ล้านล้านบาท หากลงทุนแล้วทำได้จริงจะส่งผลได้ดีมาก และพม่าเปิดประเทศได้ประสบความสำเร็จ มีทวาย มีท่าเรือน้ำลึกด้วย ยิ่งต้องขยายคลัสเตอร์นั้นเป็น 2-3 เท่าในปัจจุบัน

ดร.คณิศ : ทางรัฐบาลเขามี 2 กลุ่มที่ทำเรื่องนี้ คือกลุ่มที่ทำที่กระทรวงการคลัง และกลุ่มที่นายกรัฐมนตรีจะถามคำถามได้โดยตรงว่าจะต้องทำอะไร ลองดูว่าถ้าเตรียมตัวไว้ที่บอททอมไลน์ และถ้าคิดว่าลงลึกที่สุดกว่าอีกจะเป็นอย่างไร

ปัญหาของเมืองไทยมีแผนเยอะแต่ไม่ได้ลงทุน แต่หากค่อยๆ ไป อย่างกรณีทวาย กลยุทธ์สำคัญสำหรับเรา เพิ่งมีการยอมรับใน ครม. สัญจร ที่ จ.กาญจนบุรี ว่าโครงการที่รัฐบาลยอมรับว่าจะต้องเกิดแล้ว คือโครงการถนน 3 ช่วง คือช่วงแรกมอเตอร์เวย์จากกรุงเทพไปกาญจนบุรี อีกช่วงจากกาญจนบุรีไปพุน้ำร้อนที่ชายแดน และอีกช่วงจากพุน้ำร้อนไปทางใต้ เพื่อเชื่อมเศรษฐกิจทางใต้ขึ้นไป โครงการเหล่านี้เงินมีแล้ว แต่อยู่ที่การอิมพลีเมนท์ว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องโลกแตกสำหรับประเทศไทย

ดร.ภาวิน : เราเห็นบทเรียนของกรีซจากนโยบายรัฐบาลที่เน้นการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเยอะพอสมควร ประเทศไทยมีโอกาสจะกลายเป็นกรีซไหม

ดร.ศุภวุฒิ : ผมคิดว่ายากมากที่ไทยจะเป็นแบบกรีซ เพราะว่าปัญหาของกรีซคือการใช้จ่ายเกินตัว จากการที่เอาตัวเองเข้าไปร่วมเงินสกุลเดียวกับประเทศที่เขามีความสามารถในการแข่งขัน ตัวเลขชัดเจนว่าก่อนเข้ายูโร ปี 1999 ทั้ง กรีซ อิตาลี สเปน ค่าเงินอ่อนไปเรื่อยๆ ทุกปี แสดงว่านโยบายของคุณสะท้อนว่าคุณไม่มีความสามารถในการแข่งขัน โดยปรับค่าเงินอ่อน ทำให้ส่งออกได้ พอเข้าไปร่วมกับยูโรคุณปรับค่าเงินไม่ได้ แต่ยังใช้จ่ายเกินตัว โดยรัฐบาลกู้เยอะ จนกระทั่งมีการปลอมตัวเลขของรัฐบาลก่อนหน้า พอรัฐบาลใหม่เข้ามาบอกความจริงว่ามีหนี้มาก แก้ปัญหาไม่ได้ ส่วนไทยค่าเงินมีความยืดหยุ่นอยู่ และประเทศไทยหากดูภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังเป็นเจ้าหนี้ต่อเศรษฐกิจทั้งโลกด้วยซ้ำ ปัญหาตรงนั้นไม่น่าจะมีสำหรับประเทศ

แต่ถ้าถามว่ารัฐบาลใช้จ่ายเงินมากเกินไป และเงินที่กู้ไปไม่ได้ผลตอบแทนที่สูง เช่น ใช้จ่ายประชานิยมมากเกินไป ไม่มีผลตอบแทน ปัญหาคือหนี้อันนั้นจะมีผล จะถ่วงเศรษฐกิจในอนาคตไม่ให้โต ประเด็นจะกลับมาที่เงินที่รัฐบาลใช้ไปจะคุ้มค่าหรือไม่ แค่นั้นเอง แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไม่น่าห่วง เพราะไม่ได้มีความไม่สมดุลอย่างกรีซ

ดร.คณิศ : ที่จริงหากดูให้ถึงที่สุดแล้ว ประเทศไหนที่ใช้จ่ายเกินตัวมีปัญหาทั้งนั้น จะเร็วจะช้าเท่านั้นเอง จึงต้องดูแลการลงทุนให้ดี ไม่ให้มากเกินไป นอกจากนี้หากวัดหนี้สิน 10% ต่อจีดีพีที่ไปกู้มา คือขาดดุลแล้วไปกู้ ซึ่งมีจำนวนไม่เยอะ อีกส่วนเป็นหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่โอนไปให้แบงก์ชาติ ซึ่งไม่รู้จะแก้ปัญหาได้หรือไม่

อันที่สองเป็นหนี้ที่ใช้คำประกันรัฐวิสาหกิจ ซึ่งตัวนี้มันมีหนี้และมีสินทรัพย์ ในเชิงบัญชีก็เป็นศูนย์ ดังนั้น จากฐานที่เราเป็นหนี้จริงๆ ไม่เยอะมาก แต่เราต้องระวัง ช่วยกันดูเรื่องการใช้จ่ายให้คุ้มค่า ช่วยกันทำ คุมเรื่องการใช้จ่าย เพราะถ้าเผลอแล้วจะเป็นปัญหาทุกที

ดร.ภาวิน : ดร.บัณฑิตมองว่าประเด็นนี้น่ากังวลไหม ณ สถานการณ์ปัจจุบัน

ดร.บัณฑิต : หากมอง 5 ปี ที่จริงเรื่องนี้เป็นสิ่งที่จะเกิดการดำเนินนโยบายเป็นสำคัญ อย่างกรีซ มาจากความเป็นหนี้ของภาครัฐ หากเราสามารถรักษาวินัยทางการคลังได้ หากใช้จ่ายเป็น เลือกโครงการที่ดีในการใช้จ่าย ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย มีวินัยสูง โอกาสที่เราจะมีปัญหาหนี้ก็น้อยลง ซึ่งผมตอบไม่ได้ว่าจะเกิดไม่เกิด เพราะว่าขึ้นอยู่ที่พฤติกรรมของการดำเนินนโยบายต่อจากนี้

หากพูดถึงความเข้มแข็งของเศรษฐกิจขณะนี้ถือว่าเป็นปัจจัยบวก อย่างที่เรียนว่าภาคเอกชนอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างเป็นห่วงน้อยได้ และกลไกนโยบายการเงินก็มีความยืดหยุ่นค่อนข้างดี อันหลังจะเป็นตัวช่วยเศรษฐกิจในการปรับตัว

หากถามว่าภาครัฐจะช่วยอะไรได้มากขึ้นไหม หากช่วยให้กลไกราคาในประเทศยืดหยุ่นด้วย ไม่ใช่เข้าไปแทรกแซงจนกระทั่งราคาปรับตัวไม่ได้ หากราคาปรับตัวไม่ได้ เศรษฐกิจก็ไม่มีกลไกในการปรับตัว อันนี้ก็เป็นประเด็น

หากถามเรื่องกรีซ ไทยจะเป็นอย่างนั้นไหม ก็เรื่องหนี้ภาครัฐ ซึ่งคงจะลดโอกาสได้มากหากดำเนินนโยบายการคลังอยู่ในกรอบการรักษาวินัยที่เข้มงวด ไม่ใช่ไม่ใช้เลย แต่ใช้ในขณะที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาเสถียรภาพการคลังในระยะยาว และใช้เป็น ที่จะทำให้เงินที่ใช้ไปสร้างประโยชน์ที่จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเศรษฐกิจ ไม่ใช่ใช้ไปแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ จับต้องไม่ได้ อันนี้ก็เป็นโจทย์ที่สำคัญ เพราะฉะนั้นตอบยาก