ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > คดีการคัดลอกวิทยานิพนธ์ “ศุภชัย หล่อโลหการ” สภาจุฬาฯ โยนเผือกร้อนให้คณะวิทย์ฟันธง

คดีการคัดลอกวิทยานิพนธ์ “ศุภชัย หล่อโลหการ” สภาจุฬาฯ โยนเผือกร้อนให้คณะวิทย์ฟันธง

12 มิถุนายน 2012


จากที่สื่อนอกกล่าวหาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ไม่สามารถจัดการกับกรณีของนายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) อดีตนิสิตระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจบการศึกษาไปในปี 2550 ได้ หลังจากทางมหาวิทยาลัยได้ตรวจพบว่าวิทยานิพนธ์ของนายศุภชัยมีการคัดลอก หรือลอกเลียนวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarize)

ศาสตราจารย์นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า สภามหาวิทยาลัยได้มีการหยิบยกประเด็นการเพิกถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายศุภชัยมาพูดคุยในที่ประชุมเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 จริง โดยเป็นการติดตามความคืบหน้าจากการประชุมสภามหาวิทยาลัยในครั้งก่อนหน้า ที่ได้มีการมอบหมายให้ทางมหาวิทยาลัยเร่งดำเนินการ(อ่านสื่อนอกถามหามาตรฐาน”จุฬาฯ” หลังคดีลอกวิทยานิพนธ์ “ศุภชัย หล่อโลหการ” ล่าช้า สภามหาวิทยาลัยเร่งปิดคดีเดือนหน้า)

แหล่งข่าวจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยว่าเรื่องนี้ยังไม่มีความคืบหน้า รวมทั้งจากคณะกรรมการศึกษา วิเคราะห์ และรวบรวมข้อเท็จจริง ที่มีศาสตราจารย์ (พิเศษ) ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล เป็นประธาน และล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา สภามหาวิทยาลัยได้มีหนังสือถึงคณะวิทยาศาสตร์ให้ดำเนินการหาข้อสรุปในเรื่องนี้ เพื่อเสนอให้สภามหาวิทยาลัยต่อไป โดยการดำเนินการของคณะวิทยาศาสตร์ห้ามนำรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ซึ่งเป็นผลการสอบข้อเท็จจริงที่ดำเนินการโดยบัณฑิตวิยาลัย มีศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ เป็นประธานกรรมการมาอ้างอิง

ซึ่งรายงานการสอบข้อเท็จจริงชุดนี้สรุปผลว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการลอกเลียนวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarism) คิดเป็น 80% ในวิทยานิพนธ์จำนวน 205 หน้า ไม่ว่าจะเป็นการลอกวรรณกรรมของตนเอง (Self-Plagiarism) หรือเป็นการลอกวรรณกรรมของผู้อื่น หรือโดยผู้อื่นเป็นเจ้าของร่วม

ในรายงานได้ระบุว่า แม้สำนักงานนวตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เป็นหน่วยงานให้ทุนแก่บริษัทสวิฟท์ จำกัด เพื่อทำการวิจัย สนช. และบริษัทสวิฟท์ จำกัด จึงเป็นเจ้าของร่วมกัน การที่ผู้ถูกร้องเรียนซึ่งเป็นผู้อำนวยการ สนช. ได้คัดลอกเนื้อหาส่วนใหญ่จากรายงานการวิจัยดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์เพื่อประโยชน์ส่วนตน จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าผู้ถูกร้องเรียนเป็นผู้จัดทำวิทยานิพนธ์ในส่วนนี้ด้วยตนเอง

“เมื่อสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ให้คณะวิทยาศาสตร์ใช้ผลสอบข้อเท็จจริงที่สรุปไว้แล้ว ก็เท่ากับว่าจะต้องสอบข้อเท็จจริงใหม่ และสภาจุฬาฯ ต้องการได้ข้อสรุปโดยเร็ว ซึ่งเป็นการโยนเผือกร้อนมาให้คณะวิทย์เป็นคนชี้ขาด คาดว่าทางคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้ของคณะวิทย์คงจะประชุมกันประมาณกลางเดือน มิ.ย.นี้” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม ต่อเรื่องนี้ ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เคยทำหนังสือหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงกรณีการเพิกถอนปริญญาว่า จุฬาฯ มีอำนาจในการเพิกถอนหรือไม่

ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีหนังสือลงวันที่ 30 สิงหาคม 2553 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา สรุปความว่า ตาม พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 มาตรา 61 ได้กำหนดให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอำนาจให้ปริญญาในสาขาวิชาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัย และมาตรา 21 (5) กำหนดให้สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ในการอนุมัติการให้ปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรของมหาวิทยาลัย ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ออกระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยระบบการศึกษาสำหรับขั้นปริญญาบัณฑิต พ.ศ. 2540 และข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2542 มาใช้กับการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยนั้น

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใคร่ขอหารือข้อกฎหมายมายังคณะกรรมการกฤษฏีกาดังนี้

1. ในกรณีที่มหาวิทยาลัยได้อนุมัติปริญญาให้กับบุคคล ที่สำเร็จการศึกษาตามข้อบังคับและระเบียบของมหาวิทยาลัย และบุคคลดังกล่าวได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากต่อมาภายหลังปรากฏข้อเท็จจริงใด ที่ทำให้บุคคลดังกล่าวขาดคุณสมบัติ หรือมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน หรือไม่เหมาะสมที่จะสำเร็จการศึกษาได้นั้น มหาวิทยาลัยโดยสภามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการให้ปริญญาตามมาตรา 21 (5) จะมีอำนาจเพิกถอนปริญญาบัตรที่เคยอนุมัติให้แก่บุคคลดังกล่าวได้หรือไม่ และจะดำเนินการกับกรณีดังกล่าวอย่างไร

2. เนื่องจาก พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 ระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยระบบการศึกษาขั้นปริญญาบัณฑิต พ.ศ. 2540 และข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาในระดับบัณฑิต พ.ศ. 2551 มิได้บัญญัติชัดเจนเกี่ยวกับการเพิกถอนการให้ปริญญาไว้ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจะสามารถเพิ่มเติมบทบัญญัติกรณีดังกล่าวในกฎข้อบังคับหรือระเบียบของมหาวิทยาลัยได้หรือไม่ และหากมีการเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวในภายหลัง จะกระทบต่ออำนาจของมหาวิทยาลัยในการดำเนินการตามข้อ 1 หรือไม่

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาข้อหารือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามข้อหารือข้อ 1 มีความเห็นว่า โดยมาตรา 21 (5) พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพ.ศ. 2551 กำหนดให้เป็นอำนาจสภามหาวิทยาลัยในการอนุมัติการให้ปริญญาแก่บุคคล การอนุมัติดังกล่าวสภามหาวิทยาลัยจะต้องพิจารณาให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และเมื่อได้พิจารณาแล้วเห็นว่า บุคคลใดมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะสำเร็จการศึกษาได้ สภามหาวิทยาลัยได้มีการอนุมัติปริญญาแก่บุคคลนั้น

ประกอบกับมติสภามหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการอนุมัติการให้ปริญญามีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครองตามบทนิยามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ดังนั้น หากต่อมาปรากฏว่าบุคคลที่สภามหาวิทยาลัยได้มีมติอนุมัติการให้ปริญญาไปแล้วนั้นขาดคุณสมบัติ หรือมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน ที่จะสำเร็จการศึกษาตามที่กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับของมหาวิทยาลัยกำหนดไว้ ซึ่งมีผลให้มติสภามหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการอนุมัติการให้ปริญญาแก่บุคคลดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบ สภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการให้ปริญญา ย่อมมีอำนาจที่จะเพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยที่ได้อนุมัติปริญญานั้นได้

ส่วนประเด็นที่ 2 เมื่อวินิจฉัยประเด็นที่ 1 แล้วว่า สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจในการเพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยที่ได้อนุมัติปริญญาได้ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นนี้อีก

หลังจากที่สำนักงานกฤษฎีกาตอบข้อหารือในเดือนมกราคม 2554 นายวิลเลี่ยม วิน แอลลิส ได้ทำจดหมายลงวันที่ 31 มกราคม 2554 ถึงศาตราจารย์นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอให้ดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว โดยส่งสำเนาถึงนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลขาธิการสำนักงานการอุดมศึกษาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้วย

ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2554 ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบด้วย 1. ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ประสิทธิ์ โฆวิไลกุล เป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการได้แก่ 2. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุจิต บุญบงการ 3. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณู เครืองาม 4. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ทวีศักดิ์ ปิยะกาญจน์ 5. ศาสตราจารย์ (พิเศษ) สุชาติ ธรรมาพิทักษ์กุล 6. รองศาสตราจารย์ธัชชัย ศุภผลศิริ ส่วน 7. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เจษฎา แสงสุพรรณ รองอธิการบดี เป็นเลขาธิการ และ 8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ ผู้ช่วยเลขานุการ

คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ในการศึกษา วิเคราะห์ และรวบรวมข้อเท็จจริง ตลอดจนเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล หรือขอให้บุคคล ส่วนงาน หรือหน่วยงาน ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่มีการร้องเรียนว่ามีการลอกเลียนผลงานทางวิชาการของบุคคลอื่น และนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์เรื่อง “Establishment on Thailand’s National Organic Agriculture Strategies: A Case study in Organic Asparagus Production” (การสร้างกลยุทธ์แห่งชาติด้านการเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย: กรณีศึกษาการผลิตหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์) ปีการศึกษา 2550 และให้คณะกรรมการเสนอความเห็นและแนวทางดำเนินการแก่สภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป