ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิด 42 กองพันยึดอำนาจ โยงข่าวลือ “ปฏิวัติ” เรื่องบาดหมางไม่รู้จบ – NASA ขอใช้พื้นที่ “อู่ตะเภา” ผลประโยชน์ที่ไม่อาจบอกปัด

เปิด 42 กองพันยึดอำนาจ โยงข่าวลือ “ปฏิวัติ” เรื่องบาดหมางไม่รู้จบ – NASA ขอใช้พื้นที่ “อู่ตะเภา” ผลประโยชน์ที่ไม่อาจบอกปัด

24 มิถุนายน 2012


น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีส่งมอบงานโครางการขุดลอกคูคลองในพื้นที่ กทม. ที่คลองสนามชัย วัดบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน จากกองทัพบก โดยมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลลาโหม พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา

สถานการณ์การเมืองกลับมาอยู่ในช่วงวุ่นวายอีกครั้ง หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภารอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ..ในวาระที่ 3 ส่งผลให้รัฐสภาเกิดความวุ่นวายขึ้น ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านตกลงกันไม่ได้

ขณะที่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. .. ที่อดีตหัวหน้าคณะปฏิวัติรัฐประหาร “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ (มภ.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ส่งเข้าให้สภาพิจารณา ก็ถูกค้านจากพรรคประชาธิปัตย์ และ “ม็อบเหลือง” กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เสื้อหลากสี โดยมองว่า พ.ร.บ.ปรองดองเอื้อประโยชน์ให้ “นายใหญ่” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้แนวทางต่างๆ นั้นต้องหยุดชะงัก

อีกทั้งการที่ พล.อ.สนธิเสนอเรื่องเข้าสภาทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.ปรองดองยังไม่สะเด็ดน้ำ จนหลายฝ่ายเริ่มสงสัยว่า เพื่อความปรองดองจริงหรือมีผลประโยชน์อะไรกันแน่ อีกทั้ง มีข่าวลือว่า หาก พ.ร.บ.ปรองดองนี้สำเร็จลุล่วง รางวัลชิ้นโตของ พล.อ.สนธิที่จะได้ คือ เก้าอี้ “รมว.กลาโหม” เลยทีเดียว

แต่สำหรับสถานการณ์บนถนนแล้ว “ม็อบเหลือง” ที่นำโดย “สนธิ ลิ้มทองกุล” “พล.ต.จำลอง ศรีเมือง” ได้ระดมพลเคลื่อนมาชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.ปรองดองด้านหน้ารัฐสภาเพื่อลองเชิงท่าทียกแรกจากรัฐบาล ทำให้ “รองเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ต้องสั่งให้ “บิ๊กออฟ” พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. ส่งกำลังตำรวจกว่า 17 กองร้อยเข้ามาดูแลสถานการณ์

ถึงแม้ “คนเสื้อเหลือง” จะยุติการชุมนุมเพื่อรอดูท่าทีรัฐสภา ว่าจะนำ พ.ร.บ.ปรองดองฉบับนี้มาหารืออีกหรือไม่นั้น แต่สำหรับฟากฝั่งกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ “คนเสื้อแดง” ก็ไม่น้อยหน้า เป่านกหวีดระดมพลวัดพลังจัดกิจกรรมภายใต้ชื่อ “ครึ่งทศวรรษความจริงวันนี้” ที่อาคารธันเดอร์โดม เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา

โดยเฉพาะ วันที่ 24 มิ.ย.นี้ “ตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง ได้เป่านกหวีดเรียก “คนเสื้อแดง” ทั่วประเทศให้รวบรวมพลังจัดการชุมนุมครั้งใหญ่บนท้องถนน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านขบวนการอำมาตย์ภิวัฒน์ และเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าครบรอบ 80 ปีของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ว่ากันว่างานนี้ นอกจากแสดงพลังแล้ว “จตุพร พรหมพันธุ์” ยังใช้เวทีนี้ส่งสัญญาณไปถึง “นายใหญ่” เพื่อกดดันต่อรอง เก้าอี้ “รัฐมนตรี” อีกด้วย

แต่ที่หน่วยงานด้านความมั่นคงห่วงคือ กลัวอาจมีการสร้างสถานการณ์จากมือที่ 3 ขึ้นจนเป็นเหตุให้กลายเป็นอีก 1 เงื่อนไขในสังคม รวมถึงหวั่นใจว่า หาก “ม็อบเหลือง” ออกมาแสดงพลังบ้างจนนำไปสู่ม็อบชนม็อบ จะสุ่มเสี่ยงต่อการนองเลือด

โดยที่กองทัพยังคงอยู่ในหมวดเฝ้าระวัง จับตาอยู่ภายในรั้วค่าย กรม กอง เพราะสถานการณ์ยังอยู่ในขั้นปกติ ไม่มีเหตุการณ์จนเจ้าหน้าที่ตำรวจร้องขอให้ทหารเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน

รวมถึงสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2551 (พ.ร.บ.มั่นคงฯ) ในหมวด 2 จัดตั้งศูนย์อำนวยการรับมือสถานการณ์เพื่อให้ทหารออกมาดูแลสถานการณ์ ทำให้ในห้วงนี้ ทหารยังคงอยู่ในหมวด “เฝ้าติดตามสถานการณ์” อย่างใกล้ชิดเพียงเท่านั้น

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา กองทัพก็เพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจในการขุดลอกคลองลำรางสาธารณะจำนวน 227 สาย ในพื้นที่ 27 เขตของ กทม. รวมระยะทาง 561 กิโลเมตร ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กองทัพดูแลเพื่อป้องกันน้ำท่วมซ้ำปีที่แล้ว

โดยทาง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มาเป็นประธานเพื่อเป็นเกียรติให้กำลังพลจากจากกองทัพภาคที่ 1, กองทัพภาคที่ 2, กองทัพภาคที่ 3, กรมการทหารช่าง ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างดีเยี่ยม ทำให้ภารกิจที่มอบหมายนั้นเสร็จทันกำหนด 3 เดือนตามเป้าก่อนเข้าฤดูฝน

จนทำให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และเหล่าขุนทหารเป็นปลื้มในคำชม หลังก็ลงทุนลงแรงช่วยงานรัฐบาลบาลอย่างเต็มที่ดีเยี่ยม จนทำให้ภาพรอยร้าวระหว่าง “ทหาร–รัฐบาล” นั้นจางหาย

แต่แทนที่ “รัฐบาล–ทหาร” จะแฮ็ปปี้เอ็นดิ้ง กลับมีพวกจุดพลุดึงกองทัพเข้ามาสู่เกมการเมือง โดยเฉพาะ “ข่าวปฏิวัติ”

ผนวกกับ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้เรียกประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก และผู้บังคับกองพันทั่วประเทศ รวมทั้งมีการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับ “พันเอก” คุมกำลังทั้ง เหล่าราบ ม้า รบพิเศษ กรมข่าว จนทำให้ข่าวลือการปฏิวัติเพิ่มยิ่งขึ้น

ถึงแม้ “พล.อ.ประยุทธ์” จะออกมายืนยันไม่มีปฏิวัติก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามนั้นเชื่อ และลากข่าวมาถึงกลางเดือน มิ.ย. ทั้งยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติด้วยซ้ำ ยิ่งจะมีการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงช่วงสิ้นเดือนนี้ ก็ทำให้กองทัพถูกจับตา

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ยืนแถลงข่าวภายหลังการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก และ ผบ.พันทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ยืนแถลงข่าวภายหลังการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก และ ผบ.พันทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา

แต่หากย้อนดูประวัติศาสตร์ประเทศไทย การทำปฏิวัติสำเร็จต้องมีทหารบกจากกองทัพภาคที่ 1 ร่วมออกตัวด้วยทุกครั้ง โดยยุทธศาสตร์สำคัญซึึ่งเป็นหัวใจของการปฏิวัติประกอบด้วย “คน – เครื่องมือยุทโธปกรณ์ – ประสบการณ์ – มันสมอง – ความรวดเร็ว” ด้วยยุทธวิธี “การควบคุมตัวผู้นำรัฐบาล รอจังหวะให้ผู้นำประเทศเดินทางไปต่างประเทศ ควบคุมสื่อให้หยุดเผยแพร่ข่าวสาร และนำรถถัง – ทหาร ออกมายึดพื้นที่และสถานที่สำคัญต่างๆ” เป็นสูตรสำเร็จของ “การปฏิวัติ”

และหากมี “การปฏิวัติ” ขึ้นมาจริงๆ “ผู้นำ” การทำปฏิวัติรัฐประหารต้องใช้หน่วยของตนเองที่เคยเติบโตเป็นหลัก เพราะจะทำให้มั่นใจว่าสามารถสั่งได้และไม่มีทางที่ข่าวจะหลุดไปถึงคนที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้น หากเป็น “พล.อ.ประยุทธ์” หน่วยหลักจะต้องเป็น “บูรพาพยัคฆ์” จากภาคตะวันออก พร้อมหน่วยทหารราบ ยานเกราะ รวมทั้งหมด 42 กองพัน

คือหน่วย “กองพลทหารราบยานเกราะ” กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) อาทิ ร.2 พัน 1 รอ., ร.2 พัน 2 รอ., ร.2 พัน 3 รอ., ร.12 พัน 1 รอ., ร.12 พัน 2 รอ., ร.12 พัน 3 รอ., ร.21 พัน 1 รอ., ร.21 พัน 2 รอ., ร.21 พัน 3 รอ.

โดยมี “ทหารวงศ์เทวัญ” กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล. 1 รอ.) เข้ายึดพื้นที่ใน กทม. จากหน่วยคือ ร.1 พัน 1 รอ., ร.1 พัน 2 รอ., ร.1 พัน.3 รอ., ร.11 พัน.1 รอ., ร.11 พัน 2 รอ., ร.11 พัน 3 รอ ., ร.31 พัน 1 รอ., ร.31 พัน 2 รอ., ร.31 พัน 3 รอ. และ ม.พัน 4 รอ.

ส่วน “กองพลเสือดำ” กองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) เข้ายึดพื้นที่ปริมณฑล จากหน่วยคือ ร.9 พัน 1, ร.9 พัน 2, ร.9 พัน 3, ร.19 พัน 1, ร.19 พัน 2, ร.19 พัน3, ร.29 พัน 1, ร.29 พัน2, ร.29 พัน 3

สำหรับกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) นำรถถังออกมายึดสถานที่สำคัญ ประกอบด้วย ม.พัน 1 รอ., ม.พัน 3 รอ., ม.พัน 17 รอ., ม.พัน 5 รอ., ม.พัน 11 รอ., ม.พัน 25 รอ., ม.พัน 20 รอ., ม.พัน 23 รอ., ม.พัน 24 รอ., ม.พัน 27 รอ. นอกจากนี้ กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (พล.ปตอ.) จะสนับสนุนดูแลพื้นที่ชั้นนอก ประกอบด้วย ปตอ. พัน 1 รอ., ปตอ. พัน 4, ปตอ. พัน 5 , ปตอ.พัน 7

ในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกา ประเทศเสรีที่ต่อต้านด้านการปฏิวัติรัฐประหารก็จับตาประเทศไทยในประเด็นนี้เช่นเดียวกัน โดยส่ง พล.อ.มาร์ติน อี เดมพ์ซี่ย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐอเมริกา หรือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ที่ได้เดินทางมาเยือนอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกองบัญชาการกองทัพไทย ระหว่างวันที่ 4-5 มิ.ย.ที่ผ่านมา

นอกจากการสานสัมพันธ์ด้านทหารของสหรัฐฯ-ไทย ยังสนใจสถานการณ์การเมืองของไทยอีกด้วย ว่ากันว่า หากเกิดการปฏิวัติรัฐประหารในไทยขึ้น สหรัฐฯ จะเป็นหัวหอกออกมาตรการคว่ำบาตรในด้านต่างๆ ต่อไทยเลยทีเดียว

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมด้วย พล.อ.มาร์ติน อี เดมพ์ซี่ย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐอเมริกา หรือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสหรัฐอเมริกา เดินตรวจกองทหารเกียรติยศผสม 3 เหล่าทัพ ในฐานะแขกของกองบัญชาการกองทัพไทย ที่กองบัญชาการกองทัพไทย เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา
พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมด้วย พล.อ.มาร์ติน อี เดมพ์ซี่ย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐอเมริกา หรือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสหรัฐอเมริกา เดินตรวจกองทหารเกียรติยศผสม 3 เหล่าทัพ ในฐานะแขกของกองบัญชาการกองทัพไทย ที่กองบัญชาการกองทัพไทย เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ “นาซ่า” ของสหรัฐฯ ยังได้ขออนุญาตการกองทัพเรือ เข้าพื้นที่ใช้สนามบินอู่ตะเภา 2 เดือน คือ เดือน ส.ค. และ ก.ย. เป็นฐานปฏิบัติ เพื่อดำเนินการโครงการศึกษาก่อตัวของเมฆ ที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชีย ที่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

รวมทั้งการขอการจัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (HDRC: Humanitarian and Disaster Relief Centre) เรื่องของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และในกรณีภัยพิบัติ

อย่างไรก็ตาม งานนี้ สหรัฐฯ ถูกตั้ง “คำถาม” และ “ข้อสงสัย” ถึงการคืบคลานเข้ามาในย่านนี้ ว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ เพราะหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ไม่เคยใส่ใจสภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ ในย่านนี้เลย

โดยประเด็นสำคัญ “ฝ่ายค้าน–นักวิชาการ” เป็นห่วงคือ สหรัฐฯ จะซ่อนอุปกรณ์นอกเหนือจากอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์บนเครื่องบิน เพื่อสำรวจพื้นที่ด้านยุทธศาสตร์ทางทหาร และยังห่วงเรื่องความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เป็นชาติมหาอำนาจในเอเชีย ที่อาจไม่พอใจไทยต่อการให้สหรัฐฯ ใช้พื้นที่อู่ตะเภา

อย่างไรก็ดี บรรดาผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคง “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง “บิ๊กโอ๋” พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม และ “ผบ.เหล่าทัพ” ต่างก็พร้อมใจกันยืนยันว่า การใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภาของสหรัฐฯ ไม่มีผลต่อความมั่นคงใดๆ ในภูมิภาคนี้ เป็นเพียงภารกิจสำรวจด้านวิทยาศาสตร์ และเรื่องของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และในกรณีภัยพิบัติ

แต่เบื้องลึกเบื้องหลังที่ “กองทัพ” ไฟเขียวกรณี “อู่ตะเภา” เพื่อให้สหรัฐฯ วางยุทธศาสตร์ป้องกันการแผ่ขยายของจีนลงมานั้น ว่ากันว่า งานนี้สหรัฐฯ ให้ผลประโยชน์ตอบแทนด้านการทหารต่อไทย โดยเฉพาะการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต และการช่วยเหลือในด้านส่งกำลังบำรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ การซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์สัญชาติสหรัฐฯ ที่ไทยยังใช้งาน

นอกจากนี้ ยังมีงบลับก้อนใหญ่ที่สหรัฐฯ สนับสนุนไทยในด้านความมั่นคง อาทิ การต่อต้านการก่อการร้าย การปราบปรามยาเสพติด หรือในรูปแบบการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ที่แอบแฝงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ดังนั้น หากไทยไม่ให้ความร่วมมือ งบประมาณเหล่านี้ต้องมีอันหายไป จึงทำให้เรื่องขอใช้ “อู่ตะเภา” คงไม่อาจปฏิเสธสหรัฐ ได้

ทั้งนี้ ถึงแม้ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรเมืองชล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเรียก ผบ.เหล่าทัพ กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าหารือกรณี “อู่ตะเภา” แต่ปรากฎว่าพอเอาเข้าจริง เรื่องนี้ก็ไม่ได้มีการพิจารณาใน ครม. โดยจะตั้งคณะทำงานศึกษารายละเอียดให้รอบคอบก่อน รวมทั้งรอกฤษฎีกาตีความเข้าข่ายรัฐธรรมนูญ ม.190 วรรคใด

ขณะเดียวกัน ในวันที่ 22 มิ.ย. นี้ พล.อ.จิง จือหยาง (Gen. Jing Zinyang) ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารปืนใหญ่ที่ 2 ของจีน มีคิวเดินทางเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อหารือข้อราชการกับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของระหว่างกองทัพบกสองประเทศ

พอดีกับห้วงเวลาในการพิจารณา “อู่ตะเภา” พอดี แม้จะเป็นกำหนดการล่วงหน้า แต่ก็เป็นที่คาดหมายว่าต้องมีการหยิบยกมาพูดคุย ตามที่มีกระแสข่าวว่าจีนไม่พอใจไทยที่จะให้สหรัฐฯ ใช้ “อู่ตะเภา” ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นหนังชีวิต จบยาก จบลำบาก

คงต้องจับตาว่า เรื่อง “อู่ตะเภา” รัฐบาล–กองทัพ จะเนรมิตให้จบลงอย่างไร ท่ามกลางปัญหาการเมืองในประเทศที่ยังไม่สงบ บวกปัจจัยภายนอกที่รุกคืบเข้ามาโดยมิอาจปฏิเสธได้ จนท้ายที่สุด ผลลับนั้นจะส่งผลเช่นไร