ThaiPublica > คอลัมน์ > จอดำทำพิษ

จอดำทำพิษ

14 มิถุนายน 2012


รณพงศ์ คำนวณทิพย์
Twitter: @rockdaworld

วิกฤติฟุตบอลยูโรในบ้านเรา ดูท่าจะกลายเป็นเรื่องใหญ่กว่าวิกฤติเศษรฐกิจยูโรโซนไปเสียแล้ว

ถึงนาทีนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ประชาชนจำนวนราว 10 ล้านครัวเรือนที่เป็นสมาชิกของทรูวิชั่นส์ หรือ จานดำ PSI และอื่นๆ ที่ไม่ได้รับสิทธิให้ถ่ายทอดฟุตบอลยูโรในครั้งนี้ ก็หมดสิทธิที่จะได้รับชมการถ่ายทอดการการแข่งขันฟุตบอลครั้งนี้ตลอดทั้งทัวร์นาเม้นท์ เว้นเสียแต่ว่าจะไปหาซื้อกล่องรับสัญญาณของ GMM Z หรือเสาอากาศแบบหนวดกุ้ง หรือ จานดาวเทียม DTV หรือเครือข่ายเคเบิ้ลท้องถิ่นอย่าง CTH หรือรับชมผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตอื่นๆเท่านั้น

จะว่าไปแล้วการไม่ได้รับชมฟุตบอลยูโรก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายแต่อย่างใด แต่กรณีนี้กลับกลายเป็นประเด็นใหญ่ เพราะถือเป็นครั้งแรกในที่การถ่ายทอดสัญญาณผ่านทางโทรทัศน์ หรือที่เรียกกันว่าฟรีทีวี ถูกจำกัดสิทธิให้รับชมได้เพียงบางช่องทาง ทำให้เกิดข้อพิพาท และคำวิพากษ์วิจารณ์ ว่าใครผิดใครถูกกันอย่างมากมาย จนกลายเป็นกรณีศึกษา ที่น่าจะต้องวางแนวทางป้องกันปัญหาแบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้นมาอีก

อันที่จริงแล้วแน่นอนว่าต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตนอย่างในกรณีนี้ ผู้ถือลิขสิทธิ์การเผยแพร่สัญญาณภาพก็มีสิทธิ์ที่จะหารายได้จากคอนเท้นต์หรือรายการที่มีอยู่ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ส่วนเจ้าของลิขสิทธิ์เองก็มีสิทธิ์ตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้มีการเผยแพร่คอนเท้นต์ของตนผ่านทางช่องทางใดบ้างตามที่ตนเองจะเห็นสมควร ส่วนผู้ประกอบการเคเบิลทีวีและสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมระบบต่างๆก็มีสิทธิ์เลือกว่าจะตกลงจ่ายค่าลิขสิทธิ์ในรูปแบบของตัวเงิน หรือการบาร์เตอร์แลกคอนเท้นต์กับผู้ถือลิขสิทธิ์หรือไม่แต่อย่างใด

ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน นั่นก็คือคอบอลทั้งหลาย และประชาชนซึ่งมองว่ากำลังถูกเอาเปรียบนั่นเองครับ!

แน่นอนว่าในข้อตกลงของสัญญานั้นย่อมประกอบด้วยรายละเอียดปลีกย่อยมากๆ และเนื้อหาสัญญานั้นมักจะเป็นความลับระหว่างคู่สัญญาไม่สามารถนำมาเปิดเผยได้ การตัดสินว่าใครถูก ใครผิด จากวงนอก จึงทำได้ยาก ไม่สามารถฟันธงได้ เพราะในที่สุดแล้วธุรกิจก็คือธุรกิจ ผลที่สุดแล้วอาจไม่มีใครผิด แต่อาจเป็นเพียงเพราะ “ผลประโยชน์” ไม่ลงตัวก็เป็นได้

อย่างไรก็ตามศึกยูโรในครั้งนี้ก่อให้เกิดคำถามต่างๆมากมาย อย่างเช่น ในกรณีของฟรีทีวี ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Free TV, Free-to-Air, หรือ Terrestrial TV นั้น โดยธรรมชาติ ชื่อก็บอกแล้วว่าฟรี ดังนั้นรูปแบบของธุรกิจ (Business Model) ก็คือการหารายได้จากค่าโฆษณา ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของวงการโทรทัศน์ทั้งในบ้านเราและทั่วโลกเลยทีเดียวครับ ด้วยความที่ผู้ชมสามารถดูได้อย่างฟรีๆ โทรทัศน์จึงเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมในกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งในแง่ของรายการนั้นจะเป็นรายการที่สถานีจัดเอง หรือจะเป็นการเปิดให้ผู้จัดมาเช่าเวลา หรือ เปิดให้มาทำรายการฟรีแล้วแบ่งรายได้ค่าโฆษณากันก็ได้ ธุรกิจโทรทัศน์ในสมัยก่อนจึงเป็นเรื่องของการจัดสรรเวลาและบริหารความถี่ของคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ล้วนๆ

พอมาถึงในยุคนี้ ยุคที่ผู้คนมีคลื่นความถี่ให้เลือกมากขึ้น มีอุปกรณ์รับสัญญาณหลากหลายมากขึ้น มีจอส่วนตัวเยอะขึ้น อย่างเช่น จอโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์พกพาต่างๆ รูปแบบของการประกอบกิจการโทรทัศน์จึงมีความซับซ้อน และมีรายละเอียดปลีกย่อยมากขึ้น เช่น สามารถรับชมจากเคเบิลทีวี จานดาวเทียมอื่นๆ หรือ ดูผ่านอินเตอร์เน็ตแบบเรียลไทม์ หรือจะเรียกดูย้อนหลังก็ได้

ดังนั้นเรื่องเหล่านี้จึงเป็นดุลยพินิจ ของเจ้าของสถานีซึ่งก็คือผู้เช่า ผู้บริหารความถี่ และผู้ผลิตรายการ และเงื่อนไขของสัญญาว่าจะเปิดให้มีการรับชมผ่านช่องทางอื่นใดอีกได้บ้าง หากรับชมได้มากช่องทาง ก็หมายถึงว่าจะสามารถมีผู้ชมจำนวนมากขึ้น ซึ่งก็หมายถึงรายได้ค่าโฆษณาที่มากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง และตามธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมานั่นก็คือ หากรายการใดทำการเผยแพร่ผ่านฟรีทีวีแล้ว ก็จะสามารถรับชมทางแพลทฟอร์ม หรืออุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์อื่นๆได้ทั้งหมด

ในกรณีของฟุตบอลยูโรนี้จึงกลายเป็นเรื่องให้ชวนขบคิดและย้อนกลับมาที่ฟรีทีวีหรือสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ดังที่ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ทำหนังสือ ลงวันที่12 มิถุนายน 2555 ถึง บอร์ด กสท. ของ กสทช. ที่มีเนื้อหาว่า กิจการโทรทัศน์นั้นเป็นกิจการสาธารณะ ดังนั้นจึงควรมีการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเปิดให้ชมได้ทุกช่องทาง จากจำนวน 20 ล้านครัวเรือนในประเทศไทย มีเพียง ร้อยละ 25 ที่รับชมผ่านเสาอากาศแบบหนวดกุ้ง ส่วนที่เหลือรับชมผ่านทางเคเบิล หรือ จานดาวเทียมอื่นๆ ด้วยข้อจำกัดในการติดตั้งเสาสัญญาณ หรือมีตึกสูงบัง

ดังนั้นการจำกัดสิทธิในการรับชมผ่านทางช่องทางอื่นๆ จึงไม่ถือเป็นการให้บริการสาธารณะ เพราะเป็นการริดรอนสิทธิผู้บริโภคนั่นเองครับ นอกจากนี้ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ยังตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่า ที่ผ่านมาสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีทั้งหลายไม่ได้ลงทุนในการสร้างช่องทางการรับชมผ่านทางแพลตฟอร์มอื่นๆนอกเหนือจากที่มีอยู่เลย ทำนองว่าไม่ลงทุนแถมยังมาจำกัดสิทธิผู้ชมอีก

น่าคิดว่าหากต่อไปในอนาคตผู้ผลิตรายการบางรายไม่ยินยอมให้มีการเผยแพร่รายการของตนผ่านดาวเทียมบางประเภทแล้ว ผู้ชมอย่างๆเราๆคงต้องนั่งลุ้นกันล่ะครับว่ารายการไหนจะจอดำกันบ้าง

อีกข้อเรียกร้องหนึ่งของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคคือให้ กสทช. ออกกฎให้รายการที่เผยแพร่ผ่านฟรีทีวีนั้น สามารถรับชมผ่านแพลตฟอร์มหรือช่องทางรับสัญญาณได้ทุกช่องทาง ตามหลักการของฟรีทีวีนั้นน่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ ด้วยธรรมชาติของธุรกิจที่ต้องมีฐานคนดูเยอะๆนั่นเองครับ

อย่างไรก็ตามวิธีนี้อาจมีข้อจำกัดสำหรับรายการบางประเภทที่มีการแยกเก็บค่าลิขสิทธิ์การนำสัญญาณมาเผยแพร่ต่อ (re-distribution) ผ่าน Pay TV หรือ เคเบิ้ลทีวีที่มีการจัดเก็บค่าสมาชิก ดังนั้นหากข้อบังคับนี้ทำได้จริง ผู้ถือลิขสิทธิ์ก็จะต้องเลือก ว่าจะใช้โมเดลเปิดให้ดูฟรีทั้งหมดแล้วหารายได้จากค่าโฆษณา หรือจะเก็บค่าดูผ่านทางค่ากล่องหรือค่าสมาชิก ไม่ใช่ครึ่งๆกลางๆ หรือหารายได้เสียทั้งหมดทุกทางแบบนี้ครับ

ก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดปัญหาในการรับชมโทรทัศน์ผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต เพราะสถานีโทรทัศน์และผู้ผลิตรายการส่วนใหญ่ไม่ต้องการเปิดให้มีการรับชมฟรีผ่านเว็บไซต์ไหนก็ได้ เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการหาผลประโยชน์ จาก traffic หรือจำนวนผู้ชม อันหมายถึงรายได้ค่าโฆษณาอื่นๆที่จะตามมาในอนาคตนั่นเอง จึงเกิดความคิดว่าถ้าอย่างนั้นสถานีโทรทัศน์ทำเองไม่ดีกว่าหรือ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ถือเป็นเรื่องใหม่ที่จะต้องมีการพัฒนาและติดตามกันต่อไป รวมถึงระบบการรับชมผ่านแพลตฟอร์มของดิจิตัลทีวี หรือการเผยแพร่สัญญาณในระบบดิจิตอลอีกด้วย

สำหรับระบบเพย์ทีวี หรือเคเบิลทีวี นั้นชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าผู้ชมจะต้องจ่ายค่ารับชม จะจ่ายเป็นรายเดือน จ่ายเป็นครั้งๆ หรือที่เรียกว่า Pay Per View หรือจะจ่ายค่าดูรวมอยู่ในค่ากล่องก็แล้วแต่ ผู้ที่จ่ายเงินนั้นย่อมมีความคาดหวังว่าจะได้รับชมรายการที่หาชมที่อื่นไม่ได้ หรือรับชมในคุณภาพที่ดีกว่าช่องทางปกติ สำหรับรายการของฟรีทีวีที่อยู่ในนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของฟรีคอนเท้นต์ หรือคอนเท้นต์ที่แถมให้ดูฟรี ซึ่งในกรณีนี้ถือเป็นการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างเจ้าของสถานีโทรทัศน์ และเคเบิ้ลทีวี เพราะผู้ชมก็ต้องชมโฆษณาไปด้วย

เคเบิลทีวีส่วนใหญ่นั้นจึงจะยอมจ่ายค่ารายการก็ต่อเมื่อมันเป็นรายการที่หาดูยาก หรือหาชมได้ที่เดียวแบบ exclusive นั่นเองครับส่วนรายการที่ดูได้ฟรีนั้น หากดูไม่ได้อย่างในกรณีของฟุตบอลยูโรนั้น จะเป็นการผิดสัญญาที่ให้ไว้กับผู้บริโภคหรือไม่ ก็ต้องไปดูในรายละเอียดของข้อสัญญาว่าระบุว่าอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ ประมาณ 99.99% ไม่มีใครคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้และไม่ได้ดูสัญญาให้ละเอียดกันหรอกครับ ดังนั้นการเอาผิดกับผู้ประกอบการจึงเป็นเรื่องยาก

การรับชมฟุตบอลยูโรในครั้งนี้จึงไม่เป็นเรื่องสนุกเท่าที่ควร เพราะเมื่อเริ่มมีผู้ชมที่ไม่ได้ชม ไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงไม่มีความรู้สึกร่วม บรรยากาศในบ้านเราจึงกร่อยขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ ในแง่ของผู้ถือลิขสิทธิ์นั้นอาจประสบความสำเร็จเพราะหารายได้ทั้งขึ้น (ค่าโฆษณา) และทั้งล่อง (การขายกล่อง และค่าลิขสิทธิ์) แต่ก็อาจไม่คุ้มค่ากับความรู้สึกดีๆ (goodwill) ที่ผู้บริโภคเคยมีให้เพราะสุดท้ายแล้ว ผู้บริโภค ก็ดูเหมือนจะถูกจับเป็นตัวประกันบนผลประโยชน์ทางธุรกิจเหมือนที่หลายๆคนพูดถึงกันอยู่ในขณะนี้

แน่นอนว่าของฟรีไม่มีในโลก ของบางอย่างที่เราเห็นว่าฟรีก็เพราะมีผู้อื่นจ่ายต้นทุนแทนเราโดยการจ่ายค่าโฆษณา การสนับสนุนจากภาครัฐ หรือเงินอุดหนุนอื่นๆ ส่วนหากอยากได้ของที่ดีกว่านั้นก็เลือกจ่ายเงินเลือกบริโภคกันตามสะดวกครับ

สำหรับเหตุการณ์ จอดำ (จริงๆ สีน้ำเงิน) ที่เกิดขึ้นนี้คงจะเป็นกรณีตัวอย่างของความซับซ้อนทางธุรกิจลิขสิทธิ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต จึงเป็นเรื่องท้าทายที่ผู้กำกับดูแลการจัดสรรคลื่นความถี่และกิจการวิทยุโทรทัศน์อย่าง กสทช. จะต้องวางแผนแม่บท และคอยกำกับดูแลเพื่อให้การความชอบธรรมในสิทธิอันพึงมีของประชาชน..

.. ส่วนใครจะเลือกชมรายการใด ชอบหรือไม่ชอบอย่างไร ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลแล้วล่ะครับ หากไม่พอใจหรือไม่อยากดู ก็มีสิทธิทำจอดำได้เองเช่นกัน ด้วยวิธีการง่ายๆ นั่นคือปิดโทรทัศน์แล้วไปหากิจกรรมอย่างอื่นทำนั่นเองครับ