ThaiPublica > คอลัมน์ > รำลึก “เจริญ วัดอักษร” ในวันครบรอบแปดปีที่ถูกยิงตาย สิ่งที่พวกคุณไม่เข้าใจ

รำลึก “เจริญ วัดอักษร” ในวันครบรอบแปดปีที่ถูกยิงตาย สิ่งที่พวกคุณไม่เข้าใจ

21 มิถุนายน 2012


ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ความตายของเจริญ วัดอักษร นำความเจ็บปวดมาสู่ทุกฝ่าย เพราะเจริญเป็นสัญลักษณ์ของชาวบ้านที่ต่อสู้อย่างจริงจังเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสมบัติของสาธารณะ ความตายของเจริญจึงแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้เพื่อส่วนรวมในประเทศนี้มีราคาและต้นทุนชีวิตที่มากมายเหลือคณา

ไม่ได้มีเจริญเพียงคนเดียวที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องแบบนี้ แต่ในสังคมไทยนั้นยังมีชาวบ้านและคนธรรมดาๆ อีกเป็นอันมาก ที่ต่อสู้ในลักษณะเดียวกับเจริญ ซ้ำหลายคนก็ได้ผลลัพธ์แบบเดียวกับเจริญมาก่อนแล้ว ขณะที่อีกหลายคนก็มีโอกาสอย่างสูงที่จะประสบชะตากรรมเดียวกัน

น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจความเป็นจริงเรื่องนี้ รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ทำให้ในขณะที่รับปากว่าจะเอาคนผิดมาดำเนินคดีให้ได้ ก็ได้เอ่ยออกมาอย่างเหลวไหลว่าในบรรดาชาวบ้านที่ต่อสู้จนถูกฆ่าไปด้วยวิธีการต่างๆ มีเจริญคนเดียวที่เป็นตัวจริง ส่วนคนอื่นนั้นเป็นตัวปลอม

อันที่จริง ชาวบ้านทุกคนที่ถูกฆ่าล้วนเป็นราษฏรธรรมดา ซึ่งอุทิศชีวิตเพื่อปกป้องสภาพแวดล้อมและทรัพยากรสาธารณะ จึงเป็น “ตัวจริง” ที่สมควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเหมือนเจริญ เพียงแต่หลายคนมีชื่อเสียงไม่มากนัก ทำให้ความตายของพวกเขามีค่าเป็นแค่โอกาสให้นายกฯ ได้พูดกระแนะกระแหนคนตายตามอำเภอใจ

ความจริงข้อนี้แสดงให้เห็นว่าปัญหาเรื่อง “ตัวจริง” หรือ “ตัวปลอม” ล้วนเป็นจินตนิยายที่ปั้นแต่งขึ้นมาเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี

ความตายของเจริญเป็นส่วนหนึ่งของความตายที่เกิดแก่ชาวบ้านและผู้นำชุมชนรายอื่นๆ และเพราะเหตุนี้ ความสูญเสียทั้งหมดนี้จึงเป็นเครื่องบ่งชี้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย นั่นคือ

1) เกิดแนวโน้มที่ผู้นำชาวบ้านและชุมชนจะตกเป็นเป้าหมายของการเอาชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ดังที่สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือได้ระบุว่า ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลนี้ มีผู้นำชาวบ้านและชุมชนต่างๆ เสียชีวิตไปแล้ว 15 ราย ซึ่งทุกคนล้วนเป็นชาวบ้านธรรมดาที่มีจิตใจหวงแหนทรัพยากรท้องถิ่น เช่น ป่าชายเลน ป่าต้นน้ำ ที่ดินสาธารณะ

จุรินทร์ ราชพล ผู้คัดค้านการรุกรานป่าชายเลนที่จังหวัดภูเก็ต และ สมพล ชนะพล ผู้ต่อต้านการสร้างอ่างเก็บน้ำที่ป่าต้นน้ำคลองกระแดะ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นตัวอย่างของชาวบ้านที่ถูกลอบสังหารด้วยเหตุจากการต่อสู้เพื่อทรัพยากรธรรมชาติแบบนี้

เจริญก็อยู่ในชาวบ้านกลุ่มนี้เช่นกัน

ชาวบ้านอีกกลุ่มไม่ได้ตายเพราะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติโดยตรง แต่ตายเพราะลุกขึ้นมาต่อต้านการกลุ่มทุนท้องถิ่นที่ทำลายสภาพแวดล้อมด้วยวิธีต่างๆ เช่น การทำโรงงานโม่หิน การทำบ่อขยะฝังกลบ ฯลฯ

นรินทร์ โพธิ์แดง ผู้คัดค้านการสร้างโรงโม่หิน เขาชะเมา จ.ระยอง, พิทักษ์ โตนวุฒิ ผู้คัดค้านโรงโม่หิน ที่หมู่บ้านชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และ สุวัฒน์ วงศ์ปิยะสถิตย์ แกนนำต่อต้านบ่อขยะฝังกลบ ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ล้วนเป็นตัวอย่างของผู้นำชาวบ้านที่เสียชีวิตเพราะต่อสู้ในเรื่องสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น ดังที่ได้กล่าวมา

จริงอยู่ว่าการฆ่าผู้นำชาวบ้านไม่ได้เกิดเป็นครั้งแรกในรัฐบาลนี้ ซ้ำยังพูดได้ว่าปรากฎการณ์ฆ่าในลักษณะนี้เกิดขึ้นพร้อมกับที่ชาวบ้านในชนบทรู้จักการรวมกลุ่มทางการเมืองในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 ดังปรากฎการสังหาร จำรัส ม่วงยาม ผู้นำสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออก ในปี 2522 รวมทั้ง อาจารย์ประเวียน บุญหนัก ครูผู้ต่อต้านการทำโรงโม่หินที่จังหวัดเลย ในปี 2538

อย่างไรก็ดี รัฐบาลนี้ได้ทำให้การฆ่าชาวบ้านเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังจะได้กล่าวต่อไป

2) ผู้เสียชีวิตเกือบทุกคนล้วนเป็นผู้นำในการต่อสู้ในเรื่องของป่าไม้ ที่ดิน และทรัพยากรท้องถิ่นในรูปต่างๆ โดยมีคู่ขัดแย้งคือนายทุนและผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น (ในกรณีโรงโม่หินที่พิษณุโลกและระยอง) กลุ่มทุนระดับชาติ (ในกรณีเจริญ) และหน่วยราชการระดับท้องถิ่น (กรณีบ่อขยะฝังกลบที่สมุทรปราการ)

ความตายของผู้นำชาวบ้านเป็นประจักษ์พยานของการเกิด “สงครามแย่งชิงทรัพยากร” ขึ้นในสังคมไทย โดยฝ่ายพ่อค้านายทุนกว้านซื้อและยึดครองทรัพยากรท้องถิ่นด้วยการรุกล้ำป่าชายเลนและทำลายป่าต้นน้ำ เพื่อให้ทรัพยากรเหล่านี้หมดสภาพความเป็นป่า และเป็นข้ออ้างในการขอเอกสารสิทธิจากทางราชการ

ในส่วนของพื้นที่ซึ่งไม่มีป่าให้รุกล้ำต่อไป สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือการรุกล้ำที่ดินสาธารณะที่ชาวบ้านในชุมชนเคยใช้สอยร่วมกันมาเป็นเวลานาน

ความตายของเจริญเกี่ยวข้องกับสภาวะแบบนี้โดยตรง

แน่นอนว่าพฤติกรรมรุกล้ำป่าชายเลนหรือที่สาธารณะล้วนเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย กระบวนการทั้งหมดนี้จึงสัมพันธ์กับการสมรู้ร่วมคิดของฝ่ายบ้านเมือง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ซึ่งมีมโนธรรมต่ำพอจะแกล้งมองไม่เห็นความจริง ซึ่งอยู่เบื้องหลังการสิ้นสภาพของป่าชายเลนหรือที่ดินสาธารณะ เช่น ที่ดินจังหวัด ผู้ว่าราชการ ฯลฯ

กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ในขณะที่พ่อค้านายทุนเป็นหัวหอกของ “สงครามแย่งชิงทรัพยากร” รัฐและเจ้าหน้าที่ราชการก็คือกองหนุนของคนเหล่านี้ ส่วนกลไกที่ขับเคลื่อนความเคลื่อนไหวทั้งหมดก็คือระบบตลาดที่อนุญาติให้ทุกฝ่ายซื้อขายได้อย่างเสรี

พูดอีกอย่างก็ได้ว่า ความตายของชาวบ้านสัมพันธ์โดยตรงกับการขยายตัวของระบบทุนนิยมลงไปสู่ทุกหน่วยย่อยในสังคมชนบทของไทย

3) ผู้ตายทั้งหมดไม่ได้ตายในฐานะปัจเจกบุคคล ความตายของพวกเขาจึงไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งส่วนบุคคลอะไรทั้งนั้น ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ตายล้วนมีฐานะเป็นผู้นำชาวบ้านซึ่งได้รวมตัวกันโดยอาศัยความเป็นชุมชนเป็นรากฐาน ความตายจึงเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ของชาวบ้านกับฝ่ายที่รุกรานทรัพยากรของชุมชน

ในแง่นี้ สงครามทรัพยากรจึงเป็นเรื่องของการเผชิญหน้ากันระหว่างพลังของชุมชนกับพลังของฝ่ายทุนและระบบราชการ

เจริญเป็นหนึ่งในผู้นำชาวบ้านที่ต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่โดดเด่นที่สุดในยุคสมัยนี้ และหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เจริญเป็นที่ยอมรับของสังคมก็คือ เขาเป็นสัญลักษณ์ของชาวบ้านที่รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นเข้มแข็งมาเป็นเวลานาน

ชุมชนเป็นรากฐานที่เอี้ออำนวยให้เกิดความชอบธรรมในฝ่ายชาวบ้าน และในขณะเดียวกัน ชาวบ้านเองก็อาศัยความเป็นชุมชนไปเป็นฐานในการต่อสู้ทางการเมืองและนโยบาย

จริงอยู่ว่าชาวบ้านในหลายพื้นที่มีการรวมตัวเป็นชุมชนมานานแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งระบบทุนนิยมยังไม่ได้แทรกตัวมากจนกระทั่งพังทลายความสัมพันธ์ในชุมชนลงไปอย่างสิ้นเชิง จึงมีเชื้อให้กระชับความเป็นชุมชนขึ้นมาใหม่ได้มาก โดยอาศัยความเป็นประเพณีและประวัติศาสตร์มาเป็นแกนในการยึดโยง

4) อย่างไรก็ดี การรวมกลุ่มเพื่อปกป้องทรัพยากรนั้นไม่ได้เกิดแต่กับชุมชนที่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ยาวนานแต่เพียงอย่างเดียว เพราะในหลายกรณี การรวมกลุ่มเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นจากสภาพปัญหาที่เป็นจริงในพื้นที่ ซึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการรุกรานของกลุ่มทุนที่ต้องการจะแปรที่ดินและป่าไม้ไปเป็นสินค้าในระบบตลาดเสรี จึงเกิดการอ้างอิงแนวคิด “สิทธิชุมชน” เพื่อให้ความชอบธรรมกับการรวมตัวของมวลชน

ในกรณีนี้ กลุ่มของชาวบ้านทำงานบนโลกทัศน์และสิทธิสมัยใหม่ซึ่งบัญญัติไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ซึ่งได้ให้เครื่องมือทางกฎหมายที่สำคัญที่สุดแก่ชาวบ้านในการปกป้องสิทธิต่างๆ อย่างไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญฉบับใดๆ

ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ที่ผูกโยงกับสิทธิโดยประเพณีและสิทธิที่บัญญัติขึ้นใหม่ เป็นความเคลื่อนไหวที่อิงกับประเด็นปัญหาและลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ จึงมีสมาชิกที่มาจากหลากกลุ่มหลายชนชั้น เช่น ชาวนารายย่อย คนจนเมือง คนชายขอบ ชาวไร่ไร้ที่ดิน เจ้าของบังกะโลขนาดเล็ก ธุรกิจบริการระดับล่าง ฯลฯ จนไม่ได้มีฐานจำกัดอยู่ที่คนกลุ่มไหนชนชั้นใดอย่างตายตัว

กล่าวในระดับที่กว้างออกไป การเติบโตของชาวบ้านเป็นผลผลิตของฐานคิดใหม่ๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พัฒนาการข้อนี้จึงสัมพันธ์กับการมีผลบังคับใช้ของรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น และเพราะเหตุนี้ ความตายของพวกเขาจึงเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอของรัฐธรรมนูญไปพร้อมๆ กัน

5) ความจำกัดของทรัพยากรป่าไม้และที่ดิน ประจวบกับการถูกฝ่ายทุนรุกรานแย่งชิงทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชาวบ้านหลายพื้นที่มีการรวมกลุ่มและเรียนรู้จากสภาพความเป็นจริงมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งเกิดผู้นำโดยธรรมชาติที่สัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับ “แกนนำชาวบ้าน” และ “ชุมชน”

ในขณะที่การรวมกลุ่มของชาวบ้านพัฒนาไปถึงขั้นนี้ ฝ่ายทุนและรัฐยังคงงมงายอยู่กับความเชื่อเหลวไหลว่าชาวบ้านอยู่ภายใต้การชักจูงของผู้นำไม่กี่ราย จึงเพ้อเจ้อต่อไปว่าจะปิดฉากความเคลื่อนไหวของชาวบ้านได้ง่ายๆ โดยเอาเงินฟาดหัว หรือไม่ก็ยัดลูกตะกั่วเข้าตัว

สิ่งที่ฝ่ายรัฐและทุนไม่รู้ ไม่ว่าจะโดยสุจริตหรือเพราะโง่ ก็คือชาวบ้านหลายพื้นที่มีประสบการณ์ในการต่อสู้มากจนสรุปเป็นบทเรียนว่า “ผู้นำ” ไม่อาจเป็นหลักในการเคลื่อนไหวทั้งหมดได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยระบบ “การนำร่วม” เพื่อให้มีการกระจายบทบาทและควบคุมซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น กรณีเขื่อนปากมูลหรือสมัชชาคนจน ซึ่งได้มีการผลัดเปลี่ยนผู้นำรุ่นต่างๆ มาแล้วเป็นอันมาก แต่ก็ยังคงความเป็นองค์กรได้ต่อไป

พูดสั้นๆ ก็คือ ถึงจะฆ่าเจริญได้ ก็ไม่อาจหยุดการเคลื่อนไหวของชาวบ้านได้อย่างที่คนฆ่าเข้าใจ

คิดอีกแง่ การฆ่าเป็นประจักษ์พยานว่าชาวบ้านได้รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง จนฝ่ายทุนไม่สามารถใช้เงินซื้อผู้นำได้ต่อไป ซ้ำยังแข็งแกร่งทางการเมือง จนไม่อาจอาศัยอำนาจรัฐไปปิดปากเสียงได้อย่างในอดีต

เพราะชาวบ้านฉลาดและจัดเจนขึ้นถึงขั้นนี้ นายทุนและราชการจึงไม่เหลือทางเลือกอี่นใด เว้นไว้แต่วิธีการที่ง่าย โง่ ใช้สมองน้อยที่สุด และป่าเถื่อนมากที่สุด นั่นคือการฆ่าผู้นำ

6) เป็นไปได้ที่สภาวะทางโครงสร้างทั้งหมดนี้จะส่งผลให้ชาวบ้านหวาดกลัวมากขึ้น แต่ก็เป็นไปได้อีกเช่นกันว่าชาวบ้านจะต่อสู้อย่างระมัดระวังยิ่งขึ้นด้วย ในขณะที่ฝ่ายทุนก็จะถูกผลักดันจากเงื่อนไขหลายอย่างให้สังหารผู้นำชาวบ้านอย่างรุนแรงต่อไป เพราะตระหนักว่ารัฐบาลไม่เคยสนใจคดีอาญาในลักษณะนี้ ซ้ำหลายกรณีก็ยังเห็นได้ชัดว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่จงใจเพิกเฉยต่อการปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง

มองในระดับกว้างออกไป การสังหารเจริญเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ “รัฐฆาตกร” ได้สังหารราษฎรตามอำเภอใจไปเป็นอันมาก ดังปรากฎความตายของผู้คนร้อยคนเศษในวันที่ 28 เมษายน การอุ้มฆ่าทนายสมชาย และการหายสาปสูญของพี่น้องไทยมุสลิม ซึ่งล้วนเป็นสัญญาณว่ารัฐบาลชุดนี้พึงใจกับความรุนแรงยิ่งกว่าวิถีทางของกฎหมาย และนัยทางการเมืองของพฤติกรรมนี้ก็คือการบอกแก่ฝ่ายทุนว่า สามารถเข่นฆ่าราษฎรได้อย่างเสรี

เจริญ วัดอักษร เป็นผู้นำชาวบ้านที่มีชื่อเสียงในยุคสมัย การคร่าชีวิตของเขาจึงแสดงให้เห็นว่าฝ่ายทุนได้ทวีความเชื่อมั่นในอำนาจอภิสิทธิ์ จนไม่มีความยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมืองอีกต่อไป ซึ่งเป็นไปได้ว่าที่เป็นแบบนี้ก็เพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันก็มีพฤติกรรมทำนองนี้ ขณะที่ผู้นำของรัฐบาลก็แสดงทรรศนะให้ท้ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมอยู่ตลอดเวลา

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้เป็นผลของการมีรัฐบาลชนชั้นนายทุนที่ผนึกแนบแน่นกับระบบราชการและกองทัพได้อย่างสมบูรณ์

ตีพิมพ์ครั้งแรก: a day weekly, 2547