ThaiPublica > เกาะกระแส > TK Park เสวนา – ก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนผ่านมิติ “การอ่าน” สร้างความเข้าใจ รู้จักเพื่อนบ้านผ่าน “ตัวอักษร”

TK Park เสวนา – ก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนผ่านมิติ “การอ่าน” สร้างความเข้าใจ รู้จักเพื่อนบ้านผ่าน “ตัวอักษร”

13 พฤษภาคม 2012


ที่มาภาพ: http://www.thailandexhibition.com
ที่มาภาพ: http://www.thailandexhibition.com

จากงานสัมมนาประจำปี 2012 ของ TK Park ปีนี้ ภายใต้ธีม “TK Conference on Reading 2012” ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558 ในมิติของ “การอ่าน” เพื่อทำความเข้าใจและรู้จักเพื่อนบ้านให้มากขึ้นผ่านตัวอักษร

จุดมุ่งหมายสำคัญของงานเน้นที่การส่งเสริมการอ่านผ่านหนังสือ โรงเรียน และห้องสมุด โดยมีแขกรับเชิญจากสมาชิกอาเซียน 3 ประเทศ คือ พม่า กัมพูชา และบรูไนดารุสซาราม มาร่วมกันแบ่งปันการส่งเสริมการอ่านของแต่ละประเทศดังนี้

“มูลนิธิอนุรักษ์และให้ความช่วยเหลือเรื่องหนังสือของประเทศพม่า มีบทบาทเกี่ยวกับห้องสมุดในประเทศพม่า ในด้านการพัฒนาองค์ความรู้และกิจกรรมต่างๆ” โดย ดร.ถั่น ทอ คอง ผู้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์หนังสือและการส่งเสริมการอ่านในพม่า และผู้ก่อตั้งมูลนิธิอนุรักษ์หนังสือพม่า เล่าถึงการทำงานของเขาในพม่าตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า

ในยุคที่พม่าอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ห้องสมุดได้พัฒนามาก แบ่งเป็นหอสมุดแห่งชาติ ห้องสมุดวิชาการ ห้องสมุดประชาชน และห้องสมุดเฉพาะทาง แต่ผลจากรัฐบาลทหาร ทำให้ห้องสมุดขาดการดูแลและขาดงบประมาณในการก่อสร้างอาคารและซื้อหนังสือ ห้องสมุดบางแห่งมีหนังสือเพียงไม่กี่เล่ม บ้างก็เสียหายจากสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น หอสมุดกลางของมหาวิทยาลัย (UCL) ด้วยความยากจนของประเทศทำให้ห้องสมุดมีความสำคัญมากต่อการศึกษาของเด็กๆ โดยเฉพาะในชนบท และยังต้องการความช่วยเหลืออยู่มาก

ดร.ถั่น ทอ คอง
ดร.ถั่น ทอ คอง

ปัจจุบันรัฐบาลใหม่ของพม่าให้ความสำคัญกับการศึกษามากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงการพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ และเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษาขึ้นเท่าตัว ปรับแผนการศึกษาใหม่หลายด้าน เช่น เพิ่มระยะเวลาการศึกษาจาก 3 ปี เป็น 4 ปี เพิ่มเงินเดือนครู ส่งนักวิชาการไปต่างประเทศ

แต่ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาก็ยังมีอยู่มาก เช่น เด็กนิยมเกมคอมพิวเตอร์มากกว่าใช้หาข้อมูล ห้องสมุดมีคุณภาพมีน้อยเนื่องจากขาดแคลนเงิน นักเรียนไม่ได้อ่านหนังสืออื่นๆ นอกตำรา การขาดแคลนไฟฟ้า ครูขาดประสบการณ์ ฯลฯ

สำหรับกิจกรรมของมูลนิธิอนุรักษ์และให้ความช่วยเหลือเรื่องหนังสือของประเทศพม่า (MBAPF) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2002 และมูลนิธิห้องสมุดนากิซ (NLR) ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2008 หลังจากพม่าได้รับความเสียหายอย่างหนักจากพายุไซโคลนนากิซ เฉพาะห้องสมุดเสียหายกว่า 2,000 แห่ง ทำให้พม่าได้รับบริจาคหนังสือมากถึง 1 ล้านเล่ม และทางมูลนิธิก็แจกจ่ายหนังสือไปยังห้องสมุดต่างๆ นอกจากนี้ยังจัดหาโต๊ะ เก้าอี้ คอมพิวเตอร์ และการจัดอบรมบรรณารักษ์ด้วย

ด้านกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของมูลนิธินี้ เน้นที่การระดมทุนเพื่อพัฒนาห้องสมุดและการสรรหาหนังสือมาเติมให้ห้องสมุดกลายเป็นแหล่งความรู้คุณภาพของชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ

กล่าวโดยสรุป ในอดีตพม่าเป็นประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาที่สูงมาก นักเรียนสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว มีห้องสมุดที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ผลพวงจากรัฐบาลเผด็จการทหารได้ทำลายทุกอย่างไปสิ้น ในวันนี้ความหวังด้านการศึกษาของพม่าเพิ่มมากขึ้นแล้ว จากการให้ความสำคัญของรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ประเด็นเสวนาเรื่องต่อมาคือ “การอ่านและการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านในโรงเรียนชั้นประถมศึกษาของกัมพูชา” โดย คาล คานน์ ผู้อำนวยการโครงการ ROOM TO READ CAMBODIA ได้รายงานถึงพัฒนาด้านศึกษาของกัมพูชาจากอดีตถึงปัจจุบันว่า

แต่เดิมการศึกษาของกัมพูชามีศูนย์กลางอยู่ที่วัด เพื่อสอนทักษะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต แต่หลังจากฝรั่งเศสเข้ายึดประเทศในปี พ.ศ. 2406 การศึกษาแบบตะวันตกก็เข้ามา แต่มีจุดประสงค์เพื่อทำลายระบบการเรียนแบบเดิมและคงอำนาจของตนเอง ไม่ใช่เพื่อพัฒนากัมพูชา แต่หลังจากได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2496 การศึกษาของกัมพูชาก็พัฒนาขึ้นมาก เริ่มมีสถาบันการศึกษาในระดับสูง แต่เป็นในแง่ของการขยายจำนวนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ก็ยังไม่มีคุณภาพมากนักเพราะขาดแคลนทรัพยากรทางการศึกษา

พอมาเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศที่ทั่วโลกรู้จักกันดีว่า “ทุ่งสังหาร” ใน พ.ศ. 2518 โรงเรียนมากกว่า 1 ใน 3 ต้องปิดตัวลง กลุ่มเขมรแดงมีแนวคิดกำจัดรากฐานเก่าของสังคมแบบถอนรากถอนโคนและสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นแทน หนังสือถูกปล่อยให้ผุพังหรือใช้เป็นที่มวนบุหรี่ คนที่มีการศึกษาสูงถูกบังคับให้ทำงานหนักหรือถูกฆ่าตาย เมื่อยุคของเขมรแดงสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2522 ประมาณการว่า 80% ของนักศึกษากัมพูชาถูกฆ่าตายหรือหลบหนีออกนอกประเทศ

คาล คานน์
คาล คานน์

การศึกษาของกัมพูชาต้องเริ่มจากศูนย์ คนไม่รู้หนังสือมากขึ้นกว่า 40% ครูแทบจะไม่มีเหลืออยู่ การศึกษาในตอนนั้นมีคำขวัญว่า “คนที่มีความรู้มากกว่าสอนคนที่มีความรู้น้อยกว่า” และพัฒนามาเรื่อยๆ โรงเรียนประถมสร้างใหม่จำนวนมาก จนปี 2554 มีจำนวนนักเรียนประถมเพิ่มขึ้นเป็น 95.8% โดยใช้กลยุทธ์ “การศึกษาเพื่อทุกคน” มาประกันว่าเด็กทุกคนจะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 9 ปี

แต่ปัญหาที่สำคัญในทุกระดับการศึกษาคือ ครูมีความรู้น้อย งบจากรัฐบาลมีจำกัด ขาดแคลนหนังสือ มีการเรียนซ้ำชั้นและออกจากโรงเรียนกลางคันสูง มีสำนักพิมพ์เพื่อผลิตหนังสือน้อย รัฐบาลขาดกลยุทธ์ ฯลฯ

ส่วนเรื่องวัฒนธรรมการอ่านก็ไม่เกิดขึ้นในสังคมเพราะความขาดแคลนหนังสือ และความคิดของคนในสังคมที่ว่า “การอ่านคือการทำงาน ไม่ใช่การพักผ่อนหรือความสนุกสนาน” ผู้ปกครองก็ไม่เห็นความสำคัญต่อการอ่านเท่าใดนัก

ดังนั้นองค์กร NGOs จึงเข้ามาจัดโครงการส่งเสริมการอ่าน เน้นในชนบทที่ห่างไกล เช่น พัฒนาห้องสมุดเดิมและก่อตั้งศูนย์หนังสือในที่ห่างไกล คัดเลือกหนังสือที่เหมาะสมเข้ามา มีห้องสมุดเคลื่อนที่ ยกระดับการอ่านโดยทำกิจกรรมกับชุมชน เพื่อให้เด็กๆ อยากอ่านหนังสือและชุมชนเห็นความสำคัญของห้องสมุด

สรุปแล้ว การพัฒนาด้านการศึกษากัมพูชาเสื่อมถอยลงถึงสองครั้ง จากการยึดอำนาจของฝรั่งเศสและกลุ่มเขมรแดง ทำให้ต้องเริ่มใหม่จากศูนย์ หากมองความสำเร็จที่เกิดในวันนี้ก็นับว่าพัฒนาที่ดีขึ้นมาก แต่ยังมีปัญหาความยากจน ขาดครูที่มีความสามารถมากพอ และการสนับสนุนของรัฐบาล ที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนา อีกทั้งวัฒนธรรมการอ่านยังถูกมองว่าเป็นเรื่องของอาชีพและเป็นการอ่านเฉพาะคนที่อยากประกอบวิชาชีพครู มากกว่าจะมองว่าเป็นเรื่องการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินและได้ความรู้ ดังนั้นรัฐบาลกัมพูชาต้องรีบปรับเปลี่ยนค่านิยมการอ่านก่อนเป็นอันดับแรก

ประเด็นเสวนาสุดท้ายคือ “เสริมศักยภาพวัฒนธรรมการอ่าน: มุมมองจากบรูไน” โดย เนลลี่ ดาโต๊ะ พากูดะ ฮาจจี ซันนี่ ประธานสมาคมห้องสมุดบรูไน ได้เล่าถึงความพยายามในการปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่านในประเทศได้อย่างน่าสนใจว่าเป้าหมายของบรูไนคือ พัฒนาประชากรให้กระตือรือร้นที่จะหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพวัฒนธรรมการอ่านให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2035 โครงการส่งเสริมการอ่านต่างๆ ของบรูไนนั้นมีแนวโน้มที่ดี ทุกๆ หน่วยงานในประเทศให้การสนับสนุน พระมหากษัตริย์บรูไนก็ให้ความสำคัญมาก แต่ก็ยังต้องพัฒนาต่อไปอีกเรื่อยๆ

ปัญหาและข้อจำกัดด้านหนังสือของบรูไนคือ มีโรงพิมพ์ขนาดเล็กและมีอยู่เฉพาะในหน่วยงานของรัฐเท่านั้น สามารถพิมพ์หนังสือได้เพียง 20 เรื่อง/ปี อีกทั้งความเคร่งครัดทางการเมือง ศาสนา ทำให้ไม่สามารถนำเข้าหนังสือที่มีความอ่อนไหวต่อเรื่องดังกล่าวมาในประเทศได้ ด้วยความขาดแคลนหนังสือนี้จึงทำให้การพัฒนาการอ่านนั้นล่าช้า

 เนลลี่ ดาโต๊ะ พากูดะ ฮาจจี ซันนี่
เนลลี่ ดาโต๊ะ พากูดะ ฮาจจี ซันนี่

Dewan Basaha dan Pustaka Brunei เป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุด และมีหนังสือมากที่สุดในปัจจุบัน ห้องสมุดส่วนใหญ่ขอบรูไนจะอยู่ตามมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา และหน่วยงานของรัฐ รวมกว่า 100 แห่ง แล้วตอนนี้ก็กำลังผลักดันให้มีห้องสมุดในมัสยิดด้วย

สิ่งสำคัญคือปลูกฝังให้เด็กเล็กรักการอ่าน เพราะเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้และส่งผลต่อนิสัยการอ่านในอนาคต ห้องสมุดบรูไนจึงมีหนังสือสำหรับเด็กค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหนังสือที่ช่วยเสริมสร้างทักษะด้านต่างๆ จนผู้ใหญ่คิดว่าการเข้าห้องสมุดคือการอ่านหนังสือของเด็กๆ เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงก็มีหนังสือสำหรับผู้ใหญ่เช่นเดียวกัน

ปัญหาหนังสือราคาแพง พ่อแม่ไม่เห็นความจำเป็นของการอ่าน ห้องสมุดไม่สนับสนุนและประชาสัมพันธ์ให้รักการอ่าน ฯลฯ และสิ่งสำคัญที่สุดคือนักเรียนจะอ่านหนังสือเพื่อสอบเท่านั้น หากเรียนจบแล้วก็จะไม่อ่านหนังสืออีกต่อไป

การสร้างวัฒนธรรมการอ่านของบรูไน เช่น การจัดบุ๊กแฟร์ เทศกาลการอ่าน การประชาสัมพันธ์ให้รักการอ่าน จัดตั้งกลุ่มเกี่ยวกับการอ่านในโซเชียลมีเดีย จัดตั้งบุ๊คคลับ การทำกิจกรรมร่วมกับ NGOs และมีวิชาการใช้ห้องสมุดเป็นวิชาบังคับภาคการศึกษาปริญญาตรี หากไม่ผ่านก็จะไม่จบการศึกษา

ปัจจุบันบรูไนให้ความสำคัญและส่งเสริมการอ่านเป็นอย่างมาก มีกิจกรรมเกี่ยวกับหนังสือและการอ่านตลอดทั้งปี แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและข้อจำกัดทางด้านศาสนาและการเมืองของประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาในหนังสือสำหรับประชาชน เพื่อไม่ให้เป็นภัยความมั่งคงแห่งรัฐและศาสนา

จากที่ทั้ง 3 คน 3 ประเทศ ได้เล่าถึงสถานการณ์ด้านการอ่านและการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียนข้างต้นจะเห็นว่า ปัญหาร่วมกันของเราคือปัญหาความยากจน การขาดแคลนทรัพยากรหนังสือ การประชาสัมพันธ์ และข้อจำกัดจากรัฐบาล ส่งผลให้การส่งเสริมการอ่านและการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นไปอย่างล่าช้า แม้ว่าจะได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่จาก NGOs ทั้งภายในและต่างประเทศ แต่หากไร้การสนับสนุนจากรัฐบาล ทุกอย่างย่อมไร้ความหมาย

ส่วนในวันสุดท้ายวิทยากรทั้งสามก็มาร่วมอภิปรายในเรื่อง “สู่ความเป็นพลเมืองอาเซียน ด้วยหนังสือและการอ่าน” โดยมี ดร.เอ็น วรประสาท ผู้บริหารสูงสุดของคณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ (NLB) ร่วมอภิปรายเพิ่มด้วย

 ดร.เอ็น วรประสาท
ดร.เอ็น วรประสาท

ดร.เอ็นกล่าวถึงปัญหาการอ่านของสิงคโปร์ว่า แม้การส่งเสริมการอ่านจะประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่โลกออนไลน์ที่เข้ามาในสังคมทำให้การอ่านของคนรุ่นใหม่อยู่นอกห้องสมุด ผู้สูงอายุเข้าห้องสมุดมากขึ้น ทำให้รูปแบบกิจกรรมการอ่านเน้นที่ผู้สูงอายุมากกว่า และด้วยความแตกต่างกันของเรื่องคุณภาพการอ่านของแต่ละประเทศในภูมิภาค การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะเป็นเช่นไร

ดร.ถั่นจากพม่ากล่าวว่า ความท้าทายอยู่ที่เรื่องของภาษาและประวัติศาสตร์ชาติ แต่เราสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้หมดไปและเป็นพลเมืองอาเซียนที่ดี เช่นเดียวกับคาล จากกัมพูชา ที่เห็นด้วยกับการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์เพื่อไม่ให้ทำผิดซ้ำรอยเดิมอีก และหาทางร่วมมือกันสร้างความเข้าใจในความต่างของกันและกัน ในขณะที่ ดร.วรประสาทจากสิงคโปร์ย้ำว่า เราไม่ควรเพ่งเล็งที่ความแตกต่าง แต่ควรมองที่ความเหมือนกันระหว่างอาเซียน เช่น ความเชื่อ ทัศนคติ หรือมรดกทางวัฒนธรรมที่ตกทอดสืบกันมา เพราะเราต่างเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ขมขื่นกันมามากพอแล้ว ขณะที่เนลลี่ก็เสริมว่า ขณะนี้เรากำลังจะกลายเป็นชุมชนเดียวกัน แต่เรายังมองแต่ความแตกต่างกันอยู่ ขอให้เรานึกถึงสันติและเป้าหมายในการร่วมมือกันในครั้งนี้

ส่วนประเด็นเมื่อประวัติศาสตร์มีปัญหาแล้วเราจะเปลี่ยนแปลงเนื้อหาให้อาเซียนเข้าใจเหมือนกันอย่างไร

ตัวแทนจากกัมพูชาให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาเมื่อรัฐมนตรีประชุมกันเรื่องการศึกษา ประเด็นที่เหมือนกันก็คือ ประชาชนในประเทศมักจะละเลยเรื่องการอ่าน และเนื้อหาแบบเรียนไม่ทันสมัย ทำให้ความรู้ความสามารถของนักเรียนไม่ก้าวทันโลก ในขณะที่ตัวแทนจากพม่าเสนอว่า แต่ละประเทศน่าจะหาหนังสือดีๆ ของตนออกมาแล้วแปลให้ประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้อ่าน และหากอยากให้มีหนังสือของอาเซียนขายมากๆ ควรเริ่มจากความเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศอาเซียน โดยนำข้อมูลทั้งหมดมารวมกันแล้วเขียนเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะปัจจุบันเรามีแต่หนังสือเกี่ยวกับประเทศอาเซียนแยกๆ กัน แต่ยังไม่มีหนังสือที่เขียนเรื่องราวร่วมของกลุ่มอาเซียน

ดร.เอ็นกล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ความเหมาะสมในการจัดหนังสือให้เด็กแต่ละระดับชั้นการเรียน ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละประเทศ แต่ควรมีหนังสือเกี่ยวกับอาเซียนไว้ในห้องสมุดเพื่อให้เด็กได้ศึกษาประเทศสมาชิกอื่นๆ ด้วย และหากเด็กไม่สนใจหนังสือเหล่านั้น ก็ควรมองจากข้างบนสู่ข้างล่าง อย่าเพิ่งไปคิดว่าเด็กจะสนใจไหม แต่เราคิดว่าจะทำกิจกรรมใดเพื่อดึงเด็กให้มาเข้าร่วมกับเราให้ได้ แล้วความสำเร็จจะตามมา

สุดท้ายคือเรื่องของ “อินเทอร์เน็ตกับการอ่านของพลเมืองอาเซียน” ตัวแทนแต่ละประเทศต่างก็มีปัญหาที่แตกต่างและข้อจำกัดที่ต่างกัน สำหรับพม่านั้น การอ่านทางอินเทอร์เน็ตทำให้ไม่รู้ว่าเด็กๆ เขาอ่านอะไรอยู่ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่กว่า 70% ของพม่ายังเป็นชนบทที่ห่างไกลอินเทอร์เน็ตยังไปไม่ถึง และคงจะยังเป็นเช่นนี้ไปอีกนาน

ด้านกัมพูชามีความเห็นว่า การมีอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องที่ดี แต่บางประเทศก็มีข้อจำกัดในการเข้าถึง เช่น มีแต่เฉพาะคนชั้นสูงหรือชั้นนำเท่านั้นที่มีอินเทอร์เน็ต ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมใดๆ แล้ว แต่วัตถุประสงค์การมีอินเทอร์เน็ตของเราคือ เพื่อคนชายขอบที่ขาดแคลน

ในขณะที่สิงคโปร์มองว่า อินเทอร์เน็ตไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แต่เราก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับอนาคต และต้องทำให้คนรักการอ่านหนังสือก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะมาถึง มิฉะนั้นเด็กๆ จะหันไปสนใจสิ่งอื่นบนอินเทอร์เน็ตแทนการหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพในตัวเอง

ปิดท้าย ตัวแทนจากบรูไนมองว่า อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่บนคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่โทรศัพท์มือถือก็สามารถเข้าถึงได้เช่นกัน อีกทั้งประโยชน์ของโซเชียลมีเดียยังช่วยลดช่องว่างในการสื่อสารแคบลง ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ฯลฯ ดังนั้นบรรณารักษ์ต้องมีความรู้เรื่องโชเซียลมีเดีย และสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

“เริ่มต้นการอ่านจากการแลกเปลี่ยนอีเมล์กันเพื่อแบ่งปันหนังสือกันอ่านไหม” คาล คานน์ กล่าวทิ้งท้าย

จากการประชุมครั้งนี้ทำให้เรามองเห็นถึงปัญหาของแต่ละประเทศ และการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนร่วมกันผ่าน “การอ่าน” ที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการศึกษา ทำความเข้าใจแต่ละประเทศ เพื่อความร่วมมือกันอย่างสันติ เข้าใจซึ่งกันและกัน และพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สัมผัสอัตลักษณ์เพื่อนบ้านอาเซียนกับโครงการ “หนังสือเดินเท้าเรื่องเล่าเดินทาง”

กิจกรรมเรียนรู้ประเทศอาเซียน
กิจกรรมเรียนรู้ประเทศอาเซียน

อุทยานการเรียนรู้ TK park จัดโครงการ “หนังสือเดินเท้า เรื่องเล่าเดินทาง (TK Mobile Library)” ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร นำกิจกรรม “พิพิธอาเซียนสัญจร” ลงพื้นที่ให้ประชาชนร่วมเรียนรู้หลากหลายแง่มุมของเพื่อนบ้านและประเทศสมาชิกอาเซียน สัมผัสอัตลักษณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม โดยล่าสุดสัญจรมาที่ สวน 60 พรรษา สมเด็จพระบรมราชินีนาถ (ร่มเกล้า)

โดยมีกิจกรรมหลากหลายทั้งรู้จักเพื่อนบ้านอาเซียน สัมผัสอัตลักษณ์ของชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ, เรียนรู้สถานที่สำคัญและสถานที่ท่องเที่ยวของชาติอาเซียน, สัมผัสภูมิปัญญาด้านการทำอาหารของชาวอาเซียน, การแสดงวัฒนธรรมอาเซียนจากเยาวชนไทย และสนุกกับนิทานอาเซียน นิทานพื้นบ้าน เพื่อสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรม ความเชื่อดั้งเดิมของชุมชน เชื่อมโยงความสัมพันธ์

“เปมิกา มีภักดี” ผู้เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า เด็กได้รับความรู้เพิ่มขึ้นจากการมาร่วมกิจกรรมการเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการส่งเสริมเรื่องการอ่าน แสดงความเห็นและแสดงออกมากขึ้น รวมทั้งยังได้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนด้วย ช่วยเปิดโลกของเด็กให้กว้างขึ้น โดยนอกจากเด็กจะได้รับความรู้แล้ว สำหรับผู้ปกครองก็ถือเป็นการรื้อฟื้นความรู้ที่เคยเรียนมาอีกครั้ง

ด.ญ.สมฤทัย ด้วงทอง (ขวา), ด.ญ.สุพัฒน์ตา ครุธแก้ว(ซ้าย)
ด.ญ.สมฤทัย ด้วงทอง (ขวา), ด.ญ.สุพัฒน์ตา ครุธแก้ว(ซ้าย)

เช่นเดียวกับ “สุดใจ ภูพานแดง” ผู้พาลูกมาร่วมกิจกรรม กล่าวว่า กิจกรรมที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนยังมีไม่มากนัก ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เพราะเรากำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นอกจากผู้ปกครองจะได้รับความรู้เพิ่มเติมแล้ว เด็กๆ ก็ยังได้ความรู้และได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ด้วย ซึ่งหากมีกิจกรรมอย่างนี้บ่อยๆ ก็เป็นผลดีกับเด็กๆ

ส่วน ด.ญ.สมฤทัย ด้วงทอง และ ด.ญ.สุพัฒน์ตา ครุธแก้ว สองเพื่อนซี้ที่จูงมือมาร่วมกิจกรรม บอกว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้ที่ร่วมกิจกรรม ทำให้รู้จักประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเพิ่มเติมจากที่เคยเรียนในห้องเรียน เช่น เรื่องดอกไม้ประจำประเทศทั้ง 10 ประเทศ

โครงการหนังสือเดินเท้า เรื่องเล่าเดินทาง (TK Mobile Library) กับกิจกรรม “พิพิธอาเซียนสัญจร” ครั้งต่อไปพบกันที่ สวนสมเด็จย่า (พระราม 2) วันเสาร์ที่ 12 และวันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม 2555, สวนพระนคร (ลาดกระบัง) วันเสาร์ที่ 19 – วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม 2555 และ สวนลุมพินี วันเสาร์ที่ 26 – วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม 2555 ตั้งแต่เวลา 13.00-18.00 น.