ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > คัดเลือกประธานบอร์ด ธปท. : จุดเปลี่ยน (เสี่ยง) แบงก์ชาติ (3)

คัดเลือกประธานบอร์ด ธปท. : จุดเปลี่ยน (เสี่ยง) แบงก์ชาติ (3)

10 พฤษภาคม 2012


วันที่ 14 พฤษภาคม 2555 นี้ เป็นนัดสำคัญสำหรับคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ที่จะชี้ขาดว่าใครจะได้รับคัดเลือเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนที่สอง

ถึงตอนนี้ชื่อ ดร.โกร่งยังมาแรงจนมีการวิเคราะห์กันหลากหลายมุมหาก ดร.โกร่งเข้ามานั่งเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ บ้างก็ว่าแบงก์ชาติคงป่วนเพราะทัศนคติที่เห็นต่าง บ้างก็ว่ามีเวลาแค่ปีกว่าทำอะไรไม่ได้มาก บ้างก็ว่ากฎหมายแบงก์ชาติเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี บ้างก็ว่าน่าเป็นห่วงถึงขนาดบอกว่าไม่ใช่แค่จุดเปลี่ยนแบงก์ชาติ แต่อาจกลายเป็นจุดเสี่ยง (เสื่อม) ของแบงก์ชาติเลยทีเดียว

ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มีความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้ ดร.โกร่งจะเห็นไม่สอดคล้องกับแบงก์ชาติ แต่พอเข้าไปทำหน้าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติอาจมีความระมัดระวังมากขึ้น เพราะเมื่อเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติแล้ว การจะเอาเรื่องภายในมาวิจารณ์หรือเปิดเผยอาจทำได้ยากกว่าเมื่อเทียบกับตอนอยู่วงนอก ที่อาจวิจารณ์ได้ง่ายและคล่องตัวกว่า

ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่มา: www.sportradiothai.com

อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์มองว่า เรื่องของแบงก์ชาติที่ผ่านมาก็ยังมีคำถามและข้อสงสัยว่า สิ่งที่ทำถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ และต้องยอมรับว่าแบงก์ชาติก็ไม่ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ในหลายๆ เรื่อง เพราะฉะนั้น ได้คนที่มองต่างกันก็น่าจะทำให้รอบคอบมากขึ้น

นอกจากนี้ ดร.สมภพเชื่อเหมือนหลายๆ คนว่า แบงก์ชาติมีภูมิคุ้มกันตัวเองมาก คือ มี “กฎหมาย” และ “ทุนทางสังคม” (social capital) โดยกฎหมายแบงก์ชาติมีกลไกต่างๆ ที่แยกกระบวนการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ให้คณะกรรมการแต่ละด้านรับผิดชอบ ถ้าเป็นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนกับอัตราดอกเบี้ย ก็มีคณะกรรมการนโยบายการเงิน หากเป็นเรื่องสถาบันการเงินก็มีคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน เว้นแต่รัฐบาลต้องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแบงก์ชาติ แต่คำถามคือรัฐบาลกล้าทำหรือไม่

ทุนทางสังคมของแบงก์ชาติหรือทุนทางสังคมของ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ หรือทุนทางสังคมของ ดร.โกร่ง เชื่อว่าจะจับตามองการเคลื่อนไหวครั้งนี้ และอาจสู้กันด้วยทุนทางสังคมองแต่ละฝ่าย

“ไม่คิดว่าเมื่อ ดร.โกร่งเข้ามาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติแล้วจะมีนัยสำคัญกดดันทำให้แบงก์ชาติแตกต่างไปจากปัจจุบันอย่างที่เป็นห่วงกัน เช่น เรื่องทุนสำรองที่เป็นห่วงกันมาก ผมไม่เชื่อว่า ดร.โกร่งจะมีอธิพลต่อการตัดสินใจในเรื่องนี้ เว้นแต่จะชี้นำกรรมการท่านอื่นให้เห็นด้วย” ดร.สมภพกล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร.สมภพยอมรับว่า คนในแบงก์ชาติอาจกลัวเมื่อ ดร.โกร่งเข้ามาเป็นประธานบอร์ด เพราะคณะกรรมการแบงก์ชาติมีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานได้ และสามารถเปิดรับสมัครบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นผู้บริหารแบงก์ชาติได้ แต่ย้ำว่า ดร.โกร่งคนเดียวไม่สามารถผลักดันได้ ต้องชี้นำให้กรรมการท่านอื่นเห็นด้วย ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตามองคือ กรรมการบอร์ดแบงก์ชาติเป็นใครบ้าง

ด้าน ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเห็นว่า ในการคัดสรรผู้ที่มีความเหมาะสมมาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ กระบวนการสรรหาต้องเป็นไปตามเนื้อผ้า ไม่ใช่มาจากวาระนอกกระบวนการ คือ ต้องไม่เล่นพรรคเล่นพวกหรือใช้อธิพลการเมือง

ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

โดยตามหลักการคัดสรรไม่ควรจะเกิดจากวาระนอกระบบ ถ้าเกิดขึ้นจะทำให้ความน่าเชื่อถือของแบงก์ชาติตกต่ำ ผลเสียก็จะเกิดขึ้น มีความผิดพลาดทางนโยบายการเงิน แต่จะผิดมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน อย่างไรก็ตาม ถ้านโยบายการเงินมีความสุจริตในการทำงาน วิเคราะห์และพิจารณาอย่างรอบคอบก็ไม่มีปัญหา

สำหรับภาพลักษณ์ ดร.วีรพงษ์ ที่อาจมองว่ามีภาพอิทธิพลทางการเมืองเข้ามา ทำให้หลายคนเป็นห่วงหากได้รับคัดเลือกเข้ามาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาตินั้น ดร.ตีรณมีความเห็นว่า เป็นหน้าที่ของ ดร.วีรพงษ์ต้องพิสูจน์ให้เข้าใจ

เพราะในที่สุดหาก ดร.วีรพงษ์ดำเนินแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป โดยหลักการก็อาจเกิดความผิดพลาด ความบกพร่อง เนื่องจากอาจมองข้ามบางจุดไปจนเกิดปัญหา เช่น ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง อัตราแลกเปลี่ยนอ่อน เป็นสูตรสำเร็จ ก็จะนำไปสู่ความเสียหายได้ และเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ แต่ในหลักการที่ดี ถ้าแต่ละจุดมีการพิจารณาให้รอบคอบและพิจารณาอย่างสุจริต ก็จะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ดังนั้น การทำหน้าที่แต่ละจุดต้องไม่แทรกแซงกัน

“แนวคิดที่ต่างกันไม่ใช่แนวคิดที่ผิด ขึ้นอยู่กับสุจริตในการทำหน้าที่หรือไม่ ถ้าสุจริตก็จะรอบคอบ ถ้าไม่สุจริต อยากได้อย่างที่จะได้หรือเอาใจนักการเมืองโดยไม่คำนึงถึงหลักสุจริต ก็จะนำไปสู่ความเสียหายได้” ดร.ตีรณกล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร.ตีรณตั้งข้อสังเกตว่า หาก ดร.วีรพงษ์เข้ามา หากจะเปลี่ยนนโยบายการเงิน อาจขึ้นอยู่กับช่วงระยะเวลา แต่ในระยะสั้น เชื่อว่าผู้ว่าการแบงก์ชาติคงต้องเตรียมข้อมูลให้ถูกต้องเที่ยงตรง เพื่อชี้แจงประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ ซึ่งอาจมีจุดยืนต่างจากแบงก์ชาติ

“จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไป ต้องติดตามดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งที่สำคัญตามมาหรือไม่ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงกรรมการคนอื่นในบอร์ดแบงก์ชาติ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกรรมการนโยบายการเงิน กรรมการนโยบายสถาบันการเงิน ก็อาจจะทำให้เกิดกระบวนการความคิดแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นอันตรายมาก” ดร.ตีรณกล่าว

เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนประธานบอร์ดแบงก์ชาติรอบนี้ไม่ธรรมดา จะเป็น “จุดเปลี่ยน” หรือ “จุดเสี่ยง” ล้วนมีความเป็นไปได้ทั้งนั้น

ใครเป็นใครในบอร์ดแบงก์ชาติ

ทั้งนี้ คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ดแบงก์ชาติ) จำนวน 12 คน ประกอบด้วยคนในแบงก์ชาติ 4 คน เป็นโดยตำแหน่ง 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกแบงก์ชาติ 6 คน นับรวมประธานบอร์ดแบงก์ชาติแล้ว ซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่จะครบวาระมีดังนี้

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ครบวาระ 1 เมษายน 2555 (ครบวาระแรกทั้ง 3 คน) ได้แก่

1. ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
2. นายนนทพล นิ่มสมบูรณ์
3. ดร.คณิศ แสงสุพรรณ

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ครบวาระ 24 มกราคม 2557 อีก 3 คน ได้แก่

1. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ (ครบ 2 วาระ )
2. นายศิริ การเจริญดี (ครบ 2 วาระ )
3. นายอำพน กิตติอำพน (ครบวาระแรก)

สำหรับ คณะกรรมการนโยบายการเงิน จำนวน 7 คน ประกอบด้วย คนในแบงก์ชาติ 3 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน

โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 คน จะครบวาระวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ได้แก่

1. นายณรงค์ชัย อัครเศรณี (ครบวาระแรก)
2. นายศิริ การเจริญดี (ครบ 2 วาระ)
3. นายอัศวิน คงสิริ (ครบวาระแรก)
4. นายอำพน กิตติอำพน (ครบ 2 วาระ)

ส่วน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน จำนวน 11 คน ประกอบด้วย คนในแบงก์ชาติ 3 คน กรรมการโดยตำแหน่ง 3 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 5 คน จะครบวารในวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ได้แก่

1. นายจรัมพร โชติกเสถียร
2. นางจารุพร ไวยนันท์
3. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ
4. นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์
5. นายอัชพร จารุจินดา

ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงของแบงก์ชาติที่จะเกษียณอายุในช่วง 1-2 ปีนี้ ได้แก่ นางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการแบงก์ชาติ เกษียณอายุ 30 กันยายน 2555 และนายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ รองผู้ว่าการแบงก์ชาติ เกษียณอายุ 30 กันยายน 2556

ทั้งนี้ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เกิดวันที่ 1 สิงหาคม 2486 จะมีอายุครบ 70 ปี ในปี 2556 เพราะฉะนั้น หากได้รับคัดเลือกแต่งตั้งเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ประมาณ 1 ปี 3 เดือน เนื่องจากกฎหมายกำหนดคุณสมบัติข้อหนึ่งของประธานบอร์ดแบงก์ชาติและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่าต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปี