ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่า ธปท. “ประสาร” แจงกองทุนมั่งคั่งตามนิยามแบงก์ชาติ – กับสิ่งที่ต้องเผชิญในภาวะปัจจุบัน

ผู้ว่า ธปท. “ประสาร” แจงกองทุนมั่งคั่งตามนิยามแบงก์ชาติ – กับสิ่งที่ต้องเผชิญในภาวะปัจจุบัน

19 พฤษภาคม 2012


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่ประเทศไทย
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่ประเทศไทย

ปมประเด็นประธานคนใหม่ของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีการคัดเลือกไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา และ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ได้คะแนนมากที่สุด ยังคงอยู่ในความสนใจของตลาดว่า เมื่อมีการทำงานร่วมกันท่ามกลางกรอบแนวคิดที่แตกต่างกัน ทิศทางของธนาคารกลางหรือแบงก์ชาติจะเป็นอย่างไร (อ่านคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท. (จบ): ไม่พลิกโผ “ดร.โกร่ง” ลอยลำ – เจาะลึกกลไกการแทรกแซง)

ต่อเรื่องนี้ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวในงานมันนี่เอ็กซ์โปเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมาว่า “เวลานี้ผมว่าอย่าไปกังวลเกินเหตุ ที่แบงก์ชาติมีระบบงาน มีโครงสร้างงาน แม้แต่ท่านเอง (ดร.วีรพงษ์) โดยลึกๆ ท่านมีเจตนาที่ดีต่อประเทศ ส่วนความเห็นที่ไม่ตรงกัน ผมตั้งความหวังว่าจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนข้อมูล แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และเมืองไทยตอนนี้ทำอะไรก็อยู่ในสายตาประชาชนอยู่แล้ว ก็รอจังหวะเวลาและขั้นตอนที่เหมาะที่จะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นกัน การที่ได้มีโอกาสฟังความเห็นที่ต่างก็จะเป็นประโยชน์ ทั้งหมดมีระบบ มีการเปิดเผยข้อมูล เรื่องการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้ (ตั้งกองทุนมั่งคั่งเพื่อนำไปลงทุนในโครงการสร้างพื้นฐาน) ผมอยากอธิบายทางเทคนิคเพราะอาจจะเกิดความเข้าใจผิดกันได้”

ดร.ประสารอธิบายเรื่องนี้ว่า จากความเข้าใจที่ว่าไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด จึงมีเงินทุนสำรองฯ เหลืออยู่ สามารถเอาไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้ ขออธิบายในเรื่องนี้ว่า ถ้าทางเทคนิคเริ่มต้นจากผู้ส่งออกไทยเอาสินค้าไปขายแล้วได้ดอลลาร์มา เวลาเอาเข้ามาในประเทศ เขาเอาดอลลาร์มาแลกเป็นบาท ซึ่งเม็ดเงินก้อนนี้เกิดจากการค้าขายโดยอยู่ในมือผู้ส่งออก เขาเอาไปลงทุนสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักร นั่นเป็นการเอาเม็ดเงินที่ได้กำไรจากการส่งออกไปลงทุน

และคนที่เข้าไปซื้อดอลลาร์จากผู้ส่งออก สมมติว่าเป็นแบงก์ชาติ โดยการเอาเงินบาทไปซื้อดอลลาร์ แต่แบงก์ชาติไม่ได้เป็นผู้ส่งสินค้าออก แบงก์ชาติไม่มีเม็ดเงินเพิ่ม แบงก์ชาติต้องออกพันธบัตรกู้เงินบาทมาจากตลาด แล้วเอามาซื้อดอลลาร์ ทำให้แบงก์ชาติมีดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ มีบาทเป็นหนี้สิน

“แบงก์ชาติไม่ได้มีเม็ดเงินพิเศษ เพราะมีสินทรัพย์ดอลลาร์ มีหนี้สินเป็นบาท แต่เม็ดเงินที่เกิดจากการค้าขายกำไรเป็นของผู้ส่งออก และเขาเอาไปลงทุนของเขาอยู่แล้ว ทีนี้จากคำสัมภาษณ์ ผมว่าอาจจะเข้าใจผิด คิดว่าแบงก์ชาติมีเงินสำรองเหลือ เพราะเกิดจากการค้าขายได้กำไร เกินดุลการค้า มันไม่ใช่ แบงก์ชาติไม่ใช่ผู้ส่งออก บัญชีแบงก์ชาติมันสมดุล ไม่มีเม็ดเงินพิเศษ แบงก์ชาติมีดอลลาร์ก็จริง แต่มันมีหนี้เป็นบาท เหตุเพราะต้องเอาเงินบาทไปซื้อดอลลาร์จากผู้ส่งออก ถามว่าเม็ดเงินที่ได้จากการค้าขาย (ของผู้ส่งออก) มันได้เกิดการลงทุนไปหรือยัง ตอบได้ว่ามันเกิดการลงทุนไปแล้ว เพราะมันเป็นเงินกำไรของผู้ส่งออก”

ดร.ประสารอธิบายต่อว่า “ถ้าอยู่ดีๆ หากรัฐบาลจะเอาดอลลาร์ไปโดยเข้าใจว่าเงินทุนสำรองฯ อันนี้เกิดจากการค้าขายทำให้เกินดุล ซึ่งไม่ใช่ เพราะแบงก์ชาติต้องเอาบาทไปซื้อ มันมีหนี้สินอยู่ ทีนี้ ถ้าเกิดเอกชนหรือรัฐอยากจะได้ดอลลาร์ก็เอาบาทมาซื้อ ตรงไปตรงมา แบงก์ชาติก็เอาดอลลาร์ให้ไป แล้วเอาบาทมาลดหนี้ แบงก์ชาติเป็นเพียงแต่เก็บรักษาดอลลาร์ ไม่ได้ค้าขาย แบงก์ชาติไม่ได้ขายสินค้าไปเพื่อให้เกินดุลการค้า คนที่มีเม็ดเงินจากการค้าขายจากการมีกำไรคือผู้ส่งออก”

ดังนั้น ที่บอกว่าแบงก์ชาติมีการค้าขายเยอะๆ มีการเกินดุลเยอะๆ จึงมีเม็ดเงินเหลือ ควรจะเอาไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพราะประเทศไทยมีการลงทุนน้อย พอฟังภาพอย่างนี้ ดูเป็นเหตุเป็นผล แต่เม็ดเงินที่เกิดจาการค้าขายนั้นผู้ส่งออกได้ไปแล้ว เพียงแต่เขาแปลงสกุลเงิน (ดอลลาร์เป็นบาท) ตรงนี้เส้นผมบังภูเขาอยู่ หากไม่ทำความเข้าใจตรงนี้อาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน เถียงกันไม่จบ

ดร.ประสารอธิบายต่อว่า ระบบบ้านเรามีกลไกอยู่แล้ว ถ้าคนเอาบาทมาซื้อดอลลาร์ก็ทำได้อยู่แล้ว ทุกวันนี้แม้เอกชนอยากเอาเงินไปลงทุนต่างประเทศ เขาเอาบาทมาแลกดอลลาร์ไปลงทุน หรือรัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงิน 350,000 ล้านบาท เอามาสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หากโครงการเขามีการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ เขาก็ไปเอาดอลลาร์จากแบงก์พาณิชย์ได้อยู่แล้ว จากนั้นแบงก์พาณิชย์มาเอาดอลลาร์ที่แบงก์ชาติโดยเอาบาทมาซื้อไป แบงก์ชาติซึ่งทำหน้าที่เก็บดอลลาร์ แต่มีหนี้สินเป็นบาท เพื่อให้คนแลกเปลี่ยนจากสกุลเงินหนึ่งไปสกุลหนึ่งได้

“แต่ประเด็นนี้เป็นปม คือ มีแนวคิดว่าจะมาเอาดอลลาร์จากแบงก์ชาติไปโดยไม่เอาบาทมาให้ ดังนั้น ถ้าจะเอาดอลลาร์จากแบงก์ชาติก็ต้องเอาบาทมาคืน ต้องเข้าใจในลอจิกในทางบัญชีให้ตรงกันก่อน”

ดร.ประสารกล่าวต่อว่า “ถ้าจะบอกว่าฉัน (รัฐบาล) มีเสียงข้างมาก ฉันจะแก้กฏหมายตามที่ฉันชอบ อันนี้น่ากลัวที่สุด เรื่องนี้มันเป็นกฎทั่วไป ใครจะกล้าเซ็น ผู้ว่าฯ ก็ไม่กล้าเซ็น กรรมการ ธปท. ก็ไม่กล้าเซ็น เพราะแบงก์ชาติดูแลอยู่ทั้งบัญชีทั้งสินทรัพย์และหนี้สิน อยู่ๆ เราไปเซ็นให้คนเอาสินทรัพย์ไปโดยไม่ลดหนี้สิน หรือโดยไม่ได้มาซื้อสินทรัพย์ ใครจะกล้าเซ็น ถ้าเอาบาทมาซื้อได้ เหมือนอย่างจีนหรือนอร์เวย์ทำ”

สำหรับจีนที่เขาตั้งกองทุนโดยใช้เงินสำรองฯ ซึ่งเขามีจำนวนมาก วิธีการคือ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังออกพันธบัตรดอกเบี้ย 4% ได้เงินหยวนมา แล้วเอาหยวนมาซื้อดอลลาร์จากธนาคารกลางจีนไปตั้งกองทุน CIC คือเอาหยวนมาซื้อดอลลาร์จากธนาคารกลางไป ธนาคารกลางก็เอาหยวนไปลดหนี้ที่ไปดูดซับดอลลาร์มา และกองทุน CIC เขามีความรับผิดชอบว่า แม้จะเอาดอลลาร์ไปลงทุนในกิจการต่างๆ หรือหุ้นต่างๆ บางปีผลประกอบการอาจจะขึ้น-ลง แต่ผู้จัดการกองทุนเขารู้ว่าเงินนี้มีต้นทุน ไม่ได้มาฟรีๆ มีดอกเบี้ยต้องจ่าย สิ้นปีเขาก็มีการประเมินผลงานว่ากำไรหรือขาดทุน

ดร.ประสารย้ำในประเด็นนี้ว่าต้องเข้าใจระบบบัญชี มันต้องมีทั้งหนี้สินและทรัพย์สิน 2 ข้างเสมอ

ส่วนแนวคิดที่แตกต่างกันในประเด็นเรื่องกรอบเงินเฟ้อ ดร.ประสารกล่าวว่า ความจริงตามกฎหมายมีกลไกอยู่แล้วว่า เมื่อถึงปลายปี คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องหารือกับรัฐมนตรีคลัง จากนั้นไปสู่ ครม. เพื่อกำหนดเรื่องเป้าหมายเงินเฟ้อ อย่างปี 2554 ตนไปหารัฐมนตรีคลังธีระชัย (ภูวนาถนรานุบาล) ตกลงว่าจะใช้เงินเฟ้อทั่วไปดีไหม แทนที่จะเป็นเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งรัฐมนตรีธีระชัยก็เห็นด้วย พอเสนอไป ครม. รองนายกฯ กิตติรัตน์มีคอมเมนต์ว่าใช้กรอบพื้นฐานดีกว่าใช้เงินเฟ้อทั่วไป ดังนั้นปีนี้สรุปว่าใช้กรอบเงินเฟ้อพื้นฐาน อันนั้นเท่ากับมีการตกลงระหว่าง กนง. กับรัฐบาลแล้ว

ดร.ประสารกล่าวต่อว่า ในเรื่องนี้กฎหมายได้วางสมดุลไว้ว่า เป้าหมายในการบริหารจัดการเงินเฟ้อ อำนาจสุดท้ายอยู่ที่รัฐบาล เพราะรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง กรอบเงินเฟ้อจะสูงจะต่ำแล้วแต่ตกลงกัน แล้วรับผิดชอบ แต่พอตกลงกันได้ว่าใช้พื้นฐานระหว่าง 0.5-3.0% แบงก์กลางรับมาปฏิบัติ โดยหลักสากลให้ธนาคารกลางมีอิสระในการใช้เครื่องมือ และมีจังหวะเวลา เพื่อบริหารให้เป็นไปตามเป้าหมาย ถ้าไม่บรรลุเป้าหมาย แบงก์ชาติต้องอธิบายเหตุผลโดยเปิดเผย และถ้าไม่บรรลุเป้าหมายเป็นเวลานาน รัฐมนตรีคลังกับ กนง. ต้องมาตกลงกันว่าจะปรับหรือไม่

“จะเห็นว่ากฎหมายวางสมดุลไว้ ความหมายอันนี้สำคัญมาก กฎหมายนี้ไม่ได้ให้แบงก์ชาติเป็นอิสระไปเสียทั้งหมด เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การจะกำหนดเป้าหมายเท่าไหร่ต้องให้ได้รับการอนุมัติจาก ครม. พอกำหนดได้แล้ว กฎหมายก็วางสมดุลให้อิสระในการใช้เครื่องมือและจังหวะเวลา เพราะอะไร เพราะเขาเห็นว่าตรงนี้จะขัดแย้งกับภาคการคลัง เพราะการคลังจะมีหนี้สาธารณะ แต่ละปีต้องจัดทำงบประมาณ ภาระใหญ่คือภาระดอกเบี้ย ภาระการคลังโดยธรรมชาติอยากให้ดอกเบี้ยต่ำ ก็สามารถลดภาระดอกเบี้ยลงได้ แต่เขาก็บอกว่าอย่างนั้นไม่ได้ ห้ามภาคการคลังครอบงำภาคธนาคารกลาง เพราะหากครอบงำได้ ดอกเบี้ยมันจะต่ำเสมอ ถูกไหม ซึ่งจะมีผลข้างเคียงทางอื่น เช่น อาจจะข้าวของแพง คนจะเอาเงินไปใช้ทางอื่น ไม่เกิดผลผลิต เงินเฟ้อก็ตามมา”

ดร.ประสารกล่าวต่อว่า หลักสากลเขาจะกลัวเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะประเทศที่เคยประสบปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงอย่างเยอรมันหรือสหรัฐอเมริกา เขาจะไม่ยอมให้ภาคการคลังมาครอบงำจังหวะเวลากับการใช้เครื่องมือของภาคธนาคารกลาง

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ตามแนวคิด ดร.วีระพงษ์ที่อยากให้ดอกเบี้ยลง โดยมองว่าดอกเบี้ยไทยไม่ควรต่างกับดอกเบี้ยสหรัฐมาก และนโยบายทำให้ค่าเงินบาทอ่อนให้ภาคส่งออกดีขึ้น ดร.ประสารกล่าวว่า อันนี้เป็นโมเดลที่ใช้กับอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ คือเอาบาทไปฟิกซ์กับดอลลาร์ ดอกเบี้ยจึงไปผูกกับอเมริกาด้วย เหมือนฮ่องกง ไม่สามารถใช้ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการทำนโยบายได้เลย เขาต้องใช้เคอเรนซี่บอร์ด ดังนั้นตัวแปรทั้งสองคืออัตราแลกเปลี่ยนกับอัตราดอกเบี้ย ทั้งคู่คือราคา พอเราไปผูกเข้ากับตัวหนึ่ง อีกตัวหนึ่งก็ต้องผูกไปด้วย แต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ไทยเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนมาใช้แบบยืดหยุ่น หากเราไปผูกดอกเบี้ยกับอเมริกา มันจะไม่ไปด้วยกัน

ดร.ประสารยกตัวอย่างว่า ในช่วง 2 ปีนี้ มีบางช่วงที่บาทแข็งกว่าดอลลาร์ ซึ่งตอนที่ตนเพิ่งเข้ามา ช่วงนั้นค่าเงินบาทแข็งมากเงินไหลเข้าประเทศ จาก 33 บาท/ดอลลาร์ มาเป็นประมาณ 30 บาท/ดอลลาร์ แต่ตอนนี้บาทอ่อน หากเราเอาอัตราดอกเบี้ยไปผูกกับอเมริกาอาจจะมีปัญหาได้ เครื่องมือทางเศรษฐกิจมหภาคจะไม่เหมาะสมกับเรา

“หลังวิกฤติซับไพรม์ เงินทะลักมาเอเชีย บาทเราแข็งมาก ตอนนั้นเราเลือกใช้เครื่องมือผสมผสานกัน 4-5 เครื่องมือ เพื่อทำให้ผลกระทบไม่รุนแรง เครื่องมือเศรษฐกิจมหภาค บางเครื่องมือเราใช้มาก บางเครื่องมือเราใช้น้อย หากไปทำอย่างนั้น เครื่องมือเราจะหายไป 2 ตัว”

ดังนั้น ต่อประเด็นที่ว่าดอกเบี้ยสูงจะทำให้เงินไหลเข้า ดร.ประสารมองว่า “ไม่จริง มันขึ้นกับปัจจัยอื่น อย่างดอกเบี้ยอเมริกา 0.25% ตอนนี้เงินไหลเข้าอเมริกามหาศาล และก่อนนี้ก็ไหลเข้ามหาศาล ทั้งๆ ที่อเมริกาขาดดุลการค้ามาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ขาดดุล 5-6% ของจีดีพี แต่ตอนนี้ดอลลาร์อ่อนทำให้ขาดดุลการค้าประมาณ 3% ของจีดีพี การที่อเมริกาขาดดุลและเขาอยู่ได้ ต้องมีเงินจากนอกอเมริกาเข้าอเมริกา ถามว่าคนที่เอาเงินเข้าอเมริกา ทั้งที่ดอกเบี้ยอเมริกาแค่ 0.25% ทำไมชาวโลกต้องเอาเงินเข้าสหรัฐ ซึ่งแบงก์กลางทั่วโลกทั้งไทยด้วยที่มีเงินสำรองฯ เยอะๆ เอาเงินเข้าสหรัฐ เพราะคนยังเชื่อมั่นว่าปลอดภัยและระยะยาวมีความมั่นคง”

ในทางกลับกัน ประเทศบราซิล ดอกเบี้ยนโยบาย 7-8 % ทำไมเงินไม่ทะลักไปทางนั้น ขณะที่ของไทยดอกเบี้ยนโยบาย 3% หรือทางแถบนี้ เกาหลี 3.25% อินโดนีเซียกว่า 4% ออสเตรเลีย 4 % ถามว่าหากเปรียบเทียบไทยกับอินโดฯ ทำไมเขาไม่เอาทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ของเขาเข้าอินโดฯ ทั้งหมด เพราะเขาต้องกระจายความเสี่ยงเหมือนกัน เขาไม่ได้ดูอัตราดอกเบี้ยอย่างเดียว เขาดูอัตราการเติบโตเศรษฐกิจด้วย

นอกจากนี้ ดร.ประสารได้กล่าวถึงเศรษฐกิจในขณะนี้ว่าสินเชื่อขยายตัวสูงมาก หากยิ่งไปลดดอกเบี้ยก็ยิ่งไปกระตุ้นสินเชื่อ อาจจะเกิดฟองสบู่ได้ ตอนนี้ต้องเกาะติดตัวเลขการขยายสินเชื่ออย่างใกล้ชิด ดังนั้น หากตัวเลขยังไม่แน่นอนและหากเรายังไม่เข้าใจเต็มที่ก็ต้องระวัง อย่าไปกระตุ้นมัน ในยามนี้ หากทุบดอกเบี้ยลงไปอีกยิ่งเหมือนใส่ฟืนเข้าไป

ดร.ประสารกล่าวต่อว่า เศรษฐกิจในประเทศมีการฟื้นตัวเร็วกว่าที่เราคาด ภาคการผลิตรถยนต์เต็มกำลังการผลิตแล้ว ขณะที่ภาคอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า กำลังการผลิตยังไม่เต็ม ดังนั้น หากมีอะไรมากระตุ้นเส้นดีมานด์ พ่อค้าก็ส่งผ่านไปที่ราคาได้ ตอนนี้ตัวที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มแน่ๆ คือค่าแรง ค่าขนส่ง แต่ถ้าหากยังไงๆ คนต้องซื้อ เพิ่มราคาแน่ เป็นแรงกดดันว่ามีความเสี่ยงเงินเฟ้อจะมา แต่อีกกระแสหนึ่งเศรษฐกิจโลกปั่นป่วนมาก โดยเฉพาะยุโรป จะลามไหมก็ต้องดูเหมือนกัน แบงก์ชาติต้องรักษาบาลานซ์ระหว่างข้างนอกอาจจะซบเซา แต่ข้างในดูจะดีขึ้น

“แต่โชคดีที่ภาคเอกชนเราเก่ง กระจายคู่ค้าไปอเมริกา 10 % ไปญี่ปุ่น 10% ไปยุโรป 10 % ซึ่ง 3 ตัวนี้แต่ก่อนรายละเกือบ 25% ตอนนี้รวมแล้วแค่ 30% นอกจากนี้ส่งออกไป Non G3 ประมาณ 70% แบ่งเป็นจีน 11% อาเซียน 26% ที่เหลือเป็นที่อื่นๆ เที่ยวนี้ต้องขอบคุณภาคเอกชนที่ปรับตัวมาก และโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นอุตสาหกรรมที่แข่งในตลาดโลกได้”