ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “เดชา ศิริภัทร” ปราชญ์ชาวนา (จบ): “ขวัญสุพรรณ” ต้นแบบแนวคิด”ข้าว”เพื่อชาวสุพรรณ ชิมได้ ส.ค.นี้

“เดชา ศิริภัทร” ปราชญ์ชาวนา (จบ): “ขวัญสุพรรณ” ต้นแบบแนวคิด”ข้าว”เพื่อชาวสุพรรณ ชิมได้ ส.ค.นี้

30 พฤษภาคม 2012


ต้นข้าวในแปลงทดลองของมูลนิธิข้าวขวัญ
ต้นข้าวในแปลงทดลองของมูลนิธิข้าวขวัญ

แนวคิดและการทำงานของอาจารย์ “เดชา ศิริภัทร” ภายใต้ “มูลนิธิข้าวขวัญ” และ “โรงเรียนชาวนา” กลายเป็นแหล่งพัฒนาพันธุ์ข้าวและสร้างชาวนาที่มีคุณภาพ ซึ่งน่าเสียดายที่รัฐบาลไม่ช่วยสนับสนุนอย่างจริงจัง ทั้งที่ปัญหาชาวนาก็คือปัญหาของประเทศ ถ้าสิ้นนาก็สิ้นชาติได้

แต่การแก้ปัญหาในระดับจังหวัดกำลังจะเป็นความหวังใหม่ของอาจารย์เดชา โดยขณะนี้คนสุพรรณบุรีเริ่ม “ตระหนัก” ถึงปัญหาชาวนา ปัญหาข้าวไม่มีคุณภาพ จึงจัดทำ “โครงการข้าวจังหวัด” คือ คนสุพรรณร่วมมือกันเพื่อสร้างพันธุ์ข้าวจังหวัดสุพรรณโดยเฉพาะ ซึ่งมีความคิดหลักๆ คือ ข้าวที่ปลูกที่สุพรรณ สีที่สุพรรณ และคนสุพรรณประมาณ 8 แสนคนจะกินเองให้หมดก่อน เหลือแล้วถึงจะส่งไปขาย

“ที่นี่เราแก้ปัญหาด้วยการทำระดับจังหวัด เอาแค่จังหวัดรอดก่อน ซึ่งจังหวัดเรามีโครงการข้าวจังหวัด ถ้าทำสำเร็จคนสุพรรณจะรอด”

อาจารย์เดชาบอกว่า คนสุพรรณปลูกข้าวแต่ละปีได้ผลผลิตเกือบ 2 ล้านตัน เพราะฉะนั้น มีข้าวให้บริโภคในจังหวัดและเหลือขายอยู่แล้ว ตอนนี้คนสุพรรณประมาณ 8 แสนคนขายข้าวออกต่างจังหวัดไปหมด ทั้งข้าวเปลือก ข้าวสาร ส่วนใหญ่ขายไปกรุงเทพฯ เขาก็เอาไปส่งออก เอาไปขายเป็นข้าวถุงบ้าง เสร็จแล้วคนสุพรรณก็ซื้อข้าวถุงที่ส่งมาจากกรุงเทพฯ กิน วิธีนี้ทำให้คนสุพรรณเสียเปรียบทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะขายข้าวถูกแต่ไปซื้อข้าวแพงกิน แถมคุณภาพก็ไม่ดี และไม่รู้ว่าแหล่งผลิตมาจากไหน วิธีการผลิตเป็นอย่างไร ซึ่งอันตราย

“เพราะฉะนั้น ถ้าปลูกข้าวที่สุพรรณ สีข้าวที่สุพรรณ และกินที่สุพรรณ เมื่อเหลือจากนั้นค่อยส่งไปขาย แบบนี้คนสุพรรณจะรอด และจะได้กินข้าวดี ราคาถูก ปลอดภัย เพราะรู้แหล่งที่มา และเงินก็หมุนเวียนอยู่ในจังหวัด ที่เหลือถึงจะขายออกข้างนอกไป แต่ถ้าขายข้าวออกไปหมด แล้วไปซื้อข้าวข้างนอกมากิน คนสุพรรณจะไม่รอด”

ทั้งนี้ ที่มาที่ไปของโครงการข้าวจังหวัดนั้น อาจารย์เดชาเล่าว่ามูลนิธิข้าวขวัญถูกชักชวนเข้าไปร่วมตอนปี 2543 แต่โครงการนี้ริเริ่มทำมาก่อนนานแล้ว จำไม่ได้ว่าเขาเริ่มมาตั้งแต่เมื่อไร ผู้ริเริ่มคิดโครงการนี้ขึ้นมาคือ “สภาอุตสาหกรรมจังหวัด” ผู้ที่ผลักดันคือ “สมาคมโรงสีจังหวัดสุพรรณ” ซึ่งอยู่ใต้ร่มของสภาอุตสาหกรรมจังหวัด

โดยสมาคมโรงสีฯ ผลักดันให้มีข้าวจังหวัดเนื่องจากต้องการให้คนสุพรรณได้กินข้าวสุพรรณ โรงสีจะได้ขายข้าวถุง และจะได้กำไรมากกว่าแค่รับจ้างสีข้าวส่งไปกรุงเทพฯ ซึ่งถูกกดราคา แต่โครงการนี้ทำมานานแล้วไม่สำเร็จเนื่องจากพันธุ์ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวนาปรัง ซึ่งมีคุณลักษณะหอม นิ่ม แต่แฉะ หรือไม่ก็แข็ง กระด้าง ไม่อร่อย ทำให้ผู้บริโภคไม่ซื้อกิน แม้แต่ชาวนาที่ปลูกข้าวเองก็ไม่กินเหมือนกัน เพราะไม่อร่อย และมีสารเคมีด้วย

“โครงการข้าวสุพรรณไม่สำเร็จ คนสุพรรณไม่กินข้าวแบบนั้น เพราะวัฒนธรรมการกินข้าวของชาวบ้านคือตักแกงราดข้าวแล้วคลุกกิน หรือไม่ก็คลุกข้าวกับน้ำพริก ดังนั้น ถ้าเป็นข้าวแฉะคลุกกับข้าวแล้วเละ ไม่อร่อย หรือถ้าแข็งไปก็กระด้างเป็นหิน ชาวบ้านก็ไม่กิน จึงต้องหาพันธุ์ข้าวที่ถูกจริตคนสุพรรณ ก็คือต้องเป็นพันธุ์ข้าวพื้นบ้านเท่านั้น”

แต่ปัญหาคือ ชาวนาไม่ปลูกข้าวพื้นบ้านที่ผู้บริโภคอยากได้ เพราะปลูกได้ปีละครั้งเดียว ให้ผลผลิตได้ 40 ถัง และต้นข้าวสูง ปัญหาที่ว่านี้ไม่มีใครทำได้ เพราะโรงสีก็ทำไม่ได้ กรมการข้าวก็ทำไม่ได้ จนกระทั่งสภาอุตสาหกรรมมาเชิญมูลนิธิฯ ไปร่วม เพราะรู้ว่ามูลนิธิข้าวขวัญมีพันธุ์ข้าว

อาจารย์เดชากล่าวว่า ที่มูลนิธิข้าวขวัญมีพันธุ์ข้าวที่ปรับปรุงแล้ว สามารถให้ผลผลิตเป็น 100 ถัง โดยไม่ต้องใช้ยาหรือสารเคมี และอร่อยเหมือนเดิม ทำให้ผู้บริโภคอยากได้ ชาวนาก็อยากปลูก แต่ปัญหาคือยังไม่มีคนซื้อ

“หลังได้ฟังคุณสมบัติของพันธุ์ข้าวที่เรามี โรงสีก็บอกว่า ถ้าแบบนี้เขาจะเข้ามาทำและซื้อไว้เอง จึงเริ่มทดลองคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ปรับปรุงแล้ว เพื่อใช้เป็นพันธุ์ข้าวเฉพาะจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ปลูกในสุพรรณ สีในสุพรรณ และคนสุพรรณกินเอง เมื่อเหลือจึงขายออกไป”

ตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ข้าวของมูลนิธิข้าวขวัญ
ตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ข้าวของมูลนิธิข้าวขวัญ

วิธีคัดเลือกพันธุ์ข้าว เริ่มจากเอาพันธุ์ข้าวลูกผสมที่มูลนิธิข้าวขวัญมีอยู่ 280 ตัวอย่าง หรือ 280 สายพันธุ์ แต่ไม่รู้ว่าชาวนาจะชอบแบบไหน จึงทดลองเอาไปปลูกในนาชาวบ้าน พอข้าวออกรวงก็ให้ชาวนาไปเลือกดูว่าต้นข้าวสูงขนาดไหน เมล็ดข้าวเป็นอย่างไร ผลผลิตได้เท่าไร ต้นข้าวแตกกอหรือไม่ เป็นโรคแมลงหรือไม่

เมื่อชาวนาเดินดูแล้วสามารถเลือกพันธุ์ข้าวได้ตามที่ชอบ แต่มีเงื่อนไขว่า จาก 280 ตัวอย่าง ให้เลือกได้ไม่เกิน 15 ตัวอย่าง เนื่องจากพันธุ์ข้าวมีจำนวนมาก ต้องเลือกที่ชอบจริงๆ เมื่อเลือกได้แล้วก็นำกลับไปปลูกที่หมู่บ้านตัวเอง

อาจารย์เดชากล่าวต่อว่า อย่างหมู่บ้านอู่ทอง เลือกไป 15 ตัวอย่าง แล้วไปปลูกใน 60 แปลง ตัวอย่างละ 4 แปลง ปลูกแบบวิจัย คือปลูกสลับกันจะได้ไม่ได้เปรียบกัน และปลูกโดยไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ห้ามฉีดยาฆ่าแมลง เมื่อถึงเวลาเกี่ยวก็เอาผลผลิตมาเฉลี่ยดูว่าได้ผลผลิตเท่าไร เป็นโรคกี่เปอร์เซ็นต์ ความสูงเท่าไร ล้มหรือไม่ล้ม การปลูกแบบนี้จะเห็นภาพชัด ว่าพันธุ์ข้าวที่คัดเลือกมาทั้งหมดเป็นอย่างไร

“หมู่บ้านอู่ทองเลือกไป 15 ตัวอย่าง ปลูกแบบปล่อยให้เพลี้ยกิน สู้กันเลยนะ ไม่ต้องช่วย ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ปรากฏว่าเหลือพันธุ์ข้าวที่ผ่านการคัดเลือก 4 ตัวอย่าง จาก 15 ตัวอย่าง แสดงว่าที่เหลือ 4 ตัวอย่าง ชาวบ้านเอาแน่ ปลูกอย่างไรก็ได้กิน”

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ที่อำเภอเมืองซึ่งเลือกพันธุ์ข้าวไป 15 ตัวอย่าง และทำวิธีเดียวกันกับหมู่บ้านอู่ทอง คัดเลือกแล้วเหลือ 6 ตัวอย่าง เพราะฉะนั้น สรุปได้ว่า จากพันธุ์ข้าว 30 ตัวอย่าง ผ่านการคัดเลือกเหลือ 10 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ชาวนาเลือกปลูกแน่นอน

แต่ผู้บริโภคจะกินหรือไม่ ถ้าผู้บริโภคไม่กินก็ไม่สำเร็จ ดังนั้นจึงมีการทดลองต่อด้วยการนำข้าว 10 ตัวอย่าง มาหุงให้ผู้บริโภคกินเป็นร้อยคน แล้วจดบันทึกใส่กระดาษว่าข้าวแต่ละตัวอย่างกินแล้วหอมไหม อร่อยไหม และจะซื้อไหม เพื่อเปรียบเทียบแล้วเลือกที่ดีที่สุด ปรากฏว่าเหลือ 5 ตัวอย่าง

“จริงๆ แล้วพันธุ์ข้าว 280 ตัวอย่าง ก็ผ่านการชิมมาแล้วเหมือนกัน โดยผมชิมเอง ซึ่งเลือกมาจากหลายๆ ตัวอย่างที่ทดลองไว้ แต่เลือกที่ดีกว่า มีให้เลือกเยอะมาก ก็เอาแค่ครึ่งเดียวพอ”

จากนั้นก็นำ 5 ตัวอย่างที่ผ่านการคัดเลือกไปให้โรงสีคัดเลือกอีกครั้งหนึ่ง โรงสีจะเลือกที่ต้นเยอะ คือ เป็นข้าวเปลือกแล้วได้ข้าวกล้อง 75% ขึ้นไป หรือได้เนื้อเยอะ เพราะจากข้าวกล้องจะเป็นข้าวสารได้เยอะด้วย และข้าวสารจะได้ราคามากที่สุด

อาจารย์เดชากล่าวว่า จากพันธุ์ข้าว 5 ตัวอย่าง โรงสีเลือกไว้ 3 ตัวอย่าง เพราะฉะนั้น จากพันธุ์ข้าว 280 ตัวอย่าง สุดท้ายเหลือ 3 ตัวอย่าง ซึ่งได้แก่ 1. พันธุ์ข้าวเหลืองอ่อน 2. พันธุ์ข้าวขาวตาเคลือบ และ 3. พันธุ์ข้าวเจ๊กเชยเบา ทั้ง 3 พันธุ์นี้ได้ประกาศเป็นข้าวจังหวัดแล้ว ภายใต้ชื่อ “ขวัญสุพรรณ”

เพราะฉะนั้น พันธุ์ข้าวเฉพาะของจังหวัดสุพรรณบุรี ภายใต้ยี่ห้อหรือตราขวัญสุพรรณ คือ ขวัญสุพรรณเหลืองอ่อน ขวัญสุพรรณขาวตาเคลือบ และขวัญสุพรรณเจ๊กเชยเบา

อาจารย์เดชาบอกว่า ก่อนจะได้ชื่อขวัญสุพรรณ ได้ให้คนในสุพรรณช่วยกันตั้งชื่อเป็นสิบๆ ชื่อ แล้วให้ซินแสที่มีคนนับถือมากเป็นผู้เลือกว่าชื่อไหนดี เหมาะกับโฉลกของสุพรรณ ทำแล้วรุ่งเรื่อง ร่ำรวย ยั่งยืน มีความสุข ซึ่งซินแสฟันธงมา 2 ชื่อ คือ ขวัญสุพรรณกับอีกชื่อหนึ่ง แต่พอไปจดชื่อที่กระทรวงพาณิชย์ ปรากฏว่า อีกชื่อหนึ่งมีคนใช้ไปแล้ว จึงเหลือชื่อเดียวคือขวัญสุพรรณ แต่ก็ดี เพราะเป็นชื่อจังหวัดด้วย

ตอนนี้ ข้าวทั้ง 3 พันธุ์ ภายใต้ยี่ห้อหรือตราขวัญสุพรรณ โรงสีต้องการทันที 400 ตัน แต่ปีแรกเรามีเมล็ดพันธุ์ปลูกได้แค่ 150 ไร่ และเป็นพันธุ์ขาวตาเคลือบ ซึ่งต้องใช้เงินประมาณ 1.6 ล้านบาท ในการซื้อข้าวมาแปรรูปเป็นข้าวถุง จึงมีการรวมระดมทุนออกหุ้นขายให้โรงสี ผู้บริโภค องค์กรต่างๆ ในสุพรรณ โดยระดมเงินขายหุ้น 100 หุ้น หุ้นละ 16,000 บาท

“ผมก็ถือไว้ 5 หุ้น จากการขายหุ้นระดมทุนได้เงิน 1 ล้าน 6 แสนบาท ก็ให้ชาวนาไปปลูก 150 ไร่ นี่กำลังปลูกอยู่ เดือนสิงหาคมนี้จะเกี่ยวได้ ก็จะเอามาสีใส่ถุงขายคนสุพรรณ แล้วเอาเงินมาแบ่งตามหุ้น ฤดูหน้าก็จะขยาย เพาะเมล็ดพันธุ์ให้มากขึ้น อาจขยายเป็นพันไร่ ปีถัดไปเป็นหมื่นไร่ เพราะมีเมล็ดพันธุ์มากขึ้น”

อาจารย์เดชาเล่าว่า ชาวนาที่ปลูกข้าว 3 พันธุ์ ภายใต้ยี่ห้อหรือตราขวัญสุพรรณจะได้สิทธิพิเศษ คือ โรงสีจะรับซื้อตันละ 16,000 บาท สูงกว่าราคาที่รัฐบาลรับจำนำตันละ 15,000 บาท และโรงสีจะจ่ายมัดจำให้อีก 2% คือ ถ้าใครปลูกข้าว 3 พันธุ์นั้น จะให้เงินมัดจำจ่ายไปก่อน 2% ของ 16,000 เพื่อรับประกันว่าโรงสีรับซื้อข้าวที่ปลูกแน่นอน

ทั้งนี้ ข้าวที่โรงสีจะรับซื้อมีเงื่อนไขว่า ให้ใช้ยาฆ่าหญ้ายาคุมหญ้าได้แค่ 7 วันแรก เพราะไม่มีคนดำนา ต้องใช้วิธีหว่าน จึงจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าหญ้า จากนั้นห้ามใช้เคมีทุกชนิด ใส่ได้เฉพาะปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ใช้ยาฆ่าหญ้า 7 วัน ไม่น่ามีปัญหาสารตกค้าง เพราะใช้ 7 วัน กว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตสารเคมีก็ถูกชะล้างหมดแล้ว

“จะขายข้าวกิโลละประมาณ 40 กว่าบาท ไม่เกิน 50 บาท เพราะต้นทุนการผลิตประเมินไว้อยู่ที่ 30 กว่าบาท แต่มั่นใจว่าผู้บริโภคกินอยู่แล้ว เพราะปลอดภัยแน่ อร่อยแน่ ไม่มีที่ไหน คือ หายาก เพราะเป็นข้าวพื้นบ้าน จะหอม ซึ่งข้าวเจ๊กเชยเบาและข้าวขาวตาเคลือบจะหอม หุงแล้วขึ้นหม้อ แต่ไม่นุ่ม ส่วนข้าวเหลืองอ่อนไม่หอม ถ้าใครจะกินหอมก็เลือก 2 พันธ์แรก”

อาจารย์เดชาบอกด้วยความมั่นใจว่า โครงการแบบนี้ คนสุพรรณทั้งผู้บริโภค โรงสี และชาวนา จะรอดอยู่ได้ และเมื่อการทำนาโดยไม่ใช้ปุ๋ยใช้ยาเคมี ได้รับความร่วมมือจากโรงสีกับชาวนาแล้วทุกอย่างก็ง่ายขึ้น

ถ้าโครงการนี้สำเร็จจะใช้เป็น “ต้นแบบ” การผลิตข้าวเพื่อขยายแนวคิดไปชักชวนจังหวัดใกล้เคียงด้วย เช่น จังหวัดพิจิตร ซึ่งปลูกข้าวเยอะมาก โดยจะให้พันธุ์ข้าวที่มูลนิธิข้าวขวัญมีอยู่ 280 สายพันธุ์ ให้ชาวนาที่จังหวัดพิจิตรเลือกแบบที่ชาวนาสุพรรณเลือก ชอบแบบไหนก็เลือกไปเลย จะเป็นพันธุ์เหมือนที่สุพรรณก็ได้ แล้วนำไปปลูกเป็นข้าวของจังหวัดพิจิตร คือไปทำเป็นยี่ห้อหรือตราจังหวัดพิจิตรได้เลย

“แต่ถ้าต้องการผสมพันธุ์ข้าวที่เขาชอบ เช่น นำพันธุ์ข้าวขาวกอเดียวมาผสมเป็นพันธ์เตี้ยแบบเรา ก็สอนให้ แต่ต้องใช้เวลา 10 ปีกว่าจะได้พันธุ์ข้าวมา ดังนั้นระหว่าง 10 ปีนี้ จะไปรอให้เสียเวลาทำไม ก็ใช้พันธุ์ข้าวเราไปก่อน เราไม่หวง”

เพราะฉะนั้น เดือนสิงหาคมนี้จะเป็นครั้งแรกที่คนสุพรรณมีข้าวจังหวัดที่กินอร่อย สะอาด ปลอดภัย ถูกจริตคนสุพรรณ ภายใต้ชื่อ “ขวัญสุพรรณ” ซึ่งปลูกที่สุพรรณ สีที่สุพรรณ และขายที่สุพรรณก่อน เหลือถึงจะส่งไปขายที่อื่น

กว่าจะได้ “เมล็ดพันธุ์ข้าว”

มูลนิธิข้าวขวัญ มีชื่อเสียงเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าว โดยเฉพาะการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ให้ผลผลิตและคุณภาพดีกว่าเดิม แต่กว่าจะได้เมล็ดข้าวพันธุ์ดีๆ มาเพาะปลูกต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี

อาจารย์เดชาเล่ากระบวนการพัฒนาพันธุ์ข้าวว่า ที่มูลนิธิข้าวขวัญทำมาเป็น 10 ปี และจริงๆ มีมากพันธุ์กว่า 280 สายพันธุ์ เราผสมพันธุ์ขึ้นมาเอง โดยคัดเอาเฉพาะข้อดีของพันธุ์ข้าวพื้นบ้านกับข้อดีของพันธุ์ข้าวสมัยใหม่มาผสมรวมกัน

ทั้งนี้ พันธุ์ข้าวพื้นบ้านมีคุณสมบัติที่ดี คือ อร่อย ทนโรค ไม่ต้องใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ส่วนข้าวต้นเตี้ยเป็นนาปรัง ได้ผลผลิตเป็น 100 ถัง คือคุณสมบัติข้าวพันธุ์สมัยใหม่

“เราก็เอา 2 อย่างมารวมกัน เพราะฉะนั้น ข้าวที่เราผสมจะได้ทุกอย่างเลย คือ อร่อย ทนโรค ปุ๋ยยาไม่ต้องใช้ แต่ได้ผลผลิต 100 ถัง ต้นเตี้ย และปลูกได้ทั้งปี มีครบทุกอย่าง”

แต่กว่าจะพัฒนาได้พันธุ์ข้าวใหม่ อาจารย์เดชาบอกว่า ต้องเริ่มตั้งแต่ฤดูแรกที่ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวมาเมล็ดหนึ่ง ก็หมดไปฤดูหนึ่ง แล้วเอาเมล็ดเดียวนั้นมาปลูก ก็ได้กอหนึ่งมี 2,000 – 3,000 เมล็ด ก็หมดไปอีกฤดูหนึ่ง เป็นฤดูที่สอง ต่อมาฤดูที่สามก็เอาเมล็ด 2,000 – 3,000 เมล็ด ไปปลูกทุกเมล็ด แล้วไปเลือกเอาต้นที่ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่เป็นโรค และดี พอเลือกได้แล้วฤดูที่สี่ก็เอาไปปลูกแบบนั้นอีก แล้วคัดให้ได้แบบนั้นอีกในฤดูที่ห้า หก เจ็ด แปด เก้า

“ฤดูที่เก้าถึงจะเป็นพันธ์แท้ ซึ่งจะกระจายเป็นหลายร้อยสายพันธ์จากพ่อแม่เดียวกัน ระหว่างนั้นก็ทดลองว่า ผลผลิตได้ไหม ต้นสูงได้ไหม กินอร่อยไหม แล้วคัดทิ้งอีกประมาณ 80% เหลือจากนั้นถึงจะเอาไปให้ชาวบ้านทดลอง อย่างพันธุ์เหลืองอ่อนเหลือประมาณ 80 สายพันธุ์ จากหลายร้อยพันธุ์”

อาจารย์เดชาอธิบายเพิ่มเติมว่า ที่มูลนิธิข้าวขวัญมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หลายคู่ แค่พ่อแม่เดียวกันหรือคู่เดียวก็สามารถมีลูกออกมาเป็น 80 สายพันธุ์ หรือ ถ้ามีพ่อแม่ 3 คู่ ก็มีลูกสายพันธุ์ใหม่เป็น 100 สายพันธุ์ คราวนี้แต่ละฤดูก็กลายไปอีก ตัวอย่างเช่น ปลูก 100 เม็ด พันธุ์ที่กลายไปอาจดีกว่าพันธุ์พ่อแม่ก็มี ก็เลือกพันธุ์ที่ดีไปปลูกก็จะกระจายไปอีก ทำให้มีมากขึ้นเรื่อยๆ ให้ชาวบ้านเลือกได้ตามที่ชอบ

“เทคนิคพวกนี้ไม่ยาก แต่ที่ยากคือต้องมีส่วนร่วม ทำอย่างไรให้คนมีส่วนร่วมเข้ามาตัดสิน ไม่ใช่ได้พันธุ์ข้าวมาแล้วแต่ไม่มีใครไปยุ่งกับมัน ก็เท่านั้น”