ThaiPublica > เกาะกระแส > ผ่ากลเกมภาษีเบื้องหลังอาณาจักร “แอปเปิล”

ผ่ากลเกมภาษีเบื้องหลังอาณาจักร “แอปเปิล”

12 พฤษภาคม 2012


 ที่มาภาพ: http://cultofmac.cultofmaccom.net
ที่มาภาพ: http://cultofmac.cultofmaccom.net

“แอปเปิล” ขึ้นแท่นเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงสุดในโลก โดยเพิ่งแตะหลัก 6 แสนล้านดอลลาร์ ไปเมื่อเดือนเมษายน 2555 และนับถึงสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีเงินสดในมือกว่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์ จนต้องประกาศจ่ายปันผลครั้งแรกในรอบ 17 ปี เพื่อลดแรงกดดันจากบรรดาผู้ถือหุ้น

แต่เบื้องหลังอาณาจักรหลายแสนล้านแห่งนี้ยังมีบางแง่มุมที่ไม่อาจมองข้าม นอกเหนือจากประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องบริษัทซัพพลายเออร์ ว่าจ้างคนงานชาวจีนในราคาถูกและใช้งานอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย แอปเปิลยังใช้กลเกมภาษี ซึ่งช่วยให้บริษัทจ่ายเงินส่วนนี้น้อยลงหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี

“นิวยอร์ก ไทม์ส” ตีแผ่เรื่องนี้โดยระบุว่า ทั้งที่แอปเปิลมีสำนักงานใหญ่ในเมืองคูเปอร์ติโน รัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ก็ตั้ง “แบรเบิร์น แคปิตอล” บริษัทลูกอีกแห่งในเมืองรีโน รัฐเนวาดา ซึ่งอยู่ใกล้กันแค่ 200 ไมล์ โดยสำนักงานแห่งนี้ทำหน้าที่รวบรวมกำไรและนำไปลงทุนโดยไม่ต้องเสียภาษี เพราะรัฐเนวาดาไม่เก็บภาษีนิติบุคคล ขณะที่แคลิฟอร์เนียเก็บอัตราภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 8.84%

แอปเปิลไม่ได้ออกแบบไอโฟนที่รีโน ไม่ได้ตั้งศูนย์บริการลูกค้าที่นี่ และไม่ได้ผลิตแมคบุ๊กหรือไอแพดในละแวกนี้ แต่สำนักงานเล็กๆ ในรีโนมีบทบาทเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนกลยุทธ์ของบริษัท ซึ่งช่วยให้เลี่ยงภาษีหลายร้อยล้านดอลลาร์ในรัฐแคลิฟอร์เนียและในอีก 20 มลรัฐ ได้อย่างถูกกฎหมาย

การตั้งสำนักงานในรีโน เป็นแค่ส่วนหนึ่งในวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายหลากหลายวิธี ที่แอปเปิลใช้ลดภาระภาษีทั่วโลกรวมมูลค่าปีละหลายพันล้านดอลลาร์ ทั้งการตั้งบริษัทในเครือในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำอย่างไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก และหมู่เกาะบริติช เวอร์จิ้น ซึ่งบางแห่งมีแค่ตู้ไปรษณีย์หรือสำนักงานนิรนาม

ถึงแม้บริษัทขนาดใหญ่แทบทุกแห่งพยายามจะจ่ายภาษีให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่สำหรับแอปเปิล การประหยัดรายจ่ายภาษีเป็นวิธีที่จูงใจ เพราะผลกำไรของบริษัทมหาศาล นักวิเคราะห์วอลล์สตรีทประเมินว่า แอปเปิลน่าจะโกยกำไรได้ 4.56 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณปัจจุบัน ทุบสถิติเมื่อเทียบกับธุรกิจสัญชาติอเมริกันด้วยกัน

กรณีของแอปเปิลสะท้อนวิธีการที่ยักษ์เทคโนโลยีรายอื่นๆ ใช้ประโยชน์จากระบบกฎหมายภาษีที่เขียนขึ้นตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรม และล้าสมัยไปแล้วสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลแบบทุกวันนี้ เพราะผลกำไรของบริษัทอย่างแอปเปิล, กูเกิล, อะเมซอน, ฮิวเลตต์-แพคการ์ด และไมโครซอฟท์ ไม่ได้มาจากสินค้าที่จับต้องได้เหมือนในอดีต แต่มาจากค่ารอยัลตี้จากทรัพย์สินทางปัญญา อาทิ สิทธิบัตรซอฟต์แวร์ที่ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทำงานได้

นอกจากนี้ สินค้ายังอยู่ในรูปดิจิทัล เช่น การดาวน์โหลดเพลง จึงเป็นเรื่องง่ายที่ธุรกิจนี้จะถ่ายโอนผลกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ เมื่อเทียบกับร้านค้าหรือบริษัทผลิตรถยนต์ เพราะแอปพลิเคชั่นสำหรับดาวน์โหลดซื้อขายจากที่ไหนก็ได้ทุกมุมโลก

เศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตมากในปัจจุบัน กลายเป็นปริศนาที่บรรดาผู้ออกกฎหมายไม่สามารถตรวจสอบภาษีในภาคธุรกิจ และแม้เทคโนโลยีจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่และมูลค่าสูงของสหรัฐ แต่บริษัทเทคโนโลยีกลับเป็นกลุ่มที่จ่ายภาษีน้อยมาก

โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยี 71 แห่งในดัชนีเอสแอนด์พี 500 ซึ่งรวมทั้งแอปเปิล, กูเกิล, ยาฮู, เดลล์ กลับรายงานการจ่ายภาษีเฉลี่ยน้อยกว่าบริษัทอื่นๆ ในเอสแอนด์พี ราว 1 ใน 3 แม้แต่เทียบในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีด้วยกัน แอปเปิลก็จ่ายภาษีในอัตราต่ำกว่า เนื่องจากใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมาย

แอปเปิลเป็นบริษัทเทคโนโลยีรายแรกๆ ที่ตั้งทีมพนักงานขายในประเทศที่เก็บภาษีแพง และอนุญาตให้พนักงานขายผลิตภัณฑ์ในนามบริษัทในเครือที่จ่ายภาษีต่ำกว่าที่อยู่ในภูมิภาคอื่น ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีรายได้

อีกทั้งแอปเปิลยังบุกเบิกเทคนิคบัญชีที่เรียกว่า Double Irish With Dutch Sandwich ซึ่งช่วยลดภาษีด้วยการผ่องถ่ายกำไรไปยังบริษัทในเครือที่ไอร์แลนด์และเนเธอร์แลนด์ จากนั้นก็ส่งไปยังแคริบเบียน ปัจจุบันเทคนิคนี้ถูกนำไปใช้ในบริษัทหลายร้อยแห่ง

“มาร์ติน เอ. ซัลลิแวน” อดีตนักเศรษฐศาสตร์ประจำกระทรวงการคลัง ระบุไว้ในผลการศึกษาล่าสุดว่า หากไม่ใช้กลเกมเช่นนี้ เป็นไปได้ที่ในปีที่แล้วแอปเปิลต้องเสียภาษีให้รัฐบาละกลางสหรัฐเพิ่มขึ้นอีก 2.4 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ในปีที่แล้ว แอปเปิลจ่ายภาษีเงินสด (cash taxes) ทั่วโลก 3.3 พันล้านดอลลาร์ จากผลกำไรที่รายงานไว้ที่ 3.42 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา หรือเท่าๆ กับจ่ายภาษีในอัตรา 9.8%

เทียบกับยักษ์ค้าปลีก “วอล-มาร์ต” ที่ปีที่แล้วจ่ายภาษีทั่วโลกราว 5.9 พันล้านดอลลาร์ จากกำไรที่รายงานไว้ 2.44 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นอัตราภาษี 24% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของบริษัทนอกอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

การจ่ายภาษีในประเทศของแอปเปิลเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญภาษีนิติบุคคลอยากรู้ เพราะแม้บริษัทจะมีฐานใหญ่ในสหรัฐ แต่กำไรส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ ถึงแอปเปิลจะทำสัญญาผลิตและประกอบชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์กับบริษัทต่างประเทศ ทว่าผู้บริหาร นักออกแบบผลิตภัณฑ์ นักการตลาด พนักงาน ศูนย์วิจัยและพัฒนา และร้านค้าปลีก ต่างก็อยู่ในสหรัฐ จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่กำไรส่วนใหญ่ของแอปเปิลน่าจะเป็นของอเมริกัน ตามระบบภาษีที่คำนวณรายได้บริษัทจากสถานที่ที่สร้างมูลค่า มากกว่าสถานที่ที่ขายผลิตภัณฑ์ได้

แต่นักบัญชีของแอปเปิลก็พบวิธีการที่ถูกกฎหมายในการเก็บสะสมกำไร 70% ไว้ในต่างประเทศซึ่งมีอัตราภาษีต่ำกว่า ทั้งนี้ แอปเปิลเปิดเผยในรายงานประจำปีล่าสุดว่า เม็ดเงินราว 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 70% ของกำไรก่อนหักภาษีทั้งหมด 3.42 หมื่นล้านดอลลาร์ มาจากต่างประเทศ ส่วนอีก 30% มาจากในสหรัฐ

โดยปกติแล้วไม่มีบริษัทใดรายงานการขอคืนภาษีต่อสาธารณะ และรายได้สุทธิที่นำไปคำนวณภาษี (taxable income) ก็มักแตกต่างจากผลกำไรที่บริษัทเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปี ถึงแม้บริษัทจะยื่นตัวเลขภาษีเงินได้ไว้ในแบบฟอร์ม 10-K แต่เป็นไปได้ยากที่จะประเมินว่าแท้จริงแล้วบริษัทจ่ายภาษีให้รัฐบาลเท่าไรแน่

ในรายงานประจำปีล่าสุดของแอปเปิล บริษัทแจ้งตามระบบภาษีทั่วโลก (worldwide tax) ซึ่งครอบคลุมบริษัทอเมริกันที่ทำรายได้ในต่างประเทศ โดยนับรวมการจ่ายภาษีเงินสด (cash tax) ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี (deferred tax) และค่าใช้จ่ายต่างๆ อยู่ที่ 8.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งอัตราภาษีที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่ราว 1 ใน 4 ของกำไร

ที่มาภาพ: http://clickalink.org
ที่มาภาพ: http://clickalink.org

ขณะที่นักวิเคราะห์ด้านภาษีมองว่า เป็นไปได้ที่ตัวเลขดังกล่าวอาจเกินความจริง เพราะอาจมีจำนวนที่ไม่ต้องจ่ายรวมอยู่ด้วย และข้อมูลในแบบฟอร์ม 10-K ก็เป็นสิ่งที่บริษัทต่างๆ ตกแต่งได้

ในมุมของแอปเปิล บริษัทยืนยันว่าได้ดำเนินธุรกิจโดยปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมสูงสุด รวมถึงดำเนินการตามกฎหมายและข้อกำหนดด้านบัญชี บริษัทจ่ายภาษีจำนวนมากสำหรับท้องถิ่น มลรัฐ และรัฐบาลกลาง โดยผลการดำเนินงานในสหรัฐช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2555 บริษัทจ่ายภาษีรายได้ให้กับรัฐบาลกลางและมลรัฐเกือบ 5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงภาษีรายได้ที่เก็บจากกำไรจากหุ้นของพนักงาน

แต่บริษัทไม่ได้แจกแจงว่าตัวเลขดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร และไม่ได้อธิบายถึงภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีว่าจะจ่ายในปีต่อๆ ไป หรือไม่ได้กำหนดระยะเวลา

กลเกมภาษีของทั้งแอปเปิลและบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ กำลังจุดชนวนให้เกิดการถกเถียงขึ้นอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงภาษีในส่วนของมลรัฐ

อย่างกรณีของแอปเปิล เมื่อเงินในบัญชีและราคาหุ้นเพิ่มขึ้นในปี 2549 บริษัทตั้งบริษัท แบรเบิร์น แคปิตอล ขึ้นที่เมืองรีโน เพื่อบริหารจัดการและลงทุนเงินที่มีในมือ เมื่อชาวอเมริกันซื้อไอโฟน ไอแพด หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของแอปเปิล ส่วนของกำไรจากการขายที่ได้จะใส่ในบัญชีของแบรเบิร์น ซึ่งจะนำไปลงทุนในหุ้น พันธบัตร หรือเครื่องมือการเงินอื่นๆ

นับแต่ก่อตั้งแบรเบิร์น แอปเปิลได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลจากเงินสำรองและเงินลงทุนทั่วโลกกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งหากแบรเบิร์นตั้งอยู่ในคูเปอร์ติโนเช่นเดียวกับสำนักงานใหญ่ รายได้ในประเทศจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้รัฐแคลิฟอร์เนียในอัตรา 8.84% แต่ในเมืองรีโน รัฐเนวาดา ยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ (capital gain tax)

แบรเบิร์นยังช่วยให้แอปเปิลประหยัดรายจ่ายภาษีในรัฐอื่นๆ อาทิ ฟลอริด้า นิวเจอร์ซีย์ นิวเม็กซิโก เพราะหลายรัฐจะลดการจัดเก็บภาษีลง หากการบริหารจัดการการเงินของบริษัทเกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ซึ่งแอปเปิลไม่ได้แจ้งว่าจ่ายภาษีเงินสดให้แต่ละรัฐอย่างไรบ้าง เพียงแต่แจ้งถึงการจ่ายภาษีเงินได้ให้แก่รัฐรวม 762 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว แต่นักวิเคราะห์ภาษีตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขดังกล่าวอาจไม่ได้สะท้อนถึงสิ่งที่จ่ายจริงๆ

น่าสังเกตว่า บริษัทอื่นๆ หลายสิบแห่ง อาทิ ซิสโก้, ฮาร์เลย์-เดวิดสัน และไมโครซอฟท์ ต่างก็ตั้งบริษัทลูกในเนวาด้าเพื่อบายพาสภาษีในรัฐอื่นๆ ขณะที่บริษัทอีกหลายร้อยแห่งเลือกแนวทางนี้ โดยตั้งออฟฟิศลูกในรัฐเดลาแวร์

แน่นอนว่า บางส่วนในแคลิฟอร์เนียไม่พอใจที่แอปเปิลและบริษัทอื่นๆ ย้ายส่วนงานด้านการเงินไปยังรัฐปลอดภาษี โดยเฉพาะเมื่อรัฐยอมพักภาษีให้เพื่อแลกกับการที่บริษัทยังคงทำธุรกิจต่อไป จนต้องแบกรับภาระมหาศาล

อย่างเมื่อปี 2539, 2542 และ 2543 รัฐแคลิฟอร์เนียได้เพิ่มเงินลดหย่อนภาษีสำหรับการวิจัยและพัฒนา โดยอนุญาตให้บริษัทหลายร้อยแห่ง รวมทั้งแอปเปิล ไม่ต้องจ่ายภาษีส่วนนี้รวมหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งแอปเปิลระบุว่า บริษัทประหยัดเงินจากส่วนนี้ไปได้ 412 ล้านดอลลาร์ นับจากปี 2539 ขณะที่ในปี 2552 ฝ่ายนิติบัญญัติยอมลดภาษีให้กับบริษัทที่ตั้งฐานในแคลิฟอร์เนียแต่ดำเนินงานในรัฐอื่นๆ ซึ่งทำให้รัฐแคลิฟอร์เนียแบกต้นทุนส่วนนี้ปีละ 1.5 พันล้านดอลลาร์

การสูญเสียเม็ดเงินรายได้จากภาษีเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐแคลิฟอร์เนียเผชิญกับวิกฤตด้านงบประมาณในขณะนี้ โดยขาดแคลนเงินกว่า 9.2 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณที่กำลังจะมาถึง จนต้องลดสวัสดิการด้านสุขภาพลงบางส่วน ปรับขึ้นค่าเล่าเรียนมหาวิทยาลัยของรัฐ ลดบริการสำหรับคนพิการ และปรับลดเงินสำหรับเด็กอนุบาลและชั้นอื่นๆ ลง 4.8 พันล้านดอลลาร์

แอปเปิลไม่ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ แต่ผู้บริหารบางรายมองว่า อาจไม่ยุติธรรมนักที่จะวิพากษ์วิจารณ์ว่าแอปเปิลเลี่ยงภาษี ในขณะที่บริษัทอื่นนับพันแห่งก็ทำเช่นนี้ และหากแอปเปิลยอมจ่ายภาษีโดยสมัครใจ ก็อาจทำให้บริษัทสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขัน

แต่บริษัทก็ไม่อาจปฏิเสธประโยชน์ที่ได้รับจากแนวทางนี้ ปัจจุบัน แอปเปิลมีกำไรสุทธิ 2.47 หมื่นล้านดอลลาร์ จากรายได้รวม 8.55 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณล่าสุด และมีเงินเก็บในแบงก์กว่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์

เมื่อมองในภาพใหญ่ ในแต่ละวันผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์ดิจิทัลจากร้านออนไลน์ “ไอจูนส์” หรือซื้อผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล ซึ่งขับเคลื่อนกลไกการเงินระหว่างประเทศของแอปเปิลให้ทำงาน โดยย้ายเงินข้ามทวีปได้ภายในเวลาชั่วครู่ ผ่านบริษัทในเครือที่อยู่ต่างประเทศ เพื่อลดรายจ่ายภาษี

ยกตัวอย่าง บริษัทในเครือที่อยู่ในลักเซมเบิร์กชื่อ “ไอจูนส์ เอส.เอ.อาร์.แอล.” ที่มีพนักงานเพียงไม่กี่สิบคน โดยมีตู้ไปรษณีย์บอกถึงการมีอยู่ของบริษัท เมื่อลูกค้าในยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง หรือที่อื่น ดาวน์โหลดเพลง รายการทีวี หรือแอปพลิเคชั่น ยอดขายจะถูกบันทึกไว้ในประเทศเล็กๆ นี้ ในปี 2554 รายได้ของบริษัทแห่งนี้ทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 20% ของยอดขายไอจูนส์ทั่วโลก

ความได้เปรียบจากการตั้งบริษัทในลักเซมเบิร์กไม่ได้ซับซ้อน เพราะประเทศนี้เก็บภาษีจากแอปเปิลและบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ในอัตราที่ต่ำ แทนที่จะจ่ายให้กับรัฐบาลอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือสหรัฐ ในอัตราที่สูงกว่า

“โรเบิร์ต ฮัตตา” ที่เคยดูแลงานด้านการตลาดและการขายให้ไอจูนส์ในตลาดยุโรปจนถึงปี 2550 ระบุว่า เราเลือกลักเซมเบิร์กเพราะความน่าสนใจเรื่องภาษี และธุรกิจดาวน์โหลดแตกต่างจากรถแทรกเตอร์หรือเหล็ก เพราะไม่จำเป็นต้องจับต้องได้ ไม่ว่าจะใช้คอมพิวเตอร์ที่ฝรั่งเศสหรืออังกฤษ แต่ซื้อจากลักเซมเบิร์ก

สินค้าประเภทดาวน์โหลดสะท้อนถึงความล้าสมัยของระบบภาษีที่ไล่ตามเศรษฐกิจแบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่ทัน ขณะที่บริษัทอย่างแอปเปิลมีคนที่ช่วยหาช่องโหว่ภาษีอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งในยุค 1980 แอปเปิลเป็นบริษัทแรกๆ ที่จ้างพนักงานรับจ้างแทนที่จะเป็นพนักงานค้าปลีก เพราะไม่ต้องครอบครองสินค้าคงคลัง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับภาษี แต่โครงสร้างใหม่นี้ทำให้พนักงานในเยอรมนีที่มีอัตราภาษีสูง สามารถขายคอมพิวเตอร์ในนามบริษัทลูกในสิงคโปร์ที่ภาษีต่ำกว่า และกำไรส่วนใหญ่จะถูกคำนวณภาษีในอัตราที่สิงคโปร์

นอกจากนี้ แอปเปิลยังเป็นบริษัทแถวหน้าที่บุกเบิกโครงสร้างภาษีใหม่ที่เรียกว่า “ดับเบิล ไอริช” ที่ให้บริษัทย้ายกำไรไปยังแหล่งเลี่ยงภาษีทั่วโลก โดยแอปเปิลตั้งบริษัทลูก 2 แห่งในไอร์แลนด์ ซึ่งทางการไอริชเสนอพักภาษีให้แอปเปิลเพื่อแลกกับการจ้างงาน

ทว่า สิ่งที่ทำให้แอปเปิลได้กำไรเป็น 2 เด้ง คือ สามารถส่งต่อค่ารอยัลตี้สิทธิบัตรที่พัฒนาในแคลิฟอร์เนียไปยังสาขาไอร์แลนด์ เท่ากับเป็นการโอนภายในบริษัทไปยังสาขาต่างประเทศ แต่กำไรที่ได้จะเสียภาษีในอัตรา 12.5% ในไอร์แลนด์ แทนที่จะจ่ายตามกฎหมายอเมริกันที่เก็บในอัตรา 35%

ขณะที่อีกขาหนึ่ง 2 บริษัทลูกในไอร์แลนด์ก็ยอมให้กำไรอื่นๆ ไหลไปยังแห่งปลอดภาษีในแคริบเบียน อาทิ เกาะบริติช เวอร์จิ้น และสุดท้าย ไอร์แลนด์เข้าร่วมในสหภาพยุโรป ทำให้ผลกำไรเดินทางแบบปลอดภาษีไปยังเนเธอร์แลนด์ หรือ “ดัตช์แซนด์วิช” ซึ่งช่วยปิดบังสายตาเจ้าหน้าที่ด้านภาษี

กลยุทธ์ดับเบิลไอริชช่วยให้แอปเปิลสามารถคงภาษีในอัตรา 3.2% ของกำไรในต่างประเทศในปีที่แล้ว ส่วนในปี 2553 อยู่ที่ 2.2% และรักษาระดับเลขตัวเดียวมาได้ตลอดครึ่งทศวรรษ

“ซัลลิแวน” กล่าวว่า แอปเปิลก็เหมือนบริษัทข้ามชาติอื่นๆ ที่ใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อเก็บผลกำไรเอาไว้จากเงื้อมมือของสรรพากรให้ได้มากที่สุด

แต่อีกด้านของกลเกมภาษีแบบนี้ เมื่อบริษัทใช้กลยุทธ์ส่งเงินออกไปนอกประเทศ ก็เป็นเรื่องยากที่จะดึงกลับมายังสหรัฐโดยไม่ต้องเสียภาษี ทั้งแอปเปิลที่มีเงินนอกบ้านร่วม 7.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ได้ผนึกกำลังกับอีกหลายสิบบริษัทว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์จำนวนมาก เพื่อผลักดันให้สภาคองเกรสไฟเขียวให้บริษัทอเมริกันนำเงินกลับบ้านได้โดยไม่ต้องจ่ายภาษีก้อนโต

ต้องจับตาว่าที่สุดแล้ว คองเกรสจะยินยอมตามนี้หรือไม่ มีการประเมินว่า การพักภาษีเช่นนี้จะทำให้รัฐบาลกลางแบกรับต้นทุนสูงถึง 7.9 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีข้างหน้า