ThaiPublica > เกาะกระแส > “ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ” จัดชุดความคิดคนไทย ก่อนเข้าสู่ AEC ต้องเข้าใจความเป็นชาติ “ไทยไม่ใช่พระเอก”

“ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ” จัดชุดความคิดคนไทย ก่อนเข้าสู่ AEC ต้องเข้าใจความเป็นชาติ “ไทยไม่ใช่พระเอก”

14 พฤษภาคม 2012


ในขณะที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเกิดขึ้นในปี 2015 นี้ และเพื่อสะท้อนการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการศึกษาที่ประเทศไทยมีความรับรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านค่อนข้างน้อย

ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจซึ่งกันและกัน ทำให้ก้าวสู่ความสัมพันธ์และความร่วมมืออย่างยั่งยืน โดยเฉพาะมิติของการศึกษาว่าประเทศไทยมีความพร้อมมากแค่ไหนในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน TK park จึงจัดการประชุมวิชาการ “TK Conference on Reading 2012” เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2555 รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและการเรียนรู้ เตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน” ไว้อย่างน่าสนใจ

และแม้ว่าหัวข้อบรรยายของ ดร.วรากรณ์จะไม่ได้เป็นเรื่องของหนังสือและการอ่านโดยตรงตามหัวข้อการประชุมครั้งนี้ แต่ก็มีความเชื่อมโยงกันและสำคัญกับสังคมไทยต่อการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

“ประชาคมอาเซียน” เริ่มต้นจากการจัดตั้งเป็น “สมาคมอาสา” (ASA, Association of South East Asia) หลังจากนั้นก็เกิดเป็นสมาคมอาเซียนมากมาย ในแต่ละปีก็จัดประชุมผลัดเปลี่ยนกันไปในแต่ประเทศสมาชิก แต่ก็เป็นเพียงแค่สังคมหลวมๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรอย่างจริงจัง

จนกระทั่งวันนี้เหตุการณ์โลกได้เปลี่ยนแปลงไป เรื่องของ “กลุ่ม” มีความสำคัญอย่างมาก เช่น กลุ่มการค้า ความคิดเรื่อง “ตลาดการค้าเสรี” จึงเกิดขึ้นโดยการตกลงกันในอาเซียนว่าจะเปิดการค้าเสรีนี้ในปี 2020 และมีการตั้งกฎบัตรอาเซียนโดยมีคำขวัญว่า “one vision one identity one community” ซึ่งมองเรื่องเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้มุมมองและความคิดของแต่ละประเทศกว้างขึ้น เปลี่ยนจากแค่ตลาดการค้าเสรีเป็น “ประชาคมอาเซียน” และเลื่อนเวลาจัดตั้งขึ้นมาเป็นปี 2015 เพราะคิดว่ารอต่อไปไม่ได้แล้ว

รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

จุดเริ่มต้นของประชาอาเซียนค่อนข้างสับสนจากแนวคิด 3 เสาหลักที่สำคัญ คือ 1. เศรษฐกิจ 2. การเงินและความมั่นคง และ 3. สังคมวัฒนธรรมอาเซียน ว่าจะยึดโยงเอาเสาใดเสาหนึ่งเป็นหลัก แต่หลังจากการประชุมร่วมกันเพื่อลดความสับสนนี้ จึงเอาทั้ง 3 เสาหลักมาร่วมกันและเรียกว่า “ประชาคมอาเซียน”

สำหรับประเทศไทยอาจมีคนสับสนเกี่ยวกับการทำงานของ AEC: Asean Economic Community, AC: Asean Community (ประชาคมอาเซียน) และ AFTA: การค้าเสรี ว่าแตกต่างกันอย่างไรนั้น รองศาตราจารย์วรากรณ์อธิบายว่า เมื่อถึงปี 2015 เราจะกลายเป็น AC โดยมี AFTA เป็นซับเซ็ตของ AEC และ AEC เป็นเพียงซับเซ็ตของ AC เท่านั้น

และเพื่อให้เกิดการผลิต การค้า การลงทุน การบริการ การใช้แรงงานฝีมือที่เสรีและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ด้านเศรษฐกิจนั้น ในอดีตหลายๆ ประเทศจะตั้งกำแพงเรื่อง “ภาษีนำเข้า” กีดกันการค้าจากต่างประเทศ เพื่อให้สินค้าภายในประเทศเติบโตขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทย ทำให้คนไทยไม่มีโอกาสบริโภคสินค้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาถูกกว่า เช่น น้ำมันพืชจากมาเลเซีย เพราะกลัวว่าคนที่ปลูกปาล์มในไทยจะเสียเปรียบ แต่ถ้าเราให้ภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ ต่างประเทศสามารถนำสินค้าเข้ามาขายได้ คนไทยก็จะมีโอกาสตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าด้วยตนเองในราคาที่ถูกลง ไม่ใช่ถูกบังคับให้ซื้อเฉพาะสินค้าในประเทศซึ่งมีราคาที่สูงกว่าประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย

เช่นเดียวกับการลงทุน อย่างในตลาดหุ้นทุกวันนี้ คนไทยซื้อได้เฉพาะหุ้นในกระดานไทยเท่านั้น ไม่สามารถซื้อหุ้นอื่นๆ ที่ดีในฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ ได้ แต่ถ้าเราเป็นประชาคมอาเซียน หุ้นของประเทศสมาชิกก็จะอยู่บนกระดานเดียวกัน ทำให้ตลาดการลงทุนนั้นกว้างขึ้น ประชากรอาเซียนมีเสรีภาพในการลงทุนมากขึ้น การกู้เงินระหว่างประเทศสะดวกมากขึ้น ที่สำคัญคือการเดินทางของแรงงานฝีมือจะสะดวกและง่ายมากขึ้น ทุกวันนี้แรงงานต่างชาติก็เข้ามาประเทศไทยแล้วจำนวนมาก เช่น วิศวกรในโรงงานอุตสาหกรรม หรือแรงงานเกี่ยวข้าวในภาคอีสาน ทั้งๆ ที่เรายังไม่ได้เป็นประชาคมอาเซียนเลย นั่นเพราะแรงดึงดูดทางเศรษฐกิจจะทำให้เกิดการหมุนเวียนของแรงงานมากขึ้น

การค้าเสรีก่อให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการต่อรองที่มากขึ้น ทำให้ประเทศมีเศรษฐกิจที่ดีตามไปด้วย อย่าลืมว่าในโลกนี้เฉพาะกลุ่มทางเศรษฐกิจอย่างเดียวนั้นมีหลายกลุ่มมาก และมีเป้าหมายไม่ต่างกับอาเซียน กลุ่มของเราได้เปรียบกลุ่มอื่นๆ ในโลกเพราะเราเป็นกลุ่มที่ใหญ่มากมีประชากรถึง 600 ล้านคน เทียบได้กับทวีปแอฟริกา 56 ประเทศ และอยู่ในตำแหน่งที่ติดกับอินเดียและจีนที่มีประชากร 1,300 และ 1,400 ล้านคนตามลำดับ โอกาสทางการค้าของอาเซียนก็ได้เปรียบอย่างมากเพราะมีแหล่งผู้บริโภคมหาศาล และถ้าหากนับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ด้วยแล้ว จะทำให้การค้าของเรากระจายสู่ประชากรกว่าครึ่งโลกทีเดียว

แน่นอนว่าผลประโยชน์ต่างๆ ที่ประเทศไทยได้มานั้น ก็ต้องเสียสละบางอย่างออกไปบ้าง ไม่มีอะไรที่จะได้อย่างเดียวโดยที่ไม่เสีย เพราะถ้าเป็นแบบนั้นคงไม่มีประเทศไหนอยากค้าขายกับประเทศไทย

คนไทยต้องขึ้นรถไฟให้ทัน

ดังนั้น เมื่อโลกเปลี่ยนไปประเทศไทยก็ต้องปรับตัวให้พร้อมสำหรับอนาคต เพราะเมื่อเวลานั้นมาถึงจะได้ไม่มีปัญหา ดั่งสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดได้ยาวนานเป็นเพราะปรับตัวเก่งที่สุด ไม่ใช่ยิ่งใหญ่ แข็งแรง หรือฉลาดที่สุด

ร.ศ.ดร.วรากรณ์กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของประเทศไทยว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทยนั้นเป็นการเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไป เหมือนรอยต่อระหว่างกลางวันและกลางคืน ไม่ใช่ว่าเมื่อถึงวันที่ 1 มกราคม 2015 คนไทยจะสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดี พูดภาษาอื่นในประเทศอาเซียนได้คล่อง ถึงแม้ว่าเราจะเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะมัวใจเย็น หรือตื่นตกใจจนทำอะไรไม่ถูก โดยเราต้องให้ข้อมูลสร้างความตื่นตัวแก่ประชาชนเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างเหมาะสม

“ผมขอเปรียบประชาคมอาเซียนเหมือนกับขบวนรถไฟ เรากำลังรออยู่ที่ชานชาลา หากรถไฟมาถึงแล้วแล้วเราไม่ขึ้นไปเราก็ยังอยู่ที่เดิม แต่ถ้าเรากระโดดขึ้นรถไฟ แม้ว่าเราจะไม่พร้อม อย่างน้อยเราก็ได้ขึ้นไปขายไข่ต้ม ขายอ้อยควั่น แต่เราไม่มีทางได้ขายตั๋ว ขายไอแพด และถึงแม้เราจะได้ขายเพียงแค่ไข่ต้ม อ้อยควั่น เราก็ต้องกระโดดขึ้นครับ แล้วไปเรียนรู้ระหว่างทาง ซึ่งถ้าเรายังอยู่ที่ชานชาลาเราก็จะไม่ได้อะไรเลยครับ”

ในการเตรียมพร้อมของไทยอย่างแรกคือเรื่องการศึกษา รัฐบาลทุ่มงบประมาณให้กับกระทรวงศึกษาธิการมากที่สุดติดต่อกันมา 10 ปี แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับไม่ประสบความสำเร็จเลย นั่นอาจเป็นเพราะเงินส่วนใหญ่จมไปกับเงินเดือนมากกว่าจะเข้าถึงเด็กซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการลงทุน ทำให้การศึกษาไทยยังไม่บรรลุผลตามที่ต้องการ

ต่อมาคือเรื่อง mind set ที่เหมาะสมในด้านวัฒนธรรมของสังคมไทย คนไทยยังมีความคิดเรื่องชาตินิยมที่ผิดๆ อยู่ ยังแบ่งแยกระหว่างคนไทยแท้และไม่แท้ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เลย กว่า 700 ปีที่ผ่านมาสังคมไทยเป็นแบบนี้มาตลอด เราทุกคนล้วนเป็นคนอพยพทั้งสิ้น ต่างแค่อพยพมาก่อนหรือหลังเท่านั้น และสมัยนั้นยังไม่มีรูปแบบของชาติ มีแต่เมือง ดังนั้นมนุษย์จึงมีความรู้สึกแค่ว่าตนเป็นคนเมืองนั้นเมืองนี้มากกว่าความเป็นชาติ สังคมไทยก็เหมือนน้ำ ใครมาอยู่ในพื้นที่เราพูดภาษาเราก็เป็นล้วนเป็นคนไทย ซึ่งเป็นแบบนี้มาโดยตลอดและจะเป็นต่อไป อย่าไปแบ่งแยก หากชาวพม่ามาทำงานและคลอดลูกที่เมืองไทยเราก็ต้องให้ลูกเขาเป็นคนไทย นี่คือความจริงและเป็นหลักสากล ไม่มีประเทศไหนบนโลกนี้ที่มีพื้นฐานมาจากชาติพันธุ์เดียวกัน

ต้องเข้าใจความเป็นชาติ ไทยไม่ใช่พระเอก

ความเข้าใจเรื่อง “ความเป็นชาติ” เป็นปัญหากับสังคมไทยเรา เพราะเราสอนประวัติศาสตร์ในแบบที่ประเทศเราเป็นพระเอก โดยที่ไม่มองกลับกันว่าประเทศอื่นๆ ก็เป็นพระเอกได้ อย่างเมืองอื่นมารบกับเราเพื่อประกาศอิสรภาพ เรามองเขาว่าเป็นผู้ร้ายมาก ในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรออกทำสิ่งเดียวกันแต่เรากลับยกย่องว่าเป็นพระเอก นี่เป็นการมองประวัติศาสตร์ที่แคบมากและไม่เอื้ออำนวยต่อการเป็นประชาคมอาเซียน ประเทศไทยต้องเข้าใจและถ่อมตัวในวัฒนธรรมอาเซียน เพราะชาติที่อยู่ด้วยกันมานานๆ ล้วนมีเรื่องในอดีตร่วมกันมาทั้งนั้น เช่นเดียวกับที่เรามีเรื่องกับญาติพี่น้อง

นอกจากนี้ เรายังต้องรู้จักวัฒนธรรมประเทศอาเซียน โดยเฉพาะเรื่องภาษา นอกจากภาษาอังกฤษที่เราจำเป็นต้องใช้สื่อสารระหว่างประเทศแล้ว ภาษาที่สามถือเป็นสิ่งสำคัญมาก คนรุ่นใหม่หากพูดได้แค่สองภาษาคงไม่พอ เพราะปัจจุบันชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทยส่วนใหญ่คืออินเดียและอาเซียนด้วยกันทั้งนั้น เช่น ภาษา อินโดนีเซียที่มีประชากกว่า 230 ล้านคน มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สำคัญจำนวนมากในประเทศ และเป็นภาษาที่เรียนได้ง่าย หรือภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ ซึ่งหากมีการสอนภาษาเหล่านี้ ผมเชื่อจะเป็นการเตรียมความพร้อมที่ดีสู่ประชาคมอาเซียน

เรื่องสำคัญต่อมาคือ คุณภาพและมาตรฐานการเรียนรู้ ที่ผ่านมาหากพูดถึงเรื่องการศึกษา เราจะพูดกันถึงกระบวนการแต่ไม่ได้พูดถึงเนื้อหาหรือแก่นที่แท้จริง เราจึงต้องกลับมามองปัญหาว่า ทำอย่างไรถึงจะยกเครื่องภาษาอังกฤษของคนไทยได้ ทำอย่างไรถึงจะพัฒนาครูของไทยได้บนพื้นฐานของความรู้ความสามารถ หากสอนได้ดีผลตอบแทนก็ควรสอดคล้อง ไม่ใช่เปลี่ยนไปตามตำแหน่ง เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียนมีเงินเดือนสูงสุดในโรงเรียนแต่กลับไม่ต้องสอน แล้วในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้านี้ สังคมไทยจะมีครูที่เกษียณอายุมากถึง 40% หรือราวๆ 150,000 คน ซึ่งหากเราไม่มีครูที่ดี มีความสามารถเข้ามาแทนครูเหล่านี้ ปัญหาด้านการศึกษาจะตามมาอีกมากมาย จนกลายเป็นวิกฤตไปอีกหลายชั่วคน

การสร้างความพร้อมของประเทศไทยจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาด “ความสามารถการแข่งขัน” ซึ่งความสามารถต่างๆ เหล่านี้ล้วนมาจากคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา การพัฒนาภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น การเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศอื่นมากขึ้น ดังนั้น หาก “คน” ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของประเทศขาดการพัฒนาที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้มากขึ้นกว่าเดิม (productivity) ประเทศเราไม่มีทางที่จะรวยได้ ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ เป็นประเทศเล็กแค่ครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ไม่มีทรัพยากรสำคัญอะไร แต่เป็นประเทศที่พัฒนา ประชากรมีรายได้ต่อคนสูงกว่าไทย 10 เท่า เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่กลายเป็นประเทศมหาอำนาจได้ นั่นเพราะประชากรเขามีคุณภาพ

ด้านการปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เรามีโอกาสและเวลามากมายที่จะค่อยๆ ปรับตัวไป โดยมีกลไกหรือแรงกระตุ้นที่ทำให้เกิดการปรับตัว เพราะถ้าไม่ปรับตัวเลยเราจะมีปัญหาแน่ๆ

การศึกษาไม่ใช่การเติมน้ำใส่ถัง แต่เป็นการจุดไฟ

สุดท้าย ข้อเสนอแนะที่รองศาสตราจารย์วรากรณ์ฝากเอาไว้ข้อแรกคือ “ความชัดเจนของเป้าหมายของการจัดการการศึกษาเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” เราต้องชัดเจนเลยว่าเราต้องทำอะไร การศึกษาไม่ใช่การเติมน้ำใส่ถัง แต่เป็นการจุดไฟ โดยเราวางรากฐานให้เด็กเข้าใจ และกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจที่จะไปต่อยอดความรู้ด้วยตัวเอง หากเด็กไม่สนใจที่จะเรียนรู้ต่อให้มีเครื่องมือหรือเทคโนโลยีใดๆ เด็กก็ไม่สนใจครับ

ข้อสองคือ “การคำนึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders)” จะเกิดขึ้นแน่นอนเมื่อเราเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ใครที่ปรับตัวไม่ได้ก็จะเป็นผู้มีส่วนเสีย ในบางอาชีพที่เสียเปรียบไปรัฐบาลควรที่จะเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถลืมตาอ้าปากแล้วปรับตัวสู่ประชาคมอาเซียนได้

ข้อสุดท้ายคือ “Roadmap to Asean” ซึ่งทุกวันนี้เรายังไม่มีแผนที่เลยว่าจากจุดนี้ไปถึงปี 2015 เราจะต้องทำอะไรบ้าง รัฐบาลต้องวางแผนว่าภาคการศึกษา การอุตสาหกรรมหรือการเกษตร จะต้องปรับโครงสร้างอย่างไรบ้างเพื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมตัวให้พร้อมสู่การเป็น “ประชาคมอาเซียน” ที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าด้วยการพัฒนาทรัพยากร “คน” ในประเทศจากการศึกษา

“ทุกการแข่งขันสุดท้ายแล้วมุ่งสู่ที่พัฒนาคุณภาพของคนให้มีคุณธรรม มีความคิด มีความสามารถ นี่คือแบบฉบับของสังคมโลกในปัจจุบัน” รองศาสตราจารย์วรากรณ์กล่าวทิ้งท้าย