ThaiPublica > เกาะกระแส > กองทัพจัดตั้ง “พล.ร.7” รับมือภัยคุกคามฝั่งตะวันตก – สแกนกำลัง “ชนกลุ่มน้อย-พม่า” กับสัญญาณแรก “นะคะมวย”

กองทัพจัดตั้ง “พล.ร.7” รับมือภัยคุกคามฝั่งตะวันตก – สแกนกำลัง “ชนกลุ่มน้อย-พม่า” กับสัญญาณแรก “นะคะมวย”

24 พฤษภาคม 2012


ทหารไทยวางกำลังป้องกันตามแนวชายแดนไทย–พม่า จุดหมู่บ้านวาเล่ย์ ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก
ทหารไทยวางกำลังป้องกันตามแนวชายแดนไทย–พม่า จุดหมู่บ้านวาเล่ย์ ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก

จากการประเมินภัยคุกคามด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย ตามแผนยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ พ.ศ.2553 ของหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศไทย มองว่า สถานการณ์การเมืองในประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) เริ่มมีความเข้มแข็ง และมีเสถียรภาพอย่างมาก

ที่สำคัญคือ การมีการพัฒนากองทัพ มุ่งเน้นการเสริมสร้างขีดความสามารถการรักษาความมั่นคงภายใน และการปกป้องทรัพยากรชายฝั่ง โดยให้ความสำคัญกับระบบป้องกันภัยทางอากาศสำหรับเมืองหลวงใหม่ กรุงเนปิดอ

รวมถึงข่าวสารว่า พม่าได้พัฒนาโครงการนิวเคลียร์ โดยได้รับเทคโนโลยีจากรัสเซียและเกาหลีเหนือ ถึงแม้ว่าในเบื้องต้นจะเป็นการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อสันติก็ตาม แต่หากในอนาคตมีการพัฒนาไปในแนวทางเดียวกับเกาหลีเหนือ จะส่งผลกระทบด้านความมั่นคงต่อภูมิภาคอาเซียนเป็นอย่างมาก และที่สำคัญส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง

ทำให้วันที่ 22 มีนาคม 2553 สมัยที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติให้กระทรวงกลาโหมจัดบรรยายสรุปเรื่องการพัฒนากองทัพของประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงความจำเป็นในการพัฒนากองทัพไทยให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในตอนนั้น และคณะคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบ

กองพลทหารราบที่ 7  “ทหารเสือสามกษัตริย์” ที่ค่ายขุนเณร
กองพลทหารราบที่ 7 “ทหารเสือสามกษัตริย์” ที่ค่ายขุนเณร

โดยทางนายอภิสิทธิ์ได้รับทราบแผนการจัดตั้ง “กองพลทหารราบที่ 7” (พล.ร.7) ในพื้นที่ กองทัพภาคที่ 3 (ภาคเหนือ) เพื่อปฏิบัติภารกิจเผชิญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ซึ่งในขั้นต้น การจัดตั้ง พล.ร.7 ให้กับกองทัพภาคที่ 3 ให้มีที่ตั้ง บก. และร้อย บก.พล.ร.7 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน

พร้อมทั้งให้กองทัพบกปรับโอนการบังคับบัญชา กรม ของ พล.ร.4 มาเป็นฐานในการจัดตั้งหน่วยก่อน เพื่อให้มีความเป็นไปได้ทางด้านงบประมาณ จากนั้นจึงพิจารณาจัดตั้งหน่วยเพิ่มเติมตามความจำเป็นด้านยุทธการ และสถานภาพด้านงบประมาณต่อไป

จนกระทั่ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้จรดปากกาเซ็นคำสั่ง ทบ. ที่ 9/54 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2554 เรื่องการจัดตั้ง พล.ร.7 ขึ้นในนามค่าย “ทหารเสือสามกษัตริย์” ที่ค่ายขุนเณร ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของกองพลรบพิเศษที่ 2 พร้อมโอนหน่วยหน่วยรบคือ กรมทหารราบที่ 7 (ร.7), กรมทหารราบที่ 17 (ร.17), กองพันทหารทหารปืนใหญ่ที่ 7 (ป.พัน 7), กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 17 (ป.พัน 17) ซึ่งหน่วยทั้งหมดโอนมาจากกองพลทหารราบที่ 4 (พล.ร.4) “ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” จ.พิษณุโลก มาเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อ พล.ร.7 ในระยะแรก ก่อนบรรจุกรมให้ครบในอนาคต เพื่อรองรับภัยคุกคามในอนาคตที่อาจปะทุขึ้นด้านนี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบทบ.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบทบ.

ตามรายงานข่าวความมั่นคงระบุว่า ปัจจุบัน พม่ามีการพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารกับเกาหลีเหนืออย่างไม่เปิดเผยมาตั้งแต่ปี 2542 โดยเกาหลีเหนือได้ขายยุทโธปกรณ์จำนวนหนึ่งพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ และได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาติดตั้งอาวุธประจำเรือตรวจการณ์ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือการก่อสร้างฐานทัพใต้ดิน ที่มีการสร้างอุโมงค์ลับใต้ดินหลายแห่ง และอาจมีการสร้างบริเวณชายแดนตะวันตกของไทย ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวในการจัดตั้งศูนย์บัญชาการทางทหารสำรอง หรือที่เก็บอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานสำหรับป้องกันเมืองหลวงใหม่ โดยมีการพัฒนาศักยภาพกองทัพอย่างต่อเนื่องทั้งกำลังทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ซึ่งห้วงที่ผ่านมามีค่าใช้จ่ายทางทหารเฉลี่ยร้อยละ 3.5 ของจีดีพี และเชื่อว่าในช่วง 4 ปีหลัง ได้ใช้งบประมาณทางด้านการทหารสูงถึงร้อยละ 20 ของจีดีพี

จากข้อมูลนี้ หากอนาคตเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้น จะมีปัญหาทางเส้นเขตแดน การปราบปรามชนกลุ่มน้อย การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงปัญหาภัยคุกคามรูปแบบใหม่ อาทิ การค้ายาเสพติด แรงงานต่างด้าวและผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย อาชญากรรมข้ามชาติ เป็นต้น ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้กำลังทหารเข้าแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้อำนาจกำลังรบในพื้นที่ของกองทัพภาคที่ 3 ของกองทัพบกเสียเปรียบกองทัพบกพม่า เพราะได้มีการพัฒนากองทัพอย่างต่อเนื่อง ทำให้กำลังรบของกองทัพภาคที่ 3 ไม่สอดคล้องกับภัยคุกคามต่อพื้นที่รับผิดชอบในปัจจุบัน

เนื่องจากกองพลทหารม้าที่ 1 (พล.ม.1) “ค่ายพ่อขุนผาเมือง” จ.เพชรบูรณ์ เป็นหน่วยที่รับผิดชอบพื้นที่ซึ่งมีแนวชายแดนติดต่อต่อกับประเทศฝั่งขวาและซ้ายบางส่วน สำหรับ พล.ร.4 เป็นหน่วยรับผิดชอบพื้นที่ที่เหลือด้านทิศตะวันตกลงมาถึงรอยต่อกับพื้นที่รับผิดชอบของ กองทัพภาคที่ 1

นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดของภูมิประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่า-ภูเขา และมีพื้นที่รับผิดชอบเป็นจำนวนมาก ทำให้เป็นอุปสรรคในการควบคุมอำนวยการยุทธ์ และการใช้หน่วยระดับกองพลตามหลักนิยม อันจะทำให้ขีดความสามารถของกองทัพภาคที่ 3 โดยรวมลดลงด้วย

“พม่าได้วางกำลังทหารตามแนวชายแดนไทยไว้มากกว่าเรา เมื่อพม่าปราบชนกลุ่มน้อยหมด ต่อไปเชื่อว่าจะต้องหันมามีปัญหากับไทยแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่ทับซ้อนของไทยกับพม่าที่มีหลายจุดยังไม่ได้ปักปันเขตแดน โดยพม่ายึดถือแผนที่อังกฤษ หากสถานการณ์ภายในของพม่าสงบเมื่อไหร่ เขาจะหันมามีปัญหากับเราในเรื่องนี้แน่นอน ซึ่งเขามีแบ็คอัพหลายประเทศคอยช่วยเหลือเพราะหวังผลจากทรัพยากรธรรมชาติในพม่า ทำให้ไทยตอนนี้โดดเดี่ยว หัวเดียวกระเทียมลีบ ดังนั้นเราต้องเตรียมความพร้อมทางทหารเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต” พ.อ.วิรัช ปัญจานนท์ เสธ.พล.ร.7 ระบุ

ดังนั้น การตั้ง พล.ร.7 เพื่อให้หน่วยกำลังรบของกองทัพภาคที่ 3 ให้มีขีดความสามารถและปฏิบัติการได้สอดคล้องต่อภารกิจและรองรับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

หมู่บ้านวาเลย์ ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก
หมู่บ้านวาเลย์ ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก

อย่างไรก็ดี กรณีตัวอย่างของ พล.ต.นะคะมวย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพกะเหรี่ยงโกล้ทูบอ (เคเคโอ) หรือกองพลน้อยโกล้ทูบอ ได้ถูกศาลไทยออกหมายจับข้อหาพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่

จนทำให้ พล.ต.นะคะมวยตอบโต้ไทยและขู่ปิดด่าน จุดหมู่บ้านวาเลย์ ต.วาเลย์ อ.พบพระ จ.ตาก พร้อมทั้งประกาศกร้าวว่าหากประชาชนไทยข้ามชายแดนไปจะไม่รับรองความปลอดภัย ส่งผลให้บริเวณชายแดนไทย- พม่า ร้อนระอุขึ้นมาทันที

ทำให้เหตุการณ์นี้เป็นสัญญาณถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงประเทศพม่าและชลกลุ่มน้อยอีกหลายกลุ่มที่อยู่ตามแนวชายแดนไทย

จากข้อมูลจากหน่วยความมั่นคงในปัจจุบันแจ้งว่า การวางกำลังของทหารพม่าด้านตรงข้ามพื้นที่รับผิดชอบของ กกล.นเรศวร เป็นพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง รัฐคะยา และรัฐฉานตอนใต้ของพม่า โดยทางทหารใช้กำลังจากภาคทหารบกตะวันออก, ภาคทหารบกตะวันออกกลาง และภาคทหารบกสามเหลี่ยม โดยใช้หน่วยระดับกองพลควบคุมพื้นที่ตามแนวชายแดนด้านตะวันออก

ขณะที่กองกำลังชนกลุ่มน้อย(กกล.)กลุ่มสวามิภักดิ์ซึ่งประกอบด้วย กกล.KNLPC และอดีต กกล.KNU กลุ่ม “นายทินหม่อง” มีกำลังทหารประมาณ 200 นาย มีอิทธิพลควบคุมพื้นที่ชายแดนตรงข้าม ต.แม่ระมาด อ.แม่ระมาด ให้การสนับสนุนในการเฝ้าตรวจชายแดน

ส่วน กกล.UWSA พล.น.778 เขตทหาร 171 วางกำลังควบคุมภูมิประเทศสำคัญบริเวณแนวชายแดนด้านตรงข้าม อ.ปางมะผ้า และ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ด้วยกำลังประมาณ 400 นาย ในที่ตั้ง 10 ฐานปฏิบัติการสนับสนุนการเฝ้าตรวจชายแดน

ขณะที่กองกำลังชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่อต้าน (กกล.ชกน.กตต.) รัฐบาลพม่า ประกอบด้วย กกล.SSA ที่ใช้ฐานบัญชาการจุดดอยไตแลง ด้านตรงข้าม อ.ปางมะผ้า เป็นที่มั่นหลักในเตรียมกำลัง และยังคงจัดกำลังเคลื่อนไหวร่วมกับ กกล.WNA ด้านตรงข้ามช่องทางแม่ออ-รักไทย อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ในการประสานเขตปฏิบัติการ และความร่วมมือทางทหาร กับ กกล.KNPP ที่วางกำลังควบคุมพื้นที่ด้านตรงข้าม อ.เมือง-อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน

ด้าน กกล.KNU พล.น.5 มีการเคลื่อนไหวบริเวณริมน้ำสาละวิน ด้านตรงข้าม อ.แม่สะเรียง ถึง อ.สบเมย โดยมีฐานปฏิบัติการชั่วคราวด้านตรงข้าม บ.ออเลาะ อ.แม่สะเรียง ส่วน กกล.KNU พล.น.7 มีการเคลื่อนไหวแบบจรยุทธ ไม่มีที่ตั้งแน่นอน แต่มีพื้นที่ปฏิบัติการทางตอนล่างของ อ.สบเมย ถึงตอนบนของ อ.ท่าสองยาง โดยคาดว่า มีพื้นที่พักฟื้นชั่วคราวด้านตรงข้าม บ.แม่เหว่ย, บ.แม่ลอ, บ.โกลาเฮง และ บ.แม่สลิด อ.ท่าสองยาง

ด่านตรวจค้นชายแดนไทย–พม่า จ.ตาก
ด่านตรวจค้นชายแดนไทย–พม่า จ.ตาก

ขณะที่ กกล.KNU พล.น.7 ปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ปากนกแก้ว ตรงข้าม อ.พบพระ ถึง อ.อุ้มผาง โดยมีฐานปฏิบัติการชั่วคราว ด้านตรงข้าม บ.พะดี และฐานเคลอะลอแจ๊ะ (KNU) ตรงข้าม บ.แม่กลองคี

และ กกล.DKBA กองพลน้อยโกล้ทูบอ กลุ่มนายนะคามวย ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น กกล.KKO (Klo Htoo Baw Karen organization) มีที่ตั้งกองบัญชาการที่ บ.ซอซี่เมี๊ยะ ตรงข้าม บ.มอเกอร์ไทย ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก โดยมีกำลังพลประมาณ 1,000 – 1,200 นาย ควบคุมพื้นที่ชายแดนตรงข้าม อ.อุ้มผาง-อ.พบพระ และ อ.ท่าสองยาง

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ภายหลังนโยบายการปกครองประเทศพม่าเปลี่ยนไป มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ทำให้เกิดการเจรจากับ กกล.ชกน.กตต.รัฐบาลพม่า จนในที่สุดได้บรรลุข้อตกลงหยุดยิงขั้นต้นกับรัฐบาลพม่าทุกกลุ่มแล้ว แต่ก็ยังคงวางกำลังในพื้นที่อิทธิพลบริเวณแนวชายแดนพม่าตามเดิม เพื่อรอการเจรจาในขั้นต่อไป

โดยเฉพาะจุดเสี่ยงล่าสุดที่อาจเกิดปัญหา คือ โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย เพื่อพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเชื่อมโยงพม่า ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติโครงการดังกล่าว ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้านจากหน่วยงานบางส่วนถึงความยังไม่พร้อมในหลายๆเรื่องก็ตาม

ทำให้ภัยคุกคามทางทิศตะวันตก “กองทัพไทย” ไม่อาจมองข้ามไปได้ และได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้น…