ThaiPublica > คนในข่าว > “วิไลพร – ธนชาติ” ถอดบทเรียนสึนามิญี่ปุ่นถึงบทเรียนไทย…แผนภัยพิบัติแห่งชาติ!

“วิไลพร – ธนชาติ” ถอดบทเรียนสึนามิญี่ปุ่นถึงบทเรียนไทย…แผนภัยพิบัติแห่งชาติ!

16 เมษายน 2012


เจ้าหน้าที่จัดการภัยพิบัติ อินโดนีเซียให้คำเตือนการอพยพเมื่อ 11 เมษายน 2555 ที่มาภาพ : the guardian.co.uk
เจ้าหน้าที่จัดการภัยพิบัติ อินโดนีเซียให้คำเตือนการอพยพเมื่อ 11 เมษายน 2555 ที่มาภาพ : www.guardian.co.uk

11 เมษายน 2555 เป็นอีกวันที่เสียงเตือนภัยสึนามิดังสนั่นใน 6 จังหวัดอันดามันของไทย เมื่อเกิดแผ่นดินไหว 8.6 ริกเตอร์ นอกชายฝั่งเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย แต่ครั้งนี้ไม่เกิดคลื่นยักษ์เนื่องจากเปลือกโลกขยับตัวในแนวราบ ไม่ใช่แนวดิ่งเหมือนปี 2547 เหตุการณ์ครั้งนี้นับว่าเป็นการซ้อมครั้งใหญ่ก็ว่าได้

ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นคือ ระบบการสื่อสาร โดยเฉพาะการสื่อสารซึ่งปัจจุบันไม่รู้ว่าหน่วยงานใดควรรับผิดชอบเรื่องนี้ ที่เป็นศูนย์แจ้งข่าวให้ประชาชนทราบ ปรากฏว่ามีการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คประมาณ 17.00 น.ของ “บรรจง นะแส” เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่อันดามันบอกว่า “รัฐบาลครับ…..ขอทีวีสักช่องให้ประชาชนภาคใต้ได้ติดตามเรื่องนี้หน่อย รวมศูนย์ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน ในแต่ละจุดๆ แจ้งให้ประชาชนทราบ วุ่นกันไปหมดแล้วครับ ได้โปรดเถอะครับ”

ขณะที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงการณ์เวลา 20.15 น. ซึ่งตอนนั้นศูนย์เตือนภัยสึนามิ มหาสมุทรแปซิฟิกของสหรัฐ ประกาศยกเลิกเตือนภัยสึนามิทุกพื้นที่แล้ว แต่นายกฯ ยังแถลงการณ์บอกให้เฝ้าระวังและคอยฟังข่าวจนกว่าจะประกาศยกเลิกการเตือนภัย

นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์ประชาชนในพื้นที่ที่หนีภัยสึนามิ ต่างพูดเหมือนกันว่าระบบการสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือล่ม ไม่สามารถติดต่อได้ นี่คือสภาพการติดต่อสื่อสารที่เป็นปัญหาทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติ (อ่านเพิ่มเติม)

หากย้อนไปก่อนหน้านี้ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ ศึกษาความเสี่ยงภัยพิบัติของประเทศไทย ซึ่งทางสภาพัฒน์ได้ว่าจ้างบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส จำกัด (PwC) ซึ่งนางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนบริษัทเคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าว่า โครงการนี้สภาพัฒน์ได้รับการมอบหมายจากสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ศึกษาความพร้อมประเทศไทยในการรับมือเหตุการณ์วิกฤตไม่ว่าภัยธรรมชาติ ภัยจากความมั่นคง โดยทางสภาพัฒน์ได้ว่าจ้าง pwc เป็นที่ปรึกษา ทำการสำรวจประเทศไทยว่า ณ ขณะนี้มีความพร้อมแค่ไหน และเปรียบเทียบกับ 5 ประเทศได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ (อ่านเพิ่มเติม)

จากการสอบถามเรื่องนี้จากสภาพัฒน์ ทราบว่างานวิจัยดังกล่าวได้นำเสนอสำนักนายกรัฐมนตรีไปแล้ว เพื่อส่งไปให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้

แผ่นดินไหวและสึนามิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อมีนาคม 2554 ที่มาภาพ : www.guardian co.uk
นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วน บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส จำกัด
นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วน บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส จำกัด

และก่อนหน้านี้ทางเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทยหรือซอฟท์แวร์พาร์ค ได้จัดสัมมนา lesson learned กรณีสึนามิ ญี่ปุ่น โดยเชิญ ดร.โทชิโอะ โอบิ มหาวิทยาลัยวาเซดะ ญี่ปุ่น มาถอดบทเรียนสึนามิปีที่แล้วโดยเฉพาะกรณีการสื่อสารให้ฟัง (ดูเพิ่มเติม และ ภาพเหตุการณ์)

สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้สัมภาษณ์ ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการซอฟต์แวร์พาร์ค และนางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส จำกัด ซึ่งได้เข้าร่วมงานดังกล่าว โดยประเด็นที่สัมภาษณ์เป็นมุมมองบทเรียนจากญี่ปุ่นถึงประเทศไทยต่อการวางแผนรับมือภัยพิบัติต่างๆ

ไทยพับลิก้า : กระบวนการสื่อสารตอนเกิดสึนามิญี่ปุ่นตอนนั้นทำอย่างไรบ้าง

วิไลพร – ดร.โอบิเล่าการสื่อสารว่าญี่ปุ่นเขาสื่อสารกันอย่างไร เขาเรียนรู้อะไรบ้างจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เขาประกาศกันอย่างไร เขาเล่าว่ามีเสียงตามสายในหมู่บ้าน มีลำโพงประกาศว่ามีสึนามิมา แต่พอเกิดจริงๆ ไม่ได้ยินหรอก เพราะมีเสียงดัง หรือบางทีคนอยู่ในบ้าน ซึ่งมันไม่เวิร์ค

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีคนสูงอายุเยอะ การสื่อสารแบ่งสื่อตามอายุคน สื่อที่เขาใช้เพื่อจะเข้าถึงคนได้มากที่สุด ได้แก่ ทีวี คอมพิวเตอร์ มือถือ โทรศัพท์ รัฐบาล โบรชัวร์ และอื่นๆ

“จากการที่ญี่ปุ่นมีคนสูงอายุมาก บางทีคนสูงอายุ ไม่ได้ใช้เฟซบุ๊ก ไม่มีทีวีก็ใช้วิทยุ ถ้าเป็นเด็กๆ ก็ใช้ไอโฟนทีเดียวกระจายไปเร็วมาก แต่เขาใช้ทีวี พีซี โบรชัวร์ และที่เขาเล่าให้ฟังคือ รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังจะเริ่มทำ emergency ที่เป็น device ไม่ว่ามือถือจะอยู่ในโหมดสั่น โหมดเงียบ ถ้ามีภัยพิบัติ เขาคิดว่าจะทำให้ทราบทางมือถือได้ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังคิดกันอยู่”

คนอายุ 70 ปี มีแค่ 3.4 % ที่มีมือถือ บางบ้านก็ไม่มีทีวี มีแต่วิทยุ บางพื้นที่มีไฟฟ้าก็อาจจะใช้วิทยุได้ ญี่ปุ่นเขาจึงต้องใช้ทุกสื่อ บางชนบทที่ยากจนจริงๆ ถ้าไม่มีทีวี/วิทยุจะทำอย่างไร จะสื่อสารด้วยอะไร ดังนั้นการดีไซน์ช่องทางการสื่อสารด้วยอะไร เขาก็คิดแก้ปัญหาวิธีการสื่อสารอยู่

ดร.ธนชาติ -เทียบการสื่อสารกรณีสึนามิกับน้ำท่วมบ้านเรา ช่องทางการสื่อสารบ้านเรายังเป็นปัญหาที่จะต้องเตรียมเรื่องภัยพิบัติว่า how to get information ผมว่าการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ประชาชนจะทราบข้อมูลได้อย่างไร ตั้งแต่ก่อนเกิด และเกิดแล้วจะสื่อสารอย่างไร ให้รู้ว่ามีคนเจ็บตรงไหน ต้องการความช่วยเหลืออย่างไร ผมว่าของไทยยังไม่มีแผนเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เลย

นี่คือปัญหาว่าเราจะวางรากฐานอย่างไร

หรือแม้กระทั่งง่ายๆ เช่น คำพูดบางคำพูดสื่อกันไม่เข้าใจ อาทิ น้ำท่วมถึงเข่า เข่าแต่ละคนไม่เท่ากัน มันเข่าใคร เรายังไม่เซ็ตมาตรฐานภาษาในการสื่อสาร มันไม่มี ไม่เหมือนต่างประเทศที่บอกได้ทันทีว่าคนนี้สูงเท่าไหร่ แต่เราไม่ถูกฝึกเรื่องพวกนี้ หรือบอกว่าระดับน้ำแค่ไหน บอกไม่ได้ นี่คือเราไม่เซ็ตมาตรฐานการสื่อสาร

ครั้งที่แล้วที่น้ำท่วม คนกรุงเทพฯ ตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุในบางพื้นที่ แต่บางพื้นที่ไม่เตรียมตัวเลย เพราะการสื่อสารที่เป็นปัญหา เราไม่มีข้อมูลในการที่จะเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติและหลังเกิดภัยพิบัติที่ดีพอ

วิไลพร – ที่จริงต้องแบ่งเป็นกลุ่มคน คือ ชาวบ้านทั่วไป และชาวบ้านก็ต้องแบ่งเป็นพื้นที่ พื้นที่ที่มีระบบการสื่อสารดีหรือไม่ และอีกกลุ่มคือ การสื่อสารระหว่างรัฐบาลด้วยกัน

ดร.โอบิเล่าว่า ญี่ปุ่นชอบใช้เปเปอร์เป็นหลัก แต่ในยามฉุกเฉินมันต้องการความเร็วในการตอบกลับ ญี่ปุ่นชอบใช้แฟ็กซ์เพราะต้องการหลักฐาน ก็กลายเป็นว่าในช่วงเกิดแผ่นดินไหว สึนามิ ส่งแฟกซ์กัน ซึ่งอาจจะไม่มีใครรับแฟ็กซ์ นั่นคือประสบการณ์ที่เกิดขึ้น จริงๆ เมื่อส่งแฟ็กซ์แล้วต้องโทรศัพท์ตาม กรณีของโรงงานนิวเคลียร์เท็ปโก้ เขียนไว้ว่าถ้าเกิดวิกฤต ให้ติดต่อผ่านแฟ็กซ์ ทำให้การแก้วิกฤตทำได้ช้า ไม่ทันท่วงที

“นี่ชี้ให้เห็นว่า นอกจากช่องทางการสื่อสารแล้ว ยังเป็นเรื่องวิธีการสื่อสารด้วย ดังนั้นในยามวิกฤต แฟ็กซ์นั้นลืมไปเลย โทรศัพท์ไปเลยดีกว่า ดังนั้น การขอเปเปอร์ อันนี้คงไม่ได้ในยามวิกฤต คงต้องเร็ว ไม่งั้นอพยพคนไม่ทัน ความเสียหายอาจจะสูงกว่าที่คิดไว้เยอะ”

ดร.ธนชาติ – เสริมนิดหนึ่ง communication panel อีกอันหนึ่งที่เป็นปัญหา อย่างโทรศัพท์มือถือ ถ้ามันล่ม แล้วยังไงต่อ บ้านเราไม่ได้เตรียมทางเลือกอื่นไว้รองรับว่าจะใช้ช่องทางไหน อย่างไร

วิไลพร – สิ่งสำคัญคือ ไฟฟ้า ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐาน critical infrastructure ไม่มีใครมาดูเรื่องนี้ แม้ว่าภาคเอกชนจะมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินแล้วที่เรียกว่า BCP (business continuity planning) แต่ถ้าระบบโครงสร้างพื้นฐานมันล่ม ถ้าไฟฟ้ามันล่ม เซลล์ไซต์มันล่มตาม แล้วเรามีแหล่งพลังงานสำรองไหม จะมีแผนรองรับอย่างไร ตอนนี้หลายประเทศทำข้อตกลงร่วมกันในยามฉุกเฉิน มีการทำดีลระหว่างประเทศในการยืมพลังงานสำรองกันแล้ว เพื่อให้เซลล์ไซต์ใช้ได้ ติดต่อสื่อสารได้ นี่คือถ้าไม่มีระบบสำรอง ทุกอย่างก็จะระนาบเป็นโดมิโน่ไปเลย

ดร.ธนชาติ – นี่ถือว่าเป็น disaster recovery เป็นประเด็นแรกๆ ที่ต้องคิดระดับประเทศเลย ที่ต้องไปปกป้องโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญหรือ critical infrastructure ถ้ามันล่มจะทำอย่างไรด้วย

วิไลพร – นี่คือเป็นประเด็นใหญ่ของประเทศ ต้องมีแผนรองรับ การป้องกันต้องมองเห็นภาพใหญ่ อย่ามองเป็นชิ้นๆ ต้องมองภาพใหญ่และอย่าไปปกป้องเป็นเชนๆ

ดร.ธนชาติ – อย่างกรณีสึนามิแถวสุมาตราที่อินโดนีเซีย ที่ระบบการสื่อสารมันล่มหมด เขาใช้แซทเทิลไลต์โมบายเป็นแบ็คอัพมาใช้สื่อสาร บางคนบอกว่ามันเก่าไปแล้ว แต่มันใช้ได้ มันมีประโยชน์ ของสหรัฐอเมริกาเขาก็มีระบบนี้เป็นแบ็คอัพ อย่างน้อยติดต่อกันได้ สั่งการกันได้

บ้านเราความตระหนักในประเด็นนี้ยังไม่มี แม้ว่าในส่วน Business Continuity Management (BCM) หรือมาตรฐานการบริหารจัดการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องภายใต้ภาวะวิกฤติ ภาคเอกชนมีการตระหนักมากขึ้นก็ตาม แต่ประเด็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยังไม่มีแบ็คอัพ อย่างเรื่องการสื่อสาร ถ้ามันล่ม มันติดต่อไม่ได้ จะทำอย่างไร

ผมเคยคุยกับเพื่อนในหน่วยงานหนึ่ง เขาบอกว่าถ้ามีน้ำท่วมเขาเตรียมรถขนของ ถามว่าใครดูแลเรื่องรถ ถ้ารถไม่มาทำอย่างไร เพราะเวลาเกิดวิกฤตจริงๆ ถ้ารถมาไม่ได้จะทำอย่างไร ถ้ามันหารถไม่ได้ แม้จะทำสัญญาเช่าไว้ก็ตาม นี่คือเบสิคพื้นฐานที่คนไม่เข้าใจ

วิไลพร – นี่ก็เป็นประเด็นเหมือนของญี่ปุ่นตอนนี้ มีอยู่เมืองหนึ่งมีคนอยู่ประมาณ 1 ล้านคน ชาวบ้านบอกว่าอย่าเพิ่ง activate เพราะมันอยู่บนภูเขา หากมีระเบิดเกิดขึ้น สารเคมีรั่ว เวลาอพยพมันอพยพยาก ยิ่งอยู่ที่สูงจะลงเขาอย่างไร จะอพยพคน 1 ล้านคนได้อย่างไร ลองนึกสภาพถนน ดังนั้นในเรื่องสภาพพื้นที่ ตั้งอยู่ตรงไหน ต้องมีการวางแผนในเรื่องนี้ด้วย แต่ของเรายังไม่เคยคิดว่าจะรับมือในการอพยพอย่างไร

ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์  ผู้อำนวยการซอฟต์แวร์พาร์ค
ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการซอฟต์แวร์พาร์ค

ดร.ธนชาติ – บ้านเรายังไม่ได้มีการเตรียมตัวที่ดีพอในการรับมือภัยพิบัติทุกประเภท อย่างสึนามิที่ภาคใต้เมื่อ 26 ธันวาคม 2547 ดูข่าวตอนเที่ยงยังไม่รู้ว่าเกิดคนตายเยอะแยะ แต่คนยังดูหนังดูละครอยู่ ผ่านมาปี 2554 เราไม่ได้ทำอะไรดีขึ้นกว่าเดิมเท่าไหร่ จากน้ำท่วมนครสวรรค์ที่กำแพงแตก แม้จะอพยพคนได้เร็ว แต่ยังไม่ดีมาก

“การสอนประชาชนให้เตรียมพร้อม ต้องมี แต่ยังไม่มีการสอนประชาชนให้รับรู้ว่าวิกฤตว่าต้องทำอย่างไร ไม่มีการซักซ้อม อย่างการจุดพลุเมื่อเกิดวิกฤต อย่างน้ำท่วมปีที่แล้ว ที่ปากเกร็ดบอกว่าให้คนดูพลุ แต่ก็มีคนมาจุดพลุเล่น อะไรอย่างนี้…เราไม่มีระบบที่ดีพอ ไม่มีแบบแผน”

วิไลพร – ต้องเอาแผน BCM ระดับประเทศมาทาบให้เห็น ตั้งแต่เราจะเริ่ม activate เมื่อไหร่ จะอพยพอย่างไร อพยพไปไหน เวลาเตรียมรับมือภัยพิบัติต้องมองในทุกกรณี เวลานี้คนมักจะมองว่า 5 เดือนน้ำจะท่วมจะทำอย่างไร แล้วถ้าน้ำย้อนศรล่ะ ถ้าไม่มาทางนครสวรรค์แต่มาจากทางอื่นจะทำอย่างไร BCM ต้องมีหลายซีนาริโอที่เลวร้ายสุดทุกซีนาริโอ เพราะคุณต้องพร้อมไม่ว่าจะเกิดอะไรตาม ปัจจุบันยังเป็นแนวแคบอยู่

ดร.ธนชาติ– ตอนนี้รัฐบาลมองแต่เรื่องน้ำท่วมอย่างเดียว อย่างหน่วยงานผม (หน่วยงานแม่คือ สวทช.) ประชุมกันว่ามีแผนรับมือภัยพิบัติอย่างไร เราก็ชี้แจงว่าเราไม่ได้รับมือแค่น้ำท่วม ถ้าน้ำไม่ท่วมล่ะ เกิดไฟไหม้ล่ะ หรือกลายเป็นเรื่องอื่นจะรับมือกันอย่างไร เราไม่มีหน่วยงานที่มาดูแลเรื่องนี้ แต่เรามองแค่ว่าน้ำท่วมครั้งหน้าจะทำอย่างไร เราไม่มีหน่วยงานที่จะทำ BCM เหมือนต่างประเทศ

“ประเทศไทยไม่มีแผน BCM สำหรับภัยพิบัติต่างๆ อย่างปีใหม่มีอยู่ปีหนึ่งที่มีระเบิด ถ้ามีระเบิดจริงๆ คนเหยียบกันตายจะทำอย่างไร เราไม่ถูกฝึกแบบญี่ปุ่น เขามีการซ้อม ผมว่าเรื่องแบบนี้มันต้องฝึก อย่างเราอยู่เมืองนอก ดึกๆ มาแล้ว ต้องซ้อม แผ่นดินไหวทำอย่างไร หลบใต้โต๊ะทำอย่างไร ของเราไม่มี และเราถือว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องน่ารำคาญ อย่างซ้อมหนีไฟ คนไม่สนใจ เป็นรูทีนไปแล้ว ชิน ไม่มีคนสนใจ”

หรือภัยพิบัติอื่น เช่น เขื่อนแตก ระบบไฟฟ้าดับ 2-3 จังหวัด ทำอย่างไรต่อ ต้องเริ่มมีการเทสต์ ควรมีการทำกรณีว่า เลวร้ายสุดจะทำอย่างไร คุณพร้อมแค่ไหน ตัดสินใจได้รวดเร็วแค่ไหน มันต้องมีซีนาริโอแพลนนิ่ง

วิไลพร – ญี่ปุ่นจะเริ่มทำแล้ว เขามีบทเรียนมาเยอะ และเขาเอาไปปรับเยอะเหมือนกัน แผนที่ดีต้องปรับเรื่อยๆ ตามความเสี่ยงของโลกที่เปลี่ยนไป และห้ามเมคแอสซัมชั่น อย่างโรงงานนิวเคลียร์ คาดว่าจะมีแผ่นดินไหว 7 ริกเตอร์ แต่เกิดจริงๆ 9 ริกเตอร์

ดร.ธนชาติ -“ผมว่านี่คือปัญหาของประเทศ สังคมเราไม่ทำอะไรให้เป็นระบบโครงสร้างที่ดี สังคมเราเป็น unstructured social และมันจะหนักขึ้นเรื่อยๆ หากไม่มีการวางแผนที่ดี ไม่มีระบบที่ดี และไม่มีคนรับผิดชอบ ปัญหาคือไม่มีใครรับต้องรับผิดชอบ ก็จะโยนกันไป หาเจ้าภาพไม่ได้”

แต่ถ้ามีภัยพิบัติในอนาคตจะทำอย่างไร ไม่ใช่แค่น้ำท่วม ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน จะรับมืออย่างไร จะต้องมีคนรับผิดชอบแค่ไหน อย่างไร

วิไลพร – จริงๆ ในยามที่เกิดภัยพิบัติ ตามหลัก BCM จะมีโครงสร้าง 2 แบบ 1. โครงสร้างยามปกติ จะต้องมีแผน หาวิธีป้องกัน ช่วยผลักดันให้เกิดการระมัดระวัง 2. ในยามฉุกเฉิน เพื่อให้การแก้ปัญหารวดเร็ว ต้องมีกระบวนการสั่งงานใหม่ที่สั่งตรงจากท็อปกาย ตรงมาที่ทีม BCM และทีมนี้ต้องมีอำนาจพอเพียงในการบริหารจัดการให้เกิดผลเดี๋ยวนั้น

ดร.ธนชาติ – ตามกฎหมายเรามี พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่แล้ว ที่ผ่านมาใช้ในกรณีเรื่องการเมืองเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่นำมาใช้ในกรณีภัยพิบัติ เรามองภาวะฉุกเฉินในเรื่องการยิงกัน จริงๆ ต้องมองภาวะฉุกเฉินมากกว่าเรื่องการการเมือง จะต้องมองโครงสร้างทั้งระบบ

ปัจจุบันเรามองแค่น้ำท่วม สิ่งที่เรารับทราบข้อมูลตอนนี้คือการป้องกันน้ำท่วม บางครั้งถึงจุดที่ป้องกันไม่ได้ มันต้องอพยพ ทำอย่างไร จะแจ้งข่าวอย่างไร อพยพอย่างไร อย่างคราวที่แล้วมีประกาศว่าน้ำท่วมแล้ว ต้องอพยพแล้ว แต่ประชาชนก็นั่งๆ อยู่บ้าน ฉันไม่ไปก็ได้ เมืองนอกนี่อย่างนี้ไม่ได้ ต้องออกไปจริงๆ แต่ของเราบอกให้อพยพ ยังสบายใจอยู่เลย มันเกิดอะไรขึ้น การบังคับของกฎหมายไม่มีผลเลย มันผิดหลักการ แสดงว่าระบบการสื่อสารไม่ดี

หรือบางทีการสื่อสารก็ไม่เข้าใจ บอกว่าคนที่อยู่บริเวณ “ทับช้างบน” ต้องอพยพ แล้วคนอยู่ “ทับช้างล่าง” ทำยังไง แล้วเราอยู่ตรงไหน ต้องอพยพแล้วหรือ แต่มันไม่เห็นมีอะไรวิกฤต เป็นต้น

วิไลพร – การสื่อสารให้ถูกต้อง อธิบายให้ชัด ไม่สับสน ต้องมีความน่าเชื่อถือ คนพูดต้องพูดให้เป็น ภัยพิบัติเป็นเรื่องต้องปฏิบัติตาม ให้มีคำสั่งออกมา แต่เนื่องจากของไทยมีการแก้ปัญหาแบบกระจายอำนาจ แต่ภาวะภัยพิบัติต้องรวมศูนย์ และการบริหารต้องมองภาพทั้งระบบ

การสื่อสารต้องชัด สมมติว่าถ้าน้ำท่วมแล้วต้องอพยพไปไหน อย่างไร จริงๆ ต้องดูตามพื้นที่แล้ว ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติแบบไหนเกิดขึ้น จะอพยพไปไหน อย่างเรื่องน้ำ ดูจากทิศทางการไหลของน้ำ การวิเคราะห์ต้องใช้ข้อมูลประกอบ เช่น เกิดภัยพิบัติเชียงใหม่ คุณจะไปไหน ถ้าเกิดที่ภูเก็ตคุณจะไปไหน ต้องมีทีม BCM มาวางแผน

ความเสี่ยงที่ PwC ศึกษาไว้ว่าจะมีภัยพิบัติอะไรที่จะเกิดขึ้นบ้าง (18 ประเภท) ต้องทำเป็นคู่มือให้ชัดเจน ภาคไหนจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเกิดภัยแบบนี้จะเอาที่ไหนเป็นศูนย์ มองให้ทะลุไปเลย เราจะได้ไม่ตื่นตระหนกเวลาเกิดภัยพิบัติ จะได้เตรียมความพร้อมไว้ก่อน ภัยจากตรงนี้ ถ้าต้องอพยพจะอพยพอย่างไร อพยพไปไหน จังหวัดนี้มีคนเท่านี้ ถ้าต้องอพยพภายใน 3 วัน จะต้องอพยพอย่างไร

ไทยพับลิก้า : ศูนย์ดูและภัยพิบัติควรเป็นหน้าที่ใคร

วิไลพร – หน่วยป้องกันสาธารณภัย (ปภ.) ของกระทรวงมหาดไทย แต่เท่าที่ทราบแผน ปภ. ทุกจังหวัดเหมือนกันหมด

ดร.ธนชาติ – เวลาเกิดภัยพิบัติคนที่ไม่มีอำนาจต้องถอย ปล่อยให้คนมีอำนาจตัดสินใจ ทีม BCM ต้องมี ผมมองดูเหตุการณ์เกิดสึนามิ น้ำท่วม ส่วนใหญ่นักการเมืองจะเข้ามามีบทบาท ทำให้การแก้ปัญหาภัยพิบัติได้ไม่ดีพอ ทำให้ข้าราชการเกรงใจ งานไม่เดินตามแผน ดังนั้น ถ้ามี BCM คนที่ไม่เกี่ยวข้องต้องถอย คอมมานด์ไลน์ต้องชัดเจน ใครใหญ่แค่ไหนก็ตามหากไม่ใช่หน้าที่ของคุณ คุณต้องถอยออกไป

“ผมว่าเราไม่มี BCM ทำให้การแก้ปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ไม่ดีพอ ต้องปรับที่โครงสร้าง”

วิไลพร – การรับมือภัยพิบัติต้องวิเคราะห์แผนประเทศ พื้นที่ไหนมีความเสี่ยง หากมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องซ้อมแผน พื้นที่ต่างกัน แผนควรต่างกัน เช่น 3 จังหวัดภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน แต่ละพื้นที่ต่างกัน แผนก็ต้องต่างกัน

ดร.ธนชาติ – ผมว่าการแก้ปัญหาไม่ยากเกินไป เพียงแค่ทำให้เป็นระบบ ให้ความสำคัญกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ปัจจุบันแผน BCM ของประเทศเป็นแค่แผนป้องกันภัยฉุกเฉินเฉพาะด้าน ต้องไม่ใช่แค่ป้องกันน้ำท่วม เพราะมีภัยพิบัติหลายประเภท เพราะถ้าเป็น BCM จริงต้องมองทะลุ แจ้งข่าวอย่างไร อพยพอย่างไร การสื่อสารล่มแล้วทำอย่างไร ทำงานต่ออย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้มันเกิด

แต่นี่เรามาคิดเรื่องการป้องกันน้ำท่วม มันคนละประเด็น เพราะบางทีไม่ใช่แคน้ำท่วม อาจจะไฟไหม้ ระเบิดลง จะทำอย่างไร

วิไลพร – คงต้องฝึกมองภาพใหญ่ ไม่ใช่รั่วแล้วอุด เราเห็นประเด็นหรือยัง อย่ามองแค่จุดๆ แก้ทีละประเด็น หากรั่วทั้งหมดก็ตายกันหมด ดังนั้นถ้ามีแผนระดับประเทศ ก็มีแผนจังหวัด แผนองค์กร ตอนนี้หากมีแผนประเทศก็จะทำได้ง่ายขึ้นว่าจะวางแผนอย่างไร