ThaiPublica > คอลัมน์ > นักเศรษฐศาสตร์ไทยหายไปไหน?

นักเศรษฐศาสตร์ไทยหายไปไหน?

17 เมษายน 2012


ดร.วิรไท สันติประภพ
[email protected]

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีนโยบายเศรษฐกิจทั้งระดับจุลภาคและมหภาคหลายนโยบายที่กระทบต่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความมั่นคงด้านการเงินการคลังในระยะยาว นโยบายเหล่านี้ทำให้คนบางกลุ่มได้ประโยชน์และคนบางกลุ่มเสียประโยชน์ ซึ่งกลุ่มที่ได้ประโยชน์มักออกมาสนับสนุน ในขณะที่กลุ่มที่เสียประโยชน์อาจออกมาต่อต้านบ้าง แต่ก็ไม่เข้มแข็งเท่ากับกลุ่มผู้ได้ประโยชน์ เพราะหลายนโยบายมีลักษณะได้กระจุก-เสียกระจาย หรือกลุ่มคนเสียประโยชน์อาจมองไม่เห็นผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวของประเทศไทย

ในขณะนี้ยังมีวัฒนธรรม mob เป็นใหญ่ การตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจหลายครั้งจึงจบลงด้วยการวัดจำนวนคนที่ได้ประโยชน์ มากกว่าที่จะคำนวณให้ชัดเจนและมีการถกเถียงกันอย่างโปร่งใส ว่าคนไทยโดยรวมได้หรือเสียประโยชน์อย่างไร ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ที่น่าประหลาดใจคือ บทบาทของนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งควรทำหน้าที่สร้างความกระจ่างให้สังคมเกี่ยวกับผลได้ผลเสียของนโยบายเศรษฐกิจค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย

ในประเทศใดก็ตามที่นักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ทำหน้าที่นักเศรษฐศาสตร์ (หรือถูกกีดกันไม่ให้สามารถทำหน้าที่นักเศรษฐศาสตร์ได้อย่างตรงไปตรงมา) ประเทศนั้นมักจะมีปัญหาในระยะยาว ทั้งด้านขีดความสามารถในแข่งขันและเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ

ความน่ากลัวนี้จะทวีคูณ ถ้ารัฐบาลนิยมดำเนินนโยบายแทรกแซงกลไกตลาด ชอบดำเนินนโยบายเชิงรุกแบบรวบรัด โดยหวังแต่ผลระยะสั้น (เพราะคำนึงแต่ผลทางการเมืองเป็นหลัก) หรือนิยมที่จะใช้มาตรการเศรษฐศาสตร์มหภาคเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐศาสตร์จุลภาค (เช่น ชอบให้ค่าเงินอ่อนเพื่อช่วยผู้ส่งออกที่ความสามารถในการแข่งขันลดลงจากนโยบายบิดเบือนในประเทศ)

การแยกไม่ออกระหว่างปัญหาระดับมหภาคกับจุลภาคเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก นักการเมืองชอบแก้ปัญหาจุลภาคด้วยมาตรการเศรษฐกิจมหภาค เพราะการออกมาตรการเศรษฐกิจมหภาคไม่ต้องคิดซับซ้อนยุ่งยาก ต่างจากมาตรการเศรษฐกิจจุลภาค ที่ต้องเข้าใจกลไกตลาด ต้องแก้ปัญหาทีละเปลาะ และต้องจัดแรงจูงใจและการแบ่งปันผลประโยชน์ให้ลงตัว แต่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจจุลภาคด้วยมาตรการมหภาคมักจะขาดความรอบคอบ เพราะนิยมดูผลดีเฉพาะส่วนมากกว่าที่จะคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งระบบ

ผมเชื่อว่าสังคมในวันนี้ต้องการให้นักเศรษฐศาสตร์มีส่วนร่วม วิเคราะห์ผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล และวิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลได้อย่างตรงไปตรงมา แต่บทบาทของนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจกลับเลือนหายไปตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในระยะหลังมักจะถูกกำหนดจากบนลงล่าง โดยทีมงานยุทธศาสตร์การตลาดของพรรคการเมือง ที่ให้ความสำคัญต่อฐานเสียงที่จะได้ประโยชน์ และความง่ายในการนำแต่ละมาตรการไปโฆษณาหาเสียงเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง มากกว่าที่จะคำนึงถึงผลดีหรือผลเสียของเศรษฐกิจโดยรวม

ในช่วงหลังนี้ เราไม่ค่อยเห็นนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งนักเศรษฐศาสตร์เป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยกลั่นกรองนโยบายเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ข้าราชการในหน่วยงานที่ควรทำหน้าที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ มักจะทำตามที่นักการเมืองสั่งมากกว่าที่จะนำเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบจากล่างขึ้นบน นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะหลังจึงเป็นแบบแยกส่วน เป็นการบริหารเศรษฐกิจทีละมาตรการ มากกว่าที่จะมียุทธศาสตร์ในภาพใหญ่ ไม่ค่อยคำนึงว่าแต่ละมาตรการจะสร้างความเบี่ยงเบนและเกิดผลกระทบอย่างไร

มาตรการทางเศรษฐกิจจึงมักตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทีละเรื่องแทนที่จะชี้นำตลาด ที่สำคัญ เราแทบไม่ได้ยินนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูประบบเศรษฐกิจเลย ทั้งๆ ที่ประเทศไทยต้องการการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างแรงในหลายด้าน เพื่อให้หลุดจากกับดักประเทศกำลังพัฒนาและวิ่งตามเพื่อนบ้านได้ทัน

ในทางตรงกันข้าม เรากลับเห็นรัฐบาลชอบหยุดการปฏิรูปที่กำลังเกิดขึ้นไม่ให้เดินหน้าต่อไป

ปัญหาด้านเศรษฐศาสตร์ของประเทศไทยนับแต่จะเพิ่มมากขึ้นและซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่บทบาทของนักเศรษฐศาสตร์ไทยกลับค่อยๆ เลือนหายลง เราไม่ค่อยเห็นนักเศรษฐศาสตร์ออกมาวิเคราะห์และวิจารณ์มาตรการทางเศรษฐกิจที่ไม่เข้าท่าเหมือนในอดีต ขาดบรรยากาศการถกเถียงนโยบายเศรษฐกิจกันอย่างสร้างสรรค์และเปิดเผย

นักเศรษฐศาสตร์ไทยมีพื้นที่ในสื่อต่างๆ น้อยลง จนหลายคนสงสัยว่านักเศรษฐศาสตร์ไทยหายไปไหน โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยและนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานด้านนโนบาย

คงต้องยอมรับความจริงว่าเมืองไทยวันนี้ขาดนักเศรษฐศาสตร์ในช่วงอายุสี่สิบกลางๆ ถึงห้าสิบกลางๆ เราไม่มีนักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลังที่เป็นผู้นำทางความคิด และได้รับการยอมรับทางสังคมเหมือนคนรุ่น ดร.อัมมาร สยามวาลา หรือ ดร.เสนาะ อูนากูล

คนช่วงอายุสี่สิบกลางๆ ถึงห้าสิบกลางๆ ในวันนี้ จบปริญญาตรีในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่จึงไม่ค่อยนิยมเรียนต่อด้านเศรษฐศาสตร์ เพราะผลตอบแทนของคนที่เรียนต่อด้านเศรษฐศาสตร์ต่ำกว่าคนที่เรียนต่อด้านการเงินหรือบริหารธุรกิจมาก สถานที่ทำงานสำหรับคนที่ต้องการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ด้านนโยบายก็มีจำกัด หลายคนที่จบปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์เข้าไปรับราชการสักระยะหนึ่งจะถูกกลืนโดยระบบราชการ งานหลักมักเป็นการช่วยหาเหตุผลสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองมากกว่าที่จะเสนอความเห็นต่าง หรือเสนอนโยบายเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

ระบบอุดมศึกษาของไทยในขณะนี้ ไม่ส่งเสริมให้นักเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยทำงานด้านนโยบาย เพราะจะต้องให้ความสำคัญกับการการผลิตผลงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ที่มักจะหนีไม่พ้นการสร้างโมเดลด้วยคณิตศาสตร์ชั้นสูง ในภาคธุรกิจ นักเศรษฐศาสตร์กลับได้รับความสำคัญมากขึ้น สถาบันการเงินและบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งมีนักเศรษฐศาสตร์ประจำ แต่นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ทำหน้าที่หลักเพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจ และมักไม่กล้าวิจารณ์มาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาล

ในวันนี้อาจมีเพียงสองสถาบันในประเทศไทย ที่มีนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่เข้ามาเสริมทัพเพื่อทำงานนโยบายโดยต่อเนื่อง คือธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย แต่บทบาทในการชี้นำการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและการวิจารณ์นโยบายของทั้งสองสถาบันก็ดูจะลดลงไปจากเดิมมาก

ธนาคารแห่งประเทศไทยมีนักเศรษฐศาสตร์เก่งๆ จำนวนมาก แต่การทำงานมักจะถูกตีกรอบอยู่เพียงเรื่องของนโยบายการเงินและนโยบายสถาบันการเงิน ขาดการสร้างองค์ความรู้ในมิติอื่นของเศรษฐกิจไทยอย่างรอบด้าน รวมทั้งวัฒนธรรมองค์กรทำให้พนักงานค่อนข้างเก็บตัว คนไทยจะไม่รู้จักนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารแห่งประเทศไทยจนกว่านักเศรษฐศาสตร์เหล่านั้นจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงพอ

นอกจากนี้ เกือบทุกรัฐบาลมักจะแกล้งไม่เข้าใจบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย การเสนอความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างตรงไปตรงมา จึงถูกมองว่าไม่สนองนโยบาย เราต้องไม่ลืมว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในหลายสถานการณ์จึงต้องทำหน้าที่ทวนกระแสเมื่อเห็นว่าระบบเศรษฐกิจมีความเสี่ยงในระยะยาว

โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยคือ ทำอย่างไรที่นักเศรษฐศาสตร์จะมีบทบาทในการกำหนดและชี้นำนโยบาย รวมทั้งวิเคราะห์และวิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจได้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้คนไทยเข้าใจถึงผลดีผลเสียของแต่ละนโยบายได้อย่างชัดเจนประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนมากขึ้น ถ้าปล่อยให้บทบาทของนักเศรษฐศาสตร์ไทยเลือนหายลงเรื่อยๆ แล้ว ไม่เพียงแต่นักเศรษฐศาสตร์ไทยจะสูญพันธ์เท่านั้น เศรษฐกิจไทยอาจพังลงได้ในระยะยาวเหมือนกับที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติปี 2540 และที่กำลังเกิดอยู่ในหลายประเทศ เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

คงต้องขอร้องท่านรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ รับเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติด้วยนะครับ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 เมษายน 2555