ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > รัฐบาลเร่งล้างท่อ งบน้ำท่วม 1.2 แสนล้านให้หมดภายในส.ค. นี้ จี้ปลัดมหาดไทยบี้ผู้ว่าฯ ใช้เป็นเคพีไอ “โยกย้าย”

รัฐบาลเร่งล้างท่อ งบน้ำท่วม 1.2 แสนล้านให้หมดภายในส.ค. นี้ จี้ปลัดมหาดไทยบี้ผู้ว่าฯ ใช้เป็นเคพีไอ “โยกย้าย”

20 เมษายน 2012


หลังจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบกลางวงเงิน 120,000 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ ขณะนี้วงเงินดังกล่าวมีการเบิกจ่ายน้อยมาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง โดยศูนย์ปฎิบัติการขับเคลื่อนการบริหารงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (กบภ.) จัดทำระบบติดตามความก้าวหน้าของการใช้งบประมาณและโครงการช่วยเหลือและป้องกันน้ำท่วม โดยทำเว็บไซต์ www.pmocflood.com ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องต้องรายงานข้อมูลความคืบหน้าทุกโครงการอย่างละเอียด พร้อมภาพถ่ายประกอบซึ่งสามารถตรวจสอบสภาพล่าสุดได้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การทำระบบการรายงานข้อมูลนี้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตามตรวจสอบแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด ว่าดำเนินการไปถึงไหนแล้ว เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการเร่งด่วนต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้เพื่อป้องกันน้ำท่วมในปีนี้

“ข้อมูลจะลงลึกเป็นรายภาค รายจังหวัด รายโครงการ พร้อมภาพถ่ายโครงการตั้งแต่เริ่มดำเนินการ ดังนั้นการตรวจสอบจะทราบว่าแต่ละโครงการเบิกจ่ายเงินไปเท่าไหร่ ทำงานแล้วเสร็จไปแค่ไหน จังหวัดไหนที่ล่าช้าจะปักธงแดง หรือภาคไหนล่าช้ามากน้อยแค่ไหน ข้อมูลจะโชว์ทั้งหมด ระบบนี้จึงเป็นเครื่องมือให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยวัดเคพีไอของผู้ว่าราชการจังหวัด และจะนำข้อมูลนี้มาเป็นตัวชี้วัดในเรื่องการโยกย้ายด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ล่าสุดมีคำสั่งจากนายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรงมหาดไทยส่งถึงเลขาธิการ ก.พ.ร. เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2555 โดยระบุว่า จากคำสั่งนายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการบริหารการช่วยเหลือผู้ประสบสบอุทกภัย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2555 ให้ทุกส่วนราชการที่ได้รับงบประมาณ เพื่อดำเนินการตามโครงการต่างๆ เร่งรัดติดตามการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ให้รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามระบบติดตามความก้าวหน้าผ่านเว็บไซต์ www.pmocflood.com และให้กระทรวงมหาดไทยนำผลการดำเนินงานในการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาในพื้นที่ไปประกอบการแต่งตั้งหรือโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย

ในหนังสือระบุอีกว่า จากภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ในนามปลัดกระทรวงมหาดไทยจึงขอรับ User ID และ Password ที่สามารถสืบค้นข้อมูลการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามระบบผ่านเว็บไซต์ www.pmocflood.com เพื่อใช้ควบคุม กำกับ ติดตาม เร่งรัดการดำเนินการรายงานจากผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ควบคุมดูแลโดยตรง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับโครงการเร่งด่วนวงเงิน 120,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมปี 2554 (จ่ายชดเชย 5,000 บาท/ครัวเรือน และเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย) และโครงการป้องกันน้ำท่วมปี 2555 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,282 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการสำหรับทำพื้นที่แก้มลิง ทำฝาย ขุดลอกคูคลอง ซ่อมแซมถนน คลอง อาคารเรียน โบราณสถาน เป็นต้น ซึ่งเป็นโครงการรับเหมาก่อสร้างเป็นส่วนใหญ่

ล่าสุด ณ 11 เมษายน 2555 สำนักงบประมาณได้จัดสรรวงเงินไปแล้ว 118,343.10 ล้านบาท (98.6%) ในวงเงินนี้มีโครงการที่ลงนามในสัญญาแล้ว 68,543.48 ล้านบาท แต่เบิกจ่ายจริง 44,340.67 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มส่วนกลาง (ส่วนราชการ 200 กรม) เบิกจ่าย 36,621.72 ล้านบาท คิดเป็น 56.64%, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,728.34 ล้านบาท คิดเป็น 18.49%, ภาคเหนือ 1,602.04 ล้านบาท คิดเป็น 13.3%, ภาคใต้ 253.98 ล้านบาท คิดแป็น 17.56%, ภาคกลางและโครงการ flagship (โครงการที่นายกรัฐมนตรีลงตรวจพื้นที่ทั้งภาคกลาง ภาคกลางตอนบน ภาคเหนือ และลุ่มน้ำทั้งหมดวงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรับผิดชอบ) เบิกจ่ายจริง 29.21ล้านบาท คิดเป็น 0.74%

แหล่งข่าวจากผู้รับเหมาก่อสร้างระบุว่า สาเหตุของความล่าช้าของโครงการที่ยังไม่มีการประมูลและเบิกจ่ายเงินนั้น ส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ในช่วงเจรจาต่อรองกับผู้รับเหมาเพื่อให้จ่าย 8% ของมูลค่าโครงการ ประกอบกับมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 ให้ปรับราคากลางใหม่ต่ำลงมาอีกประมาณ 10% เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริง จึงทำให้การประมูลงานล่าช้า

ดังนั้น จากข้อมูลการเบิกจ่ายเงินณ 11 เมษายน 2555 เบิกจ่ายได้แค่ 37% หรือ 44,340.67 ล้านบาท จำนวน 1,290 โครงการ ด้วยเหตุนี้นายกรัฐมนตรีจึงได้เร่งรัดในเรื่องนี้ หากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจยังไม่ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนการประกาศประกวดราคา หรือกรณีดำเนินการเองที่ยังไม่ได้เริ่มปฏิบัติตามแผนฯ ภายในวันที่ 30 เมษายน 2555 ให้สำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมและความจำเป็นในการดำเนินการโครงการอีกครั้ง หากเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของแผนงานตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 ก็ให้แจ้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ให้นำเสนอโครงการดังกล่าวต่อคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เพื่อพิจารณาใช้จ่ายจากเงินกู้ดังกล่าวต่อไป

สำหรับตัวอย่างการเบิกจ่ายและการใช้เงิน เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ วันที่ 11 เมษายน 2555 วงเงินที่ได้รับการอนุมัติและจัดสรร 9,358.15 ล้านบาท จำนวน 543 โครงการ มีการทำสัญญาแล้ว 6,070.40 ล้านบาท แต่วงเงินเบิกจ่ายจริง 1,728.34 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.47

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับวงเงิน 9,358.15 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจังหวัดได้แก่ ขอนแก่น 2,272 ล้านบาท, อุดรธานี 919 ล้านบาท, อุบลราชธานี 908 ล้านบาท, นครราชสีมา 777 ล้านบาท, ชัยภูมิ 708 ล้านบาท, ศรีสะเกษ 528 ล้านบาท, กาฬสินธ์ 472 ล้านบาท, สุรินทร์ 466 ล้านบาท, ร้อยเอ็ด 383 ล้านบาท, มหาสารคารม 329 ล้านบาท, ยโสธร 313 ล้านบาท, นครพนม 265 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในเว็บไซต์สามารถแยกดูรายละเอียดเป็นรายจังหวัดรายโครงการ เช่น จังหวัดขอนแก่น นำเงินไปใช้สำหรับโครงการย่อย อาทิ 1. ปรับปรุงซ่อมแซมแหล่งน้ำจำนวน 628 แหล่ง หน่วยงานที่รับผิดชอบคือกรมทรัพยากรน้ำ วงเงิน 587 ล้านบาท 2. รายการปรับปรุงซ่อมแซมแหล่งน้ำจำนวน 500 แห่ง หน่วยงานที่รับผิดชอบคือกรมทรัพยากรน้ำ วงเงิน 553 ล้านบาท 3. โครงการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานเร่งด่วนทางสายหลักและโครงข่ายสำคัญที่ได้รับความเสียหาย หน่วยงานที่รับผิดชอบคือกรมทางหลวง วงเงิน 288 ล้านบาท 4. โครงการฟื้นฟูทางหลวงชนบท หน่วยงานรับผิดชอบคือกรมทางหลวงชนบท วงเงิน 196 ล้านบาท เป็นต้น

สำหรับการเบิกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินครัวเรือนละ 5,000 บาทนั้น (อยู่ในงบกลาง 120,000 ล้านบาท) สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณให้แล้ว 13,175.56 ล้านบาท สำหรับ 2,635,111 ครัวเรือน ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สำรวจและแจ้งธนาคารออมสินแล้ว จำนวน 2,080,532 ครัวเรือน เป็นเงิน 10,402.66 ล้านบาท และ ณ วันที่ 25 มีนาคม 2555 ธนาคารออมสินจ่ายเงินให้ประชาชนแล้วจำนวน 1,966,064 ครัวเรือน เป็นเงิน 9,830.32 ล้านบาท ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. จังหวัดต่างๆรวม 55 จังหวัด มีจำนวน 1,235,882 ครัวเรือน เป็นเงิน 6,277.88 ล้านบาท ธนาคารออมสินจ่ายจริงถึงมือประชาชนแล้ว 1,235,882 ครัวเรือน เป็นเงิน 6,179.41 ล้านบาท คิดเป็น 98.43% ทั้งนี้มี 3 จังหวัดที่จ่ายจริงถึงประชาชนต่ำกว่าร้อยละ 90 ได้แก่ ฉะเชิงเทรา 68.25%, ปทุมธานี 84.03% และสมุทรสาคร 85.37%

2. กรุงเทพมหานคร จำนวน 598,051 ครัวเรือน เป็นเงิน 2,990.26 ล้านบาท ธนาคารออมสินจ่ายถึงมือประชาชนแล้ว 555,149 ครัวเรือน เป็นเงิน 2775.75 ล้านบาท เฉลี่ยร้อยละ 92.83