ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > อุบายสร้างวินัยการออม: การเงินพฤติกรรม 2.0

อุบายสร้างวินัยการออม: การเงินพฤติกรรม 2.0

19 เมษายน 2012


สฤณี อาชวานันทกุล

ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึงบทบาทที่ขาดไม่ได้ของ “การออม” ในการจัดการกลุ่มการเงินชุมชน หรือ “องค์กรการเงินฐานราก” ในภาษาทางการของกระทรวงการคลัง

สมัยก่อนการออมไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญสำหรับคนไทย ชาวบ้านใช้ระบบลงแขก พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในการดำรงชีวิต ขาดเหลืออะไรก็ขอหรือแลกกัน ยามชราก็อาศัยความกตัญญูกตเวทีของลูกหลาน ตามประเพณีอันดีงาม

เมื่อใดที่ทุนสังคมในชุมชนแข็งแกร่ง ทุนการเงินของปัจเจกก็ไม่จำเป็นต้องมีมาก และดังนั้นการออมจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ในสังคมสมัยใหม่ทุนสังคมอ่อนแอ ลูกหลานพึ่งพาไม่ค่อยได้เพราะลำพังตัวเองยังเอาตัวไม่ค่อยรอด เงินกลายเป็นปัจจัยที่ห้าในการดำรงชีวิต

ในเมื่อเราขาดเงินไม่ได้ แต่ชีวิตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การออมจึงจำเป็น

ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา เศรษฐศาสตร์แขนงใหม่ชื่อ “การเงินพฤติกรรม” (behavioral finance) ส่วนผสมระหว่างจิตวิทยากับเศรษฐศาสตร์ มุ่งทำความเข้าใจกับความผิดพลาดเรื่องเงินของมนุษย์ งานวิจัยและทดลองในหลายประเทศทั่วโลกของนักการเงินพฤติกรรมได้ข้อสรุปว่า ปัญหาการมีเงินแต่ออมเงินไม่ได้นั้น (หมายถึงคนที่มีเงินให้ออม ไม่รวมผู้ยากไร้ที่ไม่มีอะไรจะออม) ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะผู้มีรายได้น้อยอย่างเช่นสมาชิกของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของคนทุกคนไม่ว่าจะจนหรือรวย ไม่เว้นแม้แต่มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้สม่ำเสมอ (และดังนั้นเราจึงอาจคิดว่า ง่ายมากที่เขาจะออม)

ข้อค้นพบหลักๆ ของการเงินพฤติกรรมคือ คนเรามีข้อบกพร่องโดยธรรมชาติสามประการที่ทำให้การออมเป็นเรื่องยากมาก ข้อบกพร่องนั้นได้แก่ ความเฉื่อย (inertia) ความรังเกียจการสูญเสีย (loss aversion) และอาการสายตาสั้น (myopia)

“ความเฉื่อย” หมายถึงการที่คนเราปกติไม่อยากออกแรง แม้แต่เรื่องเล็กน้อย เช่น ถ้าหากบริษัทโทรคมนาคมให้เราส่งข้อความไปบอกว่า “ไม่อนุญาต” ให้บริษัทส่งข้อความ (SMS) โฆษณาต่างๆ มาหาเราทางมือถือ เราส่วนใหญ่จะรู้สึกขี้เกียจเกินกว่าจะส่ง ทำให้บริษัทได้กำไรง่ายๆ จากความเฉื่อยของผู้บริโภค แต่ถ้าการไม่อนุญาตให้ส่งข้อความโฆษณาเป็นตัวเลือกอัตโนมัติหรือ “ค่าเริ่มต้น” (default) ผู้บริโภคคนไหนที่อยากอ่านจะต้องบอก กรณีนี้บริษัทจะมีรายได้น้อยกว่าเดิมมาก แต่ผู้บริโภคจะชอบใจมากกว่า

ด้วยเหตุนี้ ระบบการคุ้มครองผู้บริโภคยุคใหม่จึงต้องคำนึงถึง “ความเฉื่อย” ของคน เพื่อกำหนดว่ากรณีใดควรเป็น “ค่าเริ่มต้น” ของบริการ

การที่คนมีความเฉื่อยแปลว่า การให้คนเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยอัตโนมัติ (คือถ้าใครไม่อยากเป็นสมาชิกต้องขอลาออก) จะช่วยสร้างหลักประกันว่าคนจะมีเงินออมได้ดีกว่าถ้าให้พวกเขาลงมือสมัครเป็นสมาชิกเอง (ตัวอย่างกรณีหลังเช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพไทย ซึ่งยังเป็นแบบ opt-in คือคนต้องสมัครเป็นสมาชิกเอง)

ข้อบกพร่องโดยธรรมชาติของมนุษย์ประการที่สองคือ “ความรังเกียจการสูญเสีย” หมายถึงความรู้สึกที่ห้ามไม่ได้ของเราเวลาที่ “เสีย” อะไรไป ถึงแม้ว่าเราจะได้มันมาฟรีๆ ก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าอยู่ดีๆ มีคนมาให้เงินเราฟรีๆ 2,000 บาท แล้วหลังจากนั้นยึดคืนไป 1,500 บาท เราจะรู้สึกแย่กว่าถ้าหากเขาให้เงินเรา 500 บาท ทั้งที่เราลงเอยด้วยเงินเท่ากันทั้งสองกรณี คือ 500 บาท งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าความรู้สึกนี้ไม่ได้มีแต่ในมนุษย์เท่านั้น แต่สัตว์ที่เป็นญาติสนิทของมนุษย์อย่างลิงก็มีความรู้สึกนี้เช่นกัน แสดงว่าความรังเกียจการสูญเสียเป็นข้อบกพร่องใน “สันดาน” ของเราเลยทีเดียว

ความหมายของข้อบกพร่องนี้ต่อพฤติกรรมการออมเงินคือ ธรรมชาติของเรามองว่าการออมคือการสูญเสีย เพราะการกันเงินจำนวนหนึ่งไว้สำหรับอนาคตเท่ากับต้องลดรายจ่ายในปัจจุบัน เมื่อสมองของเราตั้งสมการ ออม=สูญเสีย การออมจึงเป็นเรื่องที่ทำยากมาก

ข้อบกพร่องโดยธรรมชาติข้อสำคัญอีกข้อที่นักการเงินพฤติกรรมค้นพบคือ “อาการสายตาสั้น” (นักเศรษฐศาสตร์บางคนเรียกว่า “อคติชอบปัจจุบัน” หรือ present bias) เป็นภาวะที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด เพราะเราทุกคนคุ้นเคยดีกับความรู้สึกที่ว่า การทำอะไรที่ต้องเสียสละความสุขในวันนี้เพื่อความสุขในวันหน้า เช่น การลดน้ำหนัก ช่างเป็นเรื่องที่ทรมานจิตใจและยากเย็นแสนเข็ญ การออมก็เช่นกัน – เรารู้ดีว่าการออมนั้นดีกับตัวเราในอนาคต แต่วันนี้ขอใช้เงินก่อนเถอะ ไว้ปีหน้าค่อยว่ากันใหม่ แน่นอนว่าเมื่อคิดอย่างนี้แล้ว “ปีหน้า” ก็ไม่เคยมาถึงเลย

ในเมื่อคนเรามีความเฉื่อย รังเกียจการสูญเสีย และสายตาสั้น นั่นแปลว่าวินัยการออมเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความอดทนและอุตสาหะส่วนตัว หรืออุบายแยบยลที่อาศัยทุนวัฒนธรรมมาหลอกล่อ แบบที่พระอาจารย์สุบิน ปณีโต ทำ เท่านั้นใช่หรือไม่

คำตอบคือไม่เสมอไป อุบายหนึ่งที่ใช้ได้ดีมากสำหรับการกระตุ้นให้มนุษย์เงินเดือนสะสมเงินออมได้ คือโครงการ “ออมเพิ่มในวันพรุ่ง” (Save More Tomorrow) คิดค้นโดยนักการเงินพฤติกรรมแนวหน้าของโลกสองคน คือ ชโลโม เบนาร์ทซี กับ ริชาร์ด เธเลอร์

ริชาร์ด เธเลอร์
ริชาร์ด เธเลอร์

โครงการนี้ไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มเงินออมของมนุษย์เงินเดือน แต่ปัจจุบันยังถูกบรรจุอยู่ในกฎหมายคุ้มครองบำนาญของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้บริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลกกว่าร้อยละ 60 ยังดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ในฐานะหัวใจของสวัสดิการพนักงาน

โครงการออมเพิ่มในวันพรุ่งนำข้อค้นพบหลักของการเงินพฤติกรรมมาใช้อย่างทรงพลัง

ในเมื่อคนมีความเฉื่อย โครงการจึงกำหนดให้พนักงานทุกคนเป็นสมาชิกของโครงการโดยอัตโนมัติ ถ้าอยากออกต้องลาออก (opt-out) ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงสามารถออมได้ในฐานะสมาชิก เพราะขี้เกียจลาออก

ในส่วนของการแก้ปัญหาสายตาสั้นและความรังเกียจการสูญเสีย โครงการนี้แก้ปัญหาด้วยการสัญญาว่าจะเพิ่มอัตราการออมในอนาคตก็ต่อเมื่อพนักงานได้ขึ้นเงินเดือน จนถึงระดับสูงสุดที่ตกลงกัน (เช่น 10% ของเงินเดือน) ดังนั้นพนักงานจึงไม่รู้สึกเดือดร้อน เพราะโครงการจะออมให้ในอนาคตเท่านั้น และจะหักเงินเฉพาะจากรายได้ “ส่วนเพิ่ม” ทำให้ไม่รู้สึกว่าต้องลดรายจ่ายในวันนี้เพื่อชดเชยเงินออมในวันพรุ่ง

“ออมเพิ่มในวันพรุ่ง” ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม โดยเฉลี่ยสมาชิกของโครงการออมเงินได้มากกว่าคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกว่า 2 เท่าตัว เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี พนักงานชอบมากเพราะรู้สึกว่าพอได้ขึ้นเงินเดือน พวกเขาไม่ต้องลดค่าใช้จ่าย (ระดับปัจจุบัน) เพราะมีเงินใช้มากขึ้นอยู่แล้วจากเงินเดือนส่วนเพิ่ม หลังจากที่บริษัทโอนส่วนเพิ่มบางส่วนเข้าบัญชีสำรองเลี้ยงชีพ

ชโลโม เบนาร์ทซี
ชโลโม เบนาร์ทซี

เบนาร์ทซีเล่าในการบรรยาย งาน TEDTalk เดือนพฤศจิกายน 2011 ตอนหนึ่งว่า

“ครั้งแรกที่เราลงมือทำ[โครงการนี้] ริชาร์ด เธเลอร์ กับผม ทำในปี 1998 ให้กับบริษัทขนาดกลางในภาคตะวันตกตอนกลาง[ของอเมริกา] คนงานระดับล่างดิ้นรนหมุนเงินเดือนชนเดือน พวกเขาย้ำกับเราว่า ออมมากกว่าเก่าทันทีไม่ได้เลย ให้ออมเพิ่มวันนี้ไม่มีทาง เราเชิญให้พวกเขา[ยอมอนุญาตให้บริษัทโอนเงิน]ออมมากกว่าเดิม 3 เปอร์เซ็นต์ ทุกครั้งที่ได้ขึ้นเงินเดือน และนี่คือผลลัพธ์ครับ ในช่วงเวลาสามปีครึ่งมีการขึ้นเงินเดือนสี่ครั้ง คนที่ดิ้นรนอยากออมได้ออม 3 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน ถัดมาสามปีครึ่ง พวกเขาออมได้มากกว่าเดิมสี่เท่า คือเกือบ 14 เปอร์เซ็นต์

อัตราการออมของลูกจ้าง ระหว่างสมาชิกโครงการ "ออมเพิ่มในวันพรุ่ง" กับผู้ไม่ได้เป็นสมาชิก
อัตราการออมของลูกจ้าง ระหว่างสมาชิกโครงการ "ออมเพิ่มในวันพรุ่ง" กับผู้ไม่ได้เป็นสมาชิก

“สิ่งที่ ริชาร์ด เธเลอร์ กับผม รู้สึกอัศจรรย์ใจเสมอมา คือการ[ที่เราสามารถ]ทำให้การเงินเชิงพฤติกรรมเป็นการเงินเชิงพฤติกรรมโฉมใหม่ หรือ การเงินเชิงพฤติกรรม 2.0 หรือการเงินเชิงพฤติกรรมภาคปฏิบัติ – เราพลิกอุปสรรคให้เป็นวิธีแก้ปัญหา”

หมายเหตุ: ดูคลิปบรรยายฉบับเต็มของ ชโลโม เบนาร์ทซี พร้อมซับไตเติลภาษาไทย ได้บนเว็บ TED

การเงินพฤติกรรมกับธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง

ระหว่างที่นักการเงินพฤติกรรมนำข้อค้นพบของพวกเขาไปประยุกต์ใช้ในโลกจริง ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินกระแสหลักจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้นำข้อค้นพบไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจกองทุนรวมและธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (wealth management) ของตัวเอง มีผู้ประเมินว่าในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว กองทุนครึ่งหนึ่งของ 200 กองทุนเน้นมูลค่าที่ซื้อหุ้นขนาดเล็ก (small-cap) ใช้การเงินพฤติกรรมในการเลือกลงทุน สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อย่าง J.P. Morgan Asset Management ใช้แนวคิดการเงินพฤติกรรมในการวางกลยุทธ์การลงทุน นักการเงินพฤติกรรมแถวหน้าอย่างเธเลอร์กับเบนาร์ทซีเดินสายให้คำปรึกษาเป็นกิจวัตร

ปัจจุบันนอกจากจะสอนหนังสือและทำวิจัย เบนาร์ทซียังดำรงตำแหน่ง “หัวหน้าทีมเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม” ประจำศูนย์การเงินพฤติกรรมของ Allianz สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของโลก ศูนย์นี้ก่อตั้งปี 2010

ย้อนไปปี 2005 วารสารวิชาชีพของสมาคมนักวางแผนทางการเงิน (Financial Planners Association) ของอเมริกา ตีพิมพ์บทความทรงอิทธิพลชื่อ “The Future of Wealth Management: Incorporating Behavioral Finance into Your Practice” เขียนโดย ไมเคิล พอมเพียน และ จอห์น ลองโก สองนักวางแผนทางการเงินมากประสบการณ์ บทความชิ้นนี้อธิบายวิธีประยุกต์ใช้การเงินพฤติกรรมในการให้คำปรึกษาแก่ลูกค้า และยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ผู้เขียนทั้งสองเสนอว่านักวางแผนทางการเงินควรตัดสินใจว่าจะ “บรรเทา” อคติเชิงพฤติกรรม (หมายถึงข้อผิดพลาดโดยธรรมชาติ) หรือจะ “ปรับตัวเข้าหา” อคติเหล่านั้นของลูกค้า (เช่น ถ้าลูกค้าอยากเอาเงิน 100% ไปซื้อหุ้นก็ยอมทำตาม) หรือทำทั้งสองอย่างแต่ให้น้ำหนักต่างกัน โดยใช้หลักพื้นฐานสองข้อดังต่อไปนี้

หลักข้อ 1. ยิ่งลูกค้ารวยเท่าไร นักวางแผนทางการเงินควร “ปรับตัวเข้าหา” อคติทางการเงิน ยิ่งรวยน้อยเท่าไร ยิ่งควรพยายาม “บรรเทา” อคติ เหตุผลคือคนที่รวยน้อยมีแนวโน้มที่ชีวิตจะเดือดร้อนถ้าหากการลงทุนล้มเหลวสูงกว่าคนที่รวยมาก คนที่รวยมากแม้ล้มเหลวชีวิตความเป็นอยู่ยังไม่กระเทือน ดังนั้นนักวางแผนทางการเงินจึงต้องหาทางบรรเทาอคติเชิงพฤติกรรมของลูกค้าที่รวยน้อย ปล่อยลูกค้าที่รวยมากให้มีอคติบ้างก็ไม่เป็นไร

หลักข้อ 2. อคติเชิงพฤติกรรมทั้งหมดของคนเราแบ่งได้กว้างๆ เป็นสองประเภท คือ อคติการรับรู้ (cognitive bias) เกิดจากการใช้เหตุผลผิดๆ (เหตุผลวิบัติ) และอคติทางอารมณ์ (emotional bias) เกิดจากความรู้สึก อคติการรับรู้แก้ได้ด้วยการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง แต่อคติทางอารมณ์แก้ยากกว่ามากเนื่องจากเป็นเรื่องของความรู้สึก พอมเพียนกับลองโกจึงเสนอว่านักวางแผนทางการเงินควร “บรรเทา” อคติการรับรู้ของลูกค้า แต่ “ปรับตัวเข้าหา” อคติทางอารมณ์

หลักพื้นฐานสองข้อข้างต้นสรุปเป็นแผนภาพได้ดังนี้

หลักการสองข้อของพอมเพียนกับลองโก
หลักการสองข้อของพอมเพียนกับลองโก

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าคุณสมพรอายุ 60 ปี รังเกียจความเสี่ยง จำได้แม่นยำว่าญาติของเธอเคยสูญเสียเงินทั้งหมดตอนตลาดหุ้นตกในวิกฤตปี 1997 แต่จำช่วงที่หุ้นขาขึ้นไม่ได้

คุณสมพรมีอคติเชิงพฤติกรรมสองประการ คือความรังเกียจการสูญเสีย (loss aversion) และการเลือกจำ (selective memory) อคติสองข้อนี้แปลว่าถ้านักวางแผนทางการเงินแนะนำให้เอาเงิน 100% ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล คุณสมพรก็น่าจะเห็นด้วยทันที

อย่างไรก็ตาม คุณสมพรไม่ได้ร่ำรวยมาก ถ้าเอาเงินทั้ง 100% ไปซื้อพันธบัตร ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำแต่ก็ให้ผลตอบแทนต่ำด้วย เธออาจมีเงินไม่พอใช้ในอนาคต นอกจากนี้อคติเชิงพฤติกรรมของเธอยังเป็นแบบอคติการรับรู้ ซึ่งแก้ไขได้ด้วยการนำเสนอข้อมูลให้เธอเข้าใจว่าจะเสี่ยงอย่างไรถ้าซื้อพันธบัตร 100% ฉะนั้นในกรณีนี้ หลักของพอมเพียนกับลองโกเสนอว่า สิ่งที่นักวางแผนทางการเงินควรทำคือ “บรรเทา” อคติเชิงพฤติกรรมของคุณสมพร แนะให้เธอรับความเสี่ยงสูงขึ้นเล็กน้อยในพอร์ตการลงทุน เช่น แบ่งเงิน 15% ไปซื้อหุ้น เพื่อให้มั่นใจว่าเธอจะมีเงินพอใช้ในอนาคต