ThaiPublica > คอลัมน์ > โลกร้อน ร้อน

โลกร้อน ร้อน

9 เมษายน 2012


อภิชาต สถิตนิรามัย
[email protected]

มีการประเมินว่าระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในบรรยากาศโลกปัจจุบันมีค่า 430 ส่วนในล้านส่วน (ppm.) และจะเพิ่มเป็น 450 ส่วนในสามปีข้างนี้ หากปล่อยให้ความเข้มข้นเพิ่มเป็น 500 ส่วนแล้ว ณ ความเข้มข้นนี้จะมีโอกาสถึง 95% ที่โลกจะร้อนขึ้นมากกว่า 2 องศานับจากปีพ.ศ.2393 และจะมีโอกาส 3% ที่ความร้อนจะเพิ่มมากกว่า 5 องศา

ในขณะที่โลกร้อนขึ้นเพียง 0.8 องศาเท่านั้นนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2393 ถึงปัจจุบัน แต่ถ้าโลกเราร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซ CO2 ลงเหลือ 400 ส่วนได้แล้ว โอกาสที่โลกจะร้อนขึ้นมากกว่า 2 องศาจะลดลงถึง 50% แต่หากเราปล่อยให้โลกเป็นไปเช่นปัจจุบัน ประเมินว่าความเข้มข้นของก๊าซจะเพิ่มขึ้นเป็น 525-550 ส่วนใน 30 ปีข้างหน้า และจะยากมากที่จะป้องกันไม่ให้มันเพิ่มขึ้นเป็น 600 ส่วน หากภาพสุดท้ายนี้เกิดขึ้นจริงแล้ว โลกก็จะเข้าสู่ฉากอวสานอย่างแท้จริง

สาระสำคัญของการประเมินข้างต้นเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ประเด็นปัญหาจึงไม่ใช่การประเมินความเสี่ยงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่เป็นเรื่องว่าจะทำอย่างไรเพื่อลดการปล่อยก๊าซ CO2 ลง ซึ่งคงจะเป็นประเด็นสำคัญในที่ประชุมสุดยอดด้านสิ่งแวดล้อมโลก ณ กรุงริโอในเดือนมิ.ย.นี้ (Rio+20)

หากให้เดาแล้ว ผลการประชุมคงมีแค่คำประกาศที่เต็มไปด้วยสำนวนโวหารหรูๆ เพื่อสร้างภาพแห่งความหวัง แต่คงไม่มีผลด้านปฏิบัติมากนัก ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับการประชุมระดับนานาชาติจำนวนมาก

ทำไมจึงมองโลกในแง่ร้ายเช่นนี้?

แม้กระทั่งมองจากมุมของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก โดยไม่ต้องพูดถึงแนวคิดกระแสรอง ที่มองปัญหาอย่างถึงราก (radical) ต้นตอการปล่อยก๊าซมากเกินไปนั้น เป็นตัวอย่างคลาสสิกหนึ่งของปัญหาความล้มเหลวของกลไกตลาดที่ผู้ก่อต้นทุนต่อสิ่งแวดล้อมไม่ต้องจ่าย หรือจ่ายชดเชยความเสียหายน้อยกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้น

พูดอีกแบบคือราคาสินค้าที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานฟอสซิลนั้น ถูกตั้งราคาต่ำเกินไป (เมื่อมองจากมุมโลกร้อน) จึงทำให้มีการบริโภคพลังงานมากเกินไป ดังนั้นความเข้มข้นของก๊าซ CO2 ในบรรยากาศจึงสูงเกินไป

โลกเราเสพติดน้ำมันราคาถูกมาอย่างยาวนาน หากวัดด้วยอำนาจซื้อที่แท้จริงของเงินดอลล่าร์ (real purchasing power of $) ราคาน้ำมันดิบต่อบาเรลในกลางทศวรรษที่ 2533 นั้นไม่ได้แพงไปกว่าเมื่อปี พ.ศ.2443 เลย เอาเข้าจริงแล้ว ราคาแท้จริงของน้ำมันดิบเพิ่งเริ่มแพงขึ้นหลังปีพ.ศ.2546 นี้เอง

จากมุมมองนี้ วิธีแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซฯ มากเกินไปสามารถทำได้ง่ายๆ โดยเพิ่มราคาน้ำมันและราคาพลังงานจากฟอสซิลทุกชนิดให้สูงขึ้น โดยเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอย่างถาวร เมื่อราคาพลังงานฟอสซิลสูงขึ้น การบริโภคจะลดลง ในขณะเดียวกันก็จะจูงใจให้คนหันไปผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานลมและแสงแดด ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ขอย้ำว่าราคาพลังงานฟอสซิลจะต้องสูงอย่างถาวรหรือสูงอย่างมีเสถียรภาพ เพราะการใช้กลไกราคาเพื่อเบี่ยงเบนพฤติกรรมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เข้าสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนนั้น จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าผู้ผลิตและผู้ค้นคิดเทคโนโลยี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่มีความมั่นใจว่าโลกจะหันหลังให้กับพลังงานฟอสซิล เพราะสินค้าใหม่เหล่านี้ต้องมีการลงทุนขั้นต้นจำนวนมาก ซึ่งจะไม่สามารถทำกำไรได้ หากไม่มีความต้องการสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่องในจำนวนที่มากพอ

พูดอีกแง่หนึ่ง เทคโนโลยี่ใหม่หลายชนิดจะต้องมีปริมาณการใช้ที่มากพอ สินค้านั้นจึงจะเกิดได้ ตัวอย่างเช่นการใช้รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนจะเป็นจริงได้ ก็ต่อเมื่อมีเครือข่ายปั้มไฮโดรเจนที่เพียงพอ แต่ผู้ที่จะลงทุนในปั้มพลังงานใหม่นี้จะลงทุนก็ต่อเมื่อเขาแน่ใจว่า จะมีผู้ใช้รถไฮโดรเจนในจำนวนที่มากพอ หรือในเทคโนโลยี่ใหม่บางประเภทผู้บริโภคไม่กล้าเริ่มใช้เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย เช่นรถยนต์พลังไฮโดรเจน ซึ่งจะทำให้กลุ่มผู้เริ่มใช้เบื้องต้นไม่เพียงพอต่อการลงทุนเครือข่ายปั้มใหม่

ปัญหางูกินหางแบบนี้แก้ได้โดยให้รัฐทำตัวเป็นผู้เริ่มต้นสร้างตลาดใหม่ขึ้น เช่นกำหนดว่ารถใหม่ทุกคันของรัฐจะต้องใช้พลังงานไฮโดรเจน เป็นต้น

สรุปคือ รัฐจะต้องเป็นผู้นำในการวางกรอบโครงสร้างแรงจูงใจในระดับรากฐานของการเปลี่ยนประเภทพลังงาน ทั้งในแง่การขึ้นภาษีและสร้างตลาดพลังงานสีเขียวขึ้นใหม่ ข้อสรุปนี้ไม่มีอะไรแปลกพิศดารเลยในหมู่นักเศรษฐศาสตร์

แต่ทำไมความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาจึงมีน้อยมากในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา?

คำตอบแรกคือ เรื่องโลกร้อนเป็นปัญหาข้ามพรมแดน ซึ่งจะไม่สำเร็จหากไม่มีความร่วมมือระหว่างประเทศ ตัวอย่างที่แย่ที่สุดคือประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีระดับการปล่อยก๊าซต่อหัวประชากรสูงสุดในโลก กลับปฏิเสธที่จะเซ็นสัญญาระหว่างประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซ

ในกรณีนี้ หากสมมุติว่าประเทศอื่น เช่นยุโรป ตกลงที่จะแก้ปัญหาตามวิธีข้างต้นแล้ว กิจการจำนวนมากของยุโรปก็จะย้ายข้ามฝากสู่อเมริกา ซึ่งราคาพลังงานจะถูกกว่ามาก แล้วค่อยผลิตสินค้าส่งกลับมาขายยุโรป เศรษฐกิจยุโรปก็จะอ่อนแรงลง ในขณะที่เศรษฐกิจของอเมริกาจะเติบโตขึ้น เป็นไปได้ที่ยุโรปจะแก้ปัญหาโดยขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากอเมริกาเป็นการตอบโต้ แต่ในฉากนี้ทั้งคู่ก็จะสูญเสียประโยชน์จากการค้าเสรีระหว่างประเทศไป และหากอเมริกาไม่ลดการปล่อยก๊าซลง ความพยายามของยุโรปก็จะไร้ความหมาย เพราะปริมาณปล่อยก๊าซมวลรวมของอเมริกามีมหาศาล ตัวอย่างการขึ้นภาษีพลังงานฟอสซิลเพื่อแก้โลกร้อนจึงเป็นไปได้ยาก หากไม่มีการร่วมมือระหว่างประเทศในระดับพอเพียงที่จะช่วยกันแบกรับภาระต้นทุนที่จะเกิดกับเศรษฐกิจ

ต่อเนื่องจากประเด็นแรก ตัวอย่างข้างต้นเป็นการต่อรองระหว่างประเทศที่มีความร่ำรวยใกล้เคียงกัน แต่สำหรับประเทศเกิดใหม่ขนาดใหญ่ เช่น จีน อินเดีย แม้ว่าจะยังมีระดับการปล่อยก๊าซต่อหัวต่ำ แต่เนื่องจากมีประชากรจำนวนมากและเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ระดับการปล่อยก๊าซมวลรวมของทั้งสองประเทศจึงมีมาก และเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว ส่วนกลุ่มประเทศที่เหลือก็มีแนวโน้มที่จะปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจขยายตัว ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจะปล่อยก๊าซระดับคงที่

ในอนาคตแนวโน้มของการปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จึงจะมาจากประเทศที่ยังไม่ร่ำรวยในปัจจุบัน ดังนั้นการลดก๊าซจะไม่มีทางสำเร็จหากประเทศเหล่านี้ไม่ร่วมมือ แต่กลุ่มประเทศเหล่านี้โต้แย้งอย่างสมเหตุสมผลว่า หากจะให้ตนรับภาระลดก๊าซเท่ากับประเทศรวยแล้วก็จะไม่ยุติธรรม เพราะระดับก๊าซสะสมในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นฝีมือของประเทศรวยแล้วในอดีต และเท่ากับการสาบแช่งตนให้ยากจนตลอดไป

ดังนั้น ณ ปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาจึงตกลงกันได้เพียงแค่ระดับหลักการว่า ทั้งคู่มีภาระร่วมกัน แต่มีระดับความรับผิดชอบแตกต่างกัน (common but different responsibility) ซึ่งแปลว่าแต่ละประเทศต้องรับภาระมาก-น้อยอย่างไรนั้น ยังต้องต่อรองกันอีกนาน

สรุปคือ ประชาคมโลกทั้งระหว่างประเทศรวยแล้ว และระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศรวยแล้ว ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะแบ่งปันภาระการลดก๊าซระหว่างกันอย่างไรให้ยุติธรรม ในขณะที่ต่อรองกันไม่เสร็จสิ้น แต่ภาวะโลกร้อน ร้อนขึ้น โดยไม่หยุดรอข้อตกลงจากเวทีการเมืองระหว่างประเทศ แล้วภาระเราในฐานะปัจเจกชนของโลกจะอยู่ที่ใดในขณะนี้?

คงไม่เพียงพอที่จะทำเพียงแค่นำถุงผ้าไปจ่ายตลาด หรือร่วมรณรงค์รักษ์ไม้ใหญ่ในกรุงเทพ แล้วรู้สึกดีกับตัวเองเท่านั้น ใช่ไหม?