ThaiPublica > คอลัมน์ > เสรีภาพ ความมั่นคง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์: บทเรียนจากอเมริกาสู่ไทย

เสรีภาพ ความมั่นคง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์: บทเรียนจากอเมริกาสู่ไทย

6 เมษายน 2012


ตะวัน มานะกุล

“เสรีภาพ” เป็นคำเจ้าปัญหาสำหรับทุกที่ในโลก เพราะในขณะที่หลักการทางสังคมอื่นๆ ล้วนเกิดขึ้นเพื่อบอกผู้คนว่าเขาต้องทำหรือไม่ทำอะไร “เสรีภาพ” กลับเกิดขึ้นเพื่ออธิบายว่าทำไมคุณจึงไม่ต้องเชื่อหลักการเหล่านั้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็น “เสรีภาพ” เรียงหน้าทะเลาะกับสรรพหลักการ ไม่ว่าจะเป็นหลักทางการเมือง กฎหมาย ศาสนา วัฒนธรรม ไม่เว้นแม้แต่ทะเลาะกับ “เสรีภาพ” ด้วยกันเอง เช่น ประเด็นถกเถียงที่ว่า เรามีสิทธิใช้เสรีภาพละเมิดเสรีภาพคนอื่นหรือไม่

หากเปรียบการเมืองกับการทำกับข้าว หนังสือเรื่อง Freedom for the thought that we hate ของ Anthony Lewis คือการบอกเล่ากระบวนการคลุกเคล้าส่วนผสมเจ้าปัญหาที่ชื่อว่า “เสรีภาพ” เข้าไปในอาหารจานใหญ่ที่ชื่อว่าสังคมอเมริกัน ซึ่งแน่นอนว่าต้องขัดแย้งกับส่วนผสมอื่นๆ และใช้เวลานานกว่าจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง

ในสภาพการณ์ที่สังคมไทยกำลังโต้เถียงระดับแตกหักในประเด็นเรื่องเสรีภาพ หนังสือของ Lewis คงไม่อาจมอบทางออกสำเร็จรูปให้แก่สังคมไทย แต่น่าจะช่วยชี้ให้เราเห็นว่า แม้เสรีภาพมีแนวโน้มจะเป็นปฏิปักษ์กับหลักการ ค่านิยมอื่นๆ ในสังคม แต่ปัญหาดังกล่าวไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยการเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง (เช่น จะเอาเสรีภาพหรือสถาบันฯ) แต่เป็นเรื่องของการแย่งชิงพื้นที่หาความลงตัวเพื่อตี “เส้น” กำหนดขอบเขตของเสรีภาพในแต่ละยุคสมัย

ว่าด้วย “เสรีภาพ” ในสังคมอเมริกา

“สภาฯ จะต้องไม่ผ่านกฎหมาย…ลดทอนเสรีภาพในการพูดและการพิมพ์…” 1
(บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1)

ประเทศอเมริกาไม่ได้กำเนิดมาพร้อมเสรีภาพ เอาเข้าจริง เสรีภาพในการพูดและการพิมพ์เพิ่งถูกรับรองครั้งแรกในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (First Amendment) ซึ่งบังคับใช้เมื่อ ค.ศ. 1791 หลังประกาศอิสรภาพจากอังกฤษถึงสิบห้าปี และกว่าจะมีการตีความประยุกต์ใช้เนื้อความในกฎหมายนี้อย่างลงหลักปักฐานก็ล่วงเลยมาถึง ค.ศ. 19312 ก่อนหน้านั้น การพูดและการเขียนอาจนำไปสู่การถูกจับกุม พิพากษาปรับ จำคุก หรือแม้กระทั่งแขวนคอ3

นอกจากนี้ ในระบบการเมืองอเมริกา พัฒนาการทางกฎหมายในแต่ละรัฐไม่ได้ดำเนินไปเป็นเนื้อเดียวกัน พื้นที่เสรีภาพที่ถูกรับรองในที่หนึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้ในอีกพื้นที่หนึ่งไปโดยปริยายจนกว่าการต่อสู้คดีจะถูกส่งต่อจนถึงศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกา (Supreme Court of the United states) แล้วผู้พิพากษาเสียงข้างมากจากทั้งหมดเก้าคนมีคำตัดสินเปลี่ยนแปลงกฎหมายในรัฐนั้นๆ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เส้นทางสู่เสรีภาพในอเมริกาจึงไม่ได้สวยงามราบรื่นอย่างที่มักเข้าใจกัน

บนเส้นทางการต่อสู้อันยาวไกล ชาวอเมริกันถือให้บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 เป็นหมุดหมายเริ่มต้นของ “เสรีภาพ” ในอเมริกา ทั้งที่เอาเข้าจริงบทบัญญัติฯ ดังกล่าวมีถ้อยคำสำคัญในประเด็นดังกล่าวอยู่เพียงสิบสี่คำ ซึ่งย่อมไม่ละเอียดเพียงพอสำหรับการบังคับใช้โดยไม่ต้องอาศัยการตีความเพิ่มเติม4

เมื่อ “เส้น” เลือนรางการตีความก็เกิดขึ้น นับแต่ประกาศใช้ First Amendment กว่าเสรีภาพจะขยายขอบเขตเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของอเมริกันชนทุกวันนี้ ต้องผ่านการต่อสู้ทางความคิด วิวาทะ หรือแม้แต่การลงไม้ลงมือกันจริงๆ5หลายครั้ง ในหนังสือ Lewis บอกเล่าว่า หากอเมริกันชนปัจจุบันย้อนมองอดีตอาจไม่เชื่อและไม่เข้าใจแนวคิดการจำกัดเสรีภาพที่บรรพบุรุษบางส่วนของตนพยายามทำ ซึ่งในจำนวนคู่ชกทั้งหลายที่เสรีภาพอเมริกาต้องเผชิญ ผู้เขียนเห็นว่าประเด็นเรื่อง “ความมั่นคง” และ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์”6น่าจะเป็นกรณีศึกษาเร่งด่วนที่สังคมไทยควรสนใจ

“เสรีภาพ” กับ “ความมั่นคง”

“มันคงจะเป็นความจริงสากล ที่การสูญเสียเสรีภาพภายในบ้านคือค่าใช้จ่ายสำหรับบทบัญญัติป้องกันอันตรายภายนอก ทั้งอันตรายที่แท้จริงหรือถูกเสแสร้งขึ้น”

(เจมส์ เมดิสัน7 กล่าวถึง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปลุกระดมต่อต้านรัฐบาล 1798)

“เสรีภาพ” กับ “ความมั่นคง”ถือเป็นหนึ่งในคู่ชกตลอดกาลในทางการเมือง ทั้งนี้เพราะแนวคิดเรื่องความมั่นคงเป็นความชอบธรรมพื้นฐานที่สุดที่อนุญาตให้รัฐสามารถใช้อำนาจต่อประชาชน ในขณะเดียวกัน เสรีภาพก็เป็นความชอบธรรมพื้นฐานที่สุดที่อนุญาตให้ประชาชนปฏิเสธอำนาจรัฐ แม้แต่ในดินแดนเสรีภาพ ข้ออ้างที่ถูกหยิบยกขึ้นมาลดทอนพื้นที่เสรีภาพบ่อยที่สุด จวบจนปัจจุบันก็คือข้ออ้างเรื่อง “ความมั่นคง” หรือถ้อยคำอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

การปะทะกันครั้งแรกเริ่มขึ้นตั้งแต่กระบวนการก่อตั้งสาธารณรัฐ ในช่วงเวลาที่ประเด็นเรื่องการจำกัดอำนาจรัฐบาลเป็นเจตจำนงเอกฉันท์ของสังคมอเมริกา วิธีการหนึ่งที่ถูกนำเสนอขึ้นมาคือ การเรียกร้องให้กำหนดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐบาลไม่อาจละเมิดได้ ในเรื่องนี้ นักคิดประชาธิปไตยคนสำคัญอย่างเจมส์ เมดิสัน กลับไม่เห็นด้วย ทั้งนี้มิใช่เพราะเขาเกลียดกลัวเสรีภาพ แต่เป็นเพราะเขาเห็นว่าลำพังกลไกแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจนั้นเป็นการจำกัดอำนาจรัฐบาลอยู่แล้ว การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนจะเท่ากับการยอมรับอำนาจของเสียงข้างมากมากเกินไป จนรัฐบาลไม่มีอำนาจจะหยุดยั้งความรุนแรงที่อาจเกิดจากประชาชนได้ อย่างไรก็ตาม ในภายหลังเมดิสันได้เปลี่ยนความคิด และกลายเป็นผู้ผลักดันบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 เข้าสู่สภาฯ(Lewis, 2007: p. 8-10)8

ในช่วงเวลาต่อมาไม่นาน ประธานาธิบดีจอห์น อดัมส์9 ได้ผลักดัน พ.ร.บ.ว่าด้วยการปลุกระดมต่อต้านรัฐบาล 179810 ผ่านรัฐสภาฯ ซึ่งให้อำนาจลงโทษผู้ที่เป็นภัยต่อรัฐบาล แม้เนื้อหาของกฎหมายจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพ และเพิ่มอำนาจในการกดขี่ของผู้ปกครอง แต่ฝ่ายผู้สนับสนุนกฎหมายอ้างว่า รัฐธรรมนูญนั้นเพียงยกเลิกอำนาจในการยับยั้งเสรีภาพ แต่ไม่ได้ห้าม “การลงโทษที่จะตามมา”(Lewis, 2007: p.16) ซึ่งหลังบังคับใช้กฎหมายเพียงไม่นาน สังคมอเมริกาก็ได้เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเล่นงานคู่แข่งทางการเมืองอย่างไร11

ในการแข่งขันเลือกตั้งระหว่างประธานาธิบดี จอห์น อดัมส์ ประธานาธิบดีในขณะนั้น กับโทมัส เจฟเฟอร์สัน รองประธานาธิบดีที่แตกกลุ่มทางการเมืองออกมาเนื่องจากสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ ไม่เห็นด้วยที่อดัมส์ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว เจฟเฟอร์สันต้องประสบความยากลำบากในระหว่างการหาเสียง เพราะกฎหมายว่าด้วยการปลุกระดมต่อต้านรัฐบาลไม่อนุญาตให้วิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดี แต่บทบัญญัติกลับไม่ครอบคลุมคุ้มครองเจฟเฟอร์สันซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในขณะนั้น กลุ่มผู้สนับสนุนเจฟเฟอร์สันจำนวนมากจึงถูกจับกุมภายใต้กฎหมายดังกล่าว และที่น่าตลกที่สุดคือ กฎหมายฉบับนี้มีกำหนดหมดอายุลงหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง(Lewis, 2007: p.12-13)

อย่างไรก็ตาม ประชาชนอเมริกาประกาศไม่ยอมรับกฎหมายดังกล่าว ด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกเจฟเฟอร์สัน เป็นประธานาธิบดีคนใหม่อย่างท่วมท้น

ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงในการจำกัดพื้นที่เสรีภาพ ความพยายามในลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา เช่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเย็น หรือแม้แต่สงครามอิรักในปัจจุบัน

บรรทัดฐานครั้งสำคัญสำหรับการพิจารณาความขัดแย้งระหว่างเสรีภาพกับความมั่นคง เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1919 เมื่อกลุ่มผู้อพยพชาวรัสเซียในอเมริกาคนหนึ่งแจกใบปลิวมีเนื้อหาเรียกร้องให้คนงานหยุดงานประท้วงรัฐบาล กรณีตัดสินใจส่งกองทหารเข้าแทรกแซงการปฏิวัติที่กำลังเกิดขึ้นในรัสเซีย แม้ว่าเสียงข้างมากของศาลสูงฯ ตัดสินจำคุกยี่สิบปีจำเลยสามคนและสิบห้าปีหนึ่งคน ภายใต้ พ.ร.บ.จารกรรม ค.ศ. 1917 (Espionage Act of 1917) แต่ความเห็นของผู้พิพากษาโฮล์ม12 ตุลาการเสียงข้างน้อยคนหนึ่ง ได้กลายเป็นหมุดหมายอ้างอิงของเสรีภาพในสังคมอเมริกาจวบจนปัจจุบัน

“การประหัตประหารการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลอย่างยิ่งสำหรับข้าพเจ้า ถ้าหมดทั้งหัวใจของคุณไม่สงสัยในสมมติฐานหรืออำนาจของตัวคุณเอง และคุณต้องการผลลัพธ์ที่เด็ดขาด คุณจะแสดงออกมันออกมาอย่างเป็นธรรมชาติถึงความปรารถนา แฝงมันไว้ในกฎหมายแล้วใช้กวาดล้างฝ่ายตรงข้ามจนหมดสิ้น

แต่เมื่อเขาได้ตระหนักว่า หลายครั้งกาลเวลาได้สร้างความไม่พอใจต่อศรัทธาในการต่อสู้ของพวกเขา พวกเขาก็อาจก้าวสู่ความเชื่อมากกว่าที่พวกเขาเคยเชื่อว่ารากฐานของการดำเนินการของพวกเขา อันได้แก่ความปรารถนาที่ดีที่สุดจะบรรลุได้ก็ด้วยตลาดเสรีทางความคิด…บททดสอบความจริงที่ดีที่สุด คือพลังของความคิดที่ต้องการได้รับการยอมรับท่ามกลางการแข่งขันของตลาด…

สิ่งเหล่านี้คือทฤษฎีรัฐธรรมนูญของเรา มันคือการทดลอง เช่นเดียวกัน ชีวิตทุกชีวิตคือการทดลอง…การทดลองเหล่านี้คือส่วนหนึ่งในระบบของเรา…” (Lewis, 2007: p.32-33)

นอกจากกรณีดังกล่าว ผู้พิพากษาโฮล์มได้มอบความเห็นอันล้ำค่าต่อสังคมอเมริกันอีกหลายครั้ง เช่น ในกรณีหญิงอพยพจากฮังการีปฏิเสธที่จะสาบานตนปกป้องแผ่นดินอเมริกาเพื่อรับสิทธิการเป็นพลเมือง เนื่องจากอุดมการณ์ต่อต้านสงครามอย่างถึงที่สุดของเธอ13 ในเรื่องนี้ โฮล์มเห็นว่าแม้เขาจะรู้สึกว่าวิธีคิดของเธอเป็นเรื่องที่ไร้สาระ แต่หากจะมีหลักการอะไรสักอย่างในรัฐธรรมนูญที่สำคัญที่สุด หลักการนั้นคือเรื่องเสรีภาพทางความคิด ซึ่ง “ไม่ใช่แค่เสรีภาพทางความคิดสำหรับเหล่าคนที่เห็นด้วยกับเรา แต่รวมทั้งสำหรับความคิดที่เราเกลียดด้วย…” (Lewis, 2007: p.37-38)

นอกจากนี้ ในเวลาต่อมา โฮล์มยังได้ลบล้างวาทกรรมว่าด้วยการ “ปลุกปั่น” ด้วยความเห็นที่ว่า “มีคนบอกว่าคำประกาศฉบับนี้ (การปฏิวัติของเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ-วงเล็บโดยผู้เขียน) เป็นมากกว่าทฤษฎี มันคือการปลุกระดม14 ความคิดทุกความคิดล้วนเป็นการปลุกระดม มันเสนอตนเองเพื่อสร้างศรัทธา…ความหมายเดียวเท่านั้นสำหรับเสรีภาพในการพูดคือ พวกมันควรจะได้รับโอกาสและมีเส้นทางของตนเอง”(Lewis, 2007: p.108)

ความเห็นทั้งหมดที่กล่าวมานี้ นัยยะสำคัญทางประวัติศาสตร์คือเป็นการปิดฉากแนวคิดที่พยายามจำกัดเสรีภาพ ด้วยการแบ่งแยกระหว่างเสรีภาพตามปกติ กับเสรีภาพที่อาจนำมาซึ่งอันตรายด้วยการอธิบายว่า “การลองผิดลองถูก” นั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ส่วนการแข่งขันเผยแพร่ความคิดหรืออาจเรียกด้วยภาษาแง่ลบว่าการ “ล่อลวง” หรือ “ปลุกปั่น” นั้นเป็นคุณสมบัติที่ดีของประชาธิปไตย ดังนั้นเราไม่อาจใช้ “ความมั่นคง” จำกัดเสรีภาพ เพราะแท้จริงแล้วเสรีภาพนั่นแหละที่เป็นรากฐานของความมั่นคงที่แท้จริง

“เสรีภาพ” กับ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์”

โดยทั่วไป ในสังคมการเมืองหนึ่งจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน ซึ่งเป็นประเพณีค่านิยมบางประการที่ห้ามล่วงล้ำโดยเด็ดขาด และสิ่งที่รองรับให้ความชอบธรรมสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น หากสืบสาวอย่างถึงที่สุดจะพบว่าไม่ใช่ “เหตุผล” (แม้จะมีการผลิตคำอธิบายอย่างมีเหตุผลออกมาบ้าง) แต่เป็นความรัก ความศรัทธา และความทรงจำบางประการ ดังนั้น เมื่อเสรีภาพต้องปะทะกับสิ่งเหล่านี้ การต่อสู้จึงอาจไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่การใช้เหตุผลความคิดเข้าหักล้างกัน แต่เป็นการต่อสู้กับอารมณ์ความรู้สึกโกรธแค้นเกลียดชังอย่างไม่สิ้นสุด

ขอบเขตอันศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละสังคมการเมืองนั้น แตกต่างกันออกไปตามประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของพื้นที่นั้นๆ เช่น การประกาศตัวว่าสมาทานลัทธินาซีนั้น อาจเป็นเรื่องของเสรีภาพในอเมริกา เป็นเรื่องขบขันในสังคมไทย แต่สำหรับยุโรป ซึ่งเผชิญประสบการณ์อันโหดร้ายจากลัทธิดังกล่าว ย่อมถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เช่น ในเยอรมันนั้น การกระทำดังกล่าวถูกฟันธงถือเป็นอาชญากรรมโดยไม่ต้องถกเถียงกันอีก เพราะความทรงจำและบทเรียนของเยอรมันชนถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางการเมืองที่ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถาม(Lewis, 2007: p.157)

ในบรรดากรณีศึกษาทั้งหลายทั้งปวงที่ Lewis ยกมา ผู้เขียนเห็นว่ากรณีการเผาธงชาติสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง เพราะในสังคมอเมริกานั้น ธงชาติถือได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดทางการเมืองที่ล่วงละเมิดมิได้โดยเด็ดขาด ใน ค.ศ. 1984 เกรกอรี่ ลี จอห์นสัน หนึ่งในกลุ่มผู้ประท้วงระหว่างการประชุมระดับชาติของพรรครีพับลิกัน ได้ทำการเผาธงชาติอเมริกาหน้าหอประชุมเมืองดัลลาส ศาลเมืองเท็กซัสตัดสินลงโทษเขาในข้อหาดูหมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับการเคารพ แต่ศาลสูงฯ กลับคำพิพากษาด้วยเสียงข้างมากห้าเสียง โดยอธิบายว่าการแสดงออกดังกล่าวได้รับการคุ้มครองโดยบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (เสรีภาพในการ “พูด” ถูกตีความในความหมายกว้างครอบคลุมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์)

หนังสือของ Lewis ได้เรียกการใช้เสรีภาพโจมตี “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ว่าการใช้ “ภาษาแห่งความเกลียดชัง” (Hate speech) เพราะการกระทำเหล่านี้ย่อมกระทบกระทั่งความรู้สึกแล้วนำมาซึ่งความเกลียดชังต่อกัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงจวบจนปัจจุบัน และคาดได้ว่าจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าดินแดนแห่งเสรีภาพ สังคมอเมริกาก็ได้ผลิตคำตอบจำนวนหนึ่งเพื่ออธิบายว่าเหตุใดเราจึงควรยอมรับว่าการกระทำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่เสรีภาพที่ต้องได้รับการปกป้อง

ในการพิพากษาคดีหนึ่ง ผู้พิพากษาศาลสูงฯ หลุยส์ ดี แบรนดิส ได้ให้ความเห็นว่า “การถกเถียงมีความสามารถตามปกติเพียงพอที่จะป้องกันต่อการเผยแพร่คำสอนที่เป็นพิษ…การปรึกษาหารือคือวิธีการที่เหมาะสมในการบำบัดเยียวยาปีศาจร้าย”16(Lewis, 2007: p.162)

คำตัดสินนี้สอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง “ตลาดเสรีทางความคิด” ของผู้พิพากษาโฮล์ม คือ เราไม่ควรปิดกั้นสินค้าใดๆ เพราะสินค้านั้นอาจจะเป็นสินค้าที่ดี เพียงแต่เรายังไม่รู้ และต่อให้สินค้านั้นเป็นสินค้าไม่ดีจริงๆ ก็ยังคงมีข้อดีคือช่วยเป็นตัวเปรียบเทียบให้กับสินค้าอื่นๆ เมื่อคิดเช่นนี้แล้ว สินค้าด้อยคุณภาพก็ไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นประโยชน์ด้วยซ้ำไป

ศาลในฐานะผู้ชี้ขาด “เส้น” ของ “เสรีภาพ”

การต่อสู้ทางการเมืองมีรูปธรรมที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการต่อสู้ทางกฎหมาย ซึ่งมีศาลเป็นผู้ถือตราชั่งชี้ขาดความยุติธรรม แต่ท่ามกลางการปะทะกันทางหลักการที่ไม่จบสิ้น ศาลควรจะชั่งน้ำหนักอย่างไรจึงได้มาซึ่งความยุติธรรมที่เหมาะสมสำหรับสังคมนั้นๆ ในกรณีสังคมอเมริกา คำตัดสินต่างๆ ของศาลที่ยกมาในบทความชิ้นนี้สะท้อนฐานคิดของความยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตยที่ให้น้ำหนักกับเสรีภาพเป็นสำคัญ

ดังนั้น การจะชั่งน้ำหนักให้ถูกวิธี ในเบื้องต้นที่สุด สำนึกตระหนักรู้ของตัวตุลาการเองถือเป็นสิ่งสำคัญ กล่าวคือ ศาลจะต้องตระหนักรู้ว่าสังคมการเมืองของตนนั้นปกครองด้วยระบอบใด อะไรคือฐานคิดของระบอบการปกครอง และเมื่อทราบฐานคิดแล้วก็ต้องอำนวยความยุติธรรมตามฐานคิดนั้น เช่น หากปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการพูด คิด เขียน ย่อมเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม

แน่นอนว่าสังคมการเมืองหนึ่งไม่ได้มีฐานคิดใดๆ เพียงหนึ่งเดียว ดังนั้น ในเบื้องต้นที่สุด การตัดสินต่างๆ จึงควรเริ่มจากการหาทางออกที่ไม่ทำให้หลักการต่างๆ ต้องเบียดเบียนกันมากจนเกินไป หากจะกำหนดให้มีการคุ้มครอง “ความมั่นคง” หรือ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ก็ต้องเป็นการกำหนดที่ไม่ละเมิดเสรีภาพของประชาชน เช่นกำหนดให้มีการฟ้องร้องเอาผิดผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรม มีการลงโทษสมควรแก่เหตุ หากจัดระเบียบอย่างประนีประนอมไม่ได้จริง การจัดลำดับให้ความสำคัญเป็นสิ่งที่ควรพิจารณารองลงมา เช่น หากปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ศาลหันไปสมาทานฐานคิดแบบอำนาจนิยมที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคง หรือฐานคิดแบบชุมชนนิยมที่ให้ความสำคัญกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน จนไม่เหลือพื้นที่ให้สิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย นั่นอาจทำให้ศาลไม่อาจเป็นผู้อำนวยความยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย และกลายเป็นศัตรูของระบอบไปในที่สุด

สังคมไทยกับสังคมอเมริกา

กรณีศึกษาทั้งหมดที่กล่าวถึงในบทความชิ้นนี้ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแผ่นดินที่ห่างไกลจากประเทศไทย มีบริบททางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจแตกต่างกัน ดังนั้น การถือเอาบทเรียนทางการเมืองจากอเมริกาเป็นคำตอบสำเร็จรูปย่อมไม่เหมาะสม เอาเข้าจริง แม้แต่ในโลกตะวันตกด้วยกันเองก็ใช่ว่าจะมีบรรทัดฐานที่เสมือนกันเสมอไป ดังเช่นเรื่อง “นาซี” ที่กล่าวไปแล้ว

ในทางกลับกัน การยึดถือแนวคิดชุมชนนิยมสุดโต่งด้วยการประกาศว่าสังคมไทยไม่เหมือนใครในโลก จึงไม่ควรพิจารณาเรื่องราวจากภายนอก ก็ถือเป็นข้องอ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะเอาเข้าจริง ชุมชนไหนในโลกก็ไม่เหมือนกันทั้งสิ้น

ดังนั้น การกล่าวอ้างเช่นนี้จึงไม่ใช่อะไรมากไปกว่าข้ออ้างในการปิดกั้นตนเองจากโลกภายนอก แล้วจมลงสู่ความมืดบอดทางปัญญาโดยลำพัง ไม่มากก็น้อย ชุมชนต่างๆ ในโลกเราก้าวหน้าด้วยการแลกเปลี่ยนทางความคิด ประสบการณ์ต่อกัน เอาเข้าจริง หากสังคมอเมริกาในอดีตอ้างว่าชาติของตนไม่เหมือนใครในโลก จึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเลย การต่อสู้เพื่อขยับขยายเสรีภาพก็คงไม่เกิดขึ้น และคงไม่มีดินแดนแห่งเสรีภาพเช่นที่เรารู้จักทุกวันนี้

หากผู้เขียนบทความ จำเป็นต้องเสนออะไรสักอย่างสำหรับสังคมไทย ผู้เขียนเห็นว่าการเปิดใจรับฟัง และถกเถียงอย่างกล้าหาญจะเป็นคุณสมบัติที่ทำให้สังคมไทยสามารถเรียนรู้ทางปัญญาโดยไม่ต้องไปจมปลักถกเถียงในประเด็นเรื่อง “เป็นไทย” “ไม่เป็นไทย”

อย่างไรก็ตาม ใจที่กล้าหาญและเปิดกว้างนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนในสังคมสามารถฟัง พูด อ่าน เขียน ได้โดยปราศจากความกลัว ดังนั้น จึงอาจตลกเล็กน้อยที่ผู้เขียนขอเสนอว่า การหาทางออกในประเด็นเรื่อง “เสรีภาพ” ในสังคมไทยนั้น ต้องเริ่มจากการเปิดเสรีภาพก่อนเป็นอันดับแรก

หมายเหตุ

1Congress shall make no law… abridging the freedom of speech, or of the press…”

2กรณีรัฐแคลิฟอร์เนียฟ้องร้องนายสตอร์มเบิร์ก เนื่องจากเขาได้โบกสะบัดธงแดงอันถือเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาลตามกฎหมายแห่งรัฐ /เสียงข้างมากในศาลสูงสุดฯ พิพากษาในนามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ว่ากฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย “ขัดต่อรัฐธรรมนูญ” (Unconstitutional) (Lewis, 2007: p. 39)

3ค.ศ. 1660 แมรี่ ดายเออร์ ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอเนื่องจากเผยแพร่ลัทธิเควกเกอร์ (Lewis, 2007: p. 4)

4กฎหมายจำนวนมากในอเมริกามีลักษณะเช่นนี้ วิธีการหนึ่งที่นักกฎหมายมักใช้กันคือการทำความเข้าใจเจตจำนงดั้งเดิมของกฎหมายด้วยการย้อนไปพิจารณาคำอภิปรายเสนอร่างกฎหมายในการประชุมสภาฯ แต่ในกรณีบทบัญญัติที่เรากำลังพูดถึงนี้ การประชุมดังกล่าวไม่ได้รับการบันทึกเอาไว้

5กรณีหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ถูกฟ้องร้องจากเจ้าหน้าที่รัฐอลาบาม่ากรณีหนังสือพิมพ์ได้ลงข่าว (ใช้เสรีภาพ) ว่าเจ้าหน้าที่รัฐทางฝั่งใต้ของประเทศมีพฤติกรรมเหยียดสีผิว ทนายความของนิวยอร์คไทมส์ต้องปกปิดตัวตนและที่อยู่รวมถึงใช้ชื่อสมมติเพื่อป้องกันการทำร้ายร่างกายจากประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายรัฐ (Lewis, 2007: p.48-49)

6การสรุปประเด็นทั้งสองนี้เป็นการเลือกเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือมาเรียบเรียงใหม่โดยผู้เขียนบทความเอง

7เจมส์ เมดิสัน (ค.ศ. 1751-1836) เป็นประธานาธิบดีคนที่สี่ ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 1809-1817 และเป็นหนึ่งในสถาปนิกผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญอเมริกา

8ในขณะนั้นนักคิดประชาธิปไตยจำนวนมากให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความมั่นคง เพราะหวาดกลัวว่าจะเกิดโศกนาฏกรรมทางการเมืองเช่นเดียวกับประเทศฝรั่งเศสซึ่งปฏิวัติประชาธิปไตย (1789) แล้วแปรเปลี่ยนไปเป็นเผด็จการเสียงข้างมาก

9จอห์น อดัมส์ (ค.ศ. 1735-1836) ประธานาธิบดีคนที่สอง ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 1797-1801 เป็นนักคิดทางการเมืองคนสำคัญคนหนึ่งของสาธารณรัฐ

10พ.ร.บ. ว่าด้วยการปลุกระดมต่อต้านรัฐบาล ค.ศ. 1798 หรือ Sedition Acts of 1798

11โทมัส เจฟเฟอร์สัน (ค.ศ. 1743-1826) ประธานาธิบดีคนที่สาม ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 1801-1809 เป็นนักคิดทางการเมืองคนสำคัญ และเป็นผู้ร่างคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา (US Declaration of Independence 1776)

12โอลิเวอร์ เวนเดล โฮล์ม (ค.ศ. 1841-1935) ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงฯ ระหว่าง ค.ศ. 1902-1932 เคยเป็นผู้พิพากษาที่สนับสนุนแนวคิดลงโทษผู้ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง แต่ได้เปลี่ยนความคิดในเวลาต่อมาหลังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับอาจารย์กฎหมายจากฮาร์วาร์ด (Lewis, 2007: p. 29-31)

13United states v. Schwimmer (1929)

14Gitlow v. New York (1925

15หลุยส์ ดี แบรนดิส (ค.ศ. 1856-1941) ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงฯ ระหว่าง ค.ศ. 1916-1939 เป็นผู้พิพากษาหัวก้าวหน้าที่สนับสนุนประเด็นเรื่องเสรีภาพร่วมกับผู้พิพากษาโฮล์ม (Lewis, 2007: p. 28)

16Whitney v. California