ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ตัวอย่าง “ฉุกเฉินรักษาฟรี” แค่เริ่มต้น”ไม่มีคำตอบ คุณได้สิทธิ์นั้นทันที”

ตัวอย่าง “ฉุกเฉินรักษาฟรี” แค่เริ่มต้น”ไม่มีคำตอบ คุณได้สิทธิ์นั้นทันที”

11 เมษายน 2012


จากนโยบายรัฐบาล “ฉุกเฉินรักษาฟรี” โดยนำร่อง “เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต” ไม่ถามสิทธิ์ รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน เริ่ม 1 เม.ย. 2555 ที่ผ่านมา โดยเน้นแก้ปัญหาผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินระดับวิกฤตหรือโคม่า ทางสำนักข่าวไทยพับลิก้า ได้นำเสนอข่าวนี้พร้อมข้อท้วงติงจากแพทย์ว่าต้องให้ข้อมูลและทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจน รวมทั้งหน่วยรับบริการทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะเกรงว่าจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ว่า เพราะกรณีฉุกเฉินดังกล่าวต้อง “ฉุกเฉินวิกฤตถึงแก่ชีวิต” เท่านั้น และต้องเข้าข่ายตามนิยามฉุกเฉินวิกฤตถึงแก่ชีวิตว่ามีอาการแบบไหนอย่างไร (อ่าน 1 เมษายน “ฉุกเฉินรักษาฟรี” คุณได้สิทธิ์ทันที แต่ต้องฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตเท่านั้น)

ล่าสุดมีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2555 โดยนายวรเศรษฐ์ ชลศิริพงษ์ ตัวแทนบริษัทเอไอเอ ได้เขียนอีเมล์เล่าประสบการณ์ให้เพื่อนร่วมงานทราบโดยเล่าว่า

“ลูกค้าผมทำประกันชีวิตและสุขภาพไว้ เกิดอุบัติเหตุรถขับรถจักรยานยนต์ เสียหลักชนเสาไฟฟ้า กระโหลกยุบ หมดสติ ช่วงเช้าประมาณ 6 นาฬิกา เวลาประมาณ 7 โมง 30 นาที เพื่อนร่วมงานโทรมาหาผมถามเรื่องสิทธิการประกัน ผมจึงสอบถามรายละเอียดและ รพ. ที่เข้ารักษา ซึ่งเขาก็ไม่แน่ใจว่าเป็น รพ. อะไร เนื่องจากเขาไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์มีคนโทรมาบอกเขาอีกที

ผมใช้เวลาครึ่งชั่วโมงตรวจสอบจนทราบว่าอยู่ รพ. ไหน และก็มีเพื่อนร่วมงานอีกคนไปถึงที่ รพ. แล้ว ผมจึงโทรคุยกับเพื่อนร่วมงานคนนี้ถึงการเกิดอุบัติเหตุ และอาการ คือ กระโหลกยุบ หมดสติ นอนเลือดออกจมูกอยู่บนเตียงของ รพ. เอกชนห่งหนึ่งในกรุงเทพ และบอกกับผมว่า รพ. ไม่ยอมรับเข้ารักษา เนื่องจากรอญาติเซ็นรับรองเรื่องค่าใช้จ่าย และกำลังประสานไปยัง รพ. ประกันสังคมที่ลูกค้าเป็นสมาชิก เพื่อให้มารับไปรักษา เพื่อนร่วมงานไม่รู้จะทำอย่างไร

ผมก็งงอยู่พักหนึ่ง และก็อธิบายให้เพื่อนร่วมงานของลูกค้าว่ากรณีนี้น่าจะเข้าข่ายฉุกเฉิน และไม่ต้องมาตรวจสอบสิทธิ์หรอก(พอดีทราบข่าวว่าเรื่องสิทธิ์การรักษาโดยไม่ต้องถามสิทธิ์จากสื่อทีวี)และด้วยจรรยาบรรณ คนกำลังจะตาย ทำไมไม่มีการดำเนินการอะไร(ผมไม่ทราบถึงกระบวนการว่าเป็นอย่างไร) และรอรถจาก รพ. นั้นมารับ จะทันเหรอ สงสัยตายก่อนแน่ เพื่อร่วมงานคนนี้พยามยามติดต่อญาติซึ่งอยู่ต่างจังหวัด และให้คุยกับเจ้าหน้าที่ของ รพ. ว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษานั้นเขามีเงินเขาจะรับผิดชอบเอง จะให้เขาเดินทางมาเซ็นรับรองคงจะไม่ทันเนื่องจากอยู่ต่างจังหวัด แต่ รพ. ก็ยังไม่สามารถดำเนินการรับตัวเข้ารักษาได้

ผมจึงขอคุยกับเจ้าหน้าที่ รพ. คนนั้น แนะนำตัวว่าผมเป็นตัวแทนบริษัทเอไอเอ ผู้บาดเจ็บคนนี้เป็นลูกค้า และแจ้งสิทธิ ประกัน และหมายเลขกรมธรรม์ และขอให้ รพ. รีบรักษาเขาโดยด่วน และหากมีอะไรให้โทรหาผมได้ทุกเวลาและให้เบอร์โทรไป ทันที่ทีพูดจบ ยังไม่ทันวางสาย เขาก็รับนำตัวเขาห้อง ICU ตอนนั้นเวลาประมาณ 8.30 น.

ผมค่อยโล่งใจแต่ก็ยังนึกโมโห รพ. และสงสัยในเรื่องการรักษาฉุกเฉิน ตามที่มีการโฆษณาของรัฐบาล จำได้ว่าหากมีข้อสงสัยอะไรให้โทรไป 1669 ผมเลยโทรไป ถามรายละเอียดเรื่องความหมายของฉุกเฉิน และเคสนี้เข้าข่ายหรือไม่ เขาไม่สามารถตอบได้ เขาบอกว่าเขามีหน้าที่เพียงนำตัวผู้บาดเจ็บส่ง รพ. เท่านั้น นอกนั้นก็เป็นหน้าที่ของ รพ.(ลองโทรไปถามเองก็ได้ครับ)แต่ก็ยังดีที่ว่าเขาบอกให้โทรไปที่ 1330 สปสช. ครับ ผมก็โทรไป เป็นระบบอัตโนมัติ แต่สามารถคุยกับเจ้าหน้าที่ได้

ผมจึงสอบถามว่า เพื่อนผมเกิดอุบัติเหตุ ผมอยากทราบสิทธิ์การรักษาฉุกเฉิน 3 กองทุนมีรายละเอียดเป็นอย่างไร เขาขอชื่อ นามสกุล หมายเลขบัตรประชาชน เพื่อตรวจสอบสิทธิ์ สักครู่เขาก็ทราบว่า ผู้บาดเจ็บคนนี้มีสิทธิ์ประกันสังคมอยู่ รพ. อะไร และเขาก็ถามว่าผู้บาดเจ็บตอนนี้อยู่ รพ. อะไร ผมก็บอกไป รพ. สองแห่งนี้ถ้าเดินทางแบบรถไม่ติด ใน กทม. จากการประเมินต้องใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง เขาตอบว่า รพ. ทั้งสองแห่งเป็น รพ. ในเครือข่ายประกันสังคมอยู่แล้ว ดังนั้นกรณีนี้จึงไม่เข้าข่ายการรับการรักษาแบบฉุกเฉิน

ผมงงและอึ้งไปพักหนึ่งไม่รู้จะถามอะไร ผมบอกว่าทำไม่ รพ. จึงไม่รับเข้ารักษา และกรณีแบบบี้เป็นฉุกเฉินหรือไม่ เขาไม่ตอบว่าฉุกเฉินหรือไม่ แต่บอกว่า กรณีนี้ไม่เข้าข่าย และการประสบภัยจากรถ ก็มี พ.ร.บ. คุ้มครองอยู่แล้ว ผมยิ่งงงเพิ่มขึ้นไปอีก ผมถามย้ำไปอีกว่ากรณีเป็นฉุกเฉินหรือไม่ ยังไม่ต้องดูว่าเข้าข่ายตามหลักการอะไรนั่นหรอก เขาเงียบไม่ตอบ เขาบอกว่ากรณีนี้ต้องโทรไปที่สำนักงานประกันสังคม เขาถามผมว่าผมทราบสิทธิ์ประกันสังคมดีแค่ไหน รู้ลึกแค่ไหน ผมบอกว่า ผู้บาดเจ็บ กระโหลกยุบ หมดสติ เลือดไหลออกจมูก ถึงอย่างไรก็ควรเป็นกรณีฉุกเฉิน และโดยจรรยาบรรณแล้วก็ควรที่จะทำการช่วยชีวิตก่อน

ผมวางสาย รู้สึกงงและผิดหวังอย่างมาก แล้วชีวิตคนจะไปฝากความหวังอะไรกับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม หรือสิทธิราชการ แม้แต่มีเงินมากก็ยังช่วยไม่ได้ เพราะ รพ. เขาไม่รู้ว่ามีตังค์ ต้องให้ญาติมารับรอง แล้วญาติจะมาทันหรือ วิธีหนึ่งอาจจะช่วยเขาได้คือมีประกัน และก็เป็นเรื่องจริงที่ผมพบเอง เพราะ รพ.เขารู้ว่าหากมีประกันก็เท่ากับว่ามีคนจ่ายค่ารักษานั่นเอง”

อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2555 นายแพทย์วินัย สวัสดิวร อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลต้องการสร้างความเสมอภาคให้คนไทยได้รับการบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมกันทั้ง 3 กองทุน คือสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้ง พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ โดยเริ่มบูรณาการร่วมกันในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 นี้เป็นต้นไป เมื่อประชาชนที่อยู่ภายใต้หลักประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน เจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถไปรับบริการที่ใดก็ได้ที่อยู่ใกล้ที่สุดภายใต้มาตรฐานเดียวกัน จะได้รับบริการตรวจรักษาทันทีโดยไม่ต้องถูกถามสิทธิ ไม่ต้องสำรองเงินจ่ายล่วงหน้า และต้องได้รับการส่งต่อไปรับบริการที่มีศักยภาพสูงขึ้นหากจำเป็น หรือรักษาจนกว่าอาการจะหายหรือทุเลา เนื่องจากการได้รับอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน เป็นนาทีวิกฤตเร่งด่วนของชีวิต เป็นตายเท่ากัน การรักษาที่รวดเร็วจะช่วยให้รอดชีวิตหรือลดความพิการได้

ในการจ่ายค่าชดเชยบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินให้แก่โรงพยาบาลเอกชน กรณีเข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่เป็นเครือข่ายของทั้ง 3 กองทุน ให้ดำเนินการตามปกติ กรณีเข้ารับบริการนอกเครือข่าย หากเป็นผู้ป่วยนอก ไม่ได้รับไว้ในโรงพยาบาล ให้ใช้อัตราการเบิกจ่ายที่เรียกเก็บของกรมบัญชีกลาง และในกรณีที่รับผู้ป่วยรักษาเป็นผู้ป่วยในจะจ่ายในอัตรา 10,500 บาท ตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมหรือดีอาร์จี

ส่วนโรงพยาบาลเอกชนระดับพรีเมี่ยมหรือเอกชนชั้นหนึ่ง เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ยินดีร่วมให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าขั้นวิกฤติหรือเร่งด่วนที่ไปใช้บริการ ภายใต้มาตรฐานและรับการชดเชยในอัตรา 10,500 บาทต่อน้ำหนักสัมพัทธ์ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมาก นอกจากนี้จะให้ สปสช. จัดระบบประสานงานการชดเชยกับกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ และให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติพัฒนาศักยภาพระบบการแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาล และระบบส่งต่อผู้ป่วยให้เข้มแข็งขึ้น