ThaiPublica > คนในข่าว > “ทรงยศ สุขมากอนันต์” ผู้กำกับ “Coffee Prince” – “สาร” ที่สื่ออย่างรับผิดชอบ ต้องอย่าปิดกั้นความเป็นจริงของสังคม

“ทรงยศ สุขมากอนันต์” ผู้กำกับ “Coffee Prince” – “สาร” ที่สื่ออย่างรับผิดชอบ ต้องอย่าปิดกั้นความเป็นจริงของสังคม

7 เมษายน 2012


“การรับผิดชอบต่อสังคม เราอาจจะมีมุมมองไม่เหมือนกัน ถ้าเรารู้สึกว่าสังคมเรามันไม่ดี แล้วเราอยากจะบอกว่ามันไม่ดียังไง เราจะแก้ไขมันยังไง แล้วฝึกให้คนคิดเองได้ เรายิ่งต้องเผยแพร่ และตีแผ่ออกมาว่ามันไม่ดียังไง เราถึงจะได้เรียนรู้และได้คิด แต่ถ้าเราไปเก็บมันเอาไว้ เช่น เราจะบอกว่าเด็กสูบบุหรี่ หรือมีเพศสัมพันธ์กันตั้งแต่เด็ก แต่ไปปิดเอาไว้ เป็นเหมือนการเก็บสิ่งไม่ดีเอาไว้ แล้วปล่อยให้มันเน่าอยู่ในนั้น มันก็จะไม่เกิดการเรียนรู้หรือแก้ปัญหา”

"ย้ง" ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับภาพยนต์ไฟแรง ทั้ง

เขาคนนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้กำกับภาพยนตร์ไฟแรง จากภาพยนตร์ที่สร้างประวัติการณ์หนังไทยอย่างเรื่อง “แฟนฉัน” อีกทั้งยังพ่วงท้ายด้วยตำแหน่ง นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยปี 2553 “ย้ง ทรงยศ สุขมากอนันต์” แถมยังเคยพาหนังไทยน้ำดีอย่าง “เด็กหอ” ไปคว้ารางวัลหนังเด็กยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเบอร์ลินมาแล้ว ทั้งยังมีผลงานหนังเรื่อง “ห้าแพร่ง” ตอน “Backpacker” และมิวสิกวีดิโอชื่อดังมากมาย

โดยล่าสุดได้ผันตัวเองมากำกับละครเป็นเรื่องแรก เป็นอีกบทบาทที่ท้าทาย เพราะเป็นละครที่ซื้อลิขสิทธิ์ซีรีย์ชื่อดังของเกาหลี เรื่อง “Coffee Prince” มารีเมคใหม่ ในสไตล์ของคนไทยด้วย

แน่นอนว่าความต่างของการสื่อสารกับผู้ชม ระหว่างหนังและละคร ย่อมมีความแตกต่างกัน แต่ผู้กำกับฝีมือดีคนนี้ก็ยังมีจุดยืนเป็นของตัว ที่จะสื่อเนื้อหาของหนังออกมาในรูปแบบของตัวเอง และต้องการผลิตสื่ออย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อเยาวชนไทย ให้ได้รู้จักคิด แยกแยะสิ่งถูกผิดได้ด้วยตัวเอง

ไทยพับลิก้า : ได้มาทำละครเรื่องแรกแล้วรู้สึกยังไงบ้าง

พอรู้ว่าจะได้ทำละคร ผมกลับไปนึกถึงคำพูดของเพื่อนผม “เอส คมกฤษ ตรีวิมล” เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว คือ เอสเป็นผู้กำกับ “แฟนฉัน” คนเดียวที่ได้ไปทำละครอยู่บ่อยๆ เอสก็มาบอกผมว่า ผมทำละครไม่ได้หรอก เพราะละครต้องใช้ศิลปะของการปล่อยวาง ซึ่งผู้กำกับหนังแฟนฉันทุกคนก็ทำไม่ได้ เหมือนกันหมด

ที่เอสพูดสิ่งนี้ เพราะหลายๆ อย่างเราต้อง “ปล่อยวาง” หมายถึงรายละเอียดหลายๆ อย่างเหมือนในหนัง เราจะทำไม่ได้อย่างนั้น ถ้าเราจะใส่ใจกับมันมาก มันจะดูเครียดเกินไป เพราะฉะนั้นเราต้องปล่อยวาง แต่ละครเรื่องที่ผมทำล่าสุด ผมทำแบบที่เป็นละครฉายทางโทรทัศน์ แต่ว่ามีรายละเอียดแบบภาพยนตร์ ดังนั้นจึงมีความยากแบบต้องใช้เวลาเยอะเหมือนละคร และรายละเอียดที่เข้มเหมือนภาพยนตร์ คือผมอยากจะทำมันให้ได้ เพราะว่าอยากเห็นงานละครไทยเป็นแบบซีรีย์ฝรั่ง แบบญี่ปุ่น

“อยากรู้ว่าจริงๆ แล้ว สุดท้าย ถ้าเราจะทำ เราจะทำได้มั๊ย และถ้าผมทำไปแล้ว สรุปออกมาว่ามันทำไม่ได้จริงๆ คือ 1. สื่อสารกับคนดูโทรทัศน์ไทยเขาเข้าใจมั้ย การสื่อสารแบบภาพยนตร์กับคนดูโทรทัศน์มันชัดและไพเราะพอมั้ย แล้วก็ 2. ในงบโปรดักชั่นแบบที่เรามีมันทำได้จริงหรือเปล่า คือถ้าไม่ลองทำก็จะไม่รู้ แต่ถ้ามันล้มเหลว ผมก็จะรู้ แต่จริงๆ ผมก็อยากจะลุ้นให้มันประสบความสำเร็จ เพราะผมก็มีงานที่เป็นภาพยนตร์กับงานโทรทัศน์อีก เพราะจริงๆ แล้ว กลุ่มคนดูหนังทุกวันนี้ ยังเป็นแค่กลุ่มวัยรุ่นและชนชั้นกลาง เราอยากจะสื่อสารกับกลุ่มคนที่มันกว้างขึ้น

ย้ง ทรงยศ สุขมากอนันต์

ไทยพับลิก้า : แล้วคิดยังไงกับละครที่นำกลับมาทำใหม่

ผมมองว่ายาก จริงๆ งานอะไรก็ตามที่เป็นงานรีเมค โดยส่วนตัวคิดว่ายากนะครับ แล้วพอได้มาทำจริงๆ อย่างที่บอกพอมันเป็นงานที่ยาก มันก็ท้าทายเรา คือ เราจะทำยังไงก็ตามให้โครงเรื่องเดิมหนีไปจากภาพต้นฉบับ นั่นคือสิ่งที่เราจะต้องทำ

ในขณะเดียวกันก็ต้องคงหัวใจและเสน่ห์บางอย่างของเรื่องราวเดิมๆ ให้ได้ และเราไม่มีทางรู้ได้ชัดเจนจนกว่ามันจะสำเร็จออกมาและถูกฉายสู่คนดู เพราะว่าในวันที่เราถ่ายทำ เราทำจากสัญชาตญาณเราเองล้วนๆ ไม่มีอะไรบอกเราเลยว่ามันจะดีหรือไม่ดี ซึ่งละครรีเมคนี้ก็เป็นอะไรที่ท้าทายคนทำมากๆ ว่าทำอย่างไรถึงจะทำแล้วดึงคนดูกลับมาดูอีกครั้งได้

ไทยพับลิก้า : มีมุมมองความคิดการทำหนัง ที่รับผิดชอบต่อสังคมยังไงบ้าง

ผมว่าเป็นเรื่องของ “สาร” ที่เราจะสื่อ แต่ในมุมของผม ผมจะไม่ปิดกั้นความเป็นจริงของสังคม คือโดยส่วนตัวรู้สึกว่า “ถ้าเราจะเรียนรู้สังคม เราต้องเรียนรู้จากความจริง” อย่างที่เคยทำหนังสั้นฉายในพิพิธภัณฑ์ของทางราชการ เราเล่าเรื่องของวัยรุ่นไทย ที่ใส่ชุดนักเรียนแล้วสูบบุหรี่ แต่เขาขอว่าอย่าสื่อออกมาแบบนี้ได้มั้ย เพราะมันเป็นเรื่องของภาพลัษณ์ที่ไม่ดี แต่โดยส่วนตัวรู้สึกว่า ถ้าเรากำลังจะพูดถึงสังคม หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมของเราในสมัยไหน เราต้องตีแผ่ความจริงออกมา

ผมจึงถามเขาว่า แล้วถ้าเรากำลังจะทำหนังสั้นแบบที่สะท้อนมุมมองหรือสังคม แต่เราไม่เล่าถึงความเป็นจริง แล้วเราจะเล่าอะไร สิ่งที่เรากำลังจะบอกคือเราไม่ได้จะบอกว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ดี แต่เราจะทำให้คนดูได้วิเคราะห์และได้เรียนรู้

และการที่เรานำภาพที่ไม่ดีเหล่านั้นมาให้เขาดู มันเป็นเรื่องที่ให้เขาดูและได้คิด แต่ว่าผู้ใหญ่ส่วนมากจะมองว่า เมื่อไหร่ที่มีภาพพวกนั้นออกไป จะเป็นการเชิญชวนหรือชักชวนให้เยาวชนทำสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้น

สำหรับผม ผมรู้สึกว่า ถ้าคิดแบบนี้ เหมือนเป็นการมองว่าคนไทยไม่มีความคิดนะ เพราะว่าถ้าถามผม เมื่อผมได้ดูสิ่งที่ไม่ดี ผมจะวิเคราะห์และคิดได้ด้วยตัวเอง ว่าอะไรดีและไม่ดีอย่างไร แต่การที่เราให้เด็กได้เห็นสิ่งเหล่านั้นแล้วคิดวิเคราะห์ โดยที่มีพ่อแม่และครูคอยสอนคอยบอก หรือตัวหนังเองที่เป็นสื่อคอยแนะนำ มันรู้สึกว่าทำให้เด็กได้คิด ผมไม่ได้บอกแค่ว่าอันนี้ดีควรทำ อันนี้ไม่ดีไม่ควรทำ เพราะอย่างนั้นเด็กอาจจะคิดไม่ได้ เพราะมีคนคอยบอกตลอดเวลาว่าควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไร

เช็คมอนิเตอร์ กับบรรดานักแสดง
เช็คมอนิเตอร์ กับบรรดานักแสดง

ไทยพับลิก้า : จากหนังมาเป็นละคร การแสดงออกของความรับผิดชอบต่างกันมั๊ย

จริงๆ ผมว่าไม่ต่างนะครับ แม้จะเป็นสื่ออะไรก็ตาม โทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือหนังสือพิมพ์ ผมรู้สึกว่าความรับผิดชอบต่อสังคม ควรจะมีเท่าๆ กัน เพียงแต่ว่า คนแต่ละคนมีมุมมองการรับผิดชอบต่อสังคมในแบบไหน คงไม่เหมือนกัน ผมว่า “ระดับ” ควรจะเท่ากัน แต่ว่าจะแสดงออกแบบไหน แต่ละคนคงมีมุมมองไม่เหมือนกัน

ไทยพับลิก้า : แต่ภาพที่สื่อออกมาของละครอาจจะแรงได้ไม่เท่าหนัง จะมีวิธีนำเสนอที่ต่างไปอย่างไร

จริงๆ แล้วผมจะติดนิสัยที่ทำแบบไม่ค่อยแคร์โทรทัศน์ อย่างผมเคยทำงานหนังสั้นให้กับช่อง 9 ครั้งหนึ่ง เขาก็บอกว่า โทรทัศน์ไม่สามารถนำบุหรี่เข้าปากได้ ทำให้เรายิ่งต้องคิดเยอะ หนังก็จะมีภาษาภาพยนตร์ ก็ยังยืนยันว่าจะต้องเล่าสิ่งนั้น เพราะมันเป็นเนื้อหาของเรื่อง ผมเลยใช้วิธีคือ ฉากที่วัยรุ่นผู้ชายต้องยื่นบุหรี่ให้วัยรุ่นผู้หญิง วัยรุ่นผู้หญิงก็รับไป พอกำลังจะเอาเข้าปาก เราก็คัตไปด้านหลัง แล้วก็จะเห็นว่าเด็กผู้หญิงคนนั้นไอแค่กๆ สำหรับผมนี้คือภาษาภาพยนตร์ แล้วจะดูมีชั้นเชิงกว่า แล้วก็ผ่านเซ็นเซอร์มาได้ เพราะไม่มีบุหรี่อยู่ในปาก แต่ไม่แน่ใจนะครับ เหมือนว่าสมัยนี้แม้กระทั่งอยู่ในมือก็ไม่ได้ แต่ว่าที่ผ่านมาเราก็จะขอยืนยันที่จะสิ่งนี้ แล้วจะไปเบลอ ก็แล้วแต่ เพราะเรามีความรู้สึกว่า เราได้สื่อสารออกมาดี เพราะถ้าไปตัดเนื้อเรื่อง ประเด็นก็จะหายไปเลย แต่การที่เราเบลอภาพบุหรี่ เชื่อเถอะว่าคนดูก็รู้อยู่ดีว่าคือบุหรี่ แต่เนื้อหามันไม่หายไปไหน

ในมุมของผมยังรู้สึกว่า การรับผิดชอบต่อสังคม เราอาจจะมีมุมมองไม่เหมือนกัน คือถ้าเรารู้สึกว่าสังคมเรามันไม่ดี แล้วเราอยากจะบอกว่ามันไม่ดียังไง เราจะแก้ไขมันยังไง แล้วฝึกให้คนคิดเองได้ เรายิ่งต้องเผยแพร่ และตีแผ่ออกมาว่ามันไม่ดียังไง แล้วมันทำให้เกิดอะไรขึ้น เราถึงจะได้เรียนรู้และได้คิด แต่ถ้าเราไปเก็บมันเอาไว้ เช่น เราจะบอกว่าเด็กสูบบุหรี่หรือมีเพศสัมพันธ์กันตั้งแต่เด็ก แล้วเราไม่บอกออกมา แต่ไปปิดเอาไว้ เป็นเหมือนการเก็บสิ่งไม่ดีเอาไว้ แล้วปล่อยให้มันเน่าอยู่ในนั้น มันก็จะไม่เกิดการเรียนรู้หรือแก้ปัญหา

แล้วทุกวันนี้ โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า ที่ผู้ใหญ่ไม่อยากให้เด็กนุ่งสั้น สายเดี่ยว เอวลอย แต่งตัวโป๊ หรือสิ่งลามกอนาจารต่างๆ ทุกครั้งที่ได้อ่านสื่อหรือข้อความแบบนี้ จะรู้สึกว่าจริงๆ แล้ว เด็กสมัยนี้ไปไกลกว่าที่ผู้ใหญ่คิดไว้มาก

เราแค่รู้สึกว่า ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ เราจะเป็นผู้ใหญ่ยังไง ที่ทำให้รู้ทันเด็กและเข้าใจ เพื่อที่จะสอนและอธิบายกับเด็กได้ เพราะเอาเข้าจริงๆ เรื่องเพศ เรื่องยาเสพติดของเด็กทุกวันนี้ไปไกลกว่าที่ผู้ใหญ่รู้ ผู้ใหญ่ควรคิดว่า ทำยังไงให้รู้ทันเด็กและจัดการยังไงให้เด็กเชื่อสิ่งที่เราบอกมากกว่า