ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 1 เมษายน “ฉุกเฉินรักษาฟรี” คุณได้สิทธิ์นั้นทันที แต่ต้องฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตเท่านั้น

1 เมษายน “ฉุกเฉินรักษาฟรี” คุณได้สิทธิ์นั้นทันที แต่ต้องฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตเท่านั้น

1 เมษายน 2012


หลังจากที่รัฐบาลประกาศ “ฉุกเฉินรักษาฟรี” โดยนำร่อง“เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต” ไม่ถามสิทธิ์ รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคนเริ่ม 1 เม.ย.นี้ เน้นแก้ปัญหาผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินระดับวิกฤตหรือโคม่า

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2555 นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลต้องการสร้างความเสมอภาคให้คนไทยได้รับการบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมกันทั้ง 3 กองทุน คือสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้ง พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ โดยเริ่มบูรณาการร่วมกันในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 นี้เป็นต้นไป เมื่อประชาชนที่อยู่ภายใต้หลักประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน เจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถไปรับบริการที่ใดก็ได้ที่อยู่ใกล้ที่สุด ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน จะได้รับบริการตรวจรักษาทันที โดยไม่ต้องถูกถามสิทธิ ไม่ต้องสำรองเงินจ่ายล่วงหน้า และต้องได้รับการส่งต่อไปรับบริการที่มีศักยภาพสูงขึ้นหากจำเป็น หรือรักษาจนกว่าอาการจะหายหรือทุเลา เนื่องจากการได้รับอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน เป็นนาทีวิกฤติเร่งด่วนของชีวิต เป็นตายเท่ากัน การรักษาที่รวดเร็ว จะช่วยให้รอดชีวิตหรือลดความพิการได้

ขณะนื้ ทั้ง 3 กองทุน ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องการเบิกจ่าย โดยมีการปรับปรุงกฏระเบียบต่างๆ โดยกรมบัญชีกลางได้แก้ไขพระราชกฤษฎีกา ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการไม่ต้องสำรองจ่าย และสามารถชดเชยในอัตรา 10,500 บาท สำนักงานประกันสังคม ได้ปรับระบบการเบิกจ่ายกลางทางอิเลคทรอนิค และสปสช.ได้ปรับปรุงประกาศเพื่อให้ใช้อัตรากลาง โดยให้สปสช.เป็นหน่วยเบิกจ่ายกลาง (Clearing house ) ให้แก่โรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศที่ให้การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน

ทั้งนี้ นิยามการเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นอย่างไร เพราะส่วนใหญ่อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินระหว่างแพทย์และผู้ป่วยไม่ตรงกัน จุดนี้ให้ยึดตามนิยามผู้ป่วยฉุกเฉินตามประกาศของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งแบ่งเป็น

1.ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ คือ บุคคลที่มีอาการป่วยหรือบาดเจ็บกะทันหันที่มีภาวะคุกคามต่อชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาทันทีเพื่อแก้ไขระบบหายใจ ไหลเวียนเลือด หรือระบบประสาทแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูงหรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น ภาวะหัวใจหยุดเต้น หายใจไม่ออกหอบรุนแรง หยุดหายใจ ภาวะช็อก ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว เลือดออกมากอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา

2.ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน คือ บุคคลที่มีอาการป่วยหรือบาดเจ็บเฉียบพลันหากไม่ได้รับการรักษาอย่างรีบด่วนมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจนพิการหรือเสียชีวิตได้ เช่น ไม่รู้สึกตัว ชัก อัมพาตหรือตาบอดหูหนวกทันที ตกเลือดซีดมากจนเขียว เจ็บปวดมากหรือทุรนทุราย ถูกพิษหรือรับยาเกินขนาด ได้รับอุบัติเหตุโดยเฉพาะมีบาดแผลที่ใหญ่มากหลายแห่ง

ทั้งนี้ผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้าเกณฑ์นี้ต้องเป็นระดับวิกฤติและเร่งด่วน นั่นหมายความว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ได้รับการส่งรักษาโดยบุคคลอื่น ซึ่งต้องเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อให้การรักษาทันท่วงทีลดการสูญเสียชีวิตและความพิการรุนแรงจากเหตุไม่จำเป็น

ขณะที่พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) ให้ความเห็นว่า “ฉุกเฉินรักษาฟรี” ทุกคนเห็นพ้องว่าหลักการดี และดูเหมือนจะลดความยุ่งยาก แต่จริงๆมันยุ่งยาก เพราะคำจำกัดความคำว่า “ฉุกเฉิน” แล้วยุ่งยากทันที เนื่องจากไม่ใช่ฉุกเฉินธรรมดา แต่เป็นฉุกเฉินวิกฤต ที่คนไข้จะเป็นจะตาย คือไม่รักษาเดี๋ยวนั้นต้องตายเท่านั้น

“ประชาชนต้องเข้าใจว่าต้องฉุกเฉินวิกฤตเท่านั้น นอกนั้นไม่ใช่นะ แต่ในภาษาของเรา ถูกรถชนตูม หัวแตก แขนหัก ขาหัก ถามว่าฉุกเฉินไหม ฉุกเฉิน แต่ตายไหม ไม่ตาย อย่างนี้ไม่เข้าไครทีเรียของเขานะ รัฐบาลโปรโมทว่าฉุกเฉินไม่ต้องจ่าย คำเดียวเลย แต่คุณไม่พูดให้ชัดว่าฉุกเฉินวิกฤตเท่านั้น และประชาชนเข้าใจในรายละเอียดหรือยัง เพราะ 1 เมษายนนี้ต้องเริ่มแล้ว”

พญ.ประชุมพรกล่าวต่อว่าความจริงนิยามนี้ใช้กับคนไข้วิกฤต ไม่รักษาเดี๋ยวนั้นต้องตาย มีเกณฑ์ว่า เช่น คนไข้ช็อค จะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม ต้องแก้ช็อค คนไข้บาดเจ็บที่สมอง ไม่ใช่แค่หัวแตก คนไข้หัวใจขาดเลือด คนไข้ท้องเสียจนความดันตกไปแล้ว หรือตกเลือดมากจนเลือดจะหมดตัว หายใจรวยริน เป็นต้น ส่วนที่ฉุกเฉิน อาทิ เด็กแขนหักกระดูกโผล่ ถามว่าฉุกเฉินไหม ฉุกเฉิน แต่ไม่เข้าคำจำกัดความนี้ คนไข้จะใช้สิทธินี้ไม่ได้ คำถามคือประชาชนรู้เรื่องและเข้าใจหรือยัง

ส่วนประเด็นที่สปสช.จะเป็นผู้จัดเก็บข้อมูลและเป็นเคลียริ่งเฮ้าส์หรือน่วยเบิกจ่ายกลางนั้น เป็นสิ่งที่โรงพยาบาลรัฐกังวลคือกลัวว่าสปสช.จะจ่ายไม่ครบ ซึ่งต่างจากกรมบัญชีกลางและกองทุนประกันสังคมที่จ่ายตามที่เรียกเก็บ ดังนั้นสิ่งที่ต้องการเสนอคือรัฐบาลควรแต่งตั้งเคลียริ่งเฮ้าส์ที่ไม่ใช่ 3 กองทุนนี้ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย โดยแยกเคลียริ่งเฮ้าส์ออกไปต่างหาก ซึ่งอาจจะให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลเรื่องนี้โดยตรง เพราะที่ผ่านมาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โรงพยาบาลรัฐมีปัญหาการเบิกจ่ายกับสปสช.มาโดยตลอด จนโรงพยาบาลรัฐส่วนใหญ่ขาดทุนมากมาย

นอกจากนี้ยังมีประเด็นพ.ร.บ.บุคคลที่ 3 ทางสปสช.จะรับผิดชอบแทนบริษัทประกันหรือไม่อย่างไร เพราะระบบเดิมจะใช้สิทธิพ.ร.บ.บุคคลที่ 3 จนหมดก่อน ซึ่งมีวงเงิน 15,000 บาท ก่อน แล้วจึงใช้สิทธิอื่นๆ ประเด็นนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะให้ใช้สิทธิอันไหนก่อนหลังหรือจะใช้ซ้ำซ้อนกัน แต่ถ้าใช้สิทธิของรัฐบาลก่อน บริษัทประกันก็ไม่ต้องรับภาระค่าใช้้จ่ายหรือไม่

“โรงพยาบาล ในฐานะผู้ปฏิบัติ คนไข้เข้ามาต้องช่วยชีวิตอยู่แล้ว ทุกคนได้รับการรักษาเหมือนกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะใช้สิทธิอะไรเราต้องการช่วยคนไข้ ที่ขอความชัดเจนเพราะเราไม่ต้องการมีปัญหากับคนไข้ ต้องการวินวินทั้งสองฝ่าย ซึ่งสปสช.ต้องทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนกับผู้ปฏิบัติ”

รวมทั้งประเด็นที่ให้โรงพยาบาลเอกชนรับคนไข้ฉุกเฉินวิกฤต หากพ้นวิกฤตเขาจะส่งคนไข้ไปไหน จุดสิ้นสุดอยู่ที่ไหนสำหรับโรงพยาบาเอกชน และหากไม่มีจุดสิ้นสุด ใครจะรับผิดชอบเรื่องเงินหลังจากวิฤตผ่านไปแล้ว ซึ่งคนไข้อาจจะจำเป็นต้องรักษาต่อเนื่อง

“รัฐบาลประกาศว่าเอกชนต้องรับ หากไม่รับจะมีความผิด เอกชนเขาคงอยากช่วยแต่ต้องมีจุดสิ้นสุด หากหาจุดสิ้นสุดไม่เจอ ก็จะเป็นประเด็นปัญหาตามมาอีก และประเด็นสำคัญที่สุดคือเงินค่ารักษาฉุกเฉินรักษาฟรีนี้ อยู่ในเงินเหมาจ่ายรายหัว 2,756 บาทหรือไม่ ถ้าอยู่ในส่วนนี้ เท่ากับมากินส่วนเดิมอีก ขนาดไม่มีก้อนนี้มาแย่ง โรงพยาบาลรัฐก็แย่อยู่แล้ว หรือเป็นเงินกองใหม่แยกต่างหาก”พญ.ประชุมพรกล่าว