ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิดโลกพลังงานนิวเคลียร์ หลังวิกฤตฟุกุชิมะ ไดอิจิ ใครรุก…ใครถอย?

เปิดโลกพลังงานนิวเคลียร์ หลังวิกฤตฟุกุชิมะ ไดอิจิ ใครรุก…ใครถอย?

12 มีนาคม 2012


ที่มาภาพ : http://www.dianuke.org/wp-content/uploads/2011/06/why-nuclear.jpg
ที่มาภาพ : http://www.dianuke.org/wp-content/uploads/2011/06/why-nuclear.jpg

วิกฤตนิวเคลียร์ฟุกุชิมะในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลพวงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 อาจสั่นคลอนอนาคตของพลังงานนิวเคลียร์ในฐานะพลังงานสะอาดไปบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับดับวูบไปทั้งหมด

หลายประเทศที่เคยวางแผนจะขยายโครงการพลังงานนิวเคลียร์ อาจตัดสินใจพับแผนลงชั่วคราว บ้างก็ล้มแผนกันแบบถาวร ขณะที่บางประเทศที่มีโครงการอยู่แล้วจำนวนมาก ก็ตัดสินใจหยุดการทำงานของเตาปฏิกรณ์ปรมาณู แต่หลายประเทศก็ยังคงเดินหน้าแผนเดิมต่อไปอย่างไม่หวั่นไหว

ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนบอกว่า นิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาด และคุ้มค่าต่อการลงทุน แต่ฝ่ายคัดค้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ก็แจกแจงข้อเสียของเทคโนโลยีนี้ว่า มีต้นทุนสูงทั้งแง่การก่อสร้าง การบริหารจัดการ และการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตลอดจนยังต้องดูแลเรื่องการจัดการขยะที่มีกัมมันตภาพรังสี ทั้งยังมีความยุ่งยากในการควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของมนุษย์ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากวิกฤตโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ ที่หลายคนเชื่อว่าต้องใช้เวลาอีกนับทศวรรษกว่าที่จะกำจัดการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสีได้หมด

ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ รวมทั้งญี่ปุ่นและประเทศยุโรปบางแห่ง เตรียมที่จะปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ชั่วคราว หรือบ้างก็เตรียมปิดแบบถาวร แต่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ กำลังเดินหน้าแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อไป เพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

ข้อมูลจากสมาคมนิวเคลียร์โลกระบุว่า ปัจจุบัน มีเตาปฏิกรณ์ปรมาณู 435 เตาใน 30 ประเทศทั่วโลก โดยส่วนใหญ่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว และผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 13.5% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดทั่วโลก ( ดูรายละเอียดที่นี่)

นอกจากนี้ กำลังมีการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณู 60 แห่งทั่วโลก และยังมีแผนจะสร้างอีก 163 แห่ง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแทบไม่ได้แตกต่างกับผลการสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ระบุว่า มีเตาปฏิกรณ์ปรมาณู 62 แห่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และมีแผนสร้างเพิ่มอีก 156 แห่ง

วิกฤตนิวเคลียร์ฟุกุชิมะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น และลดการสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งคนในแต่ประเทศก็มีมุมมองที่ต่างกัน แต่ในภาพรวมแล้ว ผลโพลของ Ipsos Mori ที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน 24 ประเทศ ในเดือนมิถุนายน 2554 ระบุว่า ประมาณ 62% ของผู้ตอบแบบสอบถามต่อต้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ โดยมีเพียงชาวอินเดีย โปแลนด์ และชาวอเมริกันเท่านั้นที่ส่วนใหญ่ยังคงสนับสนุนการใช้พลังงานนิวเคลียร์อยู่ ส่วนในอังกฤษมีฝั่งสนับสนุนและคัดค้านพอๆ กัน ขณะที่ชาวจีน รัสเซีย และฝรั่งเศส คัดค้านโครงการนิวเคลียร์อย่างชัดเจน และชาวเยอรมันต่อต้านเรื่องนี้มากที่สุดหากเทียบกับประชาชนประเทศอื่นๆ

ขณะเดียวกัน วิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นก็ทำให้ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของพลังงานชนิดนี้ โดยประเทศพัฒนาแล้วจำนวนหนึ่งตัดสินใจผละจากพลังงานแบบนี้ และหันไปหาพลังงานทางเลือกชนิดอื่นแทน

อย่างเช่น กรณีของ “ญี่ปุ่น” ที่ในปี 2553 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้าคิดเป็น 30% ของการผลิตไฟฟ้าทั่วประเทศ แต่ตอนนี้มีเตาปฏิกรณ์ปรมาณูเพียง 2 เตาจากทั้งหมด 54 เตาที่ยังทำงานอยู่ โดยที่เหลือถูกสั่งปิดเพื่อตรวจสอบความปลอดภัย และ 2 เตาที่ยังทำงานอยู่ ก็จะถูกปิดชั่วคราวอย่างช้าที่สุดภายในเดือนพฤษภาคม 2555

ส่วนใน “เยอรมนี” นั้น สองเดือนหลังเกิดวิกฤตฟุกุชิมะ รัฐบาลก็ยกเลิกแผนที่เคยต้องการขยายอายุการทำงานของเตาปฏิกรณ์ปรมาณูไปอีกกว่า 1 ทศวรรษ แต่กลับตัดสินใจปิดเตาปฏิกรณ์ทั้งหมด 17 แห่งทั่วประเทศ ภายในปี 2565

ด้าน “อิตาลี” และ “สวิตเซอร์แลนด์” ตัดสินใจพับแผนนิวเคลียร์ทั้งหมด ส่วน “ฝรั่งเศส” ที่เคยสนับสนุนโครงการพลังงานนิวเคลียร์มาโดยตลอด ก็บอกว่าจะพิจารณาเลิกใช้นิวเคลียร์ทั้งหมดภายในปี 2593 ขณะที่ “อังกฤษ” ซึ่งเป็นประเทศยุโรปที่มีโครงการนิวเคลียร์ที่ทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่ง ยังไม่ได้ทิ้งแผนทั้งหมด แต่อาจชะลอแผนไปบ้าง และ “สหรัฐอเมริกา” ก็เพิ่งให้สัญญาณไฟเขียวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ อนุมัติการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณู 2 เตาในรัฐจอร์เจีย ซึ่งถือเป็นการอนุมัติโครงการนิวเคลียร์ครั้งแรกในรอบ 3 ทศวรรษ ทั้งนี้ ปัจจุบัน สหรัฐฯ มีเตาปฏิกรณ์ปรมาณูใช้งานอยู่ 104 เตา

(หมายเหตุจากภาพ : คิวบายุติแผนพัฒนานิวเคลียร์มาหลายปีก่อนเกิดวิกฤตฟูกุชิมะ ขณะที่เกาหลีเหนือประกาศยุติการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม และการทดลองอาวุธนิวเคลียร์กับขีปนาวุธพิสัยไกล เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555)

สำหรับฝั่งกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา พบว่าแนวโน้มการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ก็แตกต่างกันในแต่ละประเทศ โดย “จีน” กำลังทบทวนโครงการนิวเคลียร์ใหม่ จากปัจจุบันที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ของจีนมีสัดส่วนไม่ถึง 2% ของการผลิตไฟฟ้าทั่วประเทศ แต่รัฐบาลวางแผนว่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 4% ให้ได้ภายในปี 2563 ซึ่งอาจเป็นสัดส่วนที่น้อย แต่กลับสะท้อนถึงโครงการขนาดใหญ่มาก หากดูจากขนาดของประเทศ

ปัจจุบัน จีนกำลังก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณู 26 เตา และมีแผนจะสร้างอีก 6 เตา ภายในปี 2563 และพญามังกรแห่งเอเชียตั้งเป้าว่า ภายในปีดังกล่าว ประมาณ 15% ของพลังงานทั้งหมดทั่วประเทศ จะมาจากแหล่งพลังงานทางเลือก

ส่วน “อินเดีย” ที่ไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty: NPT) นั้น บางครั้งก็มีปัญหาในการจัดหาแร่ยูเรเนียมจากต่างประเทศ เพราะมีข้อบังคับระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเข้าถึงเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ และแม้จะมีกระแสต่อต้านนิวเคลียร์ในอินเดีย แต่รัฐบาลก็เดินหน้าผลักดันแผนขยายโครงการนิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ 20 กิกะวัตต์ ภายในปี 2563

ด้านประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น “ไต้หวัน” และ “เกาหลีใต้” กำลังทบทวนแผนโครงการนิวเคลียร์ ขณะที่ “ไทย” และ “มาเลเซีย” ได้พับแผนนี้ไปแล้ว ส่วนรัฐบาล “ฟิลิปปินส์” บอกว่าอาจจะจัดสรรงบประมาณ 100 ล้านปอนด์ จากโครงการนิวเคลียร์ไปใช้พัฒนาพลังงานทดแทนชนิดอื่น ต่างจาก “เวียดนาม” ตัดสินใจเดินหน้าแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 14 แห่ง ให้แล้วเสร็จภายในปี 2573

สำหรับในภูมิภาคตะวันออกกลาง “ซาอุดิอาระเบีย” กำลังพิจารณาโครงการมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่ 16 แห่ง ภายในปี 2573 ด้าน “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” มีแผนที่จะเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของอาบูดาบีในปี 2560 ก่อนที่จะเปิดอีก 3 แห่ง หลังจากนั้น

ด้าน “ตุรกี” บอกว่าจะผลักดันแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อไป ต่างจาก “คูเวต” และ “กาตาร์” ที่ประกาศชัดว่าจะยุติแผนพัฒนาโครงการนิวเคลียร์

ส่วนในทวีปแอฟริกา ปัจจุบัน “แอฟริกาใต้” ผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 6% จากพลังงานนิวเคลียร์ และยังเดินหน้าขยายกำลังการผลิตต่อไป แต่วิกฤตการเงินก็ทำให้จำเป็นต้องยุติแผนชั่วคราวเช่นกัน นอกจากนี้ แอฟริกาใต้ก็ยังเน้นการพัฒนาพลังงานทางเลือกชนิดอื่นพร้อมๆ กันไปด้วย ขณะที่ “เคนยา” ทุ่มเทกับโครงการนิวเคลียร์อย่างมาก โดยพร้อมจะพัฒนาโครงการมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากทำได้ตามเป้าหมาย พลังงานนิวเคลียร์ก็จะกลายเป็นขุมพลังหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศภายใน 15 ปีข้างหน้า

มาถึงจุดนี้ จึงอาจพูดได้ว่า แม้ว่าวิกฤตฟุกุชิมะจะทำให้อุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ต้องสะดุดไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้ถึงแก่กาลอวสาน เพราะยังมีหลายประเทศมองว่า “พลังงานนิวเคลียร์” ยังเป็นพลังงานสำคัญ และหลายฝ่ายก็ยังคาดหวังว่าในระยะยาว นักวิทยาศาสตร์อาจสามารถพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ปลอดภัยและประหยัดต้นทุนได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

http://online.wsj.com/article/SB10001424052970204276304577265240284295880.html?mod=googlenews_wsj#articleTabs%3Dinteractive
ที่มาภาพ : http://online.wsj.com/article/SB10001424052970204276304577265240284295880.html?mod=googlenews_wsj#articleTabs%3Dinteractive

จากภาพข้างบน โครงการพลังงานนิวเคลียร์ในโลก ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจำนวนหนึ่งตัดสินใจลดหรือเลิกโครงการพลังงานนิวเคลียร์ แต่ประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง โดยเฉพาะในเอเชีย กำลังทุ่มเทการลงทุนสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณูเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

ความหมายของสี สีเขียว : วางแผนขยายศักยภาพพลังงานนิวเคลียร์ สีเทา : เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย หรือไม่เปลี่ยนแปลงเลย สีแดง: ลดการพัฒนาโครงการพลังงานนิวเคลียร์ ( ดูเพิ่มเติม)

รวบรวมข้อมูลจาก วอลล์สตรีท เจอร์นัล, เดอะการ์เดี้ยน, นิตยสารฟอร์บส์, เว็บไซต์สมาคมนิวเคลียร์โลก และ www.scidev.net