ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “ศุภชัย พานิชภักดิ์” แนะพัฒนาประเทศเน้น “สังคมคู่เศรษฐกิจ” – ผลิตคน “อาชีวะ” – เก็บภาษีทรัพย์สินเพิ่ม

“ศุภชัย พานิชภักดิ์” แนะพัฒนาประเทศเน้น “สังคมคู่เศรษฐกิจ” – ผลิตคน “อาชีวะ” – เก็บภาษีทรัพย์สินเพิ่ม

14 มีนาคม 2012


ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังก์ถัด (UNCTAD) ภาพจากกรุงเทพธุรกิจ
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังก์ถัด (UNCTAD) ที่มาภาพ : น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ 13 มีนาคม 2555 องค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดการประชุมนานาชาติเรื่อง “การสร้างความสมดุลของความเติบโตทางเศรษฐกิจกับความเข้มแข็งของสังคม ของประเทศในเอเชียและสังคมโลก”

ในการประชุม ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังก์ถัด (UNCTAD) ได้กล่าวสุนทรพจน์ โดย ดร.ศุภชัยได้กล่าวว่า การสร้างความสมดุลของความเติบโตทางเศรษฐกิจกับความเข้มแข็งของสังคมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ

“ในอดีตที่ผ่านมา การสร้างความเจริญของประเทศต่างๆ ทั่วโลก มุ่งเน้นพัฒนาให้เกิดการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่เหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า การมุ่งเน้นพัฒนาแต่เศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ การพัฒนาประเทศจึงต้องมีความสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม”

สำหรับภูมิภาคเอเชีย ดร.ศุภชัยได้แสดงความเห็นว่า ตอนนี้ทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียกำลังมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราที่สูงมาก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หากปล่อยให้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยไม่สามารถพัฒนาสังคมให้ทันกันได้ จะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ปัญหาความยากจน ความอดอยากจากการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม การละเมิดสิทธิและเสรีภาพ และการกีดกันทางเพศ

“โดยปัญหาเรื่องช่องว่างทางรายได้ของคนรวย-คนจน ไม่ใช่สิ่งที่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย จำเป็นต้องมีนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาค ที่มีความสมดุละหว่างการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน พร้อมกับให้มีการจ้างงานไปพร้อมกัน หากเรามีนโยบายที่ตึงตัวเกินไปก็จะไม่สามารถสร้างงานได้เท่าที่ควร” ดร.ศุภชัยกล่าว

โดยปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา ดร.ศุภชัย ได้เสนอทางแก้สำหรับประเทศไทยว่า ในช่วงที่ผ่านมา เรามีนโยบายการคลังที่ไม่เน้นการกู้หนี้ยืมสิน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ประเทศไทยมีหนี้สินเพียง 40% ของจีดีพี อยู่ในเกณฑ์ดีตามมาตรฐานของโลก แต่สิ่งที่เราจะต้องทำต่อไปคือการหารายได้เพิ่มขึ้น หากเรายังต้องการแก้ไขปัญหาสังคม ต้องการดูแลคนยากจนและต้องการลดช่องว่างทางรายได้ เราจะต้องมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งรายได้ที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจจะไม่พอ

“ปัจจุบัน รายได้ภาครัฐที่จัดเก็บได้เป็นจำนวนร้อยละ 15 ของจีดีพี ยังถือว่าไม่มาก ในอนาคต หากรัฐบาลสามารถทำให้การจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นสูงเท่าไร ก็จะช่วยให้รัฐบาลสามารถมีนโยบายเข้าไปช่วยเหลือด้านสังคมได้มากขึ้น ไม่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการช่วยเหลือคนทุกๆ กลุ่มในสังคมได้ หรือที่เรียกว่า Universal Care ซึ่งครอบคลุมทั้งคนจนและคนที่มีรายได้อยู่ในระดับปานกลางถึงจน ซึ่งมีจำนวนมากในประเทศไทย ดังนั้น เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างครอบคลุม ทั้งเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล จึงจำเป็นต้องมีการจัดเก็บงบประมาณเพิ่ม ซึ่งตอนนี้สามารถเพิ่มงบประมาณได้บางส่วนจากการปฏิรูปนโยบายการคลัง”

ดร.ศุภชัยยังได้ขยายความต่อว่า ในทางการคลัง การหารายได้เพิ่มจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกๆ ฝ่าย ทุกๆ รัฐบาลต้องมีส่วนร่วมเข้ามาช่วยดูแล และในเรื่องการปฏิรูประบบการคลัง ต่อไปในอนาคต การปรับระบบภาษีอากรให้มีการเก็บภาษีจากสินทรัพย์ในอัตราที่สูงขึ้นคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะภาษีจากรายได้ รือภาษีที่คิดจากเงินเดือนนั้นทำให้สูงมากไม่ได้ เพื่อให้คนมีเงินไปใช้จ่าย แต่ภาษีจากสินทรัพย์ คนที่มีมากก็ควรจะต้องเฉลี่ยให้ผู้อื่นบ้าง

“เมื่อประเทศเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ระบบภาษีอากรต้องพัฒนาตามความเจริญของประเทศไปด้วย และภาษีอากรก็ต้องมาจากพื้นฐานของสินทรัพย์มากกว่าจัดเก็บจากรายได้ประจำ แต่เรื่องนี้พรรคการเมืองไม่สามารถนำมาหาเสียงได้ คณะกรรมการต่างๆ ที่มีหน้าที่ในการดูแลโครงสร้างของสังคมจึงควรจะช่วยดูเรื่องนี้”

นอกจากเรื่องการจัดเก็บรายได้แล้ว ยังมีเรื่องการพัฒนาการศึกษา ประเทศจำเป็นต้องมีการลงทุนในการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาด้านอาชีวะ ในอดีตการลงทุนในด้านการอุดมศึกษาอาจจะจำเป็น แต่เวลานี้สิ่งที่ต้องแก้ไขในบ้านเราและในเอเชียคือ การลงทุนพัฒนาด้านอาชีวะศึกษาซึ่งจะช่วยสร้างงานให้คน หากไม่มีก็จะไม่สามารถฝึกอบรมแรงงานไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้

“เราไม่ได้แค่ต้องก่ารคนที่จบมหาวิทยาลัย แต่เราต้องการคนที่สามารถมาเป็นช่างได้ อย่างในยุโรปที่เห็นชัดว่ามีการลงทุนในเรื่องการผลิตช่างที่มาก นโยบายรายได้ตรงนี้ จึงไม่ควรทำให้พวกที่จบอาชีวะมีรายได้ต่ำกว่าพวกที่จบอุดมศึกษามากเกินไป” ดร.ศุภชัยกล่าว

และสุดท้ายที่ ดร.ศุภชัยเสนอคือ เรื่องนโยบายในการจัดการความเหลื่อมล้ำ ที่ปัจจุบันในสังคมต้องมีนโยบายจัดการความเหลื่อมล้ำใน 2 รูปแบบ รูปแบบแรก คือนโยบายที่ดูและระหว่างคนในเมืองกับชนบท และรูปแบบที่สองคือนโยบายที่ดูแลคนจนในเมือง

“ระหว่างในเมืองกับชนบท ผมคิดว่าต้องมีนโยบายระดับชาติ เหมือนกับเป็นกฎหมายของประเทศ ที่ต้องหาให้ได้ว่ามีความเหลื่อมล้ำแตกต่างในเรื่องใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทุน เรื่องกฎระเบียบของรายได้ในท้องถิ่น เรื่องการคมนาคม เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้ได้มากที่สุด หรือเรื่องความเจริญที่กระจุกตัวเฉพาะในเขตเมืองต่างๆ ต้องกระจายออกไปให้ได้ ต้องมีการเอาไปปรับใช้ในทุกแผนในการพัฒนาประเทศ”

ส่วนเรื่องคนจนในเมือง คนจนในเมืองเกิดขึ้นเพราะในต่างจังหวัดมีความยากจน คนจึงหนีความยากจนเข้ามาอยู่ในเมือง แต่พอเข้ามาในเมืองบางคนก็หางานทำไม่ได้ กลายเป็นปัญหาคนจนในเมืองซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก เกิดเป็นภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ หรือที่เรียกว่า Informal Sector มีขนาดใหญ่เกือบร้อยละ 40 ของภาคการผลิตทั้งหมด

“ในภายหลัง หากจะมีการทำนโยบายด้านประกันสังคม การช่วยเหลือต่างๆ คนเหล่านี้ก็จะไม่ได้รับความช่วยเหลือ เพราะอยู่นอกภาคทางการ ดังนั้นอะไรก็ตามที่เราจะช่วยลดภาคที่ไม่เป็นทางการ และช่วยขยายภาคที่เป็นทางการออกไปได้ก็จะเป็นเรื่องที่สำคัญ” ดร.ศุภชัยกล่าว