ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กางข้อมูลสปสช.โต้สปสช. – เปิดสถิติผู้เสียชีวิตล้างไตทางช่องท้องสูง 40% แต่สปสช.ยังยันเป็นวิธีที่ดีที่สุด

กางข้อมูลสปสช.โต้สปสช. – เปิดสถิติผู้เสียชีวิตล้างไตทางช่องท้องสูง 40% แต่สปสช.ยังยันเป็นวิธีที่ดีที่สุด

6 มีนาคม 2012


ข่าวแจกจาก สปสช. – แพทย์โรคไต ม.ขอนแก่น ชี้ล้างไตช่องท้องเพิ่มคุณภาพชีวิต แม้ติดเชื้อแต่รักษาได้ แจง ฮ่องกง สิงคโปร์ ล้วนส่งเสริมล้างไตช่องท้อง

วันที่ 6 มีนาคม 2555 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ออกข่าวแจกเรื่องการล้างไตทางช่องท้องอีกครั้ง หลังจากที่มีข่าวแจกเรื่องนี้ไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 และมีความเห็นแพทย์แย้งต่อกรณีดังกล่าว (อ่านเพิ่มเติม เลขาสปสช.รณรงค์ล้างไตทางช่องท้อง อ้างงานวิจัย ตปท. ติดเชื้อต่ำ – พญ.ประชุมพร ประธาน สพศท. โต้ให้ข้อมูลไม่ครบ เสี่ยงสูง)

ข่าวแจก – รศ.นพ.ทวี ศิริวงศ์ หัวหน้าสาขาวิชาโรคไต ศูนย์บริการโรคไต โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า คาดว่าทั่วประเทศจะมีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ต้องบำบัดทดแทนไตประมาณ 11,000 ราย และมีแนวโน้มว่าภายใน 5 ปี จะมีผู้ป่วยประมาณ 25,000 ราย จากสถานการณที่เป็นอยู่นี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขยายเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยโรคไตจากโรงพยาบาลประจำจังหวัด ไปสู่โรงพยาบาลประจำอำเภอ เนื่องจากโรงพยาบาลประจำจังหวัดและโรงพยาบาลขนาดใหญ่ต่างก็มีผู้ป่วยล้นมือ และได้ทำอย่างเต็มที่แล้ว

ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลประจำอำเภอทั่วประเทศอีกประมาณ 300 แห่ง เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น และโรงพยาบาลประจำจังหวัดจะต้องปรับบทบาทมาเป็นแม่ข่ายดูแลให้โรงพยาบาลอื่นๆ ในจังหวัดของตนเอง

รศ.นพ.ทวีกล่าวว่า การบำบัดทดแทนไตแบบการล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าวิธีการฟอกเลือด เพราะตัวผู้ป่วยเอง ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลเพื่อฟอกเลือด 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และต้องอยู่กับเครื่องฟอกเลือดประมาณ 4-5 ชั่วโมงต่อครั้ง หลังจากฟอกเลือดแล้วร่างกายก็จะอ่อนแอ จำเป็นต้องมีญาติผู้ป่วยมาช่วยดูแล

โดยก่อนที่จะให้ผู้ป่วยล้างไตฯ ด้วยตนเองนั้น ทางโรงพยาบาลจะสอนวิธีการที่ถูกต้องในการล้างไต การดูแลรักษาความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่หากมีปัญหา ผู้ป่วยสามารถติดต่อกับโรงพยาบาลเพื่อดูแลรักษาได้ตลอดเวลา

รศ.นพ.ทวีกล่าวว่า ประเทศที่มีการแนะนำให้ผู้ป่วยโรคไตบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง เช่น ฮ่องกง เม็กซิโก สิงคโปร์ ซึ่งประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่มีฐานะดีกว่าประเทศไทย เพราะการล้างไตด้วยวิธีดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถทำงานเพื่อเลี้ยงครอบครัวได้ และหากมีการติดเชื้อก็สามารถรักษาได้ง่ายกว่าการติดเชื้อทางกระแสเลือด แต่ที่คนไข้ส่วนใหญ่ไม่อยากทำเป็นเพราไม่ต้องการฟอกไตเอง แต่ต้องการให้มีผู้อื่นมาทำให้

รศ.นพ.ทวีกล่าวว่า สปสช. ได้กำหนดให้โรงพยาบาลศรีนครินทร์เป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมแพทย์ พยาบาล ให้มีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยโรคไตที่บำบัดทดแทนไตแบบการล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้มีโรงพยาบาลทั่วประเทศส่งบุคลากรเข้าร่วมฝึกอบรมแล้ว 114 แห่ง แต่ละแห่งให้การดูแลผู้ป่วย 80-100 ราย และมีการอบรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บริการผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถูกต้องตามมาตรฐานการดูแลรักษามากที่สุด

นางเชย ไชยเสือ อายุ 65 ปี จาก อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น ผู้ป่วยที่ได้รับบริการทดแทนไตด้วยวิธีล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 1 ปี กล่าวว่า เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ช่วงแรกไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในขอนแก่น ทางโรงพยาบาลให้ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เสียเงินไปครั้งละหลายพันบาทจนเงินหมด ทางโรงพยาบาลเอกชนจึงแนะนำให้กลับไปรักษาตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รับการส่งต่อมารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ซึ่งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทุกคนดูแลเป็นอย่างดี และสอนให้ตน สามี และลูกสาว ได้เรียนรู้วิธีการล้างไตอย่างถูกต้อง โดยไม่ได้เสียเงินค่ายาค่ารักษา ลูกหลานก็ไม่ต้องลำบากหาเงินมาให้รักษาเหมือนช่วงก่อน และไม่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อยๆ เหมือนในช่วงฟอกเลือด เพียงแค่มาตรวจตามกำหนดเดือนละครั้ง และน้ำยาล้างไตได้ถูกส่งตรงไปที่บ้าน ทำให้สะดวกสบายมากขึ้น

พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก รองผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น กล่าวว่า สปสช. ได้จัดสรรงบประมาณ สนับสนุนให้โรงพยาบาลสำหรับดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 3 วิธี ได้แก่ ให้ผู้ป่วยได้รับบริการบำบัดทดแทนไต ทั้งการล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการผ่าตัดปลูกถ่ายไต และสนับสนุนงบประมาณให้หน่วยบริการเพื่อการพัฒนาระบบบริการ ให้ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ต้องบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีล้างไตผ่านทางหน้าช่องท้อง ทาง สปสช. จึงได้ประสานความร่วมมือกับบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อจัดส่งน้ำยาล้างไตไปถึงบ้านผู้ป่วย ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา

ขณะที่พญ. เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)และประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง ได้มีความเห็นต่อข่าวแจกนี้ว่า ผู้ป่วยโรคไตเรื้องรังระยะสุดท้ายที่รักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างช่องท้องชนิดถาวรหรือต่อเนื่อง (CAPD – Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis) โดยใส่ท่อสำหรับให้น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้อง และใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปวันละ 4 ครั้งๆละประมาณ 1 ชั่วโมง ต้องทำทุก 6 ชั่วโมง โดยใส่น้ำยาเข้าไปทีละ 2,000 ซีซี แล้วปล่อยน้ำยาออกทิ้งไปเป็นการแลกเปลี่ยนของเสียจากเลือดออกมาในน้ำยาทำทุกวัน

ส่วนการล้างไตอีกวิธีหนึ่งคือการฟอกเลือด( Hemodialysis :HD) ซึ่งการที่ผู้ป่วยควรจะได้รับการรักษาแบบ HD หรือ CAPD ควรจะให้แพทย์เจ้าของไข้เป็นผู้พิจารณาสั่งการรักษาเป็นแต่ละคนไป เพื่อให้เหมาะสมและได้ผลดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน

“แต่สปสช.บังคับว่าผู้ป่วยไตวายทุกคนต้องรับการรักษาแบบ CAPD เป็นอย่างแรกทุกคน ถ้าแพทย์ไม่ทำตามนโยบายสปสช.ก็จะไม่จ่ายเงินค่ารักษาให้แก่โรงพยาบาล ดังนั้นแทนที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมแก่ความป่วยไข้ของตนกลับถูกบังคับว่าต้องล้างไตโดยทางหน้าท้องอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การฟอกไตไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าการรักษาแบบนี้ในประเทศอื่นๆ เนื่องจากการล้างไตทางหน้าท้องนี้ ผู้ป่วยต้องใส่น้ำยาล้างไตในท่อทางหน้าท้องเอง ถ้าไม่ระมัดระวังเรื่อง Aseptic technic (ป้องกันการติดเชื้อโรค ก็จะเกิดการอักเสบติดเชื้อ (infection)ได้ง่าย ทำให้เป็นสาเหตุการล้างไตที่ไม่ได้ผล และอาจลุกลามให้ผู้ป่วยตายได้มากกว่าผู้ป่วยของประเทศอื่น”

ทั้งนี้จากสถิติของสปสช.จากโรงพยาบาลในสังกัดที่ให้รักษาผู้ป่วยโรคไตวาย ตัวเลข ณ มกราคม 2555 มีผู้ป่วยลงทะเบียนล้างไตทางช่องท้อง 16,243 คน เสียชีวิต จำนวน 5,068 คน มีชีวิต 11,175 คน มีอัตราการตายถึง 40 % ซึ่งต่างจากข้อมูลข่าวแจกก่อนหน้านี้

ขณะที่ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) ได้มีความเห็นว่า ไม่ได้เห็นค้านต่อการล้างไตทางช่องท้อง แต่ต้องให้ข้อมูลให้ครบกับผู้ป่วย โดยเห็นด้วยกับ รศ.นพ.ทวีที่ว่าจะต้องมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่มากขึ้น เพราะต้องติดตามไปดูแลคนไข้ล้างไตทางช่องท้องอย่างใกล้ชิดที่บ้าน (ดูสภาพครอบครัว คนในครอบครัวที่ต้องช่วยดูแล) และต้องมีวินัยสม่ำเสมอเพื่อให้การดูแลรักษามีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพราะการหย่อนยานวินัยมีผลต่อการมีชีวิตรอดของผู้ป่วย ส่วนใหญ่ในปีที่ 1 ของล้างไตทางช่องท้องมักจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่พอเข้าปีที่ 2 และ 3 จะเสียชีวิตมากขึ้น ซึ่งสถิติที่นำมาอ้างอิงก็สะท้อนเช่นนั้น

“ที่โรงพยาบาลสุรินทร์ หากคนไข้ติดเชื้อบ่อยๆ และดูท่าจะไม่ไหว จะปรับมาฟอกทางเส้นเลือด หรือถ้าอาการแย่มากจะให้ยากินแทน เพราะเรื่องนี้ต้องพิถีพิถัน เจ้าหน้าที่ต้องตามไปประเมินผล ไปช่วยคนไข้ การติดเชื้อแต่ละครั้งไม่สามารถบอกได้ว่าติดเชื้ออะไร เราไม่ได้ค้านการล้างไตทางหน้าท้อง แต่ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ปีแรก ต้องพูดถึงระยะยาว จากข้อมูลข้อเท็จจริง ส่วนใหญ่คนไข้ไม่ได้ตายเพราะไตวายแต่ตายเพราะติดเชื้อ ถ้าหากจะเปรียบเทียบกับต่างประเทศดังที่ยกตัวอย่าง ประเทศเหล่านั้นเขาเจริญแล้ว คนมีความรู้ และส่วนใหญ่อากาศหนาว การติดเชื้อย่อมน้อยกว่า ต่างจากของไทยที่สุขอนามัยไม่ดีเท่า ประชาชนยังยากจน รวมทั้งอากาศร้อน จึงเปรียบเทียบสถิติกันไม่ได้ทั้งหมด”

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ แพทย์ที่มองมุมต่างอย่างนายแพทย์ ดำรัส โรจนเสถียร ศท, ศย. ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคไตให้ความเห็นโดยโพสต์ข้อความในข่าวแจกครั้งแรกว่า “ในฐานะผู้ชำนาญและเป็นผู้ดำเนินการ และเป็นผู้ที่สนับสนุนการรักษาระบบทดแทน ตั้งแต่ Dialysis ทั้งสองวิธี จนถึง Transplantation พร้อมทั้งนำเทคโนโลยี่มาสู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2533 ผมเพียงเตือนให้ สปสช. ทราบว่ามีความเหมาะสมในการบอกสังคมทั่วไปไหมว่า ผู้ป่วยไตวายที่ให้เอาเขามาล้างไตทางช่องท้องนั้น ทำได้มาตรฐานที่โลกเขายอมรับได้แล้วจริงๆ หรือ การรักษาผู้ป่วยไตวายนั้นเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาโรคไต ระบบทดแทนด้วยวิธี CAPD ที่ทั่วโลกเขาทำกันมานานหลายสิบปีแล้วหรือ”

นายแพทย์ดำรัสกล่าวต่อว่า “หลายปีที่ผ่านมา พ่อและแม่ และปัจจุบันพี่สาวผม ยังฟอกเลือดอยู่ที่โรงพยาบาลเดชา ใช้สิทธิ์ข้าราชการบำนาญ พี่ผมฟอกมานานหลายปีแล้ว เมื่อตรุษจีนนี้ยังมาแจกอั่งเปาให้ลูกหลานเหลนอยู่เลย ในขณะที่พ่อ แม่ พี่ชาย และน้องชายเสียชีวิตด้วยโรคไตไปหมดนานแล้ว ผมไม่มีอคติต่อใครๆ ที่มีส่วนในการรักษาผู้ป่วย และไม่มี Conflict of Interest ทั้งๆ ที่ผมมีโรงพยาบาลและบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์และยาที่ใช้ในวงการโรคไต ผมยังช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ สปสช. ปีละหลายล้านบาทด้วยการจำหน่ายสินค้าให้ราคาไม่แพง ผมพูดเพื่อให้ สปสช. ทำในสิ่งที่ควรต้องทำเพราะ สปสช. ยังไม่ได้ทำพอเหมาะเลย ผมจะไม่ละเว้นหาก สปสช. ยังไม่แสดงเจตนาที่จะทำให้มีมาตรฐาน ผมไม่ได้ขอมากเกินที่เป็นไปได้จริง ผมขอให้คนไทยทั้งประเทศได้สิทธิตามควรที่ระบุในรัฐธรรมนูญเท่าเทียมกัน”

นายแพทย์ดำรัสกล่าวเพิ่มเติมว่า ในอดีต ผู้ป่วยไตวายมีเงินรักษาเมื่อหมดเงินสุดท้ายก็ตาย ขณะที่คนที่ไม่มีเงิน เข้าไม่ถึงการรักษา ก็ไม่ได้รับการรักษา สุดท้ายก็ตายเหมือนกัน วันนี้เรามี สปสช. ที่จะช่วยประชาชนชาวไทยให้อยู่รอดปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้ว ทาง สปสช. ทราบว่าต้องใช้เงินแค่ใดจึงพอเพียง ไม่ต้องใช้เงินเกินสมควร แต่ควรมาช่วยกันให้คนไทยได้อยู่ เติบโตอย่างมีสุขภาวะที่ดี ด้วยมาตรฐานสาธารณสุขที่ดีมากกว่า

“การป้องกันคือการรักษาที่ดีที่สุด วิธีการของสปสช.เขาไม่ได้รักษาโรค แต่รักษาให้เหมาะกับเครื่องมือของสปสช.มากกว่า ถ้าหมอรักษาแบบละเอียด และเอาจริงกับคนไข้ก็สามารถป้องกันโรคให้ผู้ป่วยได้ เพราะโรคไตเป็นโรคที่ป้องกันได้ เริ่มจากความดันสูง เบาหวาน หากหมอเอาจริงก็จะสั่งตรวจสปัสสาวะ ก็จะทราบว่าเป็นโรคไตหรือไม่ ถ้าเป็นก็สามารถป้องกันได้ ไม่กินเค็ม เนื้อสัตว์เยอะต้องลดโปรตีน อย่าออกกำลังกายหักโหม เพราะทำให้กล้ามเนื้อละลาย ถูกขับออกทางปัสสาวะ ถ้าไตเสื่อม จะกเดอาการบวมที่ขา หน้าอกมีน้ำคั่ง เป็นต้น” นายแพทย์ดำรัสกล่าว

หมายเหตุ : ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้ป่วยไตวายของสปสช. การบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) ปี 2554 การบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) ปี 2554