ThaiPublica > คอลัมน์ > Kony 2012: เมื่อ ‘ความดี’ ตบตีกับ ‘ความจริง’

Kony 2012: เมื่อ ‘ความดี’ ตบตีกับ ‘ความจริง’

27 มีนาคม 2012


ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ช่วงเดือนที่ผ่านมา ไม่น่าจะมีภาพเคลื่อนไหวชิ้นไหนสร้างกระแสออนไลน์ร้อนแรงไปกว่า Kony 2012 สารคดียาว 30 นาที ที่ถูกคลิกดูและถูกส่งต่อกันมากที่สุดในโลก ความโด่งดังอย่างเป็นปรากฏการณ์ เชื้อเชิญให้มันได้รับตั้งแต่คำสรรเสริญเยินยอจนถึงคำด่าทอเผ็ดร้อนจากทั่วสารทิศ จนตกอยู่ในทั้งสถานะ ‘สารคดีทรงพลังแสนดี’ พร้อมๆ กับ ‘โฆษณาชวนเชื่อสุดชั่ว’ และผลักให้คนทำรวมถึงองค์กรเบื้องหลังหนังเรื่องนี้กลายเป็นทั้งพระเจ้าและปิศาจในคราวเดียวกัน

สำหรับผู้ที่อาจยังไม่เคยผ่านตาหนังเรื่องนี้ (ซึ่งมีให้ดูได้บน YouTube พร้อมคำบรรยายภาษาไทย ดูเพิ่มเติม KONY 2012 [thai-sub] part1 และ KONY 2012 [thai-sub] part2 ) เรื่องย่นย่อของมันมีอยู่ว่า เจสัน รัสเซลล์ เป็นหนุ่มอเมริกันที่ถูกขับดันด้วยแรงสะเทือนใจเกี่ยวกับชะตากรรมของเด็กชาวยูกันดานับหมื่น ซึ่งถูก โจเซฟ โคนี ผู้นำกองกำลังต่อต้านของพระผู้เป็นเจ้า (Lord’s Resistance Army: LRA) ลักพาตัวไปบีบบังคับให้เป็นทาสบำเรอกามและทหารเด็ก รัสเซลล์กับเพื่อนจึงตั้งกลุ่ม Invisible Children (IC) แล้วบากบั่นรณรงค์มาตลอด 9 ปี ให้เกิดการจับกุมตัวโคนีมาลงโทษ โดยแรงหนุนที่เขาได้รับจากวัยรุ่นและชาวอเมริกันค่อยๆ ทวีขึ้นเป็นแสนคน จน (เขาเชื่อว่า) เป็นส่วนสำคัญในการกดดันให้รัฐบาลอเมริกันของโอบามาตัดสินใจส่งทหารสู่ยูกันดาเพื่อร่วมไล่ล่าตัวโคนี แต่กระนั้น เพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุผลเสียทีภายในปี 2012 เขาจึงผลิตหนังเรื่องนี้ขึ้นเพื่อกระตุ้นเร้าให้เราเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการบริจาคเงินแก่ IC และช่วยกันขานชื่อโคนีให้กลายเป็นวาระเร่งด่วนที่ทั้งโลกต้องรับรู้โดยไม่อยู่นิ่งเฉยอีกต่อไป

หลังออนไลน์เมื่อกลางมีนาคมที่ผ่านมา Kony 2012 ก็กลายเป็นคลิปไวรัล (Viral) ที่เรียกยอดคลิกจากคนทั่วโลกเกือบร้อยล้านครั้งอย่างรวดเร็วน่าตื่นตะลึง ซึ่งยิ่งน่าทึ่งเมื่อพิจารณาว่า ก่อนหน้านี้ชื่อของรัสเซลล์กับกลุ่ม IC (อาจรวมถึงชื่อ โจเซฟ โคนี ด้วย) ไม่ได้เป็นที่รู้จักของประชากรโลกมาก่อน อีกทั้งความโด่งดังนั่นก็ไม่ได้เป็นผลจากการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดอื่นใดประกอบเลย จึงน่าจะกล่าวได้ว่า Kony 2012 เป็นสารคดีที่ประสบความสำเร็จยิ่งยวดในการโน้มนำความคิดความรู้สึกของคนดูด้วย ‘พลังแห่งการเล่าเรื่อง’ อย่างแท้จริง

พลังโน้มน้าวของสารคดี

นิยามเดิมๆ ของ ‘หนังสารคดี’ ที่ว่า ‘หนังซึ่งวางตัวคนทำไว้ห่างๆ แล้วถ่ายทอดความจริงอย่างเป็นกลาง’ อาจควรนับว่าซื่อใสและล้าสมัยเต็มทีสำหรับปัจจุบัน อันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า ทั้งความจริงและความเป็นกลางล้วนคือความพร่าเลือนคลุมเครือ โดยเฉพาะเมื่อมันถูกบอกเล่าผ่านโลกทัศน์ของใครสักคน

ไมเคิล มัวร์ เป็นหนึ่งในคนทำสารคดีเบอร์ต้นๆ ของโลกที่ทุบนิยามนั้นของหนังสารคดีย่อยยับ ด้วยการก้าวเข้าไปในหนังแล้วใช้ตัวเองเป็นทั้งนักสืบค้น นักแสดง และนักเล่าเรื่อง ที่ออกอาการถือหางทางการเมืองแบบไม่ปิดบัง ดังปรากฏในสารคดีลือลั่นอย่าง Bowling for Columbine และ Fahrenheit 9/11 กระนั้น เสน่ห์และความชาญฉลาดของเขาก็ทำให้หนังเหล่านี้มีพลังมากในการโน้มนำความคิดของคนดูจำนวนมหาศาล คล้ายคลึงกันกับสารคดีสะเทือนโลกเรื่อง An Inconvenient Truth ที่ทำให้ประเด็นโลกร้อนกลายเป็นหัวข้อสนทนาติดปากคนทั่วไป และเล่นเอาเรานั่งดูด้วยไฟลุกโชนกระสับกระส่าย อยากกระโจนกลับบ้านไปปิดไฟและถือกระเป๋าผ้าด้วยดวงตาเป็นประกายทันทีที่ดูหนังจบ

Kony 2012 ก็บรรลุเป้าหมายแบบเดียวกันนั้น รัสเซลล์แสดงความเชี่ยวชาญของคนทำหนังและความเข้าใจในธรรมชาติของสิ่งที่กำลังทำเป็นอย่างดี – – สารคดีที่เล่าชะตากรรมของทหารเด็กในแอฟริกาอย่างหดหู่สิ้นหวัง แห้งแล้งห่างตัว หรือเต็มไปด้วยข้อมูลประวัติศาสตร์และสถิติที่น่าปวดหัวนั้น ย่อมไม่มีพลังในการกระตุ้นความฮึกเหิมของใครได้ แต่การสร้าง ‘ดราม่า’ ผสมผสานกับการย่อยข้อมูลให้เข้าใจง่ายต่างหากที่ใช่ หนังของรัสเซลล์จึงใช้ทั้งเสียงบรรยายอันเปี่ยมเสน่ห์ของตัวเขาเอง, สร้างความสะเทือนใจแก่คนดู ด้วยภาพเปรียบเทียบชีวิตที่แตกต่างกันระหว่างลูกชายตัวน้อยผู้ฉลาดน่ารักของเขาและ เจค็อบ เด็กชายยูกันดาหนึ่งในเหยื่อของโคนี, ใช้อินโฟกราฟฟิกช่วยสรุปข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างสวยงามน่าดู

โจเซฟ โคนี ผู้นำกองกำลังต่อต้านของพระผู้เป็นเจ้า
โจเซฟ โคนี ผู้นำกองกำลังต่อต้านของพระผู้เป็นเจ้า

และที่สำคัญที่สุดคือ การใช้โครงสร้างการเล่าเรื่องแบบ 3 องก์ แบบหนังฮอลลีวูดที่เราคุ้นเคย: แนะนำตัวละคร / ปูเงื่อนไขและปัญหา / เล่าเรื่องการต่อสู้ปะทะระหว่าง ‘พระเอก’ (ตัวเขาเองและเหล่าหนุ่มสาวไฟแรงร่วมอุดมการณ์) กับ ‘วายร้าย’ (โคนี) / คลี่คลายระดับแรก (“การต่อสู้ของพวกเราสำเร็จแล้วเมื่อโอบามาส่งทหารไปยูกันดา”) / ผูกปมขัดแย้งเพิ่มความลุ้นระทึก (“แต่โอบามาอาจเรียกทหารกลับเมื่อไหร่ก็ได้ และโคนีก็จะลอยนวลต่อไป”) / ให้บทสรุปตบท้าย คลี่คลายอย่างให้ความหวัง (“ดังนั้น เราต้องไม่ยอมให้การไล่จับครั้งนี้ล้มเหลว ซึ่งคุณเองก็ช่วยได้ด้วยการทำ 3 ข้อต่อไปนี้…”)

ความแม่นยำในการเล่าเรื่องดังกล่าวนี้เองที่ทำให้หนังเป็นที่ยอมรับได้ง่ายดาย และเนื้อสารที่ว่า “คนตัวเล็กๆ อย่างเราสามารถเปลี่ยนโลกได้” ก็สร้างแรงบันดาลใจสูงลิบแก่คนดูวงกว้าง กระนั้น Kony 2012 ก็เป็นเช่นกันกับสารคดีของมัวร์หรือ An Inconvenient Truth ที่ไม่อาจหลีกหนีข้อโจมตีหนักหน่วงจากฝ่ายตรงข้ามได้พ้น โดยเฉพาะการถูกประนามว่าเป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อ เพราะทั้งบิดเบือน บีบอัด ตัดทิ้งข้อเท็จจริงของสถานการณ์ในยูกันดาเหนือให้เหลือเป็นเพียง ‘ปัญหา–ตัวร้าย–วิธีแก้ไขง่ายๆ ที่คุณก็ทำเองได้’ ยัดใส่ปากคนดูให้กลืนไม่ต้องเคี้ยว แล้วกระตุ้นต่อมความดีให้ทำงานทันทีโดยไม่ต้องพิจารณาความจริงอย่างรอบด้าน

หนังถูกตั้งคำถามว่า รัสเซลล์และ IC ไม่รู้หรือจงใจไม่พูดถึงกันแน่ต่อข้อเท็จจริงที่ว่า โคนีนั้นระเห็จออกจากยูกันดาไป 6 ปีแล้ว และกองกำลังของเขาปัจจุบันก็เหลือสมาชิกเพียงไม่กี่ร้อยคน, หนังซื่อใสเกินไปไหม ที่จำกัดขอบเขตความขัดแย้งในยูกันดาและแอฟริกาซึ่งแท้จริงแล้วลึกซึ้งไปถึงเรื่องเชื้อชาติ ประวัติศาสตร์ ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ให้เหลือเป็นแค่เรื่องของธรรมะกับอธรรมในระดับปัจเจก, มันเป็นแค่ผลงานแห่งมายาคติของคนขาวที่ยังเห็นตัวเองเป็นตำรวจโลก ผู้สามารถสร้างสันติภาพและความเจริญแก่ชาติโลกที่สามได้ด้วยการใช้กำลังและเงินอีกแล้วใช่หรือไม่, จะดีกว่าไหมถ้า IC นำสรรพกำลังไปใช้ฟื้นฟูชีวิตของอดีตทหารเด็กซึ่งเป็นปัญหาจริงในปัจจุบัน แทนที่จะหวนไห้วุ่นวายอยู่กับปัญหาจากอดีตที่คนยูกันดาเองก็อยากจะลืม ไปจนถึงข้อโจมตีด้วยสายตาเปี่ยมความหวาดระแวงที่ว่า หนังเรื่องนี้กำลังทำตัวเป็นเครื่องมือชวนเชื่อของรัฐบาลอเมริกันที่จ้องอยากบุกเข้าไปฮุบบ่อน้ำมันใหม่ในยูกันดา โดยใช้ข้ออ้างตกยุคอย่าง ‘เราเข้าไปเพื่อทำสงครามก่อการร้าย’ เท่านั้นแหละ!

ข้อวิจารณ์เหล่านั้นตบท้ายด้วยบทสรุปอันรุนแรงว่า ถึงที่สุดแล้ว หนัง Kony 2012 (รวมถึงตัวแคมเปญรณรงค์) ก็ไม่ได้ทำประโยชน์ใดไปกว่าการช่วยให้ตัวคนทำหนังเองโด่งดังเป็นวีรบุรุษในชั่วพริบตา แย่กว่านั้นคือมันทำให้คนจำนวนหนึ่ง ‘รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น’ ที่ได้บริจาคเงินนิดหน่อย โดยหาได้แยแสไม่ต่อตัวปัญหาจริงที่ยังคงดำรงอยู่อย่างซับซ้อน

คำถามชวนใคร่ครวญ

ปรากฏการณ์ร้อนแรงทั้งหมด คงจะยังสร้างบทสนทนาถกเถียงดุดันในหมู่ผู้คนทั่วโลกไปอีกนาน กระนั้น พ้นจากประเด็นที่ว่า ตกลงนี่เป็นหนังดีหรือหนังลวงโลก? แคมเปญไล่ล่าโคนีเป็นเรื่องดีหรือเรื่องไร้สาระ? และการที่ เจสัน รัสเซลล์ ตกเป็นข่าวฉาววิ่งแก้ผ้าในที่สาธารณะนั้น เป็นเพราะเมายาหรือถูกกระแสกระหน่ำจนสติแตกกันแน่ ฯลฯ เราก็ยังมีอีกอย่างน้อยสองประเด็นเกี่ยวกับหนังสารคดีเรื่องนี้ที่น่าขบคิด

ไม่ว่าจะมองในแง่ของการเป็นสื่อไวรัลชิ้นเล็กๆ หรือมองเนื้อหาที่มันบอกเล่า Kony 2012 ก็เป็นหลักฐานที่ยืนยันย้ำว่า โครงสร้างอำนาจแบบบนลงล่างที่เราคุ้นเคยในโลกยุคเก่านั้นกำลังสั่นคลอนขนาดหนัก อินเทอร์เน็ตและสื่อภาพเคลื่อนไหวเผยบทบาทยิ่งใหญ่อีกครั้ง ในการระดมผู้คนต่างกลุ่มหรือกระทั่งต่างชาติต่างภาษา ที่ไม่เคยแม้แต่จะพบหน้ากันในชีวิตจริงให้เกิด ‘ความรู้สึกของการมีส่วนร่วม’ อย่างเท่าๆ กัน และก็เป็นอีกครั้งที่มันบอกเรา (โดยไม่จำต้องใช้น้ำเสียงโรแมนติกพาฝัน) ว่า ถึงเวลาแล้วที่สามัญชนสามารถเปล่งเสียงเรียกร้องและ ‘ลุกขึ้นทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนโลกด้วยตัวเอง’ โดยไม่ต้องเป็นฝ่ายเฝ้ารอรับความเมตตาจากอำนาจเบื้องบนเพียงถ่ายเดียวอีกต่อไป

ในอีกแง่ เราคงยากจะปฏิเสธข้อวิจารณ์ของฝ่ายตรงข้ามที่ว่า ความง่ายดายเกินไปของประเด็นในหนังเรื่องนี้ย่อมเป็นภัย เมื่อหลอมรวมเข้ากับความง่ายดายในพฤติกรรมการเสพข้อมูลข่าวสารของเราเองในยุคดิจิตอล เพราะในที่สุด คนส่วนใหญ่จะไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรหรอกนอกจากเต็มตื้นกับการเสพดราม่าครึ่งชั่วโมง กดไลค์ เขียนคอมเมนต์ กดแชร์ แล้วก็นั่งเอิบอิ่มใจในความดีของตน ก่อนจะหลงลืมมันและเพลิดเพลินต่อไปกับความบันเทิงอื่นในโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือเมื่อพิจารณาปฏิกิริยาด้านกลับกัน ก็คงมีคนอีกไม่น้อยมองหนังเรื่องนี้และแคมเปญนี้ด้วยอารมณ์เสียดเย้ยตามยุคสมัย แล้วเกิดเป็นความรู้สึกเชิงต่อต้านหรือถึงขั้นชิงชังมัน ซึ่งก็จะลงท้ายด้วยความหมางเมินไม่ใส่ใจในระดับที่ไม่แตกต่างจากคนกลุ่มแรกนัก

เราคงต้องอาศัยอะไรที่มากกว่าความท่วมท้นของข้อมูลข่าวสาร ในอันจะนำเราสู่การ ‘ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง’ จริงๆ…คำถามคือ อะไรคือสิ่งเหล่านั้น และสังคมได้เพาะบ่มมันขึ้นแล้วหรือยัง?