ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “โครงการไฟ ฟ้า ทีเอ็มบี” ความแตกต่างที่สร้างได้ กระบวนการ “อินไซด์เอาต์ของชุมชน” สร้างคน สร้างโอกาส

“โครงการไฟ ฟ้า ทีเอ็มบี” ความแตกต่างที่สร้างได้ กระบวนการ “อินไซด์เอาต์ของชุมชน” สร้างคน สร้างโอกาส

6 มีนาคม 2012


วันเปิดโครงการไฟ ฟ้า ถนนประชาอุทิศ นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (กลาง) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) นายภารไดย ธีระธาดา (ซ้าย)และ มร.สตีเฟ่น  พิมบลีย์ (ขวา) สถาปนิกชาวอังกฤษ ร่วมออกแบบตึกไฟฟ้าประชาอุทิศ
วันเปิดโครงการไฟ ฟ้า ถนนประชาอุทิศ นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (กลาง) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) นายภารไดย ธีระธาดา (ซ้าย)และ มร.สตีเฟ่น พิมบลีย์ (ขวา) สถาปนิกชาวอังกฤษ ร่วมออกแบบตึกไฟฟ้าประชาอุทิศ
โครงการไฟ ฟ้า ถนนประดิพัทธ์
โครงการไฟ ฟ้า ถนนประดิพัทธ์

เรามักจะได้ยินเสมอว่าการสร้าง “คน” ให้เป็นคนนั้นยาก และการสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่ประเสริฐยิ่งยากขึ้นไปอีก

อนาคตของประเทศอยู่ที่คน ด้วยเหตุนี้องค์กรภาคเอกชนบางแห่งได้เริ่มโครงการสร้างคน สร้างโอกาส โดยมุ่งที่เยาวชน เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ

“การสร้างที่แตกต่าง” ใช่ว่าจะเนรมิตการเปลี่ยนผ่านให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในชั่วพริบตา อะไรยิ่งยากยิ่งต้องใช้เวลา ต้องอดทนอดกลั้น เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างความร่วมมือ เพื่อสร้างพลังการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

การก้าวสู่ปีที่ 3 ของโครงการ “ไฟ ฟ้า” กิจกรรมเพื่อสังคมของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีเอมบี ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน ที่มีเป้าหมายในการสร้างคน สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง โดยมุ่งไปยังกลุ่มเยาวชนอายุ 12- 19 ปี ในชุมชนที่ด้อยโอกาส ผ่านกิจกรรมเชิงศิลปะ เพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และโอกาสในการพัฒนาทักษะ ให้เกิดพลังการผลักดัน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนามุมมองชีวิตทั้งส่วนตัวและชุมชน

โครงการ “ไฟ ฟ้า” เริ่มเมื่อเดือนเมษายน 2553 บนตึกแถวที่รีโนเวตใหม่ เป็นตึก “ไฟ ฟ้า” บนถนนประดิพัทธ์ และวันนี้มี “ไฟ ฟ้า” แห่งที่สองบนถนนประชาอุทิศ ซึ่งเปิดไปแล้วเมื่อต้นเดือนกุมพาพันธ์ที่ผ่านมา

โครงการ “ไฟ ฟ้า” เป็นการเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ในชุมชนย่านประดิพัทธ์และย่านประชาอุทิศได้มีพื้นที่หลังเลิกเรียน หรือใช้เวลาว่างในวันเสาร์-อาทิตย์ให้เกิดประโยชน์ เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เข้าถึงตัวเอง ได้ใช้พลังในตัวเอง ผ่านกิจกรรมศิลปะด้านต่างๆ

วิชาที่เปิดสอนและกิจกรรมเสริมทักษะประกอบด้วยวิชาศิลปะ ดนตรี กีฬา และทักษะอาชีพ เช่น วาดภาพ เต้นรำ ทำครัว เทควันโด เป็นหลักสูตร 3 ปี เด็กที่เข้ามาปีหนึ่งสอนให้เรียนทักษะพื้นฐาน ปีสองเรียนเทคนิคที่ยากขึ้น ปีสามก็ยากขึ้นไปอีก

“ไฟ ฟ้า” เปิดให้เด็กมาเรียนเสาร์ อาทิตย์ เวลา 8.30 น.- 18.00 น. วันธรรมดา อังคาร-ศุกร์ ตั้งแต่เที่ยง – 20.00 น.

นายภารไดย ธีระธาดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน)
นายภารไดย ธีระธาดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน)

“เราต้องสอนคน ไม่ใช่แจกของ hand out แต่สอนให้เขาใช้มือให้เป็นมีประโยชน์ take a hand up เป็นคอนเซ็ปต์ของไฟ ฟ้า” นายภารไดย ธีระธาดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ทีเอ็มบีกล่าว

พร้อมกับเล่าว่า โจทย์ของ “ไฟ ฟ้า” เป็นโจทย์กิจกรรมเพื่อสังคมที่จะช่วยชุมชนจริงๆ ไม่ใช่แค่การไปแจกของปีละครั้ง แต่เป็นโครงการสอนเด็กอายุ 12–19 ปี ซึ่งเป็นเด็กที่ช่วยตัวเองได้แล้ว โดยใช้ศิลปะแขนงต่างๆ ให้เด็กได้ใช้งานศิลปะเพื่อจุดประกายให้เขาได้โชว์ฝีมือ และให้เขาได้ภูมิใจในตัวเอง เมื่อเขามีพลังของตัวเอง ก็นำไปสู่การเปลี่ยนชุมชนของเขา โดยไม่ต้องรอให้คนอื่นมาช่วย

กว่า 2 ปี ของโครงการไฟ ฟ้า เริ่มเห็นความแตกต่าง เห็นพัฒนาของเด็กๆ พัฒนาการของชุมชน จากการ “เติมเต็มโอกาส” ให้เด็กๆ ในชุมชนละแวกใกล้เคียงกับประดิพัทธ์

จากวันแรกถึงวันนี้ มีพัฒนาการที่ชัดเจน เพราะเด็กที่มาเรียน เขา”พกใจ”มาเรียนเอง หากเขาพาเพื่อนมาและเพื่อนพูดคำหยาบ เขาจะบอกเพื่อนว่า ที่นี่ไม่พูดคำหยาบ ไหว้ผู้ใหญ่ และช่วยกันรักษาความสะอาด

“ผมว่าพัฒนาการของเด็กๆ บางทีวัดเป็นรูปธรรมไม่ได้ แต่ต้องเข้าไปสังเกตจึงจะเห็นฟีลลิ่ง เด็กที่อยู่กับเราสักพักจะเห็นพัฒนาการเยอะ ต่างจากเด็กที่เพิ่งเข้ามา เด็กจะขัดเกลาตัวเขาเอง เป็น positive fill pressure เช่น ถ้าเด็ก 12 ปี เห็นเด็ก 17 ปี ทำตัวเรียบร้อย เป็นตัวอย่างที่ดี มาตรงเวลา ถ้าพี่ยังทำได้ เป็นตัวอย่างที่ดี เขาจะทำตามในตัวอย่างที่ดี”

"นพวรรณ แสงธีรกิจ"ผู้อำนวยการ สายงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร
"นพวรรณ แสงธีรกิจ"ผู้อำนวยการ สายงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร

“นพวรรณ แสงธีรกิจ” ผู้อำนวยการภาพลักษณ์องค์กรและกิจกรรมสังคม กล่าวเสริมว่า “พวกเราสตาฟไฟฟ้า พอเจอหน้ากันเราก็สวัสดี เราต้องเป็นโรลโมเดล ไฟฟ้าไม่มีกฎ ไม่ได้วางระเบียบว่าห้ามนั่นห้ามนี่ อะไรที่ทำแล้วดีเราทำ เช่น สวัสดีค่ะ ขอบคุณ ยกมือไหว้ หรือเวลาประชุมก็ไม่คุยโทรศัพท์ ห้ามจุ๊กจิ๊ก ให้ฟังที่ประชุม

“ที่นี่มีเดอะแก๊ง ซึ่งเป็นเด็กแสบ ซนมาก ป่วนทุกอย่าง พอเขาอยู่กับเราสักพัก เวลาครูสอนเขาต้องตั้งใจเรียน น้องพูดเขาจะเงียบ”

“เด็กบางคนมาใหม่ๆ พูดคำหยาบ ด่าอาสามัคร แต่ตอนนี้เป็นคนสอนเพื่อนว่าที่นี่ไม่พูดคำหยาบ หรือมีเด็กบางคนที่มีปัญหามากๆ เราก็มีอาสาสมัครมาช่วยบำบัด ใช้ศิลปะมาช่วย คุยกับเขาจนเข้าใจปัญหาเขา เรารู้ว่าเขาต้องการการยอมรับ เขาทำดีเราก็ชม ตอนหลังเวลามีแขกเยี่ยม เขาช่วยรับแขก เราทำโครงการ ‘ไฟ ฟ้า บริดจ์’ ก็ไปโรงเรียนเขา เพื่อนมาเขาก็มาด้วย ขอพาเพื่อนทัวร์ ‘ไฟ ฟ้า’ เอง”

ทุกคนที่เป็นสตาฟไฟ ฟ้า ตั้งแต่ผู้จัดการ เจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาที่ช่วยออกแบบหลักสูตร หรือครูอาสาสมัครที่มาสอน ทุกคนจะช่วยกันดูแลเด็กๆ เพราะคนที่มาเป็นอาสาสมัคร ไม่ใช่แค่มาสอน เขาต้องสร้างความเชื่อมั่นกับเด็กๆ เด็กจะเชื่อว่าโครงการนี้จะไม่หายไป พออยู่ด้วยกันนานๆ ก็จะเชื่อใจ คุยกันได้ทุกเรื่อง อย่างผู้จัดการโครงการไฟ ฟ้า นอกจากดูโครงการแล้วต้องช่วยผูกสัมพันธ์กับชุมชน เป็นเหมือนทูตของโครงการเพื่อให้พ่อแม่ไว้ใจอนุญาตให้ลูกมาเรียน และเมื่อทำกิจกรรมกับชุมชน เขาจะร่วมมือกับเรา

"ธัชกร พฤฒินพดล" ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร
"ธัชกร พฤฒินพดล" ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร

“ธัชกร พฤฒินภดล” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ภาพลักษณ์องค์กรและกิจกรรมสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า “เรามาตั้งแต่โครงการนี้เริ่มก่อตัวขึ้น มาถึงวันนี้มันเป็นความสุขที่เห็นเด็กได้ดี เขาดีขึ้น พูดจาดีขึ้น อย่างตอนแรกๆ ที่เปิดโครงการ เด็กเข้าไปเล่นในห้องน้ำ ใช้สายฉีดเล่นฉีดน้ำจนเปียกปอนกันไป หรือรูดราวบันไดจนราวบันไดหลุด หรือมาเรียนทำอาหารเพราะอยากทานอาหารอร่อยๆ เด็กในชุมชนมีความดิบเยอะมาก แต่วันนี้เขาเปลี่ยนไป ถูกวัฒนธรรมไฟ ฟ้า หลอม พอเขาเป็นไฟ ฟ้า เต็มตัว เขาเปลี่ยนไปในทางดีขึ้น”

“จริงๆแล้ว ถามว่าไฟ ฟ้า วัดความสำเร็จจากอะไร พอมาถึงวันนี้ ตัววัดไม่ใช่ว่าเด็กต้องเข้ามหาวิทยาลัย แต่เราทำเพื่อให้เด็กใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และไปทำประโยชน์ให้ชุมชนเขา สิ่งเหล่านี้มันเกินกว่าความสำเร็จ ซึ่งเด็กๆ เขาทำแล้ว มันให้อนาคตเขาไปไกลกว่าเราคิดเยอะมาก และปีนี้เราจะโฟกัสชุมชน เด็กจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่แค่สิ่งของ กำแพง รั้ว แต่มันต้องไปมากกว่านั้น ซึ่งเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเรื่องความเป็นอยู่ วิถีชีวิต ที่ดีขึ้นของชุมชน”

“ภารไดย” เล่าอีกว่า พ่อแม่เด็กไฟ ฟ้า ส่วนใหญ่ มีอาชีพเป็นพนักงานส่งเอกสาร คนขับรถ เป็นต้น ต้องทำงาน 2 งาน ไม่ค่อยอยู่บ้าน ต้องให้ญาติช่วยดูแลเด็ก ซึ่งอาจจะไม่ได้ดูแลใกล้ชิด เด็กๆ ก็ไปหาอะไรที่สนใจทำ อาจจะไปหายาเสพติด ติดเกมออนไลน์ ดื่มเหล้า ไม่มีวิธีพัฒนาตัวเอง ซึ่งจะเป็นวงจรแบบนี้ เป็นปัญหาสังคม โครงการไฟ ฟ้า เข้ามาเพื่อเบรกวงจรเหล่านี้

สิ่งที่เขาเรียนที่ไฟ ฟ้า สามารถนำมาเชื่อมร้อยกับชุมชนได้ เช่น การเพนท์กำแพงทางเข้าชุมชน เด็กๆ วาดรูป ทาสี ทำให้ชุมชนมีชีวิตชีวา เป็นกิจกรรมที่เด็กๆ เขาคิด ทำกันเอง

เด็กนักเรียนแวะมาที่ตึกไฟ ฟ้า ถนนประชาอุทิศ หลังเลิกเรียน
เด็กนักเรียนแวะมาที่ตึกไฟ ฟ้า ถนนประชาอุทิศ หลังเลิกเรียน
เด็กไฟ ฟ้า เรียนทำคุกกี้
เด็กไฟ ฟ้า เรียนทำคุกกี้

กิจกรรมที่ทำกับชุมชนจะมีไตรมาสละครั้ง โดยนโยบายไฟ ฟ้า เด็กๆ ต้องเข้าไปกับผู้จัดการไฟ ฟ้า เข้าไปสำรวจจุดที่จะทำให้ชุมชนดีขึ้นกว่าเดิม ให้ชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อจุดประกายให้พัฒนาบ้านของเขาให้ดูดีขึ้น และผู้ใหญ่จะได้ภูมิใจตัวเองว่าเป็นสิ่งที่ลูกหลานพวกเขาช่วยกันทำ

กิจกรรมเหล่านี้จะสอนเด็กให้ทำงานเป็นทีม คิด วางแผน ทำงบประมาณ พอเขาวางแผนแล้ว อาสาสมัครของทีเอ็มบีจะช่วยอะไรได้บ้าง ใช้สิ่งที่เขาเรียนรู้ไปทำ เช่น การทำรั้วชุมชนใหม่ ทำกำแพงใหม่ ไปร้องเพลงให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาล เป็นต้น

“เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองมีพลังในการดึงผู้ใหญ่มามีส่วนร่วม สร้างแผน ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ชุมชน ซึ่งครบวงจร เพราะเด็กไฟฟ้ามีทักษะด้านศิลปะ ทำให้เขาได้รับการยอมรับ พ่อแม่เห็นสิ่งที่เขาทำได้ ชุมชนเห็นศักยภาพของเด็กๆ ชุมชนก็มีความมั่นใจกับเด็กๆ พอเป็นแบบนี้เราอยากให้เด็กๆ ที่อยู่กับเรามา 1 ปี เป็นผู้นำ และเป็นบิ๊กบัดดี้ คอยช่วยเด็กใหม่ที่เรารับเข้ามา หากคุยกับเด็กที่อยู่กับเรา 1 ปี เขาจะมีความเป็นตัวของตัวเองชัดเจน”

“ภราไดย” ย้ำว่า พลังไฟ ฟ้า คืออาสาสมัคร ไม่ใช่แค่ตึกไฟ ฟ้า แต่เป็นพนักงานของทีเอ็มบี สร้างความสัมพันธ์กับเด็กๆ เด็กกลุ่มนี้ไม่เชื่อผู้ใหญ่ ซึ่งหากเราไปสอนเขา ว่ายาเสพติดอันตราย ดื่มเหล้ามากไปอันตราย เขาจะไม่เชื่อ แต่พอได้ใกล้ชิด อธิบายได้แล้ว สามารถโน้มน้าวเขาได้ อาจจะไปทำอย่างอื่น เช่น การทำอาหาร เต้นรำ ศิลปะ ดนตรี

ผลงานวาดภาพของเด็กไฟ ฟ้า
ผลงานวาดภาพของเด็กไฟ ฟ้า

“พอเด็กๆ มาอยู่ที่ไฟ ฟ้า สักพักเขาก็เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม มีผลงานศิลปะเด็ก ให้เขาได้โชว์ฝีมือ เอาผลงานมาโชว์ที่สำนักงานใหญ่ของทีเอ็มบี ให้พนักงานเข้าไปประมูล ทำปีละครั้งรวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ เช่น ดนตรี ร้องเพลง เต้นรำ ”

คุณครู"จิตอาสา"สอนศิลปะ ที่ตึกไฟ ฟ้า ถนนประดิพัทธ์
คุณครู"จิตอาสา"สอนศิลปะ ที่ตึกไฟ ฟ้า ถนนประดิพัทธ์

“นพวรรณ” เล่าต่อว่า เราเปิดโปรแกรมไฟ ฟ้า 3 ปี เรามองว่ามีเด็กที่ยังไม่รู้จักไฟ ฟ้า เราอยากแนะนำให้เขารู้จัก โดยทำโครงการไฟ ฟ้า บริดจ์ หรือโครงการสะพานไฟ ฟ้า กลุ่มเป้าหมายคือโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษา หรือ กทม. เพื่อจะได้เด็กกลุ่มเป้าหมายของไฟ ฟ้า เชิญเด็กๆ มาที่ตึกไฟ ฟ้า มาทำกิจกรรม มาเยี่ยมชมแต่ละห้อง ว่าเขามาไฟ ฟ้า แล้วเขาจะได้เรียนรู้อะไร หลังจากได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม สุดท้ายให้เขาทำสมุด DIY book เขาได้เห็นว่าไฟ ฟ้า คือ DIY และสอนให้เขารู้จักแบ่งปัน โดยการทำ DIY แล้วให้ระบายสี เมื่อใช้เสร็จให้เขาเหลาดินสอคืนเพื่อน และสอนเขาว่าทำไมเขาต้องเหลาดินสอคืนเพื่อน

“โดยบอกเขาว่า หนูรู้ไหมว่าดินสอเหล่านี้เราจะเอาไปใช้ต่อ เพราะฉะนั้นหนูใช้เสร็จก็เท่ากับหนูได้ส่งต่อไปให้เพื่อนคลาสอื่นด้วย และเราให้ดินสอคนละแท่ง หากจะใช้สีเพิ่มก็แลกกับเพื่อนๆ ให้คุยกัน ให้แชร์กัน สอนวินัยด้วยว่า ใช้เสร็จก็เหลาดินสอคืนในสภาพพร้อมใช้ต่อ ”

จากโปรแกรมนี้มีเด็กโครงการสะพานไฟ ฟ้า 2,500 คน

โครงการให้คืนสังคมของเด็กไฟ ฟ้า ทีเอ็มบี
โครงการให้คืนสังคมของเด็กไฟ ฟ้า ทีเอ็มบี

“นพวรรณ” เล่าอีกว่า หลังจากที่สร้างทักษะกับเด็กมาระยะหนึ่ง จากนี้ไปจะโฟกัสกับชุมชนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราสร้างทักษะเด็ก เรารู้ว่าเด็กมีศักยภาพพร้อมที่จะกลับไปส่งคืนต่อชุมชนของเขา และช่วงนี้มีคนเสนอที่จะมาทำงานด้วยกันจากหลายๆ ส่วน เราอยากให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นอีก อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็เตรียมขยายไปสู่ของชุมชนมากขึ้น

ถามว่าจุดประกายไหม จุดประกาย เด็กสามารถทำชุมชนที่เขาอยู่ให้ดีขึ้นได้ อย่างกำแพงที่วัดไผ่ตัน ตรงข้ามคลอง อตก. เมื่อก่อนอันตราย เด็กจมน้ำ สะพานหัก เด็กไฟ ฟ้า ช่วยกันคิดว่าจะทำอะไรให้ชุมชนของเขา เขาก็คิดทำโครงการนี้ขึ้นมา บอกว่าไปทำรั้วกัน เขาก็ออกแบบรั้วลูกปัดให้มีลวดลาย สีสันสวยงาม ทางกลุ่มเรขศิลป์มาช่วยออกแบบให้ เด็กๆ มาร่วมกันร้อยลูกปัด จากข้างทางเคยเป็นหญ้ารกก็มาปลูกต้นไม้ ทำความสะอาด เก็บขยะ แยกขยะ คนในชุมชน happy together อันนี้เป็นการจุดประกาย และคงต้องรักษาโมเมนตั้มนี้ไว้ พยายามให้ชุมชนทำได้ด้วยตัวเอง เป็นเจ้าของมากขึ้น

“ภารไดย” กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา หากนับโครงการที่เราร่วมกับชุมชน ผมให้คะแนน 5 ยอมรับว่าไฟ ฟ้า นี่เป็นโครงการนำร่อง ลองทำดูว่าอะไรเวิร์ก-ไม่เวิร์ก แต่ที่คุยกับทีม เรายังไปไม่ถึงสิ่งที่ต้องการ และไม่อยากให้โครงการนี้เป็นแค่กิจกรรมสังคม 1 วันจบ แต่เป็นการจุดประกายให้ชุมชนได้รู้สึกว่า คนที่อยู่ใกล้กำแพง (ไฟ ฟ้า เข้าไปทำกำแพงให้ชุมชนใหม่) รู้สึกว่าได้จุดประกายให้เขาทำบ้านสะอาดมากขึ้น ทาสีให้ดูดีขึ้น พอเขาทำ คนที่อยู่รอบบ้านเขาก็ทำกัน อย่างที่อเมริกา เขาจะดูแลสนามหญ้าเขาอย่างดี ทำให้คนรอบบ้าน คนที่อยู่ใกล้ชิด ก็พยายามทำบ้านของเขาให้ดูดีตามไปด้วย

“ผมเชื่อ human nature ที่เชื่อว่า ถ้าตรงนี้สวย คนที่อยู่ใกล้ชิดก็จะพยายามจะทำให้ดูดีตามไปด้วย คนอื่นก็จะทำตาม นี่คือสิ่งที่เราจะต้องการเห็น คือชุมชนที่อยู่ใกล้ไฟ ฟ้า เริ่มมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีชีวิตที่ดี นี่คืออินไซด์เอาต์ของชุมชนจริงๆ และนี่คือเคพีไอของโครงการไฟฟ้า”

เด็กกว่า 300 คนในโครงการไฟ ฟ้า ประดิพัทธ์ นำพลังที่พวกเขามีไปสู่ครอบครัว ชุมชน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งตัวเองและชุมชน

ท่าทีที่ไม่ไว้วางใจของชุมชนในช่วงแรกๆ เคยสงสัยว่าไฟ ฟ้า คืออะไร มาทำอะไร มาแล้วไปอย่างโครงการอื่นที่ผ่านมาหรือไม่

ดังนั้น พัฒนาการของเด็กๆ ของชุมชน กว่า 2 ปี เด็กเริ่มได้รับการยอมรับ โครงการไฟ ฟ้า เริ่มเป็นที่ไว้วางใจว่า ไม่ใช่โครงการ 1 วัน แล้วจากไป

แม้โครงการไฟ ฟ้า จะไม่ได้ให้โอกาสแก่เด็กทั้งหมด แต่ได้ทำไปแล้วบางส่วน เป็นการจุดประกาย เป็นการเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนมุมมอง

แค่เปลี่ยนให้เด็กหนึ่งมีโอกาสที่ดีขึ้น เป็นเด็กที่มีคุณภาพของสังคม ก็เป็นประโยชน์กว่าการให้ใดๆ แล้ว

ดังนั้นคอนเซ็ปต์ make the difference ด้วยการเปลี่ยนพลังของเด็กๆ ไปสู่พลังการเปลี่ยนแปลงชุมชนของเขาให้ดีขึ้น และด้วยพลังขับเคลื่อนเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทีเอ็มบีคาดหวังว่า จะจุดประกายให้ชุมชนอื่นๆ เห็นตัวอย่างที่ดีๆ นำไปปรับปรุงบ้าน ปรับปรุงชุมชนของตัวเองให้ดีขึ้นบ้างตามไปด้วย

นั่นคือขบวนการ make the difference ที่แท้จริงกับเด็ก ชุมชนและสังคม

“ไฟ ฟ้า” คือบันไดที่ทำให้เราก้าวขึ้นไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จับต้องได้ของโครงการไฟฟ้า ผลที่เป็นรูปธรรมเริ่มวัดได้ ล่าสุดทำให้น้องๆ 4 คน ที่เรียนการทำครัวที่ไฟฟ้า มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่สูงขึ้น พวกเขาได้เข้าเรียนต่อในโควตาพิเศษที่ “โชติเวช” ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงด้านอาหาร หรือชื่อเต็มๆ ก็คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ สาขาอาหารและโภชนาการ วิทยาเขตโชติเวช

จากการที่เด็กๆ เหล่านี้เรียนทำครัวที่ไฟ ฟ้า (ปัจจุบันเป็นเด็กไฟ ฟ้า ปีที่สาม) ได้มีโอกาสไปร่วมทำกิจกรรมกับสมาคมเชฟ (ซึ่งเป็นครูอาสามาสอนที่ไฟ ฟ้า โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมเชฟกับโครงการไฟ ฟ้า) ในช่วงมหาอุทกภัยน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา ทำให้อาจารย์จากโชติเวชเห็นแววว่ามีพื้นฐานดี จึงติดต่อมาที่ไฟ ฟ้า เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กทั้ง 4 คน ได้เข้าเรียนต่อในโควตาพิเศษ

"น้องบอล"
"น้องบอล"

น้องบอลอายุ 19 ปี นักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะ เป็นเด็กไฟฟ้า 1 ใน 4 ที่ได้เข้าเรียนที่โชติเวช เล่าว่า “คนที่มาเรียนที่ไฟฟ้า ขอแค่ ‘พกใจ’ มาอย่างเดียวก็พอ มาที่นี่ไม่ต้องรู้ว่าชอบอะไร แค่มีสิ่งที่ลังเลในใจ พอได้ลองทำก็จะรู้ว่าตัวเองชอบอะไร อย่างบอล ตอนแรกคิดว่าตัวเองชอบร้องเพลงมากกว่าการทำครัว แต่พอมีโอกาสได้ทดลองเรียนที่ไฟ ฟ้า ปรากฎว่าเราชอบทำครัวมากกว่า สิ่งที่เราคิดมาทั้งหมดกลับไม่ใช่ นี่ถ้าไม่มีโครงการไฟ ฟ้า บอลคงยังคิดว่าตัวเองชอบร้องเพลง แต่ตอนนี้รู้แล้ว”

“บอลดีใจมาก เข้ามหาวิทยาลัยได้ ที่ได้เพราะโครงการไฟ ฟ้า ที่ต่อยอดให้บอลออกไปมีประสบการณ์ข้างนอก เพิ่มทักษะในชีวิตประจำวัน ทำให้บอลและเพื่อนสามคนได้โอกาส ไฟ ฟ้า เป็นตัวจุดประกายทำให้เราได้เรียนรู้ ได้ลองทำ ให้เรารู้ว่าเราชอบอะไรจริงๆ เราเป็นคนเลือกเส้นทาง ไฟ ฟ้า ได้ปูพื้นฐานการทำครัว มันแน่นมาก ปกติก็ทำอาหารให้ที่บ้านทานอยู่แล้ว ตอนนี้พ่อจะกลับมาทานข้าวเย็นที่บ้านมากขึ้น เราเอาเมนูเอาสิ่งที่เรียนรู้ที่นี่ไปปรับเมนูที่บ้าน อย่างเพื่อนที่เรียนที่นี่ บ้านเขาขายอาหาร ก็เอาปรับเมนูที่ร้านอาหาร ลูกค้าก็เข้ามามากขึ้น ”

น้องวาว
น้องวาว

น้องวาวเป็นเด็กไฟ ฟ้า อีกคนที่ได้โควตาพิเศษนี้ น้องวาวเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับเมื่อเข้ามาเรียนที่ไฟ ฟ้า ว่า “กิจกรรมที่ทำคล้ายกับที่โรงเรียน แต่ที่โรงเรียนไม่เยอะเท่าที่ไฟ ฟ้า ที่นี่ให้เราทำจริง พาไปแข่งขัน อย่างที่เรียนเทควันโด ได้ไปแข่งขันข้างนอกด้วย เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ปกติเมื่อก่อนอยู่บ้านเฉยๆ ไม่มีใครบังคับให้มาเรียน มาที่ไฟ ฟ้า ได้เจอครอบครัวใหม่ เจอเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ เป็นครอบครัวใหม่ที่มีความใกล้ชิด คุยกัน ปรึกษากัน ช่วยๆกัน ถ้าไม่มีไฟ ฟ้า ก็คงไม่ได้ประสบการณ์มากเท่านี้”

“ไฟ ฟ้า เป็นเหมือนบันไดที่ทำให้เราก้าวขึ้นเรื่อยๆ วิธีคิดเปลี่ยน ทำให้เราอยากไปไกลจากจุดเดิมที่เราอยู่ อยากได้สัมผัสกับเชฟมืออาชีพ อยากได้ประสบการณ์ และไฟ ฟ้า ทำให้เราเป็นผู้ให้ด้วย ได้ไปทำอะไรเพื่อสังคม เช่น สร้างกำแพง ทำรั้วให้ชุมชน ไปทำอาหารช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม เป็นต้น ”

พร้อมย้ำว่า แม้จะไปเรียนที่โชติเวชแล้ว ก็จะกลับมาที่ไฟ ฟ้า

ขณะที่ “เชฟจำนง” อาสาสมัครสอนเด็กๆ เล่าว่า ทางสมาคมเชฟมาร่วมโครงการกับทีเอ็มบีเพื่อช่วยให้ด็กๆ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ สามารถทำยึดเป็นอาชีพได้ และอาชีพนี้ไปได้ไกล เพราะอาหารไทยไปทั่วโลก ปัจจุบันผลิตเชฟไม่ทัน เป็นการให้โอกาสเด็กๆ บางคนที่ไม่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้ หากเด็กที่นี่เขาทำได้ เขามีอาชีพได้ ก็สอนเด็กๆ โดยปูพื้นฐานให้เขา หากจะเรียนอาชีพนี้ต้องเตรียมตัวอย่างไร เรียนไปทำไม เรียนแล้วได้อะไร เรียนแล้วจะประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร สถาบันต่างๆ สอนวิชาเหล่านี้ พอส่งมาฝึกงานที่โรงแรมจริงๆ ก็ต้องสอนกันใหม่ เพราะอาจารย์ไม่เคยเป็นเชฟในโรงแรม ไม่รู้ว่าในโรงแรมเขาทำอาหารกันอย่างไร ที่นี่เราไม่มีหลักสูตร เราเริ่มปูพื้นฐาน สอนการทำอาหารง่าย ทำเมนูง่ายๆ มีขนมไทย ขนมยุโรป อาหารไทยอาหารยุโรป

“ผมจะปูพื้นว่าจะทำอาชีพนี้ต้องอดทน เช่น การล้างผัก ทำไมต้องล้าง เด็กล้างกับที่เราล้างไม่เหมือนกัน เราล้างตักน้ำใส่กะลามัง สรงให้ดูว่ามีความสกปรกอยู่ในผัก ต้องล้างอย่างไร หรืออย่างเด็กจะไปแข่งขันต้องทำอะไรบ้าง เทคนิคการแข่งขัน เทคนิคและกติกาของผู้ให้คะแนนเขาดูอะไร ต้องอ่านเมนู อ่านสูตรวิธีทำ เข้าใจว่าอย่างไร จะเริ่มทีละสเต็ปอย่างไร ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจ สร้างพลังให้เด็กๆ”