ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิด 246 โครงการเร่งด่วน รับมือปัญหาน้ำท่วมก่อนฤดูฝนปี 2555

เปิด 246 โครงการเร่งด่วน รับมือปัญหาน้ำท่วมก่อนฤดูฝนปี 2555

14 มีนาคม 2012


การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 13 มีนาคม 2555 ครม. มีมติเห็นชอบอนุมัติกรอบงบประมาณแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน ตามที่คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2555 เห็นชอบตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เสนอจำนวน 246 โครงการ ใช้งบประมาณ 24,828.82 ล้านบาท

โดยโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วนปี 2555 เน้นหลักการระบายน้ำจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ให้สามารถระบายน้ำได้มากที่สุดตามศักยภาพ ประกอบกับสามารถป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนที่สำคัญ ป้องกันปัญหาน้ำท่วมขัง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การนำเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติทันที เพื่อให้สามารถเริ่มดำเนินการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย ให้พร้อมรับมือกับปัญหาอุทกภัยก่อนถึงฤดูฝนปีนี้ ครม. จึงเห็นชอบให้ดำเนินโครงการต่างๆ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1. การดำเนินการในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา 161 โครงการ งบประมาณ 15,592.82 ล้านบาท มีรายละเอียดคือ

1.1 แนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ปากคลองระพีพัฒน์จนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 8 โครงการ วงเงิน 559.50 ล้านบาท

1.2 แนวคันกั้นน้ำฝั่งตะวันตกคลองระพีพัฒน์ ตั้งแต่ปากครองระพีพัฒน์จนถึงชายทะเล จำนวน 41 โครงการ วงเงิน 9,081.20 ล้านบาท

1.3 ย้ายแนวคันพระราชดำริไปที่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ฝั่งใต้และคลองเจ็ด จำนวน 15 โครงการ วงเงิน 1, 964.55 ล้านบาท

1.4 ซ่อมแซมประตูระบายน้ำและติดตั้งสถานีสูบน้ำเพิ่มเติม จำนวน 50 โครงการ วงเงิน 355.31 ล้านบาท

1.5 ปรับปรุงคลองระบายน้ำภายในคันปิดล้อมพื้นที่ฝั่งตะวันตก จำนวน 38 โครงการ วงเงิน 136.27 ล้านบาท

1.6 โครงการขุดลอกแม่น้ำและคลองขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ จำนวน 9 โครงการ วงเงิน 3,496 ล้านบาท

2. การดำเนินการในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา 93 โครงการ งบประมาณ 9,235.99 ล้านบาท มีรายละเอียดคือ

2.1 แนวคันกั้นน้ำด้านแม่น้ำเจ้าพระยาริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตั้งแต่คลองพระยาบันลือจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 33 โครงการ วงเงิน 2,263.51 ล้านบาท

2.2 แนวคันกั้นน้ำด้านใต้ตามคลองพระยาบันลือ จำนวน 8 โครงการ วงเงิน 1,792.90 ล้านบาท

2.3 แนวคันกั้นน้ำด้านใต้ตามคลองพระพิมล จำนวน 8 โครงการ วงเงิน 626.10 ล้านบาท

2.4 แนวคันกั้นน้ำด้านใต้ตามคลองมหาสวัสดิ์ จำนวน 3 โครงการ วงเงิน 1,858.25 ล้านบาท

2.5 แนวคันกั้นน้ำฝั่งตะวันออกริมแม่น้ำท่าจีน จากคลองพระยาบันลือด้านแม่น้ำท่าจีนถึงปากแม่น้ำท่าจีน จำนวน 12 โครงการ วงเงิน 2,542.8 ล้านบาท

2.6 เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองทวีวัฒนาให้สามารถระบายน้ำลงสู่พื้นที่แก้มลิงมหาชัย จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 48.14 ล้านบาท

2.7 ปรับปรุงคลองระบายน้ำภายในคันปิดล้อมพื้นที่ฝั่งตะวันตก จำนวน 3 โครงการ วงเงิน 10.6 ล้านบาท

2.8 ซ่อมประตูน้ำและติดตั้งสถานีสูบน้ำเพิ่มเติม จำนวน 17 โครงการ วงเงิน 93.69 ล้านบาท

สำหรับโครงการจัดทำถนนคลอง หรือ Canal Street ถนนพุทธมณฑล สาย 4 จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 1,500 ล้านบาท โครงการจัดทำถนนคลอง ถนนพุทธมณฑล สาย 5 จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 2,500 ล้านบาท และโครงการขยายทางยกระดับถนนบรมราชชนนีถึงจังหวัดนครปฐม ระยะทาง 21 กิโลเมตร จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 12,500 ล้านบาท ซึ่งรวมเป็นงบประมาณ 16,500 ล้านบาทนั้น ไม่ถูกนับรวมเป็นโครงการเร่งด่วน แต่ถูกระบุเป็นโครงการระยะยั่งยืน ดังนั้น จึงยังไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://www.krobkruakao.com/store/news/53452/1331631839.jpg

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้แถลงรายละเอียดเรื่องนี้ระบุว่า ครม. ยังไม่เห็นชอบ 3 โครงการดังกล่าว เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เห็นควรให้กลับไปทบทวนโครงการและทำรายละเอียดเข้ามาเสนอให้ชัดเจน โดยให้นำเสนอแผนงานผ่าน กบอ. เพื่อเสนอแผนปฏิบัติการต่อ กนอช. เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ ที่จะขออนุมัติมาในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ 246 โครงการที่อนุมัติไปแล้วนั้น ถือเป็นกรณีพิเศษที่ได้ผ่านการพิจารณาของ กบอ. และ กนอช. ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นประธานแล้ว แต่เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่มีเพียงหัวข้อ ยังไม่มีรายละเอียดของโครงการแนบมาด้วย แต่ด้วยความจำเป็นที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จให้ทันก่อนฤดูฝนของปีนี้ ครม. จึงได้อนุมัติในหลักการ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เสนอของบประมาณ จัดทำแผนปฏิบัติการพร้อมรายละเอียดรูปแบบโครงการเสนอ กบอ. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

“ครม. ไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่า หน่วยงานที่เสนอของบประมาณต้องทำแผนปฏิบัติการพร้อมรายละเอียด และระยะเวลาโครงการต้องเสร็จเมื่อไร เนื่องจากเป็นโครงการเร่งด่วน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องเร่งดำเนินการ” นายชลิตรัตน์กล่าว

นอกจากนี้ นายชลิตรัตน์ กล่าวว่า ครม. ยังได้มีมติเห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการเพื่อวางระบบบริหารจัดการจัดการน้ำและสร้างอนาคต พ.ศ… ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ เพื่อเป็นแนวทางดำเนินการตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคต พ.ศ. 2555 (พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท) โดย ครม. ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำแผนบริหารโครงการเพื่อกำหนดระยะเวลา ขนาดของโครงการให้ชัดเจน และให้กระทรวงการคลัง คณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ไปดำเนินการศึกษาและวางแผนในเรื่องหลักเกณฑ์ของการทำงานต่อไป